แพลตฟอร์มของคนไทยมีเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการขยะอยู่มากมายจนเรียกได้ว่าครบทั้งข้อมูลและการส่งต่อไปถึงปลายทางของขยะทุกประเภท ทั้งยังมีอีกหลายเพจที่พูดเรื่องปัญหาและวิธีการจัดการขยะกันอย่างจะแจ้ง แต่ด้วยการสื่อสารที่เป็นภาษาไทยทั้งหมด ทำให้ชาวต่างชาติ หรือ expat ที่อาศัยอยู่เมืองไทยไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยมีกำแพงของภาษาขวางอยู่

แอน-อลิชา โสมนัส ซึ่งมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติและอยู่ในคอมมูนิตี้ของชาว expat ในกรุงเทพฯ เข้าใจในข้อจำกัดนี้ดี จึงได้ใช้ความเป็น bilingual ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ ด้วยการวางตัวเองเป็นโซ่เชื่อมการรับรู้เพื่อให้ชาว expat จัดการกับขยะได้ง่ายขึ้น

แต่การจัดการขยะของแอน ไม่ใช่การส่งต่อไปยังปลายทางที่รับจัดการเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อเธอตั้งกลุ่ม Bangkok Recycling Chain ขึ้นมาในเฟซบุ๊ก ข้าวของจากเจ้าของเดิมถูกส่งต่อไปยังมือของเจ้าของใหม่อย่างไม่เสียประโยชน์ ด้วยความสมัครใจของผู้ให้และผู้รับเอง ไม่ว่าจะเป็นการยกให้ ให้ยืม ตั้งแต่ของชิ้นที่ดูไม่มีราคาค่างวดอย่างถุงกระดาษ กระปุกกาแฟ ฯลฯ ไปจนถึงของที่มีราคาแต่ไม่เป็นประโยชน์กับเจ้าของเดิมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเตารีด เครื่องชงกาแฟ วีลแชร์ พรินเตอร์ เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ ที่เจ้าของใหม่สามารถนำไปใช้ต่อได้อย่างไม่เสียเปล่า

เท่าที่ทำมาสองปีกว่า เราเซฟของจากการถูกส่งไปยัง landfill นับเป็นแสนชิ้นได้แล้ว

“เท่าที่ทำมาสองปีกว่า เราเซฟของจากการถูกส่งไปยัง landfill ได้สามพันกว่าอย่าง นับเป็นแสนชิ้นได้แล้ว” แอนบอกถึงสถิติคร่าว ๆ นับตั้งแต่วันที่เธอเริ่มทำเพจขึ้นมาในช่วงโควิดระบาดจนถึงตอนนี้ที่มีสมาชิกในกลุ่มมากกว่า 5,000 คนแล้ว

ถึงตอนนี้ การหมุนเวียนสิ่งของสู่เจ้าของใหม่ รวมถึงการส่งต่อขยะรีไซเคิลได้ไปสู่ปลายทางอย่างถูกต้อง ได้ขยับตัวมาสู่โลกจริงด้วยอีเวนต์ต่าง ๆ ที่แอนจัดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดสายกรีน กิจกรรม Clothing Swaps เพื่อแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า ฯลฯ และล่าสุดกับการจัดงาน Bangkok Sustainability Fair เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ทุกองค์ประกอบในงานเน้นความ eco-friendly อย่างถึงที่สุด โดยมีหัวใจของงานอยู่ที่คำว่า “circular” และ “zero-waste”

“ในกลุ่ม Bangkok Recycling Chain ก็เป็น circular เหมือนกัน พอเราทำแบบนี้แล้วเราแทบไม่ต้องซื้อของใช้เลย เพราะไม่ว่าเราต้องการอะไรก็มักจะมีคนเอาสิ่งที่เราต้องการมาโพสต์ลงในกลุ่มเสมอ”

หญิงสาวสองภาษา กับการสื่อสารที่มีความหมาย
สำหรับแอนแล้ว การก่อตั้งกลุ่ม Bangkok Recycling Chain นับเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ แต่เป็นการใช้ความถนัดที่มีอยู่ในตัวมาสร้างสรรค์อย่างเกิดประโยชน์ แอนเล่าแบ็กกราวนด์ของตัวเองให้ฟังว่า เธอเกิดที่อเมริกา และย้ายกลับมาเมืองไทยตอนเก้าขวบ แต่ถึงอย่างนั้นภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาหลักที่ใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและในอาชีพการงานด้วย

“พ่อแม่แอนเป็นคนไทย แต่แม่เป็นลูกครึ่งสวิต เขาไปเรียนโทที่อเมริกาแล้วเจอกันที่นั่น แต่งงานที่นั่น เราเป็นลูกคนโต แม่มีเวลาสอนภาษาไทย แอนเลยอ่านเขียนได้สองภาษา พอมาถึงน้อง ๆ แม่ไม่มีเวลาสอนแล้ว (หัวเราะ) บ้านแอนเป็นเด็กโฮมสกูลร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกเว้นแอนที่ไปเรียนอินเตอร์ฯ ตอนมอห้า แล้วก็ไปเรียนต่อที่อเมริกา”

การเรียนแบบโฮมสกูลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แอนคิดอะไรแบบนอกกรอบ เธอเล่าว่าความคิดเหล่านี้มาจากการสอนของแม่ “ส่วนตัวเราเป็นคนบุคลิกเบิกบาน แล้วเราคิดว่าการทำเรื่องความยั่งยืนมันดูเบิกบานดี เพราะไม่ใช่งานที่เกี่ยวกับเงินล้วน ๆ แต่เป็นการสร้างสิ่งดี ๆ คุณค่าของมันทำให้เรารู้สึกสดใส เพราะจริง ๆ ก่อนหน้านี้เราทำมาหลายอย่าง คริปโตก็ทำ แต่ไม่ค่อยชอบเพราะหลายอย่างที่ทำไม่ได้คิดถึง value คิดแต่เรื่องปันผลยังไง กำไรอยู่ที่ตัวคนเดียว ไม่ได้ทำประโยชน์อื่น เราชอบแนว Social Enterprise มากกว่า การเป็น SE มันต้องมีกำไร แต่เป็นกำไรในการช่วยเหลือคน”

แอนเล่าว่าเธอเคยเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานออฟฟิศอยู่ห้าปีในสายเทคโนโลยีเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ แต่ความเบื่อหน่ายทำให้หันเหตัวเองมาสู่การเป็นฟรีแลนซ์ “ออกจากงานมาก็คิดว่างานอะไรที่หารายได้ได้ก็ทำทุกอย่าง เป็นงานที่ใช้สองภาษา อย่างทำงานแปล เป็นนักข่าวในสายท่องเที่ยวและโรงแรมให้สื่อสิงคโปร์ แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่สตาร์ตอัพในไทยเริ่มรุ่ง เราก็ได้ทำงานอีเวนต์เกี่ยวกับสตาร์ตอัพในสาย community building event มาตลอด”

และงานเหล่านี้ก็ได้พาให้เธอเข้าไปรู้จักกับเรื่องราวของความยั่งยืนที่ลึกซึ้งขึ้น “ได้ทำงานที่เกี่ยวกับเรื่อง sustainability คือช่วยทีมที่เป็น Kickstarter ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดขึ้นจากการระดมทุน เขามีแคมเปญที่น่าสนใจเยอะ อย่างทำกระเป๋านาโนแบ็กส่งขายที่ต่างประเทศ คอตทอนบัดที่ใช้ซ้ำได้เป็นร้อยเป็นพันครั้ง หรือ remover เครื่องสำอางที่ใช้ซ้ำได้ มันทำให้เราได้เห็นความเป็นผลิตภัณฑ์ reuseable ที่น่าสนใจ แล้วเกิดอินสไปร์

“หรือครั้งหนึ่งเราได้ไปทริปสื่อมวลชนในฐานะนักเขียนที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรมโรงแรม ที่โรงแรมแมริออต มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ซึ่งเขามี sustainability อยู่พอสมควร มี rooftop urban farming ในโรงแรม เชฟก็ลด food waste กระบวนการพวกนี้มันน่าสนใจ มันดูสนุกสนานแล้วก็ดูเซ็กซี่ด้วย”

การได้เข้าไปคลุกคลี เกิดเป็นความสนใจ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แอนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ในวันที่ทุกคนกำลังเผชิญกับปัญหาขยะที่เกิดจากการสั่งอาหารมากินที่บ้านในช่วงโควิด

“เราเป็นคนไม่ชอบทิ้งของ รู้สึกเสียดายของ คิดว่าทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป” เธอยกตัวอย่างชุดที่ใส่มาในวันที่เจอกัน ก็เป็นเสื้อผ้ามือสองกับชุดตกทอดจากคุณป้า “ความไม่ชอบทิ้งเราก็เลยสะสมถุงกระดาษ มีอยู่เยอะมาก จนเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 เรานึกได้ว่าลองโพสต์ถุงกระดาษพวกนี้ลงในกลุ่ม expat ที่เราเป็นเมมเบอร์อยู่ดีมั้ย เผื่อมีคนอยากได้ พอถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงไป ปรากฏว่ามีคนอยากได้จริง ๆ”

การโพสต์ถุงกระดาษในตอนนั้นเป็นเหมือนการทดสอบเล็ก ๆ ว่าของที่อยู่ในบ้านคนอื่นเขาเอาไปใช้ต่อได้

ถุงกระดาษใช้แล้วจำนวนนั้นมีคนทักเข้ามาเพื่อขอไปใช้ต่อหลายคน บางคนนำไปใช้ต่อในธุรกิจ “มีคนนึงเป็นครูอนุบาล เขาจะเอาถุงไปทำกิจกรรมคริสต์มาส เป็นถุงของขวัญให้นักเรียน การโพสต์ถุงกระดาษในตอนนั้นเป็นเหมือนการทดสอบเล็ก ๆ ว่าของที่อยู่ในบ้านคนอื่นเขาเอาไปใช้ต่อได้”

และเมื่อบวกกับการรับรู้ถึงความเข้าใจผิดของชาว expat ที่เธอรู้จัก ที่คิดว่าคนไทยไม่ได้อินกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เธออยากจะสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้กับพวกเขา “เราเห็นเพจของคนไทย เช่น ลุงซาเล้งฯ Environman หรือ Greenery. ซึ่งเป็นเพจของคนไทยที่มีคนตามเป็นแสน แต่ expat เขาไม่รู้ เขาอ่านไม่ได้ เขาเลยไม่เห็นกระบวนการรีไซเคิล บางคนไม่รู้ว่ามีรถซาเล้งมารับซื้อขยะนะ เราพยายามอธิบายคอนเซ็ปต์ซาเล้งเหมือนกัน และเดี๋ยวนี้คนอยู่คอนโดเขาก็มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยให้คนในคอนโดรีไซเคิล ของก็เยอะ แต่แม่บ้านก็ไม่ได้สนใจเอาไปใช้หรือขายต่อเพราะได้ไม่กี่ตังค์

เราพยายามเป็นห่วงโซ่หนึ่งของระบบรีไซเคิลในประเทศไทย ที่ช่วยให้ expat เข้าถึงข้อมูลบริษัทที่รับของไปจัดการต่อ

“และในกลุ่ม expat ที่มาจากโซนตะวันตกซึ่งเขาจะมีกระบวนการรีไซเคิลภายในประเทศที่แอดวานซ์กว่าเมืองไทย เขาจะปวดหัวมากว่าจะทิ้งของให้ถูกต้องยังไง เขาไม่รู้จะเข้าถึงข้อมูลยังไง เราเลยพยายามเป็นห่วงโซ่หนึ่งของระบบรีไซเคิลในประเทศไทย ที่ช่วยให้ expat เข้าถึงข้อมูลบริษัทที่รับของไปจัดการต่อ อย่าง Trash Lucky, CirPlas, N15 Technology หรือ Recycle Day Thailand ตั้งกลุ่ม Bangkok Recycling Chain สำหรับคนที่สนใจเรื่องนี้ เรามองว่ามันเป็นโซ่แห่งการรีไซเคิลที่จะคอยส่งต่อของ เอาเพื่อนทุกคนที่มีถุงกระดาษมาจับคู่กับธุรกิจหรือใครก็ตามในคอมมูนิตี้ที่สามารถเอาไปใช้ต่อได้”

แล้วเรื่องราวที่เริ่มต้นจากถุงกระดาษ ก็เป็นเรื่องที่แอนไม่สามารถหยุดเอาไว้แค่ตรงนั้นได้อีกต่อไป เพราะมันได้สร้างอิมแพคที่น่าสนใจจนทำให้คอมมูนิตี้นี้เติบโต และทุกคนต่างก็ได้ประโยชน์จากข้าวของที่หมุนเวียนส่งต่อกัน ด้วยกติกาที่ง่ายและชวนขยายต่อไปถึงคนทุกกลุ่ม

ห่วงโซ่รีไซเคิลที่ชวนทุกคนมาคุยภาษาเดียวกัน
ถึงแม้จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสารกันในกลุ่ม แต่ Bangkok Recycling Chain ไม่ได้จำกัดเฉพาะสมาชิกชาว expat เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษได้ก็มาร่วมได้ทุกเวลา สมาชิกชาวกรีนกลุ่มนี้จึงมีชาวต่างชาติและคนไทยเป็นสมาชิกอยู่ครึ่งต่อครึ่ง

“จากนั้นมามันไม่ได้เป็นแค่ถุงกระดาษแล้ว แอนตั้งคอนเซ็ปต์ว่าเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถเอาไปใช้ต่อได้ เพื่อเซฟของเหล่านี้ไปไม่ให้ไป landfill ให้มากที่สุด ภาชนะใส่อาหารที่ล้างสะอาดแล้ว ครูอาจจะเอาไปใช้ทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ หรือเอาไปปลูกต้นไม้” เธอยกตัวอย่างกระปุกโยเกิร์ตที่ซ้อนกันอยู่ในมือซึ่งพร้อมจะส่งต่อหลังจากนี้

“กลุ่มเราโตไวมาก สองปีมีสมาชิกอยู่ห้าพันคน ตอนนี้เกือบหกพันแล้ว” แอนเล่าว่าคอมมูนิตี้ของ expat จะย้ายบ้านบ่อย บางคนอยู่เมืองไทยแค่สองปีก็ย้ายแล้ว คนกลุ่มนี้จึงโละของบ่อย บางอย่างแม่บ้านก็ไม่รู้จะเอาไปใช้อะไร กลุ่มที่ตั้งขึ้นจึงรองรับความต้องการนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ

“ของที่เอามาโพสต์จะมีทั้งแบบ giveaway หรือจะให้ยืมก็ได้แล้วแต่สมัครใจ ถ้าจะซื้อขายกันเงินนั้นจะเข้าแชริตี้ หรือถ้าต้องการอะไรก็สามารถโพสต์เป็น looking for ได้ แล้วถ้ามูลนิธิต่าง ๆ เช่น ปันกันต้องการกระเป๋าหรือเสื้อผ้าไปขายก็มาโพสต์บอกได้ แล้วเราจะทำการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับรีไซเคิลและบริจาคว่าทำได้ที่ไหน

“เราเห็นความใจดีของคนที่เกิดขึ้นในกลุ่มนี้ บางทีของแพงที่ใช้งานได้อยู่อย่างเตารีดเขาก็โพสต์ giveaway แอนยังเคยได้ไอซ์สเก็ตเลย อยู่กลุ่มนี้บางทีเราไม่ต้องซื้ออะไรเลย ครั้งนึงแอนอยากได้ coffee press อยากซื้อต่อจากคนที่อยู่ใกล้ ๆ ก็มีคนยกให้เลย หรือกระเป๋าเดินทางที่แตกแล้วบางคนเอาไปเป็นของตกแต่งหรือเอาไปซ่อมใช้ต่อ

“มันมีเรื่องราวที่น่ารัก อย่างผู้หญิงคนนึงมีหมาโกลเด้น เขาอยากได้ลูกเทนนิสเก่าไปให้หมาก็มาโพสต์ ปรากฏว่ามีคนเอาลูกเทนนิสมาให้เยอะแยะเลย เขาเอาไปให้หมาเล่นแล้วมาโพสต์ให้ดู กับมีเช้าวันนึงตื่นขึ้นมาเจอโพสต์ giveaway วีลแชร์ ไม่กี่ชั่วโมงก็มีคนมาโพสต์ว่าเพิ่งหกล้มขาหัก ต้องการวีลแชร์ เราก็จับคู่ให้เขา มันเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยพอสมควรที่มีความต้องการแล้วของที่คนต้องการก็ปรากฏขึ้น”

เรากลายเป็นกลุ่มที่คนเข้ามาหาของได้ เป็นกลุ่ม circular ที่แทบไม่ต้องไปซื้อของใหม่เลย

ส่วนอะไรที่สมาชิกต้องการบ่อยที่สุด ปรากฏว่าเป็นเพียงของง่าย ๆ แต่ช่วยจัดการชีวิตได้มากอย่างกล่องกระดาษ “เพราะ expat ย้ายบ้านบ่อย บางคนเพิ่งย้ายเสร็จก็โพสต์ส่งต่อเลย เมื่อไม่นานมีคอมมูนิตี้ของชาวพม่า เขาอยากได้ของใช้ในครัว จากนั้นครึ่งชั่วโมงก็มีคนเข้ามาคอมเมนต์ต่อว่าอยากได้ของใช้แบบไหน เขามีให้ บางอย่างไว บางอย่างก็หายาก แต่ก็หาได้ อย่างกระปุกกาแฟที่หน้าตาดูหายาก เราก็ยังคิดว่าจะมีใครมีมั้ยเนี่ย ปรากฏว่ามี เราเลยกลายเป็นกลุ่มที่คนเข้ามาหาของได้ เป็นกลุ่ม circular ที่แทบไม่ต้องไปซื้อของใหม่เลย”

กลายเป็นว่านอกจากกลุ่มนี้จะช่วยไม่ให้คนทิ้งของแล้ว ยังมีการเก็บของเอาไว้เพื่อรอเจอเนื้อคู่ด้วย ของบางชิ้นแอนเก็บเอาไว้หลายปีวันหนึ่งก็มีที่ไป แต่ความน่ารักไม่ได้อยู่แค่เรื่องราวการจับคู่ของคนให้และคนรับที่ปรากฏตัวขึ้นแม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพราะความใส่ใจในการจับคู่ของสถานที่ก็เป็นเรื่องที่แอนตั้งเอาไว้เป็นกติกา เพื่อให้การย้ายของไปสู่เจ้าของใหม่สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยที่สุด

รูทไม่ควรจะอยู่ไกลกัน เพื่อว่าเราจะได้จับคู่กับคนที่อยู่ใกล้ ๆ ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์

“แอนจะมีรูทว่าไม่ควรจะอยู่ไกลกัน ดังนั้นเวลาโพสต์จะต้องระบุสถานที่ด้วยว่าเราอยู่เขตไหน เพื่อว่าเราจะได้จับคู่กับคนที่อยู่ใกล้ๆ ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ ไม่ใช่ว่าอยู่บางนาต้องไปเอาของถึงสาทร แต่บางอย่างของที่หายากจริง ๆ เราก็ยืดหยุ่นได้ ตอนนี้เราเลยอยากขยายให้ครอบคลุมคนทั่วกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย หัวหิน สร้างกรุ๊ปขึ้นมาแล้วแต่ยังไม่ค่อยแอ็กทีฟ เพราะการขยายจะต้องสร้างทีมขึ้นมาดูแลกรุ๊ปด้วย ต้องมีการโพสต์ข้อมูล เชียร์อัพให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเรายังไม่มีทีมงานที่จะทำตรงนี้”

เพราะการโพสต์ข้อมูลนั้นสำคัญหากอยากให้คนในกลุ่มได้มีความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะ เพื่อให้สมาชิกสามารถส่งต่อของที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ไปจัดการให้ถูกต้องด้วย

“ปัญหาของสตาร์ตอัพที่ทำเกี่ยวกับขยะในเมืองไทยคือมีกำลังคนไม่เยอะ ทั้งที่ข้อมูลเขาดีมากแต่บางที่เขาไม่มีการแปลข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ เราก็เลยเลยต้องมีทีมงานที่เป็นแอดมินซึ่งพูดได้สองภาษา เวลาเจอข้อมูลดีๆ ก็จะโพสต์ลงในกลุ่ม บางทีต่างชาติไปเจอจุดดรอปถ่าน ดรอปแบตเตอรี่เขาก็โพสต์ลงในกลุ่ม

“เราไม่อยากให้สมาชิกต้องเก็บของไว้ที่บ้านตัวเองเพราะมันใช้พื้นที่ กำลังคิดว่าเราจะสามารถโละของทุกเดือนได้ยังไง อย่างของแอนเอง แอนส่งของให้ Trash Lucky ประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะของเยอะจน reuse ไม่ทัน ซึ่งเป็นของจำพวกกล่องกระดาษ แก้ว กระป๋อง พลาสติกเบอร์สอง เบอร์ห้า ที่เหลือพวกพลาสติกแข็ง พลาสติกนิ่มส่งให้ CirPlas ถุงวิบวับส่งให้ Green Road ถ้าเหลือจากนี้อีกก็ส่งให้ N15 ไปเป็นเชื้อเพลิง และตอนนี้มี Recycle Day Thailand มารับทั้งหมดแล้ว เรากำลังสื่อสารทำความเข้าใจว่าสามารถส่งไปจุดเดียวได้เลย เป็นการทำกระบวนการให้เขาเห็นว่าเราโละของได้ทุกเดือนนะ ถ้าเราทำแบบนี้ได้ทุกเดือนเราจะสามารถลดขยะในบ้านได้ประมาณเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วใครที่มีเวลาจริง ๆ ก็อาจทำเรื่องหมักปุ๋ยด้วยก็ได้”

จากออนไลน์สู่ออฟไลน์ เพื่อให้ชาว Conscious Consumer ได้มาเจอกัน
Conscious Consumer หรือกลุ่มคนที่ “บริโภคอย่างมีสติ” นับว่ามีจำนวนอยู่ไม่น้อยในบ้านเรา เห็นได้จากเมื่อไรก็ตามที่มีการจัดอีเวนต์สายกรีนหรือสายยั่งยืน เรามักเห็นการปรากฏตัวของคนกลุ่มนี้มาสนับสนุนผู้ผลิตที่ใส่ใจโลกเสมอ สมาชิกชาว Bangkok Recycling Chain ก็มีเรื่องนี้อยู่ในดีเอ็นเอ และเพื่อให้คนเหล่านี้ได้มารวมตัวกันแบบเห็นหน้าค่าตา และสนับสนุนกันและกัน แอนจึงจัดอีเวนต์แบบออฟไลน์ขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

“เราจัดงาน swap แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนเมื่อปีที่แล้ว จากนั้นก็เห็นว่าบางคนอยากขายของเลยทำเป็นตลาดนัด แล้วก็อยากให้คนที่เป็น conscious consumer ได้มาพบเจอกับธุรกิจ eco-friendly หรือ social enterprise ทั้งหลาย เลยคิดคอนเซ็ปต์เป็น Bangkok Sustainability Fair ที่ EKM6 ขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เป็นงานใหญ่เหมือนกัน”

Thailand Recycling Chain จึงเป็นเพจที่เธอสร้างขึ้นเพื่อใช้สื่อสารกับสาธารณะและครอบคลุมมากกว่ากรุงเทพฯ ถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เธอจัดขึ้น

“ตั้งแต่เริ่มต้นมาเราจัดเองหมดเลย งานใหญ่อย่าง Bangkok Sustainability Fair เราก็ทำคนเดียวจริง ๆ มีเวลาเตรียมทุกอย่างหนึ่งเดือนเต็ม แต่ตอนนี้ตั้งใจว่าจะต้องมีทีมงานแล้ว (หัวเราะ) เราเป็นเหมือน Event Organizer แต่เป็นอีเวนต์ที่สร้าง value ให้กับคอมมูนิตี้จริง ๆ และเราอยากให้เป็นอีเวนต์ที่มีความยั่งยืน ตอนจัดที่ Ecotopia สยามดิสคัฟเวอรี่ เราใช้น้ำดื่มกระป๋องของ Greenery. เพราะเห็นปัญหาว่าคนที่มาเขาไม่ได้พกรีฟิลมา แล้วบางที่ที่เราจัดงานก็ไม่มีจุดที่เติมน้ำ เรามีน้ำดื่มให้เขาหยิบและจ่ายเท่าที่ต้องการจ่าย เรามีถังแยกขยะให้ ดื่มแล้วทิ้งขยะแยกประเภทได้เลย คนที่แยกขยะเรามีคูปองให้กับไปใช้กับร้านค้าในงาน พยายามจัดการอย่างครบลูป และเน้นให้ทุกอย่างเป็น circular มากที่สุด

“เราเคยไปจัดกิจกรรมกับฮาบิโตะ มอลล์ เขาจัดงาน Think Green แล้วชวนเราไปทำกิจกรรม เราสร้างเป็นสเตชั่นแยกขยะ รับของพวกแบตเตอรี่ ช้อนส้อมพลาสติก ถุงซอส ของที่ใช้ต่อได้เราเอาไปบริจาคให้มูลนิธิ งานนั้นเราประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าแค่สามวัน คนเอาของมาดรอปเยอะมาก ได้ขยะมาสิบห้าถึงใหญ่ ๆ พลาสติกเราส่งให้ CirPlas ถุงวิบวับให้ Green Road ถุงกระดาษได้มาเป็นร้อยเราส่งให้ธุรกิจในกลุ่มเราไปใช้ต่อ”

เมื่อโดดเข้าสู่แวดวงการจัดอีเวนต์สายยั่งยืนอย่างเต็มตัว แอนตั้งใจให้ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น เป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างขยะจริง ๆ และอยากเห็นการจัดอีเวนต์ในเมืองไทยปลอดขยะแบบ zero waste เกิดขึ้นจริงจังกว่านี้

ขยะแยกจากชีวิตเราร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ตราบใดที่เรามีชีวิตมันยังต้องมีขยะ แต่เราอยากให้คนมองขยะเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น เซ็กซี่ สนุกในการแยกและทิ้งอย่างถูกต้อง

“เราอยากให้คนคิดเวลาที่จะทิ้งของว่า ขยะแยกจากชีวิตเราร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ตราบใดที่เรามีชีวิตมันยังต้องมีขยะ แต่เราอยากให้คนมองขยะเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น เซ็กซี่ สนุกในการแยกขยะและทิ้งอย่างถูกต้อง เราจะได้ไม่รู้สึกแย่ต่อขยะ บางคนดื่มกาแฟเสร็จต้องรีบเอาแก้วไปทิ้งเพราะขยะเป็นสิ่งน่ารำคาญ อยากให้มันไปไกลจากตัวเรามากที่สุด แอนว่าเป็นความคิดที่ผิด

เราพยายามเป็น second life ให้กับสิ่งของเหล่านั้นด้วยการให้คนอื่น บริจาค เอามาใช้ซ้ำ หรือเอามาทิ้งให้ถูกต้องมากที่สุด

“เราต้องเข้าใจว่าขยะเป็นสิ่งมีค่าเหมือนกัน กว่าจะเป็นแก้วกาแฟหนึ่งใบ หรือเป็นเสื้อยืดหนึ่งตัว มันมีกระบวนการเยอะขนาดไหน เมื่อเราจะทิ้งสิ่งนั้นเราก็ควรคำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าทั้งหมด เราพยายามเป็น second life ให้กับสิ่งของเหล่านั้นด้วยการให้คนอื่น บริจาค เอามาใช้ซ้ำ หรือเอามาทิ้งให้ถูกต้องมากที่สุด ไม่ควรคิดว่ามันเป็นสิ่งน่ารำคาญ ต้องปกปิดไม่ให้ใครเห็น

“จริง ๆ แอนชอบแคมเปญไม่เทรวมของกรุงเทพฯ มากเลย แอนคิดว่านี่เป็นทางแก้ที่ถูกต้อง ปัญหาของการเทรวมคือทำให้ขยะทุกอย่างปนเปื้อนไปหมด ไม่มีใครอยากแตะ แต่ถ้าเราแยก เราล้าง ทำให้สะอาดก่อน ก็ทำให้เก็บไปรีไซเคิลได้ง่าย เป็นคอนเซ็ปต์ที่ดีที่จะไม่เทรวมโดยเริ่มต้นในบ้านตัวเอง”

เมื่อถามถึงสิ่งที่เธออยากเห็นในการจัดการขยะของเมืองไทย แอนมีมุมมองว่า

“เราอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลจากรัฐบาลและบริษัทใหญ่ ๆ ที่สามารถทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกคน ไม่ใช่ทำเหมือนแคมเปญที่มาแล้วก็ไป เดือนหนึ่งสองเดือนไม่มีใครทำต่อแล้ว ทุกวันนี้ถ้าเดินผ่านร้านสะดวกซื้อหรือจุดทิ้งขยะตามถนนช่วงดึก ๆ เราจะเห็นขยะกองใหญ่มาก ๆ เรารู้สึกเลยว่าต่อให้เราทำอะไรมากขนาดไหนก็เหมือนยังไม่ได้ช่วยเลย มันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากจริง ๆ ถ้ามีข้อมูลที่ทำให้คนรู้ว่าขยะมีค่า เราควรแยกอย่างไร ก็จะช่วยกันได้

ต้องทำให้การจัดการขยะเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงได้ง่าย ทิ้งง่าย คนทุกกลุ่มทุกระดับเข้าถึงเรื่องนี้ได้ง่าย ๆ

“แต่ต้องทำให้การจัดการขยะเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงได้ง่าย ทิ้งง่าย ตอนนี้การทิ้งอย่างถูกต้องมันเป็นเรื่องลักชัวรี่ มันแพง มีค่าใช้จ่าย เราต้องขับรถไปส่งให้ N15 หรือเรียกแกรบไปส่งให้ ซึ่งแอนคิดว่ามันผิด ไม่ใช่ทุกคนจะทำแบบนั้นได้ เราอยากให้คนทุกกลุ่มทุกระดับเข้าถึงเรื่องนี้ได้ง่าย ๆ ไม่ใช่แค่คนไทยสายกรีน หรือ expat ที่อินเรื่องนี้”

สถานที่: ขอบคุณ Kappra Cafe
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, Thailand Recycling Chain