เดือนเมษายน ความร้อนสลับพายุฝนเป็นช่วง แมลงต่าง ๆ เริ่มออกมาทักทาย ป่าเริ่มเขียวมากขึ้น แต่ยังมีใบอ่อนสีน้ำตาลแดง เขียวอ่อนแทรกอยู่ เริ่มมีหญ้าเขียวแทรกพื้นดินแห้งแตก ชาวนาเริ่มไถพรวนพื้นดินเพื่อเตรียมทำนาอีกครั้ง

เดือนสิงหาคม ลำห้วยของป่าภูพานน้ำเป็นสีแดง นาในข้าวเติบโตเต็มที่ก่อนถึงเวลาตั้งท้อง นกกระยาง นกกระสาสีขาวบินว่อน โฉบตัดกับท้องทุ่งและท้องฟ้า เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของฤดูกาล

เดือนธันวาคม ป่าค่อย ๆ สลัดใบเพื่อเอาตัวรอดจากความแห้งแล้ว ความหนาวเย็นมาเยือนป่าภูพาน ดอกไม้หลากหลายชนิดเริ่มเปลี่ยนสี วัว ควาย สัตว์เลี้ยง เริ่มครอบครองท้องทุ่ง เป็นเวลาของการเปลี่ยนความรู้สึก

นี่เป็นแค่เพียง 3 ใน 12 เดือน ที่เราหยิบมายกเป็นตัวแทนฤดูกาลของภูพาน จากการได้เห็น “บันทึก” บนผืนผ้าในนิทรรศการเปิดบ้านภูคราม เมื่อปลายปี 2565 ที่ เหมี่ยว-ปิลันธน์ ไทยสรวง และช่างฝีมือของภูคราม ผู้อยู่เบื้องหลังการปลูก ย้อม ทอ ตัด และปักร้อยเส้นด้ายสลับสี ช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้น เกิดเป็นผ้าทอธรรมชาติปักลายมีความหมายมากกว่าคำว่า “สวย” เพราะนั่นเป็นข้อความที่ภูพานส่งมาถึงทุกคนที่ได้พบเห็น ผ่านดอกไม้ ต้นไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ในท้องนา ผู้คน ฯลฯ ทั้งหมดเป็นวิถีเรียบง่ายของชาวภูพาน แต่เป็นความตื่นใจที่ละสายตาไม่ได้ เมื่อเห็นถึงดีเทลของชิ้นงานที่เป็นมากกว่าเครื่องนุ่งห่ม และมีความหมายมากกว่า “ศิลปะ”

8 ปีแล้วนับตั้งแต่วันแรกที่ภูครามส่งดอกไม้ของภูพานมาเป็นของขวัญบนผืนผ้าให้กับคนรักงานคราฟต์ และเป็นเรื่องง่ายดายเหลือเกินที่เราจะตกหลุมรักดอกไม้กระจิริดบนผ้าย้อมธรรมชาติ จากดอกไม้ดอกจิ๋ว ๆ ในช่วงต้น แรงบันดาลใจจากธรรมชาติของภูครามเติบโตมาเป็นงานปักที่ดีเทลถึงเรื่องเล่าและวิถีชีวิตของป่าและผู้คน ซึ่งนอกจากจะส่งแบรนด์มาอยู่ในใจของคนรักงานมือและผ้าธรรมชาติแล้ว ภูครามยังปักความรักถิ่นฐานลงในหัวใจของทุกคนที่อยู่เบื้องหลังชิ้นงานที่มีภูพานเป็นบ้านเกิด และอยากจะดูแลบ้านหลังเดิมของพวกเขาให้มีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดี ๆ แบบที่เคยเป็นเมื่ออดีต

“แก่นของภูครามตั้งแต่แรก คือเรื่องสิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิต เป็นหลักที่เราไม่เคยทิ้ง และไม่เคยหลุดจากออกกรอบนี้” คือคำที่เหมี่ยวย้ำกับเราชัด ๆ ถึงความตั้งใจที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนเป็นอื่น และยังคงอยู่ในเฉดเดิมไม่ว่าวันข้างหน้าทิศทางของภูครามจะเบนไปทางไหนก็ตาม

การกลับบ้านเพื่อสร้าง “ภูคราม” ของนักประวัติศาสตร์ชุมชน
“จุดเริ่มต้นของภูคราม คือเราต้องการกลับบ้าน” เหมี่ยวเล่าให้ฟังถึงวันที่ชีวิตเปลี่ยนเมื่อหันหลังให้เมืองหลวง ความคิดที่จะทำงานเรื่องผ้าไม่ได้เกิดขึ้นในตอนแรก หากแต่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นระหว่างทาง “ป้าแท้ ๆ ของเหมี่ยวทำเรื่องทอผ้า แล้วเหมี่ยวทำงานด้านประวัติศาสตร์ชุมชน งานพวกนี้อยู่ในเนื้อหาของความสนใจอยู่แล้ว ผ้าสีสวยแบบนี้ เราควรทำอะไรได้อีก เพราะว่าป้าไม่มีตลาด เวลากลับกรุงเทพฯ ก็ลองเอามาขายเพื่อน ๆ ที่ออฟฟิศ ก็ปรากฏว่าขายได้”

เหมี่ยวเล่าว่า ที่ภูพาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ชาวบ้านทอผ้ากันเป็นวิถีชีวิต เธอเองก็มีความทรงจำกับการทอผ้าของแม่และยายมาตั้งแต่เด็ก “จำกลิ่นได้ จำได้ว่าที่บ้านทำหม่อน เลี้ยงไหม มีกระด้งเลี้ยงไหมในบ้าน ยังจำการดีดฝ้ายของยายได้ ภาพจำของเราเป็นการเล่นว่าเขาเหยียบแบบนี้แล้วผ้าจะเด้งขึ้นมาแบบนี้ เอากระสวยเสียบเข้าไป ทำเล่นอยู่สองสามครั้งเพราะผู้ใหญ่ไม่ให้ทำอยู่แล้ว เขากลัวผ้าจะย่น แต่เรียกไม่ได้ว่าเรามีความผูกพัน” เธอเล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้น

การทอผ้าของชาวภูพานในวันวาน ไม่ได้ทำเพื่อการค้า ไม่ได้ทำเพื่อเป็นงานศิลปะ แต่ทำเพื่อเป็นปัจจัยสี่ คือทอเป็นผ้าห่ม เป็นหมอนเป็นมุ้ง เป็นเสื้อผ้าให้ลูกและสามี แต่ถึงวันหนึ่งสิ่งนี้ก็ค่อย ๆ หายไป “คำว่าหายไปไม่ได้หมายถึงว่ามันขาดไปเลย มีคนทำอยู่บ้าง แต่เท่าที่เหมี่ยวประเมินน่าจะเหลือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ คนทำก็จะเป็นคนแก่ เป็นแม่ที่อยู่บ้าน เพราะพอคนเรียนหนังสือมากขึ้นก็ไม่ได้เอาเรื่องนี้มาเป็นหลัก แล้วคนก็ย้ายถิ่นด้วย อย่างคนรุ่นเหมี่ยวนี่แทบจะไม่มีคนทำงานผ้าแล้ว

“ตอนที่เหมี่ยวอยู่กรุงเทพฯ ยุคนั้นป้า ๆ เขาทำผ้าพันคอกัน เหมี่ยวก็เอาพวกหลอดด้าย เอาเข็มกลับไปด้วย แล้วลองปักดอกไม้ดู ความรู้สึกคืออยากให้ดอกไม้อยู่ในนี้ เริ่มจากตรงนั้นเลย แล้วก็เริ่มหาเทคนิคการเล่าเรื่อง ผ้าผืนแรกของภูครามเกิดจากเหมี่ยวที่ปักยู่ยี่หน่อย ปักได้ประมาณห้าผืน ก็ค่อยหาคนปักที่เล่าเรื่องภูพานได้ พื้นฐานเหมี่ยวไม่ใช่คนทำธุรกิจ ไม่ได้มองตลาด ไม่ได้มองเรื่องกำไรต้นทุนเยอะมาก แค่โพสต์ให้เพื่อน ๆ เห็น แล้วเพื่อนชอบ เราก็เลยทำเพจภูครามขึ้นมา”

เราเห็นคุณค่าของพื้นที่มาตั้งแต่เด็ก จนรู้สึกว่าอยากจะดูแล เราจึงเอางานมาเป็นตัวช่วยดูแลสิ่งเหล่านี้

นอกจากทำงานด้านประวัติศาสตร์ชุมชนมานาน เหมี่ยวยังทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมานานพอกัน เมื่อกลับมาทำงานที่บ้าน สองเรื่องนี้จึงยังคงเป็นแกนหลักที่เธอยึด และเมื่อเธอทำแบรนด์ สิ่งนี้ก็ได้เข้ามาอยู่ในแก่นของภูครามด้วย “ด้วยพื้นฐานแล้วเราเห็นคุณค่าของพื้นที่มาตั้งแต่เด็ก จนรู้สึกว่าอยากจะดูแล เราจึงเอางานมาเป็นตัวช่วยดูแลสิ่งเหล่านี้ด้วย

“ภูพานอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวน ใกล้อุทยานแห่งชาติ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยกันมาเกือบ 200 ปี แล้วป่าภูพานไม่ใช่ป่าดิบเหมือนอุทยานแห่งชาติอื่น ๆ แต่เป็นป่าที่อยู่กับคน คนอยู่กับป่า ผูกพันจนเป็นสิ่งเดียวกัน แต่สิ่งที่เหมี่ยวรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นภูพานเองหรือที่อื่นในประเทศเรา คือเหมือนคนลืมให้ความสำคัญ บางอย่างหายหรือเปลี่ยนแปลงไปโดยที่ไม่ได้สนใจว่ามันเปลี่ยนแปลง

“การทำงานของเราคือการทำให้เขาได้สังเกตสิ่งเหล่านี้และรู้สึกผูกพัน อย่างต้นไม้คุณรู้สึกว่ามันมีอยู่เยอะ แต่ถ้าคุณตัด กว่ามันจะโตมันใช้เวลานาน แล้วลูกหลานของเราที่ออกไปอยู่ข้างนอก เขาไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้ว เขาก็จะไม่ดูแล ไม่ให้ความสำคัญ ภูครามเลยเป็นสิ่งที่ทำให้คนได้ถ่ายทอดวิถีที่เราเคยมีจากแม่สู่ลูก หรือให้งานเราได้เล่าเรื่องนี้สู่คนอื่นได้”

ผ้าหนึ่งผืนของภูคราม คือเรื่องราวของภูพาน
ความที่เป็นงานแฮนด์เมดทั้งเนื้อผ้าที่มาจากผ้าฝ้ายทอมือและฝ้ายเข็นมือ ให้เนื้อสัมผัสที่มีเสน่ห์หลากหลาย ปรุงแต่งน้อยแต่ยูนีค ย้อมสีด้วยจากต้นไม้ที่มีอยู่หลากหลายของภูพาน ไม่ว่าจะคราม มะเกลือ ประดู่ ลายปักที่มีแรงบันดาลใจจากธรรมชาติในพื้นที่ เหล่านี้คือความเรียบง่ายที่โดดเด่น และกลายเป็นเอกลักษณ์ของภูครามอย่างที่เห็นก็รู้ได้ทันที ที่สำคัญ ผ้าทุกผืนของภูคราม แฝงไว้ด้วยเรื่องราวของช่างที่ทำงานทอ ย้อม ปัก ตัด ทั้งหมดสร้างสรรค์ขึ้นด้วยจิตวิญญาณของคนภูพานโดยแท้จริง

เราศึกษาว่าพื้นที่เขาทำอะไร แล้วเราสนับสนุนสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วแต่เคยหายไป

“งานผ้าของภูพานไม่ได้โดดเด่นแบบที่บางท้องถิ่นเขามีลายเฉพาะ เช่น ลายภูไท ไทญ้อ แต่มันคือวัฒนธรรมการกินอยู่ที่เรียบง่าย เราทำผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าฝ้ายเข็นมือ เพราะเราศึกษาว่าพื้นที่เขาทำอะไร แล้วเราสนับสนุนสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วแต่เคยหายไป ก็เลยเริ่มมาให้ป้า ๆ ปลูกฝ้าย ทอผ้ากันมากขึ้น”

และสิ่งที่โดดเด่นมาก ๆ ของภูคราม คือลายปักที่ละเอียดทุกฝีเข็ม เราสะท้อนความรู้สึกที่เรามีต่อภูครามให้เธอรู้ “ความคิดแรกในการทำภูคราม เหมี่ยวมองว่าเราจะเล่าเรื่องธรรมชาติกับวิถีชีวิตผ่านงานและกระบวนการ วิถีชีวิตดั้งเดิมของเราคือใช้ฝ้าย เราใช้ผ้าฝ้ายทอมือ สีธรรมชาติ ส่วนลายก็เล่าเรื่องวิถีชีวิต

“เหมี่ยวไม่ได้มองเรื่องงานปักเป็นเรื่องแรก แต่มองการเล่าเรื่องเป็นเรื่องแรก คิดอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นว่าภูครามจะเล่าเรื่องแบบไหน มัดย้อมดีไหม หรือจะอะไรดี พอเราปักลายแล้วมีคนชอบ ก็ชวนบ้านข้าง ๆ มาปักกันไหมป้า พอได้รายได้เลยเกิดเป็นงานใหม่ เพราะไม่เคยมีรายได้ในพื้นที่ในลักษณะแบบนี้มาก่อน เราก็เลยต้องฝึกกันใหม่หมดเลย”

ดอกหญ้า ดอกไม้ป่าภูพาน ปรากฏตัวอยู่บนผืนผ้าทอมือ อย่างดอกติ้ว ดอกข่อยด่าน ดอกเสม็ด และดอกไม้อื่น ๆ ที่ล้วนมีต้นให้เห็นจริงอยู่ในภูพาน มากไปกว่านั้นคือวิถีชีวิตในหมู่บ้าน ท้องนา ผืนป่า เราจึงได้เห็นภาพของรวงข้าว ควาย นกกระสา ต้นไม้ใหญ่ และผู้คน สอดร้อยเป็นองค์ประกอบผ่านเส้นด้ายและปลายเข็มทุกการปักขึ้นลง

“มันแอ็บสแตรกต์พอสมควร บางทีเขาเห็นดอกไม้จากไกล ๆ ไม่รู้ว่าเป็นดอกอะไรก็ปักมา เหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง แต่ว่าดอกไม้ที่ชัดที่สุดของภูครามและที่คนรู้ก็คือดอกติ้ว มีคนถามเหมือนกันว่าทำไมไม่ปักพวกแอปเปิล หรืออะไรต่าง ๆ นานาที่เชื่อว่าคนน่าจะชอบ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายของแบรนด์ เราไม่ได้ทำเรื่องนั้น

“ในฐานะคนดั้งเดิมที่อยู่ที่นี่ เราจะเล่าเรื่องภูพานผ่านคนที่อยู่มาตลอดชีวิต แล้วงานช่างมันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ต้องอาศัยรายละเอียดอารมณ์เยอะในการให้เขาเล่าเรื่องเหล่านี้ และต้องหาแรงบันดาลใจให้เขาอยู่เสมอ แล้วก็จะค่อย ๆ พัฒนา” เหมี่ยวเล่าถึงที่มาของลายปักที่พัฒนาขึ้นจากงานยุคแรก ๆ

“เรารู้ว่าเป้าหมายหลักจริง ๆ ของภูครามเป็นเรื่องเข้าใจยากอยู่เหมือนกันโดยเฉพาะชาวบ้าน เราจะทำเรื่องของการอนุรักษ์วิถีชีวิตกับภูมิปัญญาปักได้ยังไง เหมี่ยวมีหน้าที่ทำให้เขารู้สึกว่าพื้นที่มีความสำคัญ และเอามาเล่าเรื่องผ่านงานอย่างแยบยล คือให้เขารู้สึกจริง ๆ ซึ่งเขาจะไม่ได้รู้สึกทันทีในผ้าผืนสองผืนแรก และช่างแต่ละคนที่เข้ามาเขาไม่เหมือนกันเลย การเปิดรับไม่เท่ากัน ดังนั้นการสื่อสารศิลปะพวกนี้เลยเป็นงานที่ค่อนข้างหลากหลายในแก่นเดียว แต่จะรู้ได้เลยว่าฝีมือใครเป็นยังไง”

ลวดลายที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนความคิดและตัวตนของช่าง ที่เป็นการสื่อสารของคนในพื้นที่

“เป้าหมายเราก็คือพื้นที่ ให้มองสิ่งแวดล้อมให้ออก ที่เราคุยกับช่างคือ ภูครามห้ามก็อปปี้กันเองด้วยนะ เราก็อปปี้ได้อย่างเดียวคือธรรมชาติ เห็นอะไรสื่อสารแบบนั้น แต่บางทีเห็นเพื่อนทำแล้วก็มีอินสไปเรชั่นของเขา มีการสอนกัน แต่ว่าสุดท้ายแล้วช่างจะมีฝีเข็มและความรู้สึก ณ ขณะนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นค่อนข้างที่จะมั่นใจว่า งานที่เราทำกับช่างแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์ของตัวเองในการสื่อสารอารมณ์ ความยูนีคของงาน และสำคัญที่สุดคือมีแก่นของคำว่าภูคราม ซึ่งอันหลังคือหน้าที่ของเหมี่ยวที่จะทำยังไงให้เป็นแก่นเดียวกัน

“และเราไม่ได้ปล่อยให้ปักเฉย ๆ ไม่ใช่แค่มีต้นไม้แล้วก็ปัก แต่ฝึกให้เขารู้จักการจัดวาง และต้องมีการตื่นตัวในการจัดวาง ต้องดูว่าช่างแต่ละคนเขาพัฒนาไปถึงไหนแล้ว เหมาะกับงานชิ้นนี้หรือยัง ปักไปแล้วก็ต้องส่งกลับมาช่วยกันดูว่าควรเติมยังไงบ้าง เพราะมันมีเรื่องการใช้สี เรื่องอารมณ์ของงานอยู่ตลอด เราต้องดูงานหมดทุกชิ้น เพราะเป็นงานมือ เราต้องใส่ใจเยอะ ไม่ปล่อย เพราะราคาสูงแล้วก็ต้องมองเรื่องคุณภาพด้วย ทุกกระบวนการไม่ว่าจะทอ ย้อม ตัดเย็บ มีความหมาย”

เมื่อภูครามทำงานความคิด
จากที่เหมี่ยวเล่ามา ทำให้เราเห็นภาพว่าภูครามให้ความสำคัญกับคุณค่าของคนทำงาน ภูครามทำให้ผู้คนเข้าใจและรู้จักภูพานมากขึ้น ซึ่งหมายความถึงทั้งคนภูพานเองและคนภายนอกที่ชอบใจในความยูนีคของภูคราม และที่สำคัญ งานที่อาศัยความประณีตของฝีมือ สายตาที่ช่างสังเกต และจินตนาการที่สร้างสรรค์ ได้เข้ามาทำงานกับความคิดของช่างชาวภูพาน โดยเฉพาะเรื่องความรักในถิ่นฐาน ธรรมชาติ และการดูแลสิ่งแวดล้อม

“ท้ายที่สุดเราได้เห็นว่า งานฝีมือเหล่านี้ได้เข้าไปซึมซับและเปลี่ยนมายด์เซตของเขาได้จริง ๆ เวลาที่มีคนหรือรายการมาสัมภาษณ์เขา สิ่งที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนคือ เขามองภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปหมดเลย เขารู้สึกถึงแม้กระทั่งความงามของกิ่งไม้ใบไม้ จากที่เขาไม่เคยมองต้นไม้ เดี๋ยวนี้กลายเป็นเขาสังเกตทุกอย่าง รู้สึกว่ามันสวย รู้สึกว่าอยากให้มานั่งอยู่ตรงนี้ อันนี้คือสิ่งสำคัญในการทำงานอนุรักษ์ การเปลี่ยนความคิดคนมันยากหน่อย แต่มันสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงสำหรับคนที่ทำงานกับภูครามคือข้างในของเขาเปลี่ยน

“การเปลี่ยนแปลงสำหรับคนที่ทำงานกับภูครามคือข้างในของเขาเปลี่ยน สิ่งที่เขาไม่เคยให้ความสำคัญมาก่อนในเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยน เขารู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม เขาเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสในการสื่อสารว่าที่นี่สำคัญ ที่อื่นก็สำคัญ และมีอะไรเกิดขึ้นในชุมชนมากขึ้น”

เรื่องความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ฝังอยู่ในเนื้องานผ่านกระบวนการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมี่ยวทำมาโดยตลอด เธอเล่าว่าทุกกระบวนการผลิตของภูครามนั้นต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“แม้กระทั่งการใช้สีเปลือกเราก็ไม่ได้ทำลายต้นไม้ เราใช้บางส่วนและรักษาบางส่วนให้เขาอยู่ต่อได้ ให้ต้นไม้เขาได้ฮีลตัวเอง หรือการใช้น้ำเราใช้น้ำธรรมชาติในการล้างฝ้ายบางส่วนก่อนจะนำมาใช้จริง และล้างน้ำประปานิดหน่อย เราดูแลเรื่อง zero waste ทุกอย่างของภูครามเราไม่ทิ้ง เราใช้เศษที่เหลือมาทำเป็นสินค้าใหม่ หรือมีการรียูสตลอดเวลา นี่พื้นฐานเลย”

เราจึงได้เห็นผลิตภัณฑ์ของภูครามที่ทำขึ้นจากเศษผ้า เศษชิ้นที่ใหญ่พอถูกนำมาตัดเย็บเป็นงานเล็ก ๆ อย่างกระเป๋า พวงกุญแจ หรือนำมาเย็บต่อกันเป็นผ้าผืนใหญ่เพื่อเป็นผ้าห่ม ส่วนชิ้นเล็กจิ๋วเป็นปุยเป็นขุย จะรวมส่งเข้าไปตีเส้นใยใหม่ เพื่อไม่ให้เศษผ้าเหล่านั้นถูกทิ้งไปเปล่า

“หรือไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นในชุมชนในเชิงการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ภูครามจะเข้าไปมีส่วนร่วมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกหรือการเปลี่ยนแปลงบางส่วนในพื้นที่ ล่าสุดเราทำเรื่องขยะในพื้นที่ ซึ่งคนที่ทำงานกับภูครามก็จะมีส่วนร่วมในการทำเรื่องเหล่านี้ด้วย

“และเราถอดบทเรียนไปทำงานกับชุมชนที่สนใจทำงานด้านการฝีมือ เล่าทุกอย่างให้เขาฟังหมดเลยตั้งแต่กระบวนการ ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีอะไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร การแบ่งผลประโยชน์กำไรต่าง ๆ การทำงานของเหมี่ยวมันคือการบริหารจัดการแบบเอ็นจีโอนิดนึง หมายถึงว่ามันมีเรื่องของผลประโยชน์ มีการแบ่งกำไร ให้เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้รู้สึกว่าไม่ใช่ผลงานเราคนเดียว แต่เราทำด้วยกัน”

ตอนนี้มีช่างปักและช่างทอของภูครามที่ช่วยกันสร้างสรรค์เรื่องราวบนผืนผ้าอยู่กว่า 70 คน ซึ่งเป็นคนที่ตั้งใจสะท้อนเรื่องราวของภูครามจริง ๆ

“คนที่ยังยืนยงอยู่จะเป็นคนรุ่นแม่ ๆ ป้า ๆ เพราะพอเด็ก ๆ เรียนหนังสือก็ไปที่อื่น แต่ว่าเราก็ให้โอกาสเขาเข้ามาทำ ซึ่งหลายคนที่มาลองหัดทำงานกับเรา แล้วสนใจเรื่องทำผ้าทอผ้า เขาไปเรียนต่อเรื่องนี้โดยตรงก็มี”

แต่ละขวบปีที่ภูครามเติบโตขึ้น ความภูมิใจของคนที่ปักแบรนด์ภูครามลงในหัวใจคนก็เติบโตขึ้นไม่ต่างกัน

ภูครามเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเข้าใจและรู้จักภูพานมากขึ้นด้วย

“ปีแรก ๆ ขายได้เราก็ภูมิใจ พอถัดมาเรามีกำไรพอที่จะนิ่งได้มากขึ้น ก็ได้มาทำงานเรื่องชุมชน ทำงานกับเยาวชน พัฒนาชาวบ้าน ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันทำให้คนเปลี่ยนมากขึ้น ชัดเจนเลยว่าภูครามเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเข้าใจและรู้จักภูพานมากขึ้นด้วย

“แต่ละปีมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ เหมี่ยวไม่ได้มองไปไกลว่าอนาคตภูครามจะเป็นยังไง ภูครามขับเคลื่อนด้วยปัจจุบันอยู่แล้ว หมายถึงว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้นเราก็ทำในแนวโน้มที่จะไปในทิศทางใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพราะแกนหลักที่ไม่เคยทิ้งของภูครามมาตั้งแต่แรกคือเรื่องสิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิต ไม่เคยหลุดจากกรอบนี้ เป้าหมายและอนาคตของเราก็คือแกนหลักของเราที่ค่อย ๆ ทำไป ต่อให้เราไปทำในทิศทางอื่น เราก็จะยังอยู่ในเฉดนี้”

ภาพ : จิราภรณ์ ล้อมหามงคล