เราได้ยินเรื่องราวของโครงการ Chula Zero Waste มานานหลายปี ทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยตั้งแต่การจัดการขยะที่ว่าด้วยการแยกที่ต้นทาง การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของร้านค้าร้านกาแฟ และการชวนให้ชาวจุฬาฯ ทุกระดับพกภาชนะใช้ซ้ำเพื่อเปลี่ยนกล่องหรือแก้วที่จะกลายเป็นขยะมาเป็นส่วนลด ฯลฯ ไปจนถึงการได้เห็น Chula Zero Waste เดินออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัยไปสู่ชุมชนย่านใกล้ และทำงานร่วมกับ กทม.เพื่อหาหนทางจัดการขยะให้กับเมืองร่วมกัน

นับนิ้วไปมา ตั้งแต่ปีแรกที่ Chula Zero Waste เริ่มนับหนึ่งเพื่อไปถึงวันที่ขยะเป็นศูนย์ คือปี 2560 เรียกว่าเป็น 6 ปีที่ดอกผลของโครงการเบ่งบานอย่างน่าพอใจ ทั้งระบบการจัดการขยะในมหาวิทยาลัยที่ดีขึ้น การส่งต่อขยะประเภทต่าง ๆ ไปสู่ปลายทาง การสร้างมายด์เซ็ตดี ๆ ให้กับน้อง ๆ นิสิตจุฬาฯ ร้านค้า และบุคลากรมหาวิทยาลัย ไปจนถึงนำประสบการณ์และชุดความรู้ไปแนะนำต่อในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และองค์กรอื่น ๆ

และที่มากไปกว่านั้น คือการสร้างเมล็ดพันธุ์หัวใจกรีนไปงอกงามต่อยังดินแดนอื่น อย่างที่ กอปร ลิ้มสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มภารกิจการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste เล่าให้เราฟังว่า

“เรามีน้อง ๆ ที่อินกับเรื่องนี้ พอจบไปเขาออกไปทำธุรกิจเพื่อสังคม บางคนเป็นเอ็นจีโอ บ้างก็ออกไปทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ บางคนไปเป็นนักข่าวสายสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน น่าภูมิใจที่จุดเริ่มต้นของเขามาจากตรงนี้”

กอปรชวนเรานั่งคุยถึงเฟสแรกที่ผ่านมาของ Chula Zero Waste และเฟสสองซึ่งกำลังก้าวเดินไปตามลำดับ ที่ร้านกาแฟในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนหลายร้านที่เข้าร่วมโครงการกับ Chula Zero Waste มาตั้งแต่ต้น

“เราสื่อสารกับทุกร้านในมหาวิทยาลัย อย่างร้านนี้จะมีแก้วสำหรับดื่มที่นี่ ถ้าใช้แก้วส่วนตัวมาซื้อก็จะมีส่วนลดให้ และพยายามเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด กากกาแฟทางโครงการจะมารวบรวมไปให้เกษตรกรมารับไปเป็นปุ๋ย ก่อนหน้านั้นเรามีส่งไปให้บริษัทที่ทำเฟอร์นิเจอร์ เขาเอากากกาแฟไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำไม้เทียม แต่ตอนหลังบริษัทนี้ก็หายไป” แม้จะฟังดูน่าเสียดาย แต่นั่นก็เป็นวัฏจักรของธุรกิจ ในแง่หนึ่งการได้เห็นว่ามีผู้ประกอบการสนใจนำของที่ดูหมดประโยชน์ไปก่อเป็นคุณค่าใหม่ ต่อให้เพียงสักช่วงเวลาหนึ่งก็เป็นเรื่องดีไม่น้อย

แล้วเรื่องเล่าน่าสนใจต่อจากนี้ก็จุดประเด็นขึ้นจากแก้วและกากกาแฟ ซึ่งเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งที่โครงการทำมาทั้งหมด และยังคงเดินหน้าต่อ เพื่อทำให้เรื่องขยะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องไม่ละเลย เช่นเดียวกับที่ Chula Zero Waste ก็จะไม่ละมือ

เมื่อถึงวันขยะล้น โลกใบนี้มีคนที่ไม่อยู่เฉย
ก่อนที่จะร่วมงานกับโครงการ Chula Zero Waste กอปรมีภารกิจจัดการสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยอยู่แล้วตามบทบาทของสำนักบริหารระบบกายภาพ เขาอินเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมาตั้งแต่ต้น ทั้งจากความสนใจส่วนตัว และเนื้องานที่อยู่ในมือ

“ก่อนหน้านั้นผมทำเรื่องมหาวิทยาลัยสีเขียว มหาวิทยาลัยยั่งยืน และ sustainable lifestyle ภายในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพื่อให้นิสิตซึ่งเป็นคนเจเนอเรชั่นใหม่ได้เอาเรื่องพวกนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การทำเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัยมันดีตรงที่จะไม่จบแค่ภายในองค์กร แต่เราส่งต่อพลังงานดี ๆ มายด์เซ็ตดี ๆ ให้กับนิสิตที่จะจบไปเป็น future leader เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำเรื่องความยั่งยืน เรื่องจัดการขยะ เราไม่ได้จัดการแค่ในองค์กร แต่เราทำเพื่อสร้างคนที่จะออกไปขับเคลื่อนสังคมด้วย”

ในการเริ่มต้นของ Chula Zero Waste อีกหนึ่งคนสำคัญที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ดร. สุจิตรา วาสนาดำรงดี หรือ ‘อาจารย์กุ๊ก’ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่ตอนนี้ขยับตัวออกไปขับเคลื่อนโครงการระดับเมือง ระดับชาติมากขึ้น เช่น จัดการขยะจากแหล่งกำเนิด 84 องค์กร กอปรซึ่งร่วมงานกับอาจารย์กุ๊กมาตั้งแต่ต้น จึงเป็นแกนหลักในการสานงาน Chula Zero Waste เฟส 2 ต่อ

“ผมอินกับ Chula Zero Waste ตรงที่เรามองว่าเรื่องขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ และเราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ด้วย ถ้าอาจารย์จะสอนเรื่องการลดการแยกขยะในห้องเรียน แต่การจัดการอื่น ๆ อย่างไม่มีถังขยะให้แยก หรือไม่มีการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับสิ่งที่สอน มันก็ย้อนแย้ง ผมคิดว่าเป็นไฟท์บังคับที่มหาวิทยาลัยต้องทำเรื่องนี้ และเป็นเรื่องที่เริ่มต้นมาแล้วกระทบใจคนส่วนมากเพราะมันอยู่ใกล้ตัว

“ในเฟสแรกเราตั้งเป้าหมายไว้สองอย่าง คือลดขยะที่เหลือทิ้งส่งไปแลนด์ฟีลด์ให้ได้ 30% ภายใน 5 ปี และที่สำคัญกว่าคือ ทำให้เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ให้คนในจุฬาฯ ตระหนักถึงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในสมัยนั้น เพราะตอนที่เริ่มทำ จุฬาฯ มีถังขยะแยกประเภทแล้ว แต่คนไม่แยก การทำยังไงเพื่อให้คนเข้าใจแล้วอิน อยากมีส่วนร่วมในการลดและแยกขยะมากขึ้นจึงเป็นโจทย์ ผมกับน้อง ๆ อบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ) ไปรณรงค์เรื่องแยกขยะ น้อง ๆ เดินกลับมาคอตก พี่ เขาไม่แยกกัน ให้เหตุผลว่าพี่ ๆ ที่เก็บขยะเขาก็เก็บไปรวมกันอยู่ดี ผมไปคุยกับพี่ ๆ เก็บขยะ เขาก็บอกว่าเขาแยกขยะขายกันอยู่นะ ทำไมถึงจะไม่แยก แล้วพาเราไปเดินดูที่ถังขยะ ก็พบว่าน้อง ๆ ไม่ได้แยกจริง

“ที่มาของโครงการเลยเริ่มตั้งแต่นั้น คือการจัดการขยะไม่ใช่แค่ไปวางถังขยะแล้วจบ แต่ต้องทำสองเรื่อง คือหนึ่ง ระบบการจัดการขยะต้องดี ดีตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เราเน้นความสำคัญที่ต้นทางคือใช้ถังขยะเป็นตัวสื่อสารกับคนทิ้ง เราอยากให้เขาทิ้งอะไร แยกขยะยังไง กลางทางคือพี่ ๆ ที่ไปเก็บรวบรวมต้องเข้าใจ และสุดท้ายแล้วปลายทางขยะจะไปที่ไหน”

ปลายทางของขยะนั้น วัสดุที่รีไซเคิลได้ถูกส่งต่อไปรีไซเคิล ที่รีไซเคิลไม่ได้จะส่งเป็น RDF ส่วนขยะอาหารโครงการนำไปหมักเป็นปุ๋ย เมื่อระบบถูกเซตขึ้นไว้อย่างนี้ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือการสื่อสารกับคนให้หันมาลดขยะ เพราะนั่นจะเป็นหนทางของการจัดการขยะที่ยั่งยืนกว่า

“คนเมืองพูดกันเยอะมากเรื่องการแยกขยะ แต่ลืมไปว่าต้นทางที่ดีกว่าการแยกขยะคือการลดขยะ เราสื่อสารเรื่องนี้กับคนของเรา เพื่อให้รู้ตัวว่าในชีวิตประจำวันเราก่อขยะอยู่แล้ว แต่จะทำยังไงให้ก่อน้อยลง ลดลงได้ยังไงบ้างจากไลฟ์สไตล์ของเรา และถ้าก่อขึ้นมาแล้วจะจัดการขยะในมือเรายังไง”

เรื่องขยะถูกพาเข้าไปสู่การรับรู้ของทุกกลุ่มคนในรั้วจุฬาฯ นิสิตปีหนึ่งเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะตั้งแต่กิจกรรมรับน้อง ในบ้านรับน้องจะมีการลดและแยกขยะกันภายในบ้าน และได้รับของขวัญต้อนรับจากมหาวิทยาลัยเป็นกระบอกน้ำเพื่อใช้กดน้ำดื่มจากตู้กดน้ำที่โครงการติดตั้งไว้ทั่วมหาวิทยาลัย เรื่องลดขยะและแยกขยะจึงกลายเป็นไลฟ์สไตล์ และในจำนวนเหล่านั้นก็มีไม่น้อยที่ ‘อิน’ ไปด้วย

“น้อง ๆ ที่อินส่วนใหญ่จะเป็นคณะที่มีเนื้อหาการเรียนเกี่ยวข้องอยู่ เช่น น้องที่เรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเล น้องคณะสัตวแพทย์ หรือคณะที่เขาใกล้ชิดกับธรรมชาติ เพราะเขาเห็นปัญหา จริงๆ เราอยากจะให้มีการสอดแทรกเรื่องนี้เข้าไปในการเรียนการสอน เพราะหลากหลายวิชาสามารถทำได้ เช่น นิเทศศาสตร์เอาเรื่อง zero waste หรือ sustainability ไปเป็นหัวข้อในการทำสื่อหรือทำโปรเจ็กต์ พอเด็ก ๆ ได้ทำรีเสิร์ช เขาจะได้เห็นมากขึ้นว่าปัญหามันใหญ่ขนาดนี้เลย และมันเกี่ยวข้องกับเขายังไง”

การสื่อสารเพื่อความเข้าใจ เป็นเรื่องท้าทายกว่าที่คิด
“การสื่อสารและจัดการองค์กรที่ค่อนข้างปิด หรือว่าสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ จะทำได้ง่าย แต่ถ้าเป็นองค์กรเปิด การสร้างความเข้าใจหรือเปลี่ยนมายด์เซ็ตจะยากขึ้น เราใช้วิธีว่า ในหนึ่งเรื่องที่เราต้องการสื่อ เราต้องสื่อสารหลาย ๆ ทางเพื่อให้ถึงคนทุกกลุ่ม เรื่องลดและแยกขยะแต่ละคนก็มีบทบาทแตกต่างกัน และเราสามารถมีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน

“เรามีตั้งแต่เป็นทางการมาก ๆ ออกมาประกาศเป็นนโยบาย ประกาศแนวทางการจัดการขยะส่งไปตามหน่วยงานต่าง ๆ จัดประชุมอบรม จัดเป็นกิจกรรมรณรงค์ โรดโชว์ไปตามตลาดนัดมหาวิทยาลัย ไปตามโรงอาหาร ทำแคมเปญกับพี่เอ็ด 7 วิ (เพจที่วัยรุ่นติดตาม) ซึ่งเป็นการทำแคมเปญจากข้างนอกแล้วย้อนกลับมาหาคนของเรา เมื่อก่อนเฟซบุ๊กอย่างเดียวอาจจะพอ แต่ตอนนี้น้อง ๆ ไปอยู่ในติ๊กต่อก เราก็ต้องตามไป ในขณะที่เฟซบุ๊กเราก็ยังต้องอยู่ การสื่อสารที่หลากหลายและครอบคลุมแบบนี้ สุดท้ายคนจะเอ๊ะ แล้วเขาจะถามว่า เขาจะมีส่วนร่วมอะไรได้บ้าง

“เมื่อสื่อสารแล้ว เขาอินแล้ว เราก็ต้องทำ facility ให้สอดคล้องด้วย เช่น เรามีถังแยกขยะหรือเปล่า เขาพกกระติกน้ำก็ต้องมีตู้กดน้ำให้เขา แล้วถ้าเขาใช้แก้วตัวเองไปซื้อน้ำจะได้ส่วนลดไหม

“กับร้านค้า ร้านกาแฟทั้งหลาย เราใช้การพูดคุยให้ข้อมูลว่า ทำไมเราถึงลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ เรามีการช่วยเหลือและสื่อสารกับลูกค้าให้เขาด้วย และทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกว่าเขาได้ประโยชน์จากตรงนี้ อย่างเรื่องแก้ว เรื่องบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผมว่าคนที่ควรต้องจ่ายคือคนที่ใช้ บรรจุภัณฑ์พวกนี้แพงกว่าแต่ย่อยสลายได้ ถ้าคนซื้อไม่ได้เอาแก้วมา เขาต้องเป็นคนเสีย 3 บาท 5 บาท เป็นค่าแก้วค่ากล่องข้าว แต่ถ้าคุณไม่อยากจ่าย คุณก็ต้องพกแก้วพกกล่องข้าวมาเอง แล้วบวกกับค่าอาหารค่าเครื่องดื่ม ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในพฤติกรรมของตัวเอง อาจารย์กุ๊กบอกว่าเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คนซื้อจะรู้สึกว่าทำไมต้องเสีย 3 บาททุกวัน แค่พกแก้วก็จบแล้วมั้ย หรือ 2 บาทที่ต้องซื้อถุงผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล แค่พกถุงผ้าก็จบ

“แก้วพลาสติกหรือถุงพลาสติกที่ใช้ในปัจจุบันราคาถูกมาก ๆ มันมีค่ากำจัดหรือต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่นะ แต่ไม่ได้ถูกบวกเข้าไป แล้วมันต้องไปกระทบกับค่าใช้จ่ายของประเทศ แต่ตอนนี้ในเมื่อกฎหมายยังทำได้แค่นี้ เราก็มาชวนกันทำสไตล์ Chula Zero Waste ซึ่งหลังจากโควิดมา มาตรการนี้ก็มีหย่อนยานไปเพราะมีเรื่องสุขอนามัยที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมดในเวลานั้น แต่ตอนนี้เรากลับมาขันน็อต ประกาศมาตรการกันอีกครั้ง”

แนวทางที่ Chula Zero Waste ทำ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะคุณกอปรได้นำออกไปเผยแพร่สู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ โรงเรียน และองค์กรภายนอก รวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องระบบการจัดการขยะให้กับอีเวนต์ต่าง ๆ ที่มักมีคนเข้ามาขอคำแนะนำอยู่เสมอ

“กับมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน เราทำกับเด็กนักเรียน นักศึกษา ครู ส่วนองค์กรผมไปอบรมแม่บ้านให้เขา ไปคุยกับผู้บริหารให้เขา จนกระทั่งเขาเซ็ตอัพได้ อันนี้คือเป้าใหญ่ของเราอยู่แล้วว่า คนที่จะมาเริ่มทำเรื่องนี้ ไม่ต้องทำจากศูนย์ มาต่อยอดจากพวกเราเลย เราลองผิดลองถูกมา 5-6 ปีแล้ว เรามีชุดความรู้อยู่ แต่เชื่อว่าไปใช้ในองค์กรอื่นแบบเหมือนกันเป๊ะไม่ได้หรอก เพราะบริบทต่างกัน ต้องเอาไปประยุกต์ให้เหมาะสมแล้วเราช่วยเขาคิด”

เมื่อถามถึงผลลัพธ์ในเฟสแรก กอปรให้คำตอบว่า “ผลลัพธ์ได้ดีเกินคาด ขยะเหลือทิ้งไปแลนด์ฟีลด์เราลดได้เกิน 30% บางส่วนอาจจะเพราะเราปิดมหาวิทยาลัยช่วงโควิดด้วย แต่เทรนด์ก่อนหน้านั้นก็ดีมากอยู่แล้ว ส่วนสิ่งที่ทำได้ดีขึ้น หลัก ๆ เลยคือระบบการจัดการขยะของจุฬาฯ ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดมาก ๆ ทั้งระบบการแยกของแม่บ้าน ระบบหลังบ้านในการหาปลายทาง เราหาทางให้มันไปจนได้ ขณะเดียวกันก็มีคนเข้ามาขอดูงาน ซึ่งผมว่ามันเป็นแรงบันดาลใจให้กับที่อื่นได้ด้วยว่า ถ้าจัดการขยะดี ๆ เราจะลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะเลย”

Chula Zero Waste เฟส 2
หนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของ Chula Zero Waste คนนี้ พาเราเดินสำรวจจุดทิ้งขยะที่ให้ข้อมูลชัดเจนทั้งคำอธิบายและสีถัง ตู้กดน้ำที่มีกำหนดตรวจสอบดูแลตามรอบ จุดแยกขยะของแม่บ้านที่รอการส่งต่อ กอปรเล่าให้เราฟังว่า ในเฟสสอง เรื่องเหล่านี้จะถูกขยายให้ครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัยยิ่งกว่าเดิม และออกไปทำงานกับชุมชนมากขึ้นโดยเริ่มจากรอบมหาวิทยาลัยก่อน ซึ่งเป็นการทำงานขับเคลื่อนร่วมกับภาคสังคม

“ที่ผ่านมาแม้โครงการในมหาวิทยาลัยจะทำได้ในระดับหนึ่ง แต่บางหน่วยงานยังทำได้ไม่เต็มที่ ก็เป็นส่วนที่เราต้องไปโฟกัสว่าทำอย่างไรให้เรื่อง zero waste เป็นได้ทั้งมหาวิทยาลัย ในจุฬาฯ เรามีทั้งคณะขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และเรามีต้นแบบการจัดการขยะที่ดีในทุกระดับ ซึ่งสามารถถอดบทเรียนและดำเนินการได้ และเรายังเป็นองค์กรที่อยู่ตรงกลางคอยช่วยเหลือ สนับสนุนให้เกิดขึ้น

“ขณะเดียวกันเราไปร่วมกับองค์กรภายนอกเพื่อขับเคลื่อนสังคมด้วย เราทำเรื่องไม่เทรวมกับ กทม. ขับเคลื่อนเรื่องกรุงเทพฯ Zero Waste กับเพื่อน ๆ อีกหลายองค์กร แต่ส่วนที่เราเป็นแม่งานก็คือเรื่องจัดการขยะกับชุมชนโดยรอบจุฬาฯ โรงเรียน ตลาดสามย่านนี่เรารับเอาเศษขยะมาจัดการ

“กับชุมชนเราทำงานในรูปแบบที่เขามีทีมมาทำเรื่องนี้กับเรา เราคอยสนับสนุนด้านข้อมูลความรู้ วิธีการจัดการ และแก้ปัญหาให้เขาเรื่องปลายทาง เช่น เขาแยกแล้ว ปลายทางจะส่งต่อให้ กทม. เราจะตกลงกับเขต ตกลงกับคนที่มารับขยะต่อจากเขายังไงได้บ้าง ช่วยอบรมแม่บ้าน ทำประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ หรือเข้าไปกระตุ้นให้ตระหนัก ผมก็พร้อมที่จะไปช่วยเขาทำ แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้เราทำคนเดียวไม่ได้นะ ต้องอาศัยคนอื่นมาร่วมด้วย อย่างอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ หรือจากสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม”

ใช่แต่ว่า Chula Zero Waste จะขยับแค่เรื่องขยะซึ่งเป็นโปรเจ็กต์พี่ใหญ่ เพราะการดูแลสิ่งแวดล้อมในความเป็นจริงมีมิติที่กว้างกว่านั้นมาก

“เราดูเรื่องความยั่งยืนอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น สุขภาพต้นไม้ใหญ่ ระบบบำบัดน้ำเสียอาคาร เรื่อง net zero ลดการปล่อยคาร์บอน ให้เป็น carbon neutrality ซึ่งจริง ๆ เราทำมาตลอดอยู่แล้ว และกำลังจะสื่อสารให้คนมาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้มากขึ้น”

เชื่อม Chula Zero Waste เข้ากับเมือง เพื่อจัดการขยะให้ดีขึ้น

การจุดประกายให้ตื่นตัวกับการจัดการขยะในมหาวิทยาลัยเป็นอันเห็นผล ขณะเดียวกัน กทม.เองก็กระเตื้องขึ้นในการแก้ปัญหานี้ เมื่อคิดเห็นตรงกัน Chula Zero Waste จึงเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะที่มีชุดความรู้จากการลงมือทำมาแล้ว

“นอกจากอาจารย์กุ๊กออกไปขับเคลื่อนระดับที่ใหญ่ขึ้น พออาจารย์ชัชชาติเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ทีมเราก็เข้าไปนำเสนอว่าเราจะทำงานร่วมกันได้ยังไงบ้าง กทม.ก็ต้องปรับเรื่องกลางทางและปลายทาง คือรับและไปจัดการ โครงการไม่เทรวมก็ต้องปรับเรื่องรถนะ ต้องมีแยกขยะเศษอาหารด้วย แล้วขยะอื่น ๆ อย่าง RDF จะรับยังไง หรือให้คนลงทะเบียนโดยใช้ Traffy Fondue มาช่วย ซึ่งตอนนี้นำร่องอยู่ในสามเขตของ กทม. และสุดเราคงขยายให้ครอบคลุมทั้งหมด”

เมื่อถามถึงมุมมองส่วนตัวกับการจัดการขยะในกรุงเทพฯ เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ กอปรให้ความเห็นว่า จุดพักขยะเป็นเรื่องที่ควรให้น้ำหนัก ด้วยเหตุผลว่า การมีจุดพักขยะจะช่วยส่งเสริมการแยกขยะได้มาก

“pain point ของคนเมืองสายกรีน คือการต้องเก็บขยะไว้ที่บ้านแล้วรอรวบรวมไปส่ง การมีที่พักขยะจะช่วยให้เราหิ้วขยะมาจากบ้านแล้วเดินมาทิ้งแยกได้ตามประเภทเลย ถังขยะควรจะไปผูกกับชุมชน อย่างที่เกาหลีหรือเยอรมนี เขาคิดว่าหน้าที่ของประชาชนคือช่วยแยก ส่วนหน้าที่รับกำจัดอย่างถูกต้องเป็นหน้าที่ของเมือง

“ปัญหาขยะในเมืองไทยมันสะสมหลายเรื่อง ความอ่อนแอของกฎหมายด้วยส่วนหนึ่ง เรื่อง awareness ด้วย การสื่อสารกันก็เป็นปัญหา และสุดท้ายคือเรื่องพฤติกรรม บางเรื่องจำเป็นต้องแก้ที่กฎหมายจริง ๆ อย่างกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ผลิต ให้ผู้ผลิตมีส่วนร่วมในการเก็บขยะกลับไป ตอนนี้เป็นภาคสมัครใจ มันเลยไม่เกิด ถ้าย้อนกลับไปเรื่อง cap seal (พลาสติกหุ้มฝาขวด) ถ้าไม่เป็นกฎหมาย ก็ไม่มีใครยอมทำ การมีกฎหมายมีส่วนช่วยให้เกิดเร็วขึ้นได้จริง ๆ

“และเรื่องการสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญและท้าทาย เมสเสจง่าย ๆ เลยอย่าง ‘ลดและแยกขยะกันเถอะนะ เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม ช่วยโลกของเรา เพื่อคนในเจเนอเรชั่นต่อไป’ จะสื่อสารยังไงให้เข้าไปถึงใจคน ให้เขาอยากมีส่วนร่วม ในเฟสสองเราพยายามจะชวน influencer มาเป็นเครือข่าย ทำให้เขาเข้าใจเรื่องนี้และอิน แล้วให้น้อง ๆ เขาได้สื่อสารกันเอง เราไปไกลกว่าเรื่องขยะได้ เขาจะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความยั่งยืน mental Health หรือ gender equality ได้หมดเลย

“กับอีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะสื่อสารออกไป คือสายกรีนเขียวเข้มก็ควรจะเห็นอกเห็นใจสายเขียวอ่อนด้วย ทุกคนมีความพร้อมไม่เท่ากัน บางคนอาจมีข้อจำกัด หรืออาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ควรจะให้เขาได้ค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ เปลี่ยนไปกับเรา อย่างรู้สึกเป็นมิตรมากขึ้น จะเขียวอ่อนเขียวเข้มไม่เป็นไรเลย ขอให้มาเริ่มจากเรื่องเล็กน้อยใกล้ตัวก่อน สุดท้ายแล้วเขาจะอินมากขึ้น ซึ่งเรื่องแบบนี้ดีต่อใจตรงที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

“ผมเชื่อเรากำลังทำเรื่องที่ท้าทายเจเนอเรชั่นเรา และเป็น topic ใหญ่มากของโลก เราอยู่ในส่วนที่จะทำให้มันดีขึ้นได้ และการได้ทำเรื่องนี้ทุกวัน ได้มาเจอน้อง ๆ ทีมงานที่อินเรื่องเดียวกับเรา ได้เห็นน้อง ๆ ที่ผ่านการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยแล้วอินกับโครงการของเรา เขาเอาไปต่อยอด ไปใช้ชีวิต zero waste หรือไปขับเคลื่อนสื่อสารต่อ ผมมองว่าหายเหนื่อย

“แล้วเมื่อลูก ๆ ผมโตขึ้น เขาถามกลับมาว่าป๊าทำงานอะไร ผมตอบกลับได้อย่างภูมิใจว่าผมทำงานนี้ ก็เป็นความรู้สึกที่ดี”

ภาพ : ศรัณย์ แสงน้ำเพชร