จะเรียกที่นี่ว่า “ยูโทเปีย” ก็ย่อมได้ หากว่าในความหมายของ Utopia คือดินแดนของผู้คนที่อยู่ดีกินดี อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข เป็นดินแดนในฝันและอยู่ในโลกอุดมคติที่อยู่ห่างไกลจากความเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริง และที่ SAFETist Farm ดินแดนเล็ก ๆ ริมคลองบางมดแห่งนี้ มีภาพของคำว่ายูโทเปียวาบเข้ามาซ้อนทับ มันเกิดขึ้นระหว่างที่เรากำลังนั่งคุยอยู่กับ ไลล่า-อรอุมา สาดีน ผู้ร่วมก่อตั้งเซฟติสต์ฟาร์ม ริมสระน้ำที่เป็น “ใจ” ของพื้นที่

“เรากำลังสร้างบ้านของเราตรงนั้น” ลาล่าชี้ให้ดูพื้นที่ที่เตรียมไว้ใกล้ ๆ กับหอดูนกที่เด็ก ๆ และผู้มาเยือนฟาร์มมักขึ้นมาสังเกตสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่มาอาศัยที่ผืนนี้เป็นบ้านพักพิง พลางให้เราดูแปลนที่ร่างกันขึ้นมาเองของสมาชิกในเซฟติสท์ฟาร์มที่มีความรู้ด้านสถาปัตย์อยู่ “ให้มีอาคารกลางขึ้นมาไว้ทำกิจกรรม มีต้นไม้หนึ่งต้นอยู่ตรงกลาง บ้านพวกเราก็จะอยู่ตรงนั้น บ้านสามหลังติดกัน แล้วเว้นช่องตรงกลาง สลับกับบ้านอีกสามหลัง ที่เราต้องทำสามหลังติดกันเพราะมันใช้เสาเข็มน้อย พื้นที่กี่ตารางเมตร ใช้กระจกแบบไหน เราคำนวณค่าใช้จ่ายไว้แล้วทุกอย่าง”

โมเดลบ้านที่เธอเล่า เกิดขึ้นหลังจากเซฟติสท์ฟาร์มมีอายุเข้าปีที่สาม ฟาร์มไซส์กะทัดรัดขนาด 2 ไร่เศษที่พวกเธอเข้ามาเช่าอยู่เคยเป็นที่รกร้าง บ้านไม้หลังเก่าที่อยู่ติดริมคลองยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม ต่อเติมพื้นที่ด้านข้างริมขอบสระไว้สำหรับทำกิจกรรม ติดกันคือบ้านหลังจิ๋วให้เด็กมาใช้เวลาสนุก ๆ ในฟาร์ม

สิ่งที่เราอยากเห็นตั้งแต่ตอนเข้ามาอยู่ที่นี่ คือการเป็นชุมชนพึ่งพาตนเอง

“เวลาออกแบบต้องเอาเด็กเป็นศูนย์กลางด้วย ไม้ที่เราใช้ต่อเติมรวมทั้งโรงเรือน หอดูนก เป็นไม้มือสอง ได้มาจากการบริจาค ทุกอย่างที่เห็นในฟาร์มพวกเราทำกันเองหมดเลย สิ่งที่เราอยากเห็นตั้งแต่ตอนเข้ามาอยู่ที่นี่ คือการเป็นชุมชนพึ่งพาตนเอง ผลิตอาหารเอง ผลิตพลังงานเอง ทุกอย่างใช้มือเราทั้งหมด ไม่มีจ้างคนอื่น เราไม่ได้มีเงินทุนอะไรมาเลย เรียกว่าความตั้งใจมันใหญ่กว่าเงิน”

ความตั้งใจที่ว่า ก่อร่างให้ที่นี่กลายเป็นชุมชนที่มีสมาชิกอยู่ 20 ชีวิต มีคลังอาหารให้พวกเขาได้หล่อเลี้ยงชีวิต และเอื้อไปถึงชุมชนในวันที่เกิดความขาดแคลนอาหารช่วงโควิด-19 ที่นอกจากจะนำไปแบ่งปัน ยังเกิดการเรียนรู้ของคนในชุมชนในการสร้างพื้นที่อาหารของตนเอง จนพัฒนามาสู่การส่งต่ออาหารปลอดภัยที่ผลิตในวิถีอินทรีย์ผ่านการซื้อขายในรูปแบบสมาชิกตะกร้าผักรายเดือน เกิดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับชุมชนและเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับผู้สนใจ และพยายามรักษาวิถีชาวริมคลองบางมดเอาไว้ด้วยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อฟื้นคืนลมหายใจของลำคลองให้กลับมาเป็นหัวใจของชุมชนอีกครั้งหนึ่ง

ฟาร์มของเหล่านักสร้างสรรค์ความปลอดภัย
“safe คือคำว่า ปลอดภัย tist มาจาก artist คือนักสร้างสรรค์ เซฟติสท์ฟาร์มเลยมีความหมายถึงฟาร์มของนักสร้างสรรค์ความปลอดภัย มาจากความต้องการของเราที่ต้องการทำอะไรที่ปลอดภัย กินอาหารที่ปลอดภัย มีการพึ่งพาที่ปลอดภัย มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เราใช้คำว่านักสร้างสรรค์ เพราะเราไม่อยากเป็นผู้ถูกกำหนด เราต้องเป็นผู้กำหนดเอง ออกแบบมันขึ้นมาเอง” ไลล่าเล่าถึงความหมายที่แฝงอยู่

“เรารู้จักคลองสายนี้เพราะเคยมาทำงานอาสาอยู่ที่นี่ รู้ว่าเมื่อก่อนคลองเคยเป็นหน้าบ้าน แล้วมันกลายเป็นหลังบ้านเมื่อมีถนนเข้ามา เรารู้ว่าคลองมีความสำคัญ เลยเข้ามารื้อฟื้นสิ่งที่เป็นหลังบ้านให้กลับมาเป็นหน้าบ้านอีกครั้ง”

แม้จะเกิดที่สตูล แต่ไลล่าใช้ชีวิตในวัยเรียนและช่วงที่ความคิดเติบโตในกรุงเทพฯ เธอเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ ผ่านการทำงานหลากหลาย เคยเป็นเซลส์ เคยทำงานมูลนิธิสถาบันการเดินและจักรยานไทย และได้คลุกคลีกับคลองบางมดเพราะมูลนิธิฯ ทำโปรเจ็ตก์ 3C (Community, Cycling, Canal) มาก่อน ในวัย 27-28 ลาล่าถามตัวเองว่าอยากมีชีวิตแบบไหน และมีชีวิตเพื่ออะไร คำตอบนั้นคือ สร้างชุมชนที่ตัวเองอยากอยู่ขึ้นมา เพื่อทำสิ่งที่อยากทำ

“ล่าทำงานจิตอาสามาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทำหลากหลายประเด็นมาก เช่น เรื่องผู้สูงวัย เยาวชน กลุ่มเปราะบาง พอถึงวันที่อยากจะมีชุมชนเป็นของตัวเอง เลยเลือกที่นี่เพราะรู้จักพื้นที่แถบนี้ดี ค่อนข้างผูกพันกับชุมชน และเรามีเพื่อน ๆ ที่เคยทำงานอาสา เป็นนักพัฒนามาด้วยกัน ก็ชวนกันมาอยู่ที่นี่

“เมื่อเข้ามาอยู่ เราก็มองว่าหนึ่งชุมชนต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ถึงจะเป็นชุมชนที่ยั่งยืนได้ หนึ่งในนั้นมีเรื่องของการทำเกษตร เรื่องความยั่งยืนทางอาหาร สมัยที่เราทำงานเยาวชน มีพี่ ๆ ที่ทำงานพัฒนามาด้วยกัน ทำเรื่องคลังอาหารมาบ้าง เช่น ผลิตข้าวอินทรีย์ แต่เรายังไม่ได้ไปแตะตรงนั้น จนช่วงโควิด-19 เป็นการยืนยันกับเราเลยว่า ถ้าไม่มีอาหาร เราอยู่รอดไม่ได้ เพราะทุกคนต่างตกงาน คลังอาหารเลยเกิดขึ้นที่นี่”

คลังอาหารที่เราเห็น คือพืชผัก สมุนไพร โรงเรือนเลี้ยงเป็ดไก่ สระที่มีปลาเลี้ยงไว้เป็นอาหาร ทั้งหมดเริ่มต้นจากคนที่ทำเกษตรไม่เป็น แต่เมื่อจะต้องพึ่งพาตนเองก็ต้องเรียนรู้ และความรู้จากโครงการสวนผักคนเมืองที่พวกเธอเข้าไปเก็บเกี่ยว ก็ต่อยอดมาเป็นคลังอาหารที่สมาชิกฟาร์มได้พึ่งพาและแบ่งปันไปถึงชุมชนด้วย

“พอเราปลูกเองได้ เราเอาผักไปแจกชุมชนในช่วงโควิด ต้นอ่อนทานตะวันนี่ชุมชนไม่เคยรู้จักมาก่อน เมื่อเราเอาไปฝาก เขาก็กินเพราะจำเป็น พอเขากินเป็นต้นอ่อนทานตะวันก็ฮิตขึ้นมาเลย จากนั้นเราก็ไปฝึกอาชีพ เพื่อให้เขาผลิตได้เอง

คนจนเมืองไม่สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ เพราะมันแพง เราเลยคิดว่ามิตินี้น่าสนใจ เราต้องทำให้เขาปลูกเองเป็น

“มีคำหนึ่งที่ล่าได้ฟังจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค และมันย้ำเตือนล่ามาตลอด คือคนจนเมืองไม่สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ เพราะมันแพง เราเลยคิดว่ามิตินี้น่าสนใจ เราต้องทำให้เขาปลูกเองเป็น เพื่อที่จะได้กินอาหารที่ปลอดภัย เราสอนเขาเพาะต้นอ่อน ปลูกผักกระถาง เลี้ยงไส้เดือน เลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อย่อยสลายเศษอาหารในชุมชนให้กลายเป็นปุ๋ย”

ผูกโยงอาหารปลอดภัยกับผู้บริโภคด้วยคลังอาหารและตะกร้าผัก
“ถ้าเอาแค่เรารอดอย่างเดียว แต่คนอื่นไม่รอด สุดท้ายแล้วจะไม่มีใครรอด” ไลล่าให้เหตุผลถึงการที่เซฟติสท์ฟาร์มต้องเชื่อมโยงกับผู้คนในชุมชน

“เราไปฝึกอาชีพให้กับชุมชนหมู่ 5 ทุ่งครุ เป็นชุมชนใต้สะพาน หลังจากนั้นเรามองว่าแค่เชื่อมโยงกับชุมชนไม่พอ แต่เราต้องเชื่อมโยงกับผู้บริโภคด้วย เลยทำเป็นสมาชิกตะกร้าผักรายเดือนขึ้นมา ผู้บริโภคอยู่ตรงไหน เราตามไปในระยะไม่เกิน 10 กิโลฯ เพื่อให้เขาสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยที่ฟาร์มผลิตขึ้นได้ และส่งให้เขาภายใน 24 ชั่วโมงหลังตัดเก็บ”

ไลล่าเล่าว่า ผักที่จัดให้สมาชิกมีลักษณะเป็นตะกร้าสุ่ม แม้สมาชิกจะเลือกไม่ได้ แต่สามารถระบุได้ว่าผักชนิดไหนที่กินไม่ได้จริง ๆ เพราะบางคนอาจมีโรคที่มีผักต้องห้าม ส่วนที่เหลือนั้นพวกเธอพยายามออกแบบเพื่อให้สมาชิกได้กินผักที่หลากหลาย โดยแบ่งเป็นแพ็กเกจรายเดือนตั้งแต่ 500 บาท 1,000 บาท และ 1,800 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนบริโภคของสมาชิกแต่ละครอบครัว และจัดส่งทุกสัปดาห์ โดยอิงแนวคิดการกินผักผลไม้ 400 กรัมต่อวันของ สสส. มาใช้ เพื่อให้สมาชิกได้กินผักอย่างเพียงพอ

“ส่วนคลังอาหารก็ยังต้องมีไว้สำรองในยามวิกฤติด้วย” ลาล่าพาเราวกกลับมาถึงเรื่องคลังอาหาร ที่ได้ทำหน้าที่ในยามอาหารขาดแคลน ว่าเธอกำลังออกแบบให้ชุมชนอื่น ๆ สามารถสร้างคลังอาหารของตัวเองได้

“คลังอาหารสำหรับลาล่า คือมีอาหารในยามวิกฤติ เมื่อเกิดวิกฤติต้องมีอาหารสำรองไว้ขั้นต่ำ 6 เดือน ถึงจะเพียงพอสำหรับเบื้องต้น อย่างของเราคือเซฟติสท์ฟาร์ม เราดูแลตัวเองได้ 20 คนของเรามีอาหารรองรับ แต่เรายังขาดเรื่องข้าว ซึ่งเราปลูกไม่ได้ พื้นที่เราไม่พอ แต่เราใช้วิธีให้เพื่อนที่ผลิตข้าวแบบอินทรีย์ส่งมาให้เราจากศรีสะเกษ นั่นคือโมเดลนี้เราไม่จำเป็นต้องปลูกเองทั้งหมด แต่ใช้วิธีเชื่อมโยงกันเข้ามา

ตอนนี้เรามองไกลถึงขั้นว่า ถ้าเกิดวิกฤติอีก แต่ละชุมชนเขามีคลังอาหารของตัวเองไหม

“ตอนนี้เรามองไกลถึงขั้นว่า ถ้าเกิดวิกฤติอีก แต่ละชุมชนเขามีคลังอาหารของตัวเองไหม และถ้ามีต้องบอกได้ว่าอยู่ตรงไหน เพราะถ้าจะรอความช่วยเหลือมันใช้เวลา ดีที่สุดคือเขาเตรียมพร้อม มีเมล็ดพันธุ์พร้อมจะผลิตอาหาร มีครัวพร้อมประกอบอาหาร ภาพที่เราออกแบบไว้คือ ชุมชนต้องรู้ว่าถ้าเกิดวิกฤติขึ้น มีคลังอาหารอยู่ตรงไหน ผักต้องมี แต่จะกินผักอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีโปรตีนด้วย และต้องมีข้าว มีน้ำสะอาด จะปริมาณเท่าไรก็เป็นโจทย์ให้คำนวณว่าในชุมชนมีคนอยู่กี่คนที่จะต้องดูแล ตอนนี้เราต้องถอดโมเดลของเราให้เสร็จก่อน แล้วถึงจะไปทำให้ที่อื่นมีโมเดลแบบเดียวกัน”

รักษาชุมชนผ่านมิติการท่องเที่ยว
ไลล่าชวนเราเดินเลาะเลียบคลองบางมด ซึ่งสายน้ำนำสายตาเราไปจนสิ้นสุดการมองเห็น เรือหางยาวของคนในชุมชนกำลังแล่นผ่าน มีมะพร้าวอ่อนบรรทุกอยู่บนลำเรือ เป็นวิถีชาวคลองที่ยังพอมีให้เห็น

“ละแวกนี้ชาวบ้านใช้ชีวิตกับเรือเป็นหลัก เมื่อก่อนคลองบางมดดังมากเพราะมีส้มบางมด แต่ตอนนี้หายไปเยอะเพราะมีเรื่องของน้ำเค็มน้ำกร่อยเข้ามา นอกจากส้มก็มีมะพร้าว เวลาที่ฟาร์มเรามีอีเวนต์อะไรก็ตาม ก็จะเอามะพร้าวของแต่ละสวนเข้ามาขายด้วย แล้วจัดกิจกรรมเชื่อมโยงกับชุมชน เป็นทริปท่องเที่ยวไปในจุดต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของคนแถบนี้”

ความร่มรื่นของต้นไม้และสายน้ำ พาให้เราเย็นไปทั้งกายทั้งใจ บรรยากาศต่างไปจากกรุงเทพฯ ในเขตเมือง แม้ที่เรายืนอยู่จะยังเป็นพื้นที่ในเขตหนึ่งของมหานคร

เราพยายามรักษาพื้นที่ตรงนี้เอาไว้ ด้วยการบอกกับเขาว่า ทำธุรกิจของบ้านตัวเองนั่นแหละ ทำให้สิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ให้คงอยู่ได้

“เราพยายามรักษาพื้นที่ตรงนี้เอาไว้ ด้วยการบอกกับเขาว่า ทำธุรกิจของบ้านตัวเองนั่นแหละ ทำให้สิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ให้คงอยู่ได้ แล้วเราเอาเรื่องการท่องเที่ยวเข้าไปเชื่อมโยงทั้งคลองเพื่อให้เกิดรายได้ เราจะเอาแค่เรารอดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเขาไม่รอด เขาก็อาจจะขายที่ เมื่อที่ถูกรุกล้ำ ต้นไม้จะหายไป แล้วสุดท้ายเราก็จะได้รับผลกระทบนั้นเหมือนกัน

“แต่ละบ้านเขาจะมีของดีค่ะ บางคนทำอาชีพซ่อมเรือ เดินไปทางโน้นมีบ้านเขียนวาด เจ้าของบ้านทำบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์รูปถ่าย ถัดไปมีกลุ่มชาวมุสลิม เขาก็จะมีวัฒนธรรมของเขา เรารื้อฟื้นเส้นทางน้ำขึ้นมา โดยให้มีกิจกรรมพายคายักชมคลอง เชื่อมโยงกับธุรกิจริมคลอง เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว อย่างตรงชุมชนมุสลิมมีกิจกรรมเวิร์กช็อป เพนต์กระบอกน้ำ เพนต์หมวก มีอาหารฮาลาล เดินไปอีกนิดมีวัดพุทธบูชาที่มีลุงเสงี่ยมเป็นไกด์ชุมชนเล่าเรื่องเก่งมาก ถัดไปก็มีศาลเจ้าแม่ทับทิม มีสวนส้มบางมด โดยมีเซฟติสท์ฟาร์มเป็นจุดสุดท้าย ซึ่งตลอดระยะทางของเส้นทางเรือ แต่ละจุดก็มีสตอรี่ที่น่าสนใจ

“การท่องเที่ยวชุมชนจะทำให้เราได้รื้อฟื้นคลองกลับมา เมื่อก่อนน้ำในคลองสะอาด เอาจริง ๆ ตอนนี้น้ำที่นี่ก็ยังสะอาดกว่าที่อื่น แต่มันมีเรื่องของน้ำเค็ม น้ำกร่อยเข้ามารุกล้ำพืชผล ข้อดีของน้ำกร่อยคือช่วยให้ผักกรอบ แต่ถ้ามีเยอะไปก็จะใช้รดผักไม่ได้ พอแล้วขึ้นเกลือเลย ที่สำคัญอีกเรื่องคือนิเวศที่กำลังหายไป ในคลองมีปลาหมอคางดำซึ่งเป็นปลาสายพันธุ์ต่างถิ่น แล้วรุกรานปลาสายพันธุ์ท้องถิ่น ตอนนี้คนตกปลายกขึ้นมามีแต่ปลาหมอคางดำ ก็กำลังคิดกันอยู่ว่าจะทำยังไงเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้

“หรือเรื่องต้นไม้บางชนิดกำลังหายไป ด้วยความที่พอมีความเจริญเข้ามา ชาวบ้านต้องการสร้างอะไรใหม่ก็ตัดต้นไม้ทิ้ง เราก็พยายามคุยกับชุมชนว่า ต้นไม้ใหญ่แบบนี้คือทรัพยากรนะ ช่วยลดคาร์บอน ต้องเก็บไว้ ตอนนี้เราก็ปลูกของเราอยู่ และเชื่อมโยงกับเขต คือเขตเข้ามาปลูกไม้สักตรงทางเข้า ต่อไปเมื่อโตขึ้นก็จะเป็นของส่วนรวมที่ทุกคนจะได้มีส่วนในทรัพยากรตรงนั้น ตอนนี้เขตก็เสนอว่าอยากให้ทำเส้นทางเรือที่เชื่อมโยงไปจนถึง BTS วุฒากาศ เพื่อจะได้ลดความหนาแน่นของจราจรบนถนนได้

“ท่องเที่ยวเป็นทริปที่เราสามารถจัดได้ต่อเนื่อง แต่จัดเป็น booking เพื่อที่เราจะได้ออกแบบการท่องเที่ยวให้เหมาะกับกรุ๊ปนั้น ๆ เราแบ่งเป็นเส้นทาง 3 กิโลฯ 5 กิโลฯ 10 กิโลฯ ถ้าพายเรือคายักแบบสายแข็งหน่อยก็ 10 กิโลฯ เชื่อมไปเกือบถึงทะเลบางขุนเทียน”

นอกจากการเป็นคลังอาหาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เซฟติสท์ฟาร์มยังเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถเข้ามามีประสบการณ์ที่ต่างออกไปได้

“เราเชื่อมโยงกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่อยากทำกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น โรงเรียนอยากให้เราออกแบบกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้วิถีชีวิต เราก็ออกแบบให้ว่ามีฐานกิจกรรมอะไรบ้าง เช่น ตกปลา ยกยอ ปรุงอาหารเป็นเชฟ โดยใช้วัตถุดิบในฟาร์ม การทำน้ำยาใช้เอง คือเอาเรื่องการเรียนรู้มาเชื่อมโยงกับพื้นที่หรือความเป็นธรรมชาติริมคลองให้ได้มากที่สุด และให้เขาได้เรียนรู้วิถีการพึ่งพาตนเอง”

ออกแบบอนาคต เติบโตเป็นธุรกิจเพื่อสังคม
การพึ่งพาตนเองในแนวทางของเซฟติสท์ฟาร์มในขวบปีที่สาม เป็นไปอย่างน่าพอใจของชาวสมาชิก ไลล่าบอกว่า โมเดลของพวกเธอคือ “ปลดคนจากงานประจำ เข้าสู่วิถีชีวิตที่เราควรอยากจะเป็น” ส่วนจะเป็นยังไงนั้นต้องขอให้เธอช่วยอธิบาย

“เราใช้ธุรกิจนี้ในการดูแลตัวเอง แล้วทำให้เกิดการจ้างงาน นั่นคือปลดคนจากงานประจำที่มีฝันเดียวกันแล้วมาทำธุรกิจในโมเดลของเรา ตอนนี้ธุรกิจที่เรามีคือตะกร้าผัก การท่องเที่ยว เมื่อธุรกิจไปได้ เราก็ดึงเพื่อนที่เป็นอาสาสมัครของเราซึ่งตอนนี้ยังทำงานที่อื่นอยู่มาทำกับเรา คือตอนนี้เขาเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่พร้อมที่จะมาได้เต็มตัว ขณะที่เราเองก็สร้างธุรกิจเล็ก ๆ ที่สร้างรายได้

เราไม่ได้มองแค่รายได้ แต่เรามองเรื่องชุมชนด้วย เป็นธุรกิจสีเขียวที่เราต้องสร้างความเป็นสีเขียวให้คนรับรู้

“และเมื่อธุรกิจตรงนี้อยู่ได้ เราก็จะมีเขาเข้ามาดูแลต่อ แล้วเราออกไปทำในชุมชนอื่น ไปฝึกอาชีพให้ชุมชนอื่น ตอนนี้เรียกได้ว่าเราทำธุรกิจแล้ว แต่ไม่ใช่ธุรกิจจ๋าที่ต้องทำกำไร เราไม่ได้มองแค่รายได้ แต่เรามองเรื่องชุมชนด้วย เป็นธุรกิจสีเขียวที่เราต้องสร้างความเป็นสีเขียวให้คนรับรู้ นั่นคือต้องเล่าเรื่องราวด้วย อย่างไม้ทุกแผ่นเป็นการใช้ไม้ซ้ำ ทำไมเราต้องทำคลังอาหาร ทำไมเราต้องเก็บต้นไม้เอาไว้ ผักที่คุณกินเท่ากับคุณกำลังได้ดูแลชุมชนที่เขาไม่มีรายได้อยู่นะ เพราะที่เราไปฝึก ไปสนับสนุนชุมชนให้ปลูก บางคนเป็นแรงงานนอกระบบ บางคนเป็นเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ตะกร้าผักที่เราส่งไม่ได้มีแต่ผักของเซฟติสท์ฟาร์ม แต่ยังมีของชุมชนที่ปลูกแบบอินทรีย์เหมือนเราด้วย

“กระทั่งการส่งผัก เราก็ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้านะคะ” ไลล่าบอกว่า รถที่ใช้อยู่นี้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจัดมาให้ เป็นการทำงานร่วมกันโดยมีจุดหมายเพื่อลดคาร์บอน

“มันไปไกลกว่าคนซื้อผักได้ผักอะไรบ้าง แต่เชื่อมโยงไปถึงการบริโภคแบบนี้ ขนส่งระยะทางเท่านี้ เราช่วยลดคาร์บอนได้เท่าไร เรากำลังไปอบรมเรื่องการคำนวณคาร์บอนต่ำ และจะเข้าสู่วงการนี้อย่างจริงจัง”

ตอนนี้โมเดลคาร์บอนต่ำจึงกำลังเข้ามาเสริมการท่องเที่ยวคลองบางมด ผ่านการเชื่อมโยง 7 ธุรกิจเข้มแข็งในพื้นที่ริมคลอง เพื่อให้ชุมชนสร้างธุรกิจเองได้โดยมีมาตรฐานกำกับ เช่น มาตรฐานความปลอดภัย ราคาที่เป็นกลาง มีพื้นที่สาธารณะที่รองรับแบบ Universal Design มีการจัดการขยะที่ถูกต้อง และเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยทำงานร่วมกับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่

ว่ากันตามจริง ตอนนี้เซฟติสท์ฟาร์มยืนอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างที่เธอตั้งใจ ขณะเดียวกันก็ได้โอบเอื้อเกื้อกูลไปถึงชุมชนด้วย แล้วทั้งหมดนี้เป็นภาพเดียวกับที่ฝันหรือยัง-เราถามไลล่า

“ต้องบอกว่า สำหรับตัวล่าเอง สิ่งที่ผลักดันให้เราทำมาจนถึงวันนี้ คือภาพความสมดุลของธรรมชาติที่เราอยากอยู่ ซึ่งโลกปัจจุบันที่เราอยู่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วเราจะอยู่ยังไง เราก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นเราก็คงอยู่แบบเดิม มันอาจจะยังไม่เกิดเป็นภาพที่อยากเห็นได้อย่างสมบูรณ์ แต่เราต้องทำให้ได้ ต้องทำชุมชนแบบนั้นเกิดขึ้นให้ได้

“เราโชคดีที่เราไม่ได้ทำคนเดียว เรามีบริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราขับเคลื่อนความฝันนั้นได้ ภาพฝันเรายังอีกยาวไกล แต่เรายังมีพลังที่จะทำ”

ภาพ: ศรันย์ แสงน้ำเพชร