หากมองปราดเดียวและแค่เดินผ่าน มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เราจะรีบตัดสินร้านค้ากึ่งคาเฟ่เรียบเท่แห่งนี้ว่าเป็นแค่ธุรกิจเกิดใหม่ทั่วไป แต่หากลองเยื้องย่างเข้ามาและใช้เวลาสักหน่อย เราย่อมสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรบางอย่างที่ชวนกลับมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทั้งกับตัวเองและเห็นความหมายของบ้านเมืองได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม

เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก ในมุมหนึ่งธุรกิจและการบริการต่าง ๆ จึงมักตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ คนเชียงใหม่จึงเป็นคล้าย “คนแปลกหน้าใบบ้านของตัวเอง” ด้วยเหตุนี้ ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร จึงตั้งใจออกแบบพื้นที่ของ The Goodcery ให้เป็นเสมือน “บ้านอีกหลัง” ของคนเชียงใหม่สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ที่นี่จึงเป็นร้านขายของชำที่คัดสรรผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นทั่วไทย มีสเปซทำกิจกรรมได้หลากหลายทั้งกินอาหาร ดื่มกาแฟ นั่งทำงาน พาลูกมาเล่น หรือแม้แต่นั่งเงียบ ๆ เพื่อรื่นรมย์กับตัวเองและได้เห็นเชียงใหม่ในมุมที่อาจไม่เคยมองเห็น

ประสบการณ์อาหารอันรุ่มรวยคือขุมทรัพย์ที่ไม่รู้ตัว
“เราเป็นครอบครัวมุสลิมที่เกิดและเติบโตย่านช้างคลาน อยู่กันเป็นเครือญาติขนาดใหญ่ ต้นตระกูลที่มาเชียงใหม่คนแรก ๆ คือทวดที่เป็นชาวอินเดียซึ่งมาในนามชาวอังกฤษเพื่อดูแลการทำไม้ในสมัยนั้น การตั้งถิ่นฐานแรกของครอบครัวจึงอยู่ในย่านริมน้ำปิงตั้งแต่ย่านโรงเรียนสวนเด็กถึงมงฟอร์ตประถม ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 เชียงใหม่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยามจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมีนามสกุล “ศรีจันทร์ดร” และเกี่ยวดองเชื่อมโยงกับคนท้องถิ่นเชียงใหม่ซึ่งในเวลานั้นส่วนใหญ่คือเชื้อสายพม่าทำให้ครอบครัวของเรามีทั้งเชื้อสายอินเดีย พม่า ผสมความเป็นคนพื้นเมืองเชียงใหม่ อาหารการกินในครอบครัวจึงหลากหลายมาก

“ที่จริงในบ้านกินอาหารพื้นเมืองเป็นพื้นฐานนั่นแหละ กินกับข้าวเมือง ลาบคั่ว ตำบะหนุน แกงอ่อม แกงผักกาด แกงแค แต่สิ่งที่อยู่ในมื้ออาหารด้วยเสมอคือแกงเนื้อ..ที่บ้านเรียกแกงจิ๊นใส่เครื่องเทศแบบอินเดีย เวลากินก็กินกับข้าวนึ่งนะ (หัวเราะ) จิ๊นทอดต้องมีทุกวัน มีอ๊กไก่ซึ่งที่อื่นเรียกอุ๊บไก่ แค่เนื้อทอดบ้านเราเนี่ย..มีอย่างน้อยห้าสูตร บางครั้งย่าทำแบบชิ้นเล็ก ๆ กรอบ ๆ ทำชิ้นใหญ่นุ่ม ๆ ทำแบบเนื้อตากแห้ง …มีวิธีการเยอะมากแบบกินไม่เคยซ้ำ”

เพียงแค่ภัทรานิษฐ์เกริ่นเริ่มต้น คนที่สนใจเรื่องวัฒนธรรมอาหารก็ต้องตาลุกวาวเพราะนี่คือเรื่องเล่าวัฒนธรรมอาหารที่ผสมผสานก่อเกิดความเป็นเชียงใหม่อย่างเข้มข้นจากคนวงในอย่างแท้จริง เชียงใหม่คือเมืองแห่งการหลอมรวมผู้คน เชื้อชาติ วัฒนธรรมมานานโดยมีจุดเริ่มต้นจากพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำปิงซึ่งมีทั้งฝรั่งชาวอังกฤษที่เข้ามาทำไม้ ชาวจีนยูนนานที่เคยเป็นพ่อค้าคาราวานสินค้าเร่ และอีกหลายชนชาติที่เริ่มตั้งรกรากถิ่นฐานอย่างถาวร โดยครอบครัวศรีจันทร์ดรนับเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในย่านช้างคลานรุ่นบุกเบิกครอบครัวหนึ่งเลยทีเดียว อาชีพของบรรพบุรุษรุ่นแรก ๆ คือการทำไม้ ต่อมาคือการเลี้ยงวัวควายส่งขายตามจังหวัดต่าง ๆ ส่วนในเชียงใหม่ขายทั้งเนื้อ นม และหนังสัตว์ ทุกวันนี้สมาชิกครอบครัวบางส่วนยังทำร้านอาหารอยู่จนถึงปัจจุบัน

“ตอนปู่ทำร้านเขาคงตั้งใจทำอาหารง่าย ๆ แหละ แต่ถึงอย่างนั้นปู่ก็ทำเองแทบทุกกระบวนการ โม่เนื้อ ปั้นลูกชิ้น คั้นน้ำกะทิข้าวซอย ข้าวหมกที่หุงด้วยเตาถ่าน ตอนเด็ก ๆ เรารู้แค่ว่าปู่ตื่นตีสาม ตอนบ่ายจะงีบนอน เราเห็นแค่นั้น แต่เมื่อโตขึ้นและได้มองย้อนกลับไป ประสบการณ์เหล่านี้มีค่ามาก สิ่งที่ปู่สร้างไว้ ทำไว้เป็นมรดกล้ำค่า ลูกชิ้นเนื้อที่อร่อยที่สุดทำยังไง ข้าวหมกแบบปู่ทำยังไง พอปู่เสียกะทันหัน เรารู้เลยว่าพลาดอะไรไปหลายอย่างมากจริง ๆ โชคดีที่ยังได้เรียนรู้จากย่าที่เป็นคนทำอาหารหลักในบ้านได้บ้าง

เราโตมากับครอบครัวที่คนทำอาหารอย่างประณีตจึงรู้ว่าอาหารที่คนทำตั้งใจทำรสชาติเป็นยังไง

“เราโตมากับครอบครัวที่คนทำอาหารอย่างประณีตจึงรู้ว่าอาหารที่คนทำตั้งใจทำรสชาติเป็นยังไง กินแล้วรู้เลยว่านี่คืออาหารที่ละเมียดละไม อาหารที่ปู่กับย่าทำมันประณีต เขาหวังแค่ให้ทุกคนกินอิ่ม กินพร้อมหน้าพร้อมตา เขาต้องการแค่นั้นเอง แต่สำหรับเรา..ทำไมมันดีจังเลย ดีแบบหาไม่ได้ สุดท้ายแล้วอาหารที่อร่อยคือบรรยากาศที่เราจดจำได้ การเตือนให้เราระลึกถึงอะไรบางอย่าง อาหารของปู่กับย่าย้ำเตือนช่วงชีวิตว่าเรามีความสุขมาก (น้ำตาคลอ) อาหารที่อร่อยสำหรับเราจึงเป็นอาหารที่มีความทรงจำ”

สู่เส้นทางนักประวัติศาสตร์ที่เห็นคุณค่าท้องถิ่น
“พ่อชอบอ่านหนังสือ ชอบเล่าประวัติเรื่องราวต่าง ๆ เราฟังเรื่องเล่าในอดีตจากคนสูงวัยเยอะทำให้ชอบฟังและช่างสังเกต แม่ก็อ่านหนังสือเยอะ เราเลยโตมาแบบชอบอ่านหนังสือ สนใจเรื่องเล่า เรื่องประวัติศาสตร์สังคม โบราณคดีต่าง ๆ ตอนต้องเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยเลยเลือกภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเดียวเลย การเรียนที่นี่ค่อย ๆ สร้างระบบคิดแบบประวัติศาสตร์ให้เรา ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การจดจำข้อมูลแต่เป็นระบบคิด การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์นี่แหละที่สำคัญมากที่สุดต่อมวลมนุษย์ ถ้าเราตั้งต้นด้วยพื้นฐานวิธีคิดแบบนี้ได้ ที่เหลือเราปรับใช้กับทุกเรื่องในชีวิตได้หมดเลย”

การเรียนในคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงเวลานั้นถือเป็นยุคทองของนักวิชาการชั้นนำจำนวนมาก เธอมีโอกาสได้เรียนรู้กับอาจารย์หลายท่านหลากความเชี่ยวชาญ โดยคุณูปการเหนืออื่นใดคือการทำให้ภัทรานิษฐ์ได้กลับไปเข้าใจรากของตัวเองจนเชื่อมโยงสู่ความเข้าใจและเห็นคุณค่าของรายละเอียดของท้องถิ่นได้ยิ่งกว่าที่เคยเป็น

เรื่องครอบครัวศรีจันทร์ดรนี่แหละ เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครทำได้ ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัวกันเอง

เรื่องครอบครัวศรีจันทร์ดรนี่แหละ เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครทำได้ ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัวกันเอง

“ตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ล้านนากับอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล (ผู้เชี่ยวชาญล้านนาคดีศึกษา) อาจารย์บอกว่า ‘เธอไม่ต้องทำเรื่องอื่นเลยนะ ทำเรื่องครอบครัวศรีจันทร์ดรนี่แหละเพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครทำได้ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัวกันเอง’ นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ได้ค้นคว้า เรียนรู้ กลับไปอ่านหนังสือ ดูหลักฐาน ถามผู้คน เราถึงเพิ่งตระหนักว่าประวัติศาสตร์ครอบครัวของเรามันมีความหมาย ถ้าอาจารย์ไม่จุดประกายในวันนั้นทุกอย่างคงผ่านเลยไป

“วิชาประวัติศาสตร์สร้างระบบคิดให้ ส่วนที่เหลือเราต้องเชื่อมโยงข้อมูล ประเมินบริบททั้งหมดว่าจะทำอะไรอย่างไรได้บ้างซึ่งทั้งหมดนี้เวลาที่เราทำธุรกิจ มันได้ใช้ทั้งหมดเลย ทุกอย่าง ทั้งโอกาส ความเสี่ยงทุกมิติ นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ยังสอนให้เราวิพากษ์ อาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ สอนเสมอว่าห้ามเชื่อแม้แต่ครูอาจารย์ เพราะคำถามคือจุดเริ่มต้นของการคิด เมื่อเราคิดได้แล้ว ถึงรู้ว่าจะรื้อสร้าง (deconstruct) ได้อย่างไร มันสอนให้เราเรียนรู้ คิดย้อนกลับ ตั้งคำถามและไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ การคิดต้องไม่ใช่แค่วิเคราะห์ สังเคราะห์แต่เราต้องวิพากษ์ได้ด้วยว่า แนวความคิดแบบนี้ยังมีข้อจำกัดหรือจุดอ่อนอะไรบ้าง แต่เราจะสร้างอันใหม่ขึ้นมาได้ไหมนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง”

The Goodcery : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ว่าด้วยพื้นที่ ผู้คนและความสัมพันธ์

การกินสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยลดการผูกขาดและนำไปสู่ความเป็นธรรมในสังคม

ภายใต้ข้อมูลที่ผ่านความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง การคิดและออกแบบของภัทรานิษฐ์ต่อ The Goodcery จึงถูกพิจารณามาแล้วทุกแง่มุม เธอเติบโตจากครอบครัวที่รู้จักการกินดี ใส่ใจกับวัฒนธรรมการกินอันหลากหลาย มองเห็นเสน่ห์ในรายละเอียดของท้องถิ่น เมื่อต้องทำธุรกิจสักอย่างเธอจึงตั้งเป้าหมายให้ “การกินสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยลดการผูกขาดและนำไปสู่ความเป็นธรรมในสังคม” ให้ได้ โดยมีหุ้นส่วนต่างๆ ทั้งปรีติ สุวรพงษ์, ชลทิศ เขื่อนแก้ว, ธัญวดี ธัญวรธรรม และวรวรรธ ธงนำทรัพย์ คิดเห็นและร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน

ที่นี่จึงกลายเป็นร้านโชว์ห่วยที่ไม่เน้นขายสินค้าแบบที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มี ไม่ขายสินค้าแข่งกับร้านค้าท้องถิ่นดั้งเดิมในย่านเดียวกัน และเน้นการขายผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าออร์แกนิกแต่อย่างใด หากให้ความหมายกับคำว่า “Taste of local” มากกว่า ชั้นวางผลิตภัณฑ์ของ The Goodcery จึงน่าตื่นตาตื่นใจไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่คัดสรรและจัดเรียงนำเสนอตามภูมิภาค จากเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ตามหาได้ตั้งแต่พริกลาบเมืองเหนือ น้ำแจ่วฮ้อน ไปจนถึงผงหมักหมูย่างเมืองตรัง ที่แม้แต่คนไม่ได้รักการทำอาหารก็ยังต้องนึกอยากเข้าครัวเพราะพบเจอวัตถุดิบแสนสนุก

ส่วนตัวเราไม่คิดว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจที่เรียนประวัติศาสตร์แต่เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ทำธุรกิจ

“ส่วนตัวเราไม่คิดว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจที่เรียนประวัติศาสตร์แต่เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ทำธุรกิจ อยากให้ Goodceryได้ร่วมเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่หมายถึงผู้คน อาหารที่เป็นผลผลิตของผู้คน อยากให้เห็นว่ามีใครอยู่ในพื้นที่แห่งนี้บ้าง เวลาพูดถึงเชียงใหม่ต้องมีคนเชื้อสายพม่า แขก มุสลิม อินเดีย ยูนนาน ภาคอีสานบางจังหวัดต้องมีคนญวน คนเขมร ภาคกลางมีอาหารแนวอาหารป่า อาหารลุ่มแม่น้ำ ประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่ร่วมของผู้คนที่อยู่ด้วยกันตรงนั้น เราอยากบอกเล่าเรื่องราวผู้คนที่หลากหลายผ่านอาหาร เหมือนที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เคยกล่าวว่าสุดท้ายแล้วผู้คนไม่มีเส้นของพรมแดนเหมือนเส้นเขตแดนของแผนที่ ถ้าเรามีแต่คำว่า ‘ผู้คน’ ก็ไม่มีอะไรเป็นของใคร แค่อยู่ด้วยกัน ใช้ร่วมกัน ผสมผสานกันไป

“เชียงใหม่ยังขาดอะไรอีกเยอะสำหรับคนอยู่อาศัยจริง เพราะธุรกิจส่วนใหญ่คำนึงถึงนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เวลาเราอยู่ในบ้านที่เป็นเมืองท่องเที่ยวนานๆเราจะเบื่อ ไม่อยากไปไหนเพราะไม่อยากแย่งกับนักท่องเที่ยว กลายเป็นว่าคนเชียงใหม่ไม่ได้เห็นว่าบ้านเมืองตัวเองเป็นยังไง เสียโอกาสชื่นชมความงามไปหลายอย่าง เรามีทางเลือกน้อยมากด้วย คิดไม่ออกก็ไปห้างเพราะไม่มีที่ไหนให้ไป

“จริง ๆ แล้วคนเชียงใหม่ต้องการพื้นที่สาธารณะที่จะได้ปฏิสังสรรค์กับผู้คน เหมือนที่ตอนนี้คนชอบไปอ่างแก้วและสนามหญ้าหน้า มช. ผ่อนคลายในพื้นที่โล่งเป็นสุนทรียะแบบของเรา คนมานั่งคุยกัน นักศึกษามาเล่นดนตรี คนเอาหมาแมวมาเดินเล่น คนออกจากจอและสนใจความสัมพันธ์แบบมนุษย์มากขึ้นซึ่งมันดีมาก ๆ แต่เราแทบไม่มีพื้นที่แบบนี้ในเมืองเลย เรามีนักท่องเที่ยว มี expat อีกมากมาย แต่เราไม่มีพื้นที่สาธารณะให้คนใช้ชีวิต ที่สำหรับคุณภาพชีวิต สุนทรียะของชีวิต …เราไม่มีเลย

เราตั้งใจสร้าง Goodcery ให้เป็นพื้นที่ของคนเชียงใหม่และคนที่อาศัยในเมืองนี้

“เราตั้งใจสร้าง Goodcery ให้เป็นพื้นที่ของคนเชียงใหม่และคนที่อาศัยในเมืองนี้ มีอาหาร กาแฟ เบเกอรีราคาไม่แพง ด้านหลังมีสวน พ่อแม่เอาลูกมาวิ่งเล่นได้ ในต่างประเทศมีพื้นที่สาธารณะเยอะ เป็นพื้นที่ธรรมชาติเปล่า ๆ ไม่ได้มีเครื่องเล่นอะไรละพื้นที่แบบนี้แหละทำให้เด็กมีจินตนาการและดีกับผู้ใหญ่ด้วย พื้นที่โล่งทำให้เราคิดและเห็นความเป็นไปได้

“ตอนที่เรามาเห็นที่ครั้งแรก เราคิดถึงพื้นที่แบบนี้เลย พอทำออกมาแล้วก็รองรับความหลากหลาย เป็นร้านอาหารได้ เป็นคาเฟ่ได้ เป็นเหมือนพื้นที่ไลฟ์สไตล์ของผู้คนโดยมองไปถึงทุกเจนเนอเรชั่น คนเฒ่าคนแก่ วัยเกษียณ คนทำงานออฟฟิศ ครอบครัว วัยรุ่น เด็ก ตอนนี้ดีใจนะที่เริ่มมีคนวัยเกษียณมานัดเจอกันที่ร้านบ่อย ๆ มานั่งกินข้าวกัน มาแฮงค์เอาท์กันเพราะคนกลุ่มนี้เขาไม่ได้เสพโลกผ่านออนไลน์ เขายังอยากเจอกันในชีวิตจริงอยู่ ”

ต่อยอดความหมายบ้านเมืองให้เป็นเรื่องของทุกคน
เมื่อมองเห็นทุกอย่างเป็นต้นทุนอันงดงามของบ้านเมือง ทุกเรื่องจึงมีความหมายทั้งสิ้น เธอเห็นทุกสิ่งเป็นต้นทุนผู้คน ต้นทุนทางวัฒนธรรม ต้นทุนเรื่องราวดี ๆ ที่ผู้คนร่วมสร้างกันมา และคงดีกว่าหากได้มาเชื่อมโยงยกระดับให้คุณค่านั้นได้ยิ่งเฉิดฉายขึ้นอีก

“เราเชิญดีเจทัดดาว ประเทืองบุญมาจัดรายการที่ร้านทุกวันพุธ ซึ่งเธอเป็นดีเจที่จัดรายการเพลงสากลในเชียงใหม่มานาน พ่อแม่เราฟัง เราเองก็โตมากับการฟังเพลงแบบนี้ในวิทยุ มันเป็นความทรงจำ…คิดไว้ตลอดว่าถ้าวันหนึ่งมีร้านของตัวเองเราจะเอาคุณทัดดาวมาจัดรายการและตอนนี้ก็ได้ทำจริง ๆ (ยิ้ม) ซึ่งทำให้แฟน ๆ คุณทัดดาวได้ตามมาฟังเพลงที่ร้านได้ด้วย พอมีกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้นเขาก็บอกต่อกัน ทำให้พื้นที่เป็นที่คนรู้จักมากขึ้น แล้วพอคนกลุ่มนี้มาร้าน อ้าว…มีของชำขายด้วยเหรอ คนกลุ่มนี้ทำครัวที่บ้านอยู่แล้วเขาก็สนุก รู้สึกดีกับการเจอวัตถุดิบอาหารใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ แต่ละมิติเลยเสริมกันไปอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนกับว่าเขาออกแบบตัวเองได้ในพื้นที่ว่าจะรู้สึกสบายในพื้นที่นี้ได้อย่างไร

เราอยากเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนชุมชนเพื่อให้ทุนวัฒนธรรมนั้น ๆ กลายเป็นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและเป็นธรรมได้ในที่สุด

“สำหรับนักท่องเที่ยวอื่น ๆ เหมือนเราได้แสดงให้เห็นว่าเชียงใหม่เป็นแบบนี้นะ แค่คนเข้าใจและเห็นว่าคุณค่าของท้องถิ่นเชียงใหม่คืออะไรเราก็พอใจแล้ว และคงดียิ่งกว่าถ้าเขากลับไปคิดด้วยแล้วคุณค่าท้องถิ่นของบ้านเขาคืออะไร จะทำยังไงให้รสชาติท้องถิ่นของเขาได้เฉิดฉายขึ้นมาบ้าง ทุกวันนี้สินค้าท้องถิ่นเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีไว้เพื่อส่งออก แต่คนไทยด้วยกันเองยังไม่ค่อยรู้และชื่นชมกันเองเลยว่าเรามีอะไรมากมายที่มีคุณค่ามาก ปลาลุ่มน้ำภาคกลางที่อร่อยมาก รสชาติที่หลากหลายมากของคนใต้ อยากให้คนไทยด้วยกันได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ทุนทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องนามธรรม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสื่อสารเรื่องผ่านการทำธุรกิจ แต่การเรียนประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ทำงานจิตอาสา ทำให้เราเข้าใจหลายอย่าง เห็นความเหลื่อมล้ำ เห็นปัญหาแบบท้องถิ่น และเห็นความสำคัญด้วยว่าต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม เราอยากเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนชุมชนเพื่อให้ทุนวัฒนธรรมนั้น ๆ กลายเป็นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและเป็นธรรมได้ในที่สุด”

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากในต้นทุนแบบนักประวัติศาสตร์ของภัทรานิษฐ์ คือการนำข้อมูลที่มีมาสร้างการสื่อสารได้อย่างมีชั้นเชิงหากเป็นหมัดฮุคที่ตรงประเด็นอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งเธอเคยเขียนกระดานสื่อสารไว้หน้าร้านค้าว่า

ถ้าคนเชียงใหม่ใช้จ่ายเพียง 200 บาท ต่อสัปดาห์ ในร้านอาหารและธุรกิจท้องถิ่นแทนการซื้อของออนไลน์หรือจากผู้ผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงเงินมูลค่า 233 ล้านบาท ที่จะหมุนเวียนกลับคืนมาในจังหวัดของเรา

“ถ้าคนเชียงใหม่ใช้จ่ายเพียง 200 บาท ต่อสัปดาห์ ในร้านอาหารและธุรกิจท้องถิ่นแทนการซื้อของออนไลน์หรือจากผู้ผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงเงินมูลค่า 233 ล้านบาท ที่จะหมุนเวียนกลับคืนมาในจังหวัดของเรา เงินที่สร้างอาชีพได้จริง ทำให้คนมีชีวิตดีขึ้นได้จริง และเกิดงบประมาณที่จะทำอะไรเพื่อท้องถิ่นให้ดีขึ้นได้จริงในอนาคตด้วย”

“ข้อความนี้เขียนมาจากการคำนวณฐานข้อมูลประชากรจริงเลยนะ (หัวเราะ) อยากทำให้ข้อมูลง่ายและเห็นได้จริง ๆว่าเราทุกคนช่วยกันได้อย่างไร เป็นเหมือนคำประกาศเลยว่า ‘การซื้อของจากผู้ประกอบการท้องถิ่นนั่นแหละ ถึงจะทำให้ท้องถิ่นอยู่ได้’ เราเองก็ไม่อุดหนุนห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เน้นไปตลาด ไปร้านค้าชุมชนของผู้ประกอบการคนเชียงใหม่ เงินที่เราใช้จ่ายในร้านอย่างน้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์ต้องไปถึงผู้ประกอบการท้องถิ่นด้วยกัน อยากให้ที่นี่เป็นทางเลือกได้ คนเราต้องเข้าร้านสะดวกซื้อหรือสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตลอดเวลาหรือเปล่า ปลายทางเงินของร้านเหล่านี้ไปไหน อยากทำร้านค้าที่หมุนเวียนเศรษฐกิจท้องถิ่นได้จริง ๆ นี่คือสิ่งที่ยากของการเป็นร้านชำทางเลือกที่อยากเป็น”

แม้ The Goodcery จะเปิดกิจการได้เพียงสี่เดือน (นับถึงเดือนกุมภาพันธ์2566) แต่พื้นที่แห่งนี้ก็ได้ทดลอง “ความเป็นไปได้ต่าง ๆ” มาแล้วอย่างหลากหลาย รวมถึงการเป็นพื้นที่เสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในมิติอาหารและวัฒนธรรมที่มีนักคิดนักเขียนหลายท่านมาเยือน อาทิ ศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา อ.อนุสรณ์ ติปยานนท์ การเป็นตลาดที่ผู้ผลิตพบผู้บริโภคโดยตรง ทั้งเครือข่ายประมงพื้นบ้านชุมพร เครือข่ายผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์แม่วางเชียงใหม่ ในช่วงนี้ The Goodcery ยังเร่งปรับเปลี่ยนเรื่องเมนูอาหารผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายสโลว์ฟูดเชียงใหม่กับเยาวดี ชูคง เพื่อทำงานสื่อสารผ่านอาหารให้ชัดเจนและเข้าถึงผู้คนได้มากยิ่งขึ้น และในอนาคตอาจมีกิจกรรมเชิงอาสาที่ให้ผู้คนมีส่วนมาร่วมแบ่งปันคุณค่าต่าง ๆ ร่วมกันได้ด้วย

ทำอาหารให้นั่งอยู่ในใจและกลายเป็นเรื่องที่เปลี่ยนสังคมได้ในสักวัน
“อาหารคือความโดดเด่นของเชียงใหม่ที่คนเข้าใจได้ง่าย ที่ร้านมีเมนูหลายอย่างที่อยากให้คนทดลอง เช่น ปาปาแซน้ำเงี้ยว เห็นเสน่ห์จากความผสมผสานของวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าท้องถิ่นทั้งหมดที่เราคัดมาวางในร้าน Goodcery ที่เราทำให้เห็นความหลากหลายของวัตถดิบอาหารจากทุกภาค ช่วงหลังผู้คนมีความสนุกที่จะทดลองกับวัฒนธรรมอาหารใหม่ ๆที่เปิดกว้างมากขึ้นด้วย เลยมีกลุ่มคนที่พร้อมจะเรียนรู้กับเรา ทุกวันนี้เรามีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายรูปแบบรองรับคนทุกกลุ่ม แบบที่เข้าถึงง่าย ๆ จนถึงเนื้อวากิวบุรีรัมย์เราก็มี

“อยากให้คนได้เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้แล้วมีเวลาได้รู้ตน รู้จักตัวเอง เคารพตัวเอง เวลาอยู่กับชีวิตข้างหน้ามากเกินไป เราลืมอยู่กับปัจจุบัน ชีวิตจะเหวี่ยงไปง่ายมาก แต่ถ้าเรามีเวลาตกผลึกกับตัวเอง เราจะคิดมากขึ้น อย่างน้อยก็คิดถึงตัวเอง ดูแลตัวเองในแบบของตัวเอง โดยมี Goodcery เป็นเหมือนทางเลือกให้คนได้เลือก

ถ้าคนเราเติมเต็มตัวเองได้ รักตัวเองได้ เราจะเริ่มเข้าใจการรักคนอื่นและรักโลกได้ไปเอง

“ถ้าคนเราเติมเต็มตัวเองได้ รักตัวเองได้ เราจะเริ่มเข้าใจการรักคนอื่นและรักโลกได้ไปเอง” ภัทรานิษฐ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มเปี่ยมหวังเพราะเธอเชื่อเช่นนั้นหมดใจ

The Goodcery ตั้งอยู่บนถนนราชวงศ์ ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อยู่ไม่ไกลจากตลาดวโรรส เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 8.00-22.00 น. ติดต่อได้ที่ Facebook : The Goodcery

ภาพ : ธาตรี แสงมีอานุภาพ