อำนาจ เรียนสร้อย เป็นเกษตรกรเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ทางเลือกที่เลือกเลี้ยงไก่แบบปลอดภัย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ

เนื้อไก่ของ ‘แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม’ ไม่ได้ถูกยอมรับแค่ในกลุ่มผู้บริโภคที่รู้จักมักจี่กันดีระดับไปมาหาสู่กันถึงฟาร์มที่นครปฐม แต่ยังถูกเลือกไปเป็นวัตถุดิบในร้านอาหารของเชฟที่ใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็น เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ แห่งร้านโบ.ลาน เชฟต้น-ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร แห่งร้าน Le Du เชฟอ้อม-สุจิรา พงษ์มอญ แห่งร้านสวรรค์ เชฟเทพ-มนต์เทพ กมลศิลป์ แห่งร้าน TAAN

แต่ถ้าปิดภาพลักษณ์ของเกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้ออกไป แล้วลงนั่งคุยกับเขา อำนาจ เรียนสร้อย คือนักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมคนหนึ่ง

จากอดีตสัตวบาลประจำฟาร์มปศุสัตว์ของบริษัทชั้นนำ เคยทำงานดูแลการผลิตเนื้อไก่ในระบบอุตสาหกรรมที่ประเทศจีนเป็นเวลา 6 ปี วันหนึ่งเกิดคำถามในฐานะลูกชาวนา สงสัยว่าทำไมความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรถึงลดน้อยลงทุกวัน จึงกลับมาเป็นเกษตรกรดูสักตั้งเพื่อหาคำตอบ 

เจ็ดปีที่แล้ว อำนาจเริ่มจากลงมือทำนาอินทรีย์ด้วยตัวเอง เมื่อปลูกข้าวได้ ขายข้าวแบบผูกปิ่นโตได้ สามปีก่อน เขาก็หันมาทำฟาร์มเลี้ยงไก่แบบไร้ยาปฏิชีวนะต่อ วันนี้ เขาขายเนื้อไก่ดีโดยไม่สนใบรับรองมาตรฐานอินทรีย์ใดๆ แต่เปิดให้ทุกคนมาเยี่ยมชมฟาร์มไก่ได้ทุกเมื่อ

ไม่ต่างกับไก่ที่ต้องการอิสระ นักเคลื่อนไหวในคราบเกษตรกรบอกเราว่า เกษตรกรรายย่อยจะต้องอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องอยู่ใต้การผูกขาดของใครหรือตัวบทกฎหมายไหนเช่นกัน

“การเลือกกินไก่ที่ดีมันไม่ได้มีแค่เรื่องความปลอดภัย แต่มีเรื่องของความเป็นธรรมด้วย” 

แน่นอน หลายคำพูดของเขา อาจฟังไม่รื่นหูคนบางกลุ่มเท่าไหร่นัก

แต่ถ้าคุณเป็นผู้บริโภคที่เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจ ถ้าคุณยังเชื่อว่าความเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญ​ ถ้าคุณตระหนักถึงความยั่งยืนที่เป็นวาระระดับโลก ถึงเวลาแล้วล่ะที่ต้องเปิดใจกว้างๆ รับฟังเสียงนี้

จุดยืนในการทำเกษตรของคุณคืออะไร

ตั้งแต่ตอนทำนา วันแรกที่ทำผมไม่รู้จักคำว่าอินทรีย์ด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่ามันต้องขายราคาเท่าไหร่ แต่เราอยากเป็นชาวนาที่พึ่งพาตัวเองได้ แน่นอนว่าการทำนาที่ยังต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาเข้ามาฉีด มันเป็นอะไรที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย และสิ่งหนึ่งที่เราตระหนักก็คือ ถ้าเรายังอยากจะอยู่ในอาชีพเกษตรกร การที่เราเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาฉีด มาหว่าน มาพ่น ในแปลงนาของเรา มันทำให้ทรัพยากรที่เรามีอยู่มันเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ 

พอทำฟาร์มไก่ก็เหมือนกัน ผมไม่ได้ตั้งต้นเรื่องความปลอดภัยเป็นตัวนำ แต่ผมจะทำให้เกษตรกรที่ทำปศุสัตว์รายย่อยพึ่งพาตัวเองได้จริง เป็นธุรกิจที่อยู่ได้จริงๆ ไม่อยู่ภายใต้การผูกขาดของระบบอุตสาหกรรม แล้วก็เป็นธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม มันจะต้องเป็นการทำเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดปศุสัตว์ทางเลือก 

ทำไมถึงอินเรื่องนี้ 

ผมไม่ได้อินเรื่องการเลี้ยงไก่ แต่ผมอินเรื่องความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของเกษตรกร การผูกขาด การผูกมัด ปัจจุบันนี้ พูดง่ายๆ คือเรากินไข่ กินเนื้อไก่ที่ผลิตทั่วๆ ไป มันไม่ได้มาจากเกษตรกรจริงๆ ถ้าใช้คำแรงหน่อยก็คือมันมาจากนายทุน ซึ่งนายทุนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบริษัทใหญ่อย่างเดียว แต่หมายถึงนักธุรกิจที่ไม่ได้อินในธรรมชาติหรือในการทำอาชีพเกษตร แต่มาลงทุนในธุรกิจปศุสัตว์เพราะได้ผลกำไรเยอะ โดยเฉพาะในธุรกิจอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุน 70-80% ในการผลิตเนื้อสัตว์ แล้วก็มันเชื่อมโยงกันหมด อาหารสัตว์มันก็มาจากพืชไร่ที่เป็นอาหารสัตว์ มันก็ไปเชื่อมโยงกับป่าน่าน เชื่อมโยงกับการนำเข้าสารเคมี ซึ่งนำไปใช้ในพืชไร่ทั้งนั้น

คุณอยากเคลื่อนไหวให้รู้ว่า การทำปศุสัตว์แบบอินทรีย์มันทำได้?

จริงๆ ผมมาทำตรงนี้ หลายคนก็ไม่ได้เห็นด้วย บอกว่าเป็นพวกสายบาปอะไรอย่างนี้ ทั้งที่ตัวคนพูดเองก็ยังกินไก่ กินหมู กินไข่อุตสาหกรรมอยู่ ซึ่งผมว่าก็ไม่แฟร์นะ การมาทำตรงนี้ก็เหมือนเป็นการเคลื่อนไหวโดยที่เราลงมือทำเอง ไม่ไปผลักให้คนโน้นคนนี้ทำ เราทำเป็นต้นแบบ แล้วถ้ามีคนเห็นด้วยกับเราระหว่างทางก็มาร่วมกัน ทุกวันนี้ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็รู้สึกดีที่ปศุสัตว์ไทยน่าจะมีความหวังที่จะไม่ถูกผูกขาดซะทีเดียว

ต้องบอกว่าทุกวันนี้ ผมทำอาชีพเกษตรกรจริงๆ แบบไม่มีรายได้จากช่องทางอื่นนอกจากการขายสินค้าปศุสัตว์ เรามีไก่เนื้อออกสู่ตลาดประมาณอาทิตย์ละ 200-300 ตัว ส่วนไก่ไข่ผมรวบรวมคนที่อยากจะทำในแนวทางเดียวกันมารวมเครือข่ายแล้วแชร์ตลาดกัน แต่เราไม่ได้ขายเอากำไรอะไรมากมาย ถ้ามองในเชิงธุรกิจเราไม่มีกำไรจากการขายไข่ไก่ เรากลับขาดทุนด้วยซ้ำที่จะต้องมาจัดการคัดไข่โน่นนี่นั่น แต่เราถือว่าเราช่วยกัน เพราะไม่อย่างนั้นก็ไปกันไม่ได้ครับ พูดง่ายๆ ว่าไก่เนื้อเป็นธุรกิจหลักครับ ที่ทำให้เราอยู่ได้จนทุกวันนี้ ไม่อย่างนั้นเราอาจจะต้องกลับบ้านเก่าไปนานแล้ว 

ปัญหาของคนกินเนื้อสัตว์ในบ้านเราคืออะไร และอะไรที่เราไม่รู้บ้าง

มันมองได้หลายมิติ ถ้ามองแค่เรื่องความปลอดภัยอย่างเดียว มันก็คือเรื่องสารเคมีนั่นแหละ แต่ทุกวันนี้ แม้ทำปศุสัตว์ พืชผัก หรือข้าวอินทรีย์ก็ตาม ผมไม่ได้ใช้ความปลอดภัยนำ ผมใช้เรื่องของความเป็นธรรม ว่ามันมีความเกื้อกูลกับคนที่เขาทำสิ่งเหล่านั้นไหม 

คุณได้สนับสนุนชุมชนนี้ที่เขาผลิตแบบปลอดภัย คุณได้สองสามเด้ง คือคุณได้กินของปลอดภัยด้วย และคุณก็สร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้ คือผมอยากให้คนกินลงลึกไปถึงเรื่องพวกนั้น 

กระแสการบริโภคออร์แกนิกวันนี้มันยังพูดถึงแค่ตัวเอง แต่ก็ยังมีคนที่เข้าใจ หรือมองไปถึงเรื่องของความเกื้อกูล ความเชื่อมโยงไปถึงคนผลิต ทำให้วันนี้เราไม่ได้ขายของโดยการนำใบเซอร์ฯ มาแปะ เราขายของได้เพราะเราสื่อสารนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง แล้วก็ชวนคุณมาดูฟาร์มผมสิ ผมทำได้แค่นี้แหละ คุณซื้อไหม คุณไม่ซื้อ โอเค คุณก็ไปเลือกเจ้าอื่นก็ได้ไม่เป็นไร เราก็แฟร์ๆ กันแบบนี้ กลุ่มลูกค้าทั้งหมดที่อยู่กันปัจจุบันก็คือเขามาซื้อเราเพราะว่าเขารู้ว่าเราทำอะไร เราทำเพื่ออะไร 

อุปสรรคของเกษตรกรรายย่อยที่ทำอินทรีย์ คืออะไร

ต้องยอมรับว่าในการจะได้ใบรับรองมาตรฐานจากภาครัฐ จริงๆ มันมีค่าใช้จ่ายแฝง หลายคนยังไม่เข้าใจและคิดว่าไม่มีค่าใช้จ่ายหรอก ซึ่งมันไม่จริง บางทีเกษตรกรต้องปรับโน่นปรับนี่ อันนี้คือค่าใช้จ่ายแล้ว แล้วถามว่าเกษตรกรที่เขาหาเช้ากินค่ำ ทำไม่ได้แน่นอน 

ยกตัวอย่างเรื่องพื้นที่ ไก่หนึ่งตัวต้องมีพื้นที่ 4 ตารางเมตร ถึงจะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน พูดแบบใช้คำแรงหน่อยคือเกษตรกรเดี๋ยวนี้แทบจะขายพื้นที่กินหมดแล้ว แล้วจะเอาที่จากไหนมาปล่อยไก่ 4 ตารางเมตรต่อตัวแบบนั้น ทุกวันนี้เกษตรกรที่ผมทำงานส่งเสริมอยู่ในกลุ่มกว่า 20 ครอบครัว ซึ่งผลักดันให้เป็นวิสาหกิจได้แล้ว ทุกคนยังเลี้ยงไก่หลังบ้านอยู่เลย ถ้าเอาปศุสัตว์ของเขาไปตรวจเซอร์ฯ ก็ไม่ผ่านสักราย เพราะว่ามาตรฐานข้อหนึ่งคือห้ามเลี้ยงไก่กับที่อยู่อาศัยไว้ด้วยกัน 

ใบรับรองเป็นข้อจำกัดขั้นสุดท้ายในการขาย มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่โทรมาสั่งจะซื้อสินค้าเรา เขาจะถามก่อนเลยว่ามีใบรับรองไหม ถ้าไม่มีก็ไม่ได้คุยกันต่อ ยอมรับว่ามีคนที่เขาไม่ได้พยายามเข้าใจในบริบทที่เราทำ เขาแค่ต้องการใบไปรับรองเพื่อคุณลูกค้าที่มากินของเขาจะเชื่อมั่นได้ แต่เขาไม่ยอมเหนื่อยที่จะลงมาพื้นที่มาดูหน้างานจริงกับเรา

คือข้อกำหนดมันยากเกินไปหน่อย สำหรับเกษตรกรรายย่อย?

คือผมบอกเลยว่ากฎหมาย กฎระเบียบ ใบรับรองอะไรต่างๆ มันถูกออกแบบไว้สำหรับนายทุนหรือออกมาเพื่อใช้ควบคุมระบบทุน แต่กลับเอามาควบคุมเกษตรกรรายย่อยด้วย คือเขาไม่มีการแบ่งแยกกฎหมาย มันอาจจะฟังดูว่าเป็นธรรมเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงมันมีความไม่เท่าเทียม มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่แล้ว 

งั้นถ้าตัดเรื่องใบรับรองออกไปก่อน คุณเลี้ยงไก่ยังไงให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและอยู่รอดได้ด้วย

อย่างที่บอกว่าหัวใจของการทำปศุสัตว์ ต้นทุน 70% คืออาหารสัตว์ ซึ่งเราไม่สามารถผลิตเองได้ทั้งหมด 100% เราก็ต้องมีการซื้อเข้า ซึ่งพวกของเหลือจากการสีข้าวหรือ by-product แบบอินทรีย์ราคาแพงกว่าทั่วๆ ไป เราก็ลดต้นทุนตรงนี้ด้วยการใช้ปลายข้าวจากการสีข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้าของเราเอง แล้วผมก็เลี้ยงไก่เอาไข่ ง่ายๆ คือเราก็เอาของที่มีอยู่มาผสมเป็นสูตรอาหารของเรา 

บางคนในแวดวงเกษตรอินทรีย์ก็ยังไม่เข้าใจว่าปศุสัตว์อินทรีย์ทำไมต้องแพงด้วย คือนอกจากต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ที่สูงกว่าการปลูกพืชอินทรีย์เยอะ อีกอย่างคือการปลูกพืชหรือปลูกข้าวอินทรีย์ ยิ่งทำนานๆ ไป ความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาพแวดล้อมที่ดีจะกลับคืนมา เพราะฉะนั้นยิ่งทำนานๆ ผมบอกได้เลยว่าต้นทุนมันจะลดลง แต่ของปศุสัตว์อินทรีย์มันไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างไก่ไข่นี่ยากมาก ถ้าอาหารโภชนาศาสตร์ไม่ได้ตามที่ต้องการมันก็ไม่ไข่ให้เรานะ แล้วเราจะเลี้ยงไปเพื่ออะไรใช่ไหม ไก่เนื้อมันยังง่ายเพราะว่ามันแค่โตช้าลง แต่ไก่ไข่มันไม่ให้ผลผลิตเลย ดังนั้น ผมบอกเลยว่าการจะเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ให้ได้กำไรมันยาก 

ต้นทุนอาหารสัตว์แบบอินทรีย์สูงกว่ามาก? 

อาหารถุงอุตสาหกรรมกิโลละสิบบาท อาหารเรากิโลละสิบห้าหรือยี่สิบบาทอย่างนี้ แล้วด้วยความที่อาหารเรามีสารอาหารไม่ได้เพรียบพร้อมเหมือนอาหารอุตสาหกรรม อาหารเราบางทีก็ใช้พวกเยื่อใยไฟเบอร์สูงซึ่งสัตว์กระเพาะเดียวอย่างคน หมู ไก่ กินแล้วดูดซึมเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้ ดังนั้นมันจะเป็นกากขับทิ้งซะเลย 

ถ้าเทียบประสิทธิภาพการใช้อาหาร ภาษาวิชาการเขาเรียกว่า Feed conversion ratio หรือการเปลี่ยนอาหารให้เป็นน้ำหนักตัวหรือเป็นเนื้อ ไก่ที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมกินอาหารถุง 1.3 กิโล เปลี่ยนเป็นเนื้อได้ 1 กิโล ในขณะที่อาหารแบบของเราอาจจะต้องกินถึง 2.3 กิโล ถึงจะได้เนื้อไก่ 1 กิโล ต้นทุนก็แพงกว่าเขาเท่าตัวละ ไหนจะค่าอาหารต่อกิโลก็แพงกว่าเขาอีก ดังนั้นต้นทุนก็จะสูงไปเรื่อยๆ แล้วจำนวนตัวที่เลี้ยงต่อพื้นที่เราก็น้อยกว่าเขา ใช้พื้นที่เปลืองกว่าเขา พื้นที่หนึ่งตารางเมตร ไก่อุตสาหกรรมเลี้ยงได้ 10-15 ตัว ในขณะที่ตามมาตรฐานอินทรีย์ไม่ให้เราเลี้ยงเกิน 5 ตัว ตัวหารเราก็น้อยลงถูกไหมฮะ ดังนั้น คุณจะให้ยิ่งทำยิ่งถูกแบบปลูกพืชปลูกข้าวเป็นไปไม่ได้ 

ทำไมไก่ในระบบอุตสาหกรรมถึงให้ไข่ได้เยอะๆ 

หนึ่งคือไก่ของเขาถูกดูแลด้วยระบบเงื่อนไขของสภาพแวดล้อม สองคือเรื่องของสารอาหารที่ยอมรับว่ามีตัวช่วยเยอะ เช่น กรดอะมิโนสังเคราะห์ วิตามินสังเคราะห์ พูดง่ายๆ คือวัตถุดิบทุกตัวที่เข้าไปผลิตอาหารสัตว์ เขาจะเข้าห้องทดลองดูว่าไก่จะได้สารอาหารตามความต้องการไหม แล้วก็มีสารเสริมอย่างเช่น โปรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ อันนี้ก็ว่ากันไป 

แต่ที่น่ากลัวและมีคนพยายามสื่อสารกับสังคมอยู่ตลอด คือเรื่องของยาปฏิชีวนะครับ เพราะว่าพอสัตว์กินไปแล้วมันมีผลในเรื่องของการเจริญเติบโต มันเข้าไปควบคุมแบคทีเรียในร่างกายสัตว์ไม่ให้มันเพิ่มจำนวนแล้วก่อโรคหรือไปดึงสารอาหารที่สัตว์กินเข้าไป อันนี้คือจุดมุ่งหมายของเขาเพื่อเร่งหรือกระตุ้นการเจริญเติบโต ปัญหาคือการที่ใช้อยู่เรื่อยๆ นำมาซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างที่พอทราบกัน 

อาหารสัตว์ที่เราทำมันไม่มีอะไรพวกนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นกรดอะมิโนสังเคราะห์ วิตามินแร่ธาตุสังเคราะห์ หรือแม้กระทั่งยาปฏิชีวนะที่ใช้ระหว่างการเลี้ยง และแน่นอนสภาพแวดล้อมเราก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่ได้ควบคุม ไก่มันก็โตต่างกันเป็นเท่าตัว อะไรอย่างนี้มันสะท้อนให้เห็นบางอย่างว่าอาหารถุงอุตสาหกรรมมันมีอะไร เอาง่ายๆ ฮะ ถ้าตั้งอาหารสองถุงไว้ด้วยกัน อันหนึ่งเป็นอาหารของเราเอง อันหนึ่งเป็นอาหารถุงอุตสาหกรรม เชื่อไหมว่ามดขึ้นอาหารเราอย่างเดียว มดไม่กินอาหารอุตสาหกรรม มดมันต้องบอกอะไรเราสักอย่างหนึ่ง 

ถ้าไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลย ดูแลไก่อย่างไรไม่ให้ป่วย

ผมเป็นสัตวบาลก็ต้องใช้การจัดการเข้าสู้ ผมต้องรู้ว่าอะไร ปัจจัยไหนบ้าง ต้องเลี้ยงอย่างไร โรงเรือนอย่างไร ที่จะลดความเสี่ยงที่จะทำให้ไก่ผมป่วยแต่เป็นไปไม่ได้หรอกครับที่จะไม่เจอป่วยเลย ไก่ผมตายเยอะกว่าไก่ที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมนะ ไก่อุตสาหกรรมเขาตายกันแค่ 1-2% ไก่ผมตายเป็น 10% บางรุ่นตายมากกว่า 50% เราสูญเสียมาเยอะเหมือนกัน แต่เรายึดมั่นว่าจะไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลย เราจะไม่ใช้อาหารในระบบอุตสาหกรรมเลยในการเลี้ยงไก่ เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงตรงนั้น 

ถ้าใช้ยาสมุนไพรในการป้องกันรักษาก็จะเป็นฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน บอระเพ็ด แล้วก็เป็นพวกน้ำหมักจุลินทรีย์ไปผสมน้ำดื่มให้เขากิน ช่วยเรื่องระบบทางเดินอาหารเขา จริงๆ คอนเซ็ปต์มันก็คล้ายๆ กับพวกพรีไบโอติกส์ โปรไบโอติกส์นั่นแหละ แต่ใช้ของธรรมชาติหมด 

ทุกวันนี้มีไข่อารมณ์ดี หรือไก่อารมณ์ดีขายเยอะมาก จริงๆ แล้วโอเคไหม มีอะไรที่เราเข้าใจผิดหรือเปล่า

ถ้าเขาไม่ใช้คำว่าอินทรีย์โดยตรง มันก็จะมีสองเหตุผล หนึ่งคือเขาอาจจะยังไม่ใช่อินทรีย์จริงๆ อย่างเช่น ยังใช้อาหารถุงอุตสาหกรรมอยู่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นแบบนั้นที่เคยเจอนะ แล้วก็ประเด็นที่สองคือ เขายังใช้คำพวกนั้นอยู่เพราะว่าเขายังไม่ได้รับการรับรอง เขาก็เลยไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นอินทรีย์ อันนี้โอเคดี 

ทุกวันนี้ผมก็จะไม่ค่อยเรียกตัวเองว่าอินทรีย์เท่าไหร่นะ เพราะผมก็ยังไม่ได้รับการรับรอง บ้านเรามีกฎหมายตัวหนึ่งที่คุณจะเรียกผลิตภัณฑ์หรือว่าอะไรของคุณเป็นอินทรีย์ได้ก็ต่อเมื่อคุณได้การรับรองแล้วเท่านั้น ซึ่งผมขออยู่แต่เรายังไม่ผ่าน เราก็ไม่ได้ขายว่าเรามีไก่อินทรีย์ไข่อินทรีย์ เราแค่สื่อสารว่าเราทำแบบนี้ แล้วผู้บริโภคส่วนมากเราก็เป็นคนที่รู้จักเรา เราไม่ได้ขายคนที่ไม่รู้จักเราเลย 

แล้วจริงๆ ไก่ที่ดีต้องแฮปปี้ด้วยใช่ไหม

ครับ การทำปศุสัตว์อินทรีย์ควรเป็นรูปแบบที่เลี้ยงไก่แล้วไก่มีความสุข ไก่ไม่เครียด ไก่ไม่ถูกทรมาน มันคือเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ ไก่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ อย่างไก่เครียดมันก็มีความเป็นไปได้วิทยาศาสตร์ เหมือนคนที่เวลาเราเครียดก็จะหลั่งฮอร์โมนกลุ่มไม่ดี แต่ผมก็จะไม่ค่อยนำเสนอเรื่องพวกนี้ เพราะว่าส่วนหนึ่ง การเลี้ยงแบบอินทรีย์ถ้าจัดการไม่ดีไก่ก็เครียดได้เหมือนกันครับ อย่างเช่น คุณบอกว่าคุณเลี้ยงอินทรีย์คุณปล่อยอิสระ แต่ไก่หาน้ำหาอาหารกินไม่เจอ ก็เครียดนะ มันก็ต้องไปดูรายละเอียดพวกนั้นด้วย

ฟาร์มคุณกังวลเรื่องไก่เครียดไหม

ผมไม่ได้กังวลเรื่องนี้เลย เพราะเราเป็นสัตวบาลที่รู้เรื่องพวกนี้อยู่แล้วว่าการกินน้ำกินอาหารของไก่เป็นอย่างไร เพียงแค่สิ่งที่เราเพิ่มเติมคือสวัสดิภาพในการเลี้ยงดู ทำอย่างไรให้เขาอยู่สบาย ให้เขาได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ให้เขาก็ได้ใช้ชีวิตอิสระ เช้าเราก็เปิดเล้า เขาอยากเข้าออกเมื่อไหร่ก็เรื่องของเขา เย็นเขาเข้าเล้าของเขาเองนะครับ ไม่ต้องไปต้อน เราก็มีหน้าที่ไปปิดประตูเล้า กันสัตว์ร้ายเข้าไปตอนกลางคืน ก็แค่นั้นเอง จริงๆ แทบไม่ต้องดูแลอะไรเยอะฮะ ปกติเราก็ไม่ค่อยจะไปยุ่งอะไรกับชีวิตเขาในวันๆ หนึ่งเท่าไหร่หรอก

ไก่ไข่กับไก่เนื้อ แบบไหนเซนซิทีฟในการเลี้ยงมากกว่า

ผมว่าไก่ไข่เซนซิทีฟกว่านะ เคยได้ยินคำว่าไข่หดไหม บางทีถ้ามีอะไรตื่นตกใจอย่างนี้ เขาก็ให้ผลผลิตน้อยลง ไข่หดละ แต่ไก่เนื้อไม่ค่อยมีแบบนั้น เต็มที่ไก่เนื้อก็แค่โตช้าลงครับ ซึ่งมันก็เป็นการมองว่าเป็นไปโดยธรรมชาติของเขา เมื่อเขาต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ อากาศบ้านเราที่ร้อนแบบนี้ เขาก็กินน้อยลง เขาก็โตช้าลงก็แค่นั้นเอง

พอทำฟาร์มให้ผลิตเนื้อไก่ได้ยั่งยืนแล้ว ทำอย่างไรให้ธุรกิจเรายั่งยืน ทำยังไงให้อยู่ได้

ผมเชื่อในเรื่องของกฎแรงดึงดูดนะ เราเป็นคนอย่างไร เราสื่อสารออกไปอย่างไร เราส่งแรงนั้นออกไปอย่างไร เราก็จะดึงคนแบบนั้นมาหาเรา ดังนั้น เราก็พยายามมีจุดยืน แล้วก็ตั้งมั่นในการทำธุรกิจของเราอยู่เสมอ ตั้งมั่นว่าเราจะเป็นปศุสัตว์ทางเลือกที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลย ไม่ใช้อาหารถุงอุตสาหกรรมเลย มันก็มีหลายที่ยังใช้อาหารถุงอยู่ อาจจะอ้างว่าใช้ในลูกสัตว์วัยเล็กวัยอ่อนเพื่อให้สัตว์ได้สารอาหารเต็มที่ ซึ่งผมมองว่าแค่นั้นมันก็ผิดแล้ว เพราะว่าคุณยังยึดติดกับอะไรแบบเดิม ยังตัดใจไม่ได้ซะทีเดียว 

ผมเชื่อว่าจริงๆ การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ สิ่งหนึ่งที่เราได้มันก็เหมือนกับการปฏิบัติธรรมนะ การที่เราได้ปล่อยวาง แล้วเราได้เข้าใจมันจริงๆ 

ปล่อยวางเคมี ดียังไง

ถ้าเป็นมุมมองผู้บริโภคก็อาจจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยมาอันดับแรกแต่เอาจริงๆ นะ ในมุมเกษตรกร เรื่องของความปลอดภัยเราไม่ได้ซีเรียสมากเท่ากับเรื่องของการที่เราพึ่งพาตัวเองได้หรือเปล่า ถ้าผมจะเป็นเกษตรกรที่อยากพึ่งพาตัวเองได้และยั่งยืน ตราบใดที่ผมยังต้องซื้ออาหารถุงผมจะยั่งยืนได้อย่างไร ผมจะพึ่งพาตัวเองได้อย่างไร ซึ่งมันก็ย้อนกลับมาว่ามันต้องทำให้เราต้องทำอาหารเอง แล้วก็ใช้วัตถุดิบพื้นฐานที่เรามีอยู่ ซึ่งมันก็ย้อนกลับมาหาคำว่าปลอดภัยเอง โดยที่เราไม่ต้องไปตั้งธงกับมันอันแรกว่าฉันจะต้องทำอาหารปลอดภัย เพื่อที่จะขายให้ได้ราคา

ตอนปลูกข้าวใช้วิธีผูกปิ่นโต แล้วอย่างไก่นี่ทำอย่างไรให้ขายได้สม่ำเสมอ

บอกเลยว่าไก่แรกๆ ก็ยาก ยิ่งทำสัตว์ที่แบบต้องฆ่าขายเนื้อด้วยเนี่ย ยิ่งไม่มีใครทำเลย เพราะบางคนมองว่าเกษตรอินทรีย์กับการฆ่าสัตว์มันเป็นอะไรที่ขัดแย้งกัน แรกๆ ก็ต้องขายคนรู้จัก และต้องมีการแปรรูปเป็นลูกชิ้นเป็นไส้กรอกไปก่อน เพราะว่าไก่มันไม่สามารถเลี้ยงได้นานขนาดนั้น จากนั้นเราก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร

เวลาเราจะทำอะไรเราก็สื่อสารออกไปให้ทุกคนได้เห็น แล้วทุกคนที่เห็นและตัดสินใจซื้อเราส่วนหนึ่งก็รู้จักเรา อีกส่วนหนึ่งเขาสนใจ เขาก็ลองซื้อ พอลองซื้อแล้วเขาเห็นถึงความแตกต่าง 

คือไก่ที่เราเลี้ยงแบบของเรากับไก่อุตสาหกรรมถึงแม้มันจะชนิดเดียวกัน แต่มันต่างกันจริงๆ อันนี้ผมไม่ได้พูดเองนะ ส่วนมากเป็นเชฟพูด เขาก็บอกเราตลอดว่าไก่เรามันแตกต่างจริงในมุมมองของคนทำอาหาร ทั้งรสชาติทั้งสัมผัส แบบนี้มันก็เกิดการบอกปากต่อปาก เราพยายามอยู่ตรงนั้นประมาณปีสองปีแค่นั้นเอง หลังจากนั้นมาก็จะเป็นลูกค้าติดต่อมาหาเราเองทั้งหมด ที่เข้าไปขายโมเดิร์นเทรดแล้วเป็นส่วนของไข่ไก่ เราทำผ่านตัวกลาง ส่วนเนื้อไก่ยังไม่ได้ส่งครับ ยังขายตรง เข้าโรงแรม ร้านอาหารเป็นหลักอย่างเดียว แล้วก็ผู้บริโภครายย่อย

จุดเริ่มต้นอีกอย่างหนึ่งก็คือผู้บริโภคที่รวมตัวกันก่อเป็นตลาดอย่างปันอยู่ปันกิน อันนี้ก็เป็นเพื่อนกันมานาน เป็นอีกกลุ่มแรกๆ เหมือนกันที่เราเข้าไปขายด้วย

ทำไมเราไม่ค่อยเห็นไก่อินทรีย์ในร้านค้าใหญ่หรือซูเปอร์มาร์เก็ต

ติดปัญหาเรื่องกฎหมายเยอะ ถ้าจะเอาไปขายได้เราต้องเชือดไก่จากโรงเชือดที่ได้มาตรฐานสูง ซึ่งโรงเชือดพวกนั้นก็จะอยู่ในมือของนายทุนหมด ส่วนโรงเชือดชาวบ้านทั่วไปหรือโรงเชือดเอกชนเล็กๆ ก็ยังไม่ได้มาตรฐานระดับนั้น ซึ่งอย่างที่บอกว่ามันเป็นกฎหมายที่ควบคุมทุนแต่ดันเอามาควบคุมเกษตรกรรายย่อยด้วย 

ถ้าผู้บริโภคในเมือง อยากเข้าถึงไก่ของคุณต้องทำยังไง

จริงๆ เรามีตัวแทนจัดจำหน่ายในกรุงเทพฯ นะครับ ถ้าเป็นลูกค้าครัวเรือน อยู่แถวสุขุมวิทก็สั่งผ่านตัวแทนผมได้ เขาก็จะส่งให้ถึงบ้านอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ซึ่งซื้อได้ในราคาที่เท่ากับซื้อกับผมโดยตรงในราคาปลีก เราก็พยายามหาพาร์ทเนอร์ครับ 

ผ่านมาสามปีในการเลี้ยงสัตว์ มันยั่งยืนอย่างที่คุณคิดแล้วหรือยัง

ผมมองว่ามันเป็นทิศทางที่ยั่งยืนนะ แต่มันก็ยังมีอะไรที่ต้องต่อสู่ฟันฝ่าอีกพอสมควร เท่ากับว่าเราก็ยั่งยืนในขอบเขตของเรา ไม่ได้ถูกควบคุมผ่านมาตรฐานที่กีดกันความเป็นธรรมบางอย่าง

สิ่งที่ผมอยากจะพูดกับผู้บริโภคจริงๆ คือมันไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัย การเลือกกินไก่ที่ดีมันเป็นเรื่องของความยั่งยืนของเกษตรกร ความสามารถในการที่จะเป็นเกษตรกรที่ผลิตและขายไก่ที่ดีได้ด้วยตัวเอง ทุกวันนี้ผมว่าคนเข้าถึงเกษตรกรรายย่อยได้น้อยมาก ทำไมเกษตรกรที่ทำเนื้อไก่ดีๆ แต่ยังไม่มีแบรนด์ของตัวเอง กลับไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป 

ทุกวันนี้ที่ทำ ผมไม่ได้ผลิตเพื่อหวังขายคนทุกคน ผมผลิตขายแค่คนที่เข้าใจในวิถีแบบนี้ แล้วก็พร้อมที่จะสนับสนุนรูปแบบแบบนี้ แค่นั้นเอง ผมไม่ได้หวังไปแข่งกับใครอยู่แล้ว

มองอนาคตของแทนคุณออร์แกนิคฟาร์มไว้ยังไง

เรากำลังจะทำฟาร์มเฟสสองที่กาญจนบุรี แน่นอนว่าเราก็ยังทำในเชิงธุรกิจที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้จริง แล้วก็เป็นธุรกิจที่ขยายต่อไปได้ แล้วที่สำคัญคือตรงนั้น ผมอยากจะให้ครบวงจรในเรื่องของความยั่งยืน สิ่งที่จะทำต่อไปคือเรื่องของงานพัฒนาสายพันธุ์ การสร้างพันธุ์ต้านทานโรคที่เกิดขึ้นจากการคัดเลือกทางธรรมชาติ อย่างเช่น การเลี้ยงไก่โดยที่แบบไม่ทำแม้กระทั่งวัคซีน แต่ใช้ natural selection ถ้าตัวไหนมีโรคหรืออ่อนแอก็ตายไป เราจะคัดตัวที่แข็งแรงเก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครทำพันธุ์ต้านทานโรคแบบนี้ 

น่าจะใช้ต้นทุนเยอะเหมือนกันในการทดลองสิ่งใหม่

ใช่ครับ ถูกต้อง ตรงนี้มันเป็นต้นทุนที่อาจจะประเมินค่าไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่ถ้ามันทำได้และทำสำเร็จ ผมก็เชื่อว่ามันจะเป็นพันธุ์ต้านทานที่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ ขยายพันธุ์ และเพิ่มจำนวนแจกจ่ายออกไปได้ แล้วก็มันจะนำไปสู่เรื่องของการพึ่งพาตัวเองได้ และความยั่งยืนที่เราอยากให้เป็นได้จริงๆ ครับ 

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง