แม้ชีสจะไม่ได้เป็นวัตถุดิบอาหารดั้งเดิมแบบไทย ๆ หากมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยวัฒนธรรมการบริโภคอาหารอันหลากหลายในบ้านเรา ในมุมหนึ่ง “ชีส” อาจเป็นเพียงวัตถุดิบอาหาร แต่สำหรับใครบางคนสิ่งนี้อาจเป็นปลายทางของความยั่งยืนไปสู่ระดับผู้ผลิตอาหารได้เลยทีเดียว

บุษกรณ์ จันทร์ใหม่ เรียนจบมาทางด้านคหกรรมศาสตร์ เริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นโภชนากรในโรงพยาบาล มีความเข้าใจเรื่องการออกแบบจัดการอาหารอยู่พอสมควร ต่อมาได้รับการทาบทามให้ทำงานด้านวิจัยและพัฒนาร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ในเวลานั้น เธอจึงเป็นหนึ่งในทีมผู้อยู่เบื้องหลังของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประกอบอาหารต่างประเทศหลาย ๆ อย่าง ช่วยยกระดับมูลค่าวัตถุดิบให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากชนิดของมูลนิธิโครงการหลวงที่ใช้ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้ อาทิ มะเขือเทศอบแห้ง (sun dried tomato) ปลาเทราต์สไลด์รมควัน ชีสจากนมควาย ฯลฯ

ดูเหมือนจะเกิดประกายเล็ก ๆ ที่ทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้และเป็นเข็มทิศของใจในเวลาต่อมา

เส้นทางบนจุดเปลี่ยนและความทรงจำถึงพ่อ
ชีวิตการทำงานในฐานะนักวิจัยและพัฒนาของบุษกรณ์นั้นสนุกสนานเป็นอย่างดี แต่ในฐานะลูกสาวปลัดปศุสัตว์ เธอหวนนึกถึงเหล่าเกษตรกรฟาร์มโคนมของไทยที่ยากลำบาก ไม่ต่างกับชาวนาชาวไร่ในประเทศไทยที่รับภาระการจัดการทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่อาจกำหนดราคาขายได้ เราอาจเคยได้ยินข่าวคราวเกษตรกรฟาร์มโคนมเทน้ำนมดิบทิ้งเมื่อราคาตกต่ำเกินกว่าจะรับไหว

เธอคิดว่าถ้านมควาย (ของโครงการหลวง) ทำชีสได้ นมวัว (ของชาวบ้าน) ก็น่าจะทำชีสได้เหมือนกัน หากได้ผลลัพธ์ที่ดี ชีสอาจกลายเป็นทางออกสำคัญของปัญหาราคาน้ำนมตกต่ำได้อีกด้วย

เธอคิดแบบนั้นแล้วจึงทดลองทำชีสโฮมเมดคู่ขนานกับการทำงานในช่วงวันหยุดภายใต้แบรนด์ “Bussakorn Cheese”

หากการจากไปของพ่ออย่างไม่ทันตั้งตัวทำให้แผนชีวิตหลายอย่างพลิกผันทันที บุษกรณ์ยอมออกจากงานมาอยู่ดูแลแม่และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่เพื่อเป็นการเยียวยาการสูญเสียไปพร้อม ๆ กัน

“ช่วงนั้นเราสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ เลยชวนแม่ปลูกผัก ทำขนม ส่งขายควบคู่ไปกับชีสในมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพราะมีตลาดผู้ซื้อรองรับมากพอ การได้มาเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารทำให้เราได้มีโอกาสเจอคนทำอาหาร เจอเชฟต่าง ๆ และเป็นช่วงเวลาที่ในเชียงใหม่ก็พยายามขยายตลาดอินทรีย์พอดี การไปร่วมเปิดตลาดหลาย ๆ แห่งทำให้รู้จักคนเพิ่มขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทั้งเรากับแม่ผ่านความรู้สึกที่ยากลำบากหลังพ่อเสียไปได้”

ความต้องการชีสนมวัวของเธอไปได้ดีจนต้องออกแบบวงจรการผลิตอาหารเพื่อสื่อสาร “การกินอย่างรู้ที่มาตั้งแต่ระดับวัตถุดิบ” เธอเริ่มเสาะหาฟาร์มวัวเพื่อเป็นแหล่งน้ำนมตั้งต้นทำชีส ด้วยการตรวจสอบกระบวนการเลี้ยง การจัดการฟาร์ม ไปถึงคุณภาพน้ำนมทั้งหมดด้วยตัวเอง

“ตอนนั้นเริ่มไปสำรวจฟาร์มวัวแถวบ้านและตามตลาดนัดต่างๆ ลองชิมรสชาตินม บางอันก็เป็นนมจริง บางอันก็เป็นนมผสม คนที่เอานมมาผสมเขาจะเติมน้ำ เอานมข้นผสม เติมนมผง เราต้องลองชิมแล้วสังเกตแยกแยะเอง จนกระทั่งไปเจอคุณลุงคนหนึ่งที่มีฟาร์มของตัวเองทำให้ขายนมราคาถูกในปริมาณมากได้ นมแท้จะมีกลิ่นเฉพาะที่เป็นธรรมชาติ เวลาเทใส่แก้วแล้วเอียงดู จะทิ้งคราบนมไว้ที่ขอบแก้วบ้างนิดหน่อย เวลาเอามาทำชีสยิ่งสังเกตได้ง่ายเพราะของแข็งที่กลายเป็นชีสจะมีเยอะกว่า”

โดยปกติแล้ว เกษตรกรฟาร์มโคนมส่วนใหญ่จะไม่เลี้ยงเองขายเอง หากจะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อส่งน้ำนมดิบขายในนามสหกรณ์ ส่วนหนึ่งเพื่อการันตีการมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปไม่สามารถซื้อนมจากฟาร์มได้เอง การแอบขายนมให้ผู้ซื้อรายอื่นนอกจากสหกรณ์จึงเป็นเรื่องผิดสัญญา

“ตอนเด็ก ๆ เราเคยติดตามพ่อที่เป็นปลัดปศุสัตว์ไปทำงานด้วย ท่านมีสมุดบันทึกเล่มหนึ่งที่จดบันทึกว่าเคยไปรักษาวัวที่ฟาร์มไหนบ้าง เราจึงสำรวจฟาร์มด้วยการตามบันทึกพวกนั้นไป ได้เจอคนเลี้ยงวัวหลาย ๆ ฟาร์ม เขาจำได้ว่าเป็นลูกพ่อแต่ขายนมให้ไม่ได้ (ตามเงื่อนไขสหกรณ์)

พอได้มาเจอฟาร์มนมคุณลุงที่ใช้อยู่นี้ถือว่าโชคดีมาก ท่านลาออกจากสหกรณ์แล้วตั้งใจทำเอง เป็นฟาร์มที่อยู่ใกล้บ้าน พื้นที่เลี้ยงวัวอยู่ในป่า มีคนเข้าออกน้อย ป้องกันเชื้อโรคได้ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีการจัดการที่ดี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงทำความสะอาดพื้นที่ ไม่ใช้น้ำยาเคมีที่เหตุให้ปนเปื้อน

อาหารหลักคือหญ้า มีปริมาณอาหารสัตว์น้อยกว่า วัวที่เลี้ยงในประเทศไทยถูกดัดแปลงพันธุ์ให้อยู่เมืองร้อนได้แล้ว ทำให้เกิดโรคน้อยลงและใช้ยาปฏิชีวนะน้อยลงด้วย แต่ปัญหาอย่างเดียวคือการรักษาน้ำนมดิบปริมาณมาก เพราะเขาไม่มีงบประมาณลงทุนตู้แช่ขนาดใหญ่เพื่อเก็บนมไว้นาน ๆ ตอนนี้เลยใช้วิธีการสั่งนมล่วงหน้าเแล้วรีดอุ่น ๆ มาจากเต้าเลย “ (หัวเราะ)

ชีส : อีกหนึ่งโปรตีนทางเลือก
อันที่จริงวิธีการทำชีสนั้นไม่ได้ใช้อุปกรณ์เครื่องมืออะไรมากมาย หากใช้ขั้นตอนยาวนานและใจที่อดทนรอคอยได้เท่านั้นเอง บุษกรณ์แบ่งปันความรู้เรื่องการผลิตชีสแบบโฮมเมดให้กับผู้คนต่าง ๆ อยู่เสมอชนิดไม่มีกั๊กเลย “อยากให้เขาทำเองเป็น” เธอบอกยิ้ม ๆ อย่างจริงใจ “โดยเฉพาะครอบครัวฟาร์มนม อยากให้เขามีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เวลาน้ำนมดิบราคาตกขายก็ไม่ได้ราคา ไม่ต้องเททิ้ง ไม่ต้องท้อแท้ ทำชีสเอาไว้ทำกินได้ แปรรูปเอาไว้ขาย ได้ราคามากกว่าและเก็บได้นานกว่าแทนการเก็บน้ำนม”

ความใจดีของเธอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกฉวยใช้ประโยชน์ แม้เพิ่งบาดเจ็บกับการร่วมทำธุรกิจ เธอก็ตั้งใจฮึดสู้อีกครั้งด้วยตัวเองและตั้งกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรนิเวศสันทราย” ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ หวังสร้างคนทำชีสเพิ่มขึ้นรวมถึงขยายโอกาสร่วมกับสมาชิกในหมู่บ้าน ทั้งการปลูกข้าวอินทรีย์ ผักอินทรีย์ ความรู้เรื่องการนวดและสมุนไพรต่าง ๆ (ที่มีอยู่แล้ว) เพื่อว่าอาจพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่บ้านเกิดของตัวเองได้ในอนาคต

ชีสเป็นการตกตะกอนน้ำนมให้ของเหลวกลายเป็นของแข็ง ส่วนประกอบหลักของชีสจึงเป็นโปรตีนแตกต่างจากเนยที่องค์ประกอบหลักเป็นไขมันนม ชีสมีสองประเภท คือ ชีสสด เนื้อสัมผัสหยุ่น นิ่ม ความชื้นสูง มักเก็บได้ไม่นาน เช่น มอสซาเรลลาชีส ฮาลูมีชีส ริคอตตาชีส และ ชีสบ่ม คือ การนำชีสสดไปบ่มไล่ความชื้นเพื่อให้เกิดเนื้อสัมผัสและรสชาติตามต้องการ เนื้อสัมผัสแข็ง มีกลิ่นรสเข้มข้นกว่า เช่น เกาดาชีส เชดดาร์ชีส บลูชีส เป็นต้น

วิธีการทำชีสของบุษกรณ์นั้นทำตามได้ไม่ยาก ขอเพียงแค่มีนมสด (whole milk) ที่ไม่ผ่านกระบวนการโฮโมจิไนซ์ (ป้องกันนมแยกชั้น) ก็ทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้เลย ขั้นแรกนำน้ำนมดิบมากรอง ต้มฆ่าเชื้อที่ประมาณ 32-35 องศาเซลเซียส ใส่เอนไซม์เรนเน็ต (rennet enzyme) เพื่อช่วยให้ของแข็งที่อยู่ในน้ำนมตกตะกอนเป็นก้อน คนเบา ๆ ทิ้งไว้ 45-60 นาที จนน้ำนมกลายเป็นก้อนเคิร์ด ตัดให้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมประมาณ 2×2 นิ้ว จากนั้นเพิ่มอุณหภูมิน้ำนมเป็น 40-45 องศาเซลเซียส คนเบา ๆ เพื่อเร่งการคายน้ำเวย์ออกจากเคิร์ดเพื่อแยกของแข็งและของเหลว (น้ำเวย์) พักไว้ 45-60 นาที เพื่อให้ชีสคายน้ำพอหมาด 30-45 นาที (ผสมเกลือ/สมุนไพรต่าง ๆ ในขั้นตอนนี้ถ้าต้องการหรือไม่ใส่ก็ได้) นำชีสใส่พิมพ์เพื่อเป็นก้อน นำของมีน้ำหนักมาทับเพื่อให้ชีสคายน้ำและเซ็ตตัวทิ้งไว้ 60 นาที จะได้ชีสก้อนเรียกว่า “ฮาลูมีชีส” จากนั้น นำฮาลูมีชีสต้มในน้ำเวย์เพื่อฆ่าเชื้อโรค เมื่อน้ำเดือดประมาณ 70-75 องศาเซลเซียส นำชีสขึ้นมาแช่ในน้ำเย็นจัด แล้วใส่กลับลงไปในแม่พิมพ์อีกครั้งให้เซ็ตตัว แช่ตู้เย็น ผึ่งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อให้ลดความชื้นทำให้ชีสแห้งยิ่งขึ้นแล้วแพ็กใส่ถุง

ส่วนน้ำเวย์ที่เหลือเอามาทำชีสได้อีกด้วยการเพิ่มอุณหภูมิให้ถึง 85 องศาเซลเซียส เติมกรดธรรมชาติ เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มสายชูข้าว น้ำส้มสายชูทั่วไปเพื่อเร่งให้โปรตีนที่ตกค้างจับตัวเป็นก้อนกลายเป็น “ริคอตตาชีส” ใช้ทำลาซานญ่า สอดไส้ราวิโอลี โรยพิซซ่า ใส่สลัด หรือทำขนมได้

“เราโชคดีที่ได้ลูกค้าร้าน Chez Marco (ร้านอาหารฝรั่งเศสในเชียงใหม่) เป็นลูกค้าเจ้าแรกของเราและยังเป็นมาจนถึงทุกวันนี้ ที่จริงตอนก่อนโควิดมีร้านอาหารก็สั่งหลายร้าน แต่วิกฤติที่ผ่านมาหลายร้านก็เลิกกิจการไป ตอนนี้มีร้านพี่ก้อย (กนิษฐกา ลิมังกูร) แห่งอันจะกินวิลล่าอีกแห่งหนึ่งที่เป็นลูกค้าประจำ ถือว่ายังอยู่ในปริมาณที่มีกำลังผลิตให้ได้ไหว เพราะเราทำชีสคนเดียวทุกขั้นตอน

“ชาวต่างชาติในเชียงใหม่ชอบชีสสด ถูกใจกลุ่มคนรักสุขภาพ เพราะชีสที่แปรรูปในห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ใส่เกลือเพื่อให้เก็บได้นาน ทำให้ชีสมีรสเค็มมาก แข็งมาก เมื่อเปรียบเทียบกับชีสของเรา มันสดใหม่ หนึบหนับ และไม่เค็ม ดีต่อสุขภาพในระยะยาว

โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคไต ฮาลูมีชีสใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ได้ เป็นท็อปปิงอาหารมื้อเช้า เติมกับไข่ขนมปัง สลัด ฮาลูมีชีสกินสดอร่อย แต่ถ้าเอามาย่างก็จะเพิ่มกลิ่นหอมและสีสันจากการถูกความร้อน ได้รสสัมผัสที่แตกต่างอีกแบบแล้วสนุกด้วย คนเกาหลีก็นิยมเอามาย่างกินกับเนื้อย่าง

“ฮาลูมีชีสให้เนื้อสัมผัสแน่นหนึบ เคี้ยวแล้วเด้ง ๆ ในปากคล้ายเนื้อสัตว์ สามารถปรับเป็นเมนูแบบไทยได้ อยากให้คนไทยเห็นชีสเป็นโปรตีนทางเลือกอีกแบบหนึ่งนอกเหนือจากเต้าหู้ กินชีสในปริมาณน้อยแต่ได้คุณค่าทางอาหารสูงไม่แพ้กัน ชีสหนึ่งกิโลกรัมต้องใช้น้ำนมสิบกิโลกรัมในการผลิต เมืองไทยเรามีวัตถุดิบ (น้ำนมดิบ) มากอยู่แล้ว มีเกษตรกรโคนมจำนวนมาก เรายกระดับมูลค่าน้ำนมได้ง่าย ๆ แบบนี้เลย ทำได้เองในครัวเรือนด้วย อยากให้ความรู้เรื่องการผลิตชีสเป็นเรื่องทั่วไปที่คนธรรมดาสามารถทำกินเองได้ กินกันอย่างแพร่หลาย เกษตรกรทำเพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกในบ้านตัวเอง เราจะได้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงจากวัตถุดิบง่าย ๆ ที่เรามีอยู่แล้วใกล้ตัว”

ข้อเด่นของ Bussakorn Cheese คือชีสที่สดใหม่ เวลากินแล้วได้กลิ่นหอมของนมอวลในจมูก เคี้ยวแล้วให้รสสัมผัสแน่นหนึบ บางครั้งบุษกรณ์ออกแบบชีสตามความต้องการของลูกค้าได้ด้วย เช่น เพิ่มพริกแห้ง มะกอกดำ ขิง หรือแม้แต่วัตถุดิบพื้นถิ่น เช่น ห่อวอของปกาเกอญอ (หน้าตาคล้ายโหระพาแต่ให้กลิ่นคล้ายลาเวนเดอร์) ทำให้ชีสโฮมเมดของเธออร่อยอย่างมีสีสันเสมอ “ที่จริงช่วงนี้มีเชฟติดต่อให้ทำชีสให้เหมือนกันเพราะในนั้นมีร้านพิซซ่าด้วย อยากให้คุยเรื่องสเป็กของชีสที่เชฟแต่ละคนอยากใช้ ที่เขาใช้หลัก ๆ มีมอสซาเรลลาชีส ริคอตตาชีสจากนมแพะ ตอนนี้อยู่ในระหว่างนัดหมายและทำลองพัฒนาร่วมกันกับเชฟในอนาคต” เธอเล่าภูมิใจ

ความฝันถึงโรงเรียนทำชีส
ตลอดการสนทนากับบุษกรณ์เราสัมผัสได้ถึงพลังงานความอารี ทุกครั้งที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ เธอจะเน้นย้ำเรื่องการแบ่งปันความรู้อยู่เสมอ หลายครั้งก็เป็นไปอย่างไม่คิดมูลค่าเลย รู้สึกได้ถึง “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ที่แท้จริง

“เรย์ แมคโดนัลเป็นนักเรียนคนแรกของพี่เลยนะ” ก่อนเล่าว่ารายการเร่ร่อนเคยมาถ่ายทำการผลิตชีสของเธอ “หลังจากนั้นคนก็ตามกันมาเยอะเลย” เธอว่าพลางหัวเราะ “ช่วงหน้าหนาวปีก่อนพี่ทำงานที่ลำพูน เลยเช่าบ้านทำชีสที่นั่น มีเจ้าของฟาร์มนมเอานมของเขามาให้ทดลองทำชีส มีกลุ่มเกษตรกรเข้าไปตามหา ทำให้เรารับรู้ได้ว่ามีความต้องการองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมเป็นชีสเยอะมาก พอเรย์มาขอถ่ายทำในรายการเร่ร่อนก็ได้ประโยชน์ภาพรวมเรื่องท่องเที่ยวในลำพูนได้ด้วย ช่วงนั้นเป็นหน้าไฮซีซั่นของฤดูกาลท่องเที่ยวเลยมีคนมาหาเยอะเลยจากทุกภาคทั่วประเทศ เราทำชีสให้กินง่าย ๆ เช่น สลัด มีหมูกระทะให้ย่างชีสได้ ทำเวิร์กช็อปง่าย ๆ เรียนรู้เรื่องการเดินทางของน้ำนม เด็ก ๆ ได้รู้ว่าต้นทางของชีสมาจากไหน จากน้ำนมดิบเป็นชีสต้องผ่านกระบวนการอะไร รสชาติเป็นอย่างไร เหมือนวิทยาศาสตร์อย่างง่ายสำหรับเด็ก ๆ

“พอหมดฤดูท่องเที่ยวพี่เลยย้ายกลับบ้านที่เชียงใหม่มาริเริ่มรวมกลุ่มใหม่ ลึก ๆ ในใจแล้วอยากเป็นคนถ่ายทอดความรู้ เราไม่หวงเลย บอกทั้งหมด อยากให้คนรุ่นใหม่ ๆ ที่ครอบครัวทำฟาร์มนมมาเรียนรู้ อยากให้เขามีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง มีผู้ผลิตที่มากกว่านี้ ชีสเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการเก็บน้ำนมได้ในระยะยาว น้ำนมดิบมันเก็บนานไม่ได้ เสียก็ต้องทิ้ง ราคาถูกเกินไปก็ต้องทิ้ง เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างโควิดก็ทำอะไรได้ยาก แต่ถ้าเราทำเป็นชีสแบบนี้จะเก็บได้นานกว่า

“ตอนเด็ก ๆ เวลาตามพ่อไปฟาร์ม เราจะเห็นคนทำฟาร์มดูแก่ ป่วย ๆ เหนื่อย ไม่มีความสุข เพราะมีหนี้สินมากและไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐหรือการรวมกลุ่ม ในต่างประเทศเกษตรกรมีการสนับสนุนทั้งเงินทุน เครื่องจักรวัสดุอุปกรณ์ ความรู้ การจัดการฟาร์ม ลูกหลานไปเรียนมีความรู้แล้วกลับมาพัฒนาฟาร์ม ใช้เครื่องจักรทำงานหนักแทนคน ไม่ต้องยกของหนักเอง มีกระบวนการจัดการทุ่นแรง แต่บ้านเราไม่มีอะไรเลย ทำงานเอง ยกถังนมเอง จัดการฟาร์มเอง เป็นหนี้เป็นสิน ราคารับซื้อก็กำหนดไม่ได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง กระบวนการกลุ่มไม่ได้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนกัน เช่น การแบ่งงานกันทำตามความถนัด คนนี้ปลูกพืชอาหาร คนนี้เลี้ยง อยากเห็นกระบวนการที่คนทำร่วมกันแต่ทำหน้าที่แต่ละขั้นตอนอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด

“ในประเทศญี่ปุ่น มีสหกรณ์ฟาร์มโคนมที่รวมตัวกันแข็งแรงหลากหลายในพื้นที่ ทำให้มีชีสรสชาติหลากหลายและเฉพาะตัวจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้เลย ฝันอยากให้เมืองไทยเป็นแบบนั้นได้

ในเชียงใหม่มีฟาร์มโคนมมากมาย อย่างน้อยขอให้รวมกันได้แล้วช่วยกันขับเคลื่อน ย่อมมีศักยภาพความเป็นไปได้อย่างน้อยในระดับอาเซียน…ก็ฝันแบบนั้นนะ (หัวเราะ) เกษตรกรไทยต้องมีรายได้มากกว่าแค่ขายวัตถุดิบอย่างที่เป็นมาจนถึงทุกวันนี้” ในรอยยิ้มนั้นมีความหมาย เธอฝันเช่นนั้นจริงๆ

อันที่จริงสถานการณ์ชีวิตของบุษกรณ์ช่วงนี้ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน แต่การได้ยินฝันใหญ่ที่เป็นไปอย่างนึกถึงผู้อื่นเป็นสำคัญทำให้เรายิ่งชื่นชม สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้ปริมาณการสั่งชีสน้อยลง สภาพคล่องลดลง จนเธอต้องทำงานอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย แต่ก็ไม่ทิ้งการทำชีสที่รัก ทั้งยังมุ่งมั่นสร้างชีสเมกเกอร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้นให้ได้จนอาจกลายเป็นชุมชนผู้ผลิตชีสได้ในอนาคต

“ลึก ๆ แล้วตัวเรารู้ว่ายังมีโอกาสและศักยภาพที่จะไปต่อได้ไกลกว่านี้ ถ้าพร้อมแล้วจะค่อย ๆ ขยับไป ประสบการณ์ทั้งที่ผิดพลาดและทำได้ดีสอนให้เราเรียนรู้การทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เรายังมีความหวังเสมอ สำหรับตัวเอง อยากมีเวลาศึกษาเพิ่มเติมความรู้เรื่องการทำชีสมากขึ้นด้วยการเดินทางไปที่ต่าง ๆ แต่ตอนนี้จะเน้นสร้างคนในชุมชนหรือครอบครัวฟาร์มนมมาเชื่อมโยงกับสิ่งดี ๆ ในพื้นที่เรื่องเกษตรอินทรีย์ เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ มากที่สุดตอนนี้คืออยากได้พี่เลี้ยง อยากให้คนมาช่วยแนะนำ เราฝันอย่างเดียวมันคงไม่พอ”

ภาพฝันของเธอชัดเจนจนมองเห็นปลายทางของการเติบโตที่เกษตรกรฟาร์มโคนมไทยจะยืนบนขาตัวเองได้อย่างแข็งแรง และเราขอเอาใจช่วยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริงในสักวัน

หมายเหตุ: เนื่องจากเป็นการผลิตแบบโฮมเมดแบบมีผู้ผลิตคนเดียว “Bussakorn Cheese” จึงใช้วิธีการ pre-order ชีสและชำระล่วงหน้าครึ่งหนึ่ง จัดส่งได้ด้วยการแช่เย็น สามารถติดต่อสั่งชีสได้ที่ Line: Busakorn Cheese หรือโทร. 090-929-2594

ภาพ: ธาตรี แสงมีอานุภาพ