“เราลาออกจากงาน เพื่อพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่า ถ้าเราจะทำเกษตรหรือสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ของเราเพื่อเป็นต้นแบบให้ชาวบ้าน มันต้องเริ่มต้นเท่าเทียมกันกับพวกเขา และทำให้เห็นว่ามันทำได้”

โอ๋ จรูญพิศ มูลสาร กล่าวถึงเหตุผลที่เธอเลือกลาออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสาน ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนงานสิ่งแวดล้อม และเริ่มสร้างพื้นที่ “บ้านไฮ่บ้านส่วน” แห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นทั้งฐานทรัพยากรส่วนตัวสำหรับดำรงชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้การดำรงชีวิตตามวิถีพึ่งพาธรรมชาติสำหรับทุกคน เพื่อจะพิสูจน์ว่ามิติความยั่งยืนด้านอาหารและการดำรงชีวิตนั้นสามารถสร้างได้ โดยที่เงินอาจไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

โอ๋เลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ตามที่พ่อแม่อยากให้เป็นครู แต่เลือกสมัครงานตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และตำแหน่งงานท้ายที่สุดที่เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นการกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของเธอก็คือ เจ้าหน้าที่ประสาน ซึ่งเป็นตำแหน่งพิเศษที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริม NGO และทำงานกับชุมชนเป็นหลัก และเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง NGO กับภาครัฐ

“เราถูกส่งตัวจากหน่วยงานราชการลงมาอยู่กับ NGO ในโครงการ อนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง ซึ่งช่วงเวลานั้นความไว้วางใจระหว่าง NGO และ หน่วยงานรัฐ ยังไม่ค่อยมี เหมือนเป็นคู่อริกัน แต่มีผู้ใหญ่ในหน่วยงานคือ ท่านวีรวัฒน์ ปภุสสโร ท่านก็เป็นคนที่หัวก้าวหน้า และคิดข้ามช็อตเลยว่า ข้อเสนอจาก NGO นั้นเป็นมุมความจริงของปัญหาในการจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นข้อมูลที่รัฐเข้าไม่ถึง แต่ว่าพอเป็นข้อมูลจาก NGO แล้ว ทางภาครัฐบาลไม่ค่อยฟัง ก็เลยคิดว่าถ้ามีคนที่ทำหน้าที่ประสานเชื่อมทั้งสองส่วนเข้าไว้ด้วยกัน จะทำให้ได้เห็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในแง่ของนโยบายในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม”

การกลับบ้านในฐานะเจ้าหน้าที่ประสานที่เป็นผู้เชื่อมโยงข้อมูลของ NGO และภาครัฐ นี้เองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานพัฒนาชุมชน ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่เธอเองก็คาดไม่ถึงมาก่อน

กลับมาหาความสุข กลับมาพึ่งพาวิถีธรรมชาติ
โอ๋เล่าว่า ด้วยบทบาทหน้าที่ที่ต้องเจอผู้คนหลากหลายระดับชั้น เธอเองก็เคยมีความคิดว่า หากมีเงินเยอะ ๆ มีบ้านหลังโต ๆ มีรถหรู ๆ ขับคงจะเป็นอะไรที่มีความสุข แต่การทำงานที่เฆี่ยนตีตนเองอยู่ตลอดเวลาทำให้เธอเองมีอาการเจ็บป่วย จึงเริ่มตั้งคำถามว่า ความสุขที่แท้จริงคืออะไร

“เราทำงานเยอะเรากลับรู้สึกว่าเรามีภาวะเครียด อีกส่วนคือเราเป็นก้อนเนื้อที่ต่อมทอนซิลต้องไปผ่านตัด นั่นเพราะเราทำแต่งานแล้วก็ซื้ออาหารฟาสต์ฟู้ดกินเอาสะดวก ขึ้นรถแล้วก็กินข้าวบนรถ ปัญหาสุขภาวะของตัวเองนี่แหละ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความสุขจริงๆ มันอยู่ตรงไหน และตัดสินใจกลับมาอยู่กับธรรมชาติ มากินอาหารที่ผลิตเอง ปรากฏว่าโรคต่าง ๆ ที่เป็นทั้งหลายทั้งปวง ก้อนเนื้อที่เกิดขึ้น คือมันหายนะ เออ เคยเป็นมันก็หายไป มันก็ไม่เป็น ก็ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น ว่าวิถีพึ่งพาธรรมชาตินี่แหละมันน่าจะเป็นอีกมุมทางเลือกที่ใช่

“โลกใบนี้สร้างมนุษย์ขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่ง มันต้องมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ พอมันฉีกออกจากธรรมชาติมันก็ทำให้เราเห็นว่ามันมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับมนุษย์ เช่น โรคที่เกิดจากพฤติกรรม ทั้ง ความดัน เบาหวาน อะไรพวกนี้ เราเคยทำงานทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มันก็เลยทำให้เราวิเคราะห์

“แล้วก็วิเคราะห์ถึงเรื่องการกิน เราเห็นว่าคนทุกวันนี้เป็นโรคมะเร็งเยอะมาก พวกโรค NCD เยอะมาก พอมองดูแล้วเราคิดว่าคนสมัยก่อนวิถีการกินมันคนละอย่างกับทุกวันนี้นะ เรามองว่า เมื่อก่อนคนกินอาหารเป็นยา อย่างพี่ชอบกินอาหารพื้นบ้าน แล้วตอนเด็ก ๆ เวลาเราไม่สบาย แม่จะทำอาหารให้กิน เพื่อแก้ในสิ่งที่มันเป็นปัญหากับสุขภาพร่างกายเรา แต่สมัยเรียนเราถูกสอนว่า อันนั้นมันไม่ดี มันไม่ถูกสุขลักษณะ มันไม่ใช่ เราก็เริ่มสรุปบทเรียนวา ‘ไอ้พวกฝรั่งแม่งมาหลอกกู’ จริง ๆ ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ปู่ย่าตายายเขาดำรงมา มันถูกแล้ว แต่ว่ามันไม่ได้ถูกจัดระเบียบในงานวิชาการ

“เราก็เริ่มย้อนสิ่งที่พ่อแม่เราทำมา หรือในสังคมทำมา เราก็เลยพยายามทำให้พื้นที่ของเราเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าวิถีพึ่งพาธรรมชาตินี่มันอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้สุดโต่งถึงขั้นไม่สบายไม่ไปหาหมอนะ”

ลาออกมาทำไฮ่ทำสวน พิสูจน์ให้ชาวบ้านและรัฐได้เห็น
นอกจากเรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีเพื่อสุขภาพแล้ว โอ๋ ยังเล่าถึงเหตุผลที่เธอเลือกลาออกจากงาน และมาเป็นเกษตรกรที่ทำงานพัฒนาชุมชนให้ฟังว่า

“การเป็นคนทำงานตรงกลางทำให้เราเห็นปัญหา ว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานส่งเสริมชาวบ้าน ก็คือการเปลี่ยนแปลงมุมมองความคิดของชาวบ้าน เพื่อให้ไปถึงที่สุดตามที่เราจิตนาการภาพไว้ ในขณะที่การเป็น NGO เราจะไปนำเสนอรัฐว่าทำแบบนี้ไม่ได้ แต่เราไม่มีทางเลือกให้รัฐ หรือกับชาวบ้านด้วย มันก็เลยต้องมีกระบวนการที่ต้องทำให้ทั้งรัฐและชาวบ้านเห็นว่าแล้วหนทางไหนล่ะที่ทำได้ นั่นแหละเราเลยสร้าง ‘บ้านไฮ่บ้านสวน’ ขึ้น และเราก็ลาออกจากงานเพื่อทำเป็นเหมือนงานวิจัยตลอดชีวิตเลย เราปฏิเสธโครงการทั้งหมด เพราะเวลาได้โครงการมามันจะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ชาวบ้านจะไม่ไว้วางใจเรา

“จากนั้นก็คุยกับชาวบ้านว่า เราลาออกแล้วนะ ตัดทุกอย่าง เราจะเดินไปพร้อม ๆ กับชาวบ้าน เริ่มจากศูนย์เหมือนกัน ปรากฏว่ามันได้ผล มันได้ความจริงใจ และคัดชาวบ้านที่ต้องการเดินร่วมเจตนารมณ์เดียวกันกับเรา แต่พอลาออกจากงานเรื่องที่มันยากลำบากก็คือการบริหารจัดการเงิน ชีวิตมันก็เปลี่ยน แต่สิ่งที่เราประทับใจมากก็คือ ชาวบ้านที่เราทำงานด้วยเขาออกตัวเลยว่า ‘หัวหน้าถ้าจะเริ่มต้นทำแบบนี้ เดี๋ยวพวกเรามาช่วย’ แต่ละคนเขาก็เอาต้นไม้อะไรมาช่วยกันปลูก มันก็ทำให้เรามีกำลังใจ

“เราใช้เงินที่มีลงทุนไปกับการพัฒนาพื้นที่ จากที่มีเงินเก็บ เดิมใส่ทองเส้นใหญ่ ขายหมดเลย แล้วเอามาเริ่มต้นทำสิ่งที่เราฝัน แต่พอพื้นที่ของเราเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ก็เริ่มมีคนเข้ามาถามเข้ามาคุย ก็เริ่มรู้สึกว่า เออ …เราน่าจะมาถูกทางแล้ว คนที่เขามาแลกเปลี่ยนกับเรา เขาเริ่มกลับไปทำ มันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ไปบอกเขาว่าให้ทำแบบนี้ ๆ เหมือนที่ผ่านมา แต่มันเกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนที่เขาเข้ามาหาเรา เข้ามาคุยกับเรา มาเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เราแล้วเขากลับไปทำ ก็มองว่ามันลึกกว่า เพราะฉะนั้นเรามาถูกทางแล้ว เราก็ปักหลักว่าจะทำแบบนี้ เงินทองที่มีก็เอามาทุ่มในนี้หมดเลย แต่แฟนเขาก็ยังรับราชการ ก็ยังมีรายได้ ที่มาช่วยหล่อเลี้ยง แต่ก็ต้องปรับวิถีจากที่ใช้ฟู่ฟ่า มาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น พึ่งเงินน้อยลง เพื่อพิสูจน์ในสิ่งที่เราเชื่อ”

แก่ง ป่า อาหาร และประวัติศาสตร์บ้านเกิด ของดีบ้านเราที่ไม่เคยรู้
การศึกษาปัญหาในพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านยังทำให้โอ๋เห็นถึงศักยภาพในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง ว่าเป็นฐานทรัพยากรขนาดใหญ่ ที่สามารถสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนในพื้นที่ได้ ทั้งยังมีรองรอยทางประวัติศาสตร์ให้สืบค้นถึงรากเหง้าของตน

“ตอนแรกที่เรามาทำงานเกี่ยวกับลุ่มน้ำชี เราศึกษาลุ่มน้ำชีมาทั้งหมด ตั้งแต่ จ.ชัยภูมิ บ้านโหล่น จนถึง จ.อุบลราชธานี ว่ามันมีพื้นที่ตรงไหนที่มันมีปัญหา ก็มาพบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าบ้านเรานี่แหละ มันมีปัญหามาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐที่มาสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยละเลยการมองนิเวศเดิม ทำให้เกิดน้ำท่วม

เราได้รับรู้ว่าแก่งละว้าบ้านเรามันเป็นฐานทรัพยากร ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก

“เราก็เห็นว่าจริง ๆ โครงสร้างทางวิศวกรรมมันสวนทางกับระบบนิเวศ เราก็เลยพาชาวบ้านศึกษา เพราะถ้าชาวบ้านมองไม่ออกมันจะเป็นปัญหา ก็เริ่มต้นทำวิจัยไทยบ้าน ก็คือ สกว. เขาก็จะให้ชาวบ้านร่วมกับนักวิชาการออกแบบการทำงานเอง แต่พอเราศึกษาไปเรื่อย ๆ กลับได้รู้อะไรมากกว่าสถานการณ์ที่มันสร้างปัญหาอยู่ นั่นก็คือเราได้รับรู้ว่าแก่งละว้าบ้านเรามันเป็นฐานทรัพยากร ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ เราก็ตกใจว่า อ้าว ! อยู่บ้านมาตั้งนานทำไมเราไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้

“แม้แต่เรื่องการเป็นแหล่งต้มเกลือขนาดใหญ่ ที่บ้านเราเคยเป็นแหล่งต้มเกลือส่งส่วยให้สยาม อ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีเจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกุโอกะ ท่านอยู่ไกลแสนไกลกลับเป็นคนมาบอกเราที่นั่งทับอยู่ในบ้านเกิดตัวเองแต่ไม่เคยรู้ มันเกิดอะไรขึ้น เราก็เลยเริ่มศึกษามากขึ้น

“อย่างเรื่องป่าโคกหนองม่วง ที่เป็นป่าชุมชน ชาวบ้านเมื่อก่อนไม่สนใจใครอยากตัดก็ตัด พอเราพาชาวบ้านไปศึกษาเราก็ให้ชาวบ้านที่เก็บเห็ดทำตัวเลขมาเลย ส่งไว้กับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเขาก็เขียนไว้ว่าต่อปีคนเก็บเห็ดแต่ละคนเขาขายเห็ดได้เท่าไร สรุปคือ สามหมื่นกว่า ! ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าตัวเองขายเห็ดได้เยอะขนาดนี้ 10 คนก็ขายเห็ดได้สามแสน มันก็ทำให้เห็นว่าป่าผืนนี้สร้างรายได้ให้ชุมชน หรือแม้แต่แก่งละว้าเราก็ให้แม่ค้าคนกลางช่วยจดรายการที่ชาวประมงนำปลาจากแก่งละว้ามาส่ง ว่าวันนี้ได้กี่กิโลได้กี่บาท ซึ่งพอเราเอางานวิจัยมาจับมันทำให้เราเห็นตัวเลขว่า ปีหนึ่ง ๆ ทำงานได้หลายล้านบาท

พวกเราจะไม่ส่งมอบทรัพยากรที่พังยับเยินให้ลูกหลาน เราจะส่งมอบฐานทรัพยากรทางธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ได้ให้ลูกหลาน

“จนกระทั่งชาวบ้านเขาออกปากพูดกันเองว่า “เงินร้อยล้านอยู่ในแก่งละว้า ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นพื้นที่ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้” มันสะกิดใจว่าในขณะที่โลกกำลังเกิดวิกฤติเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่บ้านฉันมันยังมีความมั่นคงทางอาหารอยู่ แล้วทำไมเราไม่ช่วยกันรักษา มันก็เลยทำให้เราคุยกับชาวบ้านเรื่องการอนุรักษ์ป่า เรื่องอนุรักษ์แก่ง บนทิศทางการอนุรักษ์ในแบบที่เขาสามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ และส่งต่อมอบให้ลูกหลานได้ โดยมีแนวคิดร่วมกันว่าพวกเราจะไม่ส่งมอบทรัพยากรที่พังยับเยินให้ลูกหลาน เราจะส่งมอบฐานทรัพยากรทางธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ได้ให้ลูกหลาน

“พอเรามองในโนยบายของโลกเรื่อง SDGs หรือ การพัฒนาที่ยั่งยืน ก็พบว่านอกจากฐานทรัพยากรที่เป็นส่วนรวมแล้ว มันยังต้องมีอีกส่วนคือ ฐานทรัพยากรส่วนตัว ด้วย เพราะการที่เราจะไปเบียดขับฐานทรัพยากรรวมอย่างเดียวมันไม่พอ คุณต้องสร้างฐานทรัพยากรที่เป็นส่วนตัว มันต้องทำพื้นที่ให้เป็นแหล่งอาหารของเราด้วย อย่างเราเองก็ทำพื้นที่ของเราให้ตอบโจทย์ตรงนั้น และก็ชักชวนชาวบ้านทำอะไรแบบนี้

“ทำไปได้ระยะหนึ่งมันก็เกิดปัญหา คือพอไปส่งเสริมเขาไว้เยอะ ๆ ชาวบ้านหาปลาเยอะ ๆ ทำปลาร้า ทำปลาแห้ง ทำปลาวง แต่ปลามันขายไม่ออก เพราะเราไม่ต่อยอดเรื่องการตลาดมันก็เหมือนไปไม่สุด เราก็มองว่าต้องช่วยชาวบ้านระบายของ และต้องเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า จึงเริ่มเปิดขายอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่บ้านไฮ่บ้านสวนของเรา และเปิดให้คนสามารถเข้ามาลิ้มลองได้

“เวลาที่เขาประชุมที่ขอนแก่น เพราะถึงพี่จะลาออกแล้วแต่ทางที่ทำงานเดิมเขาก็ยังให้เราไปช่วยทำงานในตำแหน่งโน้นตำแหน่งนี้ เราก็จะติดเอาอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบของแก่งละว้าไปด้วย เหมือนเราเป็นเซลล์ไอเดีย แล้วได้ผลตอบรับมาเรื่อย ๆ เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันเริ่มมีคนซื้อเว้ย คนเริ่มรู้จัก คนเริ่มรู้จักของแก่งละว้า แก่งละว้าถูกพูดถึงเพราะมันเริ่มได้นำผลผลิตและเรื่องราวออกไปสู่คนข้างนอก”

แก่งละว้า กับคันคูกั้นน้ำเจ้าปัญหา สู่การร่วมมือพัฒนาจากทุกฝ่าย
เมื่อคนรอบแก่งละว้าเริ่มเห็นความสำคัญของฐานทรัพยากรทางธรรมชาติที่ตนเองมี โอ๋และชาวบ้านรอบพื้นที่แก่ง ก็ได้ร่วมกันออกแบบแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูร่วมกันในลักษณะการทำงานวิจัยและทำการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อยื่นตอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นไปแบบคำนึงถึงทุกฝ่าย

ชาวบ้านเก่งมากนะ เขารู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างโครงการของรัฐด้วยซ้ำ

“ชาวบ้านเก่งมากนะ เขารู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างโครงการของรัฐด้วยซ้ำ เพราะเขาอยู่ในพื้นที่และสังเกตธรรมชาติมายาวนาน เขาสามารถชี้ให้เราเห็นได้ว่าที่น้ำมันท่วมเพราะเขามาทำคูกัน น้ำมันเคยหลากมาเข้าแก่งไม่ได้ เขารู้ว่าเวลาน้ำท่วมน้ำจะล้นตลิ่งลำชีสูงเท่าไร กินพื้นที่เท่าไร

“ตอนที่วิศกรมาเก็บข้อมูลเพื่อทำคันคูกันนั้นชาวบ้านก็ไปบอกแล้ว ว่าถ้าทำคันกั้นน้ำตรง ๆ แบบนี้ น้ำในฤดูน้ำหลากจะไม่มีทางไป ให้ทำเป็นสะพานโค้งสูง เว้นช่องด้านล่างให้น้ำในฤดูน้ำหลากไหลไปได้ไหม แต่วิศวกรเขาไม่ฟัง ที่นี้พอสร้างเสร็จก็เกิดปัญหา เราก็เริ่มมาทำงานวิจัยไทบ้าน มันมีการประชุม พูดคุย มีชาวบ้านที่ร่วมขบวน เพราะว่าข้อมูลบางอย่างมันจะเป็นแบบสอบถาม แต่ข้อมูลบางอย่างมันคือโฟกัสกรุ๊ป จัดประชุมใหญ่ในหมู่บ้านอะไรแบบนี้ อันนี้คือกระบวนการวิจัย ชาวบ้านก็เห็นปัญหาร่วมกัน

“ตอนที่ก่อสร้างแล้วเกิดปัญหา ชลประทานก็ไม่ยอมรับ เพราะว่าเขาก็ถูกปลูกฝังมาเหมือนกันว่า องค์ความรู้ของเขาถูก ตอนนั้นชาวบ้านก็รวมตัวกันหลายร้อยคน ไปช่วยกันตัดคันคูแก่งละว้า เพื่อให้น้ำไหลเข้าแก่งได้ ตามระบบนิเวศเดิม บางเรื่องมันนำเสนอกับรัฐแล้วในเชิงข้อมูลมันไม่ถูกยอมรับ มันก็ต้องใช้พลังแบบนี้

“แล้วก็ไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าฯถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจากคันคูที่สร้างขึ้น สุดท้ายผู้ว่าก็ยอมเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ก็ได้ขุดคันคูซึ่งเราขุดกันแค่ 7 เมตร แต่พอน้ำระบายได้มันเซาะคันคูเองขาดยาวเป็น 70 เมตรเลย นี่ก็เป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นเลยว่าถ้าจะสร้างสะพานที่มีน้ำลอดได้ ต้องมีระยะทางไม่ต่ำกว่า 100 เมตร ชลประทานเขาก็ยังไม่ยอมอีก เขาก็มาทำเป็นประตูน้ำตามแบบชลประทาน ไอ้เจ้าประตูน้ำนั้นใช้งบประมาณหกล้าน น้ำก็ท่วมอีกเหมือนเดิม ที่สร้างมันก็พังไปในปีสองปี สุดท้ายเขาก็เลยยอม เลยได้สะพาน ถึงจะได้แค่ 30 เมตร ไม่ถึงร้อยเมตรอย่างที่เสนอไว้แต่แรก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้

“ทีนี้มันก็มีพัฒนาการนะ ระยะหลังมันก็เริ่มเปลี่ยนไป ชลประทานก็ยอมทำในแบบชาวบ้าน และสุดท้ายชลประทานก็ให้ชุมชนมีส่วนร่วม มันเป็นพัฒนาการของสังคมด้วยไม่ใช่ว่าเราเก่ง หรือชาวบ้านเก่ง แต่มันเป็นพัฒนาการทางสังคมจากทุกฝ่าย เดี๋ยวนี้ ชลประทานก็เป็นมิตรกับเราแล้ว มีอะไรเขาก็ถามเขาก็คุย ได้รับการยอมรับมากขึ้น หรือแม้แต่ รูปแบบการทำงาน อย่างที่บอกเมื่อก่อนเราทำงานกับ NGO พอเห็นต่างมันก็จะแบบคัดค้าน หรือประท้วงอย่างเดียว พอเรามาทำงานวิจัย ทำงานกับชาวบ้านมากขึ้น แล้วบทเรียนการทำงานเรามันมีมากขึ้น มันก็เปลี่ยนจากการทำงานแบบตั้งธง มันก็มีการเจรจา การต่อสู้ด้วยข้อมูล แต่เป้าหมายสูงสุดของเราก็คือ ชาวบ้านในพื้นที่มันต้องอยู่ เราไม่อยาก ให้บ้านเราเป็นเหมือนระยอง ชลบุรี ที่คนพื้นถิ่นไม่เหลืออะไร ไม่เหลือรากเหง้า เหมือนมันถูกขับออกจากคนในพื้นที่โดยไม่รู้ตัว”

กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ และความสุขรอบแก่งเมื่อระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์
โอ๋เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการพัฒนาร่วมกันทั้งจากภาครัฐและชาวบ้าน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคน นั่นคือการได้ระบบนิเวศที่สมบูรณ์กลับคืนมา

“หลังจากนั้นเรากับชาวบ้านก็เริ่มคุยกันว่าควรจะมีพื้นที่ในเชิงการอนุรักษ์ คือเราไม่ได้ขอพื้นที่ทั้งแก่ง แต่เราขอแค่บางส่วนเพื่อพิสูจน์กับชลประทานว่าระหว่างพื้นที่ที่ทำการอนุรักษ์ กับพื้นทื่อื่น ๆ เทียบกันดูว่าผลจะเป็นอย่างไร เป็นการทดลองร่วมกัน ก็ได้พื้นที่ในแก่งบริเวณหัวโนนจานที่ยังมีวิถีเลี้ยงควาย วิถีทำนา แล้วก็มีปลาธรรมชาติที่เราปล่อยให้มันเติบโตตามธรรมชาติ รวมถึงพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่อยู่กับน้ำ

“ณ วันนี้ พื้นที่หัวโนนจานก็กลายเป็นพื้นที่ที่คนเข้าไปศึกษาระบบนิเวศของแก่งละว้า และแต่ละชุมชนเขาก็จะมีพื้นที่ที่เขากำหนดไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์กันเองขึ้น

“พอเกิดพื้นที่อนุรักษ์ นิเวศของแก่งละว้ามันก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราทำวิจัยเรื่องปลาตั้งแต่ตอนทำงานใหม่ ๆ ในช่วงแรกที่ยังไม่ปรับสิ่งที่เราเจอตอนทำงานวิจัยคือ มันถูกปิดกั้นด้วยคันคู ปลารากกล้วย ตระกูลปลาเนื้ออ่อน ปลาค้าว ปลาเสียบธง มันลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ชาวประมงบอกว่าปลามันเยอะมาก จากระยะเวลาที่เราเริ่มต้นเจาะคันคูตอนปี 50 มาจนถึงวันนี้ พันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยชนิด

แก่งละว้ามันเริ่มกลับมาเป็นเหมือนเดิมแล้วหัวหน้า

“อีกสิ่งหนึ่งที่ดีขึ้นคือ ตัววัชพืชที่ห้วงหนึ่งมันมีปัญหา คือมันค้างอยู่ในแก่งออกไปไม่ได้เพราะไม่มีน้ำชีมากระแทก ตอนนี้มันออกไปได้แล้ว โดยเฉพาะปีนี้วัชพืชมันออกไปเยอะมาก ชาวบ้านก็บอกว่า ‘แก่งละว้ามันเริ่มกลับมาเป็นเหมือนเดิมแล้วหัวหน้า น้ำมันเซาะวัชพืชไปหมดแล้ว มันโล่งขึ้นเยอะ’

“นอกจากนี้กลุ่มคนเลี้ยงควายก็มีตัวตนถูกยอมรับมากขึ้น แล้วก็นโยบายการพัฒนาแก่งละว้าถ้าจะเข้ามามันก็คำนึงถึงคนที่อาศัยอยู่มากขึ้น ไม่ได้มองแค่ว่าเป็นภาชนะเก็บน้ำ แล้วก็เรื่องของการให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ อย่างเมื่อก่อน ไม่มีแปลงผัก ไม่มีกลุ่มปลูกผัก ก็เกิดการเปิดพื้นที่ให้มีการปลูกผัก โดยใช้พื้นที่ของชลประทานมาเป็นพื้นที่ร่วม เราก็มองว่า นี่แหละมันคือพัฒนาการที่ทำให้มันอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น

“ส่วนชาวประมง จากที่เริ่มเหนื่อยล้ากับอาชีพประมงในช่วงที่เกิดวิกฤติปลาลดจำนวนลง และไม่ได้รับการสนับสนุน พอมาเริ่มทำท่องเที่ยว ทำเรื่องตกปลา มันก็เพิ่มอาชีพเพิ่มรายได้ขึ้นมา ณ ตอนนี้ก็มีการทำเรื่องการตกปลาชะโด ให้เช่าเรือออกไปตกปลาชะโด เช่าเรือทีก็ราคาเป็นพัน หรือท่องเที่ยวเช่าเรือทีก็ ห้าร้อย พันนึง ถึงมันไม่มีต่อเนื่องตลอด แต่มันก็มีมาเรื่อย ๆ แล้วก็มีการเก็บเกสรบัวหลวง ก่อเกิดรายได้ที่เมื่อก่อนไม่มี

“อย่างต้นธูปฤๅษีเรามองว่ามันเป็นวัชพืช เราก็เลยทำหนังสือไปถึง SCG ให้เขาช่วยซื้อต้นธูปฤๅษีที่อยู่รอบแก่งเพื่อไปใช้ทำวัสดุกันกระแทก มันก็เริ่มมีการสั่งซื้อเข้ามา ชาวบ้านก็มีรายได้มากขึ้น เหล่านี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลังจากที่แนวทางการพัฒนามันปรับเปลี่ยนไปในลักษณะของการออกแบบร่วมกันทุกฝ่าย ก็ทำให้แก่งละว้ากลับมาสมบูรณ์ ผู้คนรอบแก่งสามารถทำมาหากิน หล่อเลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัวได้ วิถีชีวิตดั้งเดิมของการหาอยู่หากิน เฮ็ดอยู่เฮ็ดกินก็กลับมา”

โคกหนองม่วง โมเดลป่าชุมชนเพื่อคนจน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ โมเดลอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วง หนึ่งที่เธอกับชาวบ้านช่วยกันหารือหาทางออก จนกระทั่งวันนี้จากป่าที่สุ่มเสี่ยงจะถูกแผ้วถางและจัดสรรเป็นที่ดิน กลับมาสมบูรณ์และเป็นแหล่งอาหารให้กับคนจนเมืองที่ไร้ที่ทำกิน

“ป่าโคกหนองม่วงผืนนี้มันเป็นผืนป่าเก่าแก่ในพื้นที่ และเป็น ป่า น.ส.ล. คือเป็นป่าสาธารณประโยชน์ โดยแต่เดิมมันถูกใช้เป็นป่าช้า ต่อมามีชาวบ้านมารับจ้างทำฟาร์มหมูและไม่มีที่อยู่ก็เริ่มมาสร้างกระต๊อบอยู่ชายป่า นานเข้าฟาร์มหมูเลิกจ้าง ชุมชนก็ขยายตัวขึ้น ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในส่วนนี้จะเป็นกลุ่มคนยากจนไร้ที่ทำกิน พอเริ่มปักหลักอยู่นาน ก็เริ่มมีการออกบ้านเลขที่เป็นบ้านในหมู่บ้านหนองร้านหญ้าไป

“ประมาณปี 2557 มันก็มีกลุ่มคนที่มาจากเมืองเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีคนอยู่ ก็พยายามจะเอาโครงการเข้ามา หรือแม้แต่หน่วยงานราชการก็มองว่าจะแปรรูปป่านี้ไปเป็นอย่างอื่น ไปเป็น บขส. เป็น สนามกีฬา ฯลฯ ชาวบ้านหนองร้านหญ้าก็เริ่มกังวล ก็เลยเกิดการทักท้วง และเกิดการประชุมหมู่บ้านขึ้น

ถ้าขายที่ให้นายทุนเขาได้แสนนึงแต่ก็ได้ครั้งเดียว ถ้าเขาเก็บเห็ดขายต่อปีมันได้เยอะกว่านั้นและเก็บได้ตลอดชีวิต

“โดยได้ชาวบ้านสรุปว่าจะอนุรักษ์ป่าไว้ เราก็ใช้ระบบของการวิจัย ให้ชาวบ้านเขาศึกษาว่าการหาอยู่หากินจากป่านี้คุณค่ามีมูลค่าแค่ไหน แต่ละปีเก็บเห็ดได้เงินกี่บาท พวกที่ไม่มีที่ทำกินคุณใช้ประโยชน์ในการเก็บเห็ดได้กี่บาท จากเดิมที่เขาคิดว่าถางป่าแล้วขายให้นายทุนที่อยู่ข้างนอก เขาก็เริ่มคิดได้ว่า ถ้าขายที่ให้นายทุนเขาได้แสนนึงแต่ก็ได้ครั้งเดียว ถ้าเขาเก็บเห็ดขายต่อปีมันได้เยอะกว่านั้นและเก็บได้ตลอดชีวิต เขาก็เริ่มเห็นคุณค่าของป่า ก็เริ่มเกิดการอนุรักษ์แบบเกิดขึ้นจากภายในใจของคนพื้นที่เอง ตอนนี้ป่าก็อุดมสมบูรณ์

“มันก็เป็นเคสป่าตัวอย่างที่เป็นเคสป่าใกล้เมืองที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ แล้วชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ และสำคัญที่สุดชาวบ้านที่ว่าเป็นคนจน มันก็ช่วยลดภาระทางสังคมนะ แต่เราก็พยายามจะช่วยเขาแก้ปัญหานะ คือเรามองว่าถ้าจะให้ปัญหานี้มันจบจะต้องให้เด็ก ๆ ในพื้นที่นั้นที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาต้องไม่เผชิญความยากจนเหมือนพ่อแม่ เราก็พยายามไปสอนหนังสือ พาเขาเตะฟุตบอล เข้าไปทำกิจกรรมกับเด็ก แล้วในตัวผู้ใหญ่ที่อยู่ เราก็พยายามสร้างความชัดเจน คือส่งเขาไปที่โครงการ คทช. ที่จัดการที่หลวงเพื่อให้คนจนอยู่ อันนั้นก็จะได้ชัดเจนว่าป่าอยู่แค่นี้ คนอยู่แค่นี้ มันก็จะเกิดการจัดระเบียบโดยเขาเป็นคนร่วมออกแบบ ผ่านความคิดของเขาเอง” โอ๋กล่าว

บ้านไฮ่บ้านสวน ร่มเงาการเรียนรู้ของทุกคน
อีกสิ่งหนึ่งที่โอ๋รู้สึกภูมิใจในการสร้างพื้นที่บ้านไฮ่บ้านสวนของเธอขึ้นมาก็คือ พื้นที่ดังกล่าวนี้ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนที่สนใจทุกเพศทุกวัย เป็นการส่งต่อเมล็ดพันธุ์ด้านการพัฒนาสังคมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ เรียนรู้วิถีชีวิตพึ่งพาตนเอง ให้ไปงอกงามในต่างถิ่นต่างที่ได้อย่างไม่รู้จบ

“เราพยายามที่จะสร้างพื้นที่เป็นพื้นที่ เพื่อการเรียนรู้ให้ทุกคน สิ่งสำคัญถ้าเด็กเข้ามาเรียนรู้ที่นี่คือ ทักษะชีวิต และการปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ต เราไม่ได้สอนเขาว่าถ้าเขามาแล้วจะต้องเป็นแบบนี้ ๆ แต่เวลาลงพื้นที่ไปแล้ว ก็นำข้อมูลที่ได้เรียนรู้มาสรุปมาแลกเปลี่ยนกัน คุณคิดยังไง มันก็พยายามจะให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เขาได้เจอหน้างาน โดยจะมีโจทย์แล้วให้เด็กปฏิบัติการ ถ้ามันล้มเหลวหรือมีอะไร ก็จะมาช่วยสรุปบทเรียน นี้คือรูปแบบการสร้างการเรียนรู้จะต่างจากที่อื่น

“อย่างพวกเด็ก ๆ ยากจนที่อยู่ในป่า เวลาที่เขาเข้ามาในพื้นที่เรา เราก็จะไม่แจกของให้เขาฟรี ๆ แต่จะสอนให้เขารู้ว่าเขาสามารถสร้างรายได้ได้นะ อย่างถ้าเขาเก็บเห็ดมาขายให้เรา เราก็จะซื้อ ถ้ามันเยอะ เราก็จะพาไปขายในพื้นที่ที่เราสามารถนำพาเขาไปได้ เช่น โรงพยาบาล เพื่อให้เด็กเห็นว่าเขาสามารถทำได้ แม้แต่กับชาวบ้าน ก็พยายามทำให้เขาเห็นว่า เขาสามารถประกอบอาชีพ หรือสร้างรายได้ได้ด้วยตัวเอง

คุณรู้ไหมว่างานพัฒนาสังคมมันคืองานที่สำคัญที่สุดนะเพราะว่ามันเป็นงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

“สำหรับเด็กนักศึกษาที่มาฝึกงานพัฒนาสังคมเราก็จะให้แนวคิดเขาว่า ‘คุณรู้ไหมว่างานพัฒนาสังคมมันคืองานที่สำคัญที่สุดนะเพราะว่ามันเป็นงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม’ นักพัฒนาสังคมต้องรอบรู้ทุกสาขาอาชีพ เพราะการไปหนุนเสริมชาวบ้าน คุณต้องใช้ทุกศาสตร์ สำคัญคือคุณต้องปรับเปลี่ยนตัวคุณให้คุณรอบรู้ แล้วก็ค่อยรู้ลึก มันไม่ใช่ว่าเราต้องไปสอบเป็นนักพัฒนาสังคมได้ก่อนเราจึงจะพัฒนาสังคมได้

“เราบอกเด็ก ๆ เสมอว่า บ้านไฮ่บ้านสวน เป็นเหมือนร่มไม้ใหญ่ร่มหนึ่งที่เด็ก ๆ เดินทางแล้วแวะพัก อาจจะนั่งใต้ร่มแล้วรู้สึกสบาย แล้วอยากจะพักผ่อนยาว ๆ แต่ก็อาจจะมีเสริมเติมเพิ่มมา มีผลไม้อร่อยร่วงลงมาให้กินอร่อย ถ้าเด็กเขาเล็งเห็นว่าผลไม้นี้อร่อย เขาก็อาจจะนำเมล็ดไปปลูกในพื้นที่ของเขา เราไม่หวังว่าเด็กจะต้องมาตอบแทนเรา แต่ว่าเด็กอาจจะนำเมล็ดพันธุ์ดีเหล่านี้ไปปลูกต่อ ไปสร้างสังคม หรือถ้าเด็กรู้สึกว่า ต้นไม้มันแก่ไปเหี่ยวไปเฉาไป จะกลับมารดน้ำเติมดิน เติมปุ๋ย ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเด็ก เราก็คิดแค่นั้น”

ความสุขใจที่ค้นพบ คือการทำชีวิตให้มีความหมาย
โอ๋กล่าวถึงความสุขแท้ที่เธอค้นพบในวันนี้ว่า

“เราไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่ทำมา เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีค่า การทำชีวิตให้มีความหมายก็คือ มันมีคุณค่ากับคนอื่น เริ่มจากคนในครอบครัว คนรอบข้าง ขยายสู่สังคม ทำให้คนอื่นมันดีขึ้น ทั้งความรู้สึก ทั้งชีวิต

“อย่างมีชาวบ้านคนหนึ่งจะถูกยึดบ้าน แต่เป็นคนมีฝีมือทำปลาส้ม เราก็ชี้ทางว่าลองทำขายไหม เราก็มาลองทำเรื่องตลาดกันเปิดพื้นที่บนฐานที่เขามี ตอนนี้จากที่เขาเคยถูกยึดที่ยึดบ้าน ยายนิดคนทำปลาส้มแกขายปลาส้มได้เยอะมาก เราก็พาไปออกงาน อย่างไปเปิดตัวที่งานไหมประจำจังหวัด ก็เป็นที่รู้จัก ติดเทรนด์แล้วว่า ถ้ามาบ้านไผ่ต้องปลาส้มยายนิด อย่างนี้ค่ะ นี่ไงคะ เห็นไหมว่ามันไปได้ เราก็มีความสุข

“เราเลือกที่จะทำงานกับคนชายขอบ คนจน คนที่มีปัญหามากว่า หรือคนชาวบ้านปกติที่ยังไม่ได้มองเห็น แต่ว่ามันมีทิศทางการพัฒนาที่เรามองเห็นว่ามันกำลังจะถูกเบียดขับให้ชีวิตเขาแย่ลงในเชิงนโยบาย เราก็จะเสนอมุมมองหรือแง่คิดในเชิงนโยบาย

การที่มนุษย์อยู่กับระบบนิเวศอย่างกลมกลืนนั่นแหละคือหนทางที่จะนำไปสู่ความสุข

“สำคัญที่สุดก็คือแนวคิดเรื่องคนกับธรรมชาติ การที่มนุษย์อยู่กับระบบนิเวศอย่างกลมกลืนนั่นแหละคือหนทางที่จะนำไปสู่ความสุข เราก็พยายามชงแนวคิดนี้ทั้งในเชิงนโยบาย และสร้างพื้นที่เพื่อให้ฝั่งนโยบายเขาได้เห็น แล้วเรื่องราวของเรามันถูกนำไปพูดโดยนโยบาย แสดงว่ามันได้รับการยอมรับในเชิงนโยบาย เราก็คิดว่าแค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคือ การทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้บอกว่าการพัฒนาในรูปแบบอดีตมันไม่ถูกต้องนะ มันอาจจะถูกต้องในเวลานั้นก็ได้ แต่เราจะทำอย่างไรให้ตาชั่งบนโลกใบนี้สมดุล เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติกับโลกใบอย่างทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด สงคราม ภัยพิบัติ

“เราพยายามทำให้คนยอมรับและเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ เราเชื่อว่าว่าชีวิตคนมันอยู่ได้กับฐานทรัพยากรกับธรรมชาติ การกิน การอยู่มันต้องสมดุล เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ความเชื่อเรา เรามองว่าแบบนี้ เราก็ผลักดัน แล้วเราก็สร้างรูปธรรมให้เกิดทั้งนิเวศ ไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่ของตัวเอง แล้วมันถูกยอมรับในเชิงนโยบาย แล้วมันสามารถช่วยเหลือคนจนให้ลืมตาอ้าปากได้ แค่นั้นมันก็มีความสุขแล้ว”

ทริปละไมบ้านไฮ่บ้านสวนชวนชมแก่งละว้า

  • ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการท่องเที่ยว จะได้ชมดอกบัวแดงบานคือช่วงปลายธันวาคม – ต้นมีนาคม
  • มี.ค. – พ.ค. จะเป็นช่วงที่บัวแดงหมด แต่มีบัวหลวงบาน สามารถล่องเรือเก็บเกสรบัวหลวงมาทำชาได้
  • ถ้าแวะมาเยือน จะได้สัมผัสกับอาหารอร่อยจากปลาแก่งละว้า และวัตถุดิบอาหารจากธรรมชาติ เช่นเมนูปลาทอด ต้มปลา หรือตำไหลบัว ทั้งมื้อเช้าและมื้อเที่ยง รวมถึงการจิบกาแฟริมแก่ง ซื้อและอุดหนุนผลิตผลทางการเกษตร
  • สายมูไม่พลาย ต้องได้ไหว้พระขอพรพระเจ้าใหญ่ผือบัง พระพุทรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยทวาราวดีคู่บ้านคู่เมืองที่คนรอบแก่งละว้าเคารพ
  • คุณอาจเลือกปิดวันเดย์ทริปด้วยการแวะชมพระอาทิตย์ตกและชมควายเข้าคอก ซื้อหาพืชผักผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านก่อนกลับบ้าน หรือใครเป็นสายช้อปก็สามารถพาไปซื้อเสื้อผ้าจากผ้าขาวม้าสวย ๆ ของชาวบ้านละว้า และปิดทริปด้วยการชมประวัติศาสตร์เมืองที่พิพิธภัณฑ์ของบ้านเมืองเพียก็ได้
  • สายลุย แนะนำให้มาช่วงต้นฤดูฝน ไปตกปลาชะโด ดำน้ำยิงปลา กับพรานปลามือฉมัง
  • คนชอบป่า ต้นฤดูฝนจะไปเดินป่าโคกหนองม่วงเก็บเห็ดเก็บผักป่า ก็จัดให้ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของการพัฒนาและอนุรักษ์แก่งละว้า และติดต่อเพื่อท่องเที่ยวชมวิถีริมแก่ง ได้ที่เพจเฟสบุ๊ก บ้านไฮ่บ้านสวน หรือเฟสบุ๊กเพจ เรื่องเล่าละว้า

ภาพ : ศศิธร มูลสาร