“คนธรรมดา ๆ ที่มีความรู้สึกท้าทายที่จะแก้ปัญหาการใช้วัตถุดิบอย่างไรให้หมดจดยั่งยืน”

ภาวิดา กฤตศรัณย์ เจ้าของแบรนด์วัตถุดิบนิยม แนะนำตัวเองเอาไว้เช่นนั้นในเพจของเธอ และเมื่อเราต้องแนะนำเธอบ้าง ก็ต้องขอเพิ่มเติมว่าเธอคนนี้คือต้นความคิดในการนำเนื้อมะพร้าวที่ถูกทิ้งขว้างเพราะเกษตรกรต้องการเพียงขายน้ำ มาเปลี่ยนรูปเป็นเมนูดีที่มากมายด้วยโพรไบโอติก ซึ่งสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ทุกหนึ่งลูกมะพร้าวจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะที่จะกลายเป็นภาระให้โลกต้องแบก

“ป้าวีด้า” คือชื่อที่เธอสมัครใจให้เราเรียก เธอบอกว่า “คำว่าป้า หรือมนุษย์ป้า คนจะรู้สึกเลยว่าคนนี้เยอะ เวลาที่จะคุยกับคนที่เยอะ มีสองอย่างคือรับได้กับรับไม่ได้ คนที่รับได้เราจะได้คุยกัน เพราะเรามีเรื่องที่ต้องคุยกับเขาเยอะเวลาอธิบายโปรดักต์ มันเป็นเรื่องของการสื่อสาร ถ้าเป็นยายจะดูช้าไป แบบนั้นสลอธแล้ว” ป้าวีด้าอธิบายเหตุผลด้วยอารมณ์ขัน ขณะเดียวกัน ชื่อวีด้าก็สอดพ้องกับชื่อภาวิดาของเธอด้วย

ไบโคเกิร์ตทำให้เกษตรกรมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากวัตถุดิบที่เขาเคยทิ้ง

“เราทำงานกับเกษตรกรมาสามปี ปีที่ผ่านมาไบโคเกิร์ตทำให้เกษตรกรมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากวัตถุดิบที่เขาเคยทิ้ง” เธอเล่าด้วยความภูมิใจถึงผลิตภัณฑ์ไบโคเกิร์ต ที่พัฒนาขึ้นด้วยสมองและสองมือของเธอ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพให้ตัวเอง และแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวด้วย จนเกิดเป็นแบรนด์ขึ้นมา

ปีนี้โพรไบโอติกของป้าวีด้าเดินหน้าไปด้วยดีในกลุ่มคนรักสุขภาพ และเธอกำลังเตรียมเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์จากเนื้อมะพร้าวที่เหลือทิ้งเหล่านี้ ทั้งคาลามารีจากเนื้อมะพร้าวที่ให้สัมผัสเหมือนเนื้อหมึกทอดกรอบ ซึ่งพัฒนาร่วมกันกับเชฟซี (Chef for Change) และซอสปรุงรสจากการหมักเนื้อมะพร้าว โดยทำงานร่วมกันกับเชฟโน้ต-อธิป สโมสร ที่สนใจวัตถุดิบพื้นบ้านแบบเดียวกัน

นอกจากนั้นแล้ว ในงาน Bangkok Design Week 2023 ที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า วัตถุดิบนิยมและไบโคเกิร์ตของเธอ จะเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ของงาน ภายใต้ธีม Urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี ร่วมกับเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนด้วย

“ในความคิดเรา คนเมืองจะมีเรื่องของการเจ็บป่วย โรค NCDs เมื่อคนไม่สบาย เมืองก็ไม่น่าจะสบาย แล้วอาหารที่เราพัฒนามันตอบโจทย์ โควิดทำให้คนเป็นโรคเครียด เหตุผลมาจากเศรษฐกิจไม่ดี เงินน้อย มันก็กระทบไปที่เรื่องของการกิน อาหารแย่ลง แล้วกรุงเทพฯ มีระดับความเหลื่อมล้ำสูง การเข้าถึงอาหารดี ๆ จะยาก แบรนด์เราจะทำผลิตภัณฑ์ยังไงให้คนเมืองเข้าถึงได้ง่ายในราคาที่เป็นธรรม สิ่งที่เราต้องทำคือการให้ความเข้าใจกับผู้บริโภคว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เขาจ่ายมามันแลกกับประโยชน์ที่ร่างกายจะได้ ทำยังไงให้เขารับรู้ถึงสิ่งที่เขาจะได้ประโยชน์จริง ๆ เพราะเราเชื่อว่า ถ้าไม่ได้ประโยชน์ คนเมืองจะไม่ปรับตาม

นับตั้งแต่วันนี้ไป เราจะให้ความเข้าใจเรื่องอาหารหมักจุลินทรีย์กับผู้บริโภคคนไทยมากขึ้น

“เราเล่าเรื่องทุกสเต็ป ทุกขั้นตอน เปิดเผยหมด เราคิดว่าลูกค้ามีสิทธิรู้ พอเขารู้เขาจะได้ความมั่นใจและเชื่อใจ เหมือนเราเชิญเขาเข้าบ้านแล้ว เขาอยู่ในพื้นที่ที่สามารถคุยกับเราเพื่อรู้ข้อมูลทุกอย่าง และนับตั้งแต่วันนี้ไป เราจะให้ความเข้าใจเรื่องอาหารหมักจุลินทรีย์กับผู้บริโภคคนไทยมากขึ้น สองปีแรกคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักโพรไบโอติก ปีหน้าเราจะขยับขึ้นอีกระดับ ให้ความเข้าใจกับลูกค้าเพิ่มขึ้นว่า probiotic food คืออะไร fermented food คืออะไร

“ช่วงโควิดเราจะเห็นงานวิจัยและคุณหมอออกมาบอกเยอะมากว่าต้องเพิ่มโพรไบโอติกเข้าไปในร่างกายและกินโปรตีนให้มากขึ้น เพื่อช่วยผลักดันให้เนื้อเยื่อปอดแข็งแรงและเพิ่มภูมิคุ้มกัน โพรไบโอติกจะมีจุลินทรีย์ตัวดีที่เข้าไปช่วยยกระดับจุลินทรีย์ท้องถิ่น ไปสร้างความเป็นกรดอ่อน ๆ ในกระเพาะกับลำไส้ ทำให้จุลินทรีย์เลวอยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นขั้นที่หนึ่ง และในขั้นที่สอง เขาจะสร้างกรดอะมิโนที่เป็นประโยชน์ให้เรา เพื่อชำระล้างเมือกกับสารพิษต่าง ๆ ที่ตกค้างในลำไส้ให้ขับถ่ายออกมา แล้วสร้างกรดอาหารที่เป็นประโยชน์ให้ร่างกายดูดซึมได้”

เธอเล่าข้อดีของการเติมโพรไบโอติกให้กับร่างกายให้เราเห็นภาพ และเห็นความสำคัญของการทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ตามมาด้วยรายละเอียดอีกมากมาย ซึ่งกว่าเธอจะค้นพบคำตอบเหล่านี้ได้ ก็เกือบแลกมาด้วยชีวิต

เบื้องหลังไบโคเกิร์ตที่มีความเจ็บป่วยเป็นเดิมพัน
“เราป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อาหารมาสิบห้าปี แพ้พวก daily product แพ้นม แพ้ไข่ขาว ห้ามกินพิซซ่า ไอติม กิมจิ คอมบูชา อาหารหมักดองทุกชนิดก็ห้าม เหตุผลคือแพ้ยีสต์บางตัว อาการคันของเรามาจากเราแพ้ยีสต์แพ้เชื้อรา แล้วน้ำตาลเป็นอาหารของยีสต์กับรา ฉะนั้นพวกคาร์โบไฮเดรตทั้งหลาย น้ำตาลขัดขาว เป็นของโปรดเลย เวลาแพ้นี่คือคัน ยิ่งคันก็ยิ่งเกา จนเป็นแผลเหวอะหวะ นอนไม่ได้ ครั้งหนึ่งเคยถึงขั้นต้องเรียก 1669 มารับที่คอนโด พอรอดตายเลยกลับมาสนใจเรื่องอาหาร

“คุณหมอสั่งให้งดแป้งหลังหกโมงเย็น งดของหวานทุกชนิดที่คาดว่าเป็นอาหารให้ยีสต์ ตอนนั้นเราไม่เชื่อหมอ ชอบท้าหมอ กินขนมเบื้องไปสองแผ่น ได้เรื่องเลย หมอเลยต้องเทสต์โพรไบโอติก ก็พบว่าอาการภูมิแพ้ของเราเกิดจากเรามีจุลินทรีย์ตัวเลวเยอะ เราขาดจุลินทรีย์ตัวดีหรือโพรไบโอติกที่เป็นตัวช่วยธรรมชาติ จำเป็นต้องกิน แต่เรากินอาหารธรรมชาติไม่ได้เพราะเราแพ้ยีสต์

บอกคุณหมอว่าเรากินมะพร้าวแล้วไม่แพ้เลย เราผลิตโพรไบโอติกเองได้มั้ย

“คุณหมอเลยให้เชื้อโพรไบโอติกที่เป็นสูตรเฉพาะของคุณหมอมากิน สามเดือนก็ดีขึ้น แต่เราก็เบื่อ ไม่อยากได้สารสังเคราะห์ เลยบอกคุณหมอว่าเรากินมะพร้าวแล้วไม่แพ้เลย เราผลิตโพรไบโอติกเองได้มั้ย ขอทำจากมะพร้าว หมอบอกทำได้เลย แล้วเอามาให้หมอชิมด้วย หมอคงอยากเทสต์ว่ามันโอเคหรือเปล่า อนุญาตให้กินต่อได้มั้ย เราก็ไปขอเกษตรกรว่าคว้านเนื้อมะพร้าวให้หน่อย เราขอซื้อ แล้วเราก็ขอชื่อเชื้อจากหมอ แต่หมอก็บอกเราไม่ได้เพราะมันเป็นสูตรที่หมอใช้รักษาคนไข้ เราเลยเอารายชื่อเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลิสต์ อย. ซึ่งเผยแพร่เป็นสาธารณะ มาให้คุณหมอจิ้มว่าเชื้ออะไรที่จะแทนกันได้ หมอก็จิ้มมาให้หกชื่อ”

นอกจากจุลินทรีย์ตามรายชื่อที่หมอเลือกให้ซึ่งดีสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันและลดอาการแพ้ ป้าวีด้าค้นงานวิจัยต่างประเทศมาอ่านประกอบเพื่อให้ตัวเองรู้แจ้งก่อนลงมือทำจริง จนในที่สุด สูตรทดลองของเธอก็กลายเป็นไบโคเกิร์ต แพลนต์เบสที่มีโพรไบโอติกกับเนื้อมะพร้าวเป็นส่วนประกอบสำคัญ และส่งต่อโพรไบโอติกนี้สู่การรับรู้ของคนรักสุขภาพ ผ่านผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ป่วยของตัวเองด้วยสองสูตรหลัก หนึ่งคือสูตร ‘หนักแน่น’ ที่เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสูตร ‘หลักแหลม’ ที่ช่วยลดเครียด ซึมเศร้า และเสริมความจำ

เนื้อมะพร้าวกับการผลิตแบบ zero waste หมดจด
เคยรู้หรือไม่ว่า เพื่อให้ได้รสชาติของน้ำและเนื้อมะพร้าวที่ถูกใจ เราอาจต้องใช้มะพร้าวอ่อนถึงสองลูกเพื่อให้ได้เนื้อมะพร้าวที่พอดีและน้ำมะพร้าวที่หวานกำลังดี?

“มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ” ป้าวีด้าบอกกับเราว่า เกษตรกรที่เธอทำงานด้วยนั้น ปลูกมะพร้าวเพื่อขายน้ำบรรจุขวดบรรจุถุง หรือไม่ก็ขายผล แต่ในจำนวนหนึ่งจะมีลูกค้าเช่นร้านกาแฟที่อยากได้เนื้ออ่อน และได้น้ำหวานด้วย ซึ่งข้อจำกัดของมะพร้าวส่วนใหญ่คือ เมื่อเนื้ออ่อน น้ำจะไม่หวานมาก ถ้าอยากได้น้ำหวานด้วย ก็ต้องเอาน้ำจากลูกที่แก่กว่า เพื่อมาผสมให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมถูกใจผู้บริโภค

“เราเป็นผู้บริโภคที่กินมะพร้าวของเกษตรกรมาปีนึง แล้วเราก็มีโอกาสได้ไปเที่ยวสวนเขา เพราะเขาก็อยากให้เราไปเห็นว่าเขาอินทรีย์จริง เราไปถึงก็ตื่นเต้นมาก มีแปลง 20 ไร่ มาตรฐาน EU สำหรับส่งออก กับอีกแปลงหนึ่ง 20 ไร่ มาตรฐาน PGS เราไปดูห้องเจาะน้ำมะพร้าวของเขาว่าน้ำที่เรากินมันมายังไง สะอาดไหม ปนเปื้อนไหม ก็สะอาดสะอ้าน ทุกคนเก็บผมผูกแมสก์ใส่ถุงมือ เฉพาะเสร็จ เราก็เห็นเขาแยกกองกะลาออกเป็นสองกอง กองนึงคว้านเนื้อ อีกกองเนื้อหนาสวยเก็บใส่ถุงมัดอย่างดีเลย เอาไปวางเรียงข้างนอก เราก็ดีใจว่า โห…มีคนซื้อ เปล่า เขาบอกเดี๋ยวจะเอาไปทิ้ง

“เราให้เขาพาไปดูเดี๋ยวนั้นเลย ออกไปเห็นที่สวนก็ตกใจมาก ซากถุงพลาสติกที่มีกะลาติดเนื้อหนา ๆ วางทิ้งเป็นกองขยะ เขาบอกว่าทิ้งมา 4 ปีแล้ว เราคำนวณดู ตอนนี้เขาใช้ที่ 200 ตารางวาในการทิ้งขยะเนื้อมะพร้าว ทิ้งมา 4 ปีก็เฉลี่ยปีนึง 50 ตารางวา พื้นที่ที่ควรจะได้เพาะปลูกกลายเป็นที่ทิ้งขยะมะพร้าว การที่เราอยากกินแต่น้ำมะพร้าวหวาน ๆ นั่นคือเราเป็นคนก่อขยะพวกนี้นะ

“ถามว่าทำไมเกษตรกรไม่แปรรูปมะพร้าวพวกนี้ล่ะ ใน 24 ชั่วโมงเขาแบ่งเวลานอนที่เหลือจากทำงานเพื่อปลูกมะพร้าวให้ดีก็ยากแล้ว ยังจะต้องมาเสียเวลากับสิ่งที่ผู้บริโภคบังคับให้เขาทำเพื่อให้เขาขายได้อีก ตอนนั้นเรารู้สึกโคตรบาปเลย เราก่อมลพิษไปโดยไม่รู้ตัวจากพฤติกรรมเล็ก ๆ เพราะแค่อยากกินของเนื้ออ่อนกับน้ำหวาน

“data base ที่เกษตรกรเก็บต้นปี 2565 มันคือ 1,440 กิโลกรัมของเนื้อมะพร้าวหนาที่ทิ้งนะ แล้วมันก่อเป็นมลพิษก๊าซมีเทน 125 กิโลกรัมต่อปี เกษตรกรบอกมันน้อยเดียว ใครเขาจะสนใจเราเหรอ ก๊าซเรือนกระจกแค่ 125 แต่เรามีสวนมะพร้าวทั่วประเทศนะ เราเลยบอกว่าเดี๋ยวมาช่วยกัน แต่ต้องใจเย็นกับป้าหน่อยนะ แล้วเราก็ทำงานกันสามปี ใช้เวลาพัฒนาสูตรขึ้นมา”

ไบโคเกิร์ตของป้าวีด้า จึงเป็นมากกว่าโพรไบโอติกที่ดีต่อสุขภาพคนกิน เพราะช่วยลดขยะอาหารและก๊าซเรือนกระจกให้โลกด้วย

เราอยากให้ผู้บริโภครู้ว่า พฤติกรรมเล็ก ๆ ของผู้บริโภคสร้างขยะนะ

“เราอยากให้ผู้บริโภครู้ว่า พฤติกรรมเล็ก ๆ ของผู้บริโภคสร้างขยะนะ เราต้องช่วยกัน เราอาสามาแปรรูปพัฒนาเป็นไบโคเกิร์ตให้คุณกิน ทุกบาททุกสตางค์ที่คุณสนับสนุนมันไปถึงเกษตรกรและลดมลพิษสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว และเป็นเรื่องของ circular economy ด้วย เพราะลดขยะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ zero waste จริง ๆ เลย

“เหตุผลก็คือ หลังจากที่คว้านเนื้อเพื่อแปรรูปให้ไบโคเกิร์ตแล้ว เขาจะเอาส่วนที่เป็นลูกเขียว ๆ นี่ไปถมดิน เพราะที่แปลงมะพร้าวเป็นดินลุ่ม เพาะปลูกไม่ได้เพราะไม่มีดิน เขาก็เอาวัสดุเหลือใช้ของมะพร้าวไปถมแล้วใช้วิธีการหมักจุลินทรีย์ สร้างฮิวมัสตามธรรมชาติ ได้ที่ดินคืนมา อีกส่วนหนึ่งที่เป็นกะลาเขาเอาไปเผาถ่าน ขี้เถ้าที่ได้เอามาปรับปรุงหน้าดิน กับเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาต้มน้ำตาลมะพร้าว ไม่ต้องไปใช้ถ่านฟืนจากต้นไม้

“เราตอบโจทย์ทุกข้อของ BCG เลยนะ ทั้ง Bio Economy, Circular Economy, Green Economy เราลดขยะได้จริง เราเป็นอนาคตให้กับเกษตรกรได้ เราเป็นอนาคตให้กับวัตถุดิบท้องถิ่นได้ มันน่าสนใจตรงที่ว่า ประเทศไทยเราขาดการพัฒนาเนื้อมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งมะพร้าวน้ำหอมนี่หลายคนยังไม่รู้ว่าเราปลูกได้ดีมากในสี่จังหวัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) เลย คือราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม อุตสาหกรรมน้ำมะพร้าวยอมรับว่าสี่จังหวัดนี้เป็น GI ที่ติดอันดับโลก แต่เนื้อมะพร้าวมันขาดการดูแล กลายเป็นขยะเหลือทิ้งของอุตสาหกรรมมะพร้าวน้ำหอม”

แก้โจทย์เนื้อมะพร้าวเหลือทิ้ง ให้เป็นทางเลือกใหม่ในการกิน
จริงอยู่ว่าป้าวีด้ารับซื้อเนื้อมะพร้าวจากเกษตรกรมาสร้างแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยมีในท้องตลาด แต่เนื้อมะพร้าวที่เหลือทิ้งก็ยังมีอยู่อีกมากมายทุกแห่งหน นอกจากมะพร้าวแก้วที่แปรรูปขายในตลาดท้องถิ่น การสร้างมูลค่าใหม่ให้เนื้อมะพร้าวจึงเป็นโจทย์ที่เธอมุ่งไว้เป็นเป้าต่อไป

“คาลามารีจากเนื้อมะพร้าวเป็นอาหารทางเลือก เป็นแพลนต์เบสที่คนกินเจกินได้ คนที่กินวีแกนซึ่งรักโลกรักสัตว์ก็กินได้ ส่วนที่เราจะทำกับเชฟโน้ต เราใช้ชื่อว่า ‘วัตถุดองนิยม’ เพื่อแก้ปัญหาเนื้อมะพร้าวเหมือนกัน ก็คิดกันว่าถั่วเหลืองยังทำซอสได้เลย ทำไมมะพร้าวเราจะทำซอสบ้างไม่ได้ ประกอบกับสองปีที่แล้วเราไปได้ซอสเทอริยากิมาจากฟิลิปปินส์ เขาเคลมว่าทำจากมะพร้าว พอพลิกดูอ้าว มันไม่ได้มากจากเนื้อ มันมาจากน้ำตาลดอกมะพร้าว แต่การที่เขาเคลมมาอย่างนั้นทำให้เราเกิดความคิดว่าเนื้อมะพร้าวก็น่าจะหมักได้ เราก็เลยมาพัฒนาร่วมกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนา”

แม้จะขยันคิดเพื่อหาทางออกด้วยไอเดียใหม่ ๆ ทว่าความคิดสร้างสรรค์ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่เหล่านี้กลับไม่เคยอยู่ในความคิดที่จะนำไปจดสิทธิบัตรเป็นเรื่องเป็นราว

“เราไม่เคยจดสิทธิบัตร ตัวไบโคเกิร์ตก็มีคนให้ไปจด แต่ถ้าเราไปจด คนจดบอกว่ามันคือการเปิดเผยสูตรถ้าใครมาขอดูสิทธิบัตร อีกอย่างการจดสิทธิบัตรเราต้องเสียเงิน 80,000 บาท ซึ่งมันจะต้องถูกบวกเข้าไปในต้นทุน แปลว่าลูกค้าเราต้องจ่ายเพิ่มอีก เราเลยไม่จด หรือตัวคาลามารี เราคุยกับเชฟซีซึ่งทำงานร่วมกันมาว่า ในความคิดเราคืออยากให้มันเหมือนกล้วยแขกที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ ไม่ควรถูกใครซื้อลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรเพื่อไปผลิตแล้วสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเอง แล้วมีแต่ผู้บริโภคเฉพาะยอดพีระมิดที่เข้าถึงได้ และเราไม่รู้ว่าเขาจะดูแลเกษตรกรเหมือนที่เราดูแลไหม คือเราดูแลเขาระดับหนึ่ง แต่เราอยากให้เกษตรกรสามารถขายเนื้อได้ แม้จะเป็นเกษตรกรในจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จังหวัด GI

ยังมีวัตถุดิบท้องถิ่นอื่น ๆ อีกที่เราน่าจะได้รับความท้าทายในการแก้ปัญหา

“ยังมีวัตถุดิบท้องถิ่นอื่น ๆ อีกที่เราน่าจะได้รับความท้าทายในการแก้ปัญหา ตอนที่มีข่าวเกษตรกรเอามะนาวไปเททิ้ง ก็มีเกษตรกรมาถามว่ามีเวลาคิดโปรดักต์ให้มะนาวไหม แต่ช่วงนั้นเราลุยเรื่องมะพร้าวอยู่ กะว่าจะทำอีกสองปี เบ็ดเสร็จห้าปี ให้เรื่องมะพร้าวยั่งยืน ให้คนรู้จักมะพร้าวก่อน เราเชื่อว่ายังมีผู้สนับสนุนไบโคเกิร์ตอยู่ และจะสนับสนุนต่อไปเรื่อย ๆ

“มีความคิดว่าในอนาคตเราอาจจะทำให้แปลงมะพร้าวของเกษตรกรกลายเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้รายได้ที่จะมาหล่อเลี้ยงการพัฒนามะพร้าว เราเองก็คงได้รายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากไบโคเกิร์ตมาพัฒนาโปรดักต์ตัวอื่น โดยยังใช้เนื้อเหลือทิ้งเป็นวัตถุดิบ ยกระดับมะพร้าวน้ำหอมที่เนื้อหนาให้เป็นวัตถุดิบทางเศรษฐกิจ

มะพร้าวไม่จำเป็นต้องเป็นแค่กะทิในกล่อง

“ทุกวันนี้เราบอกเกษตรกรซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของเราว่าให้ใจเย็น อย่าสู้ราคากันเอง จับมือโตไปด้วยกัน เราให้ราคาเขากิโลละ 180-200 บาท โอเคไหม ถ้าโอเคต้องอดทนนะ ถ้าใครอยากจะมาสนใจจะมาร่วมกับเราก็ต้องพัฒนาแปลงให้เป็นอินทรีย์ก่อน ต้องได้ PGS ระดับเบสิกก่อน ก็จะเห็นการเกาะเกี่ยวของเกษตรกรหนึ่งระดับ พอเรามาทำงานกับเชฟอย่างเชฟโน้ต เราก็ได้ซอส แต่เราก็ตกลงกันตั้งแต่วันแรกก่อนส่งเนื้อให้หมักแล้วว่าเราจะเปิดเผยสูตรนะ ให้มันได้ต่อยอดไป เพราะเราไม่รู้อนาคตว่ามะพร้าวท้องถิ่นจะถูกมะพร้าวจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่เรานำเข้ามาตีตลาดไหม แต่เราสามารถแปรรูปยกระดับไปเป็นอย่างอื่นได้ มะพร้าวไม่จำเป็นต้องเป็นแค่กะทิในกล่อง รัฐบาลจะยังไงเราไม่รู้ แต่เราไม่รอแล้ว เรามีความคิดแบบนี้ และเราทำแล้ว”

สามปีที่ป้าวีด้าวางตัวเองอยู่ในพื้นที่ของธุรกิจยั่งยืน ในฐานะเจ้าของธุรกิจรายย่อย เราถามเธอว่ามีอะไรที่เป็นอุปสรรคหรือข้อท้าทายใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องเจอ

“ตอนนี้มีปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ SME หลาย ๆ entrepreneur หลาย ๆ สตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เริ่มรู้ว่าเราแข่งขันกันใน red ocean ไม่ได้แล้ว สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือคำว่า Green Wash คือการฟอกเขียว การแอบอ้าง แอบอ้างบนความไม่รู้ของผู้บริโภค ตราประทับมาตรฐานออร์แกนิกมันปลอมกันได้ อันนั้นคือความจริงข้อหนึ่งที่เราต้องยอมรับ ฉะนั้นความท้าทายที่เกิดกับผู้บริโภคด้วยก็คือ คุณต้องมีความรู้จริง อย่างน้อย ๆ ต้องรู้ว่าสิ่งที่เรากินนั้นที่มาที่ไปคืออะไร ถ้าเรารู้ที่มาที่ไปเราจะสามารถเลือกได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมฟอกเขียวจะเป็นตัวบ่อนทำลายคนที่ทำจริง ๆ ดังนั้นคนที่ทำจริง ๆ จะเหนื่อยมากขึ้นในการหามาตรฐานให้ตัวเอง

เรารู้สึกว่าชีวิตเราเป็นเดิมพันกับการพัฒนาโปรดักต์

“มองกลับมาถึงวิธีที่เราทำ คือเราปูพื้นผู้บริโภคมาแน่น เราป่วยเกือบตายมาก่อน เราไม่ล้อเล่นกับสิ่งที่เราทำ แล้วเรากินจริง ๆ เราหายจากภูมิแพ้จริง ๆ เราอยู่กับมันทั้งวันทั้งคืน เรารู้สึกว่าชีวิตเราเป็นเดิมพันกับการพัฒนาโปรดักต์ แค่นี้พอไหมกับผู้บริโภคในการจะเลือกโปรดักต์สักตัวหนึ่ง เราอยากให้คุณได้ใช้เคสแบบนี้ถามไปถึงอุตสาหกรรมตัวอื่น ถ้าเขาตอบได้ อธิบายได้ แปลว่าคุณได้ข้อมูลจริง ความท้าทายที่น่ากลัวคือการถูกทำให้เข้าใจผิดเรื่องข้อมูล ก็เป็นสิทธิของผู้บริโภคอีกนั่นแหละว่าจะยินดีให้ข้อมูลปลอม ๆ เข้ามาฉาบเราไหม”

ก่อนจะมาเริ่มต้นธุรกิจในวัยกว่าห้าสิบ ป้าวีด้าเคยเป็นผู้บริหารฝ่ายการตลาดของสื่อเว็บไซต์มาก่อน เธอเคยพยายามผลักดันแคมเปญสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะในตอนนั้นองค์กรธุรกิจทั่วไปยังไม่ได้เห็นความสำคัญของคำว่า ‘ยั่งยืน’ เหมือนทุกวันนี้ เธอจึงตัดสินใจออกมาทำงานที่ตอบความตั้งใจของตัวเอง และมันก็ออกดอกออกผลให้ในระดับที่ได้ยิ้มรับความพอใจ

“มันน่าชื่นใจที่เราเห็นเกษตรกรมีรายได้สะสมเป็นกอบเป็นกำ เรามีการเก็บข้อมูลเป็นเรื่องเป็นราว และพรูฟได้ว่าสิ่งที่เราทำมันแก้ปัญหาให้เขาได้ การได้พื้นที่สนับสนุนจาก TCDC ก็เป็นคำมั่นสัญญากับเราว่าจะยกระดับวัตถุดิบมะพร้าวเนื้อหนาทั้งองคาพยพ ขอให้ใจเย็นกับเรา ให้ความสนับสนุนกับเราต่อไป การจะเชิดหัวของเครื่องบินมันต้องใช้แรงฮึด ตอนนี้มีนายทุนเริ่มติดต่อเข้ามา แต่เราต้องดูความตั้งใจจริงก่อน เราไม่อยากได้กรีนวอช ถ้าคุณอยากจะทุ่มเทจริง มันก็จะเป็นความยั่งยืนขององค์กรคุณด้วย คุณสามารถพูดไปได้ชั่วลูกชั่วหลานว่าองค์กรคุณโตมาจากสิ่งนี้ โตไปพร้อมกับเกษตรกร และคุณพร้อมที่จะช่วยเหลือเขา

“ส่วนผู้บริโภคเอง เราไม่อยากให้คุณสนับสนุนเราเพราะว่าคุณรักโลก การที่คุณอยากช่วยเหลือนั้นเป็นเรื่องดี แต่เราอยากให้คุณรักตัวเองก่อน การที่คุณให้จุลินทรีย์ดีกับร่างกายของคุณ ร่างกายคุณจะดีขึ้น และคุณจะเป็นพลเมืองที่แข็งแรง”

ภาพ : ศรัณย์ แสงน้ำเพชร