“เป้าหมายของผมขยับไปจากเดิมแล้ว ตอนนี้ผมอยากให้มีฟาร์มแบบ ว.ทวีฟาร์ม กระจายไปทุกมุมทั่วประเทศ หากมีเยอะขึ้น เราอาจจะได้ภูเขาที่มีป่าโคตรเยอะ เกิดความเคารพในธรรมชาติ มีการเกื้อกูลกันระหว่างคนกับธรรรมชาติโดยแท้จริง” หมอฟิวส์-วานิชย์ วันทวี เจ้าของ ว.ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งขอนแก่น บอกกับเราถึงเป้าหมายใหม่ของเขา หลังจากที่เป้าหมายเดิมที่ตั้งเอาไว้บรรลุไปแล้วทีละขั้น

เรารู้จักหมอฟิวส์ผ่านเนื้อวัวบนเตาย่างในตลาดสีเขียวแห่งหนึ่ง ด้วยว่าถูกใจในรสชาติของเนื้อแบบ Grass Fed เพราะถูกเลี้ยงด้วยการปล่อยให้กินหญ้าตามธรรมชาติ ทั้งยังมีมันแข็งสัมผัสกรุบกรับ ที่การจะได้มานั่นหมายความว่าวัวเหล่านี้ต้องไม่ถูกนำมาขุนอย่างเร่งรีบในช่วงท้าย

นอกจากความพิเศษของเนื้อสัมผัสที่เป็นเรื่องปลีกย่อย เราได้รู้ถึงที่มาอีกว่า ฟาร์มของเขาที่มีทั้งวัว หมู เป็ด ไก่ ถูกเลี้ยงดูในฟาร์มที่จัดการแบบไบโอไดนามิก ซึ่งพื้นที่ฟาร์มนั้นออกแบบให้ระบบนิเวศดูแลกันเอง และเหล่าสัตว์ในฟาร์มทุกตัวเป็นเหมือนพนักงานที่ต่างก็มีบทบาทหน้าที่ ทั้งหมดใช้ชีวิตอย่างอิสระอยู่ในอาณาบริเวณขนาด 34 ไร่ท่ามกลางผืนป่า ไม่มีการใช้ยาหรือสารใด ๆ ตลอดช่วงชีวิต

ซึ่งตลอดสิบปีที่เขาได้เรียนรู้มาทีละบทตอนนั้น ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดกับตัวเองว่า ในธรรมชาติมีอาหารและยา ที่สัตว์เหล่านี้รู้ดีที่สุดว่าจะนำมารักษาตัวเองยังไง หน้าที่ของเขาจึงเสมือนเป็นผู้ช่วยในการจัดการธรรมชาติให้สอดคล้องกับความต้องการของสัตว์เหล่านี้ อย่างดีที่สุด

ฟาร์มกลางป่า ของหมอฟิวส์
เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นที่ผืนนากลางป่า ในอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ในวันที่อดีตสัตวบาลที่เชี่ยวชาญงานผ่าตัด เบนทิศทางของตัวเองมาสู่การเป็นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ เพื่อหวังจะสร้างต้นแบบให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากกับดักการผลิต ที่ระบบเดิมยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงพอ อยากให้เขามีผลกำไร อยากให้มีความภาคภูมิใจ ไปไหนมาไหนบอกได้ว่าเราคือเกษตรกรไทย

อยากให้เขามีผลกำไร อยากให้มีความภาคภูมิใจ ไปไหนมาไหนบอกได้ว่าเราคือเกษตรกรไทย

“ผมจบสัตวบาล แต่เป็นสัตวบาลที่ผ่าตัดได้ เพราะไปเรียนเทคนิคการผ่าตัดและการจัดการฟาร์มเพิ่มเติมที่เยอรมนี เมื่อกลับมาก็ทำงานรักษาสัตว์ ชอบงานผ่าตัด เลยเป็นหมอในบทบาทหน้าที่” เขาบอกถึงที่มาที่ทุกวันนี้คนยังเรียกเขาว่าหมอฟิวส์

ในวัยหนุ่มที่เพิ่งจบใหม่ หมอฟิวส์ทำงานแบบไม่มีกลางวันกลางคืนตามประสาวัยไฟแรง

“มีหลายภาพที่ติดตาติดใจ ครั้งหนึ่งผมไปทำคลอดวัวในป่า ตีสองตีสามได้ เข้าไปในภูเขา เขาจุดกองไฟใหญ่ ๆ ให้เราไปทำคลอด มันปวดท้องมาก แล้วคลอดยากเพราะเป็นวัวสาว แล้วลูกวัวอยู่ผิดท่า จะเอาหลังออก เราก็ต้องกลับหัวให้ได้ ฝนก็ตก เลือดอาบไปหมด มันเลียมือเราเหมือนขอบคุณที่ช่วย ทั้งที่ปกติมันต้องชนเราแล้ว

“นั่นเป็นความภูมิใจในอาชีพ เรารักทุกสิ่งในอาชีพนี้ ความรู้มีเท่าไรที่ได้มาจากต่างประเทศ เราอัดให้เกษตรกรหมดเลย เลี้ยงวัวต้องรู้จักอะไร วัวป่วยเป็นยังไง หมูไก่ต้องดูแลยังไง การจัดการฟาร์ม การจัดการแปลงหญ้า การรู้ค่าแสงของธรรมชาติที่สัตว์ควรจะได้ แล้วเกษตรกรเกือบทุกคนติดกับของการตลาดโลกว่าต้องทำแบบนี้ถึงจะดี สร้างผลผลิตเยอะ ๆ ทั้งที่การเลี้ยงแบบดั้งเดิมที่เขาทำมันดีอยู่แล้ว มันเลยผิดทิศผิดทางในสายตาเรา เลยอยากทำเป็นโมเดลให้เขาเห็น เพราะการจะช่วยเพื่อน (เขาหมายถึงเกษตรกร) เราก็ควรจะทำกับเขาแล้วคุยในภาษาเดียวกัน ต้องมาอยู่บรรทัดเดียวกัน”

ที่นาผืนเดิมของครอบครัวซึ่งโอบล้อมด้วยภูเขาและผืนป่า ถูกเปลี่ยนเป็นฟาร์มปศุสัตว์ตามความตั้งใจ ต้นสน 1,100 ต้นปลูกขึ้นเป็นแนวรั้วและกำแพงกันลม ไฟฟ้าในฟาร์มผลิตขึ้นด้วยโซลาร์เซลล์ด้วยอยู่ไกลเกินกว่าไฟของทางการจะเข้าถึง ทว่าภาพฝันสวยหรูเกิดขึ้นได้เพียงไม่นาน ธรรมชาติก็เข้ามาทุบโบยเขาจนน่วม กว่าที่ความฝันจะผลิขึ้นใหม่ ก็เกือบจะแลกด้วยการทิ้งชีวิต

คนจริง-เจ็บจริง
“ผมไม่นอนสามวันสามคืน เอาแต่มองท้องฟ้า เห็นต้นมะขามสูง ๆ คิดแต่ว่ามันน่าผูกคอตายมากเลย ตรงไหนเป็นที่ดิ่ง ๆ ก็น่าโดดลงไปจัง จะได้จบ ๆ ตอนนั้นเสียความมั่นใจไปแล้ว ไม่นึกห่วงใคร เห็นแต่ตัวเอง” หมอฟิวส์เล่าความจิตตกในใจ ก่อนชีวิตเขาจะถูกดึงกลับขึ้นมาใหม่ด้วยแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ ที่จุดความคิดให้แตกใหม่ เขามองเห็นระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันเป็นคำตอบ

“ตอนนั้นคิดว่าตัวเองมีความรู้ ความมั่นใจสูง แล้วคิดว่าจะทำได้สำเร็จ ผมทำฟาร์มมาได้สองสามปี ก็เกิดโรคระบาด ตอนที่เราอยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เขาก็จัดการง่าย ๆ สมมติเล้านี้ติด 2,000 ตัว ผมก็สั่งทีมงานเชือดทั้งหมด พักคอกสามเดือนแล้วเลี้ยงใหม่ จบ แต่พอเป็นของเราเอง เราเลี้ยงมาได้ 700 ตัว เงินทุนเราอยู่ตรงนี้ทั้งหมด เราทำทุกอย่างทั้งยานอกยาใน สั่งมาเพื่อจะรักษาให้หาย แต่ไม่จบ รักษาโรคนี้ได้ก็มีโรคใหม่มาเรื่อย ๆ ถ้าเป็นนักธุรกิจเขาจะคิดแผนหนึ่งแผนสอง แต่เราไม่ใช่นักธุรกิจ เล่นหมดหน้าตัก อยากทำให้สำเร็จ สุดท้ายมันก็เป็นบทเรียน”

เกษตรอินทรีย์ที่เขาเคยต่อต้านมาตั้งแต่สมัยเรียน กลายเป็นสิ่งที่ภรรยาชี้ชวนให้นำกลับมาลองทำ ทั้งที่ไม่มั่นใจว่าจะเป็นทางรอด แต่ในตอนนั้นเขาบอกว่า “มันไม่มีอะไรจะเสียแล้ว”

ผมไม่เคยคิดอยากทำเกษตรอินทรีย์เลย มันไม่เท่ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยจะมีหลักสูตรนี้สั้น ๆ ผมไม่เรียนเลย

“ผมไม่เคยคิดอยากทำเกษตรอินทรีย์เลย มันไม่เท่ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยจะมีหลักสูตรนี้สั้น ๆ ผมไม่เรียนเลย ความรู้สึกคือมันไม่ใช่ตัวเรา แต่ธรรมชาติก็ทุบเราให้น่วมเพื่อที่จะยอมรับ”

หมอฟิวส์ค่อย ๆ เปลี่ยนวิถีของตัวเองสู่การทำอินทรีย์ เขาเดินทางไปคุยกับผู้รู้ “บางคนรักษาน้ำใจเราหน่อย ก็บอกค่อย ๆ ทำไป บางคนก็ฮาร์ดคอร์ตรงไปตรงมา บอกให้เลิกเลยตั้งแต่วันนี้ เพราะว่าคุณอยู่กับเคมีมานาน แล้ววันนี้เพิ่งเริ่มตัดสินใจทำอินทรีย์ สิ่งที่ติดตัวมามันจะหลอกหลอนคุณ มันจะบอกคุณว่าต้องใช้ยาเท่านั้น สมมติหมูเป็นไข้ เราเคยฉีดยาเข็มนึงหาย แล้วมันจะทำให้เราไม่ฉีดได้หรือ สิ่งที่ดีที่สุดคือเอายาพวกนั้นไปเผา เอาไปทิ้ง แล้วเห็นหมูตายต่อหน้าต่อตาให้ได้”

ฟังดูโหดร้าย แต่ก็เป็นความจริงที่เขาต้องเผชิญ สิ่งที่ยากที่สุดคือสู้กับใจของตัวเอง ครั้งนั้นเขาสูญเสียหมูไปราว 400 ตัว แล้วหมูแม่พันธุ์ตัวหนึ่งก็มอบบทเรียนแสนวิเศษให้กับเขา

“หมูตัวนี้มีแผลกดทับที่ไหล่ซ้าย ผมไม่รู้ว่าเป็นตอนไหน แล้วมีแมลงวันเข้าไปกัดกินเนื้อ มีหนอน จนหนอนกลายเป็นแมลงวันแล้วบินออกไป เนื้อกลายเป็นหนอง จนเนื้อตาย เป็นแผลสด แล้วมันสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ โดยที่ผมไม่ได้ใช้ยาอะไรเลย เราป้อนข้าวป้อนน้ำอยู่สิบห้าวัน จากเดินไม่ได้ พอแผลหายเราก็ทำกายภาพบำบัด จนเดินโซเซเราช่วยกันประคอง เดือนครึ่งหมูกลับมาวิ่งได้”

แม่หมูทำให้เขาเห็นความวิเศษของธรรมชาติ

แม่หมูทำให้เขาเห็นความวิเศษของธรรมชาติ เขาเชื่อว่าการเยียวยาจิตใจของหมูด้วยการดูแลใกล้ชิด บวกกับความสามารถในการเยียวยาตัวเองของร่างกาย คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้หมูตัวหนึ่งกลับมาวิ่งได้ “และเขาสามารถเดินไปกินอะไรที่เราไม่รู้ว่าเป็นสมุนไพร แต่เขารู้ นั่นคือคำตอบของทุกสิ่ง ว่าเรามาถูกทางแล้ว”

ไบโอไดนามิก พื้นฐานการผลิตอาหารที่นำไปสู่ความยั่งยืน
อัตตาที่เคยสูงส่งถูกลดลงมาเพื่อเปิดใจให้เกษตรอินทรีย์ โดยใช้ฐานทางวิทยาศาสตร์มารับรอง เขาเดินทางออกไปพบปราชญ์ที่เชี่ยวชาญทั่วประเทศ เพื่อขอความรู้เรื่องดิน น้ำ ต้นไม้ สมุนไพร เพื่อนำองค์ความรู้มากอบรวมกัน

“เราไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะปศุสัตว์สำเร็จได้ถ้าเรารู้แค่เรื่องสัตว์ ผมเรียนรู้ทุกอย่างใหม่เอี่ยม เลยได้รู้จักระบบไบโอไดนามิก ผมไม่เรียกว่าการทำเกษตร ผมเรียกว่า การผลิตอาหารและการศึกษา ซึ่งเมื่อสองอย่างนี้มารวมกัน มันคือการพัฒนาโลก พัฒนาประเทศ พัฒนาเทคโนโลยี”

หมอฟิวส์ขยายความว่า อาหารที่ปลอดภัยต่อคนกิน ปลอดภัยต่อโลก จะทำให้เกิดความยั่งยืน แต่ทั้งหมดที่ว่ามานั้น สำคัญที่ดินเป็นหลัก “ดินที่ดีจะนำไปสู่สุขภาพที่ดี เมื่อดินดีแล้ว เราไม่ต้องใส่อะไรในดินปลูกอะไรก็งาม เด็ดกินได้เลย หรือสัตว์ไปกินได้เลย ไม่ต้องมาใส่ยาอะไรอีก แล้วสัตว์ตัวนี้อาจจะเป็นของคนร้อยคน นั่นหมายถึงเมื่อเขาเป็นอาหาร เราผลิตอาหารที่ดีเพื่อไปส่งเสริมสุขภาพให้คนกิน

ปัจจุบันนี้เราคือคนที่ผลิตอาหาร ที่มันเกิดความยั่งยืน

“เมื่อก่อนเราแค่ผลิตอาหาร ขายได้กำไรก็จบ แล้วก็มาทำต่อ แต่ปัจจุบันนี้เราคือคนที่ผลิตอาหาร ที่มันเกิดความยั่งยืนทั้งดินที่เราปลูก ทั้งพื้นที่ที่เราอยู่ เราได้ป่า แล้วระบบนี้เราต้องเลี้ยงสัตว์หลากหลาย เรามีหมูเป็น product hero ก็จริง แต่เราต้องเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงห่าน ซึ่งมันมีเหตุผลว่าทำไมเราต้องเลี้ยง”

คำอธิบายของเขา คลี่ภาพของการเลี้ยงในฟาร์มปิดออกมาสู่การเลี้ยงแบบเปิด มีโรงเรือนให้สัตว์นอนพัก แต่ทุกชีวิตในนั้นจะเดินออกมาอาบแดดอาบแสงจันทร์เพื่อเยียวยาตัวเองตามสัญชาตญาณเมื่อไรก็ได้ และการดำรงชีวิตของสัตว์แต่ละชนิดก็เกื้อกูลวงจรในฟาร์ม

“ทุกสิ่งในวัฏจักรนี้ต้องเชื่อมโยงกัน หมูกินอาหารเข้าไป ก็อาจจะมีพยาธิ เป็ดไปกินพยาธิของหมู เพราะมันเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่อุณภูมิร่างกายสูง ขนาดย่อยเปลือกหอยได้ละเอียด แน่นอนว่าพยาธิก็ไม่เหลือ และเป็ดจะกินหญ้าจนเตียนเลย จึงเป็นฝ่ายตัดหญ้าด้วย ห่านเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่งูกลัว เพราะมูลห่านมีกำมะถันสูง ถ้างูเลื้อยเข้าไปเกล็ดจะลอก งูเลยกลัว เรามีนกจากไซบีเรียบินมากินเห็บให้กับวัวทุกปีเป็นฝูง มีไก่ไปช่วยกินหนอนกินแมลง แล้วเขี่ยให้ดินร่วนซุย

“เมื่อก่อนเราต้องไล่ไก่ออกจากรางหมูเพราะมันแย่งอาหารหมู แต่ตอนนี้เราให้กินด้วยกัน แล้วไก่จะเล็มให้เกลี้ยงจนไม่มีราขึ้นเลย แล้วที่เราเลี้ยงสัตว์ในคอกก็เพื่อให้มันถ่ายมูลเป็นกองแล้วเราไปตักออกได้ใช่ไหม แต่นี่เราให้เขาเดินออกไปได้ตามสบาย เวลาออกไปกินหญ้าตรงไหนก็ไปถ่ายไว้ พอแห้งทั้งลมทั้งนกทั้งไก่ก็จะช่วยกระจายออกไปเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ให้หญ้าเรา หรือถ้าฝนตกลงมาเราก็ได้เป็นปุ๋ยน้ำ

“ส่วนหมูนี่เอาจมูกดุนดินเหมือนรถไถเลย ก็จะทำหน้าที่ใส่ปุ๋ยพรวนดินอยู่ในนั้น บางทีอาจปลูกร่วมกับเราด้วย เพราะการย่อยสลายของมันไม่สมบูรณ์ หมูจะกินเมล็ดพันธุ์ที่ขึ้นอยู่ในฟาร์มเรา ทั้งไม้ป่ายืนต้นที่เป็นผลไม้ ส่วนหนึ่งเราปลูกในฟาร์ม ส่วนหนึ่งได้จากเกษตรกรที่ทำอินทรีย์ซึ่งเราไปถ่ายทอดความรู้ให้ เราไม่มีอาหารสำเร็จรูปให้สัตว์ในฟาร์มของเราเลย

เรามีปัญหากันเยอะคือเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยขึ้นฟ้า เราก็แก้ด้วยการทำให้มันลงดิน

“แล้วที่เรามีปัญหากันเยอะคือเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยขึ้นฟ้า เราก็แก้ด้วยการทำให้มันลงดิน คือการเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นการเลี้ยงวัวในคอกแล้วเขาให้กินเกรน (ธัญพืช) ซึ่งไม่เหมาะกับวัว เพราะวัวมีสี่กระเพาะ กว่าจะกินเพื่อดูดซึมต้องผ่านการเคี้ยวเอื้อง เกรนที่ยังไม่ถูกดูดซึมจะเกิดการหมัก เมื่อวัวตดก็จะปล่อยก๊าซขึ้นฟ้า วัวจึงควรต้องกินโปรตีนที่มาจากพืชสีเขียว ซึ่งวัวมีจุลินทรีย์ที่จะช่วยหมักโปรตีนนี้อยู่ เมื่อปล่อยมูลออกมาก๊าซจึงถูกดูดซับลงดิน ดินได้พลังชีพจากคาร์บอน และช่วยให้เราปล่อยคาร์บอนลดลง”

อาหารที่สัตว์ในฟาร์มกินจึงมีเหตุผลรองรับกัน

“ผมศึกษาว่าแต่ละชนิดมีธาตุอาหารยังไง บ้านผมที่ขอนแก่นมีอะไรบ้าง เราปลูกมันได้ดี ปลูกข้าวโพดได้บ้าง ปลูกถั่วเหลืองได้บ้างแต่ไม่ได้สวย มีกระถิน มีผักบุ้ง มีซูเปอร์ฟู้ดอย่างผำ จอก หมูผมกินหมากเม่า กินมัลเบอร์รี่ กินกล้วย กินต้นกล้วย กินดอกแค กินใบแค คือหมูจะกินพืชตระกูลถั่ว พวกมะรุม ฉำฉา หางนกยูง ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว ผมก็บดให้เขากิน เราจะเน้นอาหารที่อยู่ในพื้นถิ่น อันนี้ต้องขอบคุณฝรั่งที่สอนให้ผมรู้จักของพวกนี้ เขาบอกว่า คุณจงจำไว้ว่า ไม่ต้องตามเรา กลับไปบ้าน พื้นที่คุณมีอะไร ให้ไปศึกษาตรงนั้น”

ตอนนี้ ว.ทวีฟาร์ม สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชแบบอินทรีย์เพื่อนำมาเป็นอาหารให้สัตว์ในฟาร์ม ในอนาคตเขาจะส่งเสริมให้เกษตรกรได้เลี้ยงด้วยเช่นกันกับเขา “เขาเก่งอยู่แล้วเรื่องปลูก แต่ที่เราต้องให้เขาทีละสเต็ปก็เพราะการปลูกแบบนี้เป็นการปลูกที่ต้องรักษาธรรมชาติด้วย เราจึงมีแผนให้เขาปลูกอาหารก่อน เมื่อเขาเชี่ยวชาญในการปลูกอาหารแล้ว การเลี้ยงสัตว์จะง่ายมาก

“ระบบการเลี้ยงแบบไบโอไดนามิก เขาต้องมีพื้นที่ปลูกอาหารของตัวเอง เพื่อลดต้นทุนและเพื่อความปลอดภัย และจะต้องเลี้ยงสัตว์ให้หลากหลาย เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านตรัสว่าเราควรทำเกษตรแบบผสมผสาน การเลี้ยงสัตว์ก็มีครับ แต่ไม่มีใครพูดถึง

เมื่อก่อนเลี้ยงหมูคือเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่คือเลี้ยงไก่ แต่ของเราเลี้ยงรวมกัน เป็นโมเดลนี้มาตั้งแต่แรก

“เมื่อก่อนเลี้ยงหมูคือเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่คือเลี้ยงไก่ แต่ของเราเลี้ยงรวมกัน เป็นโมเดลนี้มาตั้งแต่แรก ไม่ได้เลี้ยงทีละอย่าง ผมเอาของที่มีอยู่แล้วของคนไทยมาทำให้เกิดระบบในแบบของคนไทย ต้องขอบคุณญี่ปุ่นที่สอนผมเรื่องนี้ว่า เราต้องชูในสิ่งที่เรามี และในประเทศอื่นไม่มี ที่ผมนำความรู้ของทั้งญี่ปุ่นและยุโรปเข้ามาผสมผสาน เพราะว่าญี่ปุ่นนี่การตลาดเขาแน่น ส่วนยุโรปเป็นนักคิด ซึ่งเราชอบอยู่แล้วในการเอาวิทยาศาสตร์มาตอบ ผมทำแบบนี้จนเริ่มเข้าใจแล้วสนุก จนมีงานวิจัยในฟาร์มออกมาเรื่อยๆ จากความสงสัยของเรา เลยกลายเป็นว่าอะไรที่ออกจากปากหมอฟิวส์ คือสิ่งที่หมอฟิวส์ได้ทดลองและตกผลึกเรียบร้อยแล้ว จนกล้าที่จะพูดออกมา”

ประตูบานถัดไปของ ว.ทวีฟาร์ม
สำหรับผู้บริโภค ว.ทวีฟาร์มตอบโจทย์แล้วจากการวางเป้าเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัย เขาเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มทั้งลูกค้าร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ ลูกค้าที่ต้องการฟังก์ชั่นฟู้ด ลูกค้าทั่วไปที่แยกย่อยสำหรับครอบครัว คนสูงอายุ เด็ก กลุ่มคีโต ไปจนเนื้อบ่มที่บางงานต้องการนำชิ้นส่วนของเนื้อไปโชว์แบบเท่ ๆ

“เราต้องเข้าใจถึงการใช้ชีวิตของเขา แล้วเข้าไปต่อจิ๊กซอว์ให้เขาใช้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แต่นอกจากเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัย การผลิตแบบนี้มันช่วยเกษตรกรลดต้นทุนด้วย ถ้าเกษตรกรมีอาหารเอง เขาจะไม่ต้องควักเงินตัวเองไปซื้ออาหารหรือซื้อน้อยลง เกิดความมั่นคงทางอาหาร

ถ้าเกษตรกรมีอาหารเอง เขาจะไม่ต้องควักเงินตัวเองไปซื้ออาหารหรือซื้อน้อยลง เกิดความมั่นคงทางอาหาร

“และที่แน่ ๆ คือเราได้ป่า เป็นเรื่องระบบธรรมชาติและระบบสิ่งแวดล้อม เพราะระบบนี้คือเราต้องปลูกต้นไม้ก่อนสร้างโรงเรือน ก่อนเอาพันธุ์สัตว์เข้ามา เมื่อได้ป่ามันก็ช่วยดูดซับคาร์บอนให้โลกได้มากขึ้น ผมทำแบรนด์โมเดลได้ชัดขึ้นจากการได้ไปเรียนคอร์ส ‘พอแล้วดี’ ทำให้เราเข้าใจว่า การจะช่วยคน ช่วยเกษตร เราต้องทำแบรนด์ของเราให้ชัดก่อน เมื่อแบรนด์ชัด มีตัวตน จะเกิดเป็นความเชื่อใน ว.ทวีฟาร์ม เชื่อในการเลือกของ ว.ทวีฟาร์ม เชื่อในคำพูดของ ว.ทวีฟาร์ม เชื่อในสิ่งที่ ว.ทวีฟาร์มทำ”

องค์ความรู้ที่ผ่านการเอาตัวเองเข้าไปทดลอง และสำเร็จออกมาเป็นบทเรียน ถูกถ่ายทอดต่อไปยังเกษตรกรที่สนใจ ที่นอกจากจะเป็นเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ ตอนนี้เป้าหมายของเขาถูกวางลงไปที่รุ่นลูกซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่หลายคนก็มองเขาเป็นไอดอลในสายอาชีพนี้

“ในระดับครอบครัว ตอนนี้พ่อเขามีความรู้แน่นมาก มีตลาด เป็นฮีโร่ในสายตาลูกแล้ว และในอนาคตเมื่อพ่อแก่ตัวลง จะสามารถมอบสิ่งนี้เป็นมรดกให้ลูกได้ เราอยากให้เขาภาคภูมิใจในตัวพ่อ และพ่อเองก็ภูมิใจที่เขาเป็นฮีโร่ของลูก และมันเริ่มได้ผล ในแง่ที่ว่าเทคโนโลยีบางอย่างพ่อแม่เขาเข้าไปถึง แต่หลังจากที่ผมถ่ายทอดให้กับพ่อแม่เขาแล้ว พอลูกเข้ามาเสียบ มันก็ง่ายขึ้น ผมมีหน้าที่ทำให้พ่อแม่เขาเป็นฮีโร่

สิ่งที่เราได้อาจจะเป็นภูเขาที่มีป่าเต็ม ๆ คนมีความเคารพในธรรมชาติ มีอาหารที่โคตรดีจริง ๆ

“ผมเองก็ต้องมีวาระของผม และถ้าสิ่งที่ผมทำมันทำให้มีฟาร์มแบบ ว.ทวีฟาร์ม ขึ้นมาอีกหลาย ๆ แห่ง เกิด demand เกิด supply สิ่งที่เราได้อาจจะเป็นภูเขาที่มีป่าเต็ม ๆ คนมีความเคารพในธรรมชาติ มีอาหารที่โคตรดีจริง ๆ และผมอาจจะทำให้คนในโรงพยาบาลลดลงเพราะป่วยน้อยลง ทำให้คนภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกรมากขึ้น และเกษตรกรได้รับเกียรติมากขึ้น

“ผมไม่ได้บอกว่าจะทำสำเร็จในรุ่นผม แต่ผมเชื่อว่าจะต้องมีใครสักคนทำให้เกิดการกระเพื่อมขึ้น ผมอาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่มีคนมาต่อยอด และขยายไปเรื่อย ๆ จนมันสำเร็จจริงๆ เมื่อก่อนผมเคยคิดว่าผมเดินอย่างนี้คนเดียว แต่ปัจจุบันมีคนมากมายเลยที่เดินมาทางนี้ เวลาที่เราได้พูดหรือแสดงทัศนคติ มันได้เห็นอิมแพคที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

“มีครั้งหนึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เข้ามากอดผม เขาบอกว่าผมเหมือนตัวแทนที่พูดแทนเขา ความอึดอัดของเขามีเยอะมาก แต่เขาไม่สามารถพูดออกมาได้ เขาบอกว่าเขาเลี้ยงหมูในป่าแบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่มีใครเคยภาคภูมิใจเลย มองว่ามันเป็นหมูชาวเขา จริง ๆ นี่แหละคือภูมิปัญญาไทย”

เราสังเกตว่าบนเสื้อที่เป็นเสมือนยูนิฟอร์มของหมอฟิวส์ มีโลโก้ของฟาร์มมากมายหลายแบบไปหมด ความต่างกันนั้นล้วนพัฒนาตามขวบปีของการเติบโต ทำหน้าที่ต่างกรรมต่างวาระ แต่มีโลโก้หนึ่งที่เขาบอกว่าเป็นเครื่องเตือนใจ

“Happy Pork เป็นโลโก้แรกที่เราใช้ มันเป็นรากเหง้าของผม เป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ผมลืมในสิ่งที่ผมเดินมา ทุกก้าวเดินของเรามีความหมาย เราทำให้เกิดอิมแพคกับชาวบ้าน และจะเกิดการลงมือทำของคนอื่น ที่เห็นว่าเราเป็นต้นแบบ”

หมอฟิวส์อธิบายอย่างแฮปปี้ เช่นเดียวกับวันแรกที่เขาพบทางเดินที่ใช่ของตัวเอง

ภาพ : greenery / ว.ทวีฟาร์ม