ถ้าเทียบว่าการทำงานของ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เป็นการต่อสู้ ก็ต้องยอมรับว่าสังเวียนที่ชายผู้นี้ยืนหยัดสู้อยู่นั้นเป็นศึกที่หนักเอาการ

เพราะในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI (ไบโอไทย) แต่ละประเด็นที่เขาออกโรงคัดค้าน สร้างความตระหนักรู้ให้คนกินอย่างเราเข้าใจ และรณรงค์ให้ยกเลิกมาตลอดสามสิบปี มีแต่เรื่องใหญ่ๆ ทั้งการดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) การใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมไปถึงการขับเคลื่อนให้รัฐออกนโยบายคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจและการผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ แถมยังต้องใช้รัฐเป็นสมรภูมิอีก เรามองว่างานประเภทนี้ไม่ได้ใช้แค่ความรู้และพลังงาน แต่ยังน่าจะต้องการพลังใจไปต่อกรกับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเองหลายเท่าตัวนัก 

แต่น้ำเสียงที่นิ่ง เย็น เปี่ยมหวังตลอดการสนทนา บอกเราว่า ถ้าเลือกจะยืนข้างวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว ความยากเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหาเลย

“ถ้ามองว่าเราสู้มาแล้ว 30 ปี ทำไมเราไม่ชนะ ก็เท่ากับว่าเราเห็นว่าการได้รับชัยชนะเป็นเป้าหมายสูงสุดของเรา แต่ว่ามันไม่ใช่ คือท่ามกลางการต่อสู้ เราก็เปลี่ยน ดีไม่ดีเขาก็เปลี่ยน ฉะนั้นอันนี้มันเป็นความสำเร็จมากกว่า” 

ยอดแชร์คอนเทนต์เฟซบุ๊กของ BIOTHAI ที่ว่าด้วยประเด็น #NoCPTPP พุ่งทะยานสู่หลักหลายหมื่น การที่แฮชแท็กนี้ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ในเวลาเพียงไม่กี่วัน เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้กำลังบอกเราว่า สิ่งที่ไบโอไทยพยายามสื่อสารตลอดมานั้นออกดอกผลเป็นผู้บริโภคที่ตระหนักรู้และไม่อยากอยู่เฉย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เมื่อพวกเขาเกิดความรู้สึกร่วมกับเรื่องใดแล้ว ก็พร้อมที่จะโจนเข้ามาออกเสียงเพื่อ ‘เปลี่ยน’ ไปด้วยกัน

ความหวังจากคนรุ่นใหม่นี้ ทำให้วิฑูรย์นึกย้อนไปถึงวันที่เขายังเป็นคนหนุ่ม ตอนที่ตัดสินใจเลือกข้างเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นครั้งแรก 

ตอนยังหนุ่ม ทำไมถึงเลือกยืนข้างเกษตรอินทรีย์ ทั้งที่เรียนจบมาด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชและการใช้สารเคมีมาด้วยซ้ำ

คือผมเป็นลูกชาวสวน บ้านเกิดอยู่ที่พังงา ความเป็นลูกหลานเกษตรกรก็อยู่ในเบื้องลึกของเรา เพราะฉะนั้นตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เห็นว่าการเรียนด้านเกษตรน่าจะต่อยอดจากสิ่งที่ครอบครัวเราเติบโตมาได้ ผมก็เลือกเรียนภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคนที่เรียนพืชไร่ก็จะเรียนเรื่องพืชเศรษฐกิจ ต้องท่องจำได้หมดว่าวัชพืชมีกี่ชนิดถึงขั้นท่องชื่อวิทยาศาสตร์ได้ด้วย และต้องเรียนเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชเป็นเรื่องหลัก เมเจอร์ผมโฟกัสที่เรื่องการปรับปรุงพันธุ์พืช ก็ได้ไปฝึกงานในสถานีวิจัยเพื่อที่จะเป็นฝึกฝนการเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ 

แต่ว่าพอเราเข้าเรียนจริงๆ เราได้สิ่งอื่นมาด้วย สมัยโน้นเขาเรียกว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย มันทำให้เราเริ่มมีเป้าหมายทางชีวิตและสังคมมากกว่าเรื่องตัวเอง แล้วเราเรียนเกษตร แน่นอน ก็พุ่งเป้าไปที่เรื่องของปัญหาของภาคเกษตรโดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา ในยุคโน้นความยากจนเป็นเรื่องหลักในอุดมการณ์การทำงานขององค์กรต่างๆ ฉะนั้นพอเราจบออกมาก็ไม่มีคำถามอื่น ไม่มีเป้าหมายอื่นนอกเหนือจากว่าเราต้องทำงาน เพื่อให้สิ่งที่เราเรียนมาแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเติบโตมาแบบนี้

รู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียนมันขัดกับอุดมการณ์ มาตั้งแต่ตอนนั้นเลยไหมคะ

ตอนนั้นเรายังไม่รู้สึกมากนัก คือโลกแห่งการเรียนมันไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริงเท่าไหร่ เราเรียนวิชา แต่เราไม่เห็นชีวิตของคน พอจบออกมาเราไปเป็นอาสาสมัครที่ สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ถูกส่งไปที่สุรินทร์ ไปช่วยชาวบ้านที่ตอนนั้นประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เรามืดแปดด้านเลยนะ เราพบว่าสิ่งที่เราเรียนมา ไม่รู้จะเอาไปช่วยเขาตรงไหน เราพบว่ารุ่นพี่ที่เรียนจบก่อนหน้าไปทำนาก็ยังมีปัญหา หรือแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่มาลงทุนทำโครงการทำนา ปรากฏว่าทำเอาชาวนาที่ร่วมโครงการเจ๊งไปหมดเลย

เราสืบสาวไปเรื่อยๆ พบว่าชาวนาอเมริกันก็ไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวเองนะ เขาอยู่ได้เพราะเงินอุดหนุน มันสั่นสะเทือนความรู้ทั้งหลายแหล่ที่เราเรียนมา แม้คุณจะตั้งใจมาช่วยชาวบ้าน ท้ายที่สุดแล้วมันต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ เราก็ค่อยๆ แกะรอยไปเรื่อยๆ โชคดีว่าผมมีกัลยาณมิตรอย่างพี่เดชา (เดชา ศิริภัทร) ซึ่งทำงานพร้อมๆ กันที่สมาคมแห่งนี้

แกะไปเจออะไร ที่เป็นต้นตอของปัญหาเกษตรกรรมไทย

เรากลับไปพบว่า มันมีชาวนา มีเกษตรกรที่เขาไม่ได้เดินตามแบบแผนที่เรียกว่าเกษตรกรรมแบบปฏิวัติเขียว เขาไม่ได้ใช้ปุ๋ยใช้สารเคมี ไม่ได้ใช้พันธุ์พืชสมัยใหม่ที่ส่งเสริมจากรัฐ แต่เขากลับอยู่รอดได้และมีชีวิตที่ดีด้วย แกะไปแล้วพบว่าระบบเกษตรกรรมที่เขาเป็น มันไม่ได้เป็นการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบที่เราเรียน แต่มันเป็นเกษตรกรรมแบบผสมผสาน เราเห็นทางออกที่ถูกพัฒนาโดยชาวบ้าน เราก็ทึ่งมาก 

สิ่งนั้นทำให้เราพยายามวิเคราะห์ แล้วก็พบว่าการปฏิวัติเขียวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของระบบเกษตรกรรม คือมันเน้นแต่เรื่องผลผลิต แต่มันทำลายนิเวศวิทยา ทำลายสิ่งแวดล้อม มันมุ่งสู่พืชไม่กี่ชนิด แต่ทำลายอาหารทั้งหมดเลย คือเราอยากได้ข้าวเยอะๆ เราก็ปลูกข้าวหลายรอบ แต่กุ้งหอยปูปลาพืชผักในนากลับไม่สนใจ ซึ่งมันนำไปสู่เรื่องความล้มเหลว อันนี้ทำให้เราเริ่มพัฒนาหรือเสนอทางเลือกของเกษตรกรรมแบบที่ไม่ใช่ปฏิวัติเขียว ผมทำงานเพียงแค่ประมาณ 2-3 ปี พยายามหาว่ามีเรื่องนี้สอนอยู่ที่ไหนบ้าง มีหนังสืออะไรไหม ไม่มีเลยนะ ไปห้องสมุดก็ไม่มี

ตำรามหาวิทยาลัยตอนนั้น ก็มุ่งหน้าสู่เกษตรเชิงเดี่ยวหมดเลย

ใช่ คือแทบไม่มีเลยว่าอย่างนั้นเถอะ โอเค ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยไม่มีใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นก็ไปห้องสมุด FAO (องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ) ตรงถนนพระอาทิตย์ก็ไปดู ก็ไม่มีเหมือนกัน แต่มีบทความเล็กๆ อยู่ชิ้นหนึ่งเป็นคล้ายๆ เอกสารโรเนียวเรื่อง Integrated Farming System เลยยึดไว้เป็นกรอบความคิด ซึ่งจากจุดนั้นทำให้เราเรียนรู้ว่าในต่างประเทศ ต้นตอของออร์แกนิกฟาร์มอย่างเช่นในอังกฤษก็เกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้วนะ เขาก็ตั้งคำถามแบบเดียวกับเรามาก่อน ในอเมริกาก็ได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษนั่น แต่อังกฤษเองก็เริ่มต้นหลังจากขบวนการ Biodynamic Farming ในเยอรมัน อย่างนี้เป็นต้น 

เราเริ่มเห็นภาพใหญ่ เลยทำงานทั้งในเชิงปฏิบัติ พี่เดชาก็จะไปทำงานส่งเสริมชาวบ้านในหมู่บ้าน ผมก็จัดอบรม จัดประชุมในหมู่บ้านแล้วก็เริ่มเขียนหนังสือเรื่องเกษตรผสมผสานกันเมื่อปี 2533 ถ้าจำไม่ผิด ตอนนี้ครบรอบ 30 ปีแล้ว เวลานี้เราก็มาพูดเรื่องเกษตรผสมผสาน เรื่องความมั่นคงทางอาหารกันเป็นปกติ แต่ตอนที่เขียนก็คือมันยังไม่มีคนไทยที่เขียนเรื่องนี้ ไม่มีคนเผยแพร่เรื่องนี้ ลงขันพิมพ์กันเองกับเพื่อนๆ ตอนนั้นเรายังเด็กมากนะ แต่เรารู้สึกว่าเราต้องทำ

ผมกับพี่เดชาเราออกจากสมาคมมาตั้งองค์กรชื่อศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม ทำด้วยกันอยู่สักพักหนึ่ง พี่เดชาก็มีความคิดจะสร้างศูนย์เรียนรู้แบบที่แกทำอยู่ตอนนี้ ก็คือที่มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนเราถนัดเรื่องงานเผยแพร่ เรื่องการจัดฝึกอบรม เรื่องงานนโยบาย เราก็ออกมาตั้ง BIOTHAI ครับ

เชื้อเพลิงของ BIOTHAI มันก่อตัวมาจากอะไร ทำไมถึงคิดว่าต้องลุกขึ้นมาปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

หลังจากเราขับเคลื่อนเรื่องเกษตรผสมผสาน ซึ่งต่อมาเราใช้คำว่าเกษตรทางเลือก หรือเกษตรยั่งยืนมาพักหนึ่ง เราเริ่มเห็นว่า หัวใจของระบบเกษตรกรรมเหล่านี้อยู่ที่พันธุ์พืชอยู่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพ เรารู้ว่าเรื่องพันธุกรรมเป็นเรื่องสำคัญของระบบเกษตรกรรม แล้วการปฏิวัติเขียวมันเริ่มต้นจากการเปลี่ยนพันธุกรรม เปลี่ยนจากพันธุ์ข้าวที่ชาวนาเคยใช้ ไปสู่พันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อปุ๋ยและสารเคมี แปลว่าการเปลี่ยนพันธุ์พืชมันนำไปสู่การเปลี่ยนระบบเกษตรกรรม และเปลี่ยนระบบอาหารด้วย 

เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราหวังจะขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหาร เราจำเป็นจะต้องฟื้นฟูหรือรักษาพันธุ์พืชนะ หรือไม่ให้ใครเข้ามาผูกขาดเรื่องพันธุ์พืชได้ อันนี้เป็นพื้นฐานมากๆ 

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ World Summit ในการประชุมคราวนั้นมี 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่นำไปสู่การตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ อันหนึ่งก็คือเรื่องโลกร้อน คำว่า Climate Change เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น แล้วอีกอันหนึ่งคือเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านหนึ่งคือเรื่องพันธุ์พืช เราเห็นว่าความหลากหลายมันเริ่มถูกทำลายหายไปด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย อีกด้านหนึ่งคือเราเห็นการเข้ามาครอบครองพันธุ์พืชโดยประเทศอุตสาหกรรมก็ดี หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายก็ดี ที่ใช้กฎหมายสิทธิบัตรเข้ามาผูกขาดเรื่องพันธุ์พืช 

มีการต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้ในระดับโลกนะครับ จนเกิดอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่สร้างหลักการอันหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า ‘หลักการอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ’ พันธุ์พืชทั้งหลายที่ขึ้นอยู่ในที่ใดหรือสิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่อยู่ในขอบเขตประเทศใด ถือว่าเป็นอธิปไตยของประเทศนั้น จากเดิมที่มันเป็นยุคมือใครยาวสาวได้สาวเอา ไม่เรียกขโมยด้วยซ้ำ เพราะไม่มีกติกา เพราะฉะนั้น ใครเอาไปจดสิทธิบัตรได้ก่อน คุณก็เป็นคนผูกขาดเรื่องการใช้ประโยชน์ คนอื่นไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น แต่มันเกิดวางหลักการเรื่องนี้เอาไว้ว่าไม่ได้ คุณต้องให้การเคารพชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรรายย่อยด้วย

ทำไมการผูกขาดพันธุ์พืช ถึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

เพราะว่าความหลากหลายของพันธุ์พืช มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากพระเจ้าหรือจากแผ่นดินอย่างเดียวนะ แต่มันเกิดขึ้นจากการปลูก การเก็บรักษา การคัดเลือกของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่กันมา เพราะฉะนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพมันเกิดขึ้นทั้งเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และทั้งทางวัฒนธรรมก็คือวิถีชาวนานั่นเอง การเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ อันนี้มันทำให้เกิดความหลากหลาย เพราะฉะนั้นคุณต้องเคารพสิทธิของเกษตรกร สิทธิชาวนาไปพร้อมกันด้วย นี่คือคอนเซ็ปต์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ BIOTHAI

คือว่าตอนนั้นนอกเหนือจากความตกลงที่ว่าไปแล้ว ในเชิงการค้าระหว่างประเทศมันเป็นการเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) ซึ่งการเข้าร่วมสิ่งนี้ แต่ละประเทศจะต้องออกกฎหมายเพื่อให้สิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ แล้วประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิก WTO ก็ถูกฝั่งสหรัฐฯ และประเทศอุตสาหกรรมกดดันว่าเราต้องมีกฎหมายให้การผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์อย่างเดียว แต่ไม่ตั้งคำถามเลยว่าเมล็ดพันธุ์ที่คุณนำมาใช้ประโยชน์ เอามาใช้ผูกขาดทำการค้าเนี่ยเอามาจากไหน มันเลยมีกรณี เช่น อเมริกาเข้ามาจดสิทธิบัตรข้าวบาสมาติและพยายามจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิ กลายเป็นกระแสซึ่งเป็นที่สนใจกันทั่วโลก 

BIOTHAI เราอยู่ท่ามกลางเรื่องเหล่านี้ เราเรียกร้องว่าคุณไม่มีสิทธิ์ที่จะจดสิทธิบัตรนะ มันเป็นมรดกทางพันธุกรรม พันธุ์พืชพันธุ์ดีเกิดขึ้นจากชาวบ้าน ทุเรียนหมอนทอง ข้าวหอมมะลิ และอีกมากมายนับไม่ถ้วนมาจากชาวบ้าน ไม่ได้มาจากสถาบันวิจัยหรือบริษัท แต่คุณจะคุ้มครองบริษัทอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณจะออกกฎหมายมาเพื่อปกป้องบริษัทเมล็ดพันธุ์อย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องเคารพสิทธิเกษตรกร คุณจะเข้ามาใช้ประโยชน์ คุณต้องขออนุญาตเขา คุณต้องแบ่งปันประโยชน์ให้เขา แล้วเขาควรจะมีสิทธิ์ในการเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ เราไปเรียกร้องรัฐบาลว่าคุณต้องเอากฎหมายที่มีหลักการเรื่องอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ คุณต้องเคารพชาวนา เกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น เราก็ไปต่อสู้เรื่องนี้

เท่ากับว่างานของ BIOTHAI คือการชนกับรัฐ

ชนกับบรรษัท ซึ่งใช้รัฐเป็นสมรภูมิ

มันไม่ดูเป็นงานที่ยากเกินไปเหรอคะ ทำไมถึงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเรา

มันใหญ่กว่าที่คิด ย้อนไปไบโอไทยตอนนั้นมีคนทำงานแค่สองสามคน แต่คนที่มาร่วมกับเรา มาจากทุกฝ่าย เราทำงานเรื่องนี้คนเดียวไม่ได้ มันต้องหาความร่วมมือ 

ผมก็เดินไปหานักวิชาการ เอาหนังสือทั้งหลายไปวางตรงหน้าแล้วบอกว่า อาจารย์เรากำลังผลักดันกฎหมายอันนี้ หลายคนก็โอเคตกลงมาช่วย เพื่อไปอยู่ในท่ามกลางนักกฎหมายของประเทศ มีเพื่อนๆ ที่ทำงานเรื่องสิทธิชุมชนมาแล้วก็ค่อยๆ ฟอร์มทีมกันขึ้นมา แล้วตอนที่เราเริ่มร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชก็มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยด้วย เราทำงานใกล้ชิดกับคุณหมอเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทยขณะนั้น ปรากฏว่าพอเรารู้เรื่องกฎหมาย รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ส่งจดหมายมาถึงรัฐบาลไทยบอกว่าสิ่งที่เราทำขัดกับความตกลงของการค้าโลก เราตัดสินใจเลยว่าเรื่องนี้มันต้องจัดประชุมระหว่างประเทศ ต้องตอบโต้ระหว่างประเทศ เราก็ชวนเพื่อนๆ ที่ทำงานเรื่องนี้ระหว่างประเทศมาจัดประชุมในประเทศไทย ตอนนั้นเรายังไม่ได้เป็นองค์กรนะ เป็นแค่เครือข่ายของคนที่สนใจเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเพื่อจะทำเรื่องนี้ เราต้องมีชื่อของเราเป็นภาษาอังกฤษให้สื่อสารกับเพื่อนๆ ได้ ก็เลยเกิดเป็น BIOTHAI ซึ่งมาจากคำว่า Biodiversity ในปี 1997 

พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช ถือว่าเป็นผลงานใหญ่ชิ้นแรกที่ไบโอไทยทำได้สำเร็จได้เร็วมากๆ

อันนี้ไม่ขอเรียกว่าผลงาน ถือว่าเป็นผลการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายที่ BIOTHAI มีบทบาทสำคัญ เราผลักดันเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นอธิปไตยของประเทศมีกฎหมายที่รองรับ จนโมเดลกฎหมายแบบไทยนี้กลายเป็นโมเดลกฎหมายที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกเอาไปใช้ เพราะตอนนั้นทั่วโลกยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองอะไรเลย มีประเทศเดียวคือคอสตาริกา ที่มีกฎหมายเรื่องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช่กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชโดยตรง 

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น การทำงานตรงนี้มันมีภัยคุกคาม หรือผลกระทบต่อเรื่องความหลากหลายอีกหลายเรื่อง พร้อมๆ กันนั้นก็เป็นยุคที่โลกกำลังเริ่มก้าวจากยุคปฏิวัติเขียวไปสู่ยุคปฏิวัติเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งคือการดัดแปลงพืช ดัดแปลงพันธุกรรม ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันนั้นเอง พร้อมๆ กันหลายด้านมาก

แปลว่าจากตรงนั้น ก็ต้องไปต่อสู้กับ GMOs ต่อ

ใช่ คือนอกจากผลักดันทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อผูกขาดแล้ว บริษัทเหล่านั้นก็มีเทคโนโลยีที่สามารถดัดแปลงพันธุกรรม แล้วก็จดสิทธิบัตรและผลักดันให้ประเทศทั่วโลกต้องยอมรับ ซึ่งมีข้ออ้างมาแบบเดียวกับปฏิวัติเขียวนั่นแหละ ว่าทำแล้วผลผลิตจะสูง คุณภาพจะดี เกษตรกรจะร่ำรวย อย่างนี้เป็นต้น มาแนวเดิมเลย ใช้ปุ๋ยใช้ยาแบบเดิม แต่หนักไปกว่าอีกเพราะเป็นการตัดต่อพันธุกรรมให้พืชต้านทานยาปราบวัชพืชยี่ห้อที่เขาขายด้วย ซึ่ง BIOTHAI ก็เป็นหัวหอกที่ต่อสู้เรื่องนี้มา 20 ปี แล้วก็ยังต่อสู้อยู่มาเป็นระยะ นี่ก็มาหลายรอบแล้วนะ แทบจะทุกรัฐบาล 

ทุกวันนี้เรายังตอบได้หรือยัง ว่าพืช GMOs จะทำอะไรกับคนกิน

ประเด็นเรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรม เราเห็น 2-3 เรื่องที่เป็นปัญหาแน่ๆ คือทางฝั่งผู้บริโภค ก็คือกังวลเรื่องความปลอดภัยระยะยาวของมัน ซึ่งเรื่องแบบนี้อาจจะต้องใช้เวลา แต่ฝั่งเราที่ทำเรื่องปฏิวัติเขียวมา เราเห็นเลยว่า GMOs มันนำไปสู่เรื่องการผูกขาด เพราะมันมาพร้อมกับระบบสิทธิบัตร แล้วถ้าคุณปลูกหรือผสมข้ามอะไรก็แล้วแต่ก็จะทำให้เกิดปัญหามากมาย มันผูกขาดระดับลงลึกไปถึงชั้นที่ว่าถ้าคุณปลูกพืชนี้คุณต้องฉีดยานี้ คือมันพ่วงมาด้วยกัน 

มันก็ไปเกี่ยวกับเรื่องแบนสารเคมีต่ออีก

ใช่ เห็นไหมว่าอเมริกาเลยเดือดร้อนมากตอนที่เราแบนไกลโฟเซต เพราะอะไร ทั้งที่เขาไม่ได้ขายไกลโฟเซต ไม่ได้ขายพันธุ์พืช เหตุผลเพราะว่าถ้าเราแบนไกลโฟเซต ต่อไปเขาจะขาย GMOs ได้ยังไง เพราะ GMOs มันต้องใช้คู่กับไกลโฟเซต แล้วกำไรจากเมล็ดพันธุ์มันสูงกว่ากำไรจากสารเคมีอีก เมล็ดพันธุ์มันยังผูกขาดได้ แต่ว่าสารเคมีจีนผลิตได้ เพราะฉะนั้นการแบนไกลโฟเซต ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของการขายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่ชาติไหนเลย แต่มันคือกลุ่มทุนซึ่งมันไม่มีสัญชาติ ผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งที่ต้องการผูกขาด อันนั้นคือมิติที่เราให้ความสำคัญมากๆ 

อีกอันคือเรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้สารเคมีพวกนี้อย่างมหาศาล การปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากมาย เราได้เรียนรู้มาตั้งแต่ปฏิวัติเขียวแล้วว่ามันจะเกิดผลกระทบขนาดไหน ไบโอไทยเราก็กลายเป็นหัวหอกที่ต่อสู้เรื่องนี้มาตลอดมาในหลายๆ รัฐบาล ตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ สมัยพลเอกสุรยุทธ์ ถ้าเล่าพวกเราอาจจะหลับไปก็ได้ เพราะมันหลายยุคมาก (หัวเราะ) จนบริษัทค้าข้าวก็ยังมาร่วมสู้กับเราเพราะว่าได้รับผลกระทบจากการส่งออกมากมาย คนที่มาร่วมต่อสู้เคลื่อนไหวก็ขยายไปกว้างมากตอนนั้นจนรัฐบาลก็ต้องทบทวน หลายคนก็ย้ายมาอยู่ข้างเดียวกับเรา

ทำไมประเด็นนี้ถึงเกิดใหม่ได้เรื่อยๆ กำแพงที่น่ากลัวของมันคืออะไร

มันเป็นการต่อสู้ของบริษัทยักษ​์ใหญ่กับเกษตรรายย่อยและผู้บริโภค โอเค การเมืองในประเทศก็สำคัญ แต่เราเห็นเสมอมาว่าเบื้องหลังของการผลักดัน GMOs หรือการใช้สารเคมีทั้งหลายมาจากกลุ่มเดียวกัน ไปดูสิบริษัทที่ผลิตพันธุ์พืช บริษัทที่ขายสารเคมียักษ์ใหญ่ บริษัทที่ขายยารักษาโรคด้วย เป็นบริษัทเดียวกัน แล้วกลุ่มเหล่านี้เขาเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะอ้างว่าจะพัฒนาเทคโนโลยี จะสร้างอาหารที่ดี แต่เบื้องหลังเขาก็คือเรื่องผลกำไรเป็นสำคัญ เราเห็นบทเรียนเรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่ปฏิวัติเขียว เพราะฉะนั้นเราจะไม่ยอมผิดพลาดอีก 

ตอนนี้เราสู้เรื่อง GMOs มาจนอยู่ตรงจุดไหนแล้วคะ 

ในประเทศไทย ด้านหนึ่งเราต่อสู้เพื่อไม่ให้มีการปลูก GMOs ในประเทศได้สำเร็จ แต่ที่ต่างประเทศ เขาต้องรับแรงกดดันมากมาย แต่ว่าปัจจุบันพื้นที่ปลูก GMOs บนโลกลดลงแล้ว และก็ไม่ได้มากกว่าพื้นที่ปลูกออร์แกนิกเท่าไหร่เลย

ดังนั้น ถ้าพูดถึงระดับโลก มันกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนที่ต้องการอาหารที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี กับกลุ่มที่พูดถึงเรื่องของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการค้าอะไรทำนองนั้น เป็นการต่อสู้กันระหว่างกำไรที่มาในรูปของการพูดถึงความก้าวหน้าทางการผลิตสูง คำสัญญาต่างๆ มากมายกับชาวไร่ชาวนารายย่อย และประชาชนผู้บริโภคที่คำนึงถึงเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นี่เป็นการต่อสู้กันตลอดมา

การทำงานแบบนี้ มันทำให้พี่ต้องเจออันตรายบ้างไหม

แน่นอน ก่อนหน้านี้ก็ไม่คิดว่าจะมี แต่หลังจากเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว ไบโอไทยก็ร่วมกับหมอ นักวิชาการ องค์กรท้องถิ่น NGO ต่างๆ มาตั้งผลักดันให้ตั้ง ThaiPAN (เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช) แล้วก็มารณรงค์เรื่องการแบนสารเคมีร้ายแรงด้วย นอกเหนือจากสู้เรื่องพันธุ์พืชและเรื่องนโยบายเรื่องเกษตรเราก็เริ่มเห็นเลยว่าสงครามนี้มันหนักกว่าที่คิดเยอะ ผลประโยชน์มหาศาลมาก คือถ้าเรื่อง GMOs ผลประโยชน์มันเป็นของไม่กี่บริษัทที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ว่าสารเคมีมันใช้มา 40-50 ปีแล้ว มันมีมาก่อน เพราะฉะนั้นโครงข่ายของเรื่องผลประโยชน์มันเต็มไปหมด ทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติและบริษัทท้องถิ่นทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง และมันเชื่อมโยงกับการผลิตเชิงเดี่ยวด้วย เพราะสารเคมีพวกนี้มันจำเป็นต่อการผลิตเชิงเดี่ยว เพราะฉะนั้นตัวเครือข่ายผลประโยชน์เรื่องนี้ มันใหญ่และมันใกล้ตัวเรามันกระทบเราได้ง่ายกว่ามาก เราไม่คิดว่าเราอยู่จุดนี้เราจะเจอ แต่คนที่เคยเจอก็บอกว่า อย่าประมาท 

แปลว่าการทำสิ่งนี้ มันต้องการความเข้มแข็งทางใจพอสมควรเลย

ใช่ มันไม่ง่ายที่จะเอาชนะได้ แต่ว่าด้านหนึ่งเราก็คิดว่า เราไม่ได้ทำเรื่องนี้คนเดียว เรื่องนี้คนเกี่ยวข้องเต็มไปหมด คนที่เห็นว่าประเทศควรจะแบนสารพิษร้ายแรงมีมากมาย ขนาดสภาผู้แทนราษฎรยังลงมติ 423 ต่อ 0 เพื่อบอกว่าเห็นด้วยกับการแบน สภามีความเห็นแบบนั้นก็เกือบจะเป็นฉันทามติ มีอาจารย์หมอ อาจารย์อาวุโส เครือข่าย องค์กรต่างๆ เต็มไปหมดที่ลุกขึ้นมาเพื่อเคลื่อนไหวร่วมกัน ถ้าเราเป็นอะไรไปมันก็ไม่มีทางที่เขาจะหยุดเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว 

นอกจากนักเคลื่อนไหวตัวจริงที่เป็นพันธมิตร วันนี้เรายังเห็นคนกินที่เริ่มเคลื่อนไหว แสดงว่าคนเริ่มเข้าใจแล้วว่า การผูกขาดมันกระทบกับความไม่มั่นคงทางอาหารของเรายังไง

สถานการณ์จะทำให้เราเรียนรู้เรื่องนี้ แน่นอนก่อนหน้านี้เราเติบโตมาในยุคที่คนไทยมีรายได้มากขึ้นโดยเฉลี่ย คนที่อดอยากอาหารก็ไม่เหมือนแต่เดิม เราก็อาจจะเคยรู้สึกว่าเราอยู่ในประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่ว่าถ้าไปดูจริงๆ คือชนชั้นกลางอาจจะไม่รู้สึก แต่ว่าคนยากจนยังมีอยู่ ตอนนี้เรายังมีเด็กที่ขาดอาหาร 4-5% เด็กที่เติบโตไม่ได้ตามปกติ เช่น ผอม เตี้ย แล้วก็ทางด้านสติปัญญาต่ำกว่ามาตรฐาน ประเทศไทยยังมีสัดส่วนพวกนี้สูงกว่าหลายประเทศในลาตินอเมริกานะ ทั้งที่ประเทศเราเป็นประเทศส่งออกอาหาร ก่อนหน้านี้ทำไมเราไม่เห็นปัญหานี้ เพราะว่าเราเป็นคนชั้นกลาง และเราไม่เจอวิกฤต เมื่อเราเจอวิกฤตเราก็จะเห็น 

ซึ่งที่จริงมันก็สะท้อนให้เราเห็นเป็นระยะนะ เช่น ตอนปี ‘40 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนตกงานล้านกว่าคนและต้องกลับไปพิงหลังภาคเกษตรกรรม เลยเป็นที่มาของแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งพาตนเอง ซึ่งหน่อของคนยุคนั้นและขบวนการที่เกิดขึ้นตอนนั้น ตอนนี้ก็ยังอยู่มาถึงปัจจุบันนะ ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี ‘54 อาหารไม่มี ไข่ไม่มี เพราะว่ามันรวมศูนย์ ไม่ใช่ไม่มีเฉพาะในกรุงเทพนะ ที่อื่นก็ไม่มีไปด้วย คนก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าศูนย์กระจายสินค้าของห้างใหญ่มันตั้งอยู่ในเขตน้ำท่วมหมดเลย มันส่งไม่ได้ คนเห็นว่าวิกฤตแบบนี้เกิดขึ้นได้ จำได้เลยว่าหอการค้าเสนอว่าต้องสร้างระบบคู่ขนาน ไม่ใช่คุณมีแต่ Modern Trade อย่างเดียว คุณต้องมีทางเลือกในการค้าส่งด้วย มีคนเสนอเรื่องนี้ แล้วก็หายไป เดี๋ยวนี้ยิ่งรวมศูนย์กันมากไปอีก ซึ่งยิ่งน่ากลัว มีแนวโน้มว่าระบบอาหารค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ 75% จะมีเจ้าของคนเดียว แล้วระบบอาหารมันกำลังไหลมาทางนี้ คนที่ยังไม่เห็นลองนึกภาพแล้วกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป 

วิกฤตโควิด-19 ล่าสุดนี้ มันทำให้เราเริ่มเห็นอะไร

คนจะเริ่มเห็นแล้วว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของเราคืออะไร ตอนนี้คนเริ่มปลูกผักกันแล้ว บางประเทศประกาศว่าจะไม่ส่งออกอาหาร ถ้าอาหารในประเทศไม่เพียงพอระหว่างหรือหลังวิกฤต กระทั่งประเทศที่มีอาหารไม่เพียงพออย่างสิงคโปร์ก็มีการส่งเสริมให้ปลูกผักในเขตเมือง 

พอเกิดวิกฤตเราเริ่มเห็นว่าเรามีอาหาร แต่ว่าเราไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ คนเข้าคิวยาวเป็นกิโล ที่พัทยาคนเข้าคิวยาวมากเลยนะ ไม่มีอาหาร ประเทศไทยไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน อันนี้มันก็จะทำให้คนเริ่มตระหนักแล้วว่า ความสำคัญของชีวิต อาหารเป็นเรื่องสำคัญ ทำยังไงที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตแบบนี้ขึ้น 

อะไรที่เคยคิดว่ามั่นคง จริงๆ แล้วอาจจะไม่ก็ได้

ใช่ ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าแค่มาเตือนหรือเปล่า ใครจะไปรู้ว่าจะมีไวรัสที่อันตรายกว่านี้ ระบาดได้ง่ายกว่านี้จะเกิดขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าไหม เพราะมันมีแนวโน้มไปสู่ทิศทางนั้น และเรื่องนี้ก็แยกไม่ออกจากวิถีชีวิตและเกษตรกรรมด้วย เพราะถ้าเราย้อนไปดูก่อนหน้านี้ โรคระบาดหลายโรคมันเกิดขึ้นจากการเกษตรขนาดใหญ่ ที่ผลิตเชิงเดี่ยว เกิดเป็นต้นตอการระบาด เช่น โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู เกิดขึ้นมาจากเลี้ยงแบบใกล้ชิดกันมากในระบบเชิงเดี่ยวแบบนี้ 

กับอีกอันหนึ่งคือการที่ไวรัสมันกระโดดจากสัตว์มาสู่คนง่ายขึ้น เร็วขึ้น การขยายของเมือง การขยายของที่อยู่อาศัย มันไปใกล้ทางป่าหรือว่าแหล่งเชื้อ การปรับตัวของเชื้อโรคจากจากปัจจัยทั้งหลาย ไม่ว่าจะการใช้สารเคมี การเลี้ยงแบบหนาแน่น และอาจจะรวมไปถึงประเด็นเรื่องโลกร้อนด้วยนะ ที่ทำให้ชีวิตมันต้องปรับเปลี่ยน อันนี้อาจจะต้องเตรียมใจว่าอาจจะต้องเจออะไรที่หนักกว่านี้ ตอนนี้คนทั้งโลกต้องใส่หน้ากาก ก่อนหน้านี้ก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นนะ ต่อไปเราอาจจะต้องใช้หน้ากากกันสารพิษอันใหญ่ๆ เหมือนในหนัง เฉพาะเรื่องความปลอดภัยตอนนี้หลายคนก็เริ่มตระหนักแล้ว เรื่องของพิษภัยจากอาหารที่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ โรคภัยใหญ่ๆ เกิดขึ้นมาจากระบบอาหารทั้งสิ้น หลายคนเปลี่ยนแบบแผนมากินอินทรีย์เป็น 30 ปีเพราะว่าเกิดขึ้นกับตัว 

วิกฤตคือปัจจัยเร่ง ที่ทำให้เราเห็นคนเมืองและคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมกับประเด็น #NoCPTPP มากกว่าเดิม 

อันนี้ผมประหลาดใจนะ (หัวเราะ) คือถ้าคนที่เข้าใจเรื่อง CPTPP แล้วสามารถทำให้รัฐบาลถอนวาระออกได้เนี่ย ลำพังมีเฉพาะเกษตรกรหรือคนที่เกี่ยวข้องเรื่องเกษตรกรรม น่าจะไม่ไหว พลังยังไม่พอ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าคนที่มาร่วมเรียกร้องเรื่องนี้มาจากคนชั้นกลางเยอะมากๆ แล้วมีคนรุ่นใหม่ด้วย มันกลายเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย อย่างที่ญี่ปุ่นก็มีนักแสดงออกมาทวิตเรื่องนี้ ทำให้รัฐบาลต้องถอย เรื่องเดียวกันเลยนะ สถานการณ์โควิดมันทำให้คนตั้งคำถาม 

ผมเห็นที่เขาคอมเมนต์กันนะ เนี่ย กำลังจะเริ่มปลูกผักอยู่แล้วเชียว ทำไมมาทำกันแบบนี้ และไม่ใช่แค่คนคนเดียวนะ แต่มันเป็นภาวะการเรียนรู้อย่างหนึ่งของคนร่วมสมัยกับเราที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราไม่เคยเห็นโพสต์ของ BIOTHAI ไปถึงสามหมื่นแชร์และคนพูดถึงมัน 2-3 ล้านคน เราไม่เคยเห็นมาก่อน สูงสุดแค่กฎหมายพันธุ์พืชเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว หกพันแชร์อันนั้นก็ว่าสูงจนทำให้รัฐบาลต้องถอยแล้วนะ อันนี้คนแชร์มากกว่านั้นมาก

ตัวเลขนี้เราเอาไปอ้างอิงที่จะสู้ได้ไหมคะ หรือว่าแค่เห็นพลัง

มันทำให้เราประเมินได้ ถ้าการเสนอแบบใช้ Data Info แล้วคนทั่วไปรับสาร คนเข้าใจ แสดงว่ามันมีพลังพอที่เราจะเปลี่ยนเรื่องนั้นได้ ถ้านโยบายที่เราลิสต์ขึ้นมามีคนขานรับขนาดนี้ มันจะเดินหน้าต่อไปได้ เรามองว่าด้านหนึ่งคนที่เขารับสารนี้ หลายคนก็อยู่ในระดับที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในระดับต่างๆ แต่ถ้าย้อนกลับมาก็คือว่าภายใต้สถานการณ์แบบนี้ คนรุ่นใหม่หรือคนชั้นกลางรับรู้เรื่องนี้มากขึ้นมากกว่าที่เราคิด

คนรู้สึกร่วม และอยากจะมีส่วนร่วมด้วย แปลว่ามันเป็นทิศทางที่ดี

ดีกว่าที่เราคิด แต่ว่าอาจจะด้วยสถานการณ์วิกฤตหรือเปล่า ไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่อาจจะมองที่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าตัวเอง ใครที่ไหนก็มองกันแบบนี้แหละ แต่มันจะยั่งยืนกว่า ถ้าเราเห็นว่าเรื่องระบบเกษตรและอาหารมันมีมากกว่าเรื่องเรามีสุขภาพที่ดีได้

เอาง่ายๆ เลย ถามว่าการที่เราซื้อกล้วยหอมทองในร้านสะดวกซื้อลูกละ 8 บาท เรารู้สึกได้กินผลไม้อยู่ แต่ว่าเราไม่รู้เลยว่ากล้วยหอมทองที่เรากินอยู่มันมาจากพันธุกรรมที่มันแคบมากๆ เลยนะ มันปลูกอยู่พันธุ์เดียวทั้งโลก ก่อนหน้านี้เคยปลูกพันธุ์เดียวมาแล้วนะ กล้วยหอมเขียว ปลูกพันธุ์เดียวมาแล้วทั้งโลก แล้วมันก็เกิดโรคระบาดในกล้วยขึ้นมา จนมันไม่สามารถปลูกอีกต่อไปได้

แค่เรื่องกล้วย มันไปสู่เรื่องใหญ่ได้แค่ไหน

มันบอกเราว่า ความมั่นคงด้านอาหารมันเปราะบางมาก พูดง่ายๆ คือถ้าโลกกินแต่กล้วยหอมทองอย่างเดียว เดี๋ยววันหนึ่งเราอาจจะไม่มีกล้วยกินขึ้นมาก็ได้ ฉะนั้นถ้ามองในแง่นี้ ทั้งมุมสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรก็ได้นะ มันจะเปราะบางมาก แล้วมันจะมีมุมของการผูกขาดอีก โอเค ในขณะที่เรายังมีเงินอยู่ เราอาจจะยังไม่คิดว่ากล้วยในร้านสะดวกซื้อตอนนี้มันแพงเท่าๆ กับที่คนยุโรปซื้อกันเลย แต่ว่าคนยุโรปรายได้มากกว่าเรา 10 เท่า เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยให้ระบบเราเป็นระบบที่มีการรวมศูนย์ เราก็จะไม่มีทางเลือก นอกจากเรื่องความมั่นคงระยะยาว ทางเลือกเราน้อยลงเรื่อยๆ เราจะไม่เห็นเลยว่าเราถูกเอาเปรียบอยู่นะ

ความไม่หลากหลาย เป็นปัญหาที่ใกล้ตัวเรากว่าที่เราคิด 

ถ้าพูดไปคือ กล้วยหอมไม่ใช่กล้วยที่มีคุณค่าทางอาหารที่ดีที่สุด ต้องกินกล้วยหอมพันลูกถึงจะได้วิตามิน A เท่ากับกล้วยพื้นบ้านบางสายพันธุ์แค่ 1 ใบ อย่างนี้เป็นต้น การที่เรากินกล้วยแบบนี้อย่างเดียว เรากำลังทำลายความหลากหลาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

หรือการที่เรามีกินอยู่ แต่ว่าเกษตรกรกลับไม่มีที่ดินทำกิน มีหนี้สินล้นพ้นตัว แปลว่าระบบอาหารเราก็ไม่ยั่งยืน ถ้าเราปล่อยให้ภาคเกษตรไม่มีทางเลือก ต้องทำเกษตรเชิงเดี่ยว เราก็หนีไม่พ้นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระบบอาหาร หนียากมากเลย เราหนีไปกินอินทรีย์มันก็ยังอยู่ในสิ่งแวดล้อม พวกอินทรีย์ทั้งหลายที่มาสู้เรื่องนี้ เพราะว่ามันปนเปื้อนหมด อย่างชาวบ้านเขาก็ต่อสู้กันนะ เขาทำอินทรีย์แล้วแต่เพื่อนบ้านยังไม่ทำ มันก็ตกค้างลงน้ำ อยู่ในอากาศ เขาก็ได้รับผลกระทบด้วยก็ต้องร่วมสู้ด้วยกัน เราก็เช่นเดียวกัน 

ทำไมคนกิน ก็ต้องร่วมคอยจับตามองปัญหาเหล่านี้

ถ้าเรามองยาวไปนิดหนึ่งนะ มองลึกๆ เราจะเห็นว่ามันเชื่อมโยงกับเราทั้งสิ้น การที่ CPTPP บอกว่าชาวบ้านจะเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อไม่ได้ ความหมายมันคืออะไร คนที่ปลูกผักก็จะเห็นว่าซื้อผักมาแล้วปลูกไม่ได้นี่มันเกินไปแล้วนะ เริ่มเห็น

แต่ถ้าเห็นภาพกว้างไปหน่อยจะเห็นเลยว่า ถ้าชาวนาเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อไม่ได้ ชาวสวนซื้อไม้ผลมาเก็บต่อไม่ได้ ต่อไปเราก็จะกินผลไม้แบบไม่มีสายพันธ์ุ เราจะไม่มีพันธุ์ดีต่างๆ เกิดขึ้น เพราะพันธุ์ดีทั้งหลายมันก็มาจากเกษตรกรทั้งนั้น ถ้าเราทำลายวิถีเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ ในที่สุดเราก็จะเจอผลกระทบ

ยิ่งเราเห็นคนมีชื่อเสียงในญี่ปุ่นสามารถตั้งคำถามกับเรื่องแบบนี้ได้ ทำไมผู้บริโภคในประเทศไทยจะไม่สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ ซึ่งผมเชื่อว่ามันทำได้และมันก็แสดงให้เห็น กรณีเรื่อง CPTPP ผมเชื่อว่าพลังส่วนใหญ่มาจากคนชั้นกลางแล้วก็ฝั่งผู้บริโภค มากกว่าเกษตรกรด้วยซ้ำ ที่เราเห็นที่เราดู เป็นคนรุ่นใหม่ด้วย

ตอนนี้ BIOTHAI พอใจในดอกผลที่สร้างมาตลอดหลายสิบปีแล้วหรือยัง

เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายแบบนั้น โดยส่วนตัว เราเห็นว่าเราได้ทำอะไรมาบ้าง เราแลเห็นการเปลี่ยนแปลง เราเห็นการเติบโตของเราเอง ของเพื่อนร่วมงาน ของคนรุ่นใหม่ในองค์กร เราเห็นการเติบโตของคนข้างนอก เราเห็นสังคมลุกขึ้นมา ถ้าเทียบกับแต่เดิมมันก็ไม่รู้จะหวังอะไรแล้ว สังคมเรียนรู้ในประเด็นที่ดูยุ่งยากได้ มันก็ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 

แม้กระทั่งพรรคการเมืองที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ว่าถ้าเขามีข้อมูล เขาเป็นคนลงมติ 423 ต่อ 0 เสียงที่บอกว่าต้องแบนสาร 3 ตัวแล้วเปลี่ยนประเทศไปสู่เกษตรยั่งยืน 100% ใน 10 ปีข้างหน้านะ มันก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรยากที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าสังคมตื่น นักการเมืองเขาก็ต้องเปลี่ยน

มันน่าจะอัศจรรย์ใจมาก ตอนที่เห็นคนค่อยๆ เปลี่ยนมาอยู่ข้างเดียวกัน 

ใช่ ท่ามกลางการทำงานร่วมกันนี่แหละ เราคงไม่สามารถทำสิ่งใหญ่ๆ ได้ด้วยตัวเอง เราต้องทำร่วมกับคนอื่นๆ ตอนที่เราต่อสู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เราก็ทำงานจนเราได้นักวิชาการ ข้าราชการซึ่งคิดไม่ตรงกัน เถียงกัน คนอยู่ตรงกันข้ามกัน กลับกลายมาอยู่ข้างเดียวกัน เราต่อสู้กันจนมาอยู่ข้างเดียวกันแล้ว

 

บางเรื่องที่เราทำได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นผลงานของเรา เราเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานนั้นร่วมกับคนอื่น แล้วเราก็ไม่คิดว่า การที่เราไม่บรรลุผลอะไรสักอย่างจะเป็นความล้มเหลว มันก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นถ้าคิดแบบนี้ เราก็มีแต่จะทำงานไปเรื่อยๆ 

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง