ในรอบไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวชิ้นหนึ่งในเว็บไซต์ The Guardian ทำให้เราอดคลิกเข้าไปอ่านไม่ได้ เพราะสนใจใคร่รู้พาดหัวข่าวที่พูดถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วโลก หรือ Climate Poll ซึ่งเขามีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า People’s Climate Vote ที่ UN เพิ่งนำเสนอรายงานออกมา หลังจากที่มีการสำรวจไว้ก่อนหน้านี้ คือตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา และแม้จะเป็นช่วงที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคระบาดอย่าง โควิด-19 แต่ประชาชนกว่า 59 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังตอบตรงกันว่า เราต้องทำทุกอย่างที่จำเป็นและเร่งด่วนในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

การสำรวจครั้งนี้ ถือว่าพิเศษมาก เพราะเป็นการสำรวจความคิดเห็นครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาเกี่ยวกับประเด็น climate change ผ่านการให้ความรู้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น สำรวจผ่านแอพพลิเคชันเกมต่างๆ และผ่านการถามความเห็นว่าประชาชนคิดว่ารัฐบาลของตัวเองควรมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง โดยประเด็นส่วนหนึ่งของการสำรวจนี้ เขาจะถามเจาะไปที่นโยบายในการแก้ปัญหา climate change ทั้งหมด 18 ข้อที่ครอบคลุมประเด็นหลักๆ คือ พลังงาน เศรษฐกิจ การขนส่งมวลชน ฟาร์มและอาหาร การปกป้องประชาชนของตนเอง และในประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งการสำรวจความเห็นครั้งนี้ อยู่ภายใต้ความร่วมมือกันของ United Nations Development Programme (UNDP) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และกลุ่ม NGO อีกจำนวนหนึ่ง

จุดประสงค์ของการสำรวจ ก็เพื่อให้เกิดการประสานความคิดเห็นของสาธารณะชนกับผู้ที่ทำงานในระดับนโยบายของประเทศ หรือ policy maker ทั้งหลายให้มองเห็นความต้องการของประชาชนในประเทศตัวเองให้ชัดเจนขึ้น

ถ้าโชคดี (ของประเทศนั้นๆ) รัฐบาลอาจรับฟังเสียงของประชาชนและนำไปใช้เป็นนโยบายระดับชาติ ที่ท้ายที่สุดแล้วก็น่าจะส่งผลดีให้กับทุกฝ่ายนั่นเอง

ที่น่าสนใจก็คือว่าผลการสำรวจครั้งนี้ ยังพบด้วยว่า หลายประเทศไม่เคยมีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับ climate change ขึ้นมาพูดถึงมาก่อนด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ในบางประเทศที่อาจจะมีความเข้าใจดีเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องนี้อยู่บ้าง ก็ไม่เคยมีการทำการสำรวจหรือถามคำถามที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการแก้ปัญหาในระดับนี้มาก่อน

บอกก่อนว่า ผลการสำรวจนี้ เขามีการสอบถามผู้คนในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกจำนวน 1.2 ล้านคน และคนตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มสาวเสียด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เอ๊ะ เรื่อง climate change เป็นเรื่องที่เฉพาะคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่เท่านั้นหรือเปล่าที่ให้ความสนใจและออกมาเรียกร้อง เพราะพวกเขาน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงต้องส่งเสียงเรียกร้องขอโลกที่ดีกว่าเดิม และต้องการให้คนรุ่นเก่าที่นั่งในตำแหน่งสูงๆ และมีอำนาจในการเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ลงมือทำในสิ่งที่เห็นแก่คนรุ่นใหม่ที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่คนรุ่นเก่าทำ (ลาย) ไว้

แต่ส่วนหนึ่งของผลสำรวจชิ้นนี้ให้ภาพที่ทำให้เราสบายใจได้ในระดับหนึ่งว่า ไม่มีช่องว่างระหว่างคนทั้งสองรุ่นอย่างที่เราคิด เพราะผลการสำรวจคนรุ่นใหม่ในวัย 14-18 ปี พบว่า กว่า 69 เปอร์เซ็นต์ ให้ความสนใจเรื่อง climate change เป็นอย่างมาก ในขณะที่คนที่อายุมากกว่า 60 ปีก็ใส่ใจเรื่องนี้มากถึง 58 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าผลไม่ได้ถ่าง หรือห่างจนกู่ไม่กลับ หรือไกลจนไม่เห็นอนาคต

อ่านไปอ่านมา เราก็เลยตามเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ UNDP และโหลดรายงานผลการสำรวจออกมาอ่านเพิ่มเติมอีก ซึ่งด้วยความที่ทั้งเล่มมีความยาวราวๆ 68 หน้า เราจึงต้องเลือกหยิบจับบางประเด็นออกมาเล่าสู่กันฟัง (ส่วนใครสนใจอยากอ่านฉบับเต็ม สามารถเข้าไปโหลดอ่านได้เลยตามลิงก์ท้ายบทความนี้ได้)

และนี่ก็คือแง่มุมสำคัญๆ ในรายงานพิเศษของ UNDP ที่เราอยากนำมาพูดถึงในที่นี้

-ผลสำรวจพบว่าประชาชนกว่า 2 ใน 3 ของผลการสำรวจทั่วโลก หรือ 64 เปอร์เซ็นต์ เห็นตรงกันว่า ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงถือเป็นภาวะฉุกเฉินของโลก และประชาชนก็พร้อมใจกันสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับ climate action และเรียกร้องให้นักการเมืองใส่ใจและมีแนวทางในการแก้ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

-กลุ่มประเทศที่มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนเป็นภาวะฉุกเฉิน คือกลุ่มประเทศที่เรียกว่า small island developing states (SIDS) หรือประเทศหมู่เกาะที่เป็นรัฐกำลังพัฒนา เช่น วานูอาตู หมู่เกาะเซเชลส์ ติมอร์-เลสเต ซามัว ฟิจิ เป็นต้น กลุ่มนี้จัดว่ามีมากที่สุดถึง 74 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง 72 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง 68 เปอร์เซ็นต์ และปิดท้ายด้วยกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งได้คะแนนไป 58 เปอร์เซ็นต์

-ถ้าแยกเป็นรายประเทศ ผลสำรวจก็ชี้ให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปในแต่ละประเทศมีความเชื่อเรื่อง climate emergency มากน้อยแค่ไหน ซึ่งพบว่า ประชาชนในสหราชอาณาจักรและอิตาลี เชื่อในเรื่องนี้มากถึง 81 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นได้ไป 79 เปอร์เซ็นต์ ฝรั่งเศสกับเยอรมันได้ไปเท่ากันคือ 77 เปอร์เซ็นต์

ส่วนไทยเราได้ไป 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าดูจากตารางในรายงานเล่มนี้ ก็ยังอยู่ท้ายๆ ตารางพอสมควร

-เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ นโยบายด้านการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด หรืออยากให้รัฐทำมากที่สุด 5 อันดับแรก จากนโยบายทั้งหมด 18 เรื่องที่สำรวจไปก็คือ 1. ต้องการให้มีการอนุรักษ์ป่าและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน 54 เปอร์เซ็นต์ 2. ต้องการให้ใช้พลังงานจากโซลาเซลล์ พลังงานจากลม และพลังงานทดแทนต่างๆ 53 เปอร์เซ็นต์ 3. ต้องการให้ใช้เทคนิคด้านการทำฟาร์มที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ 52 เปอร์เซ็นต์ 4. ต้องการให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในธุรกิจสีเขียวและการจ้างงานที่เกี่ยวข้องหรือ green jobs 50 เปอร์เซ็นต์ และ 5. อยากให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถเมล์ไฟฟ้า รวมทั้งการใช้ยานพาหนะอื่นๆ เช่น จักรยาน เพื่อจะได้ลดปัญหามลภาวะ ซึ่งมีทั้งหมด 48 เปอร์เซ็นต์ แต่นโยบายหรือประเด็นที่คนให้ความสนใจน้อยที่สุดในเวลานี้ก็คือ ประเด็นเรื่องอาหารที่ทำจากพืชหรือ plant-based ซึ่งผลการสำรวจพบว่ามีคนแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ จากทั่วโลกเท่านั้นที่สนับสนุนเรื่องนี้

รายงานผลการสำรวจชิ้นนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ และเราอยากให้ลองโหลดมาอ่านกัน เพราะจะว่าไป ก็ถือว่าเป็นผลการสำรวจที่ทำให้เข้าใจความคิดของคนทั่วโลก และแน่นอนว่า สำหรับผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นคนจากฝั่งรัฐบาล หรือผู้ที่ทำงานด้านนี้ในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะในองค์กรใหญ่หรือเล็ก เราบอกเลยว่า นี่คือเสียงที่คุณต้องฟังและใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันคือเสียงของประชาชนในประเทศของคุณด้วย

เหมือนที่ Achim Steiner นายใหญ่แห่ง UNDP ได้กล่าวถึงผลการสำรวจครั้งนี้ไว้ว่า

“การสำรวจครั้งนี้ได้นำเสียงของประชาชนออกมาสู่แถวหน้าในวงอภิปรายเรื่องสภาพภูมิอากาศ มันคือการชี้ให้เห็นทิศทางที่ประเทศต่างๆ จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับการสนับสนุนของประชาชน ในฐานะที่เราต้องทำงานร่วมกันในการจัดการกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่นี้”

ที่มาข้อมูล
www.theguardian.com
www.undp.org

เครดิตภาพ: Shutter Stock