จังหวัดภูเก็ต คือเมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังเป็นหนึ่งในสองจังหวัดต้นแบบของสมาร์ตซิตี้ประเทศไทย โดยมีวิสัยทัศน์สำคัญที่จะนำไปสู่การเป็น ‘เมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน’ ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น ข้อมูลต่างๆ ของเมือง (Big Data) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยิ่ง เหตุนี้เองจึงเกิดโครงการวิจัยร่วมกับหลายภาคส่วนขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อออกแบบพัฒนาระบบการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลแบบดิจิทัล เรียกว่า City Data Platform หรือ CDP ของจังหวัดขึ้น เพื่อบูรณาการข้อมูลระดับเมือง สำหรับใช้วางแผน บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาของเมืองให้ตรงจุด ซึ่งต่อมาแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นต้นแบบ และบรรจุเป็นหนึ่งในเกณฑ์บังคับของโครงการสมาร์ตซิตี้ประเทศไทย เพื่อพิจารณาอนุมัติให้กับเมืองที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นเมืองอัจฉริยะ

ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณกฤษฎาพงษ์ ตันทอง หรือ คุณเอก ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด (CDA) บริษัทเอกชนซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลสุดล้ำของเมืองภูเก็ต โดยคุณเอกจะมาเล่าถึงจุดเริ่มต้น แนวคิด ตลอดจนผลการทดลองใช้ระบบดังกล่าว ว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเมืองภูเก็ต ที่กำลังจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะเต็มตัวให้เราฟัง

คุณเอกเริ่มเล่าถึงที่มาของบริษัท และที่มาของ CDP ว่า “บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ให้จังหวัดภูเก็ตเป็นสมาร์ตซิตี้ บนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยการใช้ big data และ AI เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการเมือง โดยใช้แนวคิดแบบ digital twin เราเรียกระบบดังกล่าวว่า city data platform หรือ CDP ซึ่งจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ pain point สำคัญ 3 เรื่องของเมือง ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว (Tourism) ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Living Information) และอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือพัฒนาที่ตรงจุด

“หน้าที่ของ CDP คือ เขย่าข้อมูลที่มีทั้งหมดที่เข้ามา แล้วทำการปล่อยข้อมูลออกไปผ่านช่องทาง cloud เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปดูข้อมูลและนำไปใช้วิเคราะห์แก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ตรงจุด โดยข้อมูลทั้งหมดจะมาจากหลายส่วน ทั้งข้อมูลจากภาครัฐ จากแอปพลิเคชั่น หรือเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่ทั่วเมือง หรือข้อมูลธรรมดาทั่วไป ก็ได้ทั้งหมด

“ปัจจุบัน CDP ได้กลายเป็น 1 ใน 5 เงื่อนไขของ Thailand Smart City Criteria”

“โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า ‘City Data Platform with Cyber Security’ ถ้าเมืองที่จะยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะไม่มีเงื่อนไขนี้ ก็จะไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา”

แนวคิดดังกล่าว คุณเอกไม่ได้กล่าวขึ้นมาลอยๆ หากแต่ CDP ได้ถูกทำขึ้นจริงและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้วในปัจจุบัน ในบางพื้นที่และหน่วยงานของจังหวัดภูเก็ต โดยรูปแบบของ CDP นั้น จะนำไปสู่การประมวลผลข้อมูลเมือง ซึ่งออกแบบนำข้อมูลต่างๆ มาแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัลเสมือนจริง (3D)  ซ้อนเป็นชั้นๆ คล้ายแผ่นใสในรูปแบบสามมิติ (3D) ที่แต่ละชั้นสามารถมองเห็นทะลุเชื่อมโยงกันได้ และสามารถแยกชั้นออกมาดูก็ได้

ตัวอย่างชั้นข้อมูล อาทิ ภาพเมืองเสมือนจริงในรูปแบบ 3D กฏหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม ระบบการขนส่งมวลชน ระบบความปลอดภัย และความยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งทำให้สามารถเห็นโครงสร้างและความเชื่อมโยงของข้อมูลทั้งหมดหากดูพร้อมกัน หรือจะแยกเป็นส่วนๆ เพื่อดูเฉพาะชุดข้อมูลก็สามารถทำได้ จะช่วยให้สะดวกและเกิดประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมาพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ความถูกต้องและชัดเจนของข้อมูลที่นำมาใช้ออกแบบ CDP จึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งคุณเอกได้แสดงทัศนะถึงการที่จะทำให้ CDP เกิดขึ้นจริงได้ว่า

“พื้นฐานของ CDP ที่จะเกิดขึ้นได้จริงนั้น มันต้องมีข้อมูลที่เป็นจริงๆ ซึ่งเมืองแต่ละเมืองมีข้อมูลอยู่แล้ว (existing data) แต่ควรต้องนำมาคัดเลือกและจัดเรียงใหม่”

“อาจจะต้องเป็นข้อมูลอาคาร ข้อมูลแหล่งน้ำ ข้อมูลท่อน้ำประปา ฯลฯ จะต้องมีข้อมูลเหล่านี้เป็นฐาน ซึ่งเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ หรือเมืองอัจฉริยะ ไม่จำเป็นต้องเป็นทั้งจังหวัดก็ได้ อาจจะเป็นตำบล เป็นหมู่บ้านก็ได้ เป็นเขตเมืองใหม่ เมืองเก่าก็ได้ แต่พื้นฐานมันจะต้องมีข้อมูลเหล่านี้ นี่คือจากประสบการณ์ผม”

ระยะการทดลองและพัฒนาระบบ CDP ของจังหวัดภูเก็ตนั้น คุณเอกได้แบ่งไทม์ไลน์ของการวิจัยและทดลองพัฒนาปรับปรุงระบบจากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบันไว้ 3 ช่วง คือ

ช่วงที่ 1 Co-research เป็นการร่วมวิจัยระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ (จำกัด) (CDA) ในเครือบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และพันธมิตร เพื่อร่างแบบ ออกแบบ ทดลองและพัฒนาระบบ โดยเลือกพื้นที่ของตัวเมืองภูเก็ตมาทำก่อน พุ่งประเด็นเป้าหมายไปที่ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยว ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม และอสังหาริมทรัพย์

ช่วงที่ 2 ทดลองพัฒนา CDA ในพื้นที่เขตเทศบาล เริ่มตกผลึกการทำงานและวางระบบ CDP และพบว่า ระบบดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สูงสุด หากผู้บริหารได้เห็นและนำไปใช้ เพราะจะช่วยประชาชนได้ตรงจุด จึงพุ่งเป้าไปที่เทศบาล โดยมี เทศบาลตำบลวิชิต เป็นพื้นที่ทดลองแรก ก่อนขยายไปที่เทศบาลเมืองป่าตอง และพื้นที่อื่นๆ โดยเป็นการหลอมรวมระบบงานจริงของราชการ เข้ากับระบบ CDP และเป้าหมายของโครงการทั้ง 3 เรื่อง เข้าไว้ด้วยกันให้กลมกลืน

ช่วงที่ 3 ขยายแนวคิดของระบบ CDP เข้าสู่เครือข่ายพันธมิตร และผลักดันให้ข้อมูลบางส่วนเป็นข้อมูลสาธารณะ อย่างปลอดภัย นั่นก็คือ บริษัทพัฒนาเมืองทั่วประเทศ บริษัทหรือหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมกิจกรรมเฉพาะบางกิจกรรม เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (CAT) หรือ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

และได้รับบรรจุเข้าเป็นข้อบังคับในเกณฑ์พิจารณาการขอเป็นเขตส่งเสริมอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะ พร้อมต้องการผลักดันให้ข้อมูลบางส่วนใน CDP สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสาธารณะได้อย่างปลอดภัย

ซึ่งจะกล่าวขยายความให้ฟังในลำดับต่อไป

ช่วงที่ 1 Co-research จับมือกัน สร้างสรรค์ CDP

คุณเอกกล่าวกับเราว่า “แรกเริ่มตอนทำ co-research เราใช้แหล่งที่มาของข้อมูล (data source) ทั้งหมดสิบแหล่ง เริ่มแรกเลย ก็ต้องมีหนึ่ง-การร่วมมือจากการปกครองท้องถิ่น สอง-กลุ่มสตาร์ตอัพในท้องถิ่น สาม-CCTV สี่-Public Free WIFI ที่บริษัท CAT เข้ามาติดตั้งให้ ห้า-IoT Censor ซึ่งเป็นความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนข้อหกถึงข้อแปด จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเจ้าท่าหมดเลย ทั้งการติดตามเรือ เรือเข้าเทียบท่า เริ่มตั้งแต่คนลงทะเบียนลงเรือ อันนี้คือเกี่ยวกับทางน้ำ (Marin Time, VTMS, Yacht Control) เก้าและสิบเป็นข้อมูลการนำเที่ยวจากมัคคุเทศก์ โดยเก้าคือข้อมูลด้านการลงทะเบียนการเข้าพักโรงแรม (Registered guests) และสิบคือเส้นทางการเดินทางท่องเที่ยวในเกาะ (Route Trip) ซึ่งทั้งสิบชั้นข้อมูลนี้ก็จะย้อนกลับไปตอบคำถามสามเรื่องที่เรากล่าวถึงไปในช่วงต้น”

คุณเอกเล่าให้ฟังว่า ในระหว่างที่กำลังทำงานวิจัยออกแบบพัฒนาระบบ CDP อยู่นั้น (ระบบยังไม่แล้วเสร็จดี) เป็นช่วงเวลาที่วิกฤตโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แตกพอดี (ก.พ.2563) จึงเกิดความตระหนกเรื่องนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวภูเก็ต ทีมงานวิจัยจึงได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยอาศัย CDP ที่สร้างขึ้น เพื่อบอกได้ว่า นักท่องเที่ยวจีนที่อยู่ในภูเก็ตแต่ละวันมีการตกค้างที่ไหน จะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เคลื่อนย้ายไปยังจุดใดของเกาะ ณ เวลาใด และได้มีการส่งข้อมูลดังกล่าวไปยัง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และทางจังหวัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า CDP แม้ยังไม่แล้วเสร็จดี แต่ก็สามารถก่อเกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเมืองได้จริง

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาอีก 1 ชุด ให้กับสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นข้อมูลติดตามผู้ป่วย หรือผู้สัมผัสโรค ว่าในระยะเวลา 14 วัน ได้เดินทางไปที่จุดใดบ้าง แล้วสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาในรูปติดตามแบบแอนิเมชั่น เพื่อแสดงการเคลื่อนตัวไปยังจุดต่างๆ รวมถึงใช้ในการสืบสวนโรคของผู้ป่วยได้ ณ เวลานั้นได้อีกด้วย

คุณเอกกล่าวถึงผลงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับ 3 pain point หลักของงานวิจัย CDP (Tourist, Living Information, Real Estate) ว่า

“ในประเด็นของการท่องเที่ยว สิ่งที่เราต้องการให้เกิดประโยชน์จากข้อมูลนักท่องเที่ยวเหล่านี้ คือจะนำมาช่วยส่งเสริมธุรกิจได้อย่างไร”

“เราจะได้บริหารจัดการได้ถูกว่า ถ้าข้อมูลไหลลงมาเรื่องของข้อมูลที่พักแล้ว เราจะรู้เลยว่า ใคร กลุ่มไหน ณ วันที่เท่าไร มีจำนวนผู้หญิงที่เข้ามาพักกี่คน เป็นผู้ชายกี่คน มีเชื้อชาติอยู่จำนวนเท่าไร โดยแบ่งตามรายโซน ไม่ใช่รายโรงแรม ในโซนตำบลต่างๆ เราจะรู้ว่ามีเชื้อชาติอะไรเข้ามาพักช่วงไหนเวลาไหน ซึ่งเราเอามามาบอกทางจังหวัดได้เลย จังหวัดก็จะได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงประเด็นขึ้น เพราะช่วงที่เราทำวิจัยมันมีความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวค่อนข้างสูง และการบริหารจัดการเมืองเริ่มจะมีปัญหา

“โดยส่วนสำคัญหนึ่งในการเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว คือเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็น free WIFI ที่ CAT ได้ติดไว้ให้ทั่วจังหวัดภูเก็ตหนึ่งพันจุด ข้อมูลจากเซ็นเซอร์จะถูกนำมาประมวลและแสดงชุดข้อมูล เช่น สีแดงคือจุดที่นักท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่มาก ถ้าเป็นสีฟ้าคือการกระจายตัว เราไม่ได้ต้องการว่าเป็นชื่อใคร นามสกุลใคร แต่เราต้องการรู้ mac address ว่า หมายเลขหนึ่งเขาเดินทางจากจุดไหนไปยังจุดไหน เราไม่รู้หรอกครับว่าเขาเป็นใคร แต่เราต้องการรู้ว่า ช่วงเที่ยงคนจะไปอยู่ตรงไหน ช่วงบ่ายคนไปอยู่ตรงไหน ทางจังหวัดและเทศบาลจะได้สั่งการหรือจัดการบริหารจัดการได้ถูก

“CDP ใช้ดูตัวเลข trip Flow ก็ได้ครับ เราแค่กรอกเวลา เลือกวัน แล้วคลิกเข้าไปในระบบ CDP เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ข้อมูลมันจะบอกออกมาเลยว่าเรือที่ใช้เดินทางมีทั้งหมดกี่ลำ นักท่องเที่ยวที่ลงเรือมีกี่คนที่ลงผ่านประตูเข้าไป เขาลงเรือ ณ จุดไหนบ้าง เหล่านี้จะช่วยลดปัญหาเรื่องคนสูญหายได้ ซึ่งที่ทำในประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเพราะเคยเกิดเหตุการณ์เรือฟีนิกส์ล่ม  เราก็เลยพยายามจะทำโครงการนี้ขึ้นมารองรับดูว่า ถ้ามีแพลตฟอร์มมารองรับจะเป็นอย่างไร มีอะไรที่จะมาช่วยเหลือได้บ้าง เช่นนี้เป็นต้น”

ถัดจากประเด็นเรื่องการนำ CDP มาใช้ในภาคของการท่องเที่ยว คุณเอกได้กล่าวต่อไปถึงการทดลองนำ CDP มาออกแบบใช้ในเรื่องความปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อมว่า

“เซ็นเซอร์ของ มอ. จะปล่อยข้อมูลออกมาเป็น API (application programming interface) คือปล่อยข้อมูลทางอากาศ แล้วเรารับข้อมูลมา คนทั่วไปจะเข้ามาดูได้ว่า ฝนตกนี่ปริมาณน้ำจะเท่าไร น้ำจะท่วมไหม หรือจะล้นตลิ่ง มอ.เขาก็กรุณาส่งข้อมูลชุดนี้มาร่วมกับเรา ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูล

“หรือเราจะดูรูปแบบ map สามมิติก็ได้ครับ สีน้ำเงินคือเส้นทางน้ำ น้ำที่ไหลลงมา เราจะเห็นเลยว่าหมู่บ้านไหนขวางทางน้ำนี้ไหม เราเอาข้อมูลเหล่านี้มาช่วยบ้านเราได้เลย แล้วเรามาเชื่อมกับระบบเซ็นเซอร์ของ มอ.ที่เขาปล่อยข้อมูลเข้ามา เราเพียงคลิกเข้าไปมันจะขึ้นข้อมูลเป็น dashboard แบบเรียลไทม์ ที่ มอ. ปล่อยข้อมูลให้เราได้เลย นี่เป็นตัวอย่างเรื่องการนำ CDP มาใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัย ช่วยป้องกันภัยภิบัติครับ”

และมาถึงงานวิจัยที่ใช้ CDP มาแก้ปัญหา เกี่ยวกับด้านอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งคุณเอกอธิบายว่า

“มีหลายครั้งที่นักลงทุนมีปัญหาว่าจะลงทุนอย่างไร เราจึงออกแบบ CDP เพื่อแก้ปัญหานี้ เพียงแค่นักลงทุนคลิกเพียงจุดเดียว ข้อมูลเหล่านี้ก็จะขึ้นมาเลยว่า ผังเมืองสร้างอะไรได้หรือไม่ได้ พื้นที่ดังกล่าวมีกฎหมายห้ามเรื่องอะไรบ้าง จะสร้างอาคารได้สูงไม่เกินกี่เมตรตามกฏหมายสิ่งแวดล้อม สร้างได้กี่เปอร์เซ็นของพื้นที่ แล้วจะรู้เลยว่าในรัศมีตรงนี้ มีบ้านเดี่ยวบ้านแฝดจำนวนกี่หลังคาเรือน มีราคาประเมินที่ดินเท่าไร มีรถขนส่งสาธารณะสายไหนแล่นผ่าน มีร้านค้าจำนวนกี่ร้านค้า มีโรงแรมกี่โรงแรม

“ตรงนี้คือตอบโจทย์นักลงทุนครับ เวลาจะมาลงทุนพัฒนาจะได้ไม่ต้องไปโดนใครหลอก ดูข้อมูลนี้ไม่ถึงสิบนาทีก็รู้ได้เลย จากเดิมทีอาจต้องใช้ระยะเวลาจ้างบริษัทศึกษาเพื่อวางแผนสามเดือน เราย่อให้เหลือแค่ 10 นาที  ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ได้ดีขึ้น“

นี้คือผลงานวิจัยและการออกแบบการพัฒนาระบบ CDP ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ที่มุ่งหมายต้องการพัฒนาระบบ CDP ให้เกิดขึ้นจริง และนำไปใช้งานได้ ก่อนจะเข้าสู่การวิจัยและทดลองในระยะที่ 2 และ 3 ในลำดับถัดไป

ช่วงที่ 2 เมื่อ CDA และเทศบาล มาเจอกัน

หลังจากการร่วมวิจัยพัฒนาระบบ CDP ขึ้นมาในช่วงแรก ก็เกิดตัวอย่างแผนงานและเนื้องานขึ้น เกิดการเรียนรู้ผิดถูก ซึ่งคุณเอกเล่าให้ฟังว่า หลังจากการออกแบบพัฒนา CDP ในช่วงที่ 1 ทางทีมงานวิจัยเล็งเห็นว่า หากจะให้ CDP เกิดประโยชน์สูงที่สุด จะต้องนำระบบนี้เข้าไปทดลองพัฒนางานออกแบบระบบร่วมกับฐานข้อมูลจริงที่ภาคการปกครองในพื้นที่มีอยู่ และปรับปรุงให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของราชการมากขึ้น จึงเกิดเนื้องานวิจัยระยะที่สองขึ้น โดยมีเทศบาลตำบลวิชิต และเทศบาลเมืองป่าตองเป็นพื้นที่ทดสอบ”

“เมื่อสามปีก่อนเราทำ CDP เป็นข้อมูลสามมิติให้เทศบาลตำบลวิชิตขึ้นมาหนึ่งชุด ครอบคลุมพื้นที่สิบสองตารางกิโลเมตร เราคิดว่าในประเทศไทย ไม่มีใครจะทำระบบ 3D ขนาดพื้นที่แบบนี้แน่ การสร้างเมืองสามมิติเสมือนจริงขึ้นมา สามารถทำให้เทศบาลลดปัญหาในเรื่องเวลาในการออกภาคสนามเพื่อวัดขนาดข้อมูลหน้างานได้ เพราะสามารถวัดขนาดทุกอย่างจากในแพลตฟอร์มได้หมด แถมยังนำข้อมูลที่เทศบาลมีมาซ้อนได้ด้วย ทั้งข้อมูลเรื่องของประชากร เรื่องของจำนวนอาคาร เรื่องของ information ต่างๆ เอามาซ้อนข้อมูลแล้วทำเป็น dashboard ได้อีก และพัฒนาให้เป็นระบบออนไลน์ โดยซ้อนข้อมูลของระบบต่างๆ ครับ ที่ซิงค์กันอยู่ สามารถที่จะเรียกดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

“ในประเด็นนี้ข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้เรียลไทม์ทั้งหมด เพราะข้อมูลบางส่วนเป็นข้อมูลคงที่ (static) แต่บางเรื่องที่ทางเทศบาลปล่อยข้อมูลออกมา เช่น ข้อมูลที่จะทำให้เราเห็นหน้าอาคารในพื้นที่ได้เลย ทางผู้บริหารก็จะเห็นได้ ซึ่งตรงนี้ข้อมูลไม่ได้อยู่ที่คณะวิจัย หรือบริษัท CDA แต่อยู่ที่เทศบาลตำบลวิชิต เทศบาลเมืองป่าตอง ดังนั้นถ้าเทศบาลถือไอแพดหรือสมาร์ตโฟน เดินไปตรงไหนก็จะสามารถอัพเดตข้อมูลพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเชื่อมต่ออัพเดตแบบเรียลไทม์ได้ทุกข้อมูล หากอัพระบบ API เข้าหากัน

“ซึ่งความเป็นจริงแล้ว เทศบาลทุกเทศบาลมีข้อมูลเมืองของตนเองอยู่ในมืออยู่แล้วก็จริง แต่ยังไม่สามารถทำข้อมูลอัพขึ้นมาเป็น visualize แล้วเอามาวิเคราะห์ได้ เพราะส่วนใหญ่ข้อมูลยังถูกจัดเก็บในระบบอนาล็อก หรือเป็นข้อมูลอยู่ใน excel ฯลฯ เราเลยคุยกับหลายเทศบาลว่า

“ถ้าสามารถปูข้อมูลเมืองที่มีให้เชื่อมกันได้ จะเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างมหาศาล”

“ยกตัวอย่างการนำ CDP มาปรับใช้ในเทศบาล เช่น การนำข้อมูลเรื่องคูระบายน้ำของเทศบาลมาผนวกเข้ากับแพลตฟอร์ม ก็ทำให้สามารถดูเรื่องคูระบายน้ำในทุกมิติ อาทิ จำนวน ระยะเวลาการก่อสร้าง งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง เส้นทางน้ำท่วม การเกิดภัยพิบัติ นำมาซ้อนทับกัน ทำให้เเทศบาลสามารถนำไปประมวลผล วิเคราะห์แก้ไขปัญหาเรื่องการระบายน้ำ การกำหนดจุดซ่อมแซม และการบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างตรงจุด หรือการวิเคราะห์การขยายตัวของโรคชิกุนคุนญ่า พื้นที่เกิดโรค และฤดูกาลที่เกิดโรค เป็นต้น

“หรือยกตัวอย่างงานในกองต่างๆ ของเทศบาล ที่ลองนำข้อมูลมาพัฒนาเป็นระบบ CDP อาทิ กองคลัง สามารถรู้ราคาประเมินพื้นที่ในเขตการปกครองของตนเองได้ทุกพื้นที่ รู้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่ดูแล รู้ว่าเวลาวางผังเมืองเพื่อจะพัฒนาอะไรสักอย่าง จะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง และควรจะพัฒนาไปในทิศทางใด

“กองการศึกษาก็พูดถึงเรื่องมิติความสัมพันธ์ของครูและนักเรียน เชื่อมโยงเรื่องของค่าใช้จ่าย เชื่อมโยงเรื่องเปอร์เซ็นต์ครูต่อนักเรียน กองช่างก็สามารถรู้ว่ามีถนนทั้งหมดกี่สาย มีโครงการพัฒนากี่โครงการ จุดไหนยังไม่มีทางเท้า จุดไหนที่ทางเป็นคอนกรีต รู้เรื่องเส้นทางที่มาของขยะ ปริมาณของขยะ และการจัดเก็บ ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากๆ หากนำข้อมูลของทุกๆ กองเขย่าแล้วปล่อยออกมาเป็น dashboard แล้วส่งต่อไปยังท่านนายกเทศมนตรี เพราะจะช่วยเป็นข้อมูลจริง เข้าใจง่าย มาประกอบการตัดสินใจออกคำสั่งเพื่อพัฒนาเมือง และพัฒนาต่อยอดให้มากขึ้น

“เหล่านี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งพอเราร่วมมือกับเทศบาลตำบลวิชิตแล้ว ก็ได้ขยายพื้นที่ไปในเทศบาลเมืองป่าตอง รวมไปถึง จังหวัดพังงาอีกแห่ง ซึ่งทำให้พบว่า ในแต่ละเทศบาล เมื่อเอ่ยถึงเนื้องานในกองงานเดียวกัน การให้ความสำคัญของข้อมูลก็แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น พูดถึงงานของกองช่าง เทศบาลหนึ่งอาจให้น้ำหนักเรื่องคูระบายน้ำ แต่อีกเทศบาลอาจให้น้ำหนัก เรื่องถนนก็ได้ ตรงนี้ก็ต้องปรับไปตามข้อมูลของแต่ละพื้นที่”

ช่วงที่ 3 การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร และผลักดันให้ CDP เป็นสาธารณประโยชน์อย่างปลอดภัย

คุณเอกกล่าวถึงความหวังในช่วงที่สาม หลังจากงานวิจัยช่วงที่สองได้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว ว่าอยากให้  CDP เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลแบบตาข่าย ซึ่งตาข่ายนี้ไม่ได้ครอบคลุมแค่พื้นที่เมืองอัจฉริยะเพียงแค่พื้นที่เดียว แต่ควรต้องเชื่อมโยงกับเมืองอัจฉริยะอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย ต้องก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างเมืองทุกเมือง เติมเต็มองค์ความรู้ให้กันและกัน อีกทั้งต้องมีการจัดการที่ชาญฉลาดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลบางส่วน ให้เป็นข้อมูลสาธารณะด้วย เพื่อประโยชน์ของการใช้ข้อมูลภายใต้ระบบ CDP จะได้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ภูเก็ตเราถนัดเรื่องการทำ data ครับ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่ถนัด จึงอยากก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขึ้นกับพันธมิตรที่เขาถนัดด้านอื่น โดยเราก็จะนำเรื่องการสร้าง CDP นี้ไปช่วยเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบ CDP ของเมืองนั้นๆ เพราะคาดหวังว่าต่อไป CDP จะเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงข้อมูลของเมืองอัจฉริยะระดับประเทศ มีโหมดต่างๆ ของข้อมูลในรูปแบบเดียวกัน แต่ข้อมูลเนื้อในก็ให้ต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ตรงนี้ต้องขอย้ำว่าเราจะเป็นแค่ที่ปรึกษาให้นะ ทางจังหวัดหรือพื้นที่ต้องดำเนินการด้วยตัวเองเป็นหลัก เพราะจะเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากคุณจะรู้และเข้าใจ big data ของเมืองและบริบทของพื้นที่คุณได้ดีที่สุด

“อีกประเด็นคือ ผมอยากให้ข้อมูลใน CDP นั้น สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ ให้ข้อมูลเป็นของทุกคน ประเด็นนี้ต้องขยายความให้ชัดเจนว่า ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเป็นหลัก โดยสมมติว่า มีข้อมูลทั้งหมด 1-100 ข้อมูล เราอาจแบ่งว่าข้อมูลที่ 1-2 เปิดเผยต่อสาธารณชนได้ (open data) เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนข้อมูล 1-10 ให้ภาคการปกครองและผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองนั้นๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ที่เหลือข้อมูล 11-100 ให้แต่ละพื้นที่เก็บเป็นข้อมูลของตนเอง เพราะอาจจะมีเรื่องสิทธิของข้อมูล ซึ่งต่างประเทศเขาทำแบบนี้กันแล้ว การกระจายพื้นที่จัดเก็บข้อมูลและกระจายประโยชน์การใช้งานเช่นนี้ จะเป็นการสร้างความปลอดภัยและก่อให้เกิดศักยภาพในการใช้ข้อมูลอย่างสูงสุด เพราะถ้าเก็บข้อมูลไว้ที่ฐานเดียว หากเกิดการล่ม การโจรกรรมข้อมูล มันจะล่มทั้งระบบ”

“การ decentralize ของข้อมูล จึงน่าจะเกิดประโยชน์และเกิดความปลอดภัยต่อข้อมูลของเมืองสูงสุด ในความคิดของผม”

คุณเอกกล่าวทิ้งท้าย ฝากถึงเมืองต่างๆ ที่กำลังจะพัฒนาเป็นสมาร์ตซิตี้ ผ่านกับเราว่า “สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดนี้ เหมือนเราต่อยออกไปพันหมัด แต่ต่อยถูกจริงแค่ร้อยนะครับ อีกเก้าร้อยคือโดนต่อยสวน ผมใช้คำว่า “เราทำผิดมากกว่าทำถูกครับ” ส่วนที่รอดมา มันรอดจากที่ทำถูกเท่านั้น เราไม่ได้บอกว่าเรา success case เพราะเราผิดมากกว่าถูกครับ เรียนตรงๆ ว่า ที่เล่าให้ฟังนี้คือสิ่งที่พอเหลือรอดออกมาได้ ที่ผิดและเป็นแผลก็เยอะแยะ ที่เราปล่อยออกไปแล้วมันยังไม่เข้าเป้าแล้วมันยังไม่ใช่ก็มาก

“แต่ละเทศบาลเองเขาจะมีกองย่อย ที่มีภารกิจของเขา แต่จิ๊กซอว์ของภารกิจเหล่านั้น เขาดูแลทั้งเทศบาลนะครับ เขาจะดูแลความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น เพราะสุดท้ายคนที่ดูแลในท้องถิ่นจริงๆ คือเทศบาล เขาจะเข้าถึงประชาชนได้ลึกกว่าเรา ทางเรามีหน้าที่ซัพพอร์ตเขาให้เดินได้ดีที่สุด

“เนื่องจากในวันนี้ CDP กลายเป็นไครทีเรียในการขออนุมัติการขอเป็นเมืองสมาร์ตซิตี้แล้ว ผมก็อยากจะขอให้แต่ละพื้นที่แต่ละเมือง เอา CDP มาใช้จริงๆ ทำให้เกิดประโยชน์กับเมืองของตัวเองที่ขอไป และถ้าสามารถทำให้เป็น decentralize  ได้สมบูรณ์แบบมันก็จะดี เพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์กับเมืองตัวเองด้วย และทำเพื่อคนท้องถิ่นทั่วไปได้ด้วย มันจะเกิดเป็นคุณค่ากับจังหวัด กับเมือง กับประเทศ อย่างมหาศาล ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยและออกแบบ CDP ก็อยากให้เอามิตินี้ เอารูปแบบที่เราดีไซน์ไว้ ไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ”

ณ ปัจจุบัน CDP ของ จังหวัดภูเก็ต ในข้อมูล 1-2 ได้ออกแบบไว้แล้ว โดยวางแผนคร่าวๆ ว่าจะปล่อยออกมาให้ประชาชนได้เข้ามาใช้งานในช่วงไตรมาสที่สามของปี ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบแผนที่เสมือนจริง เพื่อให้นักลงทุนและบุคคลที่สนใจเข้าใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระบบ CDP ได้

ก็นับว่า อดใจรออีกไม่นาน เราจะได้ทดลองใช้ระบบบูรณาการสุดล้ำ ที่ออกแบบโดยคนไทยกันแล้ว ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอติดตามกันต่อไป

เครดิตภาพ: บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด