เป็นเวลาเกือบ 6 เดือนแล้วที่ตู้เย็นของบ้านตันศิริมาศปราศจากเนื้อสัตว์

ถึงจะเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่นานเท่าไหร่ แต่นี่ก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของทั้ง 4 ชีวิตในครอบครัว ซึ่งเริ่มต้นจากความตั้งใจของน้องภูมิ เด็กชายวัย 12 ขวบ หลังจากได้ไปดูสารคดี Eating Animals พร้อมคุณแม่เล็ก-สุชาดา ตันศิริมาศ ที่ทาง Documentary Club นำมาฉายในไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นับจากวันนั้นคุณแม่คนเก่งที่เข้าครัวทำอาหารให้เด็กๆ กินเป็นประจำก็ต้องเปลี่ยนวิธีการปรุงมาสู่การทำอาหารแบบไม่ใช้เนื้อสัตว์ตามคำขอของลูกชาย

แม้เล็กจะรีบบอกกับเราตั้งแต่เริ่มว่าเธอไม่ได้เรียกสิ่งที่กำลังทำอยู่ว่าการกินวีแกน เพราะยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจไม่เข้าข่าย แต่เรื่องราวของเธอและเด็กๆ ก็น่าสนใจจนเราต้องขอชวนคุณแม่ลูกสอง ผู้รับหน้าที่กุมกระทะและตะหลิวในบ้าน มาแบ่งปันอีกหนึ่งทางเลือกการกินดีจากหลายสิบวิธีที่คนช่างแคร์สามารถทำได้ เพื่อให้การกินของเราเป็นมิตรต่อทั้งตัวเองและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สารคดีเปลี่ยน (วิถี) ชีวิต

“ก่อนแต่งงานเราเคยกินมังสวิรัติอยู่ปีนึง แต่กินแบบไม่มีความรู้นะ ใช้วิธีการเขี่ยออก เพราะเคยคุยกับเพื่อนแล้วพบว่าตัวเองอาจจะไม่ได้เหมาะกับการกินเนื้อสัตว์เท่าไหร่ ไม่ชอบความรู้สึกคาวๆ แต่พอมีลูก เรากลัวว่าเขาจะไม่แข็งแรง เลยกลับมากินเนื้อสัตว์อีกรอบ แล้วก็คิดว่าถ้าลูกโตขึ้นหน่อยจะกลับไปกินมังฯ แต่พอถึงเวลาจริงเราทำอาหารสองชุดไม่ไหว เลยกินเนื้อสัตว์มาเรื่อยๆ”

เล็กเล่าให้เราฟังว่าแม้เธอจะกลับมากินเนื้อ แต่เธอก็พยายามคัดเลือกเนื้อสัตว์ที่ดีที่สุดเท่าที่พอจะหาได้ โดยการไปเลือกเนื้อสดใหม่ใส่กล่องกลับบ้านที่ตลาดเจ้าประจำเองทุกครั้ง แทนการซื้อเนื้อแพ็คที่อาจถูกทิ้งไว้นานหลายวันจากซูเปอร์มาเก็ต เมื่อกลับบ้านมาเธอจะลงมือทำอาหารเอง โดยพยายามลดส่วนผสม เช่น เกลือ น้ำตาลให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม 

“เราใช้ชีวิตแบบนี้มาเรื่อยๆ จนช่วงปลายปีที่แล้ว สามีเราส่งข้อความมาว่ามีสารคดีเรื่อง Eating Animals มาฉาย เกี่ยวกับการทำปศุสัตว์ เขาไม่ว่างเลยถามเราว่าอยากพาลูกไปดูไหม เพราะลูกเราเรียนโฮมสคูล ถ้ามีอะไรน่าเรียนรู้เราก็จะพาเด็กๆ ไป เราพาน้องภูมิลูกคนโตไปแบบที่คิดไว้ด้วยนะว่าดูเสร็จคงกินเนื้อไม่ลงแน่ๆ แต่เรายังไม่พร้อมหรอก เพราะน้องภูริ ลูกคนเล็กเพิ่งจะ 6 ขวบเอง” เล็กกล่าว 

Eating Animals ได้เปิดเผยข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในระบบปศุสัตว์ของอเมริกา ทั้งกระบวนการผลิตที่สร้างขยะมากกว่าปริมาณขยะที่ผู้คนทั้งโลกพยายามลด ไหนจะมลพิษจากการปลูกอาหาร การสูบน้ำบาดาลปริมาณมากมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และความทารุณโหดร้ายตลอดกระบวนการ ซึ่งทุกอย่างถูกปิดบังเป็นความลับผ่านกฎหมายห้ามถ่ายภาพและวิดีโอบริเวณฟาร์มปศุสัตว์ที่ออกกันเป็นลายลักษณ์อักษร

“พอออกจากโรงหนัง น้องภูมิก็บอกว่า แม่ๆ ภูมิไม่อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว เราเลยนั่งคุยกันตลอดทางกลับบ้านว่าไม่กินได้นะ แต่ลูกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าถ้าไม่กินแล้วจะใช้ชีวิตยังไง มีข้อดีข้อเสียยังไงบ้าง เขาก็โอเค บอกว่าฟังดูไม่ได้ยุ่งยากอะไร อาจจะเพราะเขายังเด็กด้วย ยังไม่เคยกินอาหารอีกหลายอย่าง เลยไม่ติดเนื้อสัตว์ขนาดนั้น

“พอกลับถึงบ้านเรามานั่งคุยกัน น้องภูริเขาก็มาฟังด้วย แล้วก็บอกเราว่าเขาขอกินด้วยคน เราเลยลองดูเพราะเด็กๆ สมัครใจ กินกันแค่สามคนไม่ได้ชวนคุณพ่อ เพราะคนนั้นเขาชอบกินเนื้อ เราก็ไปบอกสามีว่าเราจะทำกับข้าวให้ลูกแบบไม่ใส่เนื้อสัตว์นะ แต่ถ้าป๊าจะกินเนื้อ จะซื้อไก่ทอดเข้าบ้านมาก็ไม่เป็นไร ไปๆ มาๆ เขาก็กินด้วยเลย คงขี้เกียจออกไปซื้อแหละ” เล็กหัวเราะ

เริ่มต้นจากความแคร์ และต้องไม่มีข้อบังคับ

สิ่งแรกที่เล็กเริ่มทำหลังการตัดสินใจครั้งใหญ่ของเด็กๆ คือ การพาทุกคนไปตรวจร่างกาย เพื่อทดสอบให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตในคราวนี้จะไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของเด็กๆ 

แม้สถานการณ์ในช่วงนี้จะทำให้เธอไม่สามารถออกไปพบหมอได้ตามกำหนดแต่เล็กก็ยืนยันกับเราว่าเด็กๆ ทุกคนยังคงมีสุขภาพแข็งแรง แถมยังเติบโตตามมาตรฐาน ซึ่งก็น่าจะเป็นข้อสรุปที่ดีว่าสิ่งที่ทุกคนพยายามทำมาตลอด 6 เดือนนี้ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

“ในระหว่างนั้นเราก็ทำการบ้านเรื่องการกินไปด้วย เริ่มจากหาสารคดีเกี่ยวกับการกินวีแกนมาดู มันทำให้เราเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่ได้ทำลายแค่สิ่งแวดล้อมแต่ยังทำลายเราด้วย มันทำลายภูมิคุ้มกันของเรา ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง ทั้งโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดัน คลอเรสเตอรอล ที่สำคัญการกินเนื้อสัตว์ทำให้เราพลาดการกินวิตามินที่หลากหลาย”

แล้วเด็กๆ เข้าใจไหมว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่คือการกินวีแกน- เราถาม

“ไม่เข้าใจเลย ตอนแรกๆ เราเองก็ไม่เข้าใจ” เล็กรีบตอบ

“เราเพิ่งมารู้หลังจากศึกษาว่ามันมีหลายแนวมากทั้งวีแกน ทั้ง plant-based ทั้งมังสวิรัติ แล้วยังมีเจอีก เราเลยคิดว่าเอาง่ายๆ แล้วกันคือเราไม่กินเนื้อสัตว์พอ เพราะเรายังใช้น้ำปลา เด็กๆ ก็ยังต้องกินไข่ตามคำแนะนำของคุณหมอ 

“การกินของบ้านเราควบคุมได้ เราใช้วิธีไม่ซื้อเนื้อสัตว์เข้าบ้าน แต่ถ้าเขาต้องไปกินข้าวกับครอบครัวใหญ่ ไปกินกับอากง อาม่า เราก็ไม่อยากให้เกิดความยุ่งยาก ถ้าเมนูบนโต๊ะเลี่ยงได้ กินแต่ผักได้เราก็ทำแบบนั้น แต่ถ้าเขาสั่งกับข้าวมาแล้วมีเนื้ออย่างเดียว เราก็จะบอกเด็กๆ ว่ากินไปเถอะ ไม่ต้องรู้สึกผิด 

“อย่างน้องภูมิเพิ่งสอบเข้าม.1 ได้ เราก็คุยกับเขาว่าถ้าวันไหนแม่ทำข้าวกล่องให้ทัน แม่ก็จะทำให้ แต่ถ้าวันไหนทำไม่ทัน ภูมิก็ต้องไปหากินที่โรงเรียนเอง ทีนี้ก็แล้วแต่ลูกจะเลือก ถ้าไม่อยากกินเนื้อสัตว์ก็ไปหาข้าวผัดใส่ไข่กินก็ได้ หรือน้องภูริที่ต้องไปเรียนหนังสือที่บ้านครู เราก็บอกครูนะว่าคนอื่นกินยังไงก็ให้เขากินแบบนั้น ไม่ต้องทำพิเศษให้เขา

“จุดตั้งต้นของเราคือการกินเพราะแคร์สิ่งแวดล้อม แคร์สิ่งมีชีวิต ดังนั้นการแคร์ของเราก็ห้ามไปสร้างปัญหาให้คนอื่น อย่าทำให้เขารู้สึกยุ่งยาก อย่าทำให้เขาต้องสั่งเพิ่ม การกินของเราไม่ใช่กฎที่ต้องบังคับให้ทำตาม”

กลับมาเป็นแม่ครัวฝึกหัดอีกครั้ง

“เรารู้ว่าถ้าอยากทำให้หมูอร่อยต้องหมัก แต่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าถ้าจะทำเต้าหู้ให้อร่อยต้องทำยังไง” 

แม้เล็กจะคุ้นเคยกับการทำอาหารมาตั้งแต่น้องภูมิยังเล็ก แต่เธอก็ยอมรับว่าการทำอาหารโดยไม่ใช้เนื้อสัตว์ในช่วงแรกยังมีความท้าทายอีกหลายอย่าง แม้เธอจะมีตัวช่วยหลักเป็นคลิปสอนทำอาหารวีแกนจากยูทูบ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเมนูจะออกมาถูกต้องอย่างที่ตั้งใจ

“ช่วงแรกเราลองทำเทมเป้แฉะๆ แบบที่เขาทำกัน ปรากฎว่าไม่มีใครกินเลย” เล็กว่า จนช่วงหลังเธอพบว่าการตั้งต้นจากสารอาหารและวัตถุดิบที่อยากใช้แล้วค่อยขยับไปคิดเมนูเป็นวิธีการที่ง่ายกว่า

“เมนูของเราหลายอันเลยไม่มีชื่อเรียก เหมือนเขาจะชอบมีข้าวหมูแดงวีแกน น้ำตกหมูวีแกนอะไรแบบนี้ แต่บ้านเราไม่ใช้โปรตีนเกษตรหรือเนื้อเทียมเลย เราเอาอะไรมาประยุกต์ได้เราก็ทำอันนั้น บางวันเราก็อบมันใส่ถั่วทอดกระเทียม ใส่ผักที่อยากกิน จะเรียกสลัดก็ไม่ใช่ มันอบก็ไม่เชิง แต่บางวันเราก็ทำอาหารดั้งเดิม เช่น แกงเขียวหวาน ใส่ขนุนอ่อนแทนเนื้อสัตว์ หรือวันไหนเราทำเมนูไข่เยอะๆ ไม่ไหว เพราะบางทีมันคาว เราก็ใช้แป้งถั่วลูกไก่แทน”

หัวใจสำคัญในการทำอาหารของคุณแม่นักปรุง คือการเน้นอาหารจัดเต็ม ใส่เครื่องเยอะๆ ให้เด็กๆ กินอิ่มพร้อมพลังงานครบถ้วน ที่สำคัญหน้าตาของอาหารทุกจานยังถูกจัดมาอย่างสวยงามจนเราเห็นแล้วยังอดหิวตามไม่ได้ 

“เด็กๆ มีอาหารโปรดหลายอย่างเลย พวกเทมเป้ทอดกินกับแกงกะหรี่หวานๆ เขาก็ชอบ หรือตอนเช้าเขาก็จะชอบกินสลัด บ้านเราจะทำสลัดหนัก ไม่ใช่ผักเขียวๆ ฟูๆ เพราะเราว่ามันไม่อิ่มแถมเคี้ยวยาก เราจะใส่ข้าวโพด แอปเปิ้ล แตงกวา หอมใหญ่ กินกับน้ำสลัดทำเอง

“ช่วงหลังเราไปอ่านวิจัยเจอว่าร่างกายของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์นานๆ จะมีฤทธิ์เย็น เราเลยเติมฤทธิ์ร้อนด้วยการใส่สมุนไพรไทยอย่างกระเทียมเข้าไป เราใส่เยอะมากแต่ใช้วิธีการสับละเอียด พอไปเจอผลไม้หวานๆ น้องภูริยังกินได้สบายเลย”

เห็นเด็กๆ กินผักกันเก่งแบบนี้ เล็กยอมรับว่าบางทีพวกเขาก็แอบมีโมเมนต์โยเย ไม่ยอมกินข้าวเมื่อเจอผักใบที่มีกลิ่นเขียวจัดๆ อยู่เหมือนกัน

“เราต้องบอกเขาว่า ผักใบเขียวนี่มีธาตุเหล็กนะ ถ้าไม่กินเราก็ต้องกลับไปกินเนื้อสัตว์กันแล้วล่ะ พอพูดแบบนี้เด็กๆ ก็จะยอมกินเลย” เธอพูดออกมาขำๆ

“แต่มันก็มีบ้างที่เขาบ่นอยากกินเบคอน อยากกินกระทะร้อน เราก็ไม่ว่าหรอก ยังบอกเลยว่าถ้าออกไปข้างนอกแล้วเจอก็จะให้กิน เพราะเราไม่ได้บังคับเขาให้เลิกกินเนื้อ มันเกิดจากการเห็นร่วมกัน แล้วคือจะไปกินอะไรที่ไหนสุดท้ายเราก็เป็นคนกุมกระทะในบ้านอยู่ดี” เล็กหัวเราะ

ชุมชนคนกินผักอยู่ใกล้นิดเดียว

เล็กบอกกับเราว่าอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้การเลิกกินเนื้อสัตว์ของครอบครัวเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิดคือการที่เธอได้เข้าร่วมกลุ่ม Vegan of Thailand ทางเฟซบุ๊ก จนได้เจอกลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์เหมือนกัน ซึ่งคอยเข้ามาแลกเปลี่ยนและแนะนำสิ่งๆ ดีอยู่เสมอ 

“มีวัตถุดิบหลายอย่างที่เราทำเองไม่ไหว เราเคยลองทำเทมเป้แล้วพบว่ามันยากมาก เราเลยไปหาคนที่ทำขายแทน หรือขนุนอ่อนจากตลาดถ้าเก็บไม่เป็นมันจะดำ แต่ขนุนอ่อนที่เราไปเจอในเฟซบุ๊กเขาทำเป็นกระป๋องใส่น้ำเกลือมาเลย สะดวกมาก บางคนก็ทำซอสขาย อย่างเราทำชีสวีแกนได้เราก็เอามาขาย เราคิดว่ามันเป็นการแลกเปลี่ยนที่ดีนะ เหมือนเราช่วยเข้าไปเติมในส่วนที่คนอื่นทำไม่ได้”

และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณแม่คนเก่งตัดสินใจทำชีสวีแกนในชื่อ Plant Bless วางขายในเฟซบุ๊ก แต่เธอก็เสริมว่าจริงๆ แล้วตลาดอาหารวีแกนในประเทศไทยไม่ได้ยากเกินจะตามหา อย่างที่สันติอโศกก็มีชุมชนคนกินวีแกน ซึ่งมีร้านขายวัตถุดิบต่างๆ ที่จำเป็นหลายแห่ง หรือแม้แต่ในสถานการณ์โควิดที่ออกไปซื้อของเองไม่ได้ เราก็สามารถหาซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าออนไลน์ทั่วไปได้เหมือนกัน

“ถึงแม้การสั่งอาหารเดลิเวอรี่จะยากขึ้นมากในพื้นที่บ้านเรา แต่เรื่องวัตถุดิบไม่มีปัญหาเลยนะ เราสั่งออนไลน์ได้สบายมาก ถั่วลูกไก่ที่เราไม่สามารถไปซื้อที่สันติอโศกได้ เราก็สั่งมาจากเว็บไซต์ขายอาหารอินเดียแทน ปรากฎว่าได้อย่างอื่นมาอีกเพียบเลย 

“แล้วเวลาสั่งวัตถุดิบจากตลาดอินเดียเราจะได้เครื่องเทศที่มีประโยชน์หลายอย่าง เอามาทำอาหารได้โปรตีนสูงมาก ฮัมมัสนี่เราตักกินทีเหมือนได้กินถั่วปั่นเลย หรือจริงๆ เราจะดัดแปลงจากของใกล้ตัวก็ได้ อย่างน้องภูมิชอบกินแกงกะหรี่เทมเป้ทอด เราก็เปลี่ยนเครื่องโปรตีนตรงนี้เป็นฟองเต้าหู้ทอดแทนได้ความรู้สึกคล้ายๆ กันเลย” เล็กแนะนำ

เริ่มต้นได้ไม่ยากแค่ทำการบ้านและใส่ใจ

6 เดือนที่ผ่านมาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม – เราสงสัย

“หลายอย่างเลยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ” เล็กตอบ เราเลยขอให้เธอลองแจกแจงมากคร่าวๆ ว่ามีอะไรที่เธอรู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด

“เล็บน้องภูมินี่เห็นชัดมาก แต่ก่อนเล็บเขาเป็นคลื่นเพราะขาดวิตามินแต่เดี๋ยวนี้เล็บเรียบเลย ระบบขับถ่ายเราก็ดีขึ้น แต่จะบอกว่าแข็งแรงขึ้นไหมอันนี้พูดยาก บ้านเราไม่ค่อยป่วยกัน แต่ที่แน่ๆ ไม่ต้องกินวิตามินซีกับอาหารเสริมแล้ว

“อีกอย่าง เราเริ่มใส่ใจกับอาหารการกินมากขึ้น ถึงจริงๆ บ้านเราจะเป็นคริสเตียนเลยไม่ได้ตั้งต้นจากความเชื่อเรื่องบุญบาป แต่เราก็เริ่มตั้งคำถามว่าอาหารบางอย่างทำไมเราต้องกินมันด้วยนะ เวลาไปร้านอาหารญี่ปุ่นแล้วเจอเขาขายปลาตามฤดูวางไข่ที่มีไข่เต็มท้อง เราก็คิดว่าจริงๆ เราต้องกินมันไหมนะ หรือที่เรากินมันเพราะแค่อยากกินเฉยๆ ล่ะ ไม่ได้ขาดสารอาหารหรอก”

มาถึงตรงนี้เราก็อดคิดไม่ได้ว่าทั้งคุณพ่อ คุณแม่และเด็กๆ น่าจะกลายเป็นไอดอลในการหันมางดกินเนื้อสัตว์ของใครหลายๆ คนได้เลย แต่การจะหันมาเลิกกินเนื้อสัตว์แบบปุบปับก็ไม่ใช่วิธีการที่เธอแนะนำเท่าไหร่ เพราะหากตัดสินใจแน่วแน่แล้วก็ต้องทำการบ้านให้ดี เพื่อไม่ให้การเลิกกินเนื้อสัตว์ของเรากลายเป็นโทษต่อร่างกายแทน

“ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเองว่าถ้าไม่กินเนื้อสัตว์อะไรจะหายไป เช่น เราจะไม่ได้โปรตีน ธาตุเหล็ก กรดอะมิโน ถ้าเราได้คำตอบแล้ว ก็ต้องไปดูต่อว่าร่างกายเราต้องการพลังงานเหล่านี้เท่าไหร่ ถ้าเราไม่กินอกไก่แล้ว เราจะกินถั่วเหลือง กินผักใบเขียวยังไงให้ได้พลังงานเท่าเดิม วิตามินส่วนไหนที่ขาดก็หามาเสริม

“ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้หมด ก็ลองมาดูต่อว่าจะจัดสรรมื้ออาหารยังไง เริ่มจากมื้อเช้าก็ได้เพราะควบคุมง่ายที่สุด ไม่ใช่ว่าเลิกกินเนื้อ เลยหันไปกินกาแฟกับขนมปังนะ เราต้องกินให้ครบเหมือนเดิม อย่างบ้านเราจะกินสมูตตี้หนึ่งแก้ว ปั่นโดยใช้กล้วยหอม นมถั่วเหลือง แล้วใส่พวกเมล็ดแฟล็ก นูทริชันนอลยีสต์ สาหร่ายสไปรูลินา ผสมผักกินยากพวกบีทรูท คะน้า แล้วก็มีอาหารอีกจานนึง เอาให้อิ่มไปเลย”

เล็กเสริมเทคนิคว่าหากตั้งใจจะกินจริงๆ แล้วละก็ ลองกินให้ได้ทุกวันทุกมื้อ แทนการงดกินเป็นวันๆ ไปจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนกว่า แถมยังสามารถจัดการของในตู้เย็นให้ไม่มีเนื้อสัตว์อีกเลยได้ง่ายกว่าด้วย

“เราเคยเจอที่เขาบอกว่าถ้าเราทำอะไรติดต่อกัน 21 วันเราก็จะเข้าใจแก่นแท้ของมัน แค่ทำอาหารเป็นก็เปลี่ยนการกินได้ง่ายมาก ลองเปลี่ยนวัตถุดิบนิดหน่อย ก็ทำอาหารที่อร่อยและไม่มีเนื้อสัตว์ได้เหมือนเดิมแล้ว”

ภาพถ่าย: จตุพร ตันศิริมาศ