ปลายเดือนธันวาคม 2024 นี้ จังหวัดขอนแก่นจะมีงานอีเวนต์ใหญ่อย่างงาน “ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World‘24” ซึ่งเลือกนำสองสิ่งสุดยอดจากดินแดนที่ราบสูงมาเชิดชูให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลังของชาติและหมายใจจะโกอินเตอร์ ภายใต้ธีม ‘ISAN to The World’ โดยเบื้องหลังของงานนี้มีกลุ่มคนเล็ก ๆ ในนาม “พอแล้วดีอีสาน’ เป็นผู้คอยขับเคลื่อนงาน ซึ่งพวกเขาคือนักธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นที่ผ่านการบ่มในโครงการพอแล้วดี ที่สอนให้พวกเขารู้จักน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้สร้างภูมิต้านทานให้กับธุรกิจของตนและยังมีส่วนช่วยดูแลสังคมและโลกไปพร้อมกัน ดังนั้นงานปลาร้าหมอลำในครั้งนี้จึงผสานปรัชญาแนวคิดดังกล่าวเอาไว้ในทุกมิติ ว่าแต่จะน่าสนใจแค่ไหน Greenery. อาสาพาคุณไปฟังสปอยงานนี้แบบเบา ๆ จากพวกเขากัน
เฮือนคำนาง ดูแลโลกแบบพอเพียงด้วยปลาร้าสามไหและภูมิปัญญาอีสาน
“เฮือนคำนางเกิดมาจาก pain point ว่าคนส่วนหนึ่งไม่รับประทานอาหารอีสานเพราะไม่ทานปลาร้า เราจึงอยากให้คนรับรู้เรื่องวัฒนธรรมอีสานที่มีรากเหง้า มีภูมิปัญญาที่ยาวนาน ผ่าน ‘ปลาร้า’ ซึ่งมันเป็นเรื่องของความมั่นคงด้านอาหาร” เชฟคำนาง-ณัฏฐภรณ์ คมจิต เกริ่นให้เราเข้าใจถึงความมุ่งหมายของแบรนด์
เมื่อได้รับคำชวนจาก หนุ่ย ดร.ศิริกุล เลาภัยกุล ผู้อำนวยการโครงการพอแล้วดี และจากการได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นซึ่งเห็นตรงกันว่า ปลาร้าไม่ใช่แค่ซอฟต์พาวเวอร์ระดับภูมิภาค แต่สามารถเติบโตสู่ระดับโลกได้ เชฟคำนางจึงเต็มใจกระโดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนและสื่อสารในประเด็นนี้อย่างเต็มที่
“พวกเราคือกลุ่มพอแล้วดีอีสาน ซึ่งมาจากนักธุรกิจหลากหลายสาขาอาชีพ แต่มีหัวใจเดียวกันที่อยากช่วยพัฒนาแผ่นดินอีสานภายใต้ต้นทุนของแบรนด์ของตนเอง พร้อมสื่อสารความภาคภูมิใจในความเป็นอีสานให้โลกรู้ โดยมีจุดเชื่อมโยงคือต่างเป็นนักธุรกิจที่ผ่านการเรียนในโครงการพอแล้วดี ซึ่งเป็นโครงการที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการประกอบอาชีพในทุก ๆ มิติ เพื่อดูแลตัวเอง ดูแลสังคม และดูแลโลก
“ในงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้ แบรนด์เฮือนคำนางของเรา ต้องการนำเสนอจุดยืนของเรา คือ Authentic Isan Wisdom เฮือนคำนางวางตัวเองไว้ว่าเราจะเป็นชุดความรู้ของปลาร้าค่ะ ซึ่งส่งต่อผ่านทั้งเวิร์กช็อป ผลิตภัณฑ์ และอาหารอีสานที่เฮือนคำนางจะเสิร์ฟในบูธของทางร้าน รวมถึงคอร์ส Fine Dining ที่จองเข้ามารับประทานได้ เรามีแบรนด์น้ำปลาร้าที่ทำทุกกระบวนการด้วยตัวเอง จนตกตะกอนได้วลีว่า ‘หนึ่งแดดหนึ่งน้ำค้าง’ ซึ่งยินดีจะส่งต่อความลับการหมักปลาร้าให้ปลอดภัยต่อสุขภาพนี้ให้กับผู้มาร่วมงานได้รับรู้
“ในมุมมองของเรา เฮือนคำนาง ปลาร้า หรือความพอเพียง คือเรื่องเดียวกัน เพราะเรากำลังสื่อสารโลกผ่านธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความพอดี รู้จักประมาณตนด้วยบริบทของทรัพยากร วันนี้มีปลา 3 ไห จะจัดการอย่างไรให้มีกินทั้งวันนี้และพรุ่งนี้ พอให้เพื่อนข้างบ้าน ให้ชุมชน พอสำหรับประเทศเราและทั้งโลก โดยใช้ภูมิปัญญาอีสาน
“คำนางอยากให้สิ่งนี้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ช่วยกันสื่อสารด้านความมั่นคงด้านอาหาร เป็นเรื่องของความยั่งยืน ธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน (Regenerative) และมันจะช่วยปกป้องดูแลโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นมันต้องไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันส่งแรงกระเพื่อมออกไปจนถึงระดับโลก”
เชฟคำนางยังยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า ถ้าใครมาเที่ยวงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้จะได้รับรสชาติของปลาร้าในทุกมิติ ทุกประสาทสัมผัสแบบ “แซ่บทุกครัว นัวทุกคน” แน่นอน
การรับรู้ใหม่ในจักรวาลไหปลาร้า กับ ว.ทวีฟาร์ม
“พอแล้วดีอีสาน คือการรวมกลุ่มกันของนักธุรกิจในแผ่นดินอีสานที่น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจของตัวเองอย่างรู้จักตนเอง รู้จักประมาณตนตามแบบวิชาชีพที่ตนเองถนัด นำไปสู่ภูมิคุ้มกันทางธุรกิจและสังคม ตลอดทั้งส่งมอบควาภูมิใจของความเป็นอีสาน และในงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้เราอยากส่งต่อความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับปลาร้าให้กับผู้มาร่วมงาน กลุ่มพอแล้วดีอีสานจึงช่วยกันถอดองค์ความรู้จากวลีว่า ‘หนึ่งแดดหนึ่งน้ำค้าง’ ของเชฟคำนาง ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนได้รู้ความลับว่าการทำปลาร้าตามกรรมวิธีดั้งเดิมทำไมจึงดีต่อสุขภาพผู้บริโภค”
ฟิวส์-วานิชย์ วันทวี แห่ง ว.ทวีฟาร์ม เล่าถึงแก่นในการดำเนินธุรกิจที่ได้เรียนรู้มาจากการเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เขาจะนำมาสื่อสารในงานปลาร้าหมอลำ
“การหมักปลากับเกลือ จะทำให้เกิดกระบวนการออสโมซิส เกลือจะช่วยป้องกันแบคทีเรียกลุ่มแอโรบิคซึ่งเป็นอันตรายไม่ให้เกิด หลังจากนั้นนำปลาไปตากแดด 1 วัน และ ตากน้ำค้าง 1 คืน ก่อนบรรจุลงไห เพราะตอนกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่มีแบคทีเรียท้องถิ่นแบบแอนแอโรบิคที่ไม่ใช้อากาศเข้ามาทำงานกับเนื้อปลา ซึ่งปลาร้าในขอนแก่นมีจุลินทรีย์เฉพาะถิ่น 2 ชนิดที่มีเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นเท่านั้น ที่ทำให้รสชาติของปลาร้ามีเอกลักษณ์
“ปลาร้าที่ดีจะต้องไม่มีหนอน และหมักอย่างต่ำ 6 เดือน จะทำให้ปลาร้ากินดิบได้และเป็นโพรไบโอติกส์ที่เมื่อกินกับผักดองซึ่งเป็นพรีไบโอติกส์ตามวัฒนธรรมการกินน้ำพริกแบบอีสาน ทั้งสองส่วนเมื่อมาเจอกันจะช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวหรือภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง กรณีโรคไตก็มีงานวิจัยว่าคนที่บริโภคปลาร้าหมักแบบดั้งเดิมไม่ได้ปรุงแต่งด้วยสารต่าง ๆ อย่างทุกวันนี้นั้นไม่มีอุบัติการณ์การเป็นโรคไตเลยด้วยซ้ำ นี้คือตัวอย่างของมุมมองใหม่ที่อยากสื่อสารให้คนเข้าใจ”
แค่จั่วหัวมายังน่าสนใจขนาดนี้ แล้วเวอร์ชั่นเต็มในงานปลาร้าหมอลำจะน่าสนใจขนาดไหน และยังไม่พอเพราะ ว.ทวีฟาร์ม ยังนำนวัตกรรมโครงสร้างไม้ไผ่ที่ร่วมออกแบบกับวัชรพงษ์ฟาร์มมาโชว์ในงานด้วย พร้อมเตรียมเสิร์ฟสเต๊กเนื้อที่เลี้ยงด้วยหญ้า และหมูที่เลี้ยงแบบระบบไบโอไดนามิก เคียงด้วยผักพื้นบ้าน ราดซอสน้ำปลาร้ารสนัวที่คิดค้นขึ้นเป็นพิเศษมาให้ชิม
“เราอาจจะเปลี่ยน mind set ไม่ได้ทั้งหมด แต่มันใจมาก ๆ ว่า ในงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้ เราจะสร้างความเข้าใจให้คนได้รู้จักปลาร้าในมิติใหม่ ๆ ได้อย่างแน่นอน จึงอยากชวนทุกคนที่สนใจ future of food ที่ผ่านการพัฒนาจากบรรพบุรุษมาหลายร้อยปีแล้วมาร่วมรับรู้สิ่งที่เราจะสื่อสารและส่งมอบ local wisdom ferment of future of life นี้กันครับ”
วัชรพงษ์ฟาร์ม ส่งต่อความรักและศักดิ์ศรีเกษตรกร ผ่านซูเปอร์ไข่และไก่พื้นเมือง x ปลาร้า
“คอนเซปต์ของปลาร้าหมอลำคือ ISAN to The World มันตรงกับแนวคิดและหัวใจหลักของวัชรพงษ์ฟาร์ม เพราะเราก็อยากจะยกระดับไก่พื้นเมืองเหมือนกัน และอยากกอบกู้คุณค่าของเกษตรกรไทยให้กลับมา”
กระติ๋ม ดร.สุกัญญา เจริญศิลป์ และ บาส วัชรพงษ์ เตียวยืนยง จากแบรนด์วัชรพงษ์ฟาร์ม เล่าถึงความเชื่อมโยงระหว่างฟาร์มไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงไก่ตามสัญชาตญาณ ของพวกเขากับงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้
“เราเห็นคนในหมู่บ้านที่ไปทำงานต่างประเทศและพ่อแม่ห่อแจ่วบองให้ติดตัวไปด้วย มันเหมือนเป็นกำลังใจที่ส่งต่อให้เขาทำงานหรือสู้ต่อเพื่อบรรลุเป้าหมาย ปลาร้าจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก นี่คือมุมมองที่เราเห็นอยู่ในปลาร้า” กระติ๋มเล่ามุมมองของเธอต่อปลาร้า บาสที่นั่งข้างกันเสริมว่า “มันคือคอนเซปต์เดียวกันกับลูกค้าที่ซื้อไก่เราไป แล้วเขากลับมาบอกว่ามันเหมือนไก่ที่เคยกินสมัยเด็ก มันคือ nostalgia หรือรสชาติของความหวนคิดถึง ที่บางคนสามารถที่จะกินแล้วร้องไห้ออกมา”
กว่าจะทำให้เนื้อไก่และไข่พื้นเมืองกลายเป็นรสชาติแห่งความทรงจำ พวกเขาทั้งสองศึกษาลงลึกอย่างจริงจัง จนค้นพบว่าวิธีที่ดีที่จะทำให้ไก่พื้นเมืองและไข่ไก่เป็น Super Food ก็คือการเลี้ยงปล่อยตามสัญชาตญาณ ทำให้ไก่ที่ฟาร์มนี้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีตามประสาไก่ ได้อาบแดดตอนเช้ารับวิตามิน D ได้กินอาหารจากพืชสมุนไพรพื้นเมืองที่เกิดเองในฟาร์ม และกลายเป็นสารตั้งต้นของสารสีส้มในไข่แดงโดยธรรมชาติที่อุดมไปด้วยแอนติออกซิแดนต์ บาสย้ำกับเราว่า
“ผมกับกระติ๋มเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ เราสามารถทำให้ไก่มันโตแบบก้าวกระโดดได้แต่เราเลือกที่จะไม่ทำ เพราะเราเลือกที่จะพอ เรามองว่าการเลี้ยงไก่พื้นเมืองตามแบบสัญชาติญาณมันเป็นไก่ที่สมบูรณ์แล้ว ถ้าไปเร่งโตต้นทุนเราอาจจะลดลง แต่ไก่พื้นเมืองก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด ความพอเพียงของเราคือหยุด พอ รู้จักตนเอง และรู้จักไก่พื้นเมืองที่เขาควรจะเป็น มันคือการใช้ความรู้ในการพัฒนาอย่างเข้าใจธรรมชาติและตัวตนของสิ่งมีชีวิต”
ในงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้ วัชรพงษ์ฟาร์มจึงเลือกนำ Super Food สองอย่างมาผสานกัน “การหมักปลาร้าทำให้สายโปรตีนในปลาสั้นลงและมีคุณสมบัติเป็น Bioactive Compounds ที่ดีต่อสุขภาพ เราเองก็ต้องการพัฒนาไก่พื้นเมืองให้มีกระบวนการปรุงเพื่อให้เกิดโปรตีนสายสั้นเช่นกัน พวกเราจึงเลือกนำเสนอเมนูอาหารจาก Super Egg และ Super Chicken ที่พลัสคุณค่าด้วยปลาร้า ทั้งไข่เค็มหมักปลาร้าและไข่ตุ๋นน้ำปลาร้ามาให้คุณลิ้มลอง
“เราอยากจะชวนคุณขยับจากมุมเดิม มาเห็นศักยภาพที่แท้จริงของปลาร้า ว่ามันมีมิติไหนบ้างที่ดีกับตัวเราและใกล้ตัวเรา ส่วนตัวมองว่าแรงกระเพื่อมทางสังคมจะเกิดขึ้นเร็วหากมาจากสิ่งใกล้ตัว งานปลาร้าหมอลำครั้งนี้มันคืออัจฉริยะทางด้านวิทยาศาสตร์และก็ด้านศิลปะของคนอีสาน ดังนั้นหากมีโอกาสก็ไม่ควรพลาดมาสัมผัสด้วยประการทั้งปวง”
จากการทำงานอย่างหนักหน่วงจริงจังเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดมานำเสนอในงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้ กระติ๋มบอกกับเราว่า เธอมั่นใจว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่มีทางสูญเปล่า จะต้องประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะในงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้แบรนด์ของเธอไม่ได้เดินเพียงลำพัง หากแต่มีผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันจากโครงการพอแล้วดีอีสานคอยอยู่เคียงข้าง จับมือส่งเสริมสนับสนุนผลักดันกันและกันอยู่เสมอ
“การร่วมงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้ ทำให้เราทั้งสองคนได้สัมผัสถึงพลังของกลุ่มพอแล้วดีอีสาน ที่เชื่อมกันด้วยหัวใจ ความรักและความศรัทธาของพี่น้อง ของเพื่อน ที่พร้อมจะ support กันด้วยความถนัดและความเชี่ยวชาญของตัวเอง แม้จะมีไลฟ์สไตล์และกลยุทธ์ในการทำงานต่างกัน แต่มีจิตวิญญาณเดียวกันที่มุ่งมั่นจะเก็บรักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม พัฒนาให้คงอยู่และร่วมสมัย กระติ๋มเชื่อค่ะ ว่าพวกเราพอแล้วดีอีสานจะช่วยกันขับเคลื่อนให้ ISAN to the World ได้อย่างแน่นอน”
Re No Waste ม่วน ๆ ในงานปลาร้าหมอลำแบบ BWILD ISAN
“ในมุมมองของ BWILD ISAN กลุ่มพอแล้วดีอีสานเปรียบเหมือน ‘จุดเล็ก ๆ’ ที่เชื่อมโยงกันจนเกิดเป็น ‘เส้นทาง’ ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อเดินคนเดียว เป็นพลังของคนตัวเล็กที่เชื่อมโยงกันด้วย Purpose of Life ที่ต้องการสร้างโอกาสกลับสู่อีสาน โดยใช้ความสามารถที่แตกต่าง สนับสนุน และสร้างประโยชน์ร่วมกันเป็นภูมิคุ้มกันให้กันในแบบคน ‘พอแล้วดี’
“แบรนด์ของเราเชื่อใน Sustainable Fashion และปลายทางของแฟชั่น ในวิถีแห่งความยั่งยืน คือ No Fashion ทุกธุรกิจแฟชั่นจึงต้องมีเหตุผลในการดำรงอยู่ BWILD ISAN ใช้สินค้าแฟชั่นที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายในการบอกเล่าเรื่องราวผ่านความคิดสร้างสรรค์และฝีมือผู้คน งานทุกชิ้นที่ทำ ทำเพื่อรักษาคุณค่าบางสิ่งให้คงอยู่ และสร้างความสุขที่มีความหมายมากขึ้น
“ขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ล้นโลกในวันนี้ มีมากจนไม่มีเหตุผลต้องสร้างผ้าผืนใหม่ แต่สิ่งเร่งด่วนคือ วิธีการจัดการสิ่งเหลือใช้เกินความจำเป็นของแฟชั่นในวันนี้และความมั่นคงในอาชีพของชุมชนมากกว่า เราพยายามหาจุดสมดุลที่ผู้คนยังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้ใช้ฝีมือในการสร้างงาน สร้างอาชีพที่ได้สร้างความภาคภูมิใจในงานไปด้วยได้
ในงานปลาร้าหมอลำครั้งนี้ BWILD ISAN จะพาโปรเจกต์ “Re No Waste” มาให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัส โดยจะนำสิ่งเหลือใช้จากแฟชั่นทุกอย่างไม่ว่าจะเสื้อผ้ามือสอง ผ้า ด้าย เชือก ชิ้นส่วนวัสดุอื่น ๆ ที่น่าสนใจ มารวมกัน ออกแบบวาดโดยนักออกแบบ ศิลปินรุ่นใหม่ เล่าออกมาเป็นเรื่องราว ลวดลาย งานทำมือสุดพิเศษ
“สินค้าที่จะนำไปจำหน่าย และเปิดรับออเดอร์ที่บูธพอแล้วดี ในงานปลาร้าหมอลำนี้ มีแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของเพื่อน ๆ ในทีมพอแล้วดีอีสาน เช่น คอลเลคชัน ‘ภูเม็งแมน’ ที่ได้หมอฟิวส์ แห่ง ว.ทวีฟาร์ม เสื้อ blazer ไก่ประดู่หางดำ ของ ดร.กระติ๋ม จากวัชรพงษ์ฟาร์ม และเสื้อเชฟคำนาง ที่นำพาอาหารอีสานไปสู่โลก แล้วยังมีงานเก้าอี้พับ Weaving Waste ใช้เศษผ้าที่เหลือใช้ ให้ย่ายายสามารถทอมือได้ กลับมาเป็นของใช้ในบ้านที่มีเรื่องราว เราต้องการสื่อสารเรื่อง Re No Waste ทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าวัสดุ ภูมิปัญญา ผู้คน ก็ไม่มีสิ่งไหนสมควรกลายเป็น Waste”
“แฟชั่นในแบบ BWILD ISAN เราต้องฉวยทุกโอกาส ใช้ทุนให้น้อยที่สุด ทำในสิ่งที่คนต้องการที่สุด เล่าเรื่องบางอย่างที่ยาก ให้ง่ายและว้าวที่สุด สิ่งที่คนเขามองข้าม ถ้าเรามีความคิดสร้างสรรค์ ตั้งใจดี เราจะทำมันให้พิเศษ และมีความหมายได้
ด้วยการทำธุรกิจที่ยึดหลักสามห่วงสองเงื่อนไขตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนของทุกการตัดสินใจ วันนี้แบรนด์ BWILD ISAN พร้อมแล้วที่จะโชว์ให้เห็นการทำธุรกิจที่มีศักดิ์ศรี และสามารถเกื้อกูลคนรอบข้าง สังคม สิ่งแวดล้อม และช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาอีสานเอาไว้ สามารถทำได้จริง
ชมพู่ กาญจนา ชนาเทพาพร เจ้าของและผู้ก่อตั้งแบรนด์ BWILD ISAN ป้ายยาเรา และขอชวนให้มาสัมผัสกับสิ่งที่เธอเล่าผ่านงานปลาร้า หมอลำ ISAN to the World‘24 ปลายเดือนธันวาคม 2567 นี้
ติดตามทุกรายละเอียดของงานปลาร้าหมอลำได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก “ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World‘24” และเพจเฟซบุ๊กของทั้ง 4 แบรนด์พอแล้วดีอีสานที่กล่าวถึง (เฮือนคำนาง, ว.ทวีฟาร์ม, วัชรพงษ์ฟาร์ม super natural wellness, BWILD ISAN)