“งานนิทรรศการปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24 ครั้งนี้ เรานำแนวคิดหนึ่งที่โครงการพอแล้วดีสอนเรามาใช้ในการออกแบบ คือ ‘ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง’” ตั้ม พงศกร อ้นประดิษฐ แห่ง ATTA Studio เล่าถึงแก่นของนิทรรศการเชิดชูภูมิปัญญาอีสานในครั้งนี้ ก่อนที่ ตูน ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล ไดเร็กเตอร์ของ MOHO Design Studio ในฐานะ Co-Designer โครงการ จะย้ำกับเราเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่ผมอยากให้ผู้ที่มาชมนิทรรศการนี้ได้รับ มันไม่ใช่แค่ความรู้ หรือแค่ความบันเทิง แต่ต้องการให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจกับภูมิปัญญาอันเก่าแก่ของอีสาน ซึ่งเป็นมรดกของชาติ” นั่นทำให้เราสัมผัสถึงความลึกซึ้งที่พวกเขาได้รับจากโครงการพอแล้วดี และนำมาปรับใช้กับการทำงานได้อย่างกลมกล่อม

ปลายเดือนธันวาคมปีนี้ จะมีอีเวนต์ใหญ่จัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น นั่นคือ งานปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24 ว่าแต่ทำไมต้องปลาร้า ทำไมต้อง to The World แล้วทำไมต้องขอนแก่น นิทรรศการและเวทีเสวนา ซึ่งจัดขึ้นในโรงแรม Ad Lib Khon Kaen จะช่วยอธิบายเรื่องราวทั้งหมด Greenery. จึงชวน ตูน และ ตั้ม ดีไซน์เนอร์ผู้ดูแลการออกแบบนิทรรศการส่วนดังกล่าวมานั่งคุยกันว่านิทรรศการปลาร้าครั้งนี้จะแซ่บนัวแค่ไหน

จากไม่กิน สู่ความรู้สึกอินกับปลาร้า และนำมาใช้ออกแบบนิทรรศการ
“เมื่อก่อนผมไม่กินปลาร้า คิดว่าเป็นแค่ปลาเน่า ๆ แล้วเอามาปรุงอาหาร แต่พอเราลงมาทำงานนี้และได้หาข้อมูลเพื่อทำนิทรรศการ ความคิดเราเปลี่ยนทั้งหมดและเห็นคุณค่าในภูมิปัญญาอาหารของอีสาน ได้สัมผัสข้อมูลที่น่าทึ่งมากมาย จึงอยากทำ Exhibition ที่มันเปลี่ยนทัศนคติของคน ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เราคิดว่ามันเหม็นจริง ๆ มันมีคุณค่านะ ที่มีคุณค่าเพราะปลาร้ามันเป็นวัฒนธรรมสืบทอดต่อมายาวนานมาก และมันยังคงอยู่มาถึงทุกวันนี้ ซึ่งผมกับพี่ตั้มทำงานแบบ Design Collaboration ร่วมกัน เพื่อสื่อสารถึงประเด็นดังกล่าว

“เวลาผมไปต่างประเทศ ก็จะมีเพื่อนคนอีสานเขาก็จะพกปลาร้าไปด้วย ผมเลยมองว่าปลาร้ามันคือสิ่งที่สร้างตัวตนเขาขึ้นมา มันก็เหมือนเป็นนามบัตรของคนอีสาน เราจึงตั้ง Key Message นิทรรศการนี้ว่า ‘ปลาร้าบ่กินมันเน่า ปลาร้าบ่เล่ามันลืม’ โดยผมจะลำดับเนื้อหาเป็นโซนต่าง ๆ 3 โซน

“เริ่มจาก Why ปลาร้า? โซนนี้เราจะพูดถึงเหตุผลของการเกิดปลาร้า ที่มาของภูมิปัญญาการถนอมอาหารของอีสาน และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แม่น้ำทั้งสี่สายของอีสานทั้ง โขง ชี มูล และลุ่มน้ำสงคราม แหล่งวัตถุดิบที่ใช้ทำปลาร้าทั้งแหล่งข้าว แหล่งผลิตเกลือ ซึ่งต่างส่งผลต่อรสชาติและกลิ่นของปลาร้าในต่างพื้นที่ ตลอดจนอาชีพที่เกี่ยวข้องกว่าจะเป็นปลาร้า ทั้งคนจับปลา คนทำเกลือ คนปั้นไห ดังนั้นปลาร้าในไหมันจึงเป็นได้มากกว่าอาหาร แต่คือจิตวิญญาณของคนอีสานโดยแท้

“ถัดมาจะเป็นโซน PLARA to the World ที่เราจะชี้ให้เห็นว่า ปลาร้าที่คนไทยหลายคนมองว่าเป็นของเหม็น แต่ต่างชาติก็มีภูมิปัญญาการหมักดองปลาร้าเหมือนกัน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาการเอาชีวิตรอดด้วยการถนอมอาหารของมนุษยชาติ และคนอีสานแม้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ยังนำเอาภูมิปัญญาการหมักปลาร้าไปใช้กับปลาอื่น ๆ

“เราจะนำเสนอเนื้อหานิทรรศการโซนนี้ 5 เรื่อง ก็คือ The Economy เล่าถึงอาชีพของคนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปลาร้า The Wisdom เล่าถึงการส่งต่อภูมิปัญญาการถนอมอาหารมาอย่างยาวนานของผู้คนอีสาน The Knowledge ว่าด้วยศาสตร์การหมักปลาร้าที่หลายคนไม่รู้ ลงลึกระดับการทำงานของจุลินทรีย์ ที่จะส่งผลต่อกลิ่นรสของปลาร้า และผลที่ดีต่อสุขภาพของปลาร้า รวมถึงการสื่อสารเรื่องความเป็น Security Food ด้วย เพราะการทำปลาร้าคือการจัดการวัตถุดิบให้ไม่ต้องเหลือทิ้ง เรื่องที่สี่ที่จะนำเสนอคือ The Technology แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีผลิตปลาร้าในปัจจุบันด้วยเครื่องจักรโรงงานขนาดใหญ่ เทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้ปลาร้ามีคุณภาพของความสะอาด การผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์ปลาร้าของเราสามารถสร้างมาตรฐานส่งออกไปขายต่างประเทศได้ สุดท้ายที่จะนำเสนอในโซนนี้คือ The Creative หรือแรงบันดาลใจที่ก่อเกิดจากปลาร้า ทำให้มีผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมต่าง ๆ สร้างสรรค์ขึ้นมากมาย ทั้งหมดก็เพื่อจะสื่อสารความเข้มข้นของจิตวิญญาณแห่งอีสาน

“โซนสุดท้ายของนิทรรศการ คือ Why Khon Kaen? ตอนที่ผมหาข้อมูลเรื่องนี้เราพบสิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ รูปร่างแผนที่ของจังหวัดขอนแก่นเป็นรูปสามเหลี่ยม ตัวผมเองเป็นศิลปินนักพับกระดาษด้วยและเรารู้ดีว่ารูปทรงสามเหลี่ยมนั้นมีพลังมาก สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี และมีด้านที่เปิดกว้างมากกว่ารูปร่างอื่น ๆ ขอนแก่นจึงมีพื้นที่เชื่อมต่อกับจังหวัดอื่น ๆ รอบข้างมากที่สุด ไม่แปลกใจว่าทำไมวัฒนธรรมหรือวัตถุดิบต่าง ๆ มันหลังไหลเข้าขอนแก่นมากกว่าทุกที่”

ออกแบบโครงสร้างนิทรรศการตามหลัก 3P ที่พอแล้วดีบ่มเพาะ
เมื่อไอเดียถูกวางอย่างน่าสนใจแล้ว การสร้างสรรค์รูปแบบนิทรรศการที่ส่งเสริมเนื้อหา สร้างบรรยากาศร่วมให้กับผู้ชมนิทรรศการได้อินไปกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอจึงสำคัญไม่แพ้กัน โดยเรื่องนี้ตั้มเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า

“ด้วยความที่โครงการพอแล้วดีสอนให้เราทำธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือทำงานอย่างคำนึงถึงผู้อื่น ดีต่อคน และดีต่อโลก ตามหลัก 3P (Profit, People, Planet) เราจึงนำแนวคิดนี้มาใช้ออกแบบงานนิทรรศการ เริ่มจากโครงสร้างที่ใช้วัสดุในพื้นที่อย่างไม้ไผ่ ผสมผสานกับองค์ประกอบงานออกแบบทั้ง 5 ประกอบด้วย ไหปลาร้า แหจับปลา Artwork โมเดลปลากระดาษ เกลือ และข้าว ซึ่งวัสดุทั้งหมดสามารถรื้อถอนได้ง่ายเมื่อเสร็จงานและนำไปใช้ต่อได้ (Reuse) เกือบทั้งหมด โดยเราเลือกใช้ช่างฝีมือที่เป็นเกษตรกร ไม่ได้ใช้ช่างก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งต่าง ๆ ในนิทรรศการเราจะวางแผนทั้งหมดว่าเมื่อรื้อถอนแล้วจะต้องไม่เป็นขยะ ไม้ไผ่สามารถรื้อถอนให้เกษตรกรนำไปใช้ต่อได้ ไห ข้าว เกลือ จะส่งต่อให้กับกลุ่มคนทำวัตถุดิบอาหารอีสานเครือข่ายเชฟเฮือนคำนาง เรียกได้ว่าวัสดุ 99 เปอร์เซ็นต์ จะไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ

“พวกเราช่วยกันออกแบบว่าจะสะท้อนเนื้อหานั้นออกมาอย่างไรให้กระทบใจคนมาชมนิทรรศการที่สุด เพื่อให้เห็นถึงคุณค่ามรดกภูมิปัญญาของคนอีสานในศาสตร์การถนอมอาหาร ที่สร้างความมั่นคงทางอาคารเป็น Food Security ของคนอีสาน รวมถึงคนไทยทุกคน และเป็นจิตวิญญาณแห่งอีสานที่ลูกอีสานเมื่อต้องจากถิ่นจะนำปลาร้าติดตัวไปด้วย โดยทางเข้านิทรรศการจะโชว์ไหปลาร้าแบบต่าง ๆ มี Key Message สำคัญติดไว้ก็คือ “ของกินบ่กินมันเน่า ของเก่าบ่เล่ามันลืม”

“พอเดินเข้างาน เราจะใช้ปลากระดาษฝีมือของตูน ซึ่งเป็นศิลปินนักออกแบบกระดาษแบบโอริงามิ (Origami) แขวนด้านบนเรียงเป็นสายพุ่งสู่ไหซึ่งเป็นโซนนิทรรศการ เปรียบเสมือนสายน้ำทั้ง 4 ของอีสาน โขง ชี มูล และลุ่มน้ำสงคราม ที่นำเอาปลาหลากหลายชนิดมาหล่อเลี้ยงชีวิตคน และปลาเหล่านั้นสามารถหมักปลาร้าได้ เป็นเส้นนำสายตาสู่นิทรรศการด้านใน

“จุดแรกจะเป็นจุด Why ปลาร้า ที่โชว์ว่าปลาร้านี้มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาอย่างไร มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนอีสานอย่างไร ก็จะสื่อสารถึงปลาร้าที่เป็นมากกว่าอาหาร แต่เป็นถึงส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณคนอีสานที่แม้จะไปอยู่ต่างแดนก็ยังไปทำปลาร้า เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการเข้าใจรากของวัฒนธรรมอีสาน จนถึงคุณค่าของศาสตร์วัฒนธรรมการหมักอาหารของคนอีสาน ที่ตอนนี้ทั้งโลกให้คุณค่าในการสร้างมั่นคงทางอาหารร่วมกัน

“ถัดมาเป็นโซน PLARA to the World ไฮไลต์สำคัญของโซนนี้อยู่ที่ ‘ไหยักษ์’ ที่ภายในเราจะนำเสนอเนื้อหาว่า Ecosystem ของปลาร้า มันเชื่อมโยงมากมายทั้งในภาคธุรกิจที่ได้ประโยชน์ แล้วก็เรื่องความสร้างสรรค์ เรื่องเทคโนโลยีถนอมอาหาร ที่จะทำให้อาหารนี้ไปสู่ต่างประเทศได้ยังไง แล้วก็เรื่องเศรษฐกิจ หลายคนอาจไม่รู้ว่าธุรกิจปลาร้ามันมีมูลค่าเป็นพันล้าน โดยผู้ชมนิทรรศการต้องมุดหัวเข้าไปดูข้อมูล ระหว่างนั้นก็จะมี TV ที่ฉายเรื่องคนที่เกี่ยวข้องอยู่ใน Ecosystem กับปลาร้า ปิดช่วงสุดท้ายในโซนสองด้วย ‘ปลาร้า Map’ ที่จะมีชั้นโชว์ปลาร้าแต่ละท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน

“นิทรรศการโซนสุดท้ายคือ Why Khon Kaen? ก็จะมีแผนที่แสดงให้เห็นว่าทำไมต้องจัดงานนี้ที่ขอนแก่น ชี้ให้เห็นว่าขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่ติดกับจังหวัดอื่นมากที่สุดในประเทศถึง 9 จังหวัด โดยเป็นจังหวัดในภาคอีสาน 8 จังหวัด และก็มีจังหวัดเพชรบูรณ์อีก 1 จังหวัด เรียกได้ว่าแค่โลเคชันขอนแก่นก็มีความพิเศษแล้ว และยังมีมิติอื่นอีก ซึ่งผมคิดว่าขอนแก่นเป็นจุดที่เจอกันของอีสานเก่าและอีสานใหม่ เรายังถามหารากของภูมิปัญญาอีสานได้ที่นี่ แต่ก็มีวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นอีกมากมาย ก่อนจบเราอาจจะมี Key Message ส่งให้คนที่มาชมนิทรรศการว่า ‘วันนี้คุณกินปลาร้าแล้วหรือยัง’ ”

นี้คือส่วนของนิทรรศการเกี่ยวกับปลาร้าที่ทั้งสองดีไซน์เนอร์ช่วยกันปั้นมาด้วยความตั้งใจและรอคอยให้ทุกคนเข้ามาสัมผัส นอกจากนี้ยังมีส่วนของบูธนิทรรศการในโซน “พอแล้วดี Pavilion” ที่ตูนเล่าถึงรายละเอียดส่วนนี้ให้ฟังว่า

“ในบูธพอแล้วดีจะมีนิทรรศการที่นำเสนอว่าเราคือกลุ่มคนที่ใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารจัดการในธุรกิจของเรา เราวางตัวในการทำธุรกิจแบบสมดุล คือมันก็จะเป็นธุรกิจที่เราทำก็จะค่อนข้างที่มันจะเป็น 3P (Profit, People, Planet) เป็นธุรกิจที่คำนึงถึงทั้งเรื่องของคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เป็นหลัก ดังนั้นในบูธพอแล้วดีก็จะเล่าเรื่องของแนวคิดการทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนแบบใส่ใจต่อสังคม และก็มีส่วนบูธพอแล้วดีอีสานที่เขาก็รวมตัวกันและคิดโปรเจกต์ที่จะทำเพื่อจะ Support ในภูมิภาคของเขารวมถึงเป็นทีมงานสำคัญในการช่วยจัดงานปลาร้าหมอรำในครั้งนี้ด้วย” ตูนย้ำกับเราว่า

“นิทรรศการทุกอย่างในงานนี้เราทำด้วยใจ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่พอแล้วดีให้ผมมันมีมากกว่านั้น ผมเลยทำมันอย่างสุดกำลัง นี่แหละครับคือการทำงานแบบที่พอและดีสอนพวกเรา” เช่นเดียวกับตั้มที่ย้ำทิ้งท้ายบทสนทนาว่า

“โครงการพอแล้วดีสอนให้เราเป็นคนที่ไม่ลืมรากและเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ สอนให้เราที่เป็นคนทำธุรกิจทั้งคนตัวเล็กหรือคนตัวใหญ่เราก็สามารถตอบแทนคุณแผ่นดินไปพร้อมกับการทำงานได้ ซึ่งงานนิทรรศการปลาร้าครั้งนี้จะสะท้อนและสร้างความรู้สึกภายในเช่นนั้นให้กับผู้มาชมงานอย่างแน่นอน เราอยากให้ทุกคนลองมาชมมาชิมนิทรรศการปลาร้า ที่เราปรุงด้วยแนวคิดการออกแบบใหม่ ๆ กันดูครับว่า ปลาร้าที่แซ่บ ๆ กับการเล่ารื่องผ่านการออกแบบด้วยบริบทใหม่ ๆ มันจะเป็นยังไง ไม่แน่หลังชมเสร็จกลับไปคุณอาจจะหลงรักปลาร้ามากขึ้นก็เป็นได้” (ยิ้ม)

ติดตามทุกรายละเอียดของงานปลาร้าหมอลำได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก “ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24