“การทำของที่ระลึก สำหรับ BWILD ISAN เราไม่ต้องการสั่งผลิตจากโรงงานเยอะ ๆ แล้วนำมาขายให้ได้กำไรมาก ๆ เพราะหลักคิดที่สำคัญ คือเราจะไม่ทำอะไรที่มันเกินตัวเอง ในงาน ‘ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24’ ที่ใหญ่ขนาดนี้ เราซึ่งเป็นคนตัวเล็ก ๆ ก็สามารถมีส่วนร่วม เราก็ทำแบบเล็ก ๆ ได้ พู่แค่คิดว่าสิ่งที่เราทำมันต้องมีคนอยากได้ มันต้องมีคนได้ใช้ประโยชน์ได้จริง สื่อสารเรื่องราวของงานได้ผ่านแนวทางออกแบบของเราเอง ชุมชนได้ประโยชน์ แล้วราคาต้องสมเหตุสมผล”
ชมพู่-กาญจนา ชนาเทพาพร เจ้าของแบรนด์ BWILD ISAN หนึ่งในสมาชิกกลุ่มพอแล้วดีอีสาน เล่าถึงเจตนารมณ์ในฐานะ Merchandiser ผู้จัดทำสินค้าที่ระลึกในแบบ BWILD ISAN สัญลักษณ์สะท้อนแนวคิดของงานอีเวนต์สุดยิ่งใหญ่อย่างงาน “ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24” ซึ่งจะจัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้
รู้จักประมาณตน หลักคิดจากโครงการพอแล้วดีที่เลือกใช้ในการทำงาน
ชมพู่เล่าให้ฟังว่าเธอน้อมนำแนวคิดเรื่อง “การรู้จักประมาณตน” ที่โครงการพอแล้วดีบ่มเพาะพวกเธอมา มาใช้ในการทำธุรกิจ และในทุกกระบวนการของการผลิตสินค้าที่ระลึกในฐานะ Merchandiser ของงานนี้ด้วย
“เราใช้หลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่โครงการพอแล้วดีบ่มเพาะพวกเราในทุก ๆ การตัดสินใจ โดยเฉพาะในเรื่องการทำธุรกิจ ในงานอีเวนต์ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24 ครั้งนี้ เนื่องจาก เราเป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในขอนแก่นและใช้ธุรกิจของตัวเองมาร่วมกับงาน ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราต้องคิดก็คือ เวลาที่เมืองจะทำอะไรซึ่งเกิดประโยชน์กับเมือง กับความเป็นอีสาน กับงานระดับโลกในเรื่องของปลาร้า เราจะมีส่วนเข้าไปร่วมอย่างไรได้บ้าง
“แน่นอนว่าเราต้องเข้าร่วม แต่การเข้ามาร่วมของเรามันคงไม่ใช่เพราะว่าเรามองเห็นโอกาสเพื่อทำกำไรในธุรกิจแล้ววิ่งเข้ามา แต่พู่มองเห็นโอกาสของผู้คนว่า ถ้าเราสามารถพางานออกแบบของที่ระลึก ที่มันเกิดจากชุมชน หรือธุรกิจเล็ก ๆ ในขอนแก่นหรือในอีสาน ที่เราต้องคัดสรรแล้วนำมาเล่าเรื่องผ่านงานดีไซน์ให้สอดคล้องกับกับน่าสนใจของปลาร้าหมอลำ ในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านสินค้าที่ลูกค้าต้องอยากใช้ อยากถือ อยากเล่าเรื่องงานของเรา สมมติว่าเราออกแบบไว้ 5 แบบ ถ้ามันมีสักแบบเดียวที่มันเล่าเรื่องที่เมืองเราพยายามทำได้น่าสนใจ แค่นั้นพู่ก็คิดว่ามันสำเร็จแล้ว”
5 สินค้าเปี่ยมแรงบันดาลใจและสะท้อนอัตลักษณ์ภูมิปัญญาอีสาน แบบ BWILD ISAN
หลังจากฟังแนวคิดสุดประทับใจที่ชมพู่เล่ามาแล้ว เมื่อเรามีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในทีมงานออกแบบของที่ระลึก ของงานนี้ทั้งที จึงไม่รอช้ารีบสอบถามถึงคอนเซปต์ของชิ้นงานแต่ละชิ้น มาเล่าสู่แฟน ๆ Greenery. ฟังก่อนใครแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
“ตอนนี้ที่คิดว่าสามารถเปิดเผยได้มี 5 รายการค่ะ Highlight เลย ก็คือ ‘เสื้อกั๊ก Re No Waste’ เป็นเสื้อที่ BWILD ISAN ออกแบบจากแรงบันดาลใจของงานปลาร้าหมอลำ ผ่านงานคราฟต์ที่เล่าเรื่องราวสไตล์ของเรา ซึ่งเป็นงาน Patchwork จากผ้าลวดลายต่าง ๆ นำมาเล่าเป็นเรื่อง เป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ หลายเทคนิค ปัก เย็บติดไปในตัวเสื้อผ้ามือสองที่ถูกคัดมาอย่างดีว่าเท่กว่าเสื้อใหม่เยอะ
“แรงบันดาลใจที่ใช้สร้างสรรค์ลวดลาย คือ Isan to The World ก็จะมีลวดลายเกี่ยวกับเรื่องความเป็นอีสาน เช่น ลายไหปลาร้า ตัวปลาร้า ที่มาจากปลาน้ำจืดที่อีสานมีหลากหลายสายพันธุ์ มีแม่น้ำหลายสายที่นำปลาเหล่านี้มา แล้วก็มีส่วนของ ‘ข้าว’ ที่ใช้ทำปลาร้า แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของอีสานมีมากมาย รวมถึงเรื่อง ‘เกลือ’ บ่อเกลือแต่ละที่ ปลาแต่ละชนิดก็สร้างให้ปลาร้ารสชาติแตกต่างกันออกไป ซึ่งเราจะนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายเสื้อที่จะเล่าเรื่องทั้งหมด มันก็จะเป็นภาพวาดจากศิลปินที่มีมิติขึ้นมา เพราะทำจากเศษผ้าที่สวยงามมีคุณค่าหลายชิ้น มารวมร่างอยู่บนลายเสื้อตัวหนึ่ง
“สินค้าที่ระลึกอย่างที่สองก็คือ ‘ชุดพกพาไปหน้าฮ่าน’ เราคัดเสื่อสีเจ็บ ๆ ที่ชาวบ้านเขาทอกันอยู่แล้วมาออกแบบตกแต่งให้มันเป็นทรงกระเป๋าที่หิ้วได้ สะพายไหล่ได้ ในชุดก็จะมีพัดสีเจ็บ ๆ เข้าชุดห้อยติดไปด้วย เผื่อเวลาดูหมอลำแล้วร้อนก็เอามาพัด เราก็จะนำพัดมาแต่งสี ทำลวดลายอะไรใหม่ ๆ ให้มันเข้ากับเซตเสื่อ เหมือนเป็นไอเทมหนึ่งที่ถือแล้วมันเก๋ขึ้นจากวิถีเดิม และนำไปใช้จริงได้เลย เสื่อดูหมอลำล้ำ ๆ แบบไม่ซ้ำใคร
“สามก็จะเป็น ‘ผ้าขาวม้าไหปลาร้าปลาห้อย’ เราก็จะใช้ผ้าขาวม้าที่ชุมชนมีอยู่แล้ว มาออกแบบเติมแถบสีนีออนให้มันเข้ากับธีมงานมากขึ้น แล้วก็จะมีสัญลักษณ์ที่คราฟต์ขึ้นมาเป็นไหปลาร้า เป็นตัวปลา เป็นงาน Patchwork จากเศษผ้าไหม นำไปตกแต่งตามระบายของตัวชายผ้าขาวม้า ให้สามารถนำมาใช้เป็นผ้าพันคอได้ สีก็น่ารักและเก๋มาก และยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการผลักดันผ้าขาวม้าให้มันสวมใส่ได้จริง เปลี่ยนผ้าขาวม้าในภาพจำเดิม ๆ ให้เก๋ ใช้งานได้ง่ายและคุ้มค่า
“ชิ้นที่สี่เป็น ‘กระเป๋าปลาติดแห’ ที่ Inspire มาจากแหจับปลาเชือกไนลอนสี ๆ เราก็รู้สึกว่าชุมชนถักสิ่งนี้ได้อยู่แล้วที่บ้าน ทำเป็นกระเป๋าสะพายได้ ใส่ของ ใส่ผ้าซับใน แต่งเติมสีสันที่มันสดใสขึ้น แล้วก็ตกแต่งด้วยชิ้นงานพิเศษสุดคราฟต์รูป ‘ปลากับไหปลาร้า’ หลากหลายลาย ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดของงานออกแบบของที่ระลึกของเรา ก็จะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคอลเลกชันทั้งหมด จะเป็นงานคราฟต์และแนวคิดที่ต้องการมีส่วนร่วมกับชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่
“สุดท้ายคือ ‘สติกเกอร์ปลาร้าหมอลำ’ มีคีย์เวิร์ดที่มันเกี่ยวข้องกับงานปลาร้าเป็นคำอีสานที่น่ารัก ๆ อ่านแล้วอารมณ์ดี ราคาย่อมเยาให้ทุกคนสามารถเก็บสะสมเป็นที่ระลึกของงานได้
“ทั้งหมดทั้งมวลในงานออกแบบของที่ระลึก 5 อย่าง นี้ กลุ่มเป้าหมายคือคนต่างพื้นที่ เราทำสิ่งนี้เพื่อจะเล่าเรื่องความเป็น ISAN to The World ให้เขามารับรู้ ให้มันสากลมากขึ้น และให้มีความสนุก มีศิลปะ มีสีสันในชีวิตมากขึ้นในแบบของเรา อย่างเช่น คำว่า ‘ไหปลาร้า’ เราก็ออกแบบเป็นกราฟิก ‘Hi Plara’ พู่ก็คิดว่ามันก็สามารถเป็นหนึ่งไอเดียที่เราสามารถที่จะให้คนอื่นหันมามองเรา เข้ามาร่วมสนุกกับเทศกาลของเราได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะติดกับมือถือ โน้ตบุ๊ก ทำให้เข้าถึงง่าย”
นอกจากงานออกแบบของที่ระลึกทั้ง 5 ชิ้นที่เธอเล่าให้ฟัง พู่ยังเผยอีกว่า ในงานปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24 ครั้งนี้ ทางแบรนด์ BWILD ISAN ของเธอ ยังจะนำงาน Re No Waste ด้วยวิธีทำลวดลายแบบ PatchWork ในคอลเลกชันที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อน ๆ ในโครงการพอแล้วดีอีสานมาวางจำหน่ายด้วยส่วนหนึ่ง แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ ผู้ร่วมงานสามารถติดเสื้อตัวเก่าที่คุณเบื่อแล้วมาที่บูธได้ และร่วมออกแบบงาน Patchwork กับทาง BWILD ISAN ได้ แล้วทางแบรนด์จะดำเนินการแปลงโฉมเสื้อตัวเก่าของคุณให้กลายเป็นเสื้อตัวใหม่และส่งกลับให้คุณในภายหลัง ที่สำคัญทางแบรนด์จะคิดราคาที่จับต้องได้สบายกระเป๋าให้กับคนที่มาร่วมงานนี้เท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องการสำหรับงานนี้และได้รับมอบหมายมาก็คือ การสื่อสารคุณค่าของความเป็นอีสานออกไปสู่วงกว้าง คืนคุณค่าสู่อีสาน ด้วยธุรกิจที่ทางแบรนด์ได้ประโยชน์และคนอื่นก็ได้ประโยชน์ ไปพร้อมกัน
“พู่คิดอยู่เสมอว่าธุรกิจที่ทำ ต้องสร้างโอกาสกลับมาสู่อีสานให้ได้ ไม่ว่าจะมิติไหนก็ตาม งานทุกงานที่ทำต้องมีคนได้ประโยชน์ ไม่งั้นมันจะกลายเป็นว่า เราใช้คำว่าอีสานมาทำมาหากินอย่างเดียว สิ่งที่ BWILD ISAN ทำ เราจึงใช้ความเพียรพยายามมาก ๆ เราซีเรียสมาก ๆ กับการทำธุรกิจเพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์ไปกับเราด้วย ได้เกิดไปกับเราจริง ๆ ทำได้มาก ได้น้อย หรือทำไม่ได้เลย แต่ว่ามันต้องเกิดจากความตั้งใจที่จะทำก่อน แต่ต้องบอกว่ามันไม่ใช่ว่าทุกความตั้งใจมันจะได้รับความร่วมมือ แต่ไม่ว่าจะยังไง ก็จะไม่หยุดทำ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา
“เราทำธุรกิจที่อีสาน เราคือตัวแทนคนนึงที่พูดได้เต็มปากว่า คนอีสานมีเลือดนักสู้ คนอีสานมีความคิดสร้างสรรค์เยอะ มีช่างฝีมือเยอะแยะ”
ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24 อีเวนต์ที่เป็นได้มากกว่าความบันเทิง
ช่วงท้ายของบทสนทนา ชมพู่ชี้ให้เราเห็นถึงคุณค่าที่แฝงอยู่ในงานปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24 ครั้งนี้ ว่าการที่คุณมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานดังกล่าวจะก่อเกิดคุณค่าต่อประเทศชาติอย่างไร
“ปลาร้าหมอลำมันไม่ใช่อีเวนต์สังสรรค์เอางานบันเทิงอย่างเดียว แต่มันคือส่วนหนึ่งของความเป็นเรา โดยเฉพาะพอแล้วดีอีสาน เรามองเรื่องภูมิปัญญาของการหมักดองปลาร้า มันคือภูมิปัญญาความปลอดภัยด้านอาหาร ทุกคนในพอแล้วดีก็ทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่เรามาร่วมกันทำงานนี้ให้มันมีความหมายมากขึ้นในทุกมิติ เป็นความทุ่มเทของคนตัวเล็ก ๆ ที่พยายามจะใช้กำลังและความรู้ความสามารถของตัวเองในการขับเคลื่อนงานร่วมกันเท่าที่จะทำได้
“พู่อยากจะเชิญชวนทุกคนมาดูความตั้งใจ แล้วก็มาเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งในการที่เราพยายามจะผลักดันภูมิปัญญาการหมักดองของไทย และภูมิปัญญาแบบอีสานให้มันไป to The World ได้ ในแบบที่ทุกคนเข้าใจในคุณค่าของสิ่งนั้นได้ และวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของอีสานยังมีเยอะแยะมากมายที่มันควรจะ to The World
“ปลาร้าหมอลำ มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้น มันยังมีอีกหลายอย่างมากที่เราสามารถเล่าให้โลกฟังเราได้ เราก็อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และก็ให้กำลังใจคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันมีคุณค่าต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญา สิ่งที่คุณทำมันมีความหมาย คุณกำลังสร้างอาหารที่ปลอดภัยและเกิดความมั่นคงในอนาคตของโลกเรานะ ต่างชาติมาร่วมงานเยอะแยะ เราคนไทยด้วยกันถ้ามีโอกาสมาได้ก็อยากจะเชิญมา โดยเฉพาะขอนแก่นนี่เป็นเมืองที่พร้อม สะดวกสบาย และก็มีหลายอย่างที่คุณไม่ได้แค่มาเที่ยวงานปลาร้าหมอลำแน่นอน มาใช้เวลาที่อีสาน ปีนี้มาเคานต์ดาวน์ที่ขอนแก่น เพื่อเรียนรู้ สนุกสนาน อิ่มท้องอิ่มใจไปพร้อม ๆ กันค่ะ”
ติดตามทุกรายละเอียดของงานปลาร้าหมอลำได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก “ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World’24”