เวลคัมดริงก์แก้วแรกของเราเมื่อมาเยือน ‘เยียวยาคิทเช่น’ คือเครื่องดื่มสีสวยจากสับปะรดหอมๆ ขับรสชาติด้วยเกลือสินเธาว์ พริกไทยดำ และมีความหวานเจืออยู่เล็กน้อย พลอย-กษมา แย้มตรี เจ้าของครัวแห่งนี้สร้างกลิ่นที่พิเศษกว่าที่คุ้นเคยด้วยใบมินต์และใบหูเสือ มันเป็นเวลคัมดริงก์ที่ชุบหัวใจเราจากการฝ่าฝนตกรถติดมายังบ้านของเธอย่านลาดพร้าวได้ดีเอามากๆ พลอยบอกว่าเธอตั้งใจเตรียมเครื่องดื่มแก้วนี้เอาไว้ให้ พร้อมกับภาวนาในใจให้คนดื่มมีความสุขกับทุกขณะที่สัมผัสรส

พลอยเลือกเยียวยาเราด้วยสิ่งนี้…

สถาปนิกชุมชน กับหนทางแห่งการเยียวยาใจ
เยียวยาคิทเช่น เป็นครัวแห่งการเยียวยาใจ ที่พลอยเปิดครัวให้คนที่หัวใจอ่อนล้าได้มาร่วมวงกินข้าว แล้วปล่อยให้อาหารนำพาบทสนทนาไปในทิศทางใดก็แล้วแต่เพื่อปลอบประโลมกัน และฉุดพลังชีวิตให้ฟื้นกลับมาใหม่

“พลอยไม่ใช่นักบำบัดหรอก เราทำตามความศรัทธาในชีวิต และทำตามสิ่งที่เราแคร์ ซึ่งก็คือสิ่งเล็กๆ ข้างในของคน ความรู้สึกของคน ซึ่งก็เป็นการทำเพื่อเยียวยาตัวเองด้วย”

อย่างที่พลอยบอกว่าเธอไม่ใช่นักบำบัด เธอบอกว่าเธอเป็นเพียงคนคนหนึ่งที่ทำอาหารกินเอง แต่ถ้าจะให้พูดถึงอาชีพหลัก พลอยคือสถาปนิก ที่ต้องจำเพาะลงไปอีกว่าเธอเป็นสถาปนิกชุมชน ที่เลือกจะวางตัวเองอยู่ในการงานเพื่อสร้างมูฟเมนต์อะไรบางอย่างให้กับคนในชุมชนซึ่งเป็นคนตัวเล็ก หนึ่งในมูฟเมนต์ที่เธอว่านั้นคือให้คนที่ไม่ค่อยมีทางเลือก ได้รู้ตัวเองว่าตัวเองก็มีอำนาจในการเลือกอะไรให้ตัวเองได้อย่างที่ตัวเองต้องการ

“งานชุมชนเป็นการทำงานกับมวลหมู่มาก เป็นการทำงานกับประเด็นที่ยาก และอยู่ในพื้นที่ที่มีกระบวนการโน้มน้าวเยอะ การโน้มน้าวสังคม การโน้มน้าวภาครัฐ การโน้มน้าวให้เกิดมูฟเมนต์อะไรบางอย่าง เป็นการทำงานระดับเครือข่ายที่มีคนหลากหลาย บางทีก็ไม่ได้อย่างใจหวัง สิ่งที่ยากจึงเป็นการทำงานกับใจตัวเอง มันเป็นเรื่องที่สำคัญเลยนะ ถ้าเราจะทำงานให้มีความสุข”

ข้อเปราะบางของความเป็นคนจิตใจอ่อนไหว คืออาการ ‘ใจพัง’ มักจะแวะเวียนมาเยี่ยมง่ายๆ และความหนักหนาที่สะสม ในวันหนึ่งก็ทำให้เธอเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน

“เราทำออฟฟิศสถาปนิกชุมชนมาสักปีที่แปดที่เก้าเป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ค่อยดี คอนแทร็กต์แบบสามปีเริ่มหายากขึ้น แล้วพลอยเป็นคนเลือกโปรเจ็กต์ด้วย เราชอบทำงานที่เราเชื่อ ถ้าเราไม่เชื่อแล้วเงินเยอะเราก็ไม่ทำ มันเลยทำให้การหาเงินมันยาก ในขณะที่เรามีทีมที่ต้องดูแลอีกห้าหกคน แล้วเราเริ่มต้นมาก็ไม่ได้มีเงินเยอะ ก็รู้สึกว่ามันหนัก สมองก็จะไปยุ่งกับการคิดเรื่องหาเงินเดือนมาจ่ายน้องๆ จนถึงจุดหนึ่งมันล้าข้างในมาก รู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลามากพอที่จะมานั่งใส่ใจผู้คนเหมือนก่อน ช่วงนั้นเราอยากตายหลายรอบมาก ไม่ได้คิดว่าจะไปฆ่าตัวตายอะไรนะ แค่คิดว่าถ้าตายไปง่ายๆ ก็จะสบายเลย

“แล้วมันมีอยู่วันหนึ่งที่ตื่นเช้าลืมตาขึ้นมาแล้วเราถามตัวเองว่า ถ้าเรากลั้นหายใจ เราจะใช้เวลานานแค่ไหนในการทำให้เราหายไปจากโลกใบนี้ วูบหนึ่งมันคิดไปแล้ว แต่พอมองออกไปข้างนอก เห็นต้นไม้ใหญ่มากอยู่ตรงหน้าต่าง มีนกร้อง มองเห็นสีเขียว เราดึงความคิดกลับมาได้ แล้วหยิบโทรศัพท์มาเปิดเฟซบุ๊กดู สิ่งแรกที่เห็นในหน้าเฟซคือ ‘โครงการปลุกพลังนักปลูกเมือง’ ของโครงการสวนผักคนเมือง แล้วมีเพื่อนเราทั้งนั้นที่ทำงานอยู่ตรงนั้น”

หนึ่งในเพื่อนที่พลอยเอ่ยถึง คือปรินซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร หรือ ‘เจ้าชายผัก’ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงเกษตรอินทรีย์และคนชอบปลูกผัก

“พอดูแล้วก็รู้สึกอยากเป็นนักเรียนบ้างจังเลย ไม่อยากเป็นบอส เพราะรู้สึกเหนื่อยกับการหาเงิน เหนื่อยกับการคิดงาน นึกออกมั้ย ตอนนั้นมันล้าแบบนั้น เลยบอกปรินซ์ว่า โอเค ให้ทำอะไรบอกมาเลย เดี๋ยวฉันทำตาม และเราให้เครดิตคอร์สนี้จริงๆ มันเป็นคอร์สที่ทำให้เราลืมความอยากตายนั้น”

ราว 3-4 เดือนกับการใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับคอร์สนี้ เหมือนเปิดโลกที่ฉาบด้วยสีหม่นให้สว่างขึ้น

“มันเหมือนเราไปเรียนด้วยอาการป่วยใจ แบบสะกิดนิดหนึ่งน้ำตาเราก็จะไหล เราไม่รู้หรอกนะว่าเราจะหายหรือเราจะรู้สึกดีขึ้นแบบไหน แต่วันนั้นเราต้องการเยียวยาตัวเองมาก

เราต้องการพลังข้างในของเรากลับมาก่อน แล้วแรงบันดาลใจจากพี่ๆ หลายคนในวันนั้น ทำให้เห็นว่าอาหารเยียวยาชีวิตได้

“มันเป็นการรวมตัวของผู้คนที่สนใจในเรื่องการปลูก ที่ไม่ใช่การปลูกผักอย่างเดียว แต่มันเป็นการปลูกเมืองด้วย และมีกระบวนการหลายอย่างที่เราชอบ เป็นสามสี่เดือนที่รู้สึกเหมือนได้พักผ่อนมากๆ ในตอนท้ายเขาก็ให้เราคิดโปรเจ็กต์ขึ้นมา วันนั้นเรานั่งทบทวนว่าในคอร์สนี้เราได้รับอิทธิพลอะไรที่มันกินเข้าไปในใจของเรา เราเห็นพี่ๆ ที่ทำอาหารบำบัดชีวิตตัวเอง ชีวิตลูก ชีวิตคนรอบข้าง แค่ได้ฟังเรื่องพวกเขาเรารู้สึกว่าเราดีขึ้น แล้วพลอยก็คิดได้ว่า อยากทำพื้นที่ที่สัมพันธ์กับอาหารและการเยียวยา”

ในครัวแห่งจิตใจ
อุปกรณ์ครัวจัดวางอยู่บนชั้นของเคาน์เตอร์ทำครัวขนาดใหญ่ที่สถาปนิกชุมชนคนนี้ลงมือทำขึ้นเอง เกือบทั้งหมดทำด้วยวัสดุรียูสจากงานทดลองออกแบบ แผ่นไม้จากแรมป์วีลแชร์ที่เห็นร่องรอยของน็อต ถูกนำมาปูเรียงเป็นท็อปของเคาน์เตอร์ให้อารมณ์ดิบเท่อย่างไม่ตั้งใจ แต่ทั้งหมดนั้นกลมกลืนไปกับการเคลื่อนไหวของร่างกายยามจดจ่ออยู่กับการปรุงอาหารตรงหน้า

“ก่อนหน้านี้พลอยทำอาหารกินเองอยู่แล้วค่ะ แต่ด้วยอาชีพของเราก็จะได้แบบสองอาทิตย์ทำสักสองสามที ที่ชอบทำกินเองเพราะว่าเรากินได้เยอะ อร่อยถูกปาก หลังจากไปเข้าคอร์สนี้ เรากลับมารีออร์แกไนซ์องค์ประกอบในครัวใหม่หมดเลย ของกินอะไรที่ไม่รู้ที่มาเราเอาออกหมดเลย แล้วเริ่มทำอาหารสามมื้อกินเองเป็นเวลาหนึ่งปี มีสักหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่จะกินนอกบ้านเวลามีเพื่อนมาแล้วเราออกไปกินข้าวข้างนอกกัน”

หนึ่งปีที่จดจ่ออยู่กับการทำอาหารทุกวัน พลอยสังเกตเห็นว่าตัวเองสามารถจัดการกับภาวะอารมณ์และความคิดของตัวเองได้

“ใจเราไม่แกว่งเลย จากที่ถ้าเจอเหตุการณ์แบบเดียวกับที่เคยเจอ เราจะรับมืออีกแบบ คือพื้นฐานเราเป็นคนเยอะ ฉะนั้นเวลาดีจะดีมาก เวลาจิตตกก็จะตกมาก แต่ตอนนี้มันไม่เหวี่ยง อย่างแรกที่เรารู้สึกเลยก็คือ ความรู้สึกนี้มันใหม่มาก แต่มันดีมากเลย เราทำได้ยังไงนี่ คือรู้แหละว่าหลายคนเขาทำได้ แต่นี่มันไม่ใช่พื้นฐานเราไง เราเลยรู้สึกว่าสเปซข้างในของเรามันใหม่มาก เป็นสเปซแบบที่คนเขาพูดเรื่องความสมดุล

“เรารู้สึกว่าการทำอาหารกินเองเป็นการได้เยียวยาตัวเองผ่านการหั่น การตัด การได้เลือกสิ่งที่เราเลือก เรามีอำนาจในการเลือก นี่แหละคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในการเยียวยาชีวิต มันเหมือนที่เราไปทำงานออกแบบกับชาวบ้าน แล้วเราทำให้เขารู้ว่าเขาเลือกได้นะ มันเป็นเรื่องเดียวกันเลย”

พลอยทำอาหารแบบงานคราฟต์ เธอไม่พึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เด็ด หั่น ตำ บด โขลก สับ ผู้ช่วยของเธอบอกกับเราว่า ลีลาการทำอาหารของเธอสนุกนักถ้าได้เห็น

“ทุกอย่างมันถูกทำโดยกระบวนการเดียวกันคือความตั้งใจ อันนี้คือใจความหลัก พลอยใส่พลังที่ดีลงไประหว่างที่ทำ

ประการที่สองสำคัญมากคือ เรารู้ที่มาของทุกอย่างที่เราใส่ลงไป ซึ่งไม่ใช่รู้ว่ามาจากไหนแล้วจบแค่นั้น แต่เรารู้ถึงความตั้งใจที่หลากหลายมากของผู้ผลิต

เวลาที่เราปรุงคือเราเอาปลายทางของผู้ผลิตมาใช้ การรู้ว่าอะไรมาจากไหนคือการที่เราไปรับรู้ความตั้งใจของเขาตั้งแต่ต้นทาง กว่าเขาจะทำได้ขนาดนี้พลอยว่าความตั้งใจมันสูงส่งมาก เราชื่นชมและเคารพมากๆ มันเหมือนเราได้รวมพลังดีๆ เข้ามา แล้วพอมันเข้ามารวมอยู่ในตัวของเรา มันโคตรสมบูรณ์เลย

“เรามองว่าเมนูหนึ่งก็คือการออกแบบหนึ่งเหมือนกัน เราจะวางมันลงไปแบบไหน อำนาจของเรามันอยู่ในนี้ แล้วพอเราทำซ้ำเราเลยรู้สึกว่ามันเปลี่ยนพลังข้างในใจเรามาก เราชิลล์ขึ้นมาก วิธีรับมือกับเรื่องยากๆ ก็เปลี่ยนไป แล้วเราแฮปปี้ ไม่อยากกลับไปเป็นแบบนั้นอีกแล้ว เรารู้สึกอยากย้อนกลับไปขอบคุณทุกคนในคอร์สนั้น ขอบคุณสวนผักคนเมืองที่มีโครงการแบบนี้ แล้วก็ขอบคุณตัวเองที่วันนั้นเราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา”

การเยียวยาที่มาจากการทำอาหาร
ใจที่เบาลงอย่างที่ตัวเองสังเกตเห็นได้ชัดเจน เป็นแรงดึงดูดให้พลอยรักที่จะวางตัวเองอยู่ในครัว และลงมือออกแบบอาหารที่กิน

“การทำอาหารทำให้เราเปลี่ยนไป พลอยคิดว่าระหว่างที่เราทำอาหาร เราได้กลับมาอยู่กับความเงียบน่ะ เพราะเราต้องโฟกัสว่าจะหั่นอันนี้ ไม่อย่างนั้นมีดจะตัดนิ้วเรา

ความหมายก็คือเหมือนกับเรามาอยู่กับของตรงหน้าที่มันเงียบๆ นิ่งๆ มันเป็นกระบวนการทำสมาธิอย่างหนึ่ง

แล้วเราอยู่กับมันสามครั้งต่อวัน มันถี่นะคะจากคนที่ไม่ค่อยได้ทำอาหารบ่อยอย่างนี้

“และที่พลอยชอบคือมันทำให้เราได้กลับไปคิดถึงอดีตในครัวที่เคยทำกับข้าวกับยายกับแม่ เราว่าความทรงจำพวกนี้มันเยียวยาข้างในเรา พลอยได้ทบทวนอดีตของตัวเองเยอะมากว่ายายกับแม่เคยสอนอะไร เคยให้เราช่วยอะไร รายละเอียดพวกนี้มันกลับมาตอนที่เราทำกับข้าว จากที่เราคิดว่าเราไม่มีความรู้เหล่านี้ เราจำมันไม่ได้แล้ว กลับกลายเป็นว่านี่คือเมนูที่เราเติบโตมา แล้วมันกลับมารักษาชีวิตเรา

“อีกเรื่องคิดว่าเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกาย การได้ตัด หั่น สะบัดนิ้ว อะไรต่างๆ นานา มันทำให้เราได้ขยับมากกว่านั่งโต๊ะทำงาน เขียนแบบ หรือว่าคิดงาน ร่างกายเราได้ขยับโดยที่ไม่ต้องไปออกกำลังกาย เราว่าอันนี้คือการเยียวยาทางกายภาพมากๆ

“ทุกครั้งที่ทำอาหารกินเองและทำให้คนอื่น พลอยจะต้องภาวนาและต้องใส่ใจเป็นพิเศษ มันอาจไม่ใช่การภาวนาแบบต้องมีพิธีกรรม แต่มันเป็นการบอกตัวเองว่าเราจะทำอาหารไปให้ใคร เราจะทำดริงก์นี้ให้ใคร แล้วใส่ความรักและความตั้งใจของเราลงไปให้เขา เราต้องการให้เขาได้รับพลังที่ดีที่สุด

“แต่พลอยต้องบอกว่าพลอยไม่ใช่เชฟ และพลอยไม่ใช่ผู้สืบทอดเมนูพื้นบ้านที่ละเมียดละไม เพราะเราใช้ความทรงจำในการทำอาหาร เวลาเยียวยาคิทเช่นไปขายในตลาดเขียว พลอยทำไม่กี่เมนู อย่างแหนม ซอสสปาเกตตี อิตาเลียนซอส สตูหมูเตาถ่านแบบเคี่ยวข้ามคืนสองคืนอะไรแบบนี้

“ยกตัวอย่างที่เป็นแหนมก็เพราะว่าเมนูนี้เป็นเมนูที่ยายให้ความสำคัญมาก เวลายายกินแหนมถ้าเกิดไม่ได้ทำเองยายจะไม่กินมั่ว เขาจะต้องไปดูถึงที่ผลิต แล้วยายจะถามเขาว่าใช้มือหรือตีน (หัวเราะ) เพราะถ้าทำเยอะๆ บางทีเขาไม่ใช้มือคั้นไง มันเลยทำให้เราอยากทำแหนมกินเอง แต่เราก็จะปรับสูตรนะ เพราะบ้านพลอยอยู่ขอนแก่น ที่นั่นเขาจะใช้ข้าวเหนียวเป็นหลัก มีใช้ข้าวสวยบ้าง แต่ที่พลอยทำพลอยใช้ข้าวสวยหมดเลย เป็นข้าวเจ้าจากเกษตรกรในเครือข่าย เพราะเราทำงานคลุกคลีกับเครือข่ายมากขึ้น เราเห็นข้าวดีๆ เยอะ ข้าวหอมใบเตยบ้าง ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวปะกาอำปึล

“แค่ข้าวที่เปลี่ยนมันก็ให้เลเวลความนัวที่ต่างกันมากนะ ที่นัวมากๆ จะเป็นข้าวหอมใบเตย ข้าวกล้องที่จะแข็งๆ หน่อย เปลือกหนาหน่อยก็จะนัวมาก แต่ข้าวหอมมะลิปกติก็จะซอฟต์ลงมาหน่อย เกลือกับกระเทียมก็ใช้ของในเครือข่าย หมูนี่เราหั่นเอง เราตำ เราทุบ เพราะเยียวยาคิทเช่นเราเน้น hand processes แล้วพลอยเชื่อเรื่องพลังชีวิตมาก พลอยไม่อยากได้รับอิทธิพลจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ถ้าต้องทำดริงก์ก็ใช้เครื่องปั่นบ้าง แต่ถ้าเป็นกระบวนการเยียวยาคิทเช่นถ้าจะต้องใช้ก็จะใช้แค่นิดหน่อย น้อยมาก หุงข้าวพลอยก็หุงแก๊ส หุงเตาถ่าน เวลาเปิดวงกินข้าวก็คือการชวนให้คนกลับมากินข้าวด้วยกัน เชื่อมโยงกับพลังของเรา เชื่อมโยงกับพลังธรรมชาติให้ได้มากที่สุด”

เปิดวงกินข้าว แล้วเราจะเยียวยากันและกัน
นอกจากเยียวยาคิทเช่น จะมีอาหารฝีมือพลอยที่ส่งถึงมือคนกินในตลาดเขียวต่างๆ อาทิ City Farm Market, ลาดพร้าวฮาร์เวสต์ พลอยจะเปิดประตูบ้านแล้วชวนเพื่อนๆ เข้าครัวเพื่อล้อมวงเยียวยากันเมื่อโอกาสเหมาะ ซึ่งกรุ๊ปใหญ่ก็ราวเจ็ดคน แต่ถ้ากรุ๊ปเล็กก็จะเป็นกรุ๊ปไพรเวตที่มีผู้ร่วมวงที่เข้ามาเพียงหนึ่งหรือสองคน

กระบวนการของเธอคือ ก่อนถึงวันเปิดวง จะมีเอกสารให้ผู้เข้าร่วมได้เขียนกลับมาเพื่อบอกเล่าถึงชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ว่ากำลังอยู่ในสภาวะอะไร เพื่อที่เธอจะออกแบบกระบวนการให้พลังงานของทุกคนในกลุ่มเชื่อมโยงกันได้ภายใต้อาหารที่จะสร้างสรรค์ขึ้น

“เราให้เขาเขียนมาเล่า หรือคนไหนถ้าสนิทก็จะคุยกันผ่านเสียงบ้าง เพื่อให้เราเข้าใจถึง condition ของเขาในเวลานั้น และเพื่อให้เราได้มาออกแบบเมนู แต่พลอยไม่สามารถบอกได้นะคะว่าเพราะคนนี้รู้สึกแบบนี้ เลยออกมาเป็นเมนูนี้ แต่มันเป็นการออกแบบจากมวลของกลุ่มและเซนส์ของเรา ว่าเราต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เมนูจะไม่มีชื่อเรียกเพราะมันเป็นการครีเอตขึ้นใหม่

“เวลาจะอธิบายถึงเมนูก็แค่ อันนี้เป็นคอหมูหมักน้ำมันมะกอก ออริกาโน เกลือสินเธาว์ พริกไทยดำจากที่นั่นที่นี่ ย่างกินกับซอสเสาวรสผสมใบแมงลัก อย่างนี้เลย เราไม่อยากเอาชื่อมันมากรอกให้เข้าใจบิดเบือน เราแค่อยากบอกว่ามันคืออะไร แล้วเราใส่พลังใส่ความตั้งใจของเราลงไป เช่น เรารู้สึกว่าหลายคนอาจจะรู้สึกเคว้งคว้าง ลอยๆ ก็อยากชวนให้กลับมา grounding มากขึ้น ด้วยพื้นฐานการกินพืชที่หัวอยู่ในดิน อย่างเผือก มัน มาผสมผสานกับอื่นๆ เพื่อบาลานซ์ เอาความเคว้งคว้างมาอยู่ในนี้ แล้วเราพาทุกคนกลับบ้าน ก็ค่อนข้างจะเป็นนามธรรมหน่อย

“พลอยไม่ได้สเปกว่ามันคือกลุ่มบำบัด พลอยเรียกว่าการตั้งวงกินข้าวด้วยกัน แค่นั้นเลย แต่หลายๆ คนที่มาก็จะสะท้อนกับเราว่า เหมือนได้มาเยียวยาจิตใจของตัวเอง อย่างช่วงที่เราเปิดวงตอนโควิดกำลังล็อกดาวน์แล้วก็คลี่คลายวนๆ กัน มีหลายคนที่กังวลกับชีวิต เขาได้มาคุยกัน เอมของเราไม่ใช่การคุยเพื่อเยียวยา ไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เพราะบางเรื่องมันส่วนตัวมาก และบางคนก็ไม่ได้รู้จักกันในจุดที่เขาเปราะบาง

“แต่การมาตั้งวงกินข้าวด้วยกัน คือการเปิดโอกาสให้เขาได้มาอยู่ในกระบวนการที่นั่งกินข้าวกับคนไม่คุ้นเคย บางคนอาจรู้จักกัน หรือบางคนอาจไม่รู้จักกันมาก่อนก็ได้ แต่เมื่อเราอยู่ในวงเดียวกันแล้ว มันมีการเชื่อมโยงเกิดขึ้นแน่นอน เราก็จะชวนคุย ถามเรื่องชีวิตช่วงนี้เป็นยังไง แล้วมันจะเกิดการเล่าเรื่องตัวเองต่อยอดกันไป”

กระบวนการเยียวยาจะจบลงด้วยการสนทนาร่วมกัน โดยพลอยจะมีการ์ดคำถามชวนคุยและชวนทำกิจกรรม เช่น หากย้อนกลับไปในอดีตตอนไหนก็ได้ มีอาหารจานไหนบ้างที่คุณคิดถึง ชวนเล่าเรื่องที่คุณรู้สึกว่าไร้สาระที่สุดเกี่ยวกับตัวคุณที่คุณภูมิใจ พูดอะไรก็ได้ที่รู้สึกอยู่ตอนนี้ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการออกแบบให้เฉพาะกับกลุ่มที่มา โดยส่วนนี้จะสัมพันธ์กับการทบทวนชีวิตที่สัมพันธ์กับเรื่องอาหารเป็นหลัก และมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องทางอ้อมเพื่อเติมเต็ม

“เมื่อจบกระบวนการ สิ่งที่เขาจะได้รับซึ่งสำคัญมากก็คือ เขาได้รู้ว่าเขาได้รับรู้แล้ว มีคนรับรู้เขาอยู่นะ

การที่คนคนหนึ่งรู้แล้วว่าตัวเองถูกรับรู้ มันสำคัญกับชีวิตของมนุษย์ยุคนี้มาก พลอยรู้สึกว่าคนต้องการสิ่งนี้มากเลย

“และการที่ได้รับการตอบรับแบบนั้น ดูจากที่ทุกคนมีรอยยิ้ม ดูจากสีหน้าท่าทางที่เขาสะท้อนกลับมาว่าตอนนี้เขามีความสุข สำหรับเราคิดว่าเราพอแล้วนะ”

ถึงแม้พลอยจะบอกว่า สิ่งที่เธอทำไม่ได้เป็นโปรเจ็กต์เพื่อคนอื่นขนาดนั้น เพราะในด้านหนึ่งเธอทำเพื่อเยียวยาตัวเอง แต่ในเมื่อการเยียวยาตัวเองได้เป็นยาใจให้กับคนอื่นไปด้วย นั่นก็เรียกว่าอาหารและบทสนทนาได้ทำหน้าที่ของมัน…อย่างสมบูรณ์แล้ว

สนใจตั้งวงกินข้าวเพื่อเยียวยากันและกันกับพลอย สอบถามและติดตามได้ที่ เยียวยาคิทเช่น Healing Kitchen

สถานที่ : โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
ภาพ: ศรันย์ แสงน้ำเพชร, เยียวยาคิทเช่น