โมเดลขี่จักรยานส่งน้ำปั่นจากผักผลไม้ 5 สีที่คัดสรรจากเกษตรกรอินทรีย์ และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำอย่างเป็นระบบ คือคำจำกัดความสั้นๆ ของธุรกิจ ‘ปลูกปั่น’

เราอาจได้ยินเรื่องราวของจัง-ศิริลักษณ์ มหาจันทนาภรณ์ ในฐานะหญิงสาวเสพติดการทำงานจนร่างป่วย การหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่ของตัวเอง ทำให้เธอพ้นจากวงจรความเจ็บป่วยมาได้ และเป็นวิธีที่เธอนำมาสื่อสารต่อผ่านธุรกิจน่ารักที่อยากส่งสุขภาพที่ดีให้ถึงทุกคน

ธุรกิจทางไกลนี้เดินทางมาถึงปีที่ 6 และการรีแบรนด์และออกแรงปั่นครั้งใหม่นี้ ไม่เพียงแค่เปิดกว้าง เป็นมิตร และพูดกับทุกคนมากขึ้น แต่ยังหมายถึงการส่งต่อสุขภาพที่ดีในฐานะมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน ไม่ว่าจะในยามปกติหรือยามวิกฤตที่ทุกคนต้องสู้ไปด้วยกัน 

“ช่วงโควิด-19 เราเชื่อว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หน้าที่ของเราคือการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค เราไม่รู้ว่าไวรัสนี้จะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน จะมีโควิด 20 21 22 ถ้าเราหนีเราก็ต้องหนีไปตลอด อยู่กับมันค่ะ อยู่ให้ได้ในโลกที่เปลี่ยนไปตลอดกาลใบนี้ อยู่แบบเอาตัวให้รอด และโลกรอดด้วย”

และนั่น คือคำยืนยันของเธอ

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น เรามักได้ยินเรื่องเล่าของปลูกปั่นในมุมของคนป่วยที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการกินน้ำผักผลไม้ปั่นจนร่างกายดีขึ้นและเริ่มต้นทำธุรกิจขึ้นมา แต่ถ้าถามกันเชิงแนวคิด ตอนนั้นคุณคิดอะไร 

เราเป็นนักออกแบบ ก็จะชอบคิดต้นแบบเพื่อแก้ปัญหา แล้วเราชอบตั้งคำถาม เวลาคนบอกว่าเศรษฐกิจดี ดีจากอะไร แล้วเงินมาจากไหน พอค้นพบว่าเศรษฐกิจที่ดีเกิดจากการที่เราไปขุดทรัพยากรในโลกนี้มาใช้ มาสร้างมูลค่าจากทรัพยากร มันเหมือนกับเราไปขุดเงินขึ้นมาจากดินแล้วกระจายไปทั่วโลก แปลว่ายิ่งเศรษฐกิจดีมากเท่าไหร่ ทรัพยากรยิ่งถูกขุดมากเท่านั้น แล้วเราก็คิดว่าเศรษฐกิจอย่างนี้มันเท่ากับเราค่อยๆ เผาผลาญอะไรบางอย่างจากโลกใบนี้ มันก็ไม่น่าจะดีหรือเปล่า แล้วคำว่าเศรษฐกิจดี มันดีจริงๆ เหรอ ใครกำเงิน เราก็เลยเห็นว่าทั้งเศรษฐกิจและธุรกิจทุกวันนี้มันมีปัญหา การทำธุรกิจของเราไม่ควรล้างผลาญโลก และควรจะเป็นธุรกิจที่ออกมาแก้ปัญหาและสร้างอะไรให้กับโลกใบนี้ ก็เลยเป็นที่มาของความคิดว่าอยากจะออกแบบธุรกิจมาโดยตลอด

แต่จริงๆ แล้วเป็นคนที่กลัวการทำงานประจำที่สุด กลัวต้องทำอะไรเป็นรูทีน ก็เลยเป็นฟรีแลนซ์มาตลอดชีวิต พอคิดว่ากินน้ำปั่นนี่มันโคตรดีเลยนะ อยากจะให้เพื่อนๆ กิน แต่ก็ไม่คิดจะทำ จนพอเห็นปัญหาหลายๆ อย่างรวมๆ กันอยู่เกือบ 2 ปี เลยคิดว่าไม่ได้แล้ว ปัญหาทั้งหมดนี้ต้องการตัวปลั๊กอินไปเสียบ และคือเรานี่แหละ ถ้าเราไม่เสียบอันนี้แล้วใครจะเสียบ มันเหมือนจิ๊กซอว์ที่เราก็รู้ว่าถ้ามีตัวนี้มันจะจบนะ งั้นเราต้องยอมเริ่มตัวนี้ ก็ต้องยอมเป็นเจ้าของกิจการ 

ปัญหาที่ว่าคืออะไร

ปัญหาแรกคือปัญหาของเกษตรกรที่ปลูกผลผลิตออกมาแล้วไม่สวย เพราะมันของเป็นธรรมชาติ มีทั้งที่เรียกว่าสวยกับไม่สวย ความดีเท่ากัน แต่ผู้บริโภคก็จะเลือกแต่สวยๆ ที่ไม่สวยก็ไม่เอา เราไปจ่ายตลาดเองเราก็เห็นว่ามันเป็นช่องว่าง ปัญหาที่ 2 คือเรื่องปัญหาสุขภาพของคน เราปั่นน้ำกินเองที่บ้าน แต่ออกจากบ้านเราไม่รู้จะกินอะไร เราไปเชียร์ให้เพื่อนสุขภาพดี โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่าฉันปั่นน้ำกิน แต่คนอื่นเขาไม่มีเวลาไปซื้อของเองบ้าง ไม่มีเครื่องปั่นบ้าง ขี้เกียจล้างบ้าง อันนี้คือปัญหาของคนในเมือง แล้วปัญหาสุดท้ายคือเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม แล้วเราคิดว่าถ้าเราเสียบโมเดลที่เราคิดเข้าไป เราจะแก้ปัญหานี้ได้

แต่ถ้าเป็นคนอื่นคงเปิดร้านน้ำปั่น ขณะที่ปลูกปั่นออกแบบจากอีกวิธีคิด

ใช่ค่ะ คิดมาแล้ว เพราะเราเคยเห็นตู้เค้กในร้านเค้กตอน 2 ทุ่ม ส่วนใหญ่แล้วเค้กมีอายุประมาณ 1 วัน หลัง 2 ทุ่มเขาก็จะเริ่มลดราคาให้ไปแย่งกันซื้อ แต่ถ้าไม่หมดเขาก็ทิ้งไง แล้วทิ้งคนขายไม่ขาดทุนเหรอ อ๋อ คนขายเอาค่าเค้กที่เขาทิ้งบวกกับค่าเค้กที่ไม่ทิ้งไปแล้ว ซึ่งมันไร้สาระมากเลยสำหรับเรา ก็เลยเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีระบบพรีออเดอร์ เราจะไม่ทิ้งของ

กว่าจะไปหาวัตถุดิบที่เป็นอินทรีย์พวกนี้ได้ เราใช้พลังงานและเวลาเยอะ แล้วจะต้องมาทิ้งเพราะว่าเธอไม่บอกว่าจะกินหรือเปล่า ก็เลยเป็นที่มาว่าถ้าจะทำ ต้องทำแบบไม่ทิ้ง 

ราจ่ายตลาดอยู่แล้ว ช่วงแรกไม่ได้จะทำอะไรเพิ่มเลย เหมือนก็แค่ซื้อเพิ่มอีกตะกร้าหนึ่ง ตอนแรกว่าจะไปส่งแค่ในสุขุมวิท ทองหล่อ ใกล้ๆ บ้าน จ้างมอเตอร์ไซค์ไปปรากฏว่าเขาก็คิดราคาแต่ละวันไม่เหมือนกัน เราเป็นคนที่ใช้ความโกรธเป็นพลังในการสร้างสรรค์ได้ดี (หัวเราะ) ที่นี่เคยเป็นร้านจักรยานมาก่อน เรารู้ว่ามีคนต้องซ้อมรอบขาทุกวัน งั้นมาซ้อมรอบขาปั่นจักรยานส่งน้ำเถอะ

แต่ที่ขยายโซนเพราะว่าจำเป็นต้องขยาย คือมีคนติดต่อเข้ามาว่าเขาอยู่พระราม 2 มีปัญหาท้องผูก 2 สัปดาห์ขับถ่ายแค่ 1 ครั้ง เราก็อิน เหมือนดูหนังแล้วรู้สึกว่าต้องเข้าไปสู้อยู่ในนั้น มันอึดอัดมาก อยากช่วยเขา ก็เลยเป็นที่มาของการเริ่มขยายเส้นทาง สงสัยอยู่แค่สุมขุมวิท ทองหล่อ สาทร สีลม ไม่ได้แล้ว ต้องไปไกลกว่านั้น 

ปัจจุบัน ปลูกปั่นต้องปั่นจักรยานไปส่งไกลแค่ไหน

ในกรุงเทพฯ เราแบ่งเป็นฮับตามเส้นทาง มีสายไหม วัดพันท้ายนรสิงห์ ปิ่นเกล้า ม. กรุงเทพฯ ที่รังสิต คือมีรถมารับที่ปลูกปั่นเพื่อไปกระจายส่งตามจุดต่างๆ ให้นักปั่นมารับจากจุดใครจุดมัน รถไม่ได้ต้องวนส่งทุกจุด บางคนก็ปั่นมาตั้งแต่เปิดร้านจนกลายเป็นมืออาชีพแล้ว ปริมาณรวมๆ ต่อวันอยู่ที่ 400-500 แก้วค่ะ แต่ปีที่แล้วมีไปแตะที่ 600 แก้ว

นอกจากขยับขยายเส้นทาง ปลูกปั่นขยับขยายเรื่องไหนอีกบ้าง

ตอนแรกก็ใช้วิธีไปจ่ายตลาด แล้วก็ไปเริ่มสั่ง คือไม่ได้ไปถึงตลาดแล้วดูว่ามีอะไร เป็นการสั่งเจ้าเดิมๆ ล็อกปริมาณไว้ว่าจะเอาเท่านี้ สุดท้ายล็อกจนหมดสวนแล้วจะทำยังไง ก็เลยต้องเป็นสั่งปลูก เขยิบขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มีสั่งปลูกด้วย แล้วก็ผูกกับกลุ่มเครือข่ายที่ต้องไปเยี่ยมสวนเขา ไปดูให้เห็น ส่วนตัวเราเองก็ต้องหาความรู้โดยการไปเป็นเกษตรกรเอง หมายถึงว่าไปเข้าร่วมกลุ่มอบรมเกษตรกร จริงๆ เราก็อยากทำนะ แต่ว่าไม่เก่งเท่าเขา ก็เลยไปหาความรู้ไว้ก่อน มีคุยกับนักวิชาการ มีทั้งศึกษาหาความรู้เรื่องพวกนี้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจ ได้ถามเขาถูกเวลาไปดูแปลงเอง

คุณถามอะไรเกษตรกรบ้าง

อันดับแรกเลยมีใบหรือเปล่า อาจจะเป็น PGS (การรับรองแบบมีส่วนร่วม) อยู่กลุ่มไหน เครือข่ายไหน มีใบรับรองเกษตรอินทรีย์ไหม แล้วเราก็ไปดูถึงที่ น้ำที่ใช้มาจากไหน มีแนวกันชนไหม เรามีเครื่องที่เอาไว้ตรวจสารพิษในน้ำด้วย อีกหน่อยก็คงมีแล็บแล้ว (หัวเราะ) 

ตอนนี้เรารับผักผลไม้มาจากสามพรานโมเดล ก็มาจากอำนาจเจริญ ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบฯ ถ้าฝั่งอีสานก็จะเป็นกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์อำเภอสูงเนินที่จะส่งเข้ามาทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง 3 ครั้ง ที่ไหนปลูกอะไรขึ้นก็ส่งมา แล้วมันเห็นโลกเลยนะ เห็นระบบนิเวศของโลกเลย

หน้าแล้ง มะพร้าวก็หด ไม่มีน้ำมะพร้าวขาย หรือปีนี้มะม่วงมาเร็วไป มาก่อนฤดู เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกผ่านผลผลิตทางการเกษตร รู้เลยโลกร้อนเป็นยังไง 

ในฐานะคนทำธุรกิจในเมือง อะไรคือความจำเป็นที่เราต้องเข้าใจภาพรวมของคนปลูกหรือสิ่งแวดล้อม

เราหนีไม่พ้น ถ้าเราไม่รู้ว่าโลกมันเป็นไปยังไง เราก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง เราควรจะรับรู้ว่าเราก็เป็นคนหนึ่งที่จะขยับเขยื้อนอะไรก็ตามย่อมมีผลกระทบกันอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุที่ว่าเราอยู่บนโลกนี้โดยที่ไม่ดูดายไม่ได้ ถ้าคิดแค่เพื่อตัวเราเอง ยังไงมันก็ต้องมีผลกระทบกับเรา แต่ถ้าคิดในแง่ของอนาคต เราก็ควรจะรู้ปัจจุบันเพื่อที่จะอยู่ให้ได้ในอนาคต หรือถึงเราอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่มนุษย์รุ่นต่อไปจะอยู่ยังไง เราก็ต้องไม่ดูดาย

เราจึงอยากสร้างฐานผู้บริโภค คุณกินยี่ห้อไหนก็ได้ แต่ขอให้คุณมีความรู้ว่ามนุษย์ควรกินอะไร ควรอยู่ยังไง แล้วคุณก็จะไปเลือกของอื่นๆ ที่มันดีและเหมาะกับคุณ แล้วมันก็จะดีกับระบบโดยรวม 

ตัวอย่างของการสร้างฐานผู้บริโภคเพื่อให้เข้าใจภาพรวมที่ว่าคืออะไร 

เวิร์กช็อปค่ะ เราเริ่มจากเวิร์กช็อปปั่นน้ำนะ แต่ก็รู้สึกว่ามันมีอีกองค์ความรู้หนึ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันแต่คนไม่รู้เยอะ เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ ล้างหน้ายังไงให้เป็นมิตรกับตัวเองแล้วก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เอาจริงๆ พูดแบบมนุษย์เห็นแก่ตัวเลยนะ เริ่มจากเป็นมิตรกับตัวเองก่อน แล้วเดี๋ยวมันจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเอง

มันหนีกันไม่พ้น เพราะแค่ทำเพื่อตัวเอง คุณก็จะเห็นว่าเฮ้ย อยู่ไม่ได้ว่ะ อยากได้ของเพียวๆ อยากได้น้ำโคตรบริสุทธิ์ มันไม่มีหรอก เพราะยังไงต้นทางมันก็โดนทำลายมาแล้ว จะไปซื้อซูเปอร์เครื่องกรองน้ำเหรอ ก็จะอยู่ในวังวนหาเงินไปซื้อเครื่องกรองน้ำ อากาศเป็นพิษ มีหน้ากากแล้วอยู่ได้เหรอ อยู่ได้จริงๆ หรือเปล่า สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ก็ต้องมาดูแลสิ่งแวดล้อมกัน

สัดส่วนของฐานผู้บริโภคที่อยู่กันมายาวๆ กับลูกค้าที่มาลองเป็นคอร์สๆ ไปเป็นอย่างไรบ้าง บริหารความผันผวนของลูกค้ายังไง

เราไม่ได้คำนวณเลยจนกระทั่งปีที่แล้ว และพบว่า 40% คือลูกค้าประจำซึ่งถือว่าเยอะมาก ใน 100 คน 40 คนกลับมากินซ้ำ เราเรียกลูกค้าว่าสมาชิก สมาชิกที่กินตั้งแต่เปิดร้านจนถึงปัจจุบัน คือ 6 ปีมีประมาณสัก 20-30 กว่าคน ก็มีคอมเมนต์ตรงๆ แรงๆ ตลอด แต่ก็กินต่อนะ (ยิ้ม) 

ลูกค้ากิตติมศักดิ์มีคอมเมนต์ยังไงบ้าง

จริงๆ ที่ร้านค่อนข้างสายแข็ง ตอนเปิดร้านมานี่แข็งโป๊กเลย คือมีรสเดียว แล้วเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สีเหมือนเดิมแต่จริงๆ มันเปลี่ยนข้างใน เรากินได้ไง แต่ลูกค้ากินสูตรเดียวทุกวันไม่ไหว สมาชิกทำให้เราปรับปรุงเปลี่ยนแปลง มีสูตรเพิ่มมากขึ้น หรือกระทั่งแต่ก่อนเราส่งด้วยถุงอลูมิเนียมฟอยล์ ก็มีคนบอกว่าถุงแบบนี้มันรีไซเคิลไม่ได้นะ เราก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นถุงผ้า แต่ก่อนใช้เขียนเอา เดี๋ยวนี้มีป้ายชื่อ สมาชิกจะคอมเมนต์เข้ามา ซึ่งมันดีกว่าที่เราจะคุยกันเอง  

แล้วกับลูกค้าหน้าใหม่ล่ะ 

คอร์สหลักจริงๆ มันถูกคิดมาจาก 21 วัน เพราะ 21 วันคือช่วงเวลาที่ยาวนานพอที่จะทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เปลี่ยนนิสัยตามหลักจิตวิทยา เราก็อยากจะให้เขามีความรู้สึกแบบที่เรารู้สึก ว่าพอมันผ่านความสม่ำเสมอไปได้ มันรู้สึกดีมากจริงๆ แต่ก็จะมีบางคนที่ไม่แน่ใจกินได้ไหม ก็ 5 วันก่อน 5 สี 5 รส อนาคตอันใกล้จะเป็น 10 วัน 10 รส ดับเบิ้ลเป็น 10 วัน ใครแพ้อะไรก็แค่บอกมา เราก็จะไม่ใส่ แต่จะพยายามบอกเขาว่าคุณไม่ชอบอะไร คุณก็ขาดสารอาหารจากสิ่งนั้นนะ พยายามสู้ แต่ตอนหลังเราก็เริ่มที่จะเปิดกว้างมากขึ้น เริ่มอ่อนลง เริ่มเข้าใจทุกคนมากขึ้น (หัวเราะ) 

คนเขามีปัญหา เราทำให้เขาไม่ได้เหรอ ค่อยๆ ลากเขาเข้ามา ก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น มีสูตรหลากหลายมากขึ้น ตอนนี้มีทั้งหมด 5 เลเวล คือความยากง่ายในการกิน ง่ายสุดก็จะเป็นเป็ด แล้วก็เขยิบขึ้นมาเป็นกระต่าย แล้วก็มากระรอกที่เพิ่มพวกธัญพืช เต่า และแรด สูตรดีท็อกซ์ที่ยากที่สุด เราก็เพิ่งรู้ว่าแรดเป็นสัตว์กินพืช คำถามคือตอนนั้นจะตั้งชื่อสูตรดีท็อกซ์ใหม่ อะไรเอ่ยกินพืชแล้วแข็งแรง แรดว่ะ (หัวเราะ) 

ขอนอกเรื่องนิด, ดีท็อกซ์ดีกับสุขภาพจริงไหม?

ดีค่ะ เรารีเสิร์ชมาแล้วว่ามันเป็นการพักระบบร่างกาย แต่ก็ต้องดูพื้นฐานร่างกายของคนคนนั้นด้วย ถ้าผอมอยู่แล้ว ขาดสารอาหารอยู่แล้วก็ไม่ควรทำ ควรหาวิธีอื่น มันไม่มีอะไรเหมาะกับทุกคนหรอก 

กลับมาที่อยากให้ปลูกปั่นเปิดกว้างมากขึ้น เป็นเหตุผลให้รีแบรนด์ปลูกปั่นเมื่อต้นปีหรือเปล่า

จังเป็นคนทำ branding ออกแบบพวก corporate identity แต่ว่างานของร้านเองไม่ว่างทำเลย จนปีที่แล้วเลยคิดว่าต้องรีแบรนด์ร้านพอดี ก็เลยออกแบบโลโก้ใหม่เป็นคนป่า บนหัวมีผลไม้ เขียนเองอยู่เป็นร้อยๆ สเก็ตช์ 

เราอยากคุยกับคนจำนวนมากขึ้น คุยกับคนกว้างขึ้น ตอนแรกเอาแค่คนป่วยก่อนเพราะเราหายป่วย แต่พอตอนนี้ คนพรีป่วยก็มีเยอะนะ (หัวเราะ)

บางคนยังไม่ป่วย บางคนดูแลคนป่วย บางคนไม่ได้สนใจจะมาทางนี้เลยก็มี ซึ่งนอกจากจะรีแบรนด์แล้ว เราก็ยังออกโปรใหม่ๆ อย่างโปรตึก ก็มาจากการที่เข้าใจคนมากขึ้นว่าเขาไม่สามารถที่กินตลอดออเดอร์ 21 วันได้นะ 5 วันบางทีก็ไม่ไหวนะ หรือเราอยากให้เขาได้ลองอะไรที่มันสวยๆ แฟนซีหน่อย เจอ 5 แก้ว 5 สี ไซส์เล็กๆ น่ารัก แค่รวบรวมไพร่พล หาพวกในตึกเดียวกันได้ครบ 5 ก็ไปส่งแล้ว ถ่ายรูปได้ กินง่ายแก้วเล็กๆ ทั้งที่จริงๆ ปริมาณมันก็เท่ากันนะ โห จองกันแหลกลาญ

คุณคิดว่าการตอบรับนี้บอกอะไรคุณ

ดีว่ะ รู้อย่างนี้ทำตั้งนานแล้วเนี่ย (หัวเราะ)

มันโตไปกับเรานะ ตอนแรกเราก็มีจุดยืนไงว่าเราอยากให้คนสุขภาพดี แต่สุขภาพจิตจะเครียดแค่ไหน ไม่อร่อยยังไงก็ต้องกิน นั่นก็แปลว่าเราบังคับให้เขาสุขภาพดี กินไปสิ กินแล้วดี เครียดทุกอย่าง แต่พอไปเวิร์กช็อป ไปเจอคนมากขึ้น หรือว่าเจอกับแม่ตัวเอง มันไม่ได้ว่ะ เราต้องยอมรับเขามากขึ้น แล้วเปิดตัวเองให้กว้างมากขึ้น 

แต่ก่อนเป็นนักออกแบบ ทำงานคนเดียว ร่างกายทั้งหมดใช้นิ้วเดียวเท่านั้น คือนิ้วของการเป็นนักออกแบบที่จะตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง ชี้ว่าอันนี้ไม่สวย อันนี้สวย อันนี้ ดีไม่ดี ด้วยมุมมองของเรา แต่พอมาทำเรื่องอาหาร มันไม่ใช่ว่าคุณชอบหรือไม่ชอบ อินหรือไม่อินการออกแบบแล้ว ทุกคนในโลกนี้ต้องกินอาหาร แล้วเราจะบอกให้เขากินแบบที่เราต้องการไม่ได้ เราก็เลยต้องเปิดอีก 5 นิ้ว อีก 10 นิ้วขึ้นมาเพื่อที่จะเข้าใจเขามากขึ้น เข้าใจปัญหาของเขามากขึ้น งั้นคุณกินอะไรที่มันซอฟต์ๆ ไปก่อน กินก็ได้ค่อยเขยิบๆ ไป ส่วนลูกค้าดั้งเดิมตั้งแต่เปิดร้าน ตอนนี้กินคอร์สเต่ากัน แล้วบอกว่าขอโหดกว่านี้ได้ไหม เพราะเขากินจนโอเคแล้ว แต่ถ้าใครเพิ่งเริ่มกินแล้วเจอคอร์สเต่านี่ ไม่เอาแล้วทุกคน (หัวเราะ)

เปลี่ยนคนทั่วไปกับเปลี่ยนคนใกล้ตัว อันไหนยากกว่ากัน

คนใกล้ตัว แต่ไม่ถึงขั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย แค่ต้องใช้ความพยายามในการเน้นย้ำไปเรื่อยๆ แล้วก็ตัวคนที่อยากจะเปลี่ยนคนอื่น ตัวเองต้องเปลี่ยนก่อน ต้องให้เขาเห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเราจริงๆ เช่นเราทำมาปีที่ 5 แม่เพิ่งจะยอมกิน หลานเพิ่งจะยอมกิน หรือกับคนเขารู้แมสเสจเดียวกับเราทุกอย่าง เขาไม่เปลี่ยน แต่เราเปลี่ยน พอมาดูเราอีกทีหนึ่ง เขาเห็นการเปลี่ยนแปลง มันต่างจาก 5 ปีที่แล้ว ทำไมเขาดูแย่ลงแล้วเราดูดีขึ้น เขาก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงบ้าง ก็ต้องใช้ความอดทน โมโหเหมือนกันนะ ข้างนอกเขาก็กินกัน ทำไมที่บ้านไม่ยอมรับ (หัวเราะ)

สื่อสารกับคนในบ้านกับคนนอกบ้างต่างกัน?

เราว่าเป็นเพราะเราไม่ยอมรับเขา แล้วอยากให้เขามายอมรับเรา คือถ้าเราไม่ยอมรับใครก่อน ไม่มีทางที่เขาจะยอมรับเรา อย่างเช่นแม่เราเอง เป็นคนที่ทำให้เกิดสูตรเป็ด เพราะว่าแม่ไม่ยอมกินข้นๆ ก็เลยต้องไปทำสูตรเป็ดมาให้แม่กิน จนมาว่าเข้าใจแล้วว่าคนจำนวนนี้มีจริงๆ งั้นก็ขายสูตรเป็ดแล้วกัน 

จากจุดเริ่มต้นที่อยากจะทำโมเดลตัวอย่าง จนถึงวันนี้ มันได้ตอบสิ่งที่เราตั้งใจตอนแรกหรือยัง 

ตอบ ตอบมหาศาลเลย แล้วก็ตอบหลายอย่างที่เราไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้น ตัวเราเองมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเองค่อนข้างเยอะ จากคนที่ทำงานคนเดียว หรือทำงานกับคนแค่บางกลุ่ม ถึงเวลาก็แยกย้าย รวมกลุ่มใหม่ ไม่ชอบหน้าใครก็ไม่ต้องทำต่อก็ได้ กลายเป็นคนที่เริ่มเรียนรู้และชอบคนอื่นมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะมีความสัมพันธ์ในระยะยาว แต่ก่อนเกลียดมากเลยพูดเรื่องธุรกิจ จะทำมาหากินกันอะไรนักหนา แต่ตอนหลังถึงคิดว่าถ้าเราทำให้มันโตไม่ได้ โตในที่นี้หมายถึงต้องมีเงินเข้ามาหล่อเลี้ยง เราก็ช่วยคนอื่นในวงกว้างขึ้นไม่ได้ เราจะช่วยได้แต่คนที่มีความคิดเหมือนเรา จะช่วยแต่คนที่อยากจะกินอะไรฮาร์ดคอร์เหมือนเรา แล้วคนอื่นๆ ไปไหนหมด สุดท้ายมันก็ได้แค่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว มันไม่มันอะ (หัวเราะ)

ไหนๆ ทำแล้ว แล้วมันก็โตแล้ว เราก็อยากให้มันกว้างขึ้น เพราะจริงๆ แล้วเราอยากเป็นตัวอย่างไม่ใช่เหรอ ถ้าตัวอย่างสำเร็จแต่ในมุมแคบๆ มันก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี ต้องใครก็ได้ ใครอยากทำก็ได้

มีคนหยิบวิธีคิดแบบนี้ไปใช้ต่อจากเราบ้างไหม

ก็มีนะ ตอนนี้เราสิ่งที่เรียกว่า ‘ลูกพี่’ ซึ่งเกิดจาก customer service ของเราดูแลคนไม่ไหว เราก็น่าจะมีคนที่คล้ายๆ เป็นคนที่มารับไปดูแลอีกที เราเรียกว่าลูกพี่ เป็นลูกพี่ของมนุษยชาติ  และถ้าลูกพี่แข็งแกร่งจะกลายเป็นฮับก็ได้ เพราะลูกพี่ก็คือคนที่เคยกินน้ำเรา เป็นคนที่อินกับความคิดของเรา กับแนวทางของเราว่าเราอยากทำอย่างนี้ อยากทำไหม อยากให้มันไปงอกงามแถวๆ นั้นหรือเปล่า อยากทำก็ทำ ถือเป็นช่วงทดลองค่ะ เราตีไว้แล้วว่าถ้ามันโอเคก็ทำต่อ คือถ้ามันไม่ลองก็ไม่รู้ก็เลยต้องลอง

อะไรเป็นแพสชั่นให้อยากทำสิ่งที่นอกเหนือจากความคุ้นเคยเดิมๆ 

พอเห็น customer service เราเหนื่อย เขาต้องคอยดูแลคนอื่นเยอะๆ จริงๆ คน 1 คนดูแลคนได้ประมาณสัก 120 คนกำลังดี แต่อันนี้มันเกินแล้ว พอคิดว่าแล้วเราต้องไปจ้าง customer service เพิ่มเหรอ ต้องมี call center เหรอ ทำไมไม่ให้คนดูแลกันเอง ใครก็ได้ แค่คุณเป็นคนที่ดูแลคนอื่นได้ ลูกค้าเราหลายคนก็ชอบบอกต่อ นี่ไงเขาก็ดูแลกันเอง เขาก็สื่อสารกับเพื่อนเอง แล้วมันคือ micro influencer นี่แหละ แล้วทำไมเราจะสร้างลูกพี่มาบอกคนอื่นไม่ได้ แล้วถ้าวันหนึ่งลูกพี่เขาโตไปทำอย่างอื่นก็ยิ่งดี ก็จะได้มีคนรู้จริงเพิ่มขึ้นว่าคนเราต้องกินอยู่หลับนอนยังไง เพื่อจะไม่ให้มีปัญหากับตัวเอง 

ก่อนหน้านี้เราเป็นคนที่ไม่ดูแลตัวเอง แต่ไปดูแลของที่ตัวเองอยากให้เป็น เราอยากไปออกแบบเฟอร์นิเจอร์ อยากไปออกแฟร์ แล้วพอเราป่วยปุ๊บเราต้องกลับมาดูแลตัวเองก่อน เพื่อให้หายแล้วก็จะไปทำอย่างอื่นต่อ ทำไมคนเราต้องย้อนไปย้อนมา

ก่อนที่คุณจะทำอะไรก็ตามในชีวิต คุณต้องดูแลเครื่องจักรที่เอาไปทำงานนี้ให้ดีที่สุด คือดูแลให้เป็นก่อนจะไปดูแลคนอื่น หรือไปทำธุรกิจ ไปทำสิ่งใหม่ ถ้าเราสร้างลูกพี่ขึ้นมา สร้างคนที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อนๆ ได้ขึ้นมา ตอนแรกคุณอาจจะไม่เชื่อ แต่ถ้าเพื่อนคุณเห็นคุณดูดีขึ้นเรื่อยๆ เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนรอบตัว ก็เลยเป็นที่มาว่าคนที่จะดูแลคุณได้ดีที่สุดก็คือคนที่อยู่ข้างๆ คุณนั่นแหละ เพื่อนบางคนก็กินมาตั้งแต่มีเพิ่งคลอดลูกจนปัจจุบันนี้ก็ยังกินอยู่ ย้ายบ้านก็ยังกินอยู่ กินแล้วรู้สึกดี คนที่แนะนำก็มีความสุข 

ขยายฐานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

โลกมันเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล ทุกวันนี้จะออกจากบ้านต้องคิดแบบล้านแปด เช็กค่าฝุ่นเท่าไหร่ ไวรัสแพร่ถึงไหนแล้ว มันไม่มีความสุขอะ แล้วเราก็รู้ว่าวิธีการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดก็คือคุ้มกันตัวเองนี่แหละสำคัญที่สุด อย่างช่วงโควิด-19 เราเชื่อว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“ตอนที่ร้านกาแฟต่างๆ ออกมายืดอกไม่รับแก้วส่วนตัว ทีมงานก็ถามว่า พี่เอาไงดี เราควรต้องปรับตัวไหม เพราะเราใช้แก้วรียูส เราก็เลยตอบไปว่า ไม่สิ เราต้องมีจุดยืน ถ้าเราเปลี่ยนแสดงว่าเราไม่มั่นใจในระบบทำความสะอาดของเรา เครื่องล้างเราเป็นระดับเดียวกับที่โรงพยาบาลใช้ ความร้อนก็ 85 องศาเซลเซียส และเราทำแบบนี้มาตลอด”

หน้าที่ของเราคือการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ความสะอาดกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกันได้ เราไม่รู้ว่าไวรัสนี้จะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน จะมีโควิด 20 21 22 ถ้าเราหนีเราก็ต้องหนีไปตลอด อยู่กับมันค่ะ อยู่ให้ได้ในโลกที่เปลี่ยนไปตลอดกาลใบนี้ อยู่แบบเอาตัวให้รอด และโลกรอดด้วย เพราะถ้าระบบกลางพัง มันก็พังหมด คุณอาจรอดวันนี้ แต่พรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า เราก็ไม่รอดอยู่ดี

เริ่มต้นที่เราอยากเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เราพึงพอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เราสร้างจากธุรกิจนี้มากน้อยแค่ไหน

พึงพอใจมาก เกินกว่าที่คิดเยอะ ตอนแรกเรานึกว่าคงมีคนไม่เยอะหรอกที่อยากจะเห็นอะไรๆ มันดีขึ้น แต่ปัจจุบัน เราเห็นว่ามีคนจำนวนมากที่อยากจะเห็นโลกนี้มันดีขึ้น เช่นมาสนับสนุนเรา เช่นให้การต้อนรับอย่างดี หรือลูกค้าเองสมาชิกเองที่เหมือนเป็นเพื่อนกัน ไม่คิดว่าตัวเองจะมีเพื่อนเยอะขนาดนี้ แต่ก่อนเป็นคนเก็บตัวแล้วคบเพื่อนเฉพาะเลือกแล้วเท่านั้น พอหลังๆ เรามาทำเรื่องนี้ เราก็เลือกเพื่อนไม่ได้ เพราะบางคนเขาป่วยยังจะเลือกเขาอีกเหรอ แล้วก็ทำให้เห็นว่าคนเรามันก็มีจุดร่วมกันได้นะ แล้วก็มีจุดร่วมที่ดีร่วมกันได้เยอะเหมือนกัน 

จุดร่วมที่ดีนั้นคืออะไร

คือคนที่เริ่มคิดถึงคนอื่น เริ่มคิดถึงอย่างอื่นมากกว่าตัวเอง เยอะนะคะ ไม่น่าเชื่อ มันเห็นความหวังว่าสังคมนี้ดีได้ ความหวังทำให้ธุรกิจไปได้เรื่อยๆ หาให้เจอแล้วต้องยิ่งรวมตัวให้ได้มากเท่าไหร่ พลังมันก็ยิ่งมากเท่านั้น แต่ก่อนคนพวกนี้กระจัดกระจาย แต่พอเรามีเพจ มีคอมมูนิตี้ คนก็เริ่มมารวมตัวกัน คนที่เหมือนๆ กันมารวมตัวกันก็เกิดพลังขึ้น คนหนึ่งคน เปลี่ยนแปลงคนร้อยคนยากนะ แต่ถ้าคน 10-20 คนเปลี่ยนแปลงคนร้อยคนมันง่ายกว่า

สังคมมันเปลี่ยนได้ด้วยพลัง พลังที่เกิดจากการรวมตัวกัน

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง