เริ่มจากความสนใจในเรื่องราวของข้าวพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ยิ่งค้นพบ ก็ยิ่งเจอความหลากหลายและภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ จากเมล็ดข้าวที่เรากินเป็นข้าวสุก เริ่มได้ลิ้มชิมรสของขนมหลากหลายชนิด ที่แปรรูปมาจากข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ผ่านกระบวนการทำแป้ง สัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์ของแป้งข้าว ทั้งรูป รส กลิ่น สี กระทั่งเกิดเป็นความหลงใหลในแป้งข้าว
ญา-รัญญา นวลคง เจ้าของเพจ Pung Craft อดีตเจ้าหน้าที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกแห่งประเทศไทย กับบทบาทปัจจุบัน ทำหน้าที่แบ่งปันเรื่องราวของเบเกอรี่แป้งข้าวพื้นบ้าน โดยเปิดบ้านเป็น ‘บ้านเรียนขนมปัง’ สำหรับผู้สนใจได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำเบเกอรี่ในแบบโฮมเมด ทั้งขนมปัง มัฟฟิน พิซซ่า โดยเน้นการประยุกต์ใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นอย่างแป้งข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกโดยระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ผ่านการนวดส่วนผสมด้วยสองมือ ทำให้กระบวนการทำเบเกอรี่ไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำได้ด้วยตัวเอง
นอกจากเปิดบ้านสอนเบเกอรี่แป้งข้าวแก่ผู้ที่สนใจทั่วไปแล้ว ในวันว่างๆ สบายๆ อาจมีเหล่าเด็กๆ แวะเวียนกันมาชวนทำขนมแปลกใหม่สำหรับพวกเขากินกัน บรรยากาศห้องเรียนปังคราฟท์จึงไม่ค่อยเงียบเหงา ด้วยมีสิ่งให้เล่นให้เรียนรู้มากมาย นอกจากได้รับความสนุกสนานแล้วยังอิ่มท้องกันทั่วหน้า ที่สำคัญเป็นการส่งต่อเรื่องราวแป้งข้าวให้กับเหล่าเด็กๆ อีกด้วย ทั้งอิ่มกาย ทั้งได้ความรู้กันแบบฟินๆ
“การทำอาหารด้วยสองมือ เราจะค้นพบว่ามีอะไรหลายอย่างซ่อนอยู่ในหนึ่งเมนูอาหารที่เราทานเข้าไป การได้สัมผัสกับทุกกระบวนการจะทำให้เรารักอาหารที่เราทาน ปังคราฟท์ในความหมายของญาก็คือการทำขนมปังด้วยตัวเอง ผ่านการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดี
“มากกว่าเบเกอรี่ คือการแบ่งปันเรื่องราวแป้งข้าวพื้นบ้านไปสู่ผู้อื่น”
และนอกจากการเลือกใช้แป้งข้าวพื้นบ้านที่หลากหลายจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยตรงแล้ว ปังคราฟท์ยังเน้นการทำเบเกอรี่แบบ ไร้นม ไข่ เนย และสารปรุงแต่งที่เป็นอันตราย ด้วยต้องการให้คนที่แพ้สิ่งเหล่านี้สามารถทานได้ อีกทั้งยังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพของทั้งคนทำคนทาน และเพื่อสุขภาพและความสมดุลของโลกใบนี้อีกด้วย อย่างเมนูพิซซ่าจะเป็นแบบปลอดเนื้อสัตว์ โดยเลือกใช้ผักพื้นบ้าน เห็ดต่างๆ มาใช้เป็นหน้าพิซซ่าแทน ซอสปรุงรสผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะเป็นผู้ปรุงด้วยตัวเอง ไม่ได้ใช้ซอสปรุงรสสำเร็จรูป เรียกได้ว่าเราสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพได้ตามใจชอบได้เลย
เสน่ห์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของแป้งข้าวพื้นบ้านคือ มีความหลากหลายในแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันไป บางสายพันธุ์ให้สีสันที่สวยงาม อย่างเช่น แป้งข้าวเมล็ดฝ้าย 62 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวไร่จากจังหวัดตรัง ให้สีออกม่วง ผสมกับแป้งสาลีสายพันธุ์สะเมิงออกมาเป็นขนมปังที่สวยงาม รสชาติดี ได้กลิ่มหอมแป้งข้าวน่าทานมาก เหมาะกันคนที่ชอบทานขนมปังโฮลวีต แป้งข้าวบางชนิดให้กลิ่นหอมของข้าวชัดเจน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
แป้งข้าวสังข์หยดจากพัทลุง แป้งข้าวหอมกระดังงาจากจังหวัดตรัง จะได้เบเกอรี่ที่มีกลิ่นหอมแป้งข้าวน่ากิน แป้งข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวแดงจากร้อยเอ็ด ขนมปังจะมีความเหนียวนุ่ม ทั้งยังให้สีสันจากเอกลักษณ์ของแป้งแต่ละชนิด
ยิ่งได้ทดลองใช้แป้งข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์ต่างๆ ยิ่งค้นพบความมหัศจรรย์ของแป้งข้าว ทำออกมาเป็นขนมปังหรือเบเกอรี่แล้ว เกิดความรู้สึกรักในแป้งข้าวพื้นบ้านและอาหารที่เราทำออกมา “เชื่อว่าสิ่งที่เกิดจากความรักเมื่อส่งถึงมือผู้รับ เพียงกัดกินคำแรกก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกนั้นเช่นเดียวกับเรา ผู้ซึ่งทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความรักเช่นเดียวกัน”
“เราเชื่อว่าอาหารเป็นสิ่งใกล้ตัวและสำคัญมากอย่างหนึ่ง คงจะดีไม่น้อยถ้าเราลุกขึ้นมาจับเครื่องไม้เครื่องมือประกอบอาหารให้กับตัวเองและคนใกล้ชิด และคงจะดียิ่งขึ้นอีกถ้าเราเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่ทำร้ายเราและโลกใบนี้”
ถ้าพร้อมแล้วก็หยิบถ้วยตวงไม้คลึงแป้งมาบรรเลงบทเพลงแห่งแป้งข้าว ในแบบฉบับบ้านๆ ไปพร้อมกันได้เลย
FB: www.facebook.com/PungCraft2019