เวลาไม่พอ ที่ดินก็ไม่มี ปลูกใส่กระถางรากก็เน่าง่าย ฯลฯ

​สารพัดปัญหาของคนอยากปลูกผักกินเองคือจุดเริ่มต้นของไอเดียง่ายๆ แต่ทำได้จริงอย่าง ‘ตะกร้าผักมีชีวิต’ ที่ พอต-อภิวรรษ สุขพ่วง เกษตรกรหนุ่มชาวราชบุรีภูมิใจนำเสนอ และหวังใจให้มันกลายเป็นวิธีสร้างอาหารในครัวเรือนที่ใครก็ทำได้

​ไม่จำเป็นต้องมีที่ดินขนาดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาดูแลมากมาย แถมอาจไม่จำเป็นต้องลงมือปลูกเอง เพราะตะกร้าสานแบบพิเศษนี้แก้ทุกปัญหาได้ปลิดทิ้ง ทั้งน้ำหนักเบายกย้ายได้สะดวก ระบายน้ำดี อายุการใช้งานนานเป็นสิบปี แถมยังถูกออกแบบมาสำหรับปลูกผักสวนครัวในที่แคบโดยเฉพาะ เรียกว่าตอบสนองความต้องการคนเมืองแบบสุดปรอท แถมการต่อยอดให้ ‘ตะกร้าใส่ต้นผัก’ กลายเป็นสินค้ามีมูลค่าก็ยิ่งช่วยให้เกษตรกรยิ้มกันกว้างกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ช่วยให้อีกหลายชีวิตมีผักสดๆ ไว้หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ

​“อีกปัญหาคือเกษตรกรเดี๋ยวนี้นิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างอ้อย ข้าวโพด ทำให้ดินเสีย สุดท้ายเลยต้องซื้อผักสดจากตลาดกินอยู่ดี” พอตอธิบายความคับข้องใจให้เราฟัง

​“ระหว่างคิดแก้ปัญหา เราก็พบว่าโมเดลตะกร้าเชี่ยนหมากของคุณยาย (กล่องใส่สิ่งละอันพันละน้อยสำหรับคนกินหมาก) มันเวิร์ก เลยลองใช้เส้นพลาสติกชนิดทนแดดมาสานตามแบบ จนได้กล่องแน่นๆ แต่ยังมีรูระบายให้น้ำไหลผ่านได้ง่าย”

​และหลังลองใช้กล่องที่ว่า ปลูกผักสวนครัวจนได้ผลลัพธ์น่าพอใจ เขาก็ส่งต่อความรู้การสานกล่องให้กับนักเรียนและเกษตรกรในชุมชนจนกลายเป็นคอมมิวนิตี้เล็กๆ ของคนปลูกผักสวนครัวในอำเภอจอมบึงบ้านเกิด ก่อนกระจายสู่อีกหลายจังหวัดผ่านการบอกเล่าปากต่อปากของคนรักอาหารสะอาดด้วยกัน

การปลูกผักต้องง่าย และทำได้ทุกที่

​จุดเด่นอีกอย่างของตะกร้าผักมีชีวิต คือการลงรายละเอียดในการออกแบบตะกร้าเป็นขนาดต่างๆ ให้เหมาะกับผักแต่ละชนิด เช่น ผักกินใบควรปลูกใส่ตะกร้าสานขนาด 4 ลิตรเพราะรากตื้น ส่วนผักรากแก้วอย่างมะกรูด มะนาว ก็ปลูกใส่ตะกร้าก้นลึกกว่านั้น แต่ถ้าเป็นผักก้านเลื้อยอย่างสะระแหน่หรือผักบุ้งก็เหมาะกับตะกร้าสานปากกว้างมากกว่า

​“ถ้าพูดถึงความประหยัด มันคุ้มมากนะ เพราะสายรัดพลาสติกชนิดทนแดดหนึ่งกิโลราคา 50 บาท สานตะกร้าได้ 5 ใบ แล้วตะกร้าใบหนึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี ก็เฉลี่ยเสียค่าตะกร้าปีละ 1 บาท แลกกับการมีผักให้เก็บกินตลอด” เขาคำนวณความคุ้มค่าให้เราฟัง ก่อนขยายความต่อว่า นอกจากตะกร้าสานจะมีประโยชน์กับเกษตรกรและคนท้องถิ่นราชบุรีแล้ว ยังโดนใจคนเมืองผู้อยากกินผักสดเด็ดเองจากต้น แต่ก็ยังต้องการ ‘ความง่าย’ มากกว่าหรือเท่ากับการซื้อผักจากซูเปอร์มาเก็ต

ซึ่งตะกร้าสานของเขาตอบโจทย์นี้แบบสุดๆ

​“ปัจจัยเดียวที่เราขอคือแสงแดด นอกนั้นคุณจะปลูกที่ไหนก็ได้ คอนโดฯ ห้องแถว บ้านจัดสรร ได้หมด”

​เพราะตะกร้าสานช่วยควบคุมปัจจัยในการปลูกผักไว้อย่างเบ็ดเสร็จ ถ้าดินไม่ดีก็สามารถเปลี่ยนถ่ายดินใหม่ใส่ได้ทันที หรือถ้าต้องการแดดจัดๆ ก็ยกออกมารับแดดได้ไม่ลำบาก แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องรากเน่า เพราะระบายน้ำได้ดี “มีสักสามตะกร้าในบ้าน ปลูกข่า ตะไคร้ มะกรูด เท่านี้ก็ทำต้มยำกินได้แบบไม่ต้องง้อผักจากตลาดแล้ว” เกษตรกรหนุ่มว่า

​หลังจากพอตตัดสินใจสร้าง ‘ไร่สุขพ่วง’ ขึ้นเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ได้ไ่ม่นาน ตะกร้าสานปลูกผักของเขาก็กลายเป็นโปรเจกต์เนื้อหอมที่ใครต่อใครก็อยากรับไปสานต่อ เช่น ไร่รื่นรมย์ ศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์อีกแห่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งรับเอาไอเดียนี้ไปใช้กับคอร์ส ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ คอร์สสอนวิธีสร้างอาหารภายในครัวเรือนผ่านการเรียนรู้วิธีสานตะกร้าและปลูกผักสวนครัวแบบง่ายๆ จนได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากทั้งคนรักวิถีเกษตรธรรมชาติและสื่อมวลชน

โมเดลเก็บกินแล้วเก็บกินเล่า

​นอกจากช่วยสร้างอาหารในครัวเรือน ตะกร้าสานยังต่อยอดสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและไร่ได้อย่างงาม เพราะแน่นอนว่าราคาของ ‘ผักมีชีวิต’ ย่อมสูงกว่าผักตามตลาดสดอย่างไม่ต้องสงสัย “สตรอว์เบอร์รี่สดอาจจะกิโลละ 80 บาท แต่พอขายเป็นต้นพร้อมลูกสตรอว์เบอร์รี่สีแดงฉ่ำ ราคาก็แตะ 100 บาทต่อตะกร้าได้ไม่ยาก” เขายกตัวอย่างให้เราเห็นภาพ ก่อนเสริมถึงการขายผักมีชีวิตที่กลายเป็นโมเดลธุรกิจน่าสนใจ และไม่สงวนลิขสิทธิ์ถ้าใครจะเอาไปทำตาม

​“เริ่มจากเราใช้ตะกร้าสานปลูกผักไว้กินเองก่อน พอเริ่มปลูกเยอะเข้าจนกินไม่ทัน ก็เลยวางขายเป็นตะกร้าใส่ต้นผักพร้อมกินอย่างมะเขือเทศ พริก สะระแหน่ ให้คนซื้อเอาไปดูแลรักษาและเก็บกินต่อได้เรื่อยๆ”

​ความพิเศษอีกอย่างของตะกร้าผักมีชีวิตอยู่ตรงที่ เมื่อครบรอบอายุขัยของพืชผักแต่ละชนิด ผู้ซื้อสามารถนำตะกร้าเดิมมาลดราคาในการซื้อผักครั้งต่อไปได้ด้วย “อย่างมะเขือเทศมันมีวงจรเก็บกินได้ราวๆ 2 เดือน พอต้นตาย คนซื้อก็สามารถเอาตะกร้ามาเติมต้นใหม่ได้ในราคาที่ถูกลง เช่น จากเดิมตะกร้าพร้อมต้นมะเขือเทศราคา 50 บาท ครั้งต่อๆ ไปก็จะเหลือแค่ 20 บาท เป็นค่าต้นผักเท่านั้นเอง” พอตบอกแบบนั้น ก่อนทิ้งท้ายถึงเป้าหมายในใจว่าอยากให้โมเดลตะกร้าผักมีชีวิตกระจายออกสู่วงกว้างให้มากที่สุด

เพราะความมั่งคงทางอาหารเล็กๆ ภายในครอบครัว เมื่อต่อรวมกันเป็นภาพใหญ่ก็อาจกลายเป็นความยั่งยืนของสังคมได้

ที่มาภาพถ่าย: ไร่สุขพ่วง, ไร่รื่นรมย์