ในแวดวงของเกษตรอินทรีย์ เราคงคุ้นเคยกับชื่อของสามพรานโมเดลกันดี ในฐานะต้นแบบของธุรกิจที่พยายามผลักดันสังคมอินทรีย์ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก สามพรานโมเดลคือการสร้างเครือข่ายสังคมอินทรีย์ระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักผลไม้และวัตถุดิบทางการเกษตรร่วมกับโรงแรมสวนสามพราน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ตลาดสุขใจ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ในปฐมออร์แกนิกฟาร์ม และล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมาก็ได้เปิดให้ใช้งาน Thai Organic Platform แพลตฟอร์มซื้อขายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ที่อยากเชื่อมต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคให้มาเป็นสังคมเดียวกันได้ง่ายยิ่งขึ้น
“เราต้องการให้เกิดความเชื่อมั่นตลอดห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าเกษตรได้ ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการผลิตกับเกษตรกรได้ และทำให้เกษตรกรสามารถเก็บข้อมูลการผลิตของตัวเองได้อย่างมีระบบมากขึ้นด้วย”
อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สวนสามพรานและเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ บอกกับเราว่า Thai Organic Platform ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำคือเกษตรกรอินทรีย์ ผู้ประกอบการที่อยู่กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างผู้บริโภค ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ผ่านการซื้อขายผลิตภัณฑ์อินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง
ซึ่งแพลตฟอร์มนี้นอกจากเราจะได้ซื้อสินค้าโดยตรงตรงจากเกษตรกรอินทรีย์ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังมั่นใจได้ว่าเกษตรกรทำผลผลิตอินทรีย์จริงๆ เพราะเกษตรกรอินทรีย์ที่ลงทะเบียนเพื่ออยู่บนแพลตฟอร์มนี้ จะต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในระบบ PGS (Participatory Guarantee Systems) มาตรฐานอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลอื่นๆ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลผลิต เห็นกิจกรรมของเกษตรกรอินทรีย์ เช่น การประชุมกลุ่ม การร่วมตรวจแปลง การเตรียมปัจจัยการผลิตในแพลตฟอร์มได้ด้วย ซึ่งจุดเด่นทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการสามารถอุดหนุนเกษตรกรได้อย่างสบายใจ มั่นใจว่าได้ซื้อสินค้าจากเกษตรกรผู้ผลิตอินทรีย์จริงๆ
“ปัญหาใหญ่ของสินค้าอินทรีย์คือเรื่องความเชื่อมั่น พอมีความต้องการของสินค้าอินทรีย์ ก็มีคนมาบอกว่าตัวเองเป็นอินทรีย์ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็น หรือไปเอาของเคมีมาผสมขายด้วย ซึ่งจะทำให้คนที่ตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์เสียชื่อไปด้วย”
“เราจึงอยากสร้างพื้นที่ที่สามารถช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเขาจะได้เจอกับเกษตรกรตัวจริง”
Thai Organic Platform เปิดให้บริการ 2 ช่องทางคือผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ปัจจุบันนี้สินค้าอินทรีย์ในแพลตฟอร์มนี้ก็มีอยู่หลายหมวดหมู่ เช่น ผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูป กว่า 200 รายการจากเกษตรกรในเครือข่ายสามพรานโมเดล
“สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เกษตรกรได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ละคนวางแผนการผลิตไปแล้ว จู่ๆ ตลาดหายไป เขาจะไปขายใคร ผลไม้อีกมากมายที่จะทยอยออกสู่ตลาดไม่กี่วันนี้จะระบายอย่างไร จะไปถึงมือผู้บริโภคที่อยากจะกินได้อย่างไร”
“เราจึงต้องมาเร่งเปิดใช้แอปพลิเคชัน Thai Organic Platform เพื่อเปิดพรีออเดอร์สินค้าของตลาดสุขใจและเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล ให้ผู้บริโภคสามารถออเดอร์สินค้าจากเกษตรกรล่วงหน้าและสามารถมารับได้โดยที่ไม่ต้องมาเดินหาซื้อของในตลาด ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก”
อรุษบอกว่า Thai Organic Platform ไม่ใช่แพลตฟอร์มของสามพรานโมเดลเท่านั้น แต่หวังจะให้เป็นแอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกรอินทรีย์ทุกคนในประเทศไทย
“เราอยากให้แพลตฟอร์มนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถเชื่อมสังคมอินทรีย์ได้ เราต้องการให้เกษตรกรอินทรีย์ทั้งประเทศมาร่วมกันใช้ ให้ทุกคนมาเป็นสังคมเดียวกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค”
“เพราะถ้ามีผู้บริโภคมาใช้งานมากขึ้นในอนาคต เราก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจริงๆ แล้วคืออะไร คนต้องการวัตถุดิบแบบไหน ของแปรรูป ของสด ซึ่งข้อมูลตรงนี้ก็จะมีประโยชน์กับเกษตรกร ให้เขาไปผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้
“แต่มันก็ต้องมีผู้บริโภคเข้ามาใช้พอสมควรก่อน พอมีการใช้มากขึ้นเราก็จะเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภค เราเชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้จะไม่เกิดประโยชน์เลยถ้าเป็นแค่ของสามพรานโมเดลที่เดียว ตอนนี้เราก็ไปชวนเครือข่ายอื่นๆ ที่ทำเกษตรอินทรีย์ อย่างเช่น เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช มาใช้แพลตฟอร์มนี้ด้วย ทุกคนก็จะได้เห็นสินค้ามากขึ้นในอนาคต”
ปัจจุบัน Thai Organic Platform เปิดรอบรับพรีออเดอร์ทุกวันจันทร์-พุธ และสามารถรับสินค้าได้ในวันเสาร์ของทุกสัปดาห์ จุดบริการรับสินค้ามี 2 แห่งคือตลาดสุขใจ นครปฐม และร้านปฐม ซอยทองหล่อ 23 กรุงเทพฯ ส่วนผู้บริโภคที่ต้องการให้จัดส่งถึงบ้าน สามารถใช้บริการขนส่งรายย่อยได้โดยที่ผู้บริโภครับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
“ในอนาคตแพลตฟอร์มนี้จะไม่ได้มีแค่การซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์เท่านั้น แต่ผู้บริโภคสามารถไปเยี่ยมเยือนแปลงเกษตรที่สนใจ จนถึงไปเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองแบบมีส่วนร่วมในมาตรฐาน PGS ได้ด้วย เพื่อให้เกิดสังคมอินทรีย์ที่มีความเชื่อมั่นได้ และขยับขยายไปไกลมากขึ้นกว่าเดิม”
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Organic Platform หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.thaiorganicplatform.com
ภาพถ่าย: สามพรานโมเดล