“การคิดว่าทุกสิ่งเริ่มต้นจากเรา และจากสภาพที่เราเป็นอยู่นั้น หาใช่การอวดศักดาในความเชื่อที่ว่ามนุษย์คือศูนย์กลางของทุกสิ่งที่ไม่มีอะไรมาเปรียบเทียบได้ แต่กลับเป็นในทางตรงกันข้าม มันคือการรับรู้ถึงข้อจำกัดของตนเอง เป็นการหยั่งรู้อย่างถ่อมตนถึงสิ่งที่เราคิดและกระทำ เราจำเป็นจะต้องคิดและกระทำจากจุดที่เราค้นพบและตระหนักถึงตัวเอง” 

นี่เป็นส่วนหนึ่งจากบทนำของหนังสือ ‘การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน’ ที่เขียนโดยผู้บุกเบิกนวัตกรรมเพื่อสังคมคนสำคัญคนหนึ่งของโลก 

ศ.ดร.เอซิโอ มานซินี่ เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกระบวนการออกแบบร่วมกันและออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคมคนสำคัญ เขาเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการออกแบบเมืองประสานความร่วมมือ และแนวคิดว่าเราทุกคนคือนักออกแบบ เพื่อมาร่วมกันออกแบบแนวทางในการแก้ไขปัญหาและปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม และยังเป็นผู้จุดประกายแนวทางการออกแบบเพื่อความยั่งยืนให้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งในฐานะนักออกแบบ อาจารย์ และผู้ประกอบการเพื่อสังคมบริษัท DESIS

เพื่อทำความรู้จักหนังสือเล่มนี้ให้มากขึ้น เรามีโอกาสได้ไปคุยกับ ศ.ดร.เอซิโอ มานซินี่ ที่มาลงพื้นที่เยี่ยมชมโปรเจกต์เพื่อสังคมในประเทศไทยร่วมกับทีม อินี่ เครือข่ายนวัตกรรมสากล เราคุยกับเขาในประเด็นที่สงสัยว่า ในวันที่ใครๆ ก็อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลก เราอาจได้ยินคำว่า นวัตกรรมเพื่อสังคม กันบ่อยขึ้น แต่จริงๆ แล้วมันคืออะไร เพื่อสังคม เพื่ออะไร เพื่อใครกันแน่

นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) คืออะไร

“คือไอเดียหรือวิธีคิดอะไรก็ตาม ที่มีคุณค่าต่อสังคม ซึ่งคุณค่าทางสังคมนั้นเกิดจากทั้งผลลัพธ์และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือถ้าพูดให้ชัดคือ Transformative Social Innovation เพราะไม่ใช่ทุกนวัตกรรมเพื่อสังคมจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง

“หัวใจของนวัตกรรมเพื่อสังคม คือการเข้าไปเปลี่ยนกลไกบางอย่างของระบบเพื่อไปขยับภาพใหญ่ เมื่อเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างได้มันถึงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมเพื่อสังคมนั้นจะอยู่ในสเกลไหนก็ได้ อาจจะเป็นในครอบครัว ในชุมชนเล็กๆ ไปจนถึงนโยบายรัฐ เช่น เปลี่ยนมุมมองของคนที่มีต่อเรื่องนั้นๆ เปลี่ยนมุมมองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนั้น หรืออาจเป็นการจัดการกับสิ่งเดิมๆ ด้วยวิธีใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว”

นวัตกรรมเพื่อสังคม สำคัญยังไง

“โลกตะวันตกได้รับอิทธิพลของ การทำให้ทันสมัย (modernization) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตามองและให้ความสนใจ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ทำให้เราเริ่มอยู่กันอย่างเป็นปัจเจกมากขึ้น หรืออาจจะพูดได้ว่า modernization คือกระบวนการที่ทำให้เกิดการสร้างความแตกต่างระหว่างบุคคล (individualization) ทำให้เราสูญเสียความเชื่อมโยงต่อคนอื่น ต่อชุมชน ต่อสังคม โดยที่เราตีความว่าสิ่งนี้คือ ความเป็นอิสระ

“ที่นี้ ในโลกโมเดิร์นที่คุณรู้สึกว่าเป็นอิสระต่อขนบแบบเก่า มีเสรีภาพ อีกด้านมันคือคุณสูญเสียความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมแบบเดิมไปแล้ว เช่น วิธีการอยู่ในอพาร์ตเมนต์ การกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือการอยู่คนเดียว คุณตัดขาดจากการมีปฏิสัมพันธ์คนอื่น คุณอยู่กับตัวเอง กับโทรศัพท์มากขึ้น เพราะฉะนั้นคำถามในวันนี้จึงเป็น อะไรจะเกิดขึ้นถ้าความเป็นสังคมเป็นชุมชนแบบดั้งเดิมหายไป เราจะต้องสร้างมันขึ้นมาใหม่ หรือเราสามารถสร้างความเป็นชุมชนร่วมสมัยมากขึ้นโดยไม่สูญเสียรากฐานเดิมทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันก็เผชิญหน้ากับสังคมใหม่ด้วยได้ไหม

“ซึ่งการสร้างความเป็นสังคมหรือชุมชนร่วมสมัยไปพร้อมกับการสร้างความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง คือโจทย์ที่ผมกำลังเลือกแก้และศึกษา นี่คือนิยามการออกแบบนวัตกรรมสังคมของผม 

“แต่เดิมความเป็นชุมชนความเป็นสังคมแบบดั้งเดิมมันไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรพิเศษ มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คุณไม่เคยต้องมาออกแบบว่าต้องมีเทศกาล มีกิจกรรมนั่นนี่ แต่มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อคนมาอยู่ร่วมกันมากๆ ก็เกิดการอยากเฉลิมฉลอง เกิดการอยากแลกเปลี่ยน แล้วก็เกิดอีเวนต์ขึ้นเพื่อตอบความต้องการนั้น ในขณะที่วันนี้โลกมันกลับกันแล้ว มันเหมือนมีเช็กลิสต์สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้สังคมมันไปต่อได้ พวกเทศกาลหรืออีเวนต์ต่างๆ ในวันนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อหวังให้คนได้มามีปฎิสัมพันธ์กันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดสังคมอีกครั้ง นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น”

จากที่คุณไปลงพื้นที่มา นวัตกรรมเพื่อสังคมในไทยกับในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต่างกันไหม? 

“ผมไม่สามารถตัดสินอะไรได้มากนะ แต่จะพูดในมุมมองที่เชื่อมโยงประสบการณ์ที่เจอที่นี่ กับสิ่งที่ผมเห็นมาทั่วโลก ซึ่งผมอาจจะผิดก็ได้นะ ถ้าพูดจากมุมมองของชายชาวยุโรปคนนึง ในโลกฝั่งตะวันตกมันกลายเป็นโลกแบบโมเดิร์นไปแล้ว คนอยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ ทุกคนเป็นปัจเจก แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนก็เริ่มค้นพบแล้วว่าการอยู่อย่างมีอิสรภาพนั้นอีกด้านหนึ่งคือความเหงา ความรู้สึกโดดเดี่ยว สุดท้ายมนุษย์ก็คือสัตว์ที่ต้องการสังคม นวัตกรรมสังคมในฝั่งนั้นจึงเป็นการเริ่มสร้างจากศูนย์ โจทย์เลยเป็นการหาจุดตั้งต้นที่จะทำอย่างไรให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันได้รู้จักกัน

“ในขณะที่ข้อดีของที่เมืองไทยคือยังมีชุมชนดั้งเดิมอยู่ แต่อยู่ในจุดที่อันตรายเพราะวิถีสมัยใหม่มันไม่ได้เป็นไปแบบที่วิถีชุมชนเคยอยู่อีกแล้ว ถ้าปรับตัวไม่ทันก็จะตายไป สิ่งที่ผมเห็นหลายๆ โปรเจกต์กำลังทำอยู่ คือการสร้างอะไรบางอย่างใส่ลงไปในชุมชนเพื่อกระตุ้นให้บางอย่างเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ชุมชนไปต่อได้แบบไม่เสียความเป็นตัวเองและปรับตัวกับโลกสมัยใหม่ ที่นี่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เช่น มีชุมชนเดิมชาวบ้านเป็นชาวประมง แล้วมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งมันกระทบกับความเป็นอยู่เดิมแน่ถ้าไม่มีใครทำอะไรเลย ความเป็นชุมชนแบบเดิมก็จะถูกทำลายด้วยการที่คนเข้ามาเที่ยว มาถ่ายรูป ทิ้งเงินไว้แล้วก็จากไป ซึ่งมันเป็นทุกที่ทั่วโลกนะ เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงความเป็นชุมชนนั้นตายลงทันที 

“สิ่งที่น่าสนใจคือการพยายามหาจุดร่วมระหว่างวิถีชุมชนเดิมกับการปรับตัวเพื่อรับนักท่องเที่ยว การเที่ยววิถีชุมชน การจำกัดจำนวนหรือคัดกรองนักท่องเที่ยว เพราะถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวก็ไม่มีเงิน ชุมชนก็อยู่ไม่ได้ มันเลยต้องออกแบบบางอย่างขึ้นมาเพื่อรองรับ นี่คือโจทย์ในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในบริบทของเมืองไทย

“สังคมมันคือระบบใหญ่ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน เราทุกคนเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่เชื่อมกันในหลายระดับตั้งแต่ครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน เมือง ประเทศ ไปจนถึงทั้งโลก เพราะฉะนั้น คำว่า ‘เพื่อสังคม’ จึงหมายถึงเพื่อการดำรงอยู่ของความเป็นสังคม ‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’ จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้กลุ่มฟันเฟืองเล็กๆ ที่กำลังโดนความเปลี่ยนแปลงหรือความทันสมัยเข้ามาทำลายความเชื่อมโยงนั้น ให้กลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้ง พร้อมกับขับเคลื่อนภาพใหญ่ มันอาจจะเป็นสิ่งใหม่ หรือแค่การจัดการสิ่งเดิมด้วยวิธีคิดแบบใหม่ก็ได้” 

แล้วเราปล่อยให้ natural selection ใครอ่อนแอก็ตายไป ใช้กับเรื่องนี้ได้ไหม?

“การที่สังคมหรือชุมชนจะไปต่อได้ ต้องเริ่มจากการยอมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรู้เท่าทัน แต่เดิมที่หลายๆ สังคมอยู่มาได้เป็นร้อยๆ พันๆ ปี เพราะเขามีความยืดหยุ่นแบบที่สัมพันธ์ไปกับบริบท เช่น การปรับตัวต่อดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรับตัวกันมาตามกาลเวลา แต่ในโลกปัจจุบัน การเข้ามาของทีวี เทคโนโลยี หรือนักท่องเที่ยวนั้น มันคือการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาแบบเร็วมาก จนชุมชนอาจจะปรับตัวไม่ทัน แล้วเป็นที่น่าเสียใจที่ชุมชนต่างๆ ก็หายไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นวันนี้เราเห็นภาพนี้แล้ว เห็นแล้วว่าความเป็นสังคมของเรากำลังอ่อนแอและกำลังตายไปเรื่อยๆ เราจึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ถ้าเรายังอยากไปต่อ”

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวยังไงกับชีวิตประจำวันของเรา?

“ปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่คนเราจะต้องตัดสินใจทุกวัน โดยใช้องค์ความรู้ประกอบ ลองมองย้อนกลับไปนะ เดิมคนอาศัยอยู่ในสังคมแบบดั้งเดิม อยู่กับสิ่งที่มีอยู่ คุณไม่ต้องมีการออกแบบการเลือก เพราะว่าคุณดำเนินชีวิตด้วยระบบคิดที่ย้อนกลับไปดูว่าคนรุ่นก่อนทำอะไรมาแล้วก็ทำตามกันต่อๆ มา คุณก็ทำตามวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านั้นเป็นผลจากการกลั่นกรองมานาน ใช้ระยะเวลายาวนานมากในการพิสูจน์แล้วว่าอะไรเวิร์กไม่เวิร์ก เป็นสังคมที่ไม่มีการต้องเลือก หรือไม่มีการออกแบบการเลือก ซึ่งมันเป็นปกติในประเทศไทย และเป็นจริงในโลกทางตะวันตกด้วย 

“คุณไม่เคยเลือกว่าจะอยู่ในบ้านแบบไหน มันมีแค่แบบเดียว คุณไม่เลือกเลยด้วยซ้ำว่าคุณสอนหรือให้การศึกษาลูกอย่างไร บางทีก็ไม่เลือกเลยว่าคุณต้องแต่งงานกับใคร ไม่มีสิทธิจะตัดสินใจ คุณอยู่ในเทศกาลโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไร เพราะถึงเวลามันก็จะถูกจัดขึ้นมาเอง ในสังคมดั้งเดิมเขาจึงไม่มีการออกแบบการตัดสินใจ แต่ประเพณีและวิธีการเดิมเหล่านั้นจะสำเร็จก็ต่อเมื่อบริบทมันเหมือนเดิม หรือถ้าบริบทเปลี่ยนไปแบบช้าๆ ประเพณีก็จะปรับตัวตามสภาพแวดล้อมทัน มันคือวิวัฒนาการปกติ 

“แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นที่จะเปลี่ยนบริบทแบบทันทีทันควัน ที่ทำให้คุณไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกแล้ว เช่น คนที่เคยอยู่ในหมู่บ้านย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทันที คุณทำแบบเดิมแล้วมันไม่เวิร์กแล้ว คุณจะสอนลูกคุณแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะเขากำลังมีอุปกรณ์ มีไอแพด มีเทคโนโลยีเข้ามาใหม่ๆ ในขณะที่คุณไม่มีแนวคิดที่บอกว่าคุณจะต้องรับมือกับสิ่งนี้อย่างไร คุณก็ปรับตัวตามไม่ทัน คุณไม่รู้ว่าจะเริ่มเลือกหรือจะตัดสินใจจากอะไร

“ซึ่งโลกวันนี้มันเปลี่ยนเร็วมาก เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างความสามารถที่จะออกแบบการเลือกของเรา คือ ต้องพยายามเข้าใจว่าเราอยู่ที่ไหน เข้าใจว่าข้อจำกัดคืออะไร โอกาสอยู่ที่ไหน และเห็นแนวทางว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ วิสัยทัศน์หรือทัศนคติแบบนี้มันก็คือแนวคิดในการออกแบบและใช้ความสามารถหรือศักยภาพอื่นๆ ของมนุษย์เพื่อที่จะหาวิธีแก้ปัญหา พอมีความทันสมัยเข้ามา เราต้องเลือกทุกวัน คนเลยพยายามที่จะหาว่าตัวเองอยู่ในเงื่อนไขไหน แล้วต้องตัดสินใจแบบนี้แบบนั้น อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น” 

ตัดภาพกลับมาที่หนังสือ หากการเมืองคือการหากติกาหรือนโยบายในการอยู่ร่วมกัน หนังสือเล่มนี้ ศ.ดร. เอนซิโอ ได้หยิบเอาเรื่องราวใกล้ตัวในอาณาเขต 20 กิโลเมตรรอบบ้านพักของเขา มาวิเคราะห์ถึงธรรมชาติและแนวคิดทางการเมืองจากสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน ผ่านสายตาของผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการการทำงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม พินิจพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของผู้คน เพื่อนำเสนอแนวทางในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่ไม่ทำลายรากเดิมและปรับตัวได้ในโลกสมัยใหม่ที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน เป็นองค์ความรู้เริ่มต้นประกอบการตัดสินใจ เช่น การจัดงานเลี้ยงรอบต้นโอ๊ก สังคมออนไลน์และการประสานความร่วมมือ การเกิดกระแสทางเดียวกันไปด้วยกัน (car pooling) เป็นต้น 

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราต้องทำอาจไม่ใช่การหาทางเปลี่ยนแปลงโลก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน โดยไม่ลืมว่าเราเองก็คือฟันเฟืองหนึ่งของโลก เมื่อชิ้นหนึ่งขยับชิ้นอื่นๆ ก็ขยับตามด้วยเสมอ


หนังสือ การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน

สำนักพิมพ์ อินี่ เครือข่ายนวัตกรรมสากล ราคา 340 บาท
หาซื้อได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก INI Innovation network international ร้านหนังสือ readery.co และ ร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ 

ภาพถ่าย: INI Innovation network international