“อีหล่า ภาษาอีสาน แปลว่าลูกสาวคนเล็กครับ”

นี่คือคำตอบจากหนุ่มอุดรฯ วัยยี่สิบต้น เจ้าของกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อน่ารักว่า ‘อีหล่า’ ซึ่งเปรียบได้กับน้องคนเล็กประจำชุมชน เพราะเพิ่งโผล่มาสร้างสีสันให้ชุมชนบ้านหนองใส ตำบลหนองนาคำ จังหวัดอุดรธานี ได้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

สีสันที่ว่า คือตัวร้านและการตกแต่งที่ไม่ได้ตรงกับภาพซูเปอร์มาร์เก็ตในหัวที่ใครหลายคนจินตนาการไว้ และก็ไม่ใกล้เคียงกับร้านโชว์ห่วยที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่กลับเหมือนโกดังเก็บสินค้าที่มีหลังคาเรือนจั่ว เท่ผิดหูผิดตาจนไม่อยากเชื่อว่านี่คือซูเปอร์มาร์เก็ตในจังหวัดอุดรธานีจริงๆ

แต่ไม่ใช่ความเท่หรอก ที่ทำให้เราอยากเขียนแนะนำอีหล่า แต่คือความตั้งใจดีของแนวคิด ที่ไม่อาจเห็นได้จากชื่อหรือหน้าตาร้านต่างหาก

ร้านโชว์ห่วยในฝันของหนุ่มลูกอีสาน

“ผมค่อนข้างอินเรื่องบ้านเกิดครับ ชอบเสน่ห์ของอีสาน ใจอยากเห็นร้านค้าขายของสดและของอุปโภคที่สะอาดและเป็นระเบียบดีๆ สักแห่งในชุมชนที่อาศัยอยู่ พอเรียนจบสาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ก็คิดทำธุรกิจนี้ขึ้นมา” รักอิสระ มุกดาม่วง หรือพีเจี้ยน หนุ่มลูกอีสานเล่า

แม้จะเคยเข้ามาฝึกงานที่กรุงเทพฯ และเคยไปเรียนภาษาและใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ แต่ด้วยความที่โตมาในชุมชน คิดว่าตัวเองน่าจะเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคระดับหนึ่ง เจ้าตัวบอกเราว่าหากจะต้องตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจที่ไหนสักที่ การเริ่มต้นทำที่บ้านเกิดตัวเอง จะมีความกลัวน้อยมาก

“ผมเลยคิดว่าทำร้านทั้งที อยากทําให้มันดีๆ เลย”

ทำร้านให้ดีด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

“เวลาคนพูดถึงร้านค้าโชว์ห่วย ส่วนมากจะนึกถึงการจัดร้านที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ แนวคิดของผมคือการทําร้านด้วยวัสดุและรูปทรงที่กลมกลืนกับบ้านเรือนในชุมชน ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ารูปทรงของอาคารจะมีทรงจั่ว เหมือนบ้านเรือนคนสมัยก่อน”

นอกจากหน้าตาภายนอกของร้าน ความตั้งใจ ‘ดี’ ของอีหล่าคือการเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน ที่ไม่ได้เลือกของนำเข้าจากต่างประเทศมาขายเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แต่ขายสินค้าที่ชุมชนนิยมใช้หรือซื้อกันจริงๆ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดของสด ที่จะมีไอเท็มเฉพาะคนท้องถิ่นอย่างปลาร้าน ปลาหมึกแห้ง และผักพื้นบ้าน

มุมน่ารักประจำร้าน คือแผงขาย ‘ผักจากชุมชน’ ที่รับผักท้องถิ่นทั้งชื่อคุ้นและชื่อแปลกหูมาจากชาวบ้านในละแวกแบบปากต่อปาก ทั้ง ผักอีตู่ (ชื่อใบแมงลัก ในภาษาอีสาน) แตงกวา มะเขือเปราะ หมากแข้ง มะเขือพวง ฯลฯ

“ในเบื้องต้น ผมคิดว่าอยากช่วยเหลือชาวบ้านที่ปลูกผัก ไม่ให้เขาเหลือผักแล้วเอาไปทิ้งเปล่าๆ บางครั้งชาวบ้านเอามา เขาก็เปลี่ยนได้ไปเป็นเงินรายได้หรือแลกกับของในร้านเรา อีกอย่างคือเราอยากให้ความสำคัญกับการกินดี เพราะร้านเราขายของกินเป็นหลัก นอกจากของที่ขายจะต้องสด สะอาด หรืออันไหนตกหล่นไม่ดีก็ให้ลูกค้าเอามาเปลี่ยนใหม่ได้เสมอ ผมก็อยากให้ผักจากชุมชนเป็นมุมเล็กๆ ของร้านที่ได้พูดสิ่งนี้” เจ้าของร้านเล่ายิ้มๆ

ขอเป็น ‘อีหล่า’ ในหัวใจเธอ

“ชาวบ้านบอกว่า มาที่นี่ไม่ดีเลย มาแล้วเสียตังค์เยอะ อยากได้นั่นนี้ไปหมด เพราะมาที่นี้มีครบทุกอย่าง แค่นี้ผมก็ดีใจแล้วนะ”

เสียงตอบรับวันนี้ของอีหล่า มาร์เก็ต แม้จะเป็นการชื่นชมเรื่องความสะอาดของร้าน และความครบครันของสินค้าที่มาที่เดียวมีให้ซื้อได้ครบ แต่ก็ถือเป็นความภูมิใจเล็กๆ ที่สำคัญต่อเจ้าของร้าน

“อุปสรรคก็มีบ้างครับ คือเราต้องต่อสู้กับทุนนิยมหรือพวกร้านที่เป็นรายใหญ่ ถ้าเขามาเปิดใกล้เราวันใดวันหนึ่ง เราก็ต้องหากลยุทธ์ไปสู้ว่าจะทําอย่างไรให้ยอดขายเราอยู่ได้ เพราะเป้าหมายแรกของผมเลยคือทําให้ธุรกิจนี้หล่อเลี้ยงตัวเองได้”

ล่าสุด นอกจากเปิดร้านสำหรับขายของ อีหล่ายังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่และนักเรียนนักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ดูงาน เห็นโมเดลและโอกาสในการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำธุรกิจในบ้านเกิด

“เป้าหมายที่ผมมองว่ามันต้องตามมา คือผมอยากให้ร้านนี้อยู่กับชุมชนไปนานๆ เพราะเราอยากเป็นร้านของชุมชนจริงๆ เราไม่ได้ขายสินค้าราคาแพง ลูกค้าอยากซื้อน้อยซื้อมากเราก็ขาย ไม่ต้องซื้อยกแพ็กก็ได้ คือเราไม่มีเงื่อนไข เราอยากให้ร้านเราเป็น อีหล่า ตามความหมายของมัน”

เราเลยถือโอกาสนี้ ถามเจ้าของให้ขยายความเรื่องชื่อร้านอีกสักที

“ชื่อนี้แม่ผมพูดขึ้นมา ตอนกําลังคิดชื่อร้าน แล้วผมก็เห็นด้วยเพราะชื่อนี้มันเป็นคําพูดติดหูของคนอีสาน ‘อีหล่า’ แปลว่าลูกสาว ลูกสาวคนเล็ก ใครถูกเรียกชื่อนี้แล้วมักจะได้รับการเอ็นดูจากผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งการที่ผมเลือกใช้ชื่อนี้ ผมก็หวังว่าจะได้รับการเอ็นดูจากลูกค้าเช่นกันครับ”

อีหล่า มาร์เก็ต
เปิดทุกวัน 7.00 น. – 21.00 น.
เลขที่ 557 หมู่ 17 บ้านหนองใส
ตําบลหนองนาคํา อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
โทรศัพท์ 083-081-2611

ภาพถ่าย: รักอิสระ มุกดาม่วง