ปัจจุบันแนวทางการจัดการกับร่างผู้ไร้ลมหายใจนั้นถูกคิดค้นขึ้นหลากรูปแบบ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ และลดการใช้พื้นที่ในการฝังศพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ กับโจทย์ในการจัดการกับร่างไร้ลมหายใจอย่างไร ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด…

‘การเปลี่ยนร่างให้เป็นปุ๋ย’ เป็นหนึ่งวิธีการจัดการร่างไร้ลมหายใจที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตกตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเทศฝั่งยุโรปที่ก้าวหน้าในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่พยายามผลักดันกฎหมายการจัดการศพด้วยวิธีที่ปล่อยมลพิษน้อยที่สุดมาหลายปี หนึ่งในนั้นคือสวีเดนที่ปัจจุบันผ่านกฎหมายการเปลี่ยนร่างให้เป็นปุ๋ย และได้กลายเป็นทางเลือกในการ ‘ดูแลตัวเอง’ หลังความตายที่ได้รับความนิยม

ล่าสุดรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็ได้กลายเป็นอีกพื้นที่ที่อนุมัติกฎหมายการจัดการร่างไร้ลมหายใจด้วยการ ‘เปลี่ยนให้เป็นปุ๋ย’ ซึ่งเรียกความสนใจจากแวดวงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้พอสมควร ด้วยนิวยอร์กเป็นรัฐใหญ่ทั้งยังมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและความเชื่อ การอนุมัติกฎหมายการจัดการร่างไร้ลมหายใจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม จึงนับเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจ และตั้งข้อสังเกตว่าอาจกลายเป็นแรงกระเพื่อมให้อีกหลายรัฐ

โดยวิธีการจัดการนั้นเริ่มจากการนำร่างผู้ไร้ลมหายใจบรรจุใส่ ‘ห้องเก็บ’ ลักษณะคล้ายแคปซูล พร้อมกับไม้หอม ฝาง และจุลินทรีย์ จากนั้นระบบจะค่อยๆ ปล่อยความร้อนระดับต่ำเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานเต็มที่ จากนั้นราวหนึ่งเดือนร่างผู้วายชนม์ก็จะกลายเป็นดินร่วนซุย ที่ญาติมิตรสามารถนำไปเก็บไว้หรือใช้ปลูกบำรุงต้นไม้ก็ได้เช่นกัน

การจัดการศพด้วยวิธีการดังกล่าว นอกจากจะลดการปล่อยคาร์บอกไดออกไซด์ได้ถึง 1.4 ตันต่อการจัดการศพหนึ่งครั้ง ยังช่วยประหยัดพื้นที่ฝังศพ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเมืองใหญ่ทั่วโลกด้วยอีกทาง โดยบริษัทรับจัดการร่างให้กลายเป็นปุ๋ยสัญชาติอเมริกันนาม Recompose ระบุว่าปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเข้ารับบริการหลังความตายแล้วกว่า 15,000 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากกฎหมายรัฐนิวยอร์กได้รับการอนุมัติ… เรียกได้ว่าการดูแลรักษาโลกนั้นสามารถแทรกอยู่ในทุกช่วงชีวิต ไม่เว้นแม้แต่ตอนที่ไม่มีชีวิตแล้วก็ตาม

ที่มาข้อมูลและภาพ:
www.bbc.com/news/science-environment-51389084
https://recompose.life
www.ny1.com/nyc/all-boroughs/news/2022/06/08/-human-composting–soon-to-become-legal-in-new-york