ย่างเข้าฤดูร้อน ต้นมะม่วง รวมถึงใบไม้ใหญ่ ๆ หลังสวนเริ่มห่อใบติดกันเป็นก้อนกลมใหญ่ มีเยื่อขาว ๆ หุ้มอยู่ระหว่างรอยประกบของใบไม้ นั่นคือรังมดแดง ที่กำลังส่งสัญญาณบอกเราว่า ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว ลมฝนปีนี้จะรุนแรงเพียงใด รวมถึงเป็นฤดูกาลที่จะได้กินของอร่อยชั้นสูงอย่างไข่มดแดงกันแล้ว

ไอ้มดแดงตัวเล็ก แต่ประโยชน์ไม่เล็กนะครับ
มดแดงที่ให้ไข่มดแดงไว้บริโภคนั้น มีอีกมุมหนึ่งที่เปรียบเสมือนฮีโร่ประจำต้นไม้เลยก็ว่าได้ เพราะจัดอยู่ในกลุ่มแมลงที่ช่วยกำจัดศัตรูพืช เช่น เพลี้ยต่าง ๆ แมลง หนอน ตั๊กแตน จักจั่นสีเขียว การมีรังมดแดงบนต้นผลไม้ที่สวน จึงเหมือนมีฮีโร่คอยปกป้องต้นไม้อยู่ในที ตามวิถีธรรมชาติที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ส่งผลดีต่อผลไม้ที่ได้ก็จะปลอดภัยต่อผู้กิน ดังนั้นถึงพวกมันจะตัวเล็ก แต่ประโยชน์ของพวกมันต่อธรรมชาติไม่ได้เล็กไปด้วยนะครับ

ไข่มดแดงไม่ใช่ไข่ แต่เป็นตัวอ่อนของมด
ไข่มดแดงที่เรากินกันนั้นแท้จริงไม่ใช่ไข่ของมดแต่เป็น “ตัวอ่อน” ของมดงาน และมดราชินี นั่นเอง โดยตัวอ่อนมดราชินีจะมีขนาดใหญ่กว่า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไข่เต้ง (ภาคเหนือ) ไข่ต่ง (ภาคอีสาน) เป็นของอร่อยที่มีราคาสูงกว่าชนิดที่เป็นตัวอ่อนของมดงาน ซึ่งฤดูกาลที่จะหาไข่มดแดงที่เป็นตัวอ่อนของราชินีมดได้นั้นอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม นั่นเอง

ไข่มดแดง ของขวัญแสนอร่อยปีละหน
หนึ่งในสุดยอดวัตถุดิบจากแมลงที่มีให้กินปีละครั้งก็คือ ไข่มดแดง รังมดแดงที่มีไข่และพร้อมให้นักล่าไข่มดแดงไปแหย่นำมาปรุงอาหารหรือจำหน่าย

รังมดสร้างจากใบไม้หลาย ๆ ใบบนต้นนำมาเชื่อมติดกันโดยมดแดงซึ่งเป็นมดงานจะใช้ปากดึงใบไม้มาให้ใกล้กัน แล้วมดงานอีกส่วนจะนำตัวหนอนมดระยะดักแด้ (ที่เราเรียกว่า ไข่มดแดง) ซึ่งจะมีต่อมเส้นใยบริเวณหัว ให้มาพ่นเส้นใยออกมา แล้วมดงานก็จะค่อย ๆ ถักเส้นใยเหล่านั้นให้เหนียวแน่นและยึดใบไม้เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเชื่อมใบไม้ให้เป็นรัง

ภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของชาวอีสานในการสังเกตว่ารังมดรังใดมีไข่มดแดงที่อวบอ้วนสมบูรณ์พร้อมจะไปแหย่มาทำอาหารแล้วก็คือ ให้ดูจากเยื่อใยของมดที่สร้างขึ้นมาห่อหุ้มรัง หากรังใดที่มีเยื่อมาก แสดงว่ารังมดรังนั้นมีไข่มดจำนวนมากและมีขนาดใหญ่นั่นเอง

ไข่มดแดงนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู ซึ่งหากจะให้ดีต่อสุขภาพ ควรนำมาล้างทำความสะอาดด้วยการล้างน้ำไหลผ่านสัก 2 นาที จากนั้นนำไปแช่น้ำผสมเกลือ หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชู หรือน้ำผสมเบกกิ้งโซดา ก่อนนำไปล้างให้สะอาดอีกครั้งแล้วจึงนำไปปรุงอาหาร จะช่วยกำจัดสารเคมีที่อาจตกค้างอยู่กับไข่มดแดงออกได้ และทางที่ดีที่สุดควรนำไข่มดแดงไปปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

เมนูอร่อยจากไข่มดแดง เช่น ไข่เจียวไข่มดแดง แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง หรือก้อยไข่มดแดง เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องการบริโภคไข่มดแดงกับสุขภาพ
ไข่มดแดง หรือตัวอ่อนระยะดักแด้ของมดแดงนั้น เป็นแหล่งอาหารจากแมลงที่มีโปรตีนสูงมากแต่มีไขมันต่ำ ทว่าในภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็มีคำแนะนำในการกินไข่มดแดงในเชิงสุขภาพ คือ สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานไข่มดแดง เพราะเชื่อว่าจะทำให้น้ำนมแม่เกิดติดขัด และทั้งแม่และเด็กจะไม่แข็งแรง รวมไปถึงคนที่มีไข้ไม่ควรบริโภคเพราะจะทำให้ไข้ขึ้น

รังมดแดงบนต้นไม้ทำนายลมฝน
ตำแหน่งของรังมดแดงบนต้นไม้สามารถเป็นเครื่องช่วยทำนายได้ว่า ปีนั้น ๆ หากมีฝนมา จะเกิดพายุลมรุนแรงเพียงใด หากรังมดอยู่สูง แสดงว่าปีนั้นลมไม่แรง มดแดงจึงกล้าสร้างรังสูง ในทางกลับกัน หากปีใดที่รังมัดแดงบนต้นไม้สร้างในต่ำแหน่งที่ต่ำ ๆ แสดงว่าปีนั้นอาจมีพายุลมแรงเป็นได้ พวกมันจึงเลือกตำแหน่งดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย

ฤดูร้อนปีนี้ สวนหลังบ้านใครที่มีรังมดแดง ก็ลองสังเกตดูนะว่าตำแหน่งของรังมดอยู่ตรงไหน และจดจำไว้รอดูว่าลมฝนปีนี้ ในพื้นที่ของคุณจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ถือเป็นโรงเรียนธรรมชาติที่เราสามารถเรียนรู้ได้ไปพร้อมกับพวกมดแดง ฮีโร่ประจำต้นไม้ในสวนหลังบ้านของเรา

ภาพประกอบ : Peperis