ความสนุกของการเชียร์กีฬา คือการมีเพื่อนที่คุยเรื่องเดียวกัน แม้จะอยู่คนละวงการอาชีพ คนละวัย ต่างเชื้อชาติหรือศาสนา แต่เรากำลังร่วมชะตากรรมเดียวกัน ดีใจ และร้องไห้ ให้กับทีมที่ตนรัก

ปลายเดือนที่ผ่านมา สาวกทีมหงส์แดงก็ได้โห่ร้องยินดีเสียงดังที่สุดในรอบ 30 ปี เพื่อฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่ไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอลที่ลิเวอร์พูลทุ่มเท ยังมีอีกหนึ่งภารกิจที่พวกเขาจริงจังและตั้งใจ

ในเกมฟุตบอลแต่ละแมตช์ มีแฟนๆ หลายพันชีวิตอยากเข้ามาให้กำลังใจนักเตะในสนาม เมื่อสิ้นเสียงนกหวีดหมดเวลา บางครั้งผู้ชมกลับบ้านพร้อมชัยชนะ บางครั้งกลับบ้านพร้อมความผิดหวัง โดยฝากเสียงเชียร์กึกก้องไว้เป็นกำลังใจให้นักแตะที่พวกเขารักได้เก็บไว้สู้ในสนามถัดไป

แต่สิ่งที่แฟนบอลทิ้งไว้หลังจบเกมไม่ใช่เพียงเสียงเชียร์ แต่คือปริมาณขยะ ทั้งขวดน้ำ แก้วน้ำ กล่องใส่อาหาร คูณด้วยจำนวนแฟนบอลที่เข้ามาชมการแข่งขันที่สนามแอนฟีลด์ ซึ่งมีมากกว่าปีละ 1.2 ล้านคน

ทีมที่ขึ้นชื่อว่ามีเสียงเชียร์ดังที่สุดในอังกฤษจากการวัดเป็นค่าหน่วยเดซิเบล มองเห็นถึงปัญหาขยะนี้ ทำให้สโมสรลิเวอร์พูลริเริ่ม โปรแกรม Red Going Green ขึ้นเมื่อปี 2012 ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นสโมสรฟุตบอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ข้อคือ หนึ่ง ลดปริมาณพลังงานที่ใช้ตลอดปี  สอง ลดการสร้างคาร์บอนลง 10% สาม ลดปริมาณขยะ 15% และสี่ เพิ่มอัตรารีไซเคิลอย่างน้อย 20% ทุกปี

การเดินหน้าเป็นสโมสรฟุตบอลสีเขียวของทีมหงส์แดง เริ่มต้นจากให้ทุกการแข่งขันในสนามแอนฟีลด์และแฟนพาร์กนั้นปลอดพลาสติกและลดขยะบรรจุภัณฑ์อาหาร ร้านค้าในสนามและโดยรอบเลิกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นพลาสติกและโฟม กล่องเบอร์เกอร์ หรือฮอตด็อกทั้งหลาย เปลี่ยนมาเป็นกล่องที่ทำจากใบปาล์มและข้าวโพด ยกเลิกการใช้หลอด มีดส้อมพลาสติกถูกแทนที่ด้วยวัสดุทางเลือกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง กล่องเก็บอาหารประเภทปลาถูกเปลี่ยนจากลังแช่แบบโฟม มาเป็นลังพลาสติกแบบใช้ซ้ำได้ และมีการแยกน้ำมันทำอาหารเพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นพลังงาน โดยร่วมมือกับบริษัท Olleco

นอกจากการจัดการเรื่องขยะแล้ว ในด้านอื่นๆ ก็ยังมีการจัดการแบบจัดเต็ม ทั้งการติดตั้งวาล์วประหยัดน้ำในสนาม ห้องน้ำ และส่วนครัว มีการติดเซ็นเซอร์ให้เปิดใช้น้ำเเละไฟเฉพาะเวลาที่มีคนเข้า และใส่ Flush bag ในทุกชักโครกเพื่อลดการใช้น้ำหนึ่งลิตรต่อการกดชักโครกหนึ่งครั้ง

จนในที่สุด สโมสรลิเวอร์พูลได้รับการยอมรับในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และได้รับการจัดอันดับเป็นที่สี่ในดัชนีการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

ในปี 2014 แม้สถิติในสนามยังเป็นเรื่องให้แฟนๆ ตามลุ้น แต่สถิติการลดคาร์บอนในสโมสรนั้นไม่แพ้ใคร LFC ได้ครองแชมป์ Carbon Champion of the Year จากเวที The ECHO Environment Awards เป็นองค์กรที่สร้างคาร์บอนน้อยที่สุดในเมืองลิเวอร์พูล และได้ครองอีกสมัยในปี 2018

โครงการ Red Going Green สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปได้ถึง 782 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้ใน 156 ครัวเรือน ลดการใช้พลาสติกไปได้ถึง 99% และเริ่มโครงการที่จะลดปริมาณขยะที่จะไปทิ้งที่แลนด์ฟีลด์ให้ได้ 98%

ความตั้งใจที่จะเป็นหงส์แดงหัวใจสีเขียว ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2019 สโมสรประกาศนโยบายไม่ใช้แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในสเตเดียมและส่วนทำการของสโมสรทั้งหมด โดยสโมสรเปลี่ยนมาใช้แก้วน้ำแบบใช้ซ้ำในทุกการแข่งขัน ประเดิมแมตช์แรกไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2019 โดยเมื่อแฟนๆ ซื้อเครื่องดื่มเพื่อเข้ามาชมในสนาม จะได้รับแก้วน้ำแบบใช้ซ้ำทั้งจากร้านค้าในสนาม และสตรีตฟู้ดรอบๆ สนาม และต้องส่งคือเมื่อจบเกม

โดยแก้วทั้งหมดทำมาจากวัสดุรีไซเคิล และสามารถนำไปรีไซเคิลได้อีกทอดหนึ่ง โครงการนี้ช่วยลดปริมาณขยะแก้วพลาสติกไปได้ถึง 170,000 ใบต่อหนึ่งฤดูกาลเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังเปลี่ยนจากเครื่องดื่มแบบขวดพลาสติกมาเป็นกระป๋อง และมีโครงการสนับสนุนแหล่งอาหารภายในเมือง โดยอาหารที่มีให้บริการในสเตเดียม ใช้วัตถุดิบที่ปลูกในเมือง หรือมีแหล่งที่มาไม่เกิน 90 ไมล์จากตัวสโมสรเพื่อลดกระบวนการขนส่ง และรับอาหารทะเลจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรองว่ามีมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนเท่านั้น

ล่าสุดปี 2020 สโมสรริเริ่มโครงการลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการจับมือกับบริษัท Iugis ติดตั้ง Iugis’ innovative organic food digester ถังขยะอัจฉริยะที่ช่วยย่อยเศษอาหารทั่วสนามแอนฟีลด์ โดยเจ้าถังขยะนี้ใช้ระบบ micro organism ซึ่งเป็นการใช้แบคทีเรียขนาดจิ๋วและออกซิเจนช่วยย่อยสลายเศษอาหารให้กลายเป็นของเหลว ที่สามารถระบายทิ้งได้เลย ช่วยลดการขนส่งขยะและการทิ้งที่แลนด์ฟีลด์ และประกาศความร่วมมือกับ Quorn บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเพื่อความยั่งยืนอันดับต้นๆ ของอังกฤษ เพื่อสร้างทางเลือกอาหารมังสวิรัติ วีแกน ให้กับผู้ชมในสนาม และพัฒนา Plant-based โปรตีนให้กับนักแตะและสตาฟฟ์ด้วย

อย่างที่เราทราบกันว่าการบริโภคเนื้อสัตว์นั้นส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม โดย 14.5 % ของการปล่อยคาร์บอนมาจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ แต่โปรตีนก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในวงการกีฬา การร่วมมือกันของ LFC และ Quorn ในครั้งนี้จึงไม่เพียงแค่สร้างทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อโลกให้แฟนๆ ที่เข้ามาชมในสนาม แต่ยังเป็นก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์การกีฬา และระบบอาหารที่บริษัทผู้สร้างทางเลือกโปรตีนรักษ์โลก จะได้เข้ามาร่วมพัฒนาโปรตีนกับนักโภชนาการตัวท็อปในแวดวงกีฬาอีกด้วย ไม่แน่ว่าอีกหน่อยเราอาจจะได้เห็นซูเปอร์โปรตีนภายใต้แบรนด์สโมสรฟุตบอลจากเกาะอังกฤษก็เป็นได้

ภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมและการลดประมาณขยะของลิเวอร์พูลดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับความทุ่มเทของนักเตะเเละทีมงาน ซึ่งในปีนี้พวกเขาก็ได้สัมผัสถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีก หลังจากรอคอยมา 30 ปี

มีคนบอกฉันว่า การเชียร์ลิเวอร์พูล ทำให้เรียนรู้ความล้มเหลว รู้จักความผิดหวัง เรียนรู้ชีวิตนักเตะ เพราะภาพที่เห็นไม่ใช่แค่คนวิ่งไล่ลูกบอลในสนาม แต่คือคนที่ทุ่มเทอย่างหนัก วิ่งเลี้ยงความฝันไปยังประตู และความพยายามเหล่านั้นเองที่ส่งต่อมายังแฟนบอล ที่ทำให้ไม่ว่าจะแพ้สักกี่ครั้ง เสียงเชียร์ก็ไม่เคยเบาลงเลย

หากไม่นับศาสนา ฉันว่าก็มีฟุตบอลนี่แหละที่สร้างศรัทธาและรวมใจคนได้อย่างทรงพลัง และวันนี้สโมสรฟุตบอลเสื้อสีแดงเพลิงนำพลังนั้นมาใช้สื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม

แก้วน้ำใช้ซ้ำได้ทุกใบที่อยู่ในมือแฟนบอลหลายแสนคน ถังขยะเศษอาหาร ก็อกประหยัดน้ำทั่วสนามแข่ง ล้วนเป็นเมสเสจจากสโมสรลิเวอร์พูลที่ส่งถึงแฟนบอลให้มาร่วมทำอีกหนึ่งภารกิจเพื่อโลกใบนี้ร่วมกัน

เด็กน้อยสะสมขยะรีไซเคิลที่บ้านเพื่อชิงรางวัลเป็นตั๋วเข้าสนามแอนฟีลด์ เติมเต็มความฝันของนักเตะตัวน้อย  อาสาสมัครในเมืองลิเวอร์พูลลุกขึ้นมาช่วยเก็บกวาดขยะรอบเมือง เพื่อรอต้อนรับแฟนบอล เหล่านี้เป็นพลังวิเศษระหว่างทีมฟุตบอลและแฟนบอล ที่ถูกมองด้วยสายตาชื่นชม

หากโลกวันนี้คือเกมกีฬา เราทุกคนกำลังวิ่งแข่งกับวิกฤตขยะและการเปลี่ยนแปลงสภาพอุณหภูมิโลก และเกมนี้ไม่มีทดเวลาบาดเจ็บ แต่ตราบใดที่เสียงนกหวีดยังไม่ดัง อย่าเพิ่งหยุดเดิน อย่าเพิ่งหมดหวัง – You’ll never walk alone.

ข้อมูลอ้างอิง:
www.sportpositivesummit.com
www.lancswt.org.uk
www.liverpoolfc.com (1)
www.liverpoolfc.com (2)
www.jmu-journalism.org.uk

ภาพประกอบ: missingkk