เรื่องมีอยู่ว่า วันดีคืนดี เราก็เห็นเพื่อนนักเขียนแห่ง Greenery คนหนึ่งของเราผันตัวเองไปเป็นเด็กปั๊ม! แถมปั๊มที่ว่าดันไม่ใช่ปั๊มเติมน้ำมัน แต่เป็น ‘ปั๊มน้ำยา’ หรือร้านขายสบู่แชมพูแบบเติม ที่ไปทดลองตั้งร้านอยู่กลางตลาด!
‘ปั๊มน้ำยา’ หรือ ‘Refill Station’ คือโปรเจกต์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่อันประกอบด้วย แอน-สุภัชญา เตชะชูเชิด (นักเขียนในทีมของเราเอง) ​แพร์-ปภาวี พงศ์ธนาวรานนท์ และน้ำมนต์-ชนินทร์ ศรีสุมะ ทั้งสามคนเป็นเพื่อนที่มีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ กันและออกไปทำกิจกรรมทำนองนี้ร่วมกันบ่อยๆ ซึ่งเด็กปั๊มทั้งสามก็ยินดีให้เราสัมภาษณ์ให้หายสงสัยว่ากำลังทำอะไรกันอยู่

Q: จุดเริ่มต้นโปรเจกต์ Refill Station มาจากอะไร

A: เราสามคนเป็นเพื่อนที่ชอบทำกิจกรรมด้วยกัน และมักจะคุยกันเรื่อยเปื่อยเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเสมอๆ แล้ววันหนึ่ง เราคุยกันเรื่องปัญหาขวดพลาสติกกันขึ้นมาว่าถ้ามีตู้เติมน้ำเปล่าทั่วกรุงเทพที่สะอาด สะดวก และไว้ใจได้ ก็น่าจะดีเนอะ แต่ปัญหาคือต้องมีมากพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เราก็คุยกันไปเรื่อยจนคิดว่าจริงๆ ถ้าเราลองเริ่มทำจากส่วนที่เราทำได้กันก่อนน่าจะดี เช่น การขายสบู่ แชมพู หรือของใช้ในชีวิตประจำวันแบบเติม เพราะหลายครั้งที่เราพยายามลองทำสบู่หรือแชมพูใช้เองเพื่อลดการบริโภค แต่ว่าทำใช้คนเดียวก็มีปริมาณมากเกินไป พอทำเยอะแจกจ่ายคนอื่นก็ราคาสูงเกินความจำเป็น คุยไปคุยมาเลยสรุปกันว่างั้นเราลองลุยทำ ‘ปั๊มน้ำยา’ กันเถอะ เพราะคิดว่ามีประโยชน์และพอมีความเป็นไปได้มากกว่า แล้วก็ค่อยพัฒนากันไปเรื่อยๆ

Q: กลุ่มคนทำคือใคร มารวมตัวกันได้ยังไง 
A: พวกเราทำ Refill Station กัน 3 คน แอน แพร์ และน้ำมนต์ เราเป็นเพื่อนที่มีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แต่ละคนมีความถนัดในแบบของตัวเอง แอนเรียนชีววิทยาก็จะคอยดูเรื่องสินค้าที่เลือกมา ว่ามีสารเคมีในผลิตภัณฑ์และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ แพร์จบสถาปัตย์ก็จะคอยดูแลเรื่องการออกแบบร้านและกราฟิกต่างๆ ส่วนน้ำมนต์ถึงจะเป็นวิศวกรแต่ก็มีประสบการณ์และเครือข่ายหลากหลายมาก ช่วยดูแลเรื่องบัญชีและประสานงานได้ด้วย

Q: เป้าหมายของโปรเจกต์คืออะไร

A: เราอยากสร้างทางเลือกในการใช้ชีวิตแบบ zero waste พอเราสนใจเรื่องนี้ก็พบว่าในต่างประเทศเขาใช้ชีวิตแบบนั้นได้เพราะเขามีร้านค้าแบบเติมหรือที่เรียกว่า Bulk Store แต่ร้านค้าแบบนี้ในประเทศไทยของเรายังไม่มีเลย เป้าหมายของเราคืออยากให้คนสนใจเรื่องการลดใช้พลาสติกเกินความจำเป็น คนรอบตัวหลายคนก็เห็นด้วยว่าบางทีเราใช้สบู่หรือแชมพูหมดแล้วแต่ก็ต้องทิ้งขวดพลาสติกเพื่อซื้อขวดใหม่ และในไทยเราก็ไม่มีร้านค้าแบบเติมเลย

Q: ทำไมถึงต้องไปตั้งโต๊ะทดลองขายที่ตลาด

A: เราอยากทดลองก่อนที่จะเปิดร้านจริงๆ ว่าคนทั่วไปมีพฤติกรรมการบริโภคอย่างไร และเขาจะคุ้นชินหรือเรียนรู้กับร้านค้ารูปแบบนี้หรือเปล่า เพราะเราอยากให้ร้านค้าแบบ Refill เกิดขึ้นในแหล่งชุมชนจริงๆ เช่น ตลาด หอพักนักศึกษา หรือในพื้นที่อื่นๆ โปรเจกต์ตะลุยตลาดเลยเป็นโปรเจกต์ทดลองระยะ 2 เดือน ก่อนจะเปิดร้านจริงในเดือนตุลาคมนี้ค่ะ

Q: กิมมิกในการขายและสื่อสารกับผู้คนที่เดินตลาดมีอะไรบ้าง

A: เราทำใบปลิวกับส่วนลด เพราะสัปดาห์แรกที่ไปวางขาย เงียบเหงามาก (หัวเราะ) คนเดินผ่านไปผ่านมามองๆ แล้วก็เดินผ่านไป พยายามชวนคุยก็ค่อนข้างยาก มีคนเข้ามาถามบ้างว่าสินค้าทำเองรึเปล่า พอบอกว่ารับมา เขาก็ถามต่อว่าทำไปทำไมเพราะมันหาซื้อง่ายอยู่แล้ว บางทีถูกกว่ากันไม่กี่บาทเขาก็จะไม่เข้าใจว่าเราทำไปทำไม สัปดาห์ต่อมาพวกเราก็เลยทำใบปลิวมาแจกพร้อมคูปองส่วนลด ใบปลิวช่วยได้มากเลย ทำให้เราเข้าหาคนได้ง่ายขึ้น เขาสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้เลย พอบอกว่าเราต้องการลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกก็ไม่ค่อยมีคำถามต่อมาก บางคนก็ชมว่าสะดวกดี ไม่มีขยะเยอะ ส่วนคูปองส่วนลดก็ทำให้มีคนสนใจมาลองใช้บริการมากขึ้น หลายคนยังไม่เข้าใจพวกเราก็ต้องคอยอธิบายว่าการชั่งน้ำหนักขายเป็นยังไง

Q: มีเสียงตอบรับสนุกๆ หลังทดลองขายไปสองสัปดาห์บ้างไหม

A: สนุกตอนเจอลูกค้าที่สนใจและได้อธิบายสิ่งที่เราทำ พี่บางคนก็หอบขวดเปล่าจากบ้านมาเติมทีเดียว 5 ขวด ประทับใจมาก หลายคนแนะนำและเล่าถึงการจับจ่ายในชีวิตประจำวันของเขาด้วย แค่การที่เราได้ออกไปทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้เรียนรู้หลายอย่างมากๆ สิ่งที่ตื่นเต้นอีกอย่างคือการได้รู้ว่าจริงๆ แล้วก็มีคนอื่นคิดคล้ายเราอยู่เหมือนกัน พอเห็นเราทำขาย เขาก็เข้ามาช่วย เสนอไอเดีย สนับสนุน หลายคนก็เสนอตัวมาช่วยงานต่างๆ มีพี่ที่รู้จักกันเห็นเราทำก็อยากลองทำในชุมชนของตัวเองด้วย พอได้แชร์ไอเดียในวงกว้างขึ้นก็ทำให้รู้ว่าธุรกิจรูปแบบนี้คงไม่ง่าย แต่ถ้าเกิดสังคมช่วยกันทำคงสนุกและเป็นไปได้แน่ๆ

Q: สถานีถัดไปของ Refill Station จะเป็นยังไง

A: หลังจบระยะทดลองนี้ พวกเราจะมีหน้าร้าน Refill Station ปั๊มน้ำยากันที่สุขุมวิท ซอย 77/1 ค่ะ เดินจาก BTS อ่อนนุชราว 10 นาที ร้านน่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนตุลาคม เป็นร้านรูปแบบ refill ที่เหมาะกับคนเมืองขึ้นมาอีกหน่อย โดยจะมีสินค้าทั้งออร์แกนิกและไม่ออร์แกนิกเพื่อเป็นตัวเลือกให้คนหลากหลายประเภท อาจจะมีเวิร์กชอปหรือวงสนทนาเพื่อส่งเสริม zero waste lifestyle และคาดหวังว่าจะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือประสบการณ์สำหรับทุกคน

ตามดูความเคลื่อนไหวของโปรเจกต์ หรือติดตามเอาขวดไปเติมน้ำยากันได้ที่ www.facebook.com/refillstationbkk