สวนเบญจกิติ ปอดใจกลางเมือง ในวันที่ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 กลับมาปกคลุมท้องฟ้ามหานครอีกครั้ง มีการรวมตัวครั้งสำคัญขององค์กรภาคีเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน และประชาชน จัดกิจกรรม Action Day PM2.5 BKK “กทม. ชวนภาคีขยับเรื่อง ฝุ่นเมือง ด้วยกัน” เพื่อชวนให้ทุก ๆ คนตื่นตัว ตระหนักรู้ ร่วมกันป้องกัน ดูแลอย่างมีส่วนร่วม เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

ในบ้านเรา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ฝุ่นมลพิษ PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ด้วยฝุ่นควันจากการจราจรและอื่น ๆ บวกกับสภาพอากาศแห้งและลมนิ่ง ทำให้ฝุ่นเกิดการสะสมจนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างภูมิแพ้ หอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคปอด และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

ปัญหาเหล่านี้นำมาสู่ความใส่ใจของผู้คนที่มีความมุ่งมั่นร่วมมือแก้ปัญหาฝุ่นเมือง บรรยากาศวัน Action Day จึงคึกคักไปด้วยการรวมตัวกันของทั้งแก๊งปั่นลดฝุ่นที่เลือกเดินทางโดยการปั่นจักรยานมาร่วมกิจกรรมที่สวนเบญจกิติ บริการ EV1 Shuttle Tuk Tuk Service รับส่งฟรี จากสถานี BTS นานาไปยังสถานที่จัดงาน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว กิจกรรมคัดแยกขยะ สาธิตการทำเครื่องฟอกอากาศ DIY จากโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (อาทร สังขะวัฒนะ) แจกต้นไม้ลดฝุ่น คลินิกมลพิษทางอากาศ ตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก การตรวจสุขภาพปอดอย่างง่าย การแจกหน้ากากอนามัยที่ช่วยลดอันตรายจากฝุ่นจิ๋ว

Earth Hour แสดงพลัง WFH

มีอะไรบ้างที่ทุกคนร่วมแก้ได้ บางส่วนคำตอบนี้อยู่ที่โครงการ “Earth Month ร่วมลดฝุ่นละออง PM2.5” หนึ่งในกิจกรรมที่เครือข่าย Earth Hour ทั้งภาครัฐ เอกชน จำนวน 44 องค์กร ร่วมกันหาทางลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ด้วยการลดปริมาณการใช้ยานพาหนะในช่วงที่กรุงเทพมหานครมีแนวโน้มปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น พวกเขาชวนคนเมือง Work from Home เหลื่อมเวลาทำงาน ส่งเสริมการใช้รถขนส่งสาธารณะมากขึ้น หรือทำกิจกรรมลดฝุ่นเท่าที่สามารถจะทำได้โดยไม่กระทบกับการธุรกิจ เพื่อร่วมกันป้องกันสุขภาพของประชาชน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ว่า เดินมาถูกทางแล้ว หลายเรื่องไม่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย แต่เกิดจากการร่วมมือกัน การเปลี่ยนพฤติกรรม การเดินทางด้วยวิธีทางเลือก เช่น ขี่จักรยาน ใช้รถไฟฟ้า หรือ Work from Home แนวร่วมที่สำคัญสุดคือการหาภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง วันนี้ทุกคนมาร่วมแสดงพลังยืนยันว่าอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ถ้าทุกคนร่วมกันอย่างจริงจัง ขยายภาคีเครือข่ายสุดท้ายอากาศจะดีได้ในระยะยาว ซึ่งมีหลายเมืองที่พิสูจน์มาแล้วว่าทำได้จริง

นอกเหนือจากการแก้ที่ต้นตอฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่ กทม. ที่มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ การเผาชีวมวล และควันเสียจากรถยนต์ ซึ่งการเผาชีวมวลอยู่นอกพื้นที่ กทม. รวมทั้งสภาพอากาศที่ปิด เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ส่วนการใช้รถยนต์มีรถดีเซลจำนวนมากที่เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จึงต้องมีแนวทางจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ในขณะที่รถเมล์ไฟฟ้าระบบ EV ที่วิ่งอยู่ใน กทม. ตอนนี้มีมากถึง 1,000 คัน ซึ่งอนาคตจะขยายให้มากขึ้น รวมถึงการสร้างระบบนิเวศรถไฟฟ้า ก็จะช่วยลดการสร้างฝุ่นจิ๋วได้มากขึ้น

ชวนลดเดินทาง ในวันอากาศแย่ ๆ

การพยากรณ์คุณภาพอากาศ เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราเตรียมตัวรับมือกับฝุ่น แต่ข้อมูลต้องมีความแม่นยำต่อการคาดการณ์และเตือนล่วงหน้าได้ เพื่อที่ภาคเอกชนจะไว้ใจและประกาศ Work from Home ได้ถูกต้องมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้หลายบริษัทได้เรียนรู้และมีความพร้อมที่จะ Work from Home อยู่แล้ว การไม่ต้องออกไปฝ่ามลพิษในวันอากาศแย่ ๆ ก็เป็นประโยชน์กับบริษัทที่พนักงานไม่ต้องรับความเสี่ยงทางสุขภาพ

แม้ในวันที่คิดว่าอากาศเย็นสบายดี แต่แท้จริงรอบตัวเราถูกโอบล้อมไปด้วยฝุ่นมลพิษ จะมีวิธีป้องกันและร่วมแก้ได้อย่างไร ผู้ว่าฯ กทม. แนะนำว่า หน้ากากป้องกันโควิดแค่ชั้นเดียวก็กันฝุ่นจิ๋วได้มากกว่า 60% และหากเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ ปัจจุบัน กทม. เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ที่โรงพยาบาลสังกัด กทม. 5 แห่ง ได้แก่ รพ. กลาง รพ. ตากสิน รพ. เจริญกรุงประชารักษ์ รพ. ราชพิพัฒน์ และ รพ. สิรินธร ใครที่สงสัยว่ามีอาการไม่ดีเพราะฝุ่น เดินเข้าโรงพยาบาลตามลิสต์ที่ว่ามาได้เลย

แผนที่ดูแลสุขภาพคนเมือง

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยดูแลสุขภาพคนเมือง คือการใช้แผนที่ไปเชื่อมกับการพัฒนากลไกการดูแลสุขภาพคน กทม. พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย ออกมาเป็น “BKK Risk Map” ที่เปิดโอกาสให้คนกรุงเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงทุกรูปแบบของชีวิตในเมือง รวมถึงเรื่องฝุ่นจิ๋ว เพื่อวางแผนป้องกันปัญหาด้านสุขภาพด้วย

ผศ.ดร. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบัน กทม. ได้นำแผนที่ความเสี่ยงมาเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยจะเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงล่าสุด หรือข้อมูลอุบัติเหตุ การระวังภัยแบบเรียลไทม์สู่สาธารณะเพื่อประกอบการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน เช่น การวางแผนเดินทาง กิจกรรมประจำวัน ไปจนถึงการเลือกที่อยู่อาศัย ในส่วนของ กทม. ก็ใช้ข้อมูลนี้ในการป้องกันและแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลใน “BKK Risk Map” แสดงให้เห็นชัดเจนว่า หนองแขมเป็นพื้นที่สีแดง คือมีฝุ่นพิษมากสุดในพื้นที่ กทม. ซึ่งจากข้อมูลฝุ่นเชิงพื้นที่ บ่งบอกว่าสาเหตุหลักของฝุ่นจิ๋วไม่ได้มาการจราจรอย่างเดียว แต่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่มีโรงงาน เกิดไฟไหม้หญ้า คนเผาขยะ นอกจากการดูแลสุขภาพของประชาชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ หาวิธีลดใช้พลังงานให้น้อยลง จัดให้รถมีการตรวจควันดำมากขึ้นแล้ว ปัญหาเชิงพฤติกรรมที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แก้ไขยาก ก็ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน

และในแผนที่ยังบอกได้อีกว่า ตรงไหนยังขาดพื้นที่สีเขียว โดยจับคู่กับพื้นที่ที่มีประชากลุ่มเปราะบางทางเดินหายใจ เด็กเล็ก ข้อมูลนี้ทำให้รู้ว่าจะเร่งเติมสวนตรงไหน และเลือกต้นไม้ที่เหมาะกับการปลูก ซึ่งแผนที่นี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น

ปั่นต่อ…ต่อระบบขนส่งเมือง

กทม. ทั้งร้อนและอันตราย ปั่นไม่ได้หรอก แต่การเดินทางของ 80 ชีวิตที่มางานนี้จาก 3 เส้นทางด้วยการปั่น คือข้อพิสูจน์ว่า เราสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมโดยใช้จักรยานเป็นการสัญจรทางเลือกได้

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. และศิลป์ ไวรัชพานิช เครือข่ายสัญจรทางเลือก หัวหอกสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้บอกว่า การสัญจรด้วยจักรยานเป็นนโยบายสัญจรทางเลือก 1 ใน 9 ข้อ ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ซึ่ง 22 กันยายนที่ผ่านมา ตรงกับ “วันคาร์ฟรีเดย์” วันที่ไม่อยากให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัว การจะชวนให้คนเลือกใช้ขนส่งมวลชน ก็ต้องร่วมกับกรมขนส่งทางบก ส่วนการทำเส้นทางที่ “คนเดินได้คนเดินดี” และเส้นทางเลือกแบบจักรยาน “ปั่นได้” เป็นทางเลือกที่ กทม. จะพัฒนา เกิดเป็นโครงการ “ปั่นต่อ” โดยชวนคนที่ปั่นจักรยานเดิม มาใช้จักรยานต่อ อย่าเพิ่งหมดหวังกับสัญจรทางเลือก ที่แม้ไม่ใช่ตัวเลือกในการออกจากบ้านไปทำงานได้ทันที แต่หากสามารถปั่นเชื่อมต่อได้ มีจุดจอดดี ๆ เชื่อมไป BTS/ MRT ไปปั่นหาจุดเชื่อมต่อ ก็จะเป็นการสัญจรทางเลือกมีประสิทธิภาพได้อีกทาง

เดินดี ปั่นได้

ศิลป์ ไวรัชพานิช ตัวแทนทีมปั่นต่อ เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า การปั่นจักรยานวันนี้ของ 80 คน ระยะทางเฉลี่ย 3 สาย อยู่ที่ 15 กิโลเมตร รวม 1,200 กิโลเมตร เขาชวนเราจินตนาการว่า หากทุกคนเดินทางมาด้วยรถยนต์จะสร้างมลพิษต่อเมืองขนาดไหน ขณะที่จักรยานไม่ก่อให้เกิดมลพิษ แถมช่วยลดคาร์บอนเครดิต 0.2 ตัน

ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลจากสมาชิกปั่นต่อ เสนอไอเดียพัฒนาเมือง “เดินดี ปั่นได้” เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือเส้นทางหลัก และระดับย่านชุมชน ในเส้นทางหลักมีการพัฒนาคลองแสนแสบ ที่เป็นเส้นทางรองขนานกับเส้นรามคำแหง ให้การเดินทางมีความปลอดภัย และพัฒนาต่อยอดเส้นทางเลียบถนนประดิษฐ์มนูญธรรม ที่มีอยู่เดิมให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น

ในระดับย่าน ได้พัฒนาปรับปรุง “ถนนบำรุงเมือง” ให้เป็น Low Emission Zone คือ เขตควบคุมการปล่อยมลพิษในตัวเมือง หรือเขตปลอดมลพิษ เน้นเดินทางด้วยการเดินและจักรยานได้สะดวกและปลอดภัยขึ้น ทั้งกายภาพของเส้นทาง และทัศนคติของผู้คนที่อาศัยในย่านเอง และคนที่สัญจรผ่านย่าน

อนาคต ฝุ่นศึกษา และสารก่อมะเร็งในอากาศ

ในมุมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คาดการณ์อนาคตของฝุ่นในไทยว่า แนวโน้มสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะทวีความรุนแรงขึ้น ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มองว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องก้าวข้ามค่ามาตรฐานที่ดูเฉพาะ PM2.5 เพียงอย่างเดียว ตอนนี้ทั่วโลกมีการประเมินผู้เสียชีวิตจากมลพิษ 7-8 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขการเสียชีวิตมากกว่าโควิด-19 และอันตรายที่มากับฝุ่นไม่ได้มีเฉพาะ PM2.5 เท่านั้น แต่ยังมีสารก่อมะเร็ง สารก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ โลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น ตะกั่ว ปรอท โรคมินามานะ อิไตอิไต สารหนู สารไดออกซิน ซึ่งยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน

“อากาศที่สูดเข้าออกทุกวันมีสารก่อมะเร็งเท่าไรไม่มีค่ามาตรฐานเข้ามาควบคุม ถึงเวลาที่ไทยต้องการตั้งค่ามาตรฐานสำหรับสารมะเร็งในอากาศที่ทุกคนสูดเข้าไปในร่างกายได้อย่างง่ายดายเสียที” เขาให้ความเห็นถึงการจัดการสภาพอากาศที่อยากเห็นในอนาคต

นอกจากกิจกรรมบนเวทีที่มีการพูดคุยในหัวข้อต่าง ๆ เปิดโลกทั้งความรู้และมุมมองใหม่ ๆ เรื่องฝุ่น บูธหน่วยงานที่มาร่วมกิจกรรมก็น่าสนใจอีกมาก และเราไม่ยอมพลาดที่จะบอกต่อ

ปลูกต้นไม้ลดฝุ่น PM2.5 กันเถอะ

ปลูกต้นไม้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดมลพิษในอากาศได้ ข้อมูลจากงานงานวิจัย ”การใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน” ภายใต้การสนับสนุน ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แนะนำพันธุ์ไม้ 28 ชนิด ที่ช่วยบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน ด้วยว่าเป็นต้นไม้ที่มีประสิทธิภาพนการดักจับฝุ่น PM2.5 มากที่สุด 6 ชนิด ได้แก่ ต้นชงโค ต้นโมก ต้นสัก ต้นตีนเป็ด ต้นจามจุรี ต้นประดู่

และยังแนะนำต้นไม้เล็ก ๆ 8 ชนิด ที่บำบัดฝุ่นได้ดี ปลูกได้ที่บ้าน ได้แก่ พรมกำมะหยี่ เฟินขนนก คล้าแววมยุรา พลูอินโด พลูปีกนก คล้านกยูง คล้ากาเหว่าลาย และควักมรกต ซึ่งทั้งหมดนี้มีลักษณะใบขรุขระ เป็นใบไม้ใบเล็ก ใบไม้มีขน และใบไม้ที่มีแว็กซ์ รู้แล้วก็รีบซื้อหามาปลูกกันเถอะ!

เครื่องฟอกอากาศ DIY ราคาประหยัด

เครื่องฟองอากาศตามท้องตลาดมักมีราคาแพง เครื่องฟอกอากาศ DIY ของ กทม. โดยโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (อาทร สังขะวัฒนะ) จึงผลิตขึ้นเพื่อแจกจ่ายตามโรงเรียนสังกัด กทม. หรือตามชุมชนต่าง ๆ มีราคาย่อยเยา ที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือส่วนประกอบที่นำมาประดิษฐ์เครื่องกรองฝุ่น PM2.5 มาจากขยะอุตสาหกรรม เช่น Power Supply หรืออุปกรณ์จ่ายไฟให้กับคอมพิวเตอร์ พัดลมระบายอากาศ เขาบอกว่าทดลองแล้วได้ผลดีไม่แพ้เครื่องที่ขายตามท้องตลาดเลย

สนับสนุน #OpenDataมลพิษ/ Greenpeace Thailand

ในปี 2565 กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดีเพียง 83 วัน ที่เหลือ 274 วัน เราต้องทนกับการสูดอากาศพิษโดยไม่รู้ตัว และจากข้อมูลเขตในกรุงเทพมหานครที่มีจำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่าแนะนำคุณภาพอากาศที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบว่า เขตดินแดงนำโด่งที่ 249 วันต่อปี! ตามมาด้วยเขตจตุจักรที่ 73 วันต่อปี เขตวังทองหลาง 60 วันต่อปี เขตบางเขน และเขตบางบอน 53 วันต่อปี

Greenpeace Thailand ชวนคนไทยรู้ที่มาของฝุ่น PM2.5 ผ่านร่างกฎหมาย PRTR เพื่อบังคับให้แหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ เปิดเผยข้อมูลมลพิษสู่สาธารณะกฎหมาย ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การจัดการฝุ่นที่ต้นตออย่างแท้จริง สนับสนุน #OpenDataมลพิษ ได้ที่นี่ thaiprtr.com

และนี่คือเรื่องเล่าจากงาน Action Day PM2.5 BKK ที่เราเห็นความตื่นตัวและตั้งใจที่จะขยับเมืองให้สุขภาพดีจากฝุ่นจิ๋วของเหล่าคนหัวใจดี ที่มารวมตัวกันเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

ภาพ : ศรัณย์ แสงน้ำเพชร