ท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าไปพร้อมกัน เมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเชียงใหม่เองก็ได้รับผิดกระทบหนักไม่น้อย และอาจหนักหนากว่าเมืองอื่นในประเทศไทย เพราะนอกจากโรคระบาด ชาวเชียงใหม่ยังต้องพบกับปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ มากกว่านั้นยังถูกถาโถมด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่ดูจะยืดเยื้อเรื้อรังต่อเนื่องอีกนานนับปี
เป็นสถานการณ์ที่ ลี-อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟเพื่อสังคมอาข่า อ่ามา ผู้ทำธุรกิจและตั้งรกรากอยู่จังหวัดเชียงใหม่มานับ 10 ปีนิยามว่าเป็นปรากฏการณ์ ‘ฝนตกทั่วฟ้า’ เพราะไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจรายใหญ่หรือลูกจ้างรายย่อยต่างก็ล้วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้กันถ้วนหน้า แน่นอนว่าธุรกิจกาแฟที่เขาคลุกคลีก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เมื่อร้านกาแฟทั่วประเทศต่างมีข้อจำกัดในการขายที่ทำให้รายได้ลดลง
ทว่าท่ามกลางสถานการณ์ชวนให้ขมวดคิ้ว เรากลับเห็นลีและกลุ่มเพื่อนในวงการอาหารลุกขึ้นมาสวมหมวกอีกใบในฐานะนักกิจกรรมด้านอาหาร รณรงค์ และแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ผักผ่านโครงการ ‘แบ่งพันธุ์ปันกัน’ ที่เริ่มต้นจากความตั้งใจอยากเติมพลังบวกกลับคืนสู่สังคม และสื่อสารถึงวิธีการสร้างอาหารปลอดภัยด้วยสองมืออย่างง่ายๆ ที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์เช่นทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของแบ่งพันธุ์ปันกันนั้นเกิดจากความตั้งใจอยากสร้างการรับรู้ กระจายทักษะการปลูกผัก และสร้างเครือข่ายกลุ่มคนสร้างอาหารปลอดภัยให้เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยลีและเพื่อนนักกิจกรรมอย่าง ปอ-ภราดล พรอำนวย นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและศิลปินเจ้าของบาร์แจ๊ซ North Gate Jazz Co-Op จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมด้วย เป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก เจ้าของร้านอาหารและร้านกาแฟ 186 cafe ที่เริ่มต้นจากการชวนกันสร้างแปลงผักเล็กๆ ไว้แลกเปลี่ยนความรู้ในการสร้างอาหารและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันในแวดวงคนสนใจเรื่องอาหาร กระทั่งวิกฤตการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้นช่วงเดือนมีนาคม พวกเขาจึงขยายการรับรู้จากกลุ่มเพื่อนสนิทสู่สังคม ด้วยความหวังว่าการเริ่มต้นปลูกผักสวนครัวนั้นย่อมช่วยเยียวยาชีวิตได้บ้างไม่มากก็น้อย
เยียวยาชีวิตและจิตใจ ด้วยการปลูกผักสวนครัว
“สำหรับเราการปลูกผักสวนครัวช่วยทั้งลดรายจ่ายและเยียวยาจิตใจนะ การใช้เวลาสร้างอาหารเล็กๆ น้อยๆ อาจไม่ได้ส่งผลในเชิงเศรษฐศาสตร์มากมาย แต่เป็นหนทางเชื่อมเราเข้ากับธรรมชาติได้อย่างดี เพราะการได้กินอาหารที่เราเห็นกระบวนการเติบโตตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์มันทำให้เรารู้สึกอบอุ่นปลอดภัย รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ ซึ่งสำคัญมากในการเยียวยาสุขภาพจิตในช่วงวิกฤตแบบนี้”
ลีบอกแบบนั้นพร้อมเสริมว่า ตอนนี้คาเฟ่และศูนย์เรียนรู้เรื่องกิจการเพื่อสังคม Akha Ama Living Factory ณ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กำลังลงมือสร้างแปลงปลูกผักสวนครัวไว้สำหรับหล่อเลี้ยงปากท้องของพนักงาน รวมถึงไว้สำหรับแจกจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบในอนาคตอันใกล้ กว่านั้น อาข่า อ่ามา ยังเตรียมเปิดตัว ‘ครัวทำกินเอง’ ที่เขาลงทุนสร้างขึ้นในบริเวณเดียวกันเพื่อใช้เป็นครัวกลางสำหรับทดลองและเรียนรู้เรื่องอาหารปลอดภัย ที่พร้อมเปิดรับคนที่มีใจอยากสร้างอาหารด้วยตัวเอง
“สถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาทำให้ปัจจัยพื้นฐานกลับมาเห็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ในชีวิตมนุษย์อีกครั้ง อาหารเป็นหนึ่งในนั้นที่เราเห็นชัดเจนเลยว่าทุกคนตื่นตัว ถ้ามองในมุมบวกนี่อาจกลายเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายอาหารปลอดภัยระดับแมสขึ้นมาก็ได้ เพราะสำหรับเราการสร้างอาหารไม่จำเป็นต้องปลูกแปลงใหญ่ ต้องมีที่ดิน อาจเริ่มจากกระถางเล็กๆ ก่อนก็ได้ เพื่อให้รู้สึกว่าแนวทางนี้มันเกิดขึ้นได้จริง”
ครัวกลางชุมชน ปันอาหารให้ผู้เดือดร้อน
นอกจากโครงการแบ่งพันธุ์ปันกัน เครือข่ายนักกิจกรรมด้านอาหารจังหวัดเชียงใหม่ ยังผุดโครงการ ‘ครัวกลางชุมชน’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างครัวกลางในชุมชนน้อยใหญ่รอบเมืองเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นแหล่งจัดสรรปันอาหารให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะวิกฤต ซึ่งลีมองว่าทั้ง 2 โครงการย่อมเกื้อหนุนกันในอนาคต เมื่อผู้คนหันมาสร้างอาหารมากขึ้น ผลผลิตที่เหลือจากกินในครัวเรือนย่อมตกถึงครัวกลางและช่วยลดต้นทุนในการทำอาหารแจกจ่ายได้ในอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันโครงสร้างดำเนินการอยู่ใน 7 ชุมชนรอบเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ชุมชนมูลพม่า, ชุมชนแจ่มหัวริน, ชุมชนทานตะวัน, ชุมชนควรค่าม้า, ชุมชนวัดล่ามช้าง และชุมชนวัดหมื่นเงินทอง ทางด้านโครงการแบ่งพันธุ์ปันกันนั้นเปิดแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์อินทรีย์
สำหรับผู้คนที่สนใจผ่านกิจการกาแฟเพื่อสังคม อาข่า อ่ามา
ติดต่อได้ที่: นายอายุ จือปา, ร้านกาแฟอาข่า อ่ามา
มาตา อพาร์ตเมนท์ ถ.หัสดิเสวี ซ.3 ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ. เชียงใหม่ 50300
รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดตามข่าวสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ผ่านแฮชแท็ก #แบ่งพันธุ์ปันกัน สำหรับใครที่อยากเริ่มสร้างอาหารด้วยตัวเอง ทางโครงการแนะนำแหล่งซื้อขาย/แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ปลอดภัยไว้ดังนี้
1. กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา
โทร: 089-808-8669
2. กลุ่มวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ ภาคอีสาน
โทร: 089-770-8500
3. Greener organic center เชียงใหม่
โทร: 085-032-6642
4. ศูนย์เรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์พันพรรณ เชียงใหม่
โทร: 081-470-1461 หรือ www.facebook.com/punpunlearningcenter
ภาพถ่าย: พงษ์ศิลา คำมาก