ลานกีฬาชุมชนโรงหมู ที่เกาะกลาง ชุมชนคลองเตย เปลี่ยนเป็นลานเล่นชั่วคราวที่ต่างไปจากวันอื่น ๆ บนพื้นถูกแปะด้วยสติกเกอร์หลากสีสันที่กำหนดกติกาการเล่นเกมแต่ละเกม เด็ก ๆ ในชุมชนจูงมือกันมาขอเล่นอยู่ไม่ขาด ในมือมีกระดาษแปะสติกเกอร์ที่เป็นหลักฐานการเล่นว่าเล่นมาแล้วกี่เกม เมื่อได้สติกเกอร์ครบ 25 ดวง นั่นเท่ากับว่า Mission ของเด็ก ๆ ในวันนี้ Complete!

กิจกรรมที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมในวันนั้น คือ ‘Climate Community Street Play’ ที่มีรัตติกร วุฒิกร นักออกแบบของเล่นเพื่อสังคมอยู่เบื้องหลัง เธอมักจะนำประเด็นที่เป็นปัญหายาวนานมาสร้างสรรค์เป็นเกม เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ เป็นใบเบิกทางในการหาทางออกร่วมกัน รัตติกรเคยจัด ‘Climate Community Street Play’ ที่เบอร์ลิน เยอรมนี ร่วมกับ Myriel Milicevic ในช่วงที่เธอมีภารกิจสอนด้านการออกแบบที่ Potsdam University of Applied Sciences โดยแต่ละเกมที่ออกแบบขึ้นจะมีความเชื่อมโยงกับบริบทของชุมชน เช่น เกมที่จะต้องร่วมกันปกป้องกลุ่มเปราะบางในชุมชน หรือเกมเปลี่ยนถนนในชุมชนให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อลดอุณหภูมิ

เมื่อกลับมาเมืองไทย ทั้งคู่นำไอเดียนี้กลับมาด้วย เพื่อสร้างการเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับเด็กไทย โดยจัดลานเล่นขึ้นครั้งแรกที่ชุมชนนี้

“เราพบว่าเด็ก ๆ มีความเข้าใจเรื่อง climate change น้อยมาก จนถึงไม่เข้าใจเลย” รัตติกรเล่าให้เราฟังในวันหนึ่งที่ได้เจอกัน ก่อนที่เราจะขอติดสอยห้อยตามเธอไปดูกิจกรรมที่เกิดขึ้น

ทำไมจึงตั้งต้นที่ชุมชนคลองเตย ? เมื่อเราถามรัตติกรถึงเรื่องนี้ เธอเล่าให้ฟังถึงการเป็นชุมชนเปราะบาง ทว่ามีความพร้อมในการเปิดกว้างเพื่อยอมรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ ของชุมชน รวมถึงมุมมองที่มีต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเมือง ลักษณะพิเศษของชุมชนที่เป็นแบบนี้เราต้องยกเครดิตให้กับการทำงานของกลุ่ม Music Sharing ที่ทำงานพัฒนาสังคมในชุมชนคลองเตยมายาวนานผ่านโครงการคลองเตยดีจัง และเมื่อรัตติกรคิดทำโปรเจ็กต์นี้ขึ้น ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีทั้งจากชาว Music Sharing และผู้คนในชุมชน อย่างในวันที่จัดกิจกรรม street play เราก็ได้เห็นทั้งเยาวชนและผู้ปกครองในชุมชน รวมถึงผู้ใหญ่ใจดีอีกหลาย ๆ คนจากนอกชุมชน มาร่วมด้วยช่วยกันอย่างแข็งขัน

กว่าเสียงหัวเราะและความสนุกของเด็ก ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้น รัตติกรและเพื่อน ๆ ใช้เวลาทำงานร่วมกันอยู่นานไม่น้อย เพราะคอนเซ็ปต์ของเธอไม่ใช่การออกแบบเกมแล้วจับเอามาวางเพื่อให้เด็กเล่นอย่างปรุงสำเร็จ แต่มันผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันกับชุมชนและผู้เข้าร่วมนอกชุมชน เพื่อออกแบบเกมที่มีพื้นฐานมาจากปัญหา ทรัพยากรที่มีอยู่ ความสนใจ และความเข้าใจ เกิดเป็นเวิร์กช็อปที่ทำร่วมกับเด็ก ๆ ในโครงการคลองเตยดีจัง และนักศึกษานานาชาติจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่คนทั่วไปคุ้นชินกับการเรียกว่า ‘บางมด’

“จากการทำงานที่ผ่านมา เราพบว่าสิ่งที่ยั่งยืนที่สุดคือชุมชนร่วมมือกันให้พ้นจากปัญหา ช่วงโควิดเราเห็นชัดเลยว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง เขาจะรอดพ้นสถานการณ์ได้” รัตติกรเล่าว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำให้เห็นพลังของชุมชน อย่างงานวิจัยเรื่องคลื่นความร้อนที่อเมริกา ว่าทำไมถนนฝั่งหนึ่งมีคนเสียชีวิตเยอะ ขณะที่อีกฝั่งเสียชีวิตน้อยกว่า นั่นก็เป็นเพราะฝั่งที่มีคนเสียชีวิตน้อย นอกจากจะมีพื้นที่สาธารณะให้คนได้ใช้ร่วมกัน ทั้งวิ่งเล่นหรืออ่านหนังสือในห้องสมุด ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ของคนในชุมชน พวกเขารู้ว่าใครอ่อนแอหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง และใครต้องการความช่วยเหลือ

“เราไม่สามารถสร้างพื้นที่สาธารณะได้ แต่เราแปลงพื้นที่สาธารณะที่มีให้เป็นพื้นที่กิจกรรมได้ เลยเป็นที่มาของ street play”

ส่วนที่มาของเกมที่เกิดขึ้น เกิดจากการทำเวิร์กช็อปสามช่วง ช่วงแรกคืองานวิจัยที่ต้องศึกษาสิ่งที่เป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศึกษาความสัมพันธ์ของคนสัตว์และพืชในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่คลองเตย สร้างความเข้าใจให้เด็กซึ่งจะเป็นผู้ออกแบบเกมและผู้นำเกมรู้จักก๊าซเรือนกระจก สภาวะโลกร้อน ฯลฯ จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงออกแบบเกม กระทั่งจบกระบวนการในช่วงที่สาม คือวันเล่นเกม

“เราพาเขาไปเดินสวนเบญจกิติ ที่จำลองกรุงเทพฯ เพื่อพูดถึงดินและต้นไม้ สิ่งที่เขาเห็นในสวนเบญฯ เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เห็นอีกแล้วในกรุงเทพฯ ไปดูประตูระบายน้ำที่เปลี่ยนจากตลิ่งธรรมชาติมาเป็นคอนกรีตซึ่งกีดกันสัตว์และพืชออกไป ไปดูการจัดการน้ำว่าก่อนปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยามีขยะมากขนาดไหน ระดับน้ำทะเลมีผลต่อการปล่อยน้ำลงแม่น้ำยังไง การปล่อยปลาปล่อยสัตว์น้ำเพื่อทำบุญสร้างผลกระทบยังไง ได้ดูเรื่องผึ้ง เรื่องแมลงผสมเกสร ไปดูป่าโกงกาง การได้พาเขาไปดูสิ่งเหล่านี้ เห็นได้ชัดเลยว่าเขามีความอยากรู้อยากเห็นและอยากเข้าใจโลกให้มากขึ้น เขามีดวงตาที่มองโลกรอบตัวมากกว่าเดิม”

การออกแบบเกม ตั้งต้นขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า เมื่อเมืองถูกออกแบบโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ภายใต้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งแวดล้อม ทำให้สถาปัตยกรรมและผังเมืองขาดการออกแบบที่เข้าใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แล้วการเติบโตที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ส่งผลอย่างไรโดยเฉพาะปัจจุบันที่ climate change กำลังส่งผลกระทบ และการจะอยู่รอดปลอดภัยของ ‘พวกเรา’ ซึ่งมีความหมายถึงมนุษย์ พืช และสัตว์ นั้นต้องทำอย่างไร

เวิร์กช็อปนี้จึงเปลี่ยนมุมมองของคำว่า ‘ชุมชน’ และ ‘พวกเรา’ ใหม่ ว่าคือสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่หนึ่ง และศึกษาความสัมพันธ์ของสมาชิกชุมชนในมิติต่าง ๆ ภายใต้สภาวะ climate change ก่อนจะนำข้อมูลเหล่านี้มาออกแบบเป็น street game ที่เราเห็นตรงหน้า ซึ่งแต่ละเกมเกิดจากแต่ละทีมเลือกหัวข้อที่พวกเขาสนใจ และจินตนาการถึงอนาคตที่พวกเขาอยากสร้างขึ้นในชุมชนที่พวกเขาอยู่อาศัย

“วันนี้น้ำท่วม” ก๋วย เด็กชายวัย 11 ขวบของโครงการคลองเตยดีจัง ซึ่งได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปและออกแบบเกม บอกกับเราเมื่อเจอหน้าในวันเล่นเกม แต่นั่นไม่ใช่คำพูดที่แสดงถึงความทุกข์ร้อน เขาก็เพียงเล่าให้เล่าฟังว่าวันนี้ชุมชนเป็นยังไง และบอกว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประจำ บ้านเขาต้องยกข้าวของฟูกนอนขึ้นบนโต๊ะเก้าอี้ สัตว์เล็ก ๆ หนีน้ำเข้ามาหลบอยู่ในบ้านจนบ้านเป็นเหมือนศูนย์อพยพย่อม ๆ ก็เป็นเรื่องปกติอีกเช่นกัน เด็ก ๆ มองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ขณะที่ความไม่ปกติที่เกิดขึ้น คือระดับน้ำทะเลหนุนที่สูงขึ้น และมันส่งผลกับชุมชนใกล้น้ำโดยตรง นี่คือหนึ่งในภัยของ climate change ที่เราต่างมองข้ามมันไป

ก๋วยเป็นหนึ่งในทีมผู้ออกแบบเกมและทำหน้าที่เป็นผู้นำเกม ซึ่งไม่ใช่แค่อธิบายวิธีเล่น แต่ต้องอธิบายหลักการและความสำคัญของเนื้อหาที่แฝงอยู่ในเกมด้วย นอกจากก๋วยยังมีพี่ ๆ ที่เป็นเด็กโตกว่าที่ผ่านเวิร์กช็อปมาด้วยกันเป็นผู้นำเกมเช่นเดียวกัน พวกเขาจะคอยสังเกตและประเมินผู้เล่น เพื่อหาวิธีการอธิบายได้อย่างเหมาะสมในแต่ละคน เช่นเกม Heat Island Bangkok เป็นเกมโยนห่วงที่จะอธิบายเรื่องเกาะความร้อน ที่พื้นที่คอนกรีตจะมีความร้อนกว่าพื้นที่ที่มีต้นไม้ และพื้นที่แบบไหนจะซับน้ำได้มากกว่ากัน และคนในชุมชนเองคือฮีโร่ที่จะช่วยลดเกาะความร้อนหรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมนี้ได้ โดยเชื่อมโยงกับการโยนห่วงตรงที่ เมื่อเสารับห่วงอยู่ไกล เราจะโยนห่วงไม่ลง แต่เมื่อเสาอยู่ใกล้ เราจะโยนได้แม่นขึ้น

เกมทั้ง 7 เกม นอกจาก Heat Island Bangkok แล้ว ยังมี Lend a Leg และ Pet Rescue ที่เล่าความสัมพันธ์ของเมืองกับสัตว์และภัยพิบัติ Spongify กับการเชื่อมโยงถึงพื้นที่ซับน้ำของใจกลางเมืองและเมืองรอบนอก Biodiverse Penalty Shooting กับการช่วยกันสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กับพื้นที่ โดยเด็ก ๆ จะได้เตะฟุตบอลเข้าโกล และได้สีในการวาดและระบายเพื่อช่วยกันสร้างสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาอยากให้มีในชุมชน เกมความหลากหลายในเมืองที่เล่าความสำคัญของแมลงผสมเกสรและสิ่งมีชีวิตในเมืองอื่น ๆ ที่ล้วนสัมพันธ์กัน และเกมยอดฮิตของวันนั้นอย่าง Sort It Out หรือเกมแยกขยะเพื่อไม่ให้การระบายน้ำอุดตัน ที่มีคะแนนให้กับผู้เล่นที่แยกขยะได้ถูกต้อง

ความน่าสนใจที่เกิดขึ้นในวันนั้น คือการเป็นเกมที่พัฒนาจากการละเล่นที่คนไทยในอดีตคุ้นเคย อย่างเกมตี่จับ เตย อีกาฟักไข่ น้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งสร้างกิจกรรมทางกายและสร้างการมีส่วนร่วมในการเล่นได้มากกว่าเกมในหน้าจอ และเกมเหล่านี้ยังมีความยืดหยุ่นในกติกา ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนไปตามผู้เล่น เช่น เกม Pet Rescue ที่อิงจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สัตว์จำนวนมากต้องถูกทิ้งไว้ที่บ้าน การจะเข้าไปช่วยต้องฝ่าอุปสรรคของกระแสน้ำ ฝาท่อ หรือไฟฟ้ารั่ว พัฒนาขึ้นจากเกมตี่จับที่ผู้เล่นต้องออกเสียงฮึมและกลั้นหายใจ เพื่อฝ่าวงล้อมที่คอยขวางเพื่อไปช่วยสัตว์ออกมาให้ได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นไม่ต้องฮึมในเด็กเล็ก เพราะเล็กเกินกว่าจะกลั้นหายใจเป็น

รัตติกรเล่าว่า ในวันนั้นมีเด็กมาเล่นเกม 53 คนเมื่อนับจากจำนวนลงทะเบียนเล่มเกม “เด็ก ๆ ทุกคน มีความกระตือรือร้นที่จะเล่นและเรียนรู้ แต่การเข้าถึงการเล่นของเด็กทุกคนไม่เท่ากัน การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เราใช้ลานกีฬาชุมชนโรงหมู ซึ่งเป็นที่ที่ใช้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์และชุมชนคลองเตย เรียกได้ว่าพื้นที่ 20×30 ตารางเมตรนี้ ถูกใช้งานโดยผู้คนละแวกนั้นนับร้อยนับพันคนอย่างคุ้มค่ามาก ๆ พวกเขาแบ่งปันกันใช้ โดยมีผู้นำชุมชนเป็นคนช่วยดูแลและสับคิวให้ พอเรามีงาน เราแค่ฝากเด็ก ๆ ไปบอกต่อ ๆ กัน และฝากผู้นำชุมชนกระจายเสียงตามสาย ก็มีเด็กเข้ามาร่วมกิจกรรมแบบไม่หายไปไหนจนถึงจบงาน แม้อาจจะเพื่อรอจับรางวัล แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ ในชุมชนต้องการกิจกรรม ต้องการเล่น และสนุกกับการเรียนรู้ เช่นเดียวกับเด็กกลุ่มที่มีฐานะดีกว่า พ่อแม่มีเวลามากกว่า เด็กกลุ่มนั้นจะมีกิจกรรมมากมายที่ครอบครัวและโรงเรียนจัดไว้ให้ แต่ในชุมชน ครอบครัวเด็กอาจมีข้อจำกัดมากกว่า คงเป็นหน้าที่ของคนทำงานด้านการศึกษา ที่ต้องเข้าให้ถึงเด็ก ๆ กลุ่มนี้”

การจัดกิจกรรมกับเด็กคลองเตย นับเป็นการเลือกกลุ่มของเด็กในการสื่อสารผ่านเกมได้อย่างเหมาะเจาะ เพราะเด็กเหล่านี้เป็นเด็กทางกายที่ชอบการได้เคลื่อนไหว ได้วิ่งเล่น และการได้เล่นซ้ำ ๆ เพื่อสะสมสติกเกอร์ นอกจากทำให้เขาได้เจอเพื่อนเล่นใหม่ ๆ ยังเป็นการย้ำความเข้าใจในเนื้อหาความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม กับ climate change ให้พอกพูนขึ้นในการรับรู้ของเด็ก

“การเล่นเป็นเครื่องมือหลักในวิธีการเรียนรู้ของเด็ก การให้สะสมสติกเกอร์หรือมีของรางวัลเป็นเกมการศึกษาให้จับเมื่อสะสมได้ครบ ก็เป็นทริกเพื่อให้เกิดการเล่นซ้ำ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าใจเนื้อหา”

“นอกจากเด็กที่เข้าเวิร์กช็อป ซึ่งได้ร่วมออกแบบเกมและเป็นผู้นำเกม ทำให้เขามีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เราคิดว่าเด็ก ๆ ที่เข้ามาเล่นเกมในวันนั้นเขาได้เริ่มมีสายตาที่มองไปกว้างขึ้น ทั้งเรื่องเกมที่เขาไม่เคยรู้จัก และเนื้อหาของเกมที่นำเขาไปสู่ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ การจะให้เขาเข้าใจในเชิงลึกยังเป็นเรื่องยากมาก แต่สิ่งที่เขาได้ผ่านการเล่น น่าจะทำให้เขาได้มีโอกาสเริ่มหันมาคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้าง อย่างเรื่องขยะที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด

“เหมือนที่สตีฟ จ็อบส์ บอกว่า ‘connecting the dots’ เราแค่ดอตเอาไว้ให้เขา สักวันหนึ่งเขาน่าจะมีโอกาสได้ลากเส้นเชื่อมของเขาเอง จากบางจุดที่เราลากเส้นเชื่อมเอาไว้ให้แล้ว”

หลังจากเริ่มลากเส้นเชื่อมไว้แล้วที่ชุมชนคลองเตย รัตติกรกำลังเริ่มสร้างจุดเริ่มเพื่อลากเส้นเชื่อมใหม่ที่สวนผักคนเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านเกมซึ่งจะต้องออกแบบให้สัมพันธ์กับปัญหาของเมือง ทั้งปัญหาโครงสร้างเมืองที่สร้างเกาะความร้อน ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่จะทวีในฤดูกาลเผา

ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะถูกนำมาสื่อสารผ่านเกม เพื่อให้ชุมชนและเด็กมองเห็นปัญหาร่วมกัน และสร้างโอกาสในการหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากในชุมชนของตนเอง

ภาพ : CCSP BKK