ครั้งแรกกับการได้ลองมาเป็น ‘หน่วยพิทักษ์อาหารส่วนเกิน’ ประสบการณ์ใหม่ที่ได้สัมผัสในช่วงเทศกาล Bangkok Design Week 2023 ที่ผ่านมา กับโปรแกรมทัวร์ Food Rescuing and Cooking Experience ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) มูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทยที่ทำหน้าที่กอบกู้อาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจ แล้วนำไปส่งต่อให้แก่ชุมชนที่ขาดแคลน
ทัวร์นี้บอกได้เลยว่าไม่ได้เป็นการเดินสบาย ๆ ชมศิลปะ การแสดง หรือบรรยากาศต่าง ๆ ของศิลปินแต่อย่างใด แต่เป็นกิจกรรมทัวร์ที่อัดแน่นไปด้วยสาระความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของขยะอาหารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มากไปกว่านั้นผู้เข้าร่วมทุกคนยังต้องมาช่วยกันสร้างสรรค์เมนูอาหารที่ทำจากอาหารส่วนเกินตอนท้ายกิจกรรมอีกด้วย ถือเป็นการท้าทายความเชี่ยวชาญในการทำครัวของผู้เข้าร่วมไม่น้อยเลยทีเดียว
ทีมงานของมูลนิธิ SOS นัดให้ผู้เข้าร่วมทุกคนไปเจอกันที่โลตัส สาขาพระราม 1 ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ใกล้กับสำนักงานของมูลนิธิฯ ที่ตั้งอยู่ในย่านนางเลิ้งมากที่สุด เพื่อมาเริ่มต้นภารกิจกอบกู้อาหารส่วนเกิน ซึ่งทางซูเปอร์มาร์เก็ตแบ่งไว้จากการคัดสินค้าที่ไม่สามารถนำไปขายได้แล้วเมื่อคืนก่อนหน้า
เมื่อผู้เข้าร่วมมาถึงกันพร้อมหน้าแล้ว ก็ได้สวมเสื้อกั๊ก “Food Heroes” พร้อมปฏิบัติการ และเราได้พบกับ พลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายองค์กร ของมูลนิธิ SOS และ ปิ่น-ปริญญาภร กลิ่นเทศ ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืนองค์กร ที่มาร่วมกันเล่าถึงปัญหาของขยะอาหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน
พลอยเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันประเทศไทยทิ้งขยะมูลฝอยมากกว่า 25 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนั้นกว่า 38% เป็นขยะอาหารหรือประมาณ 9 ล้านตัน ที่แย่ไปกว่านั้นคือขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปมีปริมาณ 4 ล้านตันต่อปีที่ยังรับประทานได้ แปลว่าประเทศเราทิ้งอาหารดี ๆ ไปจำนวนมหาศาล แทนที่จะนำไปส่งต่อเป็นมื้ออาหารให้แก่ผู้คนที่ขาดแคลน ซึ่งสามารถแปลงเป็นมื้ออาหารได้มากถึง 16,800 ล้านมื้อในปีหนึ่ง
และเนื้อหาสำคัญที่นำไปสู่การเปิดประสบการณ์ในกิจกรรมนี้คือ การที่ผู้เข้าร่วมจะได้เข้าใจว่า ปัญหาของขยะอาหารจริง ๆ แล้วเกิดขึ้นในทุกจุดของห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Food Supply Chain) ไม่ว่าจะจากภาคการเกษตร การผลิต การขนส่ง การค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรม หรือแม้กระทั่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ เมื่อทุกคนได้มองไปยังตะกร้าของอาหารส่วนเกินที่ทางทีมงานโลตัสเข็นออกมาจากคลังสินค้า จะเห็นได้ว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้ภาคธุรกิจจำต้องทิ้งอาหารที่ยังปลอดภัยต่อการรับประทานอยู่ เพียงเพราะหน้าตาไม่สวยงาม ใกล้หมดอายุ หรือหมดเวลาในการขายแล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพื่อรักษาคุณภาพของอาหารที่นำมาจำหน่าย
ปิ่นอธิบายให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฟังว่า สินค้าของโลตัสทุกชนิดจำเป็นต้องติดฉลากแสดงวันที่ที่สินค้านั้น ๆ สามารถวางขายได้ ซึ่งในบางครั้งการระบุระยะเวลาในการจำหน่ายถูกกำหนดมาจากผู้ผลิต หรือผู้กระจายสินค้า เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพของอาหารยังอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในช่วงเวลาจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารจำพวกผัก และผลไม้ที่เสื่อมสภาพได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น ผลแตงโมที่ถูกติดฉลากโดยผู้กระจายสินค้าไว้ว่าสามารถวางขายได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น เพราะหากเลยวันที่ระบุไปแล้วรสชาติของแตงโมจะเปลี่ยนไป จะมีความหวานฉ่ำน้อยลงเป็นต้น
เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ ทางโลตัสก็ได้พยายามหาแนวทางป้องกันไม่ให้อาหารที่ยังคุณภาพดีอยู่ต้องถูกทิ้งไปเฉย ๆ โดยการจัดมุมสินค้าลดราคาก่อนสิ้นวันทุกวัน ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยลดปริมาณอาหารที่จำเป็นต้องทิ้งไปจำนวนมาก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วก็ยังคงมีสินค้าที่ไม่สวยงามในสายตาของลูกค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ธุรกิจต้องหาแนวทางอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการส่งต่ออาหารที่ขายไม่ได้แล้ว แต่ยังคุณภาพดี ปลอดภัยต่อการรับประทานเหล่านี้ ให้แก่ผู้คนที่ขาดแคลนอาหาร และถือเป็นการคงคุณค่าของอาหารเพื่อการบริโภคของมนุษย์อีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองโลตัสจึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิ SOS ในการบริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อส่งต่อให้กับชุมชนที่มีประชากรรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ที่มูลนิธิฯดำเนินการอยู่
ในกิจกรรมนี้ มูลนิธิ SOS ไม่ได้ให้ผู้เข้าร่วมกอบกู้อาหารไปส่งต่อให้แก่ชุมชน แต่มีจุดประสงค์ที่จะให้ทุกคนได้สัมผัสอาหารส่วนเกินโดยการนำไปปรุงอาหารเพื่อทานด้วยกันดู ดังนั้นหลังจากที่ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้อัดแน่นกันอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นก็ได้มาถึง พลอยและทีมงาน SOS ให้ทุกคนตรวจดูผลิตภัณฑ์อาหารส่วนเกินในตะกร้า เพื่อดูว่าจะสามารถนำไปทำเป็นเมนูอะไรได้บ้างสำหรับมื้อเย็น ซึ่งทุกคนมีเวลาในการปรึกษากันเพียง 10 นาทีเท่านั้น และได้เวลาอีกเพียง 10 นาทีในการไปเลือกซื้อวัตถุดิบ เช่น เครื่องปรุง หรือเนื้อสัตว์เพิ่มเติม เพราะส่วนใหญ่แล้วผลิตภัณฑ์ที่ถูกบริจาคจะเป็นจำพวกผักและผลไม้มากที่สุด ความน่าสนใจของช่วงเวลานี้คือ การที่ได้เห็นไอเดียเมนูที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของผู้เข้าร่วมรอบแรกกับรอบที่สอง ซึ่งได้รับอาหารส่วนเกินไม่เหมือนกันเลย
ผู้เข้าร่วมชุดแรกได้รับอาหารส่วนเกินหลากหลาย ทั้งผักใบเขียว ผักพืชหัว และผลไม้นานาชนิด ในขณะที่ผู้เข้าร่วมชุดที่สองได้รับผักใบเขียวเป็นส่วนใหญ่ และมีผลไม้เพียง 3 ชนิดเท่านั้น อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันเสาร์ของทั้งสองสัปดาห์ ก็ได้ทำหน้าที่เชฟจำเป็นโดยสมบูรณ์ และทำอาหารออกมาได้อร่อยอย่างคาดไม่ถึง เพราะหากเทียบกับการอยู่ในรายการแข่งขันทำอาหารแล้ว จะเหมือนกับการแข่งขันทำอาหารจากกล่องสุ่มเลยทีเดียว
นอกเหนือจากความสนุกที่ทุกคนต้องระดมสมองคิดเมนู และทำงานกันเป็นทีมเพื่อทำอาหารให้ทันเวลาแล้ว ยังมีความน่ารักของผู้เข้าร่วมที่เอาใจใส่เพื่อน ๆ ในทีม อย่างเช่น มีผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่งในสัปดาห์แรกทานมังสวิรัติ ทุกคนในวันนั้นจึงเลือกทำทุกเมนูที่ไม่มีเนื้อสัตว์ เมนูอาหารในรอบแรกเลยเน้นผักผลไม้น่ารับประทาน และเป็นการใช้วัตถุดิบส่วนเกินอย่างคุ้มค่า ซึ่งเมนูที่ทำออกมา ได้แก่ สลัดผลไม้ แกงอ่อม เปาะเปี๊ยะสด ไข่เจียวมะเขือเทศ แกงจืดฟัก ผัดผัก และแพนเค้กเป็นของหวาน
ในขณะที่ทีมสัปดาห์ที่สองได้วัตถุดิบน้อยกว่า แต่ก็ยังรังสรรค์เมนูออกมาได้น่าประทับใจ เช่นการนำสับปะรดมาทำข้าวผัดสับปะรด นำผักกวางตุ้งจีนมาทำเป็นซุปกิมจิ ยำกระเจี๊ยบ ผัดผักคะน้า และตบท้ายด้วยวุ้นที่ใส่พุทราสดเข้าไป ซึ่งเมนูเหล่านี้สร้างสิ่งน่าสังเกตที่น่าสนใจว่า พอทุกคนจำเป็นต้องทำอาหารจากวัตถุดิบส่วนเกินแล้ว เมนูอาหารไม่จำเป็นต้องเข้าธีมเดียวกันก็ได้ จะเป็นเมนูอาหารหลากเชื้อชาติก็ได้ แต่เมื่อนำมาทานด้วยกันหลายคนก็กลายเป็นเรื่องสนุกขึ้นมาทันที แถมยังได้ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าด้วย ผู้เข้าร่วมหลาย ๆ คนเลยได้รับแรงบันดาลใจในการกลับบ้านไปลองทำเมนูอาหารเพื่อเคลียร์ตู้เย็นกันต่อไป
น่าเสียดายที่ช่วงเวลาของ Bangkok Design Week 2023 มีเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น คงจะดีไม่น้อยหากกิจกรรม Food Rescuing and Cooking Experience นี้สามารถจัดขึ้นได้อีกเรื่อย ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับคนทั่วไปที่ต้องการมาทำความเข้าใจปัญหาและแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กิจกรรมนี้จะไม่ได้จัดขึ้นอีกเร็ว ๆ นี้ แต่มูลนิธิ SOS ก็ยังเปิดรับสมัครอาสาสมัครพิทักษ์อาหารทุกวัน ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถมาติดตามรถตู้เย็นของ SOS ในการเข้ารับอาหารส่วนเกินจากผู้ประกอบการ แล้วนำไปส่งต่อให้แก่ชุมชนในช่วงท้ายวัน หากสนใจกิจกรรมสามารถติดตาม และติดต่อมูลนิธิ SOS ได้ที่ Facebook: Scholars of Sustenance Foundation – SOS Thailand
ภาพ : มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS)