น่าจะมีคนที่เคยสงสัยเหมือนเราอยู่บ้างแหละ ว่าเวลาที่ได้ฟังเรื่องราวของเกษตรกรอินทรีย์ที่เปลี่ยนแปลงการผลิตจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ มันทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นกว่าเดิมยังไง บางคนที่ยืนหยัดทำมานานจนอยู่ตัว เราได้เห็นแล้วว่าพี่ ๆ เกษตรกรเขามีรายได้มั่นคงแน่นอน (หลังจากที่ผ่านช่วงล้มลุกคลุมคลานในตอนเริ่มอยู่บ้าง) มีอาหารดี ๆ กิน สุขภาพกายสุขภาพใจแข็งแรงขึ้น แต่สำหรับคนที่เริ่มต้นไม่นานแล้วใจยังแกว่ง ๆ กับรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไป จะมีอะไรที่ชุบหัวใจระหว่างทางบนทางเดินสายอินทรีย์ได้บ้าง

จนเราได้มาเห็นรายงานชิ้นนี้ จากการนำเสนอของนักวิจัยจาก TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ในงานสัมมนา Back-to-Back (side session 3) ‘Building sustainability into the Agri-food value chains: Future Food Together’ เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ WWF Thailand (องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย) และ AFMA (สมาคมการตลาดเพื่อเกษตรและอาหาร แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค) ก็ให้สัญญากับตัวเองอยู่ในใจไว้เลยว่า ต้องเอามาเล่าต่อ!

ทำไมเขาถึงมาวิจัยเรื่องนี้กันนะ
เวลาที่จะมีการลงทุนเรื่องการฟื้นฟูป่า หรือปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรอินทรีย์ หรือทำเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขั้นแรกเรามักมองกันแค่ผลประโยชน์หรือผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่ในรายละเอียดแล้วการทำเกษตรกรรมแบบนี้ยังมีผลตอบแทนที่ไม่ได้อยู่ในรูปตัวเงินด้วย เช่นว่า ป่าต้นน้ำมีสภาพสมบูรณ์ขึ้น พอไม่ได้มีการใช้สารเคมีเข้มข้นในการทำเกษตรแบบเดิม ก็ทำให้สุขภาพของเกษตรกรดีขึ้น สิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นกลับมาดี ฯลฯ TDRI จึงอยากศึกษาดู เพื่อให้เรื่องนี้เป็นต้นแบบในการทำโครงการเกษตรอินทรีย์ หรือโครงการฟื้นฟูป่าอื่น ๆ ในอนาคต

แล้วเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ศึกษาโครงการเพื่อสังคม ที่ชื่อว่า SROI ก็ถูกนำมาใช้ในโครงการนี้

SROI มีชื่อเต็มอยู่ว่า Social Return on Investment หรือการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนมาวัดความคุ้มค่า ซึ่งโครงการแรก ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้ คือโครงการที่สร้างอาชีพให้กับผู้ต้องหาหรือคนว่างงานในต่างประเทศ เพื่อจะยืนยันว่า โครงการเพื่อสังคมนี้แม้จะไม่ได้ออกผลมาเป็นเม็ดเงิน แต่หากแปลงผลลัพธ์เป็นมูลค่าแล้ว เทียบเป็นตัวเงินได้เท่าไร

กลับมาถึงการวิจัยของ TDRI ที่ชื่อว่า ‘การประเมินผลตอบแทนทางสังคมของโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและการส่งเสริมการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน’ หรือ ‘FLR349’ ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันลงทุนส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สองตำบลในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ คือตำบลบ้านทับ และตำบลกองแขก ออกจากวังวนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาเพาะปลูกแบบเกษตรเคมี ตามแนวคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือปลูกไม้ยืนต้น พืชผัก สมุนไพร ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาป่า

โครงการนี้เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ก็เพราะว่าย้อนกลับไป 10 ปีก่อนเกิดโครงการ พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกรุกและแปรสภาพมาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ไม่ได้ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และส่วนใหญ่ยังติดอยู่ในวงจรหนี้สินจากต้นทุนการผลิตที่ราคาสูง

FLR349 จึงใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์เข้ามาปรับเปลี่ยน แต่ก็ต้องระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ ผ่านกองทุน FLR349 เพื่อให้นักลงทุนได้มีข้อมูลในการตัดสินใจ และผลประเมินจากการวิจัยนี้ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญ และข้อมูลตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินก็ยังมีประโยชน์กับการติดตามและประเมินผลต่อ ๆ ไปด้วย

กว่าจะได้ผลลัพธ์
ในการประเมิน SROI เขาจะยึดหลักการ 7 ข้อเป็นหัวใจสำคัญ คือต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด, เข้าใจสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง, ตีมูลค่าเฉพาะสิ่งที่สำคัญ, รวมเฉพาะสิ่งที่เป็นสาระสำคัญในการประเมิน, ไม่กล่าวอ้างเกินจริง, ต้องโปร่งใสทุกขั้นตอน และต้องตรวจสอบผลการประเมิน

ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ มีตั้งแต่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย เช่น WWF, มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย, ธกส., กรมป่าไม้ ผู้บริโภค กลุ่มร้านอาหารที่ใช้ผลผลิตจากพื้นที่โครงการ และภาครัฐ

ในการประเมิน ระยะเริ่มต้นจะนำข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาสะท้อนผลลัพธ์ของการทำเกษตรอินทรีย์ เช่น แต่ละภาคีมีการลงทุนลงแรงอะไรบ้างในโครงการ ไม่ว่าตัวเงิน เวลา หรือทรัพยากรต่าง ๆ แล้วการลงทุนเหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเขาบ้าง อย่างเกษตรกรบอกว่าสุขภาพดีขึ้นหลังจากเลิกใช้สารเคมี ความสัมพันธ์ในครัวเรือนดีขึ้น ซึ่งผลสะท้อนเหล่านี้ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินที่จับต้องได้

โจทย์ที่นักวิจัยต้องทำก็คือเอาแผนที่ผลลัพธ์มาวิเคราะห์แล้วทำตัวชี้วัด (Financial Proxy) แต่ยังไม่จบแค่นั้น เพราะต้องมีการกลับไปทำเซอร์เวย์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นความจริงไม่ใช่กล่าวอ้าง เช่น หากบอกว่าเกษตรกรสุขภาพดีขึ้น ดีจริงหรือเปล่า ภาคีที่ทำงานส่งเสริมเกษตรกรมีความภูมิใจมากขึ้นจริงไหม ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้ก็ต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆ ประกอบ เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งไม่ได้มาจากโครงการอื่นๆ ที่เคยเข้ามาทำอยู่ก่อนแล้ว เรียกว่ารัดกุมขนาดนี้เลย

แปลงเป็นมูลค่าทางการเงิน
แล้วผลสำรวจก็ออกมาเป็นผลชี้วัดและมูลค่าตัวแทนทางการเงิน เช่นว่า เกษตรกรมีสุขภาพกายดีขึ้น เพราะได้บริโภคผลผลิตอินทรีย์เพิ่มขึ้น หรือมีความรู้ในการจัดการฟาร์มเพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมอบรมต่าง ๆ เหล่านี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไรหากแปลงเป็นตัวเงิน อบต. มีต้นทุนในการจัดการสิ่งแวดล้อมลดลง มีค่าใช้จ่ายในการปลูกและดูแลป่าที่ประหยัดได้จากโครงการเท่าไร หรือผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีจากการบริโภคอาหารปลอดภัยจากเคมี ในขณะที่รัฐก็ได้ประโยชน์จากการที่คนแม่แจ่มสุขภาพดี ต้นทุนที่รัฐต้องอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลลดลงไปเท่าไร และเกิดป่าที่เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน ที่แปลงออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตที่คำนวณเป็นตัวเงินได้

จนท้ายที่สุด ผลลัพธ์ก็ถูกนำมาวิเคราะห์เป็นมูลค่าการเปลี่ยนแปลงในรูปตัวเงิน และนำมาคำนวณมูลค่าผ่านสูตรคำนวณตามกระบวนการ ซึ่งผลก็ชี้ออกมาว่า มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ที่เกิดจากโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและการส่งเสริมการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน เท่ากับ 176,954,579.83 บาท ในขณะที่มูลค่าปัจจุบันของเงินลงทุนที่ภาคีต่าง ๆ ลงทุนในโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและการส่งเสริมการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนเท่ากับ 20,944,832.85 บาท

เมื่อนำมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ หารด้วยมูลค่าปัจจุบันของเงินลงทุน จะได้ค่าผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) เท่ากับ 8.367 ซึ่งหมายความว่า ทุก ๆ 1 บาทที่ลงทุนในโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและการส่งเสริมการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคมเท่ากับ 8.367 บาท
ปัดตัวเลขกลม ๆ ลงมาหน่อย ก็ยังสูงถึง 8 เท่าเลยทีเดียว

ขอบคุณภาพจาก : WWF Thailand

ที่มาข้อมูล :
– งานสัมมนา Back-to-Back (side session 3) ‘Building sustainability into the Agri-food value chains: Future Food Together’
– wwfasia.awsassets.panda.org/downloads/report_sroi_.pdf