ตั้งแต่วันที่ 1-9 เมษายน 2566 นี้ ที่ขอนแก่นจะมีงานใหญ่นั่นคือ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ปี 2566 โดยแม่งานก็คือ TCDC ขอนแก่น เชื่อว่าในงานจะเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจดี ๆ จากผลงานที่ศิลปิน ครีเอเตอร์ และผู้ที่มาร่วมงานนำมาเสนออย่างแน่นอน หนึ่งในนั้นคือ ร้านค้าจำนวน 8 ร้าน ที่ผ่านการบ่มเพาะความรู้และแนวคิดผ่านกิจกรรม GOODy FOODy เพื่อต่อยอดการสร้างสรรค์สินค้าอาหารและการนำเสนอเพื่อสื่อสารภายใต้คอนเซปต์ “Rainbow Food” ตื่มความแซ่บและสีสันให้กับร้านคุณอย่างไรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร” ฟังดูแล้วน่าสนใจไม่น้อย แต่เราจะไม่ขอสปอยไปมากกว่านี้ เพราะอยากให้คุณเข้าไปเยี่ยมชม เยี่ยมชิมด้วยตัวเอง จึงจะขอเล่าย้อนไปถึงบรรยากาศของกิจกรรมบ่มเพาะดังกล่าวที่จัดขึ้นช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ไว้เป็นน้ำจิ้มให้คุณได้ชิมลางกันก่อน
จากผู้ที่สมัครเข้าร่วมมากมาย ถูกคัดเลือกเหลือเพียง 8 ผู้ประกอบการ ที่จะได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวนี้ ซึ่งแบ่งการอบรมเป็นสองวัน กับวิทยากร 4 ท่าน เริ่มตั้งแต่ มล-จิรวรรณ คำซาว และทีมเชียงดาว ที่จะมาเล่าเรื่องราวความสำคัญของธรรมชาติต่อผู้คน และเชียงดาวคลาสรูม วิถีท่องเที่ยวที่ต้องการสื่อสารเรื่องวิถีอนุรักษ์ธรรมชาติที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ตามติดมาด้วย แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ เมกอัปอาร์ตทิสต์ชื่อดังผู้ที่อีกด้านหนึ่งของชีวิตมีบทบาทในฐานะผู้บริโภคที่หลงไหลในธรรมชาติและวิถีชุมชน เธอจึงเลือกทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมชุมชนเล่าสู่โซเชียล และสร้างสวนดาดฟ้าใจกลางกรุงเพื่อยืนยันว่าธรรมชาตินั้นสร้างขึ้นได้อย่างไม่มีข้อจำกัด กิจกรรมอบรมครั้งนี้แพรี่พายจะมาอัปเดตเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่การสร้างสรรค์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งสองท่านนี้จะเป็นวิทยากรในวันแรก
กิจกรรมอบรมอีกหนึ่งวันนำโดย เชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ และ เชฟจิ๊บ กัญญารัตน์ ถนอมแสง เชฟมากฝีมือทั้งสองท่านแห่งร้านแก่น ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งชื่อดังของขอนแก่น ผู้จะมาเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบเมนูให้กับผู้ประกอบการ พอได้เมนูอาหารที่คิดค้นอย่างถี่ถ้วนแล้วก็ส่งต่อไปยัง กอล์ฟ-เอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์ ฟู้สไตล์ลิสต์ชื่อดังจาก Food and Tone ผู้นำความรู้ด้านศิลปะการจัดแต่งจานอาหารมาสอนให้กับเหล่าผู้ประกอบการ โชคดีที่กรีนเนอรี่ได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์และร่วมอบรมไปด้วยกราย ๆ จึงได้โอกาสนำมาเล่าสู่คุณฟัง
เปิดกิจกรรมวันแรก ด้วยการกล่าวต้อนรับอย่างอบอุ่นของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น พี่กิ๊บ-ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ที่ย้ำถึงความสำคัญของกิจกรรมนี้ว่า
“อุตสาหกรรมอาหารนั้นเป็นทั้งซอฟต์พาวเวอร์ และ ฮาร์ดพาวเวอร์ ของบ้านเรา และเชื่อมโยงอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทยเพื่ออยู่อาศัยและทำมาหากิน จึงอยากเชื่อมโยงเรื่องของอาหารไปสู่เรื่องสิ่งแวดล้อมว่าจะทำยังไงให้โดดเด่นในสังเวียนที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้ ที่ผานมาเราส่งเสริมมาหลายอย่างเช่น ข้าวอีสาน การพัฒนาโปรดักซ์อุตสาหกรรมจากการหมักดอง เช่น เรื่องราวของ ปลาส้มที่กลายไปเป็นซูชิของญี่ปุ่น เราอยากให้เวิร์กช็อปนี้นำไปต่อยอดงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่ต่อยอดแค่เรื่องค้าขายอย่างเดียว”
จบคำกล่าวทักทายจากพี่กิ๊บแล้ว กิจกรรม GOODy FOODy ก็เริ่มต้นขึ้น
เชียงดาวคลาสรูม ทริปท่องเที่ยวชวนเข้าใจธรรมชาติและความมั่นคงทางอาหาร
หลังแนะนำตัวกันเสร็จแล้ว มล-จิรวรรณ คำซาว และทีมเชียงดาว ก็เริ่มบอกเล่าเรื่องราวเส้นทางการทำงานในฐานะของผู้ที่ทำงานสนับสนุนชุมชนต้นน้ำว่า ก่อนหน้านี้เธอทำงานในสายธุรกิจ แต่ปัจจุบันคำว่าธุรกิขในมุมชีวิตนั้นคือ ธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Business)
“ทุกวันนี้คำว่า ‘ความยั่งยืน’ ถูกนำมาใช้กันเยอะมาก แต่พอหันกลับไปดูดี ๆ ก็ต้องถามว่า มันยั่งยืนจริง ๆไหม เพราะคามยั่งยืนจริง ๆ นั้น ใช้เวลามาก”
พอเล่าจบ เธอก็ฉายโมเดลเกี่ยวกับธุรกิจยั่งยืนให้ชมกันว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง ก่อนจะสรุปให้เข้าใจกันง่าย ๆ ว่า “ไม่ว่าธุรกิจขยับไปด้านไหน ถ้าโลกอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าธุรกิจของเราแก้ Pain Point ของโลกและผู้คนได้ นั่นแหละคือความยังยืนที่แท้จริง”
เธอก็ชี้ให้เห็นว่า ใน 17 ข้อของ SDGs Goal นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ฐานของทรัพยากรธรรมชาติ หากไม่สามารถรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ได้ เราก็จะขาดต้นทุนที่จะเชื่อมโยงไปสู่ความยั่งยืนในข้ออื่น ๆ ความยั่งยืนจะไม่เกิด
ต่อด้วยการเล่าเรื่องราวการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ให้เราฟังว่า พื้นที่เชียงดาวทำการอนุรักษ์มายาวนาน เพราะมีบรรพบุรุษเข้มแข็ง โดยเชื่อกันว่า บนยอดดอยแห่งนี้คนภาคเหนือจะเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของเจ้าหลวงคำแดง ผู้เป็นเทพของผีอารักษ์ล้านนาทั้งปวง ความเชื่อเรื่องนี้นำไปสู่การอนุรักษ์เพราะชาวบ้านจะไม่ขึ้นไปบนยอดดอยดังกล่าว เพราะจะถือว่าเป็นการเหยียบหัวผีหลวง นั่นทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่ถูกรุกล้ำ กลายเป็นการอนุรักษ์ไปในที จึงมีความอุดมสมบูรณ์สูงจนยูเนสโก้ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชีวมลฑลของโลก
ด้วยความที่เรียนจบด้านจุลชีววิททยามา มลชี้ให้เห็นว่าความหลากหลายนี้สังเกตได้จากเห็ดและราที่เกิดขึ้น เพราะเห็ดคือผู้ย่อยสลายให้ธาตุอาหารกลับสู่ดิน เธอเปรียบเปรยว่า เห็ด คือ ผู้ชุบชีวิตแห่งความตาย ถ้ามีเห็ดหลากหลาย แสดงว่าดินในพื้นที่นั้นมีชีวิต และอุดมสมบูรณ์ แล้วบอกถึงความสัมพันธ์ว่า เมื่อมีพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ แล้วมีชาวบ้านที่ดูแลป่า ก่อเกิดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและพรรณพืชในธรรมชาติ ก็นำไปสู่การก่อเกิดแหล่งน้ำ
เพราะมองว่าลำพังงานอนุรักษ์ที่ทำอยู่นั้นจะครบลูปได้ ก็ต่อเมื่อก่อเกิดผู้บริโภคแนวใหม่ที่มีหัวใจเดียวกัน เข้าใจ และตระหนัก รักในธรรมชาติ ร่วมกันส่งต่อเรื่องราวดี ๆ จึงเกิดทริปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าชุมชน บ้านหัวทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่บริเวณเชิงดอยหลวงเชียงดาว ให้นักท่องเที่ยวได้มาเวิร์กช็อปสัมผัสความสมบูรณ์ของธรรมชาติ มาอยู่มากินให้อินไปกับวิถีการดำรงอยู่ที่สอดคล้องไปกับวิถีอนุรักษ์ ในชื่อทริป “เชียงดาวคลาสรูม”
“การมาร่วมเวิร์กช็อปกับเราเป็นการเกิดใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว ให้มาเชื่อมโยงธรรมชาติกับเซนส์ทั้งห้าของเราอีกครั้ง การอยู่กับป่ามีความ Grounding ค่ะ นักท่องเที่ยวที่มาจะได้สัมผัสกับสิ่งนี้ ชวนเดินป่าเท้าเปล่าให้ได้รับพลังจากดินจากธรรมชาติ อาบป่า อาบน้ำตก ที่มาจากแหล่งต้นน้ำ และนำน้ำจากแหล่งต้นน้ำมาชงกาแฟ ชงชา ที่ปลูกในพื้นที่ เพื่อสัมผัสรสชาติบริสุทธิ์ที่แตกต่างของน้ำจากแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำปิง มันคือ Life Save ดื่มแล้วรู้สึกถึงธรรมชาติ
“กลายเป็นกิมมิก ที่เวลานักท่องเที่ยวมาเขาจะได้สัมผัสเชื่อมโยงไปถึงเบื้องหลังความอร่อยของวัตถุดิบอาหารที่ป่ามอบให้ พูดง่าย ๆ คือ เราเอาธรรมชาติมาเป็นหัวใจของการท่องเที่ยว เชื่อมโยงทั้ง ป่า น้ำ นา วัตถุดิบพื้นถิ่นที่มีคุณค่าทั้งต่อพื้นที่ ผู้คน และคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่าผักไร่ที่ขายกันในตลาดทั่วไป เช่น ผักผักกาดย่า มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูงกว่าผักทั่วไปถึง 20 เท่า”
มลเล่าว่า การได้มาสัมผัสพลังจากดินนั้นเป็นการเติมประจุลบให้กับร่างกาย เพราะชีวิตคนเมืองได้รับประจุบวกจากสภาพแวดล้อมที่เป็นตึกสูงทำให้เกิดความเครียด การที่ได้มาอาบป่าจะช่วยปรับสมดุลของประจุไฟฟ้าในกาย ให้ประจุลบจากธรรมชาติมาดึงประจุบวกออก และทำให้เกิดการผ่อนคลาย
“เมื่อคนได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เราจะเข้าใจว่า ธรรมชาติคืออะไร มันจะลดอัตตาของเรา และก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น”
เรื่องเล่าจากผู้ร่วมทริป ผู้บริโภคที่ได้เกิดใหม่จากเชียงดาวคลาสรูม
เรื่องที่มลเล่ามา ถูกขยายความเพิ่มจากนักท่องเที่ยวผู้มีประสบการณ์จริงกับทริปนี้ นั่นก็คือ แพร-อมตา จิตตะเสนีย์ นักท่องเที่ยวรุ่นบุกเบิกที่ทุกวันนี้กลายเป็นผู้บริโภคที่มีความเข้าใจในประเด็นเรื่องการอนุรักษ์และช่วยทำการสื่อสารเรื่องราวของชุมชนผ่านช่องทางสื่อออน์ไลน์ของเธอ
แพรี่พายเรียนจบด้านออกแบบการแสดงมาจาก เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ติน หรือ CSM มหาวิทยาลัยด้านการออกแบบและศิลปะชื่อดังระดับโลกแห่งลอนดอน และทำงานเป็นบิวตี้กูรู และเมกอัปอาร์ตทิสต์ออกแบบการแต่งหน้าในแวดวงแฟชั่นระดับโลกมาอย่างยาวนาน แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงในอาชีพนี้แต่พอเริ่มถึงจุดหนึ่งเธอก็เริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า ความต้องการในชีวิตที่แท้จริงของเธอนั้นคืออะไร การมาร่วมทริปเชียงดาวคลาสรูม ทำให้เธอได้คำตอบ
เธอเล่าว่าตอนที่ไปเยือนครั้งแรก ด้วยความเป็นคนเมืองเธอรู้จักผักแค่ไม่กี่ชนิด รู้สึกขยาดหน่อย ๆ กับการดื่มน้ำจากต้นน้ำจริง ๆ ในช่วงแรก ๆ แต่ไม่นานพอเริ่มปรับตัวได้และเข้าใจในสิ่งที่คลาสนี้กำลังสื่อสาร มันทำให้เธอท่องเที่ยวได้สนุกและแนบเนียนไปกับวิถีธรรมชาติและผู้คนอย่างแท้จริงและได้ค้นพบตัวตน ทั้งยังได้นำเอาความรู้ทักษะด้านการแต่งหน้าและแฟชั่นของเธอมาใช้ต่อยอดให้กับวัตถุดิบธรรมชาติอย่างน่าสนใจ และอินจัดเลยเถิดไปถึงการสร้างสวนป่าอาหารบนดาดฟ้ากลางกรุงเทพฯ หลังกลับมาจากทริปนี้
“ไม่เคยรู้เลยค่ะว่า ดอกเอื้องผึ้ง ดอกเสี้ยว นั้นกินได้ เราได้เห็นวัตถุดิบธรรมชาติหลายชนิด ได้ลิ้มลอง แล้วพืชพรรณที่นี่มีมาก แม้แต่ผักที่เพาะปลูกก็ปลูกแบบธรรมชาติ ก่อนส่งต่อให้คน และสัตว์เลี้ยงที่ได้กินผักธรรมชาติ เราคิดว่าวัตถุดิบอาหารจากธรรมชาติเหล่านี้น่าจะต่อยอดได้ เพราะเรามองเห็นสีสันที่สวยงามจากธรรมชาติ แพรคิดว่าถ้านำสีสันเหล่านี้มาใช้ต่อยอดให้กับงานออกแบบทั้งเสื้อผ้า การแต่งหน้า หรือแม้แต่อาหาร มันจะทำให้การออกแบบเหล่านั้นเชื่อมโยงกับคำว่ายั่งยืนอย่างจริง เพราะต้นน้ำของวัตถุดิบมันบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากสารเคมี ชาวบ้านเก็บเมล็ดพันธุ์พืชมาปลูกต่อเอง”
จากความประทับใจนี้ เธอจึงเริ่มทดลองเอาพืชพรรณเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องสำอางแบบธรรมชาติ นำเอาน้ำจากต้นน้ำมาทำสเปรย์ฉีดหน้าแทนน้ำแร่ และเริ่มอินกับสีสันจากธรรมชาติ เธอจึงเริ่มออกเดินทางเพื่อเรียนรู้การใช้สีสันจากธรรมชาติมาย้อมสีผ้าตามแหล่งผลิตผ้าพื้นบ้านต่าง ๆ ของไทย
“เราอยู่เมืองนอก ทำงานแฟชั่นมานาน แต่กลับมาเมืองไทยแล้วเรายังไม่รู้เลยว่า ที่บ้านเรามีปราชญ์ชาวบ้านเก่ง ๆ ที่นำเอาสีสันจากธรรมชาติมาย้อมผ้า และสีธรรมชาติเหล่านั้นมันก็สวยงามเป็นเอกลักษณ์ หลังจบคลาสเชียงดาว ก็เลยเริ่มออกตามหาแหล่งผลิตผ้าที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติและได้พูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นทั้งศิลปินและปราชญ์ ผ้าหนึ่งผืนจึงนำไปสู่การเรียนรู้วัฒนธรรมและสีสันจากธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ผ้าภูอัคนี ที่ต้องใช้ดินมาย้อม ตอนที่ตามแม่ ๆ ไปเก็บดินมาย้อมผ้า เขาจะสอนว่า เราต้องเก็บดินอย่างระวัง เพื่อไม่ให้มันไปกระทับกับรากไม้และรังปลวกระหว่างดิน ระหว่างทางไปกลับเพื่อเก็บดิน ชาวบ้านยังเก็บของป่าที่กินได้ติดกลับมาด้วย เราจึงเห็นความใส่ใจในการดำรงอยู่อย่างพึ่งพากันของคนและธรรมชาติ และตระหนักว่า นี่แหละคือความยั่งยืน”
ระหว่างบอกเล่าเรื่องราว แพรรี่พายยังได้โชว์สีสันจากธรรมชาติในเฉดโทนต่าง ๆ ทั้งจากภาพสไลซ์ และจัดนิทรรศการย่อม ๆ บริเวณด้านหน้าคลาส แสดงผลงานศิลปะจากสีสันธรรมชาติที่เธอรวบรวมมาให้ดูว่า สีจากธรรมชาตินั้นสวยงามเพียงได้ เราได้เห็นทั้งเส้นไหมย้อมสีฟ้าสวยจากคราม ผ้าธรรมชาติสีส้มจากเมล็ดดอกคำไทย สีแดงจากครั่ง สีเขียวจากใบไม้ ฯลฯ
หั่น ตำ ต้ม สกัดสีจากธรรมชาติกัน
พอผู้เข้าอบรมได้เข้าใจและอินไปกับสีสันจากธรรมชาติแล้ว ช่วงบ่ายก็ได้ทำเวิร์กช็อปสกัดสีสันจากธรรมชาติกัน โดยแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็นสี่กลุ่ม เพื่อช่วยกันสกัดแม่สีหลัก และสีรอง จากวัตถุดิบธรรมชาติ ตั้งแต่สีเหลืองจากดอกดาวเรือง ทองอุไร ขมิ้นชัน สีเขียวจากใบเตย ใบคะน้า ก้านคะน้า สีแดงอมชมพูจากบีตรู้ต ดอกเฟื่องฟ้า สีน้ำเงินจากดอกอัญชันแห้ง แต่ละวัตถุดิบที่นำมาสกัดสีจะมีกรรมวิธีแตกต่างกันไป บ้างต้ม บ้างตำคั้นน้ำ ผู้ประกอบการก็ลงมือทำสนุกกันใหญ่ พอได้แม่สีครบแล้ว ก็ลองนำมาเพนต์ลงบนกระดาษ บนตารางสี เรียงลำดับจากสีขั้นที่หนึ่ง หรือแม่สี แล้วก็ทดลองนำแม่สีมาผสมกัน ได้เป็นสีขั้นที่สอง สนุกไปกว่านั้นคือการใช้กรดด่างใส่ผสมลงไปจะทำให้แม่สีเปลี่ยน เช่น สีน้ำเงินจากอัญชัน เมื่อถูกกรดจะกลายเป็นสีม่วง แต่พอใส่ด่างลงไปจะกลายเป็นสีฟ้าอมเขียวนิด ๆ เหมือนเทอร์ควอซ์
หลังจบการเวิร์กช็อป ทั้งมลและแพรรี่พายก็สรุปเนื้อหาอีกครั้ง รวมถึงส่งพลังใจให้ผู้ประกอบการเชื่อมมั่นในการทำให้สินค้าของพวกเขาดีต่อโลก เป็นอันปิดจบเวิร์กช็อปวันแรก โดยผู้ประกอบการที่เข้าอบรมก็จะเริ่มได้ไอเดียเกี่ยวกับการสกัดสีสันจากธรรมชาติ ได้รู้จักวิธีดึงโทนสีมาใช้ นำไปสู่กระบวนการออกแบบทั้งสีสันธรรมชาติที่จะใส่ลงไปในสินค้าอาหารที่ออกแบบขึ้น รวมไปถึงการดึงเฉดสีเหล่านั้นมาเป็นมู้ดแอนด์โทนในการออกแบบหน้าตาของสื่อที่จะใช้สื่อสารแบรนด์ของพวกเขา
ออกแบบเมนูอย่างเทพ จัดแต่งอย่างมีสไตล์ ไปกับมืออาชีพ
ถัดจากการอบรมวันแรก การอบรมวันที่สองนี้จัดขึ้นที่ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในพื้นที่ห้องปฏิบัติการอาหาร ที่มีเครื่องมือเครื่องไม้ปรุงอาหารอย่างครบครัน พร้อมทั้งบุคลากรประจำคณะที่คอยอำนวยความสะดวก
กิจกรรมวันนี้แบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ การสอนให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจเรื่องการจัดแต่งอาหารเพื่อสื่อสาร โดยฟู้ดสไตล์ลิสต์ชื่อดัง กอล์ฟ-เอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์ แห่งฟู้ดแอนด์โทน ผู้อยู่เบื้องหลังภาพอาหารงาม ๆ ในภาพถ่ายอาหารเพื่อการโฆษณาในไทยและต่างประเทศ คุณกอล์ฟได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการออกแบบหน้าตาอาหาร การเลือกสีสัน การจัดวาง การออกแบบมู้ดแอนด์โทน ที่จะสื่อสารให้สินค้าอาหารนั้นตรงกับบุคลิกของแบรนด์ ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้า
ถัดจากอบรมเรื่องสไตล์กันไปแล้ว ก็ต่อด้วยการพูดคุยถึงเมนูอาหาร เครื่องดื่ม ที่เหล่าผู้ประกอบการคิดค้นขึ้น ว่าควรจะออกแบบอาหารแบบใดให้ดึงดูดใจต่อผู้ซื้อ และจะนำสีสันจากธรรมชาติมาเติมแต่งอย่างไรให้น่าสนใจ โดยมี เชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ และ เชฟจิ๊บ กัญญารัตน์ ถนอมแสง เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำจนแต่ละคนเกิดไอเดีย และทดลองปรุงแต่งอาหารเครื่องดื่มเหล่านั้นขึ้นมาจริง ๆ
เมื่ออาหารปรุงเสร็จ ก็มาออกแบบหน้าตาการจัดแต่งร่วมกันกับสไตล์ลิสต์อีกครั้ง กอล์ฟและทีมช่างภาพยังช่วยจัดแต่งอาหารถ่ายภาพให้ออกมาสวยงามและตรงกับมู้ดแอนด์โทนที่ผู้ประกอบการแต่ละคนอยากได้ เป็นอันสิ้นสุดกิจกรรมบ่มเพาะผู้ประกอบการ GOODy FOODy ที่ส่งเสริมการออกแบบสินค้าของแบรนด์ให้นำไปสู่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
กรีนเนอรี่นำหน้าตาอาหารสวย ๆ มาฝากกัน ตั้งแต่ข้าวมันเนื้อโคขุน โยเกิร์ตจากดอกบัว บันเบอร์เกอร์และคุกกี้ที่ใช้สีสันจากธรรมชาติมาแต่งแต้ม จานสลัดและน้ำสลัดออร์แกนิกแสนน่ากิน ถั่วแปบโบราณที่อยากมีความร่วมสมัย เครื่องดื่มชวนดื่ม และไอศกรีมน่ากิน จากน้ำผึ้งของฟาร์มผึ้ง แต่จะไม่ขอสปอยเรื่องรสชาติและความอร่อย เพราะอยากให้ท่านได้ไปลิ้มลองในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566 ที่ขอนแก่นกันด้วยตัวเอง
โดยสิ้นค้าทั้งหมดจะมีวางขายในพื้นที่ “ตลาดดีคัก” ตั้งแต่วันที่ 1-9 เมษายน 2566 นี้ หรือใครจะไปฟังการนำเสนอเมนูจากผู้ประกอบการในโครงการ GOODy FOODy พร้อมกับวิทยากรที่มาร่วมให้ความรู้ในโครงการไปพร้อมกัน ก็ไปร่วมฟังได้ในเทศกาลอีสานสร้างสรรค์วันที่ 2 เมษายน เวลา 13.00 น.-15.00 น. นี้ได้เลย
ขอขอบคุณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ TCDC ขอนแก่น เอื้อเฟื้อความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูล
ภาพ: TCDC Khon Kaen