เป็นการกลับมาอีกครั้งสำหรับเวทีทอล์ก ปีที่ 5 ของ Greenery. ด้วยความตั้งใจที่จะส่งต่อข้อมูลความรู้ แนวคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจ ด้านการบริโภคที่ยั่งยืนและการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านเวที “Greenery Talk 2023: Green Normal ธรรมชาติ ธรรมดา” ปีนี้เราชวน 10 สปีกเกอร์ที่มีเรื่องราวและแง่มุมชวนติดตาม มาร่วมส่งต่อแรงบันดาลใจดี ๆ ที่สะท้อนความ “ธรรมชาติ ธรรมดา” ซึ่งสอดแทรกอยู่ในแนวคิด วิถีชีวิตที่ตั้งอยู่บนหลักความยั่งยืน และความเชื่อที่ว่า พลังเล็ก ๆ นั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ได้หากเราร่วมมือกัน

“Greenery Talk” ครั้งนี้เป็นไปด้วยบรรยากาศเป็นกันเองของผู้คนที่มีหัวใจปรารถนาดีต่อโลก และอิ่มล้นไปด้วยพลังแรงบันดาลใจดี ๆ ที่จะทำให้เห็นทางเลือกดี ๆ ในการเข้าถึงอาหารปลอดภัยและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งสำหรับใครที่พลาดโอกาสฟังสด ๆ ในงาน ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 เราได้เก็บความกินดี กรีนดี จากสปีกเกอร์ทั้ง 10 ท่าน มาสรุปไว้ให้ในบทความนี้อย่างครบครัน

ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery. กล่าวถึงธีมทอล์กของปีนี้ที่ว่ากันด้วยเรื่อง “ธรรมชาติ ธรรมดา” ที่ตั้งใจชวนให้ผู้คนคนได้ตระหนักในเรื่องของการกินอาหารและการใช้ชีวิตที่ปกติ กินอะไรที่ไม่เป็นมลพิษต่อโลกและต่อสุขภาพของตัวเอง รวมถึงหันมาใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายของ Greenery. ที่นำเสนอเรื่องราว Eat Good, Live Green, Clean Power ส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านคอนเทนต์ออนไลน์และกิจกรรมออฟไลน์หลากหลาย อาทิ ตลาดสีเขียว Greenery Market เว็บไซต์และเพจ Greenery. ที่นำเสนอความรู้และเรื่องราวความเคลื่อนไหวต่าง ๆ Greenery Workshop ที่ชวนมาเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ไปจนถึงสมาชิกกลุ่ม Greenery Challenge คอมมูนิตี้ที่แชร์วิธีทำและแรงบันดาลใจในการดูแลโลก

ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ส่วนไหนของวัฏจักร ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้

ศศวรรณ จิรายุส  ผู้บริโภคสาย (พยายาม) กรีนเท่าที่ไหว จะได้กรีนไปนาน ๆ

การที่เราพยายามทำอะไรมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง หรือทุกครั้งที่เรารู้สึกสบายน้อยลง นั่นคือทุกอย่างที่เราทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น

ในฐานะผู้บริโภคอย่าง ศศวรรณ จิรายุส ซึ่งเคยทำงานออแกไนซ์ด้านบันเทิง วันหนึ่งเธอหันมาทำงานทางธรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ และได้เห็นพร็อพต่าง ๆ อาหารบุฟเฟ่ต์เหลือทิ้ง ขยะพลาสติกมากมายในการจัดงานบุญ พร้อมกับภาพข่าวสัตว์น้อยใหญ่ที่ตายเพราะเศษขยะพลาสติก สู่การตั้งเกิดคำถามกับตัวเองว่า ทุกครั้งที่เราจัดงานบุญ ผลบุญของเรากลายเป็นขยะ

เธอจึงตั้งใจปรับวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งอยู่บนความยืดหยุ่นและความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ได้ในสักวัน รวมถึงชวนคนที่มาสวนโมกข์เข้าสู่สายกรีนด้วยการเปลี่ยนจากแจกน้ำขวดพลาสติกเป็นคูลเลอร์น้ำถังใหญ่ เปลี่ยนถ้วยโฟมเป็นภาชนะที่สามารถล้างเก็บได้ สร้างพื้นที่ล้างจานในสวนโมกข์ และเปลี่ยนการถวายน้ำขวดให้พระคุณเจ้าเป็นกระติกน้ำและปิ่นโตกับข้าว
ไปจนถึงครั้งจัดงานแต่งของตัวเอง ศศวรรณเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ วัสดุธรรมชาติ มีปิ่นโตเป็นของชำรวย ทุกคนสามารถใช้เป็นภาชนะตักอาหารหรือใส่อาหารกลับบ้านได้ รวมถึงปลูกต้นไม้แทนตัดเค้ก และในช่วงโควิด 19 ก็ยิ่งเข้าวงการกรีนมากยิ่งขึ้น มีเวลาใส่ใจสุขภาพ สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เท่ากับช่วยสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าเกษตรทั้งวงจร พร้อมกับก้าวต่อไปอยากชวนทุกคนมาทำ “สังคมรมณีย์” เริ่มที่ตัวเราและค่อยขยับสู่ชุมชน ก็คือ หนึ่งการลดขยะ สองการกินดีอยู่ดี สามการสนับสนุนผู้ผลิตและเราก็จะเป็นผู้บริโภคที่ดี

วานิชย์ วันทวี เกษตรกร ผู้ก่อตั้ง ‘ว.ทวีฟาร์ม’ ฟาร์มปศุสัตว์วิถีไบโอไดนามิกส์ครบวงจร

เราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ เราทุกคนสามารถดูแลรักษาปกป้อง พัฒนาเพื่อลูกหลานเราได้ เพราะเรา เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ที่ต้องดำรงอยู่และอาศัยซึ่งกันและกัน และเกื้อกูลกันบนโลกใบนี้

ข้อความนี้เป็นประโยคเริ่มต้นทอล์กที่ชวนสะกิดใจของวานิชย์ วันทวี หรือ หมอฟิวส์ อดีตสัตวบาลที่เบนทิศทางของตัวเองมาสู่การเป็นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ ในอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ผู้เดินทางไปหลากหลายพื้นที่ เพื่อพบปราชญ์เชี่ยวชาญทั่วประเทศ และตามหาทรัพยากรท้องถิ่นในการพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์ ให้กลายเป็นฟาร์มที่ผลิตเนื้อสัตว์คุณภาพ และทุกขั้นตอนการผลิตต้องดูแลโลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคนกินอย่างแท้จริง พร้อมกับหวังจะสร้างต้นแบบให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากกับดักการผลิต ที่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงพอ จนได้มาพบเจอกับการทำเกษตรในระบบไบโอไดนามิก พื้นฐานการผลิตอาหารที่นำไปสู่ความยั่งยืน ว.ทวีฟาร์ม จึงถูกออกแบบให้ระบบนิเวศดูแลกันเอง และเหล่าสัตว์ในฟาร์มทุกตัวได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ เป็นเหมือนพนักงานที่ต่างก็มีบทบาทหน้าที่

ตลอด 10 ปี หมอฟิวส์ได้คำตอบที่แน่ชัดกับตัวเองว่า ในธรรมชาติมีอาหารและยา สัตว์ทุกตัวรู้ดีที่สุดว่าจะนำมารักษาตัวเองยังไง หน้าที่ของเจ้าของฟาร์มคือจัดการธรรมชาติให้สอดคล้องกับพวกเขา ไม่จำเป็นต้องฉีดยาปฏิชีวนะให้สัตว์ที่อาจกลายเป็นอาหารของผู้คน และสิ่งสำคัญคือดินที่ดีจะนำไปสู่สุขภาพที่ดี

แนวคิดของ ว.ทวีฟาร์ม เป็นอีกต้นแบบดี ๆ ที่กำลังบอกเราว่า คนต้นน้ำไม่ใช่แค่ผลิตอาหาร ขายได้กำไรแล้วจบ แต่คือการผลิตอาหาร ที่เกิดความยั่งยืนทั้งดินที่เราปลูก พื้นที่ที่เราอยู่ อาหารที่เรากิน อีกทั้งการผลิตในแนวทางนี้ยังช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในเรื่องการซื้ออาหารน้อยลง เกิดความมั่นคงทางอาหาร และสำคัญคือเราได้ป่า ช่วยดูแลรักษาโลกต่อไปให้ถึงลูกหลาน

ผศ.ดร. ธัญศิภรณ์ ณ น่าน อาจารย์และนักพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ PGS น่าน

การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์รูปแบบ PGS ความสำคัญอยู่ที่การดำเนินการทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การตลาด การจัดการ และการผลิต สามารถช่วยเกษตรกร ช่วยสุขภาพผู้บริโภค และช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่อง

ความตั้งใจในการทำงานตั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำของ ผศ.ดร. ธัญศิภรณ์ ณ น่าน หรืออาจารย์ติ๊ก ผู้ลงลึกทำงานกับเกษตรกรมาร่วม 10 ปี และมองเห็นเสน่ห์ของวิถีเกษตรอินทรีย์ว่าช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง อินสไปร์เราเป็นอย่างมาก เธอคนนี้อาศัยถิ่นเกิดจังหวัดน่านเป็นต้นแบบของการทำเกษตรแบบอินทรีย์ เนื่องจากเห็นว่าเกษตรกรในน่านใช้ทุกพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพด มุ่งหวังรายได้ และผลผลิตในพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวนั้นเต็มไปด้วยสารเคมี แต่ลืมมองระหว่างทางว่าต้องใช้ต้นทุน ท้ายสุดเมื่อเก็บเกี่ยวและขายก็แทบไม่เหลือรายได้ ทำให้เกิดการกู้ยืมเป็นวัฏจักรซ้ำ ๆ ทำให้เกิดภาพเกษตรกรที่ “ยิ่งทำยิ่งยากจน”

และอีกสิ่งสำคัญ เมื่อทำเกษตรแบบทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ย่อมเกิดผลกระทบทางธรรมชาติตามมา ซึ่งอาจารย์ติ๊กเชื่อว่า เกษตรอินทรีย์ PGS (Participatory Guarantee Systems หรือการรับรองการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม) ไม่ได้เป็นแค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อคนใช้พื้นที่น้อยลง พื้นที่ป่าก็เพิ่มมากขึ้น

เธอเริ่มต้นทำงานกับกลุ่มชาวนาโรงสีข้าวพระราชทานฯ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ภายใต้เงื่อนไขคือ ห้ามใช้สารเคมีและห้ามเผา เพื่อช่วยกันลดปัญหาหมอกควัน ก่อนจะต่อยอดสู่พื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ในจังหวัดน่าน โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน อาทิ เลมอนฟาร์ม สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. เป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในทุกด้าน โดยมีระบบ PGS เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ตลาดถึงการผลิตของเกษตรกร จนเห็นการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรในทางที่ดีขึ้น ทั้งรายได้ที่มากขึ้น พื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้เห็นทางรอดของการผลิตอาหารที่สะอาด คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนเมืองน่าน

และอาจารย์ติ๊กก็ยังหวังว่ากลไกนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดน่านเพิ่มขึ้น รวมถึงในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเธอเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ถ้าทุกคนช่วยกัน

สรณัญช์ ชูฉัตร ผู้ก่อตั้ง บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนตามแนวทาง SDGs

บริษัทจะไปได้ดีแค่ไหน แต่สิ่งที่เราจะไม่ลืมคือความหวังที่ต้องการสร้างโลกที่ดีขึ้น เราจะเป็น Land of Sustainability  ดินแดนที่เอื้อให้ทุกคนในประเทศมาทำธุรกิจที่ยั่งยืน ใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

เอิร์ธ-สรณัญช์ ชูฉัตร บอกว่า ถ้าไปด้วยกันไปได้ไกล แต่ถ้าไปมอเตอร์ไซค์เร็วกว่า เอิร์ธมีความฝันที่อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดียิ่งขึ้น ความฝันของเขาเกิดเป็นรูปเป็นร่าง สิ่งนั้นคือนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ที่ไม่สร้างมลพิษทางอากาศและมลพิษเสียง มันเกิดขึ้นทั้งที่เขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับยานยนต์ใด ๆ ผ่านการเรียนรู้และทดลองซ้ำ ๆ แต่ไม่ล้มเลิกเพื่อทำให้โลกดีขึ้น จนออกมาเป็น “ETRAN” ภายใต้แนวคิด Drive The Better World นอกจากนี้ ETRAN PROM รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะคันแรกของโลก ได้รับรางวัล “Reddot Winner 2020 Innovative Product” จาก Red Dot Design Award

ขณะเดียวกัน แม้วันนี้รถอีทรานจะวิ่งไปหลายสิบล้านกิโล ลดการปล่อยคาร์บอนไปหลายร้อยตัน แต่เอิร์ธบอกว่าภารกิจสำคัญเพิ่งเริ่มต้นแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของจุดใหญ่ คือการมองไปถึง supply chain ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ผลิตทุกคนสะอาดมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยสามารถทำอุตสาหกรรมที่สะอาดได้ไหม นั่นคือก้อนน้ำแข็งที่ยังอยู่ใต้น้ำ ที่เขาอยากเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

“จากคำนิยามประเทศไทยที่ว่า Land of Smiles เราจะเป็น Land of Sustainability ดินแดนที่เอื้อให้ทุกคนในประเทศ มาทำธุรกิจที่ยั่งยืนด้วยกัน” และเอิร์ธเชื่อสุดใจว่าเป็นไปได้ ดั่งบทพิสูจน์ของรถอีทรานที่เริ่มต้นจากกลุ่มคนธรรมดา ไม่ได้เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ แต่มีความฝันอยากจะใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นพลังงานแห่งอนาคต ที่เป็นจริงแล้วในวันนี้

ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ เกษตรกรและผู้ก่อตั้ง ไร่รื่นรมย์

ทุกอย่างเริ่มต้นจาก small changes เกิดขึ้นจากความร่วมมือ เริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะเมื่อทุกอย่างกลับคืนดีกลับแล้ว คนกลับคืนดีกับคน คนกลับคืนดีกับธรรมชาติ ทุกอย่างจะรื่นรมย์

“ไร่รื่นรมย์” คือฟาร์มสเตย์และคาเฟ่อินทรีย์ของ เปิ้ล-ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ เด็กในเมืองกรุงไปเมืองนอก แล้วสุดท้ายกลับมาเป็นเด็กนอกเมือง พลิกผืนดินว่างเปล่าให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรเชิงสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ที่เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้คนสามารถเข้าถึงวิถีอินทรีย์แนวใหม่ ด้วยการดึงเอาวัตถุดิบธรรมชาติ หนึ่งในความธรรมดาของชีวิต ให้ทุกคนสามารถมากิน มาอยู่ มานอน และได้มีโอกาสมาสัมผัสธรรมชาติธรรมดา ๆ

ซึ่งทุกพื้นที่ในไร่รื่นรมย์ของเธอนั้นใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ปราศจากมลพิษ มากกว่านั้นไร่ผืนนี้ไม่ได้แค่เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างเดียว แต่เพิ่มคุณค่ามากยิ่งขึ้นด้วยการร่วมมือกับเครือข่ายหลายภาคส่วน เช่น สวรรค์บนดิน แปรรูปจิงจูฉ่ายให้เป็นรูปแบบผงชาเขียวที่ไม่มีคาเฟอีน หรือทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย เกิดสารสกัดจิงจูฉ่าย เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นการพัฒนาวิถีเกษตรปลอดสารเคมี ที่สร้างทั้งสุขภาพที่ดีให้กับคนกิน สร้างรายได้เสริมให้กับคนปลูก

และท้ายสุด เปิ้ลเชื่อว่าทุกอย่างเริ่มต้นจาก small changes เกิดขึ้นจากความร่วมมือ เริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะเมื่อทุกอย่างกลับคืนดีกลับแล้ว คนกลับคืนดีกับคน คนกลับคืนดีกับธรรมชาติ ทุกอย่างจะรื่นรมย์ เป็นรูปแบบของธุรกิจกรีน ๆ ที่มีแต่ได้กับได้ทั้งเราและโลก

ชณัฐ วุฒิวิกัยการ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ‘KongGreenGreen’ และผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก แยกขยะกันเถอะ

เราไม่สามารถอยู่ในเมืองที่ไม่แยกขยะได้ และการรักษ์โลกไม่สามารถทำได้แค่คน ๆ เดียว แต่เป็นงานกลุ่มที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำ เราถึงจะได้โลกที่ดี บ้านเมืองที่สะอาด น้ำที่สะอาด อาหารที่ปลอดภัย

หลายคนคงคุ้นหน้าตากันดีกับ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ เจ้าของช่อง ‘KongGreenGreen’ อินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อมใน TikTok ที่เพิ่งได้รับรางวัล The Best Green Change Maker Influencer จาก Thailand Influencer Awards 2021 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงทดลองถ่ายทอดเรื่องราวธรรมดา ๆ อย่างการจัดการขยะให้เป็นคลิปสั้น ๆ แต่ยิ่งค้นหาคำตอบเรื่องขยะในไทย ก็ได้เจอสิ่งที่แน่ใจมาก ๆ ว่าเราไม่สามารถอยู่ในเมืองที่ไม่แยกขยะได้

บวกกับพบว่าประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและสถานีถ่ายขยะมูลฝอยถึง 2,274 แห่ง และกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้อง 1,891 แห่ง (ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์มลพิษปี 2563) ทำให้เห็นภาพใหญ่ว่า หากทุกคนทิ้งขยะโดยไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง นานวันภูเขาขยะลูกใหญ่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการจัดการขยะอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

KongGreenGreen จึงหยิบเอาเรื่องขยะมาเป็นคอนเทนต์ ตั้งแต่วิธีการแยกขยะ การล้างกล่องนม การนำหนังยางรัดถุงแกงกลับมาใช้ซ้ำ สิ่งไหนรีไซเคิลได้บ้าง และควรส่งไปไหนต่อ จนทุกวันนี้มีผู้ติดตามนับแสนรายใน TikTok มียอดคนดูกว่า 20 ล้านวิว เป็นสัญญาณที่ดีว่ามีคนในสังคมสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และกำลังพาขยะให้เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์เช่นเดียวกับเขา

สุภิสาข์ มัยขุนทด ผู้สร้างพื้นที่เรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ สวนเพชร เกาะอินทรีย์วิถีไทย

เรามีความฝันอยากสร้างสังคมอาหารปลอดภัยของไทยให้เข้มแข็งและเปิดกว้าง ด้วยการเชื่อมโยงคนปลูกและคนกินให้เข้าใจกัน

จากความเหน็ดเหนื่อยกับการงานในเมืองใหญ่ และอยากกลับบ้านไปดูแลครอบครัว ทำให้สุภิสาข์ มัยขุนทด หันกลับมาหาการเกษตร ซึ่งเป็นต้นทุนดั้งเดิมของบ้านอีกครั้ง ทั้งที่ไม่มีพื้นความรู้ด้านการเกษตรมาก่อน อาศัยเพียงการเรียนรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อและปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญ มาปรับปรุงสวนเกษตรเดิมของพ่อ ผสานกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เกิดเป็น “สวนเพชร เกาะอินทรีย์วิถีไทย” ที่รอดผ่านวิกฤติด้านเศรษฐกิจและการเมืองมาได้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการผลิตเพื่อบริโภคใช้สอย เหลือแล้วจึงนำออกจำหน่ายเป็นเมนูสุขภาพ สร้างรายได้ ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุน เช่น แก้ปัญหาของขยะอินทรีย์หรือขยะเศษอาหารด้วยหนอน แล้วนำมูลหนอนกลับไปทำปุ๋ย หรือแม้กระทั่งตัวหนอนก็สามารถนำไปเลี้ยงกบเลี้ยงปลาในสวน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนรายจ่ายทางด้านอาหารสัตว์ และเป็นผู้ช่วยย่อยขยะอินทรีย์ชั้นดี ไม่ทำให้เกิดมลภาวะที่เป็นต้นทางของการก๊าซเรือนกระจก

สุภิสาข์ไม่ได้ทำท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างเดียว แต่ยังต้องการสร้างสังคมอาหารปลอดภัยของไทยให้เข้มแข็งและเปิดกว้าง ด้วยการเชื่อมโยงคนปลูกและคนกินให้เข้าใจกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จะเป็นการช่วยตัดระบบคนกลางได้อัตโนมัติ นั่นเป็นความหวังที่สุภิสาข์ ที่เธอคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากเกินความพยายาม หากทุกคนมาเดินไปด้วยกัน

ชารีย์ บุญญวินิจ Earth Creator และผู้บุกเบิก ฟาร์มลุงรีย์

ผมเป็นเป็ดน้อยที่เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็ดที่ทำอะไรไม่ค่อยจะได้เรื่องสักเท่าไร มีหน้าที่เดียวคือการพิสูจน์ ทำให้สำเร็จ กับความตั้งใจทำงานให้เกิดสิ่งใหม่ ที่มีค่าต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมต่อไป

หลายคนรู้จักเขาดีในนาม ‘ลุงรีย์’ ผู้สร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องเกษตรในเมืองย่านเพชรเกษม 46 ที่ยืนระยะมานับ 10 ปี เป็นพื้นที่อัดแน่นด้วยความรู้การเกษตร มีมุมเลี้ยงสัตว์ ห้องเพาะเห็ด คอนโดฯ ไส้เดือน ครัวอาหาร ร้านขายของออร์แกนิก และพื้นที่สำหรับเวิร์กช็อป ที่มาจากโจทย์ง่าย ๆ คำเดียว คือ “ดิน” ลุงรีย์ หรือ ชารีย์ บุญญวินิจ จึงได้นิยามตัวเองว่า กำลังทำธุรกิจสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากดิน ภายใต้ตำแหน่ง Earth Creator หรือนักสร้างดิน ซึ่งตลอดการทำฟาร์ม ลุงรีย์ได้ออกไปสนุกนอกฟาร์มจนลืมหันมามองคนใกล้ตัว จึงหันกลับมาเป็นต้นกล้าชุมชน คือการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงชุมชนรอบตัวไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋าจากกระสอบดินที่ลุงรีย์ให้บ้านข้าง ๆ ช่วยกันเย็บ ชวนคนในชุมชนทำงานหัตถกรรมจากขยะพลาสติกต่าง ๆ
ต่อจากนี้ ลุงรีย์ตั้งใจจะพัฒนาฟาร์มให้เคลื่อนที่ไปหาคนอื่นได้ บวกกับความตั้งใจใหม่ที่อยากออกเดินทาง เพื่อเรียนรู้และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นอันมีคุณค่ามาสร้างมูลค่า ทำให้เป็นเศรษฐกิจ ซึ่งคำว่าเศรษฐกิจแน่นอนว่าต้องเป็นคนหลายคนช่วยกันทำขึ้นมา แต่ยังยืนยันว่าจะยังเป็นลุงรีย์คนเดิมที่มีลูกบ้า เพิ่มเติมคือมีคนอื่นเข้ามาในหัวใจ นั่นหมายความว่า สิ่งที่ขยายไม่ใช่พื้นที่ฟาร์ม แต่คือ “หัวใจ” ที่ตั้งใจทำงานให้เกิดสิ่งใหม่ ที่มีค่าต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมต่อไป

วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ เชฟและผู้ร่วมก่อตั้ง Samuay&Sons และ Mahnoi Foodlab

สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องของการหารากให้เจอ เดินตามวิถีธรรมชาติ ถ่ายทอดเรื่องราว ยกระดับอาหารอีสานให้ทัดเทียมสากล เพื่อพัฒนาระบบการทำอาหารและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจในเรื่องของการทำอาหารได้กลับไปสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่บ้านของเขา

โอกาสนำพาให้ เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ ไปทำงานไกลถึงอเมริกา แต่สุดท้ายเขาเลือกกลับบ้านเกิด มาสร้างร้านอาหารของตัวเองที่จังหวัดอุดรธานี กลับมาพยายามปรุงรสชาติอาหารด้วยรากของความเป็นลูกอีสาน โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นธรรมดา ๆ ที่เป็นธรรมชาติ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมมากมายที่ยกระดับอาหารอีสานให้ทัดเทียมสากล เพื่อพัฒนาระบบการทำอาหารและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวอีสานบ้านเกิดของตัวเอง

นอกเหนือจากนั้นคือการตอบโจทย์ Zero Waste แนวทางการลดขยะให้เหลือศูนย์ หรือลดจำนวนขยะต่อคนให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการออกไปเรียนรู้ศึกษาวิธีธรรมชาติกับปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนถึงกรรมวิธีการทำปลาร้า ปลาส้ม ภูมิปัญญาดั้งเดิม สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการค้นพบความพิเศษในวัตถุดิบธรรมดา เช่น ทำซอสพริกจากกล้วย มะละกอ ซอสปรุงรสจากแมลงต่าง ๆ

ในตอนท้าย เชฟหนุ่มสื่อสารกับชาวกรีนที่มาจอยและมาฟัง Greenery Talk ครั้งนี้ไว้ว่า สิ่งที่ Samuay&Sons และ Mahnoi Foodlab  พยายามทำ เป็นเรื่องของการหารากให้เจอ ใช้สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจ สิ่งที่ควรสืบสานต่อยอดได้ก็ควรพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ และหวังว่าแนวคิดนี้จะช่วยจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ ที่สนใจในเรื่องของการทำอาหารได้กลับไปอยู่บ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิด Mahnoi Foodlab ภาคเหนือ ภาคใต้ หรือภาคกลางในอนาคต

อายุ จือปา ผู้ก่อตั้ง “Akha Ama Coffee” แบรนด์กาแฟ เพื่อสังคมที่เติบโตระดับโลก

ความฝันไม่ว่าใหญ่หรือเล็กสวยงามเสมอ ถ้าพวกเราทุกคนทำด้วยกัน ความชำนาญของที่ต่างกันจะทำให้โลกนี้เติบโต และเป็นมรดกของคนที่เราไม่รู้ว่าลูกหลานของใครจะมาใช้ต่อ แต่พวกเขาจะขอบคุณพวกเราแน่นอน

อายุ จือปา ชาวไทยเชื้อสายอาข่า ที่พากาแฟ “อาข่า อาม่า” กาแฟไทยไปไกลถึงระดับสากล กับภารกิจการใช้หลัก ‘ความยั่งยืนอย่างจริงจังและจริงใจ’ มาเป็นเข็มทิศนำทางให้แบรนด์เดินหน้าได้อย่างมั่นคง พร้อม ๆ กันกับความตื่นตัวของชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของการทำกิจการเพื่อสังคม ด้วยการนำทักษะชีวิตที่ได้เล่าเรียนนอกชุมชนกลับไปพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจ ให้ทุกคนมีอาชีพ เกิดรายได้ และเกิดความยั่งยืนของการใช้ชีวิต มากไปกว่านั้นคือทำงานกับ Slow Food International ในเรื่อง Coffee Coalition ที่หนึ่งในภารกิจนั้นคือ ดีต่อทุกคนที่ทำ ทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต ดีต่อทั้งห่วงโซ่

อายุบอกว่า แบรนด์กาแฟเล็ก ๆ ของเขา คงไปถึงโตเกียว หรือสร้างการบริโภคยั่งยืนขึ้นได้โดยลำพัง หากไม่มีชุมชนและเครือข่ายต่าง ๆ มาร่วมมือกันทำงาน สำหรับบทข้างหน้าของเขายังคงความกรีน คลีน ยุติธรรมต่อทุกคน รวมถึงแมลงและพืชต่าง ๆ พร้อมกับตั้งใจจะทำงานเรื่องของพลังงานให้มากขึ้น ด้วยการยึดคำสอนธรรมดา ๆ ที่บรรพบุรุษพูดไว้ว่า “ขุมทรัพย์แห่งความรู้แบ่งปันเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด ผู้ทรงปัญญาย่อมใช้ชีวิตเป็นประโยชน์แก่สังคม”

วันนี้เขาเชื่อว่า ความฝันไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก เป็นฝันที่สวยงามเสมอ ยิ่งพวกเราทุกคนทำด้วยกัน ความชำนาญของแต่ละคนจะพาโลกนี้เติบโตอย่างยั่งยืนได้แน่นอน

Greenery Talk ไม่ได้มีแค่ความกรีนที่สดสว่างอยู่บนเวที ภายในงานยังมีความกรีนแสนอร่อยให้เราได้ลิ้มรสอาหารอินทรีย์แบบดีทุกคำที่กิน ทั้งข้าวต้มมัดกล้วย ขนมมันม่วง ผลไม้อินทรีย์อย่างฝรั่งและชมพู่จากสามพราน เป็นอาหารว่างระหว่างช่วงพัก พร้อมระบบการแยกขยะ รวมถึงน้ำสะอาดที่สามารถนำขวดน้ำส่วนตัวมาเติมได้ตลอดทั้งงาน ไปจนถึงพื้นที่ให้ผู้ร่วมงานได้แบ่งปันความคิดเห็น แชร์ความกรีนถึงกัน และกลับมาสู่ความ Green Normal ธรรมชาติ ธรรมดา ไปด้วยกัน

เพราะเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ ด้วยการใช้ชีวิตในวิถีกินดี กรีนดี อย่างยั่งยืน