สำหรับคนไทยแล้ว สมุนไพร นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าสมุนไพรรอบตัวนั้นมีรายละเอียดอีกมากให้ต้องใส่ใจ และด้วยเหตุผลนี้ทางภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงริเริ่มโครงการเรียนรู้สมุนไพรใกล้ตัวผ่านกิจกรรม Herbal Walk หรือ Herbal Appreciation ซึ่งจัดต่อขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยในครั้งนี้จัดขึ้น ณ สวนอุ้มน้ำใจกลางกรุงเทพฯ อย่างสวนเบญจกิติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เราเริ่มต้นกิจกรรมเดินสำรวจตอนเช้าตรู่ อากาศเย็นสบายของสวนสาธารณะชุ่มน้ำมีพืชพรรณเขียวชอุ่มรายล้อมนับร้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก. ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤษศาสตร์และสมุนไพรเริ่มต้นให้ความรู้เบื้องต้นในการสำรวจครั้งนี้ว่า โดยพื้นฐานแล้วพืชนั้นอาจแบ่งออกกว้างเป็น ‘วงศ์’ (family) ซึ่งสามารถจำแนกเบื้องต้นด้วยตาเปล่า ผ่านการสังเกต ‘ดอก’ ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่ระบุชนิดของพืชได้ชัดเจน หรือหากเชี่ยวชาญขึ้นกว่านั้น อาจดูลักษณะของเปลือกหรือใบร่วมด้วย ก็จะช่วยจำแนกชนิดของพืชสมุนไพรได้แม่นยำยิ่งขึ้นอีก
“ในทางวิชาการ การจำแนกพืชด้วยชื่อวิทยาศาสตร์นั้นช่วยให้เราระบุชนิดของพืชได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะพืชชนิดเดียวกัน แต่ขึ้นต่างพื้นที่กัน ชื่อเรียกก็อาจแตกต่างกันก็ได้ เพราะฉะนั้นชื่อกลางของพืชจึงสำคัญ นอกเหนือจากนั้นสัณฐานของพืชอย่างดอก เปลือก ใบ ก็ช่วยจำแนกชนิดได้เช่นกัน อย่างต้นชมพู่ ฝรั่ง หว้า ยูคาลิปตัส ทั้งหมดเป็นพืชวงศ์เดียวกัน สังเกตุได้จากลักษณะของใบที่จะมีเส้นขนานกับขอบใบ และถ้าขยี้ใบดมดู จะได้กลิ่นหอมเหมือนกับกลิ่นผลของต้นนั้น” อาจารย์ภานุพงษ์ขยายความให้เราฟังอย่างเห็นภาพ
เราเดินกันเรื่อย ๆ เพื่อพบกับสมุนไพรอีกหลายสายพันธุ์ที่มีสรรพคุณต่างไปทั้งสมุนไพรคุ้นตาอย่าง ‘ไมยราพย์’ ที่แท้จริงแล้วเป็นพืชชนิดเดียวกับวงศ์ ‘ถั่ว’ และเมื่อสังเกตุจากลักษณะของฝักไมยราพย์ที่หน้าตาคล้ายกับฝักสะตอ เราจึงเชื่อมโยงได้ว่าไมยราพย์และสะตอนั้นเป็นพืชตระกูลเดียวกัน ซึ่งอยู่ในวงศ์ถั่วเช่นเดียวกัน ก่อนนาทีถัดมา เราจึงได้พบกับ ‘ต้นการบูร’ ไม้ยืนต้นสูงตระหง่านที่ใบมีกลิ่นเดียวกับการบูรในเครื่องหอมที่เราคุ้นเคย แลได้รับรู้ว่าแท้จริงแล้วการบูรในเครื่องหอมนั้นเป็นการสังเคราะห์สารเคมีเพื่อเลียนแบบกลิ่นของต้นการบูร น้อยนักที่กลิ่นการบูรที่เราสัมผัสในปัจจุบันจะสกัดขึ้นจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์
นอกจากทักษะในการจำแนกรายละเอียดของพืชสมุนไพรใกล้ตัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทริปสั้น ๆ ครั้งนี้มอบให้กับเราคือ การตระหนักถึงรายละเอียดและข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร ด้วยสมุนไพรนั้นแม้จะมีสรรพคุณเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทว่าควรใช้ประกอบกับข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยอาจารย์ภานุพงษ์ได้เสนอมุมมองไว้ว่า สมุนไพรนั้นแม้จะเป็นชนิดเดียวกันแต่เมื่อปลูกต่างถิ่นกัน ‘สารสำคัญ’ ในสมุนไพรก็อาจมีปริมาณต่างกัน ยังไม่นับรวมกับปัจจัยอีกหลายประการที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ในการใช้สมุนไพร ทั้งเรื่องสุขภาพของผู้ใช้และสัดส่วนในการใช้ ฉะนั้นการใช้สมุนไพรจึงต้องเริ่มจากการทำความรู้จักธรรมชาติของมัน และพร้อมเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา
ทริปการเรียนรู้สมุนไพรใกล้ตัวดำเนินไปจนคล้อยสาย นอกจากเราจะได้ความรู้เรื่องสมุนไพรกลับบ้านเต็มกระเป๋า สิ่งหนึ่งที่ได้กลับมาไม่น้อยกว่ากันคือความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติรอบตัว…ที่แม้จะเป็นในเมืองหลวง แต่ก็ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจที่ได้ทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตสีเขียวที่โอบล้อมเราไว้อย่างอารีย์
ภาพ : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล