รู้ไหมว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี คือวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetland Day) ซึ่งมาถึงพอศอนี้ เรื่องราวของแหล่งชุ่มน้ำธรรมชาติคือประเด็นที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะวิกฤติทางธรรมชาติที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการรุกล้ำพื้นที่ชุ่มน้ำ ล้วนส่งผลเชิงลบทำให้แหล่งน้ำจืดทางธรรมชาติ ซึ่งจะกระทบต่อทุกชีวิตที่ต้องพึ่งพาน้ำจืด

ชาวบ้านรอบพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่สามตำบล ในสองอำเภอ ทั้ง อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด ในจังหวัดขอนแก่น ตระหนักถึงปัญหานี้ดี จึงรวมกลุ่มช่วยกันอนุรักษ์แหล่งน้ำของพวกเขาเอาไว้ พร้อมทั้งอนุรักษ์วิถีชีวิตและภูมิปัญญารอบแก่งละว้าไปพร้อม ๆ กัน และเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ชุมชนรอบแก่ง นำโดย โอ๋ จรูญพิศ มูลสาร นักพัฒนาชุมชน แห่งศูนย์การเรียนรู้บ้านไฮ่-บ้านสวน และน้อง ๆ นักศึกษาพัฒนาชุมชน รวมทั้งภาคีเครือข่ายก็ได้ร่วมแรงร่วมใจคนละไม้ละมือจัดงาน “เปิดประตูสู่แกงละว้า ครั้งที่ 1 ขึ้น ภายใต้คอนเซปต์ “ตุ้มโฮมไทบ้าน สืบสานวิถีคนแก่ง เบิ่งแงงธรรมชาติ บรรยายกาศโฮมบุญ” ณ ท่าน้ำเขตอนุรักษ์ พื้นที่เทศบาลตำบลโคกสำราญ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หัวใจหลักที่คณะผู้จัดจานและชาวบ้านต้องการคือ การได้บอกเล่าถึงความสำคัญของแก่งละว้า แหล่งน้ำจืดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน

หัวใจหลักที่คณะผู้จัดงานและชาวบ้านต้องการคือ การได้บอกเล่าถึงความสำคัญของแก่งละว้า แหล่งน้ำจืดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน ผ่านงานกิจกรรมหลากหลาย ทั้งตลาดขายสินค้าจากภูมิปัญญาต่าง ๆ วัตถุดิบอาหารปลอดภัยจากแก่งละว้า และพืชผักที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีบนพื้นที่รอบแก่ง กิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ของผู้คนรอบแก่งที่ส่งเสริมและสร้างมูลค่าให้กับวัตถุดิบอาหารจากแก่งละว้า กิจกรรมท่องเที่ยวแก่งละว้าที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยชุมชน รวมถึงงานเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ถึงทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของแหล่งชุ่มน้ำแก่งละว้าแห่งนี้

เมื่อรู้ข่าวว่ามีงานกิจกรรมจากความตั้งใจของชุมชนเช่นนี้เราจึงไม่พลาดไปเยือน เมื่อไปถึงงานสิ่งแรกที่เราสัมผัสได้ก็คือเสียงเพลงหมอลำบนเวทีที่มีฉากด้านหลังเป็นผ้าผืนใหญ่ เขียนชื่องานด้วยทีแปรงพู่กันให้สีสันสะดุดตา อาจไม่ได้เนี้ยบปิ้งมากเพราะเป็นฝีมือของชาวบ้านและเหล่านักศึกษาฝึกงานช่วยกันจัดทำกันขึ้นมาเอง

ผู้คนที่ไปเยือนงานนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ แต่ก็มีคนต่างถิ่นมาเยือนเช่นกัน ที่น่าสนใจคือมีผู้หลักผู้ใหญ่ในภาครัฐในพื้นที่เข้ามาร่วมชมงานด้วย โดยงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลโคกสำราญ ผู้นำท้องถิ่น นางรำจาก รพสต.โคกสำราญ นางรำจากโรงเรียนผู้สูงอายุ บ้านโคกสำราญ ภาคีเครือข่ายและพี่น้องเครือข่ายชาวบ้านรอบแก่งละว้า ที่มาช่วยกันร่วมจัดกิจกรรมเปิดงานครั้งนี้

ผักสดนานาที่ชาวบ้านปลูกและเก็บมาขายกัน โดยเฉพาะกะหล่ำปลีหัวโต ๆ ราคาแค่ 40 บาท ที่ผู้ปลูกยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า ใช้เฉพาะน้ำหมักเลยค่ะ

จุดแรกที่ได้ใจแขกเยือนอย่างเราได้ก่อน ก็คือตลาดขนาดย่อมที่เต็มไปด้วยสินค้าชุมชนของชาวบ้านรอบแก่งละว้า ประทับใจมากกับผักสดนานาที่ชาวบ้านปลูกและเก็บมาขายกัน โดยเฉพาะกะหล่ำปลีหัวโต ๆ ราคาแค่ 40 บาท ที่ผู้ปลูกยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า “ใช้เฉพาะน้ำหมักเลยค่ะ ไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ” ที่สำคัญยังปลูกบนดินริมตลิ่งแก่งละว้าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ก็อย่างที่รู้ว่ากะหล่ำปลีนั้นเป็นผักที่ปนเปื้อนสารเคมีอย่างมาก พอมาเจอกะหล่ำปลีปราศจากสารพิษแบบนี้มีหรือจะพลาด ก็สอยมาหนึ่งหัวใส่ลงถุงผ้าที่เตรียมมาเรียบร้อย พร้อมด้วยผักชีลาวต้นโตที่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีเช่นกัน นอกจากนี้เราได้เห็นชาวบ้านนำปลาที่จับจากแก่งมาขาย พร้อมทั้งมีการตกกุ้งแม่น้ำจากแก่งตัวเขื่องมาโชว์ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแก่งละว้าในเขตอนุรักษ์แห่งนี้ด้วย

ตามประสาคนชอบกิน ก็จะอินกับตลาดที่มีของขายเป็นพิเศษ เพราะนอกจากผักแล้ว เหลือบไปเห็นข้าวต้มมัดเล็กจิ๋ววางขายอยู่ นี้คือข้าวต้มมัดเมืองเก่า ของตำบลเมืองเพียง อ.บ้านไผ่ เป็นการทำข้าวต้มแบบอีสานที่เรียกว่า “ข้าวต้มผัด” (การนำข้าวไปผัดกับกะทิแล้วนำมาทำข้าวต้มอาจเป็นเรื่องปกติของคนภาคกลาง แต่สำหรับคนอีสานหากใส่กะทิลงผัดกับข้าวแล้วนำมาทำข้าวต้มจะถือว่าเป็นของพิเศษ จึงเรียกชื่อแยกออกมาว่าข้าวต้มผัดนั่นเอง) ฉันจึงไม่พลาดรีบหยิบซื้อมาไว้ชิม 5 มัด คุณป้าคนขายหยิบใส่ถุงกระดาษให้ พร้อมโกยขนมเทียนใส่ลงมาให้อีกบอกว่าแถมไว้ให้ลองชิม เราก็ไม่ขัดศรัทธา

นอกจากนี้อีกหนึ่งทีเด็ดคือ ปลาส้มยายนิด ซึ่งเป็นปลาส้มปลาตะเพียน และ ปลาสวาย เจ้านี้เขาเป็นเจ้าเก่าดั้งเดิมเช่นกันทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าและสืบสานตำรับมา จุดเด่นคือไม่ได้อัดข้าวเต็มท้องปลาเพื่อทำน้ำหนักเวลาขายเหมือนที่เดี๋ยวนี้ชอบทำกัน รสชาติปลาส้มของเจ้านี้นั้นอร่อยลงตัว แม่ค้าสามารถบอกได้ว่าปลาที่ซื้อไปเปรี้ยวระดับไหน กินได้หรือยัง หรือควรนำไปหมักไว้อีก ข้าง ๆ กันกับร้านปลาส้ม มีร้านปลาร้าตัวสำหรับนำไปปิ้งย่างหรือทอดกิน ทำจากปลานิลตัวเล็ก หมักกับรำข้าวคั่ว และเกลือจนได้ที่ คำว่าได้ที่ในที่นี้คือได้ที่แบบคนอีสาน ที่ปลาร้าจะต้องเข้ารสเข้าชาติเป็นปลาร้าจริง ๆ

เดินต่อมาอีกไม่กี่ก้าว เห็นครกกับสากพร้อมน้ำปลาร้าต้มสุกวางหรา รู้เลยว่านั่นคือร้านส้มตำ ของกินประจำถิ่นอีสานที่ทุกวันนี้กระจายตัวไปทั่วประเทศ และเผลอ ๆ ทั่วโลกแล้วก็ว่าได้ ความพิเศษของส้มตำเจ้านี้คือ ใช้รากบัว และไหลบัวซึ่งเป็นวัตถุดิบจากแก่งละว้ามาแทนมะละกอ และเมนูส้มตำไหลบัวนี้เอง ที่วันนี้จะมีกิจกรรมชวนหัว แข่งตำส้มตำไหลบัวลีลาที่ต้องไม่พลาดชม

เดินชมสินค้าเพลิน ๆ ก็ไปสะดุดตากับ ชาดอกพะยอม ของบ้านไฮ่บ้านสวน ที่นำภาชนะไปรองดอกพะยอมแห้งที่ร่วงจากต้นพะยอมต้นใหญ่ในหมู่บ้านที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้

นอกจากอาหารพร้อมกินและวัตถุดิบพื้นบ้านแล้ว ในตลาดยังมีงานสิ่งทอจากภูมิปัญญาและงานจักสานจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้รอบแก่งหลายรายการ ทั้งผ้าขาวม้า เสื่อ ตะกร้า ฯลฯ เดินชมสินค้าเพลิน ๆ ก็ไปสะดุดตากับ ชาดอกพะยอม ของบ้านไฮ่บ้านสวน ที่นำภาชนะไปรองดอกพะยอมแห้งที่ร่วงจากต้นพะยอมต้นใหญ่ในหมู่บ้านที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ไม่ตัดหรือขุดขาย ดอกพะยอมแห้งมีกลิ่นหอมละมุน ฉันซื้อกลับมา 1 ห่อ แอบสปอยว่า พอชงดื่มแล้ว หอมชื่นใจมากทีเดียว และที่สำคัญตำราแพทย์แผนไทยยังระบุว่าดอกพยอมนั้นมีสรรพคุณบำรุงหัวใจอีกด้วย

งานเสวนานี้ตั้งใจให้เกิดการหารือร่วมกันถึงแนวทางการพัฒนาแก่งละว้าแห่งนี้ให้สามารถหล่อเลี้ยงทุกชีวิตและผู้คนรอบแก่งได้อย่างยั่งยืนในทุกมิติ

พอเดินช็อปของที่ตลาดเสร็จแล้ว เหลือบไปเห็นก้อนฟางวางเป็นที่นั่งล้อมรอบเวทีเล็ก ๆ ใต้ร่มไม้ จุดนี้คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้ชื่อภาษาถิ่นว่า “วงโสเหล่” คำนี้เป็นภาษาอีสาน หมายถึง “วงสนทนา” นั่นเอง โดยหัวข้อที่พูดคุยกันคือ “ถามข่าวคนบ้านน้ำ” เป็นกิจกรรมที่มีจุดประสงค์ในการพูดคุยถึงชีวิตคนแก่งละว้ากับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม กิจกรรมดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจาก อยู่ดีมีแฮง ช่อง Thai PBS เพื่อสื่อสารเรื่องราวรอบแก่งละว้าให้ผู้คนได้รู้จักและเข้ามาสัมผัส โดยเชื่อมโยงไปยังเนื้อหาของรายการฟังเสียงประเทศไทย ที่เคยจัดขึ้นในตอน “เบิ่งแงง อนาคต แก่งละว้า” (แปลว่า ดูแลอนาคตแก่งละว้า) ซึ่งส่งผลให้เกิดการจัดมหกรรมครั้งนี้ขึ้น ผู้ร่วมเสวนามีผู้คนจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ตัวแทนกลุ่มเรือประมงและท่องเที่ยวแก่งละว้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่1 บ้านโคกสำราญ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ ตัวแทนภาควิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงตัวแทนจากหอการค้าจังหวัดขอนแก่น งานเสวนานี้ตั้งใจให้เกิดการหารือร่วมกันถึงแนวทางการพัฒนาแก่งละว้าแห่งนี้ให้สามารถหล่อเลี้ยงทุกชีวิตและผู้คนรอบแก่งได้อย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยที่คุณค่าและการดำรงอยู่ของแก่งละว้าไม่ถูกลดทอนลง

ไม่ไกลจากเวทีจัดเสวนา เป็นท่าน้ำซึ่งวันนี้มีเรือหางยาวจอดเรียงรายหลายลำ ผู้มาเยือนสามารถซื้อตั๋วล่องเรือชมความงามของแหล่งชุ่มน้ำแห่งนี้ได้ในราคาย่อมเยา เพียงรอบละ 150 บาท เท่านั้น กิจกรรมนี้แสดงถึงผลงานการออกแบบการท่องเที่ยวชุมชนบนวิถีธรรมชาติที่ชาวบ้านร่วมกันคิดและจัดขึ้น เราจึงไม่พลาดอุดหนุน พอสวมเสื้อชูชีพขึ้นเรือกันแล้ว พี่คนขับเรือก็ค่อย ๆ แล่นเรือแหวกผืนน้ำพาเราชมทิวทัศน์รอบแก่งละว้า จุดไฮไลท์คือทุ่งดอกบัวแดงที่กำลังบานสะพรั่งชวนตื่นตามาก นอกจากนี้ยังมีนกน้ำนานาชนิด และวิถีชีวิตรอบแก่งให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นคนหาปลา ชาวบ้านที่เก็บสายบัวขาย และวิถีริมฝั่งน้ำ ที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของแก่งละว้าในเขตอนุรักษ์ บนแนวทางที่ผู้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว ช่างน่าชื่นชม

ล่องเรือเสร็จ เราก็กลับขึ้นท่าน้ำเดิม และเดินชมงานต่อ อย่างที่บอกว่างานมหกรรมครั้งนี้ เน้นสร้างสัมพันธ์ของผู้คนรอบแก่งและสื่อสารเรื่องราวของการอนุรักษ์แก่งละว้าให้กับผู้มาเยือน เราจึงได้เห็นอีกหลายกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ที่จัดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว อาทิ การแข่งขันออกแบบอาหารโดยใช้วัตถุดิบจากแก่งละว้า ภายใต้ชื่อกิจกรรมสุดเก๋ไก๋ “Master Chef แก่งละว้า” โดยมีวัตถุดิบหลักที่กำหนดไว้คือ เนื้อปลากรายขูด และ ปลาบู่จากแก่งละว้า หรือกิจกรรมชวนม่วนอย่าง แข่งขันจับปลาไหล แข่งขันส้มตำไหลบัวลีลา กิจกรรมบิงโกแก่งละว้า โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม สอยดาวการกุศล แข่งขันหว่านแห ประกวดควายขี้เหร่ ประเด็นเรื่องการประกวดควายนี้ เพื่อเชื่อมโยงไปยังอาชีพหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่รอบแก่งละว้า นั่นคืออาชีพการเลี้ยงควายทามตามธรรมชาติ เพื่อจำหน่ายควายและปุ๋ยมูลควายที่กินอาหารจากพืชพรรณธรรมชาติรอบแก่ง เห็นไหมว่านอกจากความสนุกที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนแก่งละว้าเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม

อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจคือ Kaeng-Lawa Fishing Game ที่ท้าทายให้นักตกปลาผู้สนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล ร่วมไปกับการเรียนรู้วิธีการหาปลาจากชาวประมงในพื้นที่ โดยปลาที่กำหนดให้ตกมาประกวดกันคือ ปลาชะโด และ ปลากระสูบ ซึ่งเป็นปลาที่มีมากในแก่งละว้า โดยเฉพาะปลาชะโด เป็นปลาที่ชาวบ้านให้ความเห็นว่า ต้องหาทางลดจำนวนในธรรมชาติลงบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาชนิดนี้กินปลาอื่น ๆ ในธรรมชาติ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์มาก โดยกิจกรรมนี้นายอำพล จินดาวงค์ ประมงจังหวัดขอนแก่นและคณะ ให้เกียรติมอบรางวัลให้กับผู้ชนะ

มาถึงอีกจุดไฮไลท์ที่น่าสนใจมาก และมีเด็ก ๆ ในพื้นที่นั่งล้อมวงทำกิจกรรมกัน ก็คือฐานการเรียนรู้เยาวชน์รักษ์แก่งละว้า ซึ่งได้ มหา’ลัยไทบ้าน นำโดยครูรุ่นใหม่ไฟแรง สัญญา มัครินทร์ หรือที่รู้จักกันในนาม ครูสอญอ ผู้เชื่อว่าการศึกษานั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป มาเป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว ร่วมกับ อ.พรณรงค์ ชานุวงศ์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พาเด็ก ๆ มาทำงานศิลปะการเพนต์ภาพด้วยหินสีธรรมชาติฟรี งานนี้ต่างคนก็ต่างโชว์ทีแปรงกันอย่างสนุกสนาน

ท้ายสุดคือมหรสพ ที่ใช้หมอลำกลอน ซึ่งเป็นศิลปะการร้องเพลงแบบวิถีคนอีสาน มาเป็นเครื่องมือที่มอบความสุขให้กับผู้ร่วมงาน และสอดแทรกเนื้อหากลอนเพลงหมอลำ ด้วยเรื่องราวของการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์แก่งละว้าแห่งนี้เอาไว้เพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานในอนาคต

แหล่งชุ่มน้ำธรรมชาติแห่งนี้มีแนวโน้มที่จะถูกรุกล้ำจากภาคอุตสาหกรรม ที่กว้านซื้อพื้นที่โดยรอบแก่ง

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความจริงสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและสั่นคลอนความมั่นคงทางธรรมชาติของแก่งละว้าและผู้คนรอบแก่ง คือแหล่งชุ่มน้ำธรรมชาติแห่งนี้มีแนวโน้มที่จะถูกรุกล้ำจากภาคอุตสาหกรรม ที่กว้านซื้อพื้นที่โดยรอบแก่ง รวมไปถึงพื้นที่บริเวณจุดเชื่อมต่อของแม่น้ำชีที่จะไหลเข้าแก่งละว้า หากในวันข้างหน้าโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจริงผลกระทบที่ตามมาคงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เป็นแน่

งานมหกรรมเปิดประตูสู่แก่งละว้าครั้งนี้อาจจะดูด้วยตาแล้วเหมือนเป็นงานที่จัดแบบบ้าน ๆ ไม่ได้ฉาบทาความสวยงามในเชิงโครงสร้างภายนอกเท่าใดนัก หากแต่เมื่อผู้มาเยือนอย่างเราได้เข้าไปสัมผัส พูดคุย ร่วมรับฟัง กับทุก ๆ กิจกรรมในงาน และร่วมรับรู้ปัญหาที่ท้าทายต่อความมั่นคงของแหล่งชุ่มน้ำแห่งนี้ กลับสร้างแรงกระเพื่อมภายในใจ ก่อเกิดเป็นความงดงามทางความรู้สึก เพราะเรารู้แล้วว่าสิ่งที่ชุมชนนำมาเสนอนั้นพวกเขาทำมันด้วยเจตนาบริสุทธิ์ คนนอกอย่างเราจึงรู้สึกอยากมีส่วนร่วมสักทาง เพื่อสนับสนุนความตั้งใจอันดีต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูแก่งละว้าแห่งนี้ของพวกเขาให้ประสบความสำเร็จ

หวังว่าแรงกระเพื่อมทางสังคมที่ชุมชนรอบแก่งได้จุดประกายขึ้นในมหกรรมครั้งนี้ จะกระแผ่กระจายกว้างออกไปให้สาธารณชนตระหนักรับรู้ร่วมกัน และหันมาช่วยเหลือ สนับสนุนชุมชนรอบแก่งละว้าที่ตั้งใจอนุรักษ์ฐานทรัพยากรธรรมชาติแหล่งชุ่มน้ำแก่งละว้าแห่งนี้ ให้ก้าวสู่การดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไปอย่างไม่เดียวดาย เพราะการสร้างสรรค์สังคมนั้นไม่ใช่เรื่องเฉพาะกิจของใคร แต่เป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน … เพื่อโลกของเรา

ขอบคุณภาพถ่ายจาก :
Photoby Dang
เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น
Farm Hoo DIY