ปัญหาจากพืชผักที่ปลูกด้วยสารเคมีส่งผลเสียต่อโลกและตัวเรามากแค่ไหนใครๆ ก็รู้ แต่การจะเลือกซื้อสินค้าอินทรีย์ปลอดสารพิษก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นสำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ เพราะหลายครั้งเราเองก็ไม่สามารถแน่ใจในเรื่องคุณภาพและกระบวนการผลิตของสินค้าตรงหน้าได้เลย
ยิ่งเมื่อความไว้วางใจในการกิน การใช้ของสะอาดปลอดภัย มักถูกจำกัดไว้ด้วยตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงกระบวนการผลิตอันเป็นมิตรอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร นี่จึงกลายเป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่สำหรับเกษตรกรตัวเล็กตัวน้อยที่ปลูกผักอย่างตั้งใจ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรองรับมาตรฐานระดับประเทศได้ จนเราเองก็ไม่มีโอกาสได้รู้ว่าของดีๆ นั้นมีให้เลือกกินอีกเยอะแยะ
ด้วยเหตุนี้ตรามาตรฐานอินทรีย์เล็กๆ อย่าง PGS จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยให้เหล่าเกษตรกรตัวจิ๋วได้เข้าใกล้การรองรับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้น พอดีกับที่ ‘เครือข่ายตลาดสีเขียว’ ผู้คลุกคลีอยู่กับผู้ผลิตสายกรีนมายาวนาน เพิ่งจะจัดทริปลงไปตรวจมาตรฐาน PGS กับเกษตรกรและผู้ผลิตกันมาหมาดๆ เราเลยขอชวน ไผ่-กรณ์รวี เก่งกุลภพ หนึ่งในทีมงานเครือข่ายตลาดสีเขียวสัญจร มาเล่าเรื่องการออกทริปไปตรวจความมั่นใจถึงแหล่งผลิต ที่ผู้บริโภคอย่างเราเองก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้
PGS การตรวจสอบเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภคและเกษตรกรรายย่อย
“จริงๆ แล้ว PGS หรือ Participatory Guarantee Systems คือการตรวจสอบเกษตรกรอินทรีย์ที่แตกไลน์ออกมาจากมาตรฐานหลักของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) เพราะมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ใหญ่ๆ อย่าง IFOAM, USDA หรือแม้แต่ของไทยเองมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ระเบียบการเยอะ ระยะเวลาก็สั้นแค่ปีต่อปี เวลาจะเรียกคนลงไปตรวจทีเกษตรกรก็ต้องจ่ายเงินหลักแสน
“เอาเข้าจริงเกษตรกรรายย่อยในเมืองไทยหรือในประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ แห่งเขาจ่ายค่าตรวจไม่ไหวหรอก IFOAM เลยออกมาตรฐานนี้ออกมา เพื่อให้แต่ละหน่วยงานตั้งมาตรฐานกันเองเฉพาะกลุ่ม โดยอิงจากเกณฑ์ของเขานี่แหละ” ไผ่อธิบายให้เราฟังคร่าวๆ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการลงตรวจฟาร์มจริง
ถึงแม้นี่จะเป็นเกณฑ์ที่นำมาดัดแปลงให้ง่ายขึ้น แต่มาตรฐาน PGS ของเครือข่ายตลาดสีเขียวก็เกิดจากการร่วมมือกันของทั้งตัวเครือข่ายเอง เกษตรกร และผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงมั่นใจได้เลยว่าความสะอาดปลอดภัยก็มีเต็มร้อยไม่แพ้มาตรฐานใหญ่ๆ แน่นอน
โดยเครือข่ายตลาดสีเขียวจะลงตรวจมาตรฐานให้กับสินค้าสามชนิด ได้แก่ผลผลิตทางการเกษตร ที่เน้นขั้นตอนการปลูกสะอาดปลอดภัย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมี และเมล็ดพันธุ์ GMO สองคือผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งตรวจสอบจากวัตถุดิบที่เลือกใช้ ขั้นตอนการผลิตที่ถูกสุขอนามัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสินค้าชนิดสุดท้าย คือ เครื่องสำอางและข้าวของเครื่องใช้ ที่ต้องใช้วัตถุดิบธรรมชาติ มีกระบวนการผลิตปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี เป็นมิตรต่อโลกและผู้ซื้อ
“หน้าที่ของเรานอกจากการจัดตลาดสีเขียวเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้ว พอเรามี PGS ของตัวเอง มันก็เป็นเหมือนเครื่องการันตีให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าร้านเกือบ 60 ร้านในเครือข่ายที่เราผลัดเปลี่ยนมาออกตลาดจะปลอดภัย ไร้สารเคมี เพราะเราลงไปตรวจ PGS กับผู้เชี่ยวชาญเองถึงที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านเดิมในเครือข่าย หรือร้านใหม่ที่ลงชื่อเข้ามา”
ลงฟาร์มตรวจ PGS ขั้นตอนตรวจมาตรฐานที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมได้
เมื่อความรู้พร้อม ก็ได้เวลาลงตรวจสถานที่จริง
ไผ่อธิบายให้ฟังว่าการลงไปตรวจ PGS จะจัดขึ้นเมื่อผู้ผลิตและทางเครือข่ายมีความพร้อมตรงกัน ถึงเวลานั้นผู้บริโภคที่สนใจก็สามารถลงชื่อไปร่วมตรวจสอบด้วยกันได้ โดยสถานที่ที่ไปก็มีหลากหลาย ตั้งแต่สวนเกษตร โรงงานผลิตอาหาร โรงงานผลิตเครื่องสำอาง ไปจนถึงรีสอร์ทอีโค่
“แต่ไปแล้วไม่ได้ให้ไปเที่ยวเฉยๆ นะ” ไผ่รีบบอก
“หน้าที่ของทุกคนที่ลงไปตรวจ PGS คือต้องลงไปเรียนรู้ด้วยกัน ไปดูว่าระหว่างทางที่ผ่านมาเขาประสบปัญหาอะไรไหม ทำอะไรไปบ้าง อย่างเดือนมีนาคมเราได้ไปตรวจ Pure Organic Farm และเกษตรกรที่ร่วมงานกับร้าน Blue Basket ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เราก็จะให้เขาเล่าเรื่องของเขาก่อน หลังจากนั้นเราจะลงไปดูของจริงกันว่าสิ่งที่เขาทำตรงกับสิ่งที่พูดไหม แต่ถ้าเป็นเครื่องสำอาง หรืออาหารแปรรูปก็ต้องทำให้ดูเลย
“นี่ทำให้ผู้บริโภคได้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่เขาสนับสนุนนั้นผ่านการผลิตอย่างตั้งใจจริงๆ เกษตรกรและผู้ผลิตในเครือข่ายของเราเขาใส่ใจเรื่องวัตถุดิบและสิ่งแวดล้อมขนาดไหน บางคนกลับบ้านไปก็ได้เทคนิคการปลูกผักกลับไปด้วย แล้วเขาจะได้ความมั่นใจเต็มร้อยว่าของที่เขากินเขาใช้ มันปลอดภัยจริงๆ”
หลังจากผ่านกระบวนการตรวจต่างๆ เรียบร้อย ทั้งผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริโภคที่ร่วมลงทริปไปด้วยกัน ต้องนำสิ่งที่เห็นและคำบอกเล่าของเหล่าผู้ผลิตมาเทียบกับมาตรฐาน PGS ที่เครือข่ายตลาดสีเขียวตั้งไว้ ว่าตรงกันมากน้อยแค่ไหน หากทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าผ่านเกณฑ์ ผู้ผลิตจึงจะได้รับตราสัญลักษณ์ PGS เครือข่ายตลาดสีเขียวเพื่อใช้แปะบนสินค้าของตัวเอง
“PGS ช่วยเกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรฐานออร์แกนิกใหญ่ๆ ได้เยอะมาก เพราะกว่าจะไปสู่จุดนั้นได้ คุณแค่ปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องได้รับการรองรับอีกหลายขั้นตอน แต่ถ้าเขาได้ PGS อย่างน้อยมันก็การันตีได้ว่าสินค้าของเขาก็สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน” ไผ่สรุป
หากสนใจและอยากเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์ที่ตั้งใจผลิตสิ่งดีๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจ PGS ที่แหล่งผลิตในครั้งถัดไปแล้ว อีกหนึ่งวิธีที่ง่ายยิ่งกว่าก็คือการเข้าไปแลกเปลี่ยน และสนับสนุนเกษตรกรเหล่านี้โดยตรงทั้งทางหน้าร้านของพวกเขา หรือยามที่เครือข่ายตลาดสีเขียวจัดตลาดในครั้งต่อไป ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดสามารถติดตามได้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊กของเครือข่ายตลาดสีเขียวเลย
เครือข่ายตลาดสีเขียว
www.facebook.com/thaigreenmarket
ภาพถ่าย: เครือข่ายตลาดสีเขียว