เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีงานชวนคนสร้างความตระหนักรู้เรื่องภาวะโลกร้อนและวิธีการง่าย ๆ ในแบบที่เราจะเปลี่ยนแปลงเพื่อดูแลโลกใบนี้ ชื่องานว่า Root The Future ภายใต้แนวคิด Planted Based and Sustainability Festival
ภายในงานมีการออกร้านค้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช และของใช้ประจำวันเพื่อลดการสร้างขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งมุมให้ความรู้แรงบันดาลใจ อาทิ มูลนิธิสโกลารส์ออฟซัสทีแนนซ์ (SOS) ที่รับอาหารส่วนต่างจากโรงแรม ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำไปแบ่งปันให้ผู้คนกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณขยะอาหาร การให้ความรู้เรื่อง Permacultue ซึ่งเป็นวิถีการเกษตรที่เน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต กิจกรรม Cloth Swap โดยกลุ่ม Fashion Revolution ที่ชวนคนนำเสื้อผ้าที่สภาพดีที่ไม่ใช้แล้วมาแลกกัน มุมญิบมือ (ภาษาเหนือแปลว่าเย็บด้วยมือ) ที่นำเสื้อผ้ามาซ่อมแซม ดัดแปลงใหม่ด้วยการเพิ่มลวดลายจากการปักผ้า ทั้งนี้เพื่อสร้างการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและลดโอกาสการเป็นขยะเสื้อผ้าอีกทางด้วย
และนี่คือ 5 แรงบันดาลใจที่เราได้จาก Root The Future: Planted Based and Sustainability Festival
1. ลดโลกร้อนด้วยการลดบริโภคเนื้อสัตว์
ผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกภายในงานเป็นอาหารที่ปลอดเนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากถั่วเหลืองซึ่งพัฒนาได้หลากหลายขึ้นทั้งเนื้อสัตว์แบบ Planted Based ไอศครีมที่ไม่มีส่วนผสมของนมวัว ชีส (ทำจากนมถั่วเหลือง) ผลิตภัณฑ์อาหารบางส่วนทำจากเนื้อขนุน ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารที่ได้รับความนิยมมากขึ้นสำหรับชาวต่างชาติในการใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ อย่างที่ทราบดีกว่า การเลี้ยงสัตว์ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารจำนวนมาก นำมาซึ่งการถางป่าเพื่อปลูกอาหารสัตว์ การลดบริโภคเนื้อสัตว์ลงบ้างจึงเป็นหนทางสำคัญหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้ทางอ้อมด้วย
2. เพิ่มการพกพาเพื่อลดขยะใช้ครั้งเดียวทิ้ง
เป้าหมายของการจัดงานตั้งใจให้เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตว่าคนเราสามารถช่วยลดขยะประจำวันได้ ด้วยการลดใช้พลาสติก รวมถึงพกพาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บ่อย ๆ เช่น ถุงผ้า กล่องใส่อาหาร ขวดน้ำ ช้อนส้อม หรือหลอดที่ล้างและใช้ซ้ำได้ ดีกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งสร้างปัญหาขยะกองโตที่จัดการไม่รู้จบ
3. อาหารมีปลายทางที่ดีได้มากกว่ากองขยะ
มูลนิธิสโกลารส์ออฟซัสทีแนนซ์ (SOS) เป็นองค์กรที่ที่รับอาหารส่วนต่างจากธุรกิจอาหารเพื่อนำไปแบ่งปันให้ผู้คนกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ก่อตั้งครั้งแรกที่กรุงเทพประเทศไทยโดยชาวเดนมาร์ก มีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดขยะอาหารจากธุรกิจใหญ่ ๆ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยรับวัตถุดิบอาหารที่ยังมีคุณภาพดีแต่ไม่อยู่ในเงื่อนไขของการใช้ประโยชน์ในธุรกิจ มาส่งต่อให้กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่มีความต้องการอาหารทั้งในชุมชนที่ยากลำบากและมูลนิธิต่าง ๆ เป็นการเชื่อมโยงความต้องการของคนสองฝ่ายเข้าด้วยกันจนเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยสร้างคุณค่าของวัตถุดิบอาหารจนไม่ต้องปล่อยให้กลายเป็นขยะอาหารในถังขยะ ปัจจุบันมูลนิธิฯ ขยายการทำงานไปในหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ หัวหิน ภูเก็ต และกำลังจะขยายไปในประเทศแถบอาเซียนอีกด้วย
4. ซ่อมแซม แลกเปลี่ยน แบ่งปัน ทำให้เสื้อผ้าเกิดการหมุนเวียนใช้สูงสุด
กิจกรรม Cloth Swap โดยกลุ่ม Fashion Revolution เป็นมุมหนึ่งที่มีผู้ร่วมงานอย่างคึกคัก วิธีการคือนำเสื้อผ้าที่สภาพดีมาร่วมแลกเปลี่ยน โดยหนึ่งคนนำเสื้อผ้ามา 5 ชิ้น แลกเสื้อผ้ากลับไปได้ 7 ชิ้น ส่วนคนที่ไม่ได้นำเสื้อผ้ามาแลกสามารถซื้อคูปอง 150 บาทเพื่อเลือกเสื้อผ้าได้ 2 ชิ้น เท่ากับได้เสื้อผ้าราคาเพียงตัวละ 75 บาท เท่านั้น ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolutionประเทศไทย บอกว่า แค่คนเห็นไอเดียแล้วเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำไปปรับใช้กันเองในกลุ่มเพื่อน หรือองค์กรของตัวเอง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะความตั้งใจหลักคือต้องการให้ความรู้และเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนการแลกเสื้อผ้าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสื่อสารเท่านั้น สิ่งที่จะช่วยให้ขยะเสื้อผ้าลดลงได้จริงที่สุดคือการคิดก่อนซื้อ เลือกซื้อเสื้อผ้าที่ให้ความสำคัญกับนโยบายยั่งยืน ลดการใช้ fast fashion และนำมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้สูงสุดแทนที่จะกลายเป็นขยะก่อนเวลาอันควร
5. ลดความต้องการใช้สำคัญที่สุด
แม้การใช้แต่น้อย ใช้ซ้ำ หรือนำมาใช้ใหม่จะเป็นสิ่งที่ถูกรณรงค์เสมอมา หากเราควรตระหนักเสมอว่าทุกการบริโภคก่อเกิดขยะเสมอไม่ทางใดทางหนึ่งก็ตาม ดังนั้นจงเป็น “ผู้บริโภคที่มีความตระหนักรู้” สถานการณ์ที่เป็นผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน (climate crisis) ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างหนักหน่วงทั่วโลกผ่านภัยธรรมชาติต่าง ๆ เราทุกคนจึงไม่อาจเลี่ยงหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ได้เลย คิดก่อนใช้ทุกครั้ง สร้างขยะให้น้อยในทุกการบริโภค จัดการขยะส่วนเกินเท่าที่ทำได้ เช่น นำเศษอาหารไปเลี้ยงไส้เดือนกลายเป็นปุ๋ยปลูกพืช บริโภคอย่างมีสติ
เพราะเรามีโลกนี้แค่ใบเดียวจริงๆ
ภาพ: ธาตรี แสงมีอานุภาพ