“มีอาหารจำนวนมากที่ถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีคนที่หิวโหยและต้องการเข้าถึงอาหารคุณภาพดี” โบ เฮช โฮลม์กรีน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิ Scholars of Sustenance หรือ SOS เล่าถึงจุดกำเนิดของมูลนิธิที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2543 ที่อเมริกา บนเวที SOS Zero Summit 2022 ซึ่งจัดขึ้นโดย SOS Thailand แบบออนไซต์ได้อีกครั้ง หลังจากปีที่แล้วต้องพบกันแบบออนไลน์

 

เราเห็นการเติบโตอย่างน่าชื่นใจของ SOS Thailand ที่เริ่มต้นทำงานเพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินให้คนที่ขาดตั้งแต่ปี 2558 โดยเฉพาะช่วงโควิดที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอาหารจำนวนมาก และพวกเขาเหล่านั้นได้รับการดูแลจากโครงการของ SOS พร้อมกับการยื่นมือเข้ามาของพาร์ตเนอร์จากธุรกิจอาหารที่ส่งมอบอาหารส่วนเกินมาสมทบ

และในเวที SOS Zero Summit 2022 เราได้เห็นการขยับก้าวไปอีกขั้นของมูลนิธิฯ ที่เชื่อมต่อการทำงานกับภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียม และจัดการกับอาหารส่วนเกินไม่ให้กลายเป็นขยะอาหารไปอย่างสูญเปล่า ผ่านวงเสวนาทั้ง 4 ที่มาร่วมกันหาแนวทางฟื้นฟูระบบอาหารของประเทศไทย สำหรับคนที่พลาดไม่ได้ไปร่วมงาน เราเก็บบรรยากาศและเรื่องเล่าน่าสนใจมาฝากกัน

ถอดรหัส Food Bank เกาหลีใต้ และความหวังของ Food Bank ในไทย
วิกฤติอาหารที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด เราได้ยินไอเดียของการตั้ง ‘ธนาคารอาหาร’ หรือ ‘Food Bank’ อยู่บ่อยครั้ง และตอนนี้คำนี้กำลังเป็นโมเดลที่ทั่วโลกให้ความสนใจเพื่อนำมาใช้ต่อสู้กับปัญหาความขาดแคลนอาหาร

ชุง มู ซัง รองประธานบริหารสภาสวัสดิการ สังคมแห่งชาติและธนาคารอาหารแห่งชาติเกาหลีใต้ เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนบนเวที ในหัวข้อ ‘ถอดรหัสแนวทางการจัดตั้งธนาคารอาหารแห่งชาติ บทเรียนน่ารู้สำหรับประเทศไทย’ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของการจัดตั้งธนาคารอาหารในเกาหลีใต้ ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1998 จากความร่วมมือของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร ประชาชนเกาหลีใต้ และองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลเองก็ให้การสนับสนุน ซึ่งโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งนอกจากจะเกิดขึ้นในกรุงโซลแล้วยังกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยนับรวมได้กว่า 400 แห่งในโมเดลที่ต่างกัน

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเข้าร่วมในเสวนานี้ ได้เล่าถึงโครงการ ‘BKK Food Bank’ ซึ่งร่วมกับมูลนิธิ SOS Thailand ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังพื้นที่นำร่องใน 10 เขต คือ คลองสาน บางกอกน้อย บางพลัด บางขุนเทียน บางแค ภาษีเจริญ ประเวศ ลาดกระบัง คลองเตย พระโขนง โดยอาศัยความร่วมมือจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร เพื่อกอบกู้อาหารส่วนเกินส่งต่อไปยังชุมชนและกลุ่มเปราะบาง

นอกจากนี้ในวงเสวนาซึ่งมีตัวแทนจากหอการค้าไทย และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตรและอาหาร มาร่วมหาแนวทางก่อตั้งธนาคารอาหารในไทย ทั้งด้านนโยบายและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ทางภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุน การสร้างเครือข่ายผู้บริจาคและชุมชน การออกใบลดหย่อนภาษี การสร้างฐานจัดเก็บข้อมูล และการวางแผนการขนส่งให้ทั่วถึง

แก้ปัญหาขยะอาหาร ด้วยระบบบริจาคอาหารส่วนเกิน
ในขณะที่ธนาคารอาหารของไทย ยังคงต้องใช้เวลาในการเชื่อมโยงการทำงานกับภาครัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือการเดินหน้าไม่รีรอของผู้ประกอบการเอกชนในอุตสาหกรรมอาหาร ที่บริจาคอาหารส่วนเกินให้กับมูลนิธิฯ ก่อนหน้านี้มาจนปัจจุบัน ทั้งอาหารแปรรูป อาหารพร้อมทาน และวัตถุดิบอาหาร

หัวข้อเสวนา ‘การสร้างระบบการบริจาคอาหารส่วนเกิน แนวทางแก้ไขปัญหาขยะอาหารเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ SOS Thailand ได้เชิญองค์กรธุรกิจที่บริจาคอาหารส่วนเกินมาแชร์ประสบการณ์และมุมมอง ทั้งโรงงานผู้ผลิตอาหารและห้างค้าปลีก ทั้งมาลี กรุ๊ป, อินโนเวชั่น เฟรช, Freshket, Max Value และ NRF ทำให้เราได้เห็นถึงแนวทางของภาคธุรกิจที่จะต้องผลิตอาหารออกมาให้มากกว่าความต้องการของตลาด เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอย่างเพียงพอ แต่ในเมื่ออาหารเหล่านั้นไม่สามารถจำหน่ายได้หมด สิ่งที่ทำได้ก็คงเป็นการทิ้งของเหล่านั้นให้กลายเป็นขยะอาหารไป

แต่ด้วยการทำงานของ SOS Thailand ที่มีระบบจัดการอาหารส่วนเกิน และให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเชื่อมั่นที่จะส่งมอบอาหารส่วนเกินคุณภาพดี ให้นำไปส่งต่อให้กับชุมชนที่ขาดแคลน และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับมูลนิธิฯ ในการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ฟื้นฟูระบบอาหารและนวัตกรรุ่นใหม่
‘การฟื้นฟูระบบอาหารและนวัตกรรุ่นใหม่’ เป็นหัวข้อเสวนาที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ และมีความต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืน ได้มาแชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจ ที่แนวคิดเหล่านั้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูระบบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านจำหน่ายผลผลิตออร์แกนิก Homeland Grocer, Laika ธุรกิจอาหารสุนัขที่แก้ปัญหาขยะอาหาร, Bio Buddy กับการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต, ฟาร์มลุงรีย์ ที่จัดการระบบอาหารทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงจัดการขยะอาหาร และ Flying Spark ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร

นอกจากแนวคิดและประสบการณ์ที่ผู้ร่วมเสวนานำมาแบ่งปันในแง่มุมของการทำธุรกิจ ยังส่งต่อความคิดดีๆ ในการสร้างสรรค์ระบบอาหาร การทำให้ผลผลิตที่เกิดจากความตั้งใจดีเหล่านี้เติบโตได้ไกล การทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อและพร้อมจะมาส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนในฐานะผู้บริโภคได้

ผู้ประกอบการกับการฟื้นฟูและช่วยเหลือชุมชนหลังวิกฤติ
จากเวทีของผู้มีประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ถูกส่งต่อไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร ในหัวข้อสุดท้าย ‘การฟื้นฟูและช่วยเหลือร้านอาหารและชุมชนหลังวิกฤติโรคระบาด COVID-19’ ที่มีตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารจาก Starbucks, MK และโรงแรม Bangkok Marriott Marquis Queen’s Park รวมถึงตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนอาหารส่วนเกินมาร่วมพูดคุย

การแชร์ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นความท้าทายและปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องเผชิญในวิกฤติโรคระบาด แต่ละร้านจึงต้องมีวิธีปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการขายและจัดการอาหารเหลือ ขยับจากการขายเฉพาะหน้าร้านเข้าสู่การขายแบบออนไลน์ ที่ทำให้ร้านค้ามีช่องทางการขายมากขึ้นมาจนถึงตอนนี้ ส่วนตัวแทนชุมชนได้เล่าให้ฟังถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งการว่างงาน ขาดรายได้ แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็เกิดการรวมกลุ่มและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน กับการพยายามหารายได้จากช่องทางใหม่ จนเกิดเป็นสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนขึ้นมา

หลังการสัมมนาทั้ง 4 หัวข้อ ภายในงาน Zero Summit 2022 ได้มอบรางวัล SOS Award 2022 ให้กับองค์กรที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน แก้ไขปัญหาขยะอาหารและความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งจากกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไปจนถึงร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็ก ก่อนจะปิดท้ายงานด้วยการจำลองเวทีมาสเตอร์เชฟเล็กๆ กับการนำวัตถุดิบส่วนเกินมาสร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่

เป็นการย้ำกับเราว่า แม้จะถูกลดสถานะเป็นอาหารส่วนเกินที่จำหน่ายไม่ได้ แต่ก็ยังมีคุณค่าและสามารถนำมาต่อยอดในรูปแบบอื่นได้ โดยไม่ต้องลงเอยที่หลุมฝังกลบในนาม ‘ขยะอาหาร’ เสมอไป

ภาพ : Scholars of Sustenance Thailand