‘การเลี้ยงผึ้ง’ ในเขตเมืองไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจในวันนี้ โดยเฉพาะในประเทศฝั่งตะวันตกอย่างอเมริกาและอีกหลายประเทศแถบยุโรป กระแสการเลี้ยงผึ้งเพื่ออนุรักษ์นิเวศของเมือง กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ

ทว่าไม่ใช่แค่เรื่องการอนุรักษ์นิเวศของเมืองเท่านั้นที่เป็นเป้าหมายของการเลี้ยงผึ้งของคนเมือง แต่ยังรวมถึงการผลิตอาหารปลอดภัยอย่าง ‘น้ำผึ้ง’ ที่ถือเป็นรสหวานที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย โดยไม่ต้องพึ่งพาการบริโภคน้ำผึ้งในระบบอุตสาหกรรมที่อาจเสี่ยงต่อสารเคมี และการรบกวนระบบนิเวศจากกระบวนการผลิตที่มากเกินพอดี

แต่ในรายละเอียดแล้ว การเลี้ยงผึ้งนั้นก็มีหลากประเด็นให้ต้องทำความเข้าใจ โดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้งในเขตเมืองที่มีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งเรื่องสถานที่ ความปลอดภัย รวมถึงโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ผึ้งของเราเป็นมิตรต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพของเรา และต่อมิตรภาพระหว่างเราและเพื่อนบ้าน ในฐานะที่ผึ้งกลายเป็นสัตว์เลี้ยงซึ่งอาจรบกวนบริเวณรอบๆ ได้ไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น

และโจทย์ดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ถูกต้องได้ ด้วยผึ้งตัวจิ๋วชนิดหนึ่ง ที่เป็นแมลงพื้นถิ่นของบ้านเรามาแต่ไหนแต่ไร ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยทุกภาค นั่นก็คือ ‘ชันโรง’

ชันโรง หรือ Stingless Bees เป็นแมลงตระกูลเดียวกันกับผึ้งที่เรารู้จักทั่วไป แต่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างคือ ตัวเล็กกว่าผึ้ง ไม่มีเหล็กใน และบินต่ำ ที่สำคัญคือชันโรงมีนิสัยรักสันติ ไม่ทำร้ายใคร และจะใช้ชีวิตอยู่ในเขตแดนตัวเองเท่านั้น มากกว่านั้น น้ำหวานจากชันโรง หรือที่เรียกกันว่า ‘น้ำผึ้งชันโรง’ นั้นมีสรรพคุณทางยาสูงมาก รสชาติเปรี้ยวอมหวานสดชื่น เป็นชนิดของน้ำผึ้งที่พี่น้องชาวปกาเกอะญอนิยมใช้ทำยาแก้ไข้หรือแก้ไอมาแต่โบราณ เพราะมีวิตามินเพียบ ช่วยสมานแผลข้างในร่างกาย และช่วยให้ชุ่มคอโดยไม่ต้องพึ่งพายาอมแก้ไอแม้แต่น้อย

ด้วยคุณสมบัติของชันโรงที่รักสันติและไม่มีพิษ ทำให้มันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของคนเมืองได้ไม่ยาก แต่ข้อแม้สำคัญในการเลี้ยงชันโรงก็มีอยู่เช่นกัน ด้วยพื้นที่ที่จะเลี้ยงชันโรงนั้นควรมีอาหารให้มันอย่างเพียงพอ อาหารที่ว่าคือเหล่าพืชพรรณนานาชนิด โดยเฉพาะไม้ดอกที่ให้ละอองเกสรเป็นอาหารที่ชันโรงใช้เลี้ยงตัวและผลิตน้ำผึ้ง และพืชพรรณเหล่านั้นควรอยู่ใกล้กับกล่องเลี้ยงชันโรงในระยะ 150 เมตร ถึงราวๆ 1 กิโลเมตร เนื่องจากชันโรงเป็นแมลงบินต่ำและจะไม่บินออกจากบ้านไปหาอาหารไกล

และในอีกแง่หนึ่ง การที่ชันโรงมีชีวิตอยู่ในละแวกใกล้เคียง ยังช่วยอุ้มชูระบบนิเวศบริเวณนั้นได้อย่างดี จึงไม่แปลกที่สวนเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกนิยมวางกล่องชันโรงแซมไว้ในสวนเสมอ เพราะเจ้าแมลงตัวจิ๋วจะคอยผสมเกสรจากต้นหนึ่งสู่ต้นหนึ่งไม่ต่างจากผึ้งทีเดียว

นอกจากความสมบูรณ์ของพืชพรรณรอบๆ ข้อควรรู้อีกประการสำหรับคนเมืองที่อยากเริ่มเลี้ยงชันโรง คือ แหล่งที่มาของตัวชันโรงควรเป็นสายพันธุ์ซึ่งสอดคล้องกับระบบนิเวศรอบๆ สถานที่เลี้ยง อาทิ ชันโรงพันธุ์เล็กอย่างพันธุ์หลังลายและพันธุ์ขนเงิน เพราะหากเป็นชันโรงที่มาจากคนละสภาพแวดล้อมอย่างชันโรงป่า หรือชันโรงที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาจส่งผลร้ายต่อแมลงพื้นถิ่นชนิดอื่นๆ และทำให้ชันโรงเหล่านั้นผลิตน้ำผึ้งได้ไม่ดีเท่าที่ควรด้วย

โดยในปัจจุบันมีผู้ขายชันโรงที่เหมาะกับการเลี้ยงในเขตเมืองอยู่มากมาย จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปหากจะเริ่มเลี้ยงชันโรงอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครอยากเริ่มลองเลี้ยงผึ้งจิ๋วอย่างชันโรง อย่าลืมศึกษาระบบนิเวศโดยรอบบ้านตัวเองอย่างถี่ถ้วน ปลูกไม้ดอกไว้อย่างเพียงพอ จากนั้นหาที่เหมาะๆ แล้วตั้งกล่องชันโรงไว้เป็นเพื่อนคู่สวนได้เลย

ที่มาข้อมูล:
– www.hrdi.or.th/Articles/Detail/100