ท่ามกลางปัญหาควันพิษ PM2.5 ใจกลางเมืองหลวง ขณะเดียวกันอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศก็กำลังตกอยู่ในวิกฤตมลพิษเช่นกัน ต่างกันเพียงแหล่งกำเนิดควันพิษส่วนมากนั้นมาจากการเผาชีวมวล หรือบรรดาเศษซากจากการทำการเกษตรแปลงใหญ่ ที่เรามักพบบนหน้าสื่อว่าคือ ‘ข้าวโพดและอ้อย’ ผิดกับแหล่งกำเนิดควันพิษในเมืองหลวงซึ่งส่วนมากเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล และเป็นปัญหาที่มักอยู่ในโฟกัสของสังคมมากกว่า

และถ้าไม่นับการเผาตอซังข้าวโพดเพื่อปรับหน้าดินที่ถือเป็นปัญหาเรื้อรังชวนให้ตั้งคำถามถึงการทำเกษตรอุตสาหกรรมมานานหลายสิบปี ระยะหลังมานี้พืชที่กลายเป็นตัวร้ายตัวใหม่คงหนีไม่พ้น ‘อ้อย’ ยิ่งเมื่อรัฐบาลออกนโยบายสนับสนุนการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นนับล้านไร่เพื่อตอบสนองตลาดน้ำตาลโลก ทั้งยังผ่อนปรนการให้โรงงานน้ำตาลสามารถรับซื้อ ‘อ้อยเผา’ ได้ถึงปี 2565 สวนทางกับปัญหาฝุ่นควันที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

ยิ่งหากนับจากตัวเลขการส่งออกน้ำตาล ที่ไทยครองอันดับ 2 รองจากประเทศบราซิล ยิ่งชวนให้เป็นห่วงถึงสถานการณ์มลพิษในอนาคตอันใกล้  ด้วยแน่นอนว่า การเผาอ้อยนั้นสร้างปัญหาทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและสาธารณะสุขที่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกัน… คำถามคือ ถ้าเช่นนั้น ความจำเป็นอะไรที่ทำให้การเผาอ้อยยังเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องจนทุกวันนี้? 

ทำไมต้องเผาอ้อย

ความจำเป็นประการแรกที่เห็นได้ชัดและเรื้อรังมานานคือ การเผาอ้อยนั้นประหยัดเวลาและต้นทุนอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่การปลูกอ้อยนั้นเกิดขึ้นครั้งหนึ่งหลายร้อยหลายพันไร่ ทั้งใบอ้อยนั้นคมและอันตรายเมื่อบาดผิวเนื้อทำให้ต้องระแวดระวังอยู่ตลอดเวลา การตัดอ้อยสดย่อมเป็นงานที่หนักหน่วงสำหรับเกษตรกร การเผาอ้อยให้เหลือเพียงลำต้นจึงสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตมากกว่า และแม้ปัจจุบันจะมีเครื่องจักรสำหรับตัดอ้อย ทว่าต้นทุนของเครื่องจักรมูลค่าหลายล้านบาทก็แพงเกินกว่าจะคุ้มทุน

เพราะเช่นนั้น แม้จะได้รับการพิสูจน์แล้วว่าอ้อยเผานั้นคุณภาพด้อยกว่าอ้อยสดหลายเท่า แถมราคารับซื้อของโรงงานยังถูกกว่าอ้อยสดหลายสิบบาท แต่การเผาเพื่อการผลิตจำนวนมากๆ ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป เนื่องจากการผลิตอ้อยแปลงใหญ่นั้นพัวพันกับ ‘โควต้าการส่งออก’ ที่ผูกมัดเกษตรกรไว้อย่างดิ้นไม่หลุด ไม่ต่างอะไรจากเกษตรพันธสัญญาที่เราคุ้นกันมานาน 

ด้วยเมื่อไทยกลายเป็นพี่ใหญ่ในตลาดน้ำตาลโลก สิ่งที่ตามมาคือ การกำหนดโควต้าส่งออกน้ำตาลแต่ละปีให้สอดคล้องกับการผลิตอาหารอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้น้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นคือ โควต้าการส่งออกนี้เองที่รัฐบาลใช้เป็นเพดานการผลิตน้ำตาลแต่ละปี เรียกว่าเป็นเส้นชัยที่เหล่าโรงงานน้ำตาลต้องเร่งผลิตให้ได้ตามเป้า และเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจึงต้องเร่งปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยวิธีการเผา มากกว่านั้น หากผลิตไม่ได้ปริมาณตามเป้า ทั้งฝั่งนายทุนและเกษตรกรยังต้องรับภาระเสียค่าปรับ และถูกลดทอนโอกาสในการรับซื้อน้ำตาลเสียอีกด้วย 

อย่าโทษแต่อ้อย

ถ้าอย่างนั้น ปัญหาเดียวกันนี้เกิดในต่างประเทศบ้างหรือเปล่า?

หากพิจารณาประเทศที่ผลิตน้ำตาลไม่น้อยกว่าบราซิลหรือไทย เช่น อเมริกา การเผาชีวมวล โดยเฉพาะการเผาอ้อยนั้นนับเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะถือว่ากลุ่มควันสีดำจากการเผานั้นเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ต่างจากควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ถึงกับมีคำเรียกควันดำจากการเผาอ้อยว่า Black Snow 

ที่สำคัญคือ โรงงานน้ำตาลมีส่วนต้องรับผิดชอบหากเกิดการเผาอ้อย โดยรัฐออกมาตรการกำหนดโควต้าการผลิตและส่งออกน้ำตาลให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิตอ้อยในระดับที่ไม่จำเป็นต้องเผา บวกกับการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในการตัดอ้อย ผ่านการอุดหนุนเงินทุนในการซื้อเครื่องจักร และการลดหย่อนภาษีทั้งฝั่งนายทุนและเกษตรกรในอัตราที่เหมาะสม 

เป็นที่เห็นต้องตรงกันว่า การแก้ปัญหาควันพิษจากการเผาอ้อยนั้นต้องเริ่มจากการมองเห็นภาพใหญ่ร่วมกัน และเกิดจากความร่วมมือกันกับทั้งภาครัฐ กลุ่มธุรกิจ รวมถึงเกษตรกร ที่มองเห็นความจำเป็นของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนทัดเทียมกับความจำเป็นในการขยายตลาดและการส่งออก

ลดหวาน เลือกกินน้ำตาล ลดปัญหาควันได้


ทั้งนี้ อีกคำถามสำคัญอาจคือ แล้วเรามีส่วนช่วยลดปัญหาควันพิษจากการเผาอ้อยได้บ้างหรือเปล่า? ซึ่งในส่วนของผู้บริโภคนั้น แม้การเคลื่อนไหวผ่านการ ‘เลือกกิน’ อาจจะส่งผลช้ากว่าการขับเคลื่อนผ่านนโยบาย แต่การตระหนักว่า ‘น้ำตาล’ เป็นส่วนผสมสำคัญในสิ่งอุปโภคนานาชนิดไม่เพียงเฉพาะอาหาร แต่รวมถึงยา เครื่องสำอาง และแน่นอนว่าบรรดาอาหารอุตสาหกรรมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเชิงอุตสาหกรรมไม่มากก็น้อย

ฉะนั้นในฐานะผู้บริโภค การลดหวานและเลือกกินน้ำตาลหลากหลายชนิดมากขึ้น อาทิ การเปลี่ยนรสชาติจากน้ำตาลทรายมาใช้น้ำตาลทางเลือกอย่างน้ำตาลอ้อยธรรมชาติ หรือน้ำตาลมะพร้าวดูบ้าง รวมถึงเลือกซื้อน้ำตาลที่ได้รับการรับรองว่าปฏิเสธการรับซื้ออ้อยเผา ก็นับเป็นวิธีที่ง่ายและทำได้ในชีวิตประจำวัน และไม่แน่ว่า พลังขับเคลื่อนเล็กๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่ทำให้เราหายใจเต็มปอดได้อีกครั้ง 

เกร็ดสุขภาพจาก Greenery.

น้ำตาลทางเลือกที่ไม่ได้มาจากอ้อยในระบบอุตสาหกรรม ไม่เพียงให้รสหวานที่ละมุน ซับซ้อน และดีต่อสุขภาพมากกว่า แต่ยังมีให้เลือกหลากหลาย ดังนี้

  • น้ำตาลมะพร้าว
  • น้ำตาลโตนด
  • น้ำผึ้งธรรมชาติ
  • น้ำเชื่อมจากเกสรดอกไม้
  • หญ้าหวาน