การควบคุมคุณภาพอาหารของสังคมนั้นทำได้หลายทาง หนึ่งในหนทางที่รัฐบาลหรือหน่วยงานระดับประเทศผลักดันเสมอมาคือ การออกมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้าประเภทที่เข้าข่าย ‘บั่นทอนสุขภาพ’ ไม่ว่าจะเหล้า บุหรี่ และล่าสุดกับ ‘น้ำตาล’ ที่บ้านเราเพิ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
ว่ากันว่า การเพิ่มอัตราภาษีน้ำตาลคราวนี้ จะทำให้อาหารน้ำตาลสูงอย่างน้ำอัดลม ขนมหวานอุตสาหกรรม หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูปทั้งหลายในท้องตลาดปรับราคาเพิ่มขึ้นหลายบาท ขณะเดียวกันรัฐก็จะได้เม็ดเงินภาษีเข้าคลังเพิ่มขึ้นราว 1,500 ล้านบาท
เมื่อมองยังเจตนาของรัฐในการเก็บภาษีน้ำตาลครั้งนี้ พบว่าประเด็นหลักเกี่ยวโยงกับปัญหาสุขภาพของประชากรไทย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคไขมันในตับ ที่กรมอนามัยเผยว่าปัจจัยหลักข้อหนึ่งเกิดจาก ‘คนไทยนิยมกินหวาน’ ที่สำคัญ เราอาจติดรสหวานกันอย่างไม่รู้ตัว เพราะตามธรรมชาติต่อมรับรสของเราจะปรับลิ้นให้คุ้นกับความจัดจ้านของรสชาติมากขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่า เมื่อเรากินหวานจนคุ้นลิ้น ผ่านไประยะหนึ่ง รสหวานที่เคยแสบคอก็อาจเป็นเพียงรสชาติปกติธรรมดาโดยปริยาย
ใครๆ เขาก็กีดกันความหวาน
ทว่าไม่ใช่เพียงบ้านเราเท่านั้นที่ตื่นตัวกับความหวาน การเก็บภาษีน้ำตาลนั้นอาจเรียกว่าเป็นเทรนด์ หลายประเทศทั่วโลกต่างออกมาแสดงจุดยืนในการเรียกเก็บภาษีสินค้าน้ำตาลสูงกันคึกคัก ด้วยประเทศที่ใช้มาตรการนำร่องไปก่อนอย่างบราซิล นอร์เวย์ หรือฝรั่งเศส ต่างออกมายืนยันว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในอาหารผ่านอัตราภาษีนั้นทำให้ประชากรลดการบริโภคน้ำตาลลงจริง โดยเฉพาะนอร์เวย์ ประเทศที่เรียกเก็บภาษีน้ำตาลตั้งแต่ปี 2465 ก่อนจะปรับภาษีน้ำตาลขึ้นอีกในปี 2561 นั้นเผยผลลัพธ์น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีอัตราการบริโภคน้ำตาลต่ำมานับร้อยปี เยาวชนนอร์เวย์เพียง 1 ใน 6 เท่านั้นที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เมื่อเทียบกับแดนจังก์ฟู้ดอย่างอเมริกาแล้ว เรียกได้ว่าห่างกันลิบลับ
เมื่อกลับมามองยังบ้านเรา จากการประเมินระบุว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลกันราว 20 ช้อนชาต่อวัน มากเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงราวๆ 3 เท่า สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานราว 5 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้น การกินน้ำตาลของคนไทยยังอยู่ในรูปความหวานสังเคราะห์เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งน้ำเชื่อมจากข้าวโพด หรือสารเคมีสังเคราะห์ขึ้นแทนน้ำตาลเพื่อใช้ลดต้นทุน ซึ่งนอกจากจะให้โทษจากความหวานแล้ว สารสังเคราะห์บางประเภทอาจยังสะสมในร่างกาย เป็นโทษในอีกทาง
แล้วจะกินหวานอย่างไร ให้ดีต่อสุขภาพ?
เรื่องนี้ นักโภชนาการจาก Harvard Medical School ให้ความเห็นว่า ปกติแล้วอาหารจำพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตชนิดต่างๆ รวมถึงผลไม้นั้น มีน้ำตาลโดยธรรมชาติอยู่แล้ว น้ำตาลจึงไม่ได้ถูกจัดอยู่ในอาหารหลัก 5 หมู่ เป็นเพียงเครื่องปรุงรสช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยเพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย ลดความเหนื่อยล้า ฉะนั้นการกินอาหารให้ครบทุกหมู่ เน้นผักผลไม้ตามฤดูกาล ร่างกายย่อมได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว ทว่าหากอยากเพิ่มความรื่นรมย์ให้ชีวิตสักนิด ลิมิตของปริมาณน้ำตาลต่อวันนั้นก็อยู่ที่ราว 6 ช้อนชา
ส่วนในมุมการเลือกซื้อน้ำตาล หลักการคือควรเลือกน้ำตาลที่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมให้น้อย เพื่อลดความเสี่ยงจากสารเจือปนในอาหาร อย่างน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลอ้อยพื้นบ้าน ก็ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพร่างกายมากกว่าน้ำตาลทรายฟอกขาว ทั้งยังให้เฉดรสหวานที่หลากหลายขึ้นด้วย
และเพราะแบบนี้ การปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำตาลจึงชวนให้เราจับตามอง ทั้งในแง่การปรับตัวของเหล่าผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ ที่น่าสนใจว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน อาหารหวานในท้องตลาดจะเปลี่ยนรสชาติมากน้อยอย่างไร ราคาอาหารจะปรับสูงขึ้นจนกระทบต่อสตางค์ในกระเป๋าของคนส่วนใหญ่หรือไม่ แถมภาครัฐยังเปรยด้วยว่า หากมาตรการคราวนี้ให้ผลลัพธ์น่าพอใจ สถานีถัดไปอาจคือการปรับขึ้นภาษี ‘โซเดียม’ ส่วนผสมสำคัญในอาหารสำเร็จรูปนานาชนิด โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นปัจจัยของโรคร้ายไม่แพ้น้ำตาล
ทั้งนี้ทั้งนั้น คำถามสำคัญที่สุดอาจคือ เรา-ผู้บริโภค รู้จักรสหวานในอาหารชนิดต่างๆ มากน้อยแค่ไหน และจะเลือกกินหวานอย่างไรให้ทั้งชุบชูจิตใจ และดีต่อสุขภาพร่างกายไปพร้อมกัน
ที่มาข้อมูล:
– www.health.harvard.edu/heart-health/the-sweet-danger-of-sugar
– https://apps.who.int/iris/bitstream/handle
– https://theconversation.com/sugary-drinks-tax-is-working-now-its-time-to-target-cakes-biscuits-and-snacks-124325