แม้เราจะกินผักผลไม้กันแทบทุกมื้ออาหาร แต่น้อยคนจะรู้ว่าผักผลไม้ที่เราหยิบใส่ปากส่วนใหญ่นั้นมีต้นทางอย่างไร รวมถึงปลอดภัยหรือไม่

โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผักผลไม้ส่วนมากในท้องตลาดผลิตขึ้นในระบบอุตสาหกรรม การเลือกซื้อหาผักผลไม้ที่ไว้ใจว่าปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แถมองค์ความรู้ในการเลือกบริโภคของเมืองไทยยังปะปนความเข้าใจผิดหลายประการอย่างไม่น่าเชื่อ

เรียนวิธีดูสารเคมีในผักผลไม้แบบลงลึก กับ ThaiPan

ความเข้าใจผิดเหล่านี้คือแรงผลักดันให้หลายฝ่ายในวงการอาหารปลอดภัย ทำงานหนักเพื่อส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องและครอบคลุมสู่สังคม หนึ่งในนั้นคือ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ThaiPan) ซึ่งร่วมมือกับหลายภาคส่วนทำงานในประเด็นดังกล่าวมานานหลายปี และล่าสุดกับงานเสวนาในหัวข้อ ‘รู้จักสารเคมีในผักผลไม้’ ที่จัดขึ้น ณ สวนชีววิถีเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจประเด็นอาหารปลอดภัย เข้าร่วมเรียนรู้เรื่องสารเคมีในผักผลไม้อย่างลงลึกไปด้วยกัน  

เราเองได้ไปเข้าร่วมมาเช่นกัน โดยภายในงานมีหลายประเด็นน่าสนใจ กว่านั้นบางประเด็นยังเป็นเรื่องใหม่ ที่ทำให้ความเข้าใจเรื่องผักผลไม้ปลอดภัยของเราเปลี่ยนไปจากเดิม

ตรารับรองอาหารปลอดภัย ส่วนใหญ่ยังคงไม่ปลอดภัย

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช วิทยากรหลักในงานเสวนาครั้งนี้ เปิดเผยข้อมูลว่า ท่ามกลางการเติบโตของการทำเกษตรในระบบอุตสาหกรรม (เกษตรเชิงเดี่ยว) ในอีกมุม หลายฝ่ายต่างก็ผลักดันให้เกิดการจัดการกับประเด็นปัญหาดังกล่าว ผ่านการพัฒนาระบบเกษตรปลอดภัย ไล่เรียงตั้งแต่การพัฒนาต้นน้ำ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรในการทำเกษตรโดยไม่พึ่งพาสารเคมี การพัฒนาระบบการจัดเก็บและขนส่งสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานสากล รวมถึงการพัฒนามาตรฐานสินค้าปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และเพื่อสร้างตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยให้ยั่งยืนในระยะยาว

ทว่าเมื่อมองในรายละเอียด ปัจจุบันมาตรฐานสินค้าปลอดภัยก็ยังมีจุดอ่อนหลายจุด อ้างอิงจากข้อมูลที่คณะทำงานดำเนินการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างในผักผลไม้จากทั้งตลาดค้าปลีก ตลาดค้าส่ง และห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 พบว่าผักผลไม้ที่ได้รับตรารับรองส่วนมากยังคงมีสารเคมีปนเปื้อน

อาทิ ผักผลไม้ที่ได้รับตรารับรอง Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ตรวจพบสารเคมีตกค้างราว 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสุ่มตรวจ ซึ่งนับเป็นตรารับรองที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างมากที่สุด รวมถึงผักผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับตรารับรอง Organic Thailand ก็กลับพบสารเคมีตกค้างราว 25 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสุ่มตรวจ โดยผักผลไม้ที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือโมเดิร์นเทรดมีอัตราส่วนสารเคมีปนเปื้อนใกล้เคียงกับตลาดสดทั่วไป แม้วางจำหน่ายในราคาสูงกว่าผักผลไม้ตามตลาดสดก็ตาม

ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ยังคงน่าเป็นห่วง

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัยในไทยคือ ‘การสวมสิทธิ์’ และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่ยังมีข้อบกพร่อง โดยคณะทำงานได้สุ่มตรวจสอบข้อมูลของผักผลไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยประเภทต่างๆ ผ่านการอ่านคิวอาร์โค้ดบนห่อสินค้า พบว่าข้อมูลจำนวนมากไม่ตรงกับชนิดของผักผลไม้

กว่านั้นยังเป็นข้อมูลเก่าที่หมดอายุการใช้งาน ส่วนประเด็นการสวมสิทธิ์นั้นนับเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัยในปัจจุบัน โดยเฉพาะผักผลไม้ที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นพบการสวมสิทธิ์มากเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากระบบจัดจำหน่ายที่ต้องการสินค้าเกษตรในปริมาณมากและอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตบางรายจึงลักลอบนำสินค้าเกษตรจากแปลงอื่นสวมรอยส่งขายให้ทันความต้องการ

ผักมีรูอาจไม่ปลอดภัย และผักพื้นบ้านไม่ได้น่าไว้ใจทุกชนิด

ประเด็นน่าสนใจถัดมาคือ การรับมือกับสถานการณ์สารเคมีตกค้างในผักผลไม้ ที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและใช้องค์ความรู้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้เสนอวิธีการเลือกซื้อและเลือกบริโภคผักผลไม้ไว้ว่า ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญที่ ‘แหล่งผลิต’ และ ‘กระบวนการผลิต’ มากกว่าข้อสังเกตพื้นฐานที่บางครั้งอาจให้ผลคลาดเคลื่อน

อาทิ ผักพื้นบ้านบางชนิดอาจมีสารเคมีปนเปื้อนได้เช่นเดียวกันหากปลูกในพื้นที่ใกล้กับเขตอุตสาหกรรม หรือเป็นผักพื้นบ้านที่กำลังได้รับความนิยม เช่น ใบบัวบก ที่สุ่มตรวจพบสารเคมีตกค้างมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งกว่านั้น ข้อสังเกตเรื่อง ‘รูหนอน’ บนใบผักก็อาจไม่ใช่เครื่องยืนยันความปลอดภัยเสมอไป เนื่องจากมีผลการศึกษารายงานว่าเมื่อผักเริ่มมีหนอนกัดกิน เกษตรกรบางรายจะเร่งพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ทำให้บางครั้งผักมีรูกลับมีปริมาณสารเคมีตกค้างมากกว่าผักใบสวยเสียด้วยซ้ำ

แล้วเราจะทำยังไงกันดี

ท้ายสุด คณะทำงานจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้รวบยอดเนื้อหาของเวิร์กช็อปไว้ว่า การพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยให้มีมาตรฐานในระยะยาวนั้น จะต้องเป็นการพัฒนาพร้อมกันทั้งระบบ นับแต่การผลิต จัดจำหน่าย รวมถึงการส่งต่อองค์ความรู้ที่ถูกต้องชัดเจนให้แก่สังคม

ส่วนเราผู้บริโภคเอง ก็มีบทบาทได้ในการช่วยกันส่งต่อความรู้ที่ถูกต้อง เมื่อสังคมมีชุดข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน ก็จะเกิดการตั้งคำถามกับระบบอาหารและร่วมมือกันตรวจสอบความปลอดภัยอย่างกว้างขวาง รวมถึงหาหนทางในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิม

ข้อมูลจาก: งานเสวนาในหัวข้อ ‘รู้จักสารเคมีในผักผลไม้’ โดย เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ThaiPan) ณ สวนชีววิถี

ภาพถ่าย: ม็อบ อรุณวตรี