เพราะว่าปัญหาขยะนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกๆ วัน การรณรงค์ลดใช้พลาสติกกับผู้ใหญ่หรือบุคคลทั่วไปนั้นยังไม่เพียงพอที่ขับเคลื่อนสังคมให้ไร้ขยะได้ การปลูกฝังเด็กๆ คนรุ่นใหม่ ให้รู้จักและใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ
โครงการ Chula Zero Waste ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่พยายามส่งเสริมค่านิยม ปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาขยะในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านโครงการและสื่อที่หลากหลายโดยหนึ่งในนั้นคือหนังสือ ‘อะไรอยู่ในทะเล’ นิทานที่จะปลูกฝังเด็กๆ วัยประถมให้รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น
สื่อสารอย่างสนุกสนาน ให้เด็กๆ เข้าใจ
หนังสือ ‘อะไรอยู่ในทะเล’ เป็นผลผลิตที่โครงการ Chula Zero Waste ได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์ Happy Kids เพื่อสร้างสรรค์หนังสือนิทานที่ว่าด้วยเรื่องขยะพลาสติกและไมโครพลาสติก โดยมุ่งหวังจะให้เด็กเล็ก เด็กประถมได้ความรู้ เกิดความตระหนักต่อปัญหาที่มีอยู่ จนเกิดเป็นความคิดที่จะปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยจะสื่อสารแนวคิดเหล่านี้ผ่านนิทานเนื้อหาสนุก อ่านง่าย และตัวละครที่เด็กๆ ชื่นชอบอย่างแก๊งไดโนเสาร์
ในงานเปิดตัวหนังสือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โครงการ Chula Zero Waste ได้พาเราย้อนไปนึกถึงบรรยากาศการฟังนิทานในวัยเด็ก โดยได้น้องโอมเพี้ยง-เด็กชายธีรวิษณุ์ วงษ์เหมือน จากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม มาเล่าเรื่องราวของแก๊งไดโนน้อยที่หลุดเข้าไปในวังน้ำวน จนไปเจอกับแม่วาฬที่เกยตื้นติดเกาะบนชายหาดแห่งหนึ่ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นการผจญภัยของแก๊งไดโนน้อยที่พยายามทำให้แม่วาฬและลูกวาฬเจอกันให้ทุกคนได้ฟัง
นอกจากกิจกรรมอ่านนิทานแล้วยังมีกิจกรรม Mini Talk ที่ชวนคุณริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด และคุณมณิศา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้แต่งนิทานมาเล่าถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ด้วย
“ก่อนที่จะทำนิทานเกี่ยวกับการลดขยะ เราได้อ่านข่าวเกี่ยวกับวาฬนำร่องตัวหนึ่ง ที่มาเกยตื้นที่ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในข่าวบอกว่าเมื่อผ่าท้องออกมาแล้วเจอขยะพลาสติกมากถึง 8 กิโลกรัม เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมากสำหรับเรา นิทานเรื่องนี้จึงอยากนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครที่เป็นวาฬ
“โดยเนื้อเรื่องจะเน้นความผูกพันของแม่และลูก เพราะการจะสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กเล็ก ต้องเป็นเรื่องราวที่เข้าถึงใจเขา เป็นเรื่องราวใกล้ตัวที่เด็กๆ รู้สึกมีประสบการณ์ร่วมได้ เช่น เรื่องแม่ป่วย การต้องห่างจากแม่ เรื่องราวเหล่านี้จะเป็นกลายเป็นประเด็นที่อยู่ในจิตใจของเขา”
คุณมณิศาเล่าว่าสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์นิทานให้ได้ประสิทธิภาพ นอกจากเนื้อเรื่องที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกมีประสบการณ์ร่วม เรื่องราวยังต้องชวนให้เขาหัดคิดวิเคราะห์ด้วย “หนังสือเล่มนี้เราตัดสินใจให้จบแบบปลายเปิด ไม่จบแบบ happy ending เพื่อให้สุดท้ายเขาได้ฉุกคิด แล้วสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปในใจ เด็กๆ จะมีความรู้สึกว่าเขาอยากลดใช้ขยะ ลดพลาสติกตามที่หนังสือแนะนำ เพื่อให้แม่วาฬและลูกวาฬได้เจอกันอีก”
นิทานเรื่องนี้ไม่เพียงแค่มีเนื้อหาชวนติดตาม มีภาพการ์ตูนสีสันสวยงามน่าอ่าน ยังมีการสอดแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะและแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เด็กๆ สามารถทำได้ เพื่อให้นิทานเล่มนี้ทั้งสร้างแรงบันดาลใจและสร้างนิสัยการลดขยะในเด็กเล็กได้อย่างแท้จริง
สำรวจสถานการณ์ขยะในทะเลปัจจุบัน
นอกจากการพูดคุยถึงที่มาของหนังสือแล้ว ในงานเปิดตัวยังได้พูดคุยกับ รศ.สพ.ญ.ดร. นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความสำคัญของนิทานเล่มนี้และสถานการณ์ของขยะในท้องทะเลปัจจุบัน
คุณนันทริกาบอกว่าการดำเนินเรื่องราวผ่านตัวละครอย่างวาฬนั้นไม่เพียงแค่ทำให้เด็กๆ เข้าใจปัญหาขยะเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กๆ รักธรรมชาติและรู้สึกหวงแหนธรรมชาติได้ด้วย
“เราจะบอกเด็กๆ ทุกคนว่าทุกครั้งที่หนูเก็บขยะไปทิ้ง หนูช่วยสัตว์ทะเลได้ 1 ชีวิตแล้ว เพราะขยะเพียงแค่ 1 ชิ้น ก็สามารถคร่าชีวิตสัตว์ทะเลได้”
“ย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน เราเจอฉลามวาฬตัวเบ้อเริ่มขึ้นมาเกยตื้นที่คลองด่าน พอตรวจสอบแล้วพบหลอดนมพลาสติกแข็งๆ หลุดเข้าไปในกระเพาะอาหาร ซึ่งหลอดนี้พอไปเจอกรดในกระเพาะอาหาร ก็เสียบทะลุกระเพาะอาหารของฉลามวาฬตัวนั้น แล้วทำให้เกิดการอักเสบข้างในช่องท้องของฉลามวาฬ เคสนั้นเป็นรายแรกที่หมอเห็นชัดที่สุดเลยว่าขยะมันน่ากลัวมาก แม้จะผ่านไป 20 ปี เราก็ยังจำได้”
“เคสใกล้เคียงที่เราเพิ่งเจอ เกิดขึ้นที่เวียดนาม มีแม่วาฬมาเกยตื้น ซึ่งตอนแรกเขาหาสาเหตุไม่ได้ พยายามตรวจสอบแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไรทำไมถึงมาเกยตื้น ปรากฏว่าก่อนเขาตายได้พ่นลมหายใจเฮือกสุดท้ายที่มีซองลูกอมอันเล็กๆ ออกมา เราจึงได้รู้ว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกชิ้นเล็กๆ นี่แหละ ที่อุดเข้าไปอยู่ในหลอดลม ทำให้เขาเริ่มดิ้นรน ในที่สุดเขาทนกับความเครียดไม่ไหวจึงตาย น่าเศร้ากว่านั้นก็คือตอนที่เขาตาย เขาแท้งลูกออกมาด้วย นี่คือที่สุดของความเลวร้ายของขยะในทะเลที่เราเจอ แม้จะเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ก็สามารถฆ่าสัตว์ที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลกได้”
คุณนันทริกากล่าวเพิ่มว่าปัจจุบันปัญหาขยะในท้องทะเลนั้นร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิด สารพัดขยะที่ถูกทิ้งลงไปในทะเลไม่เพียงแค่ทำให้สัตว์ทะเลที่กินเข้าไปตาย แต่มันยังย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่ตกทอดอยู่ในวัฏจักรอาหารวนมาให้คนกิน
“การตื่นตัวในเรื่องของขยะมีความสำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะชิ้นๆ หรือขยะไมโครพลาสติก นาโนพลาสติก อย่างที่เราเห็นข่าวว่าปลาทูหรือหมึกมีไมโครพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งจริงๆ เราพบสิ่งเหล่านี้มานานและกินกันมานาน แต่อย่างน้อยก็ถูกพูดถึงเสียที ในเวลานี้เราเหมือนอยู่ในถ้วยซุปของปัญหาพลาสติก ไม่มีทางออกไปได้ แค่ต้องใช้ชีวิตอย่างไรให้ดีที่สุด ทั้งการลดขยะส่วนตัวและการจัดการขยะในภาพรวม”
ปลูกฝังเรื่องขยะให้เด็กๆ เข้าใจ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัจจุบัน
คุณมณิศาบอกว่าการปลูกฝังเรื่องขยะผ่านนิทานให้เด็กๆ เข้าใจนั้น สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย โดยมีคำแนะนำในการอ่านนิทานดังนี้
- คุณครูหรือคุณพ่อคุณแม่จะต้องอ่านหนังสือทั้งเล่มให้เข้าใจก่อนว่านิทานมีประเด็นอะไรอยู่บ้าง เมื่ออ่านจบแล้วเด็กๆ ควรได้อะไร
- เริ่มอ่านนิทาน โดยอ่านเนื้อเรื่องของแก๊งไดโนน้อยที่ดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบ
- เมื่ออ่านเรื่องราวจบแล้วจึงชวนเด็กๆ พูดคุย ให้แสดงความเห็นกับเนื้อเรื่อง สอบถามความรู้สึกของเด็กๆ ว่าอ่านจบแล้วรู้สึกอย่างไร
- จากนั้นผู้อ่านจึงค่อยๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขยะที่แทรกอยู่ในหนังสือ เด็กเล็กอาจจะให้ข้อมูลง่ายๆ เช่น มีขยะในท้องทะเล ขยะทำให้สัตว์ทะเลตายได้โดยไม่ต้องลงรายละเอียด ส่วนเด็กโตสามารถให้ข้อมูลที่มากขึ้น เป็นข้อมูลเชิงสถิติหรือข้อมูลที่มีความซับซ้อน เช่น เรื่องไมโครพลาสติก
- สามารถเชื่อมโยงกับข่าว เหตุการณ์ในชีวิตจริงของเราได้ เพื่อให้เด็กๆ เห็นว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในหนังสือเท่านั้น แต่เป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโลก
- นำไปปฏิบัติจริง ซึ่งในหนังสือเองได้มีคำแนะนำสำหรับเด็กๆ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วย
ก่อนจะจบกิจกรรมงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ คุณวรุณ วารัญญานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste ได้กล่าวว่าการปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้เด็กๆ นั้นเป็นเรื่องดี แต่การแก้ไขปัญหาเปลี่ยนพฤติกรรมโดยผู้ใหญ่ในปัจจุบันก็สำคัญไม่แพ้กัน
“เราพยายามสร้างเมล็ดพันธ์ุที่ดี เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เชื่อว่าเด็กๆ ที่ได้อ่าน ได้เห็น โตขึ้นเขาจะมีแนวคิดนี้ติดอยู่ในหัวเขาเสมอ แต่การแก้ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่อยู่ในมือของเราทุกคนเช่นกัน การฝากฝังอนาคตกับเด็ก ปลูกฝังแล้วรอให้เขามาแก้นั้นเป็นสิ่งที่เห็นแก่ตัวเกินไป ปัญหาในทุกวันนี้เราสร้างมา 20-30 ปีแล้ว เราจึงต้องเป็นคนแก้”
“ที่ผมอยากบอกทุกคนคือ การปลูกฝังเด็กเป็นสิ่งที่ดี
แต่คนที่แก้ต้องเป็นตัวเรา”
หนังสือ ‘อะไรอยู่ในทะเล’ จะถูกมอบให้กับโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ โรงเรียนทอสี และโรงเรียนวัดปทุมวนารามเพื่อให้เด็กๆ ได้อ่านต่อไป สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจหนังสือเล่มนี้สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง http://m.me/chulazerowaste
ภาพถ่าย: CHULA Zero Waste, มณีนุช บุญเรือง