ในฤดูกาลแห่ง festive แบบนี้ ดูเหมือนว่ากรุงเทพฯ จะอบอวลไปด้วยพลังงานดี ๆ เพราะมีกิจกรรมน่ารักแฝงสาระชวนให้เราออกจากบ้านกันถี่ ๆ ซึ่งแรงดึงดูดของแต่ละงานที่ครีเอตกันอย่างไม่ประนีประนอมไอเดียก็เกินต้าน หนึ่งในนั้นคืองาน ‘WOW อัศจรรย์เมืองน่าอยู่’ ที่แม้งานจะจบไปแล้วก็ยังมีอะไรให้เราอยากจะพูดถึงและบันทึกเอาไว้ถึงความตั้งใจดี ๆ ที่ผู้จัดส่งมาให้ ผ่านคอนเทนต์ที่กระจายตัวกันอยู่ในสวนเบญจกิติ ทั้งพื้นที่ในสวน และอาคารโรงงานยาสูบเดิมที่ตอนนี้ปรับหน้าที่ตัวเองมาเป็นพิพิธภัณฑ์ใจกลางเมืองไปแล้ว

‘WOW’ ในความหมายที่เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจนั้น อีกนัยหนึ่งคือเป็นคำย่อของ ‘Wonder of Well Being’ ชื่องานที่ชูแนวคิด ‘Well-being City’ สะท้อนมุมมองของการพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลากหลายมิติ ผ่านการออกแบบเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งคำว่า ‘น่าอยู่’ ที่ตีความออกมา ก็มีทั้งน่าอยู่ในเชิงกายภาพ-น่าอยู่ในเชิงจิตใจ และควรจะต้องเดินไปด้วยกัน โดยผู้ร่วมกันสร้างสรรค์งานนี้ขึ้น ก็มีทั้งภาครัฐคือกรุงเทพมหานคร องค์กรเอกชน สถาบัน และภาคประชาชน ที่หวังอยากจะเห็นเมืองนี้พัฒนาไปอย่างยั่งยืน

นอกจากพื้นที่สร้างสรรค์ที่ออกแบบขึ้นในเชิงศิลปะ ของเหล่าพาร์ตเนอร์จากวงการเรียลเอสเตทภายในสวน ที่ชวนให้ผู้คนออกมาสนุกกับการถ่ายรูปแล้ว แต่ละจุดล้วนแฝงเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของเมืองเอาไว้ให้เราได้ฉุกคิดตาม ขณะเดียวกันก็ได้อัพเดตนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์โลกที่หมุนไป ส่วนพื้นที่พิพิธภัณฑ์หรืออาคารโรงงานยาสูบเดิม จัดเป็นพื้นที่นิทรรศการเชิงประสบการณ์ เวทีแสดงวิสัยทัศน์ และสะท้อนความคิดเห็นเพื่อช่วยกันหาคำตอบให้กับโจทย์ของเมืองที่มีความสลับซับซ้อนในบริบท เกิดเป็นแนวคิดที่น่าสนใจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคต ฯลฯ

เราเก็บตกสาระและความน่ารักน่าสนใจของงาน แนวคิดที่ชวนคิดตาม ไปจนถึงสิ่งที่เราสามารถหยิบจับมาเป็นไอเดียเล็ก ๆ ว่าเราซึ่งก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเมือง จะช่วยออกแรงผลักให้เมืองนี้น่าอยู่ได้ยังไงบ้าง

Installation Art สะท้อนแนวคิดใหม่ของเมืองและสิ่งก่อสร้าง
เมืองกับสิ่งก่อสร้างเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด เราจึงได้เห็นแนวคิดการพัฒนาเมืองของแวดวงอสังหาริมทรัพย์นำเสนอแนวคิดและนวัตกรรมผ่านการจัดแสดงศิลปะ ที่ชวนให้ทุกคนมาถ่ายรูปเช็กอิน และได้ว้าวไปกับไอเดียต่าง ๆ เริ่มจาก ‘Here Comes the Sun’ ผลงาน Installation Art ของ SC Asset ที่ใครไปงานนี้แล้วต้องถ่ายรูปเช็กอิน เพราะเขานำเอาลูกบอลสะท้อนแสงแวววาว 9 ลูกมาติดตั้งท่ามกลางทุ่งทานตะวัน สะท้อนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ใน 9 มิติ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้นยังแทรกแนวคิดการจัดการขยะซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการดูแลโลก ผ่านจุดทิ้งขยะที่ติดตั้งลูกบอลสีส้มเจิดจ้าเหมือนดวงตะวันอยู่ทั่วงาน

เราสะดุดตากับต้นไม้ขนาดใหญ่ในสวนเบญจกิติ ที่ห่อหุ้มลำต้นเอาไว้ด้วยงานนิตติ้งหลากสีสัน งานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘Crafted Space & Cuddling’ ของ Asset Wise ซึ่งศิลปินผู้ลงมือถักนิตติ้งผืนใหญ่โตนี้ คือ BigKnit ที่มีชื่ออยู่ในแวดวงงานคราฟต์มานาน ผ้าผืนนี้เกิดจากการนำเอาวัสดุอย่างไหมพรมใช้ซ้ำ เสื้อยืดเก่า มาออกแบบเป็นผลงาน เพื่อสะท้อนแนวคิดในการทะนุถนอมธรรมชาติ ที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างกระทบธรรมชาติน้อยที่สุด นอกจากงานถักผืนใหญ่ที่โอบรอบต้นไม้ งานผ้าใช้ซ้ำเหล่านี้ยังปรากฏผ่านที่นั่งในสวน เนินดอกไม้ และชวนให้คนมาร่วมกิจกรรมถักนิตติ้งกันเพลิน ๆ ในงานด้วย

ส่วนภาพศิลปะขนาดใหญ่ที่ติดตั้งเป็นแบ็กกราวนด์ให้คนได้มาถ่ายรูป คืองานของ Ananda ที่ชักชวนบรรดาศิลปินไทยมาร่วมจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น วิศุทธิ์ พรนิมิตร กับเด็กหญิงมะม่วงของเขา, try2benice กับงานสไตล์มินิมอลที่คุ้นตา, Nut Dao, Lolay & Family ที่นำผลงานมาแสดงครบทั้งพ่อแม่ลูก และ Kon to Mor ที่พากันมาพูดเรื่องเมืองน่าอยู่ผ่านภาพคน ต้นไม้ เมือง และยวดยานในเมือง เพื่อสะท้อนความเห็นและมุมมองที่เมืองควรเป็นพื้นที่ที่ถูกออกแบบให้รองรับกับวิถีการใช้ชีวิตที่แตกต่างและละเอียดอ่อน

ขั้นบันไดสูงสีเขียวพาสเทลที่ติดตั้งอยู่กลางพื้นที่สวนของ Jorakay ชวนให้คนเดินขึ้นไปมองบรรยากาศจากมุมบน คือบันไดที่สร้างขึ้นด้วยส่วนประกอบของนวัตกรรมก่อสร้าง อย่างวัสดุปิดขอบกันกระแทกที่ปราศจากสารอันตรายและโลหะหนัก ผ่านกระบวนการผลิตที่ควบคุมการใช้วัสดุอันตรายเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3 หรือสีที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เหมือนต้นไม้ เพราะผลิตด้วยหินปูนธรรมชาติคุณภาพสูง เสริมเทคโนโลยีกราฟีนเพื่อความแกร่งของวัสดุ โดยการทาสีชนิดนี้บนพื้นที่ 1 ตารางเมตร จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 54.54 กรัม ใน 1 วัน

ขณะที่สี TOA สร้างประสบการณ์ร่วมกับคนที่มาชมงาน ด้วยงานศิลปะแนวทดลอง Drip Painting with CARE ที่ชวนเรามาหยดสีที่ปราศจากกลิ่นฉุนและไม่เป็นอันตราย เพื่อให้เกิด marble effect ตามธรรมชาติ และงานหยดสีนี้จะนำไปประกอบร่างเป็นงานศิลปะ Glom-Green โดย Jirayu Koo ศิลปินนักวาดประกอบที่มีผลงานเป็นที่รู้จักอยู่มากมาย

งานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่ดูหวือหวาด้วยสีสันและการเล่นสนุกกับเทคโนโลยี คือ Solar Kaleidoscope ของ SCG ที่ปิดภายนอกด้วยวัสดุกระจก เพื่อผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งกับสภาพแวดล้อม ภายในอุโมงค์ฉายภาพที่คนเข้าชมวาดได้เอง พร้อมทั้ง video visual ที่สะท้อนมุมมองดีๆ จากธรรมชาติ และมีส่วนแสดงการติดตั้งและระบบการทำงานของชุดโซลาร์เซลล์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานในอุโมงค์ โดยงานชุดนี้ต้องการจะบอกกับเราถึงยุคของการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ที่เราสามารถผนวกเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้กับชีวิตประจำวัน ที่ตอบโจทย์กับการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบ้านได้

และที่ติดตั้งอยู่ใกล้กัน คือหอฟอกอากาศแบบมินิ ‘ฟ้าใส มินิ’ นวัตกรรมเพื่อคุณภาพอากาศ โดย RISC by MQDC โดยนำหลักการมาจากหอดักจับอากาศมลพิษอุตสาหกรรมแบบเปียก (wet scrubber) เพื่อสร้างต้นแบบหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด ทำงานด้วยพลังงานจากแผงโซลาร์ ร่วมกับระบบพลังงานไฟฟ้าทั่วไปเพื่อลดภาระการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน โดยการทำงานของหอฟอกอากาศมินิจะดูดอากาศจากผนังด้านข้างเข้าไปในแชมเบอร์ทรงกระบอก ผ่านระบบหัวฉีดสเปรย์จนเกิดรูปแบบไซโคลน สามารถดักจับฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กได้ถึง 0.3 ไมครอน ซึ่งนั่นหมายความว่าเล็กกว่าฝุ่น PM2.5 และ PM10 อากาศที่ผ่านออกมาจะถูกฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบ UVGI เกิดเป็นอากาศสะอาดในท้ายที่สุด

Thematic Pavilion สู่ฝันในการทำเมืองให้น่าอยู่
จากบรรยากาศสนุก ๆ ในสวน เราขยับมาสู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ของอดีตโรงงานยาสูบ พื้นที่จัดแสดงเนื้อหาของการพัฒนาเมืองที่เข้มข้นขึ้น ไฮไลต์อยู่ในโถงที่พาดคลุมด้วยผ้าสีสดหลากสี ซึ่งเป็นห้องที่ชวนเราตั้งคำถามและเปิดมุมมองของเมืองแห่งอนาคต ว่ามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางแบบไหน โดยคาดการณ์ผ่านการวิเคราะห์รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคาดหวัง และผลกระทบที่เกิดกับภาคธุรกิจในการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและควรจับตามองจะมีอยู่สองด้าน คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ก่อนจะนำไปสู่อุโมงค์เวลาที่พาเราเดินทางจากปัจจุบันไปสู่อนาคตถึงปี 2032 ว่าการเปลี่ยนแปลงในชิงโครงสร้างและเชิงระบบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อชีวิตพวกเราอย่างไรบ้าง

ส่วนอีกห้องนิทรรศการถัดไป นำเสนอการออกแบบเมืองในอุดมคติที่เกิดขึ้นแล้ว โดยองค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่รองรับการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิตของคนเมืองในทุกระดับมากกว่า 10 โครงการ ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองการออกแบบที่ให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และผู้คน ทั้งโครงการในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นอกจากจัดแสดงผ่านนิทรรศการ ยังมีการจัดกิจกรรม WOW Archi-Tour นำชมสถาปัตยกรรมอย่างสร้างสรรค์และวิถีชุมชนในพื้นที่จริง โดย ASA จัดประกวดภาพถ่ายสะท้อนความเป็นเมืองน่าอยู่ กิจกรรม City Co-Creation ที่หลายภาคส่วนได้มาร่วมหารือแนวคิดให้ย่านปทุมวันซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าทำงาน น่าเรียนรู้ สอดคล้องกับนโยบายเมืองเดินได้และเมืองสีเขียวของกรุงเทพมหานคร รวมถึง WOW Forum ตลอดทุก 5 วัน ตั้งแต่ 23-27 พฤศจิกายน 2565 ครอบคลุมในหลายบริบทของการพัฒนาเมืองทั้ง 5 ธีม อาทิ Into the City, People and the City,Tech for Better Liiving, Enjoy the City และ Into the Future โดยสปีกเกอร์จากหลากหลายสาขา

ด้วยการออกแบบและจัดวางเนื้อหาได้อย่างน่าสนใจ และสอดแทรกความเพลิดเพลินให้กับผู้เข้าชมโดยแฝงสาระเอาไว้อย่างไม่ยัดเยียด ทำให้งานนี้เป็นหนึ่งในอีเวนต์ส่งท้ายปลายปีที่สะท้อนความฝัน มองเห็นความหวัง ซึ่งล้วนต่างต้องการให้เมืองที่เราอาศัยมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม

ภาพ : ศรัณย์ แสงน้ำเพชร