“เราเอาหินธรรมชาติมาโดยเสียแค่ค่าขนส่งและแรงงาน ทั้งที่จริงแล้วมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายค่าหยิบยืมธรรมชาติ หิน Rerock เป็นเพียงหนึ่งในการนำขยะกลับมาและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง”

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ ‘QUALY’ ผู้นำวัสดุเหลือทิ้งมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อโลกเปรียบเทียบให้ฟังถึงการเอาเปรียบสิ่งแวดล้อมของมนุษย์

‘Rerock’ คือหินกรวดตกแต่งสวน ออกแบบโดย ‘QUALY x Won (โครงการวน)’ เพื่อลดการนำหินจากธรรมชาติมาใช้งาน โดยเปลี่ยนเป็นการนำพลาสติก เช่น ถ้วยกาแฟ กล่องอาหาร (จากวัสดุ PET) และหลอดพลาสติกใช้แล้วมาผสมเข้ากับแคลเซียมที่เป็นเศษเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรม ‘Salee Colour PLC’ กระทั่งได้ออกมาเป็นหินหลากหลายโทนสี ไม่ต้องควบคุมรูปร่าง ประหยัดพลังงาน และลดของเสียในการผลิต การันตีด้วยรางวัลออกแบบยอดเยี่ยม Design Excellence Award (DEmark) 2022

ธีรชัยเล่าว่า ขยะล้นโลกเป็นปัญหาที่ไม่ต้องสำรวจก็เห็นอยู่ทุกวัน แต่นอกจากเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขยะยังเป็นปัญหาด้านทรัพยากรด้วย เพราะต้นทางของขยะที่แท้จริงมาจากธรรมชาติ เมื่อถูกมนุษย์ใช้จนหมดประโยชน์อย่างรวดเร็วจึงกลายเป็นขยะกลับสู่ป่า เขา แม่น้ำ จนถึงทะเลอีกครั้ง

“พวกเราใช้อย่างเดียว ไม่รับผิดชอบกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างทาง สาเหตุที่แท้จริงจึงเป็นการผลิตและการบริโภค” ธีรชัยสรุปปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ QUALY ไม่ใช่บริษัทที่ใหญ่พอจะนำขยะทั้งหมดกลับมารีไซเคิลเมื่อเทียบกับปริมาณขยะในระบบทั้งประเทศ ความคิดสร้างสรรค์จึงถูกนำมาใช้ประกอบการเล่าเรื่องผ่านสินค้าดีไซน์ เพื่อให้คนตระหนักถึงดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเมื่อยืมทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ซึ่ง ‘หิน Rerock’ ถือเป็นหนึ่งผลงานที่เกิดขึ้น เพื่อจัดการปัญหาเชิงปริมาณ โดยนำขยะกลับมาสู่ระบบในฐานะทรัพยากรที่ใช้ต่อได้

“การนำหินจากธรรมชาติออกมาตกแต่งบ้านต้องแลกด้วยอะไรหลายอย่าง บริเวณที่ไปเอามาต้องมีสิ่งมีชิวิตอื่นในระบบนิเวศอาศัยอยู่ และเราไม่ได้เยียวยาสิ่งที่หายไป สิ่งแวดล้อมแถวนั้นต้องสะเทือนแน่นอน ข้อต่อมา แหล่งหินย่อมไม่อยู่ใกล้เมือง การขนส่ง การเดินทางจึงทำให้เกิดมลพิษ แล้วตอนใช้เสร็จก็คงไม่ใช่ทุกครอบครัวที่แบกหินตกแต่งสวนไปบ้านใหม่ หลายคนก็แค่ทุบทิ้งไปพร้อมบ้าน แล้วค่อยไปซื้อหินใหม่ เพราะราคาไม่ได้สูงมาก สวนทางกับปริมาณที่ใช้อย่างเห็นได้ชัด”

เมื่อธีรชัยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเชิงปริมาณ เขาจึงเริ่มที่วงการก่อสร้างก่อน แต่กระบวนการทำหิน Rerock มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าหินธรรมชาติหลายเท่า ทางบริษัทจึงร่วมมือกับเครือข่ายผู้ร่วมอุดมการณ์อื่นๆ เพื่อคิดค้นวิธีการผลิตที่ต้นทุนต่ำและใช้พลังงานน้อยลง และมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘การออกแบบ’

“เราใช้หินในการคลุมพื้น เราเลยออกแบบลักษณะให้หินมีลักษณะแบน ทีนี้ปริมาณหินที่คลุมพื้นก็จะน้อยลงเมื่อเทียบตามปริมาตร เหมือนกับให้เลือกระหว่างเอาลูกแก้วถมพื้นหรือเหรียญบาท อย่างหลังย่อมใช้ปริมาณน้อยกว่า นอกจากนี้ เครื่องจักรที่เราใช้ในการผลิตก็ไม่ต้องควบคุมเรื่องรูปร่าง จากปกติที่เราต้องควบคุมคุณภาพสินค้าให้เหมือนกัน อันนี้ไม่ใช่ การไม่เหมือนกันเป็นจุดดี เพราะมันคือ Natural Look เบี้ยวยิ่งดี นี่จึงเป็นการทำงานแบบ Zero Waste แม้จะหัก แหว่ง บิ่น ก็ใช้ได้หมด”

ส่วนพลาสติกที่นำมาใช้เรียกว่า ‘พลาสติกกำพร้า’ หมายถึงพลาสติกที่ไม่เข้าระบบซื้อขาย หรือแปลว่าไม่มีใครเอา แต่สามารถนำมาขึ้นรูปหรือหลอมได้ ประกอบกับความเป็นหินทำให้ไม่มีใครเพ่งเล็งเรื่องสีมากนัก สีหิน Rerock จึงหลากหลายตามสีของวัสดุต้นทาง มีตั้งแต่สีดำ เทา ฟ้า กรมท่า เขียว ไปจนถึงเหลืองพาสเทล

ทว่าหินรักษ์โลกไม่มีปัญหาเมื่อนำมาใช้ตกแต่งภายในอาคาร แต่เมื่อลูกค้าต้องการนำไปใช้นอกอาคาร คำถามจึงตามมาไม่หยุด “ทนแดดไหม เจอฝนจะเป็นอย่างไร ลอยน้ำได้ไหม เปราะแตกได้หรือเปล่า หลัก ๆ คือเรื่องเจอแดดจะถูกถามเยอะที่สุด เมื่อนำไปใช้ภายนอกอาคารอาจต้องมองเรื่องอายุการใช้งาน จึงมีการเติม Additive หรือสารปรับปรุงเข้าไปในตัวขยะให้ทนต่อ UV ด้วย ส่วนเรื่องลอยน้ำขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุ หากต้นทางเป็นถุงพลาสติก เช่น ถุงยืดหรือฟิล์มพลาสติกยืด (LDPE) ก็จะลอย แต่ถ้ามาจากเศษแห เศษอวน ก็จะจมน้ำ ถ้าลูกค้าอยากนำไปใส่ในบ่อน้ำ น้ำพุ ก็ต้องเลือกเอา” เขาไขข้อข้องใจ ก่อนบอกต่อว่า ถึงอย่างไร หิน Rerock ก็มีน้ำหนักเบากว่าหินจริง เวลาขนส่งย่อมประหยัดพลังงานกว่ามาก

คำถามสำคัญต่อมา คือ หากวันหนึ่งมีการใช้สินค้าดีไซน์นี้อย่างแพร่หลาย แต่จุดจบของหินรักษ์โลกกลับกลายเป็นการถูกโยนทิ้งอย่างมักง่ายไม่ต่างจากเดิม ผลิตภัณฑ์เพื่อโลกชนิดนี้จะเป็นอย่างไรต่อ

“หินรีไซเคิลเป็นผลของการออกแบบ ถ้าเราเปลี่ยนไปทำบล็อกปูน หรืออิฐปูพื้น ข้อเสียมันคือใช้แล้วเอากลับมาไม่ได้อีก มันจะคาอยู่กับสถานที่ ถูกทุบทิ้งไปพร้อมอาคาร แต่หินนี้ลอยตัว โกยกลับมารีไซเคิลได้ QUALY เองก็มีนโยบายรับคืนสินค้าหากไม่ต้องการแล้ว พอกลับมา เราก็นำไปรีไซเคิลต่อ ทีนี้จะขึ้นอยู่กับคนใช้เลยว่าจะจัดการกับมันยังไง รับผิดชอบแค่ไหน อย่างน้อยที่สุดมันก็มีอายุการใช้งานที่ถูกยืดมาอีกรอบ ดังนั้น ถ้าอยู่ในหมวดสถาปัตยกรรม หินนี้จะค่อนข้างอยู่นาน ไม่ต่างจากเครื่องสุขภัณฑ์ต่าง ๆ ในบ้าน”

พูดถึงเรื่องราคาที่ยังสูงอยู่ในตอนนี้ ธีรชัยและทีมทำงานสองทาง คือ หาวิธีลดต้นทุน ซึ่งเป็นเพราะระบบการคัดแยกขยะในไทยยังไม่ดีพอจึงเกิดค่าใช้จ่ายในหลายกระบวนการ อีกทางคือเพิ่มมูลค่าให้กับหินโดยใช้การออกแบบให้เกิดลักษณะพิเศษ แตกต่างจากหินแบนทั่วไป

เจ้าของแบรนด์และทีมใช้เวลาพัฒนาสินค้า 1 ปีเต็ม จนผลลัพธ์ออกดอกออกผล พร้อมกระแสตอบรับที่ดีมาก มีคนสนใจอย่างล้นหลาม ตามมาด้วยการปรึกษาหารือกันเพื่อต่อยอดและดัดแปลงหิน Rerock เป็นรูปแบบอื่น ๆ ในอนาคต

จากการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อโลกมากมาย วันหนึ่งหิน Rerock ย่อมกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใครต่อใครต่างก็รู้จักและหลงรัก แต่ในอนาคต ธีรชัยยังอยากเห็นสินค้าใหม่จากคนอื่น ๆ ทั้งที่ได้แรงผลักดันจากปัญหาและแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของการออกแบบหินนี้

“เราทุกคนมาช่วยกันคิดดีกว่าว่าจะลดทรัพยากรต้นทางได้อย่างไร มีทางออกใหม่ ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมาจาก QUALY แต่มาจากใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ นักธุรกิจ คนทั่วไป การสร้างธุรกิจก็น่าจะเติบโตจากความยั่งยืนของโลกด้วย ผมไม่ได้ชวนคนทำบุญ ยังมองเรื่องการเติบโตทางธุรกิจ แต่เรามองหาวิธีที่จะช่วยโลกควบคู่กันไป แบบนี้น่าจะมีความสุขกว่า”

ธีรชัยปิดท้ายว่า เป้าหมายเรื่องความยั่งยืนที่เขาวางไว้ แม้ทำทั้งชีวิตก็ยังไม่จบ แต่ในขั้นตอนต่อจากนี้คือการเชื่อมโยงกับสังคมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการจับมือกับกลุ่มคนหรือมูลนิธิที่ช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว หรือนำผลิตภัณฑ์เข้าไปช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ภาพ: QUALY