ลองคิดเล่นๆ กันดูไหมว่านอกจากข้าวหอมมะลิหรือเสาไห้ที่เรากินกันอยู่ทุกวัน ยังมีข้าวอีกกี่ชนิดที่เราไม่รู้จักและไม่มีโอกาสได้เลือกลอง? ตัวเลือกอันน้อยนิดนอกจากทำให้ความรื่นรมย์ในการกินข้าวเราลดลง ยังปิดโอกาสในการขายข้าวของชาวนาผู้ปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านชื่อแปลกหู (ข้าวหอมสนั่นทุ่ง ข้าวหอมตาเหลือบ ข้าวหอมนิล ฯลฯ) เพราะเมื่อคนกินข้าวไม่รู้จัก ไม่เห็นคุณค่า และไม่ซื้อ ตัวกลางอย่างบริษัทขายข้าวรายใหญ่หรือซูเปอร์มาร์เก็ตเลยต้องเพลย์เซฟขายเฉพาะข้าวสายแมสอย่างที่เห็น

​แล้วข้าวสายพันธุ์อินดี้ดีกว่าข้าวถุงที่เราหุงกินกันยังไง?

นอกจากกินสนุกเพราะมีให้เลือกหลากหลาย การที่ข้าวพันธุ์พื้นบ้านงอกงามในสภาพแวดล้อมท้องถิ่นยังช่วยให้ชาวนาไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีเพื่อพยุงคุณภาพของข้าวเหมือนกับการดูแลข้าวสายพันธุ์ต่างถิ่นอื่นๆ (พันธุ์ข้าวสายแมสที่ตลาดต้องการ) ข้าวพันธุ์พื้นบ้านส่วนใหญ่เลยสะอาด ปลอดภัย แต่กลับไม่ค่อยได้รับความนิยมในวงกว้างสักเท่าไหร่

​อาการต่อไม่ติดระหว่างคนปลูกและคนกินจุดประกายให้เกิดความเคลื่อนไหวในวงการข้าวไทยมาพักใหญ่ แตกแขนงกลายเป็นกลุ่มคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ตัวกลาง’ ในการจับคู่ชาวนาผู้ปลูกข้าวไร้สารเคมีหรือข้าวอินทรีย์ เข้ากับคนกินข้าวในเมืองหลวง ให้ได้มาเจอกัน เข้าใจกัน และสนับสนุนกันเพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานาน ไม่ว่าจะปัญหาหนี้สินของชาวนาที่เกิดจากต้นทุนสารเคมีที่สูงมาก แถมการหาตลาดให้กับข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านด้วยตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเรื่องความหลากหลายทางอาหารของคนเมืองที่ดูจะลดน้อยลงทุกที เพราะถูกบริษัทผลิตอาหารขนาดใหญ่กุมอำนาจการตัดสินใจไว้หมด

ผูกปิ่นโตข้าว : แพลตฟอร์มจับคู่ เจ้าบ่าวขายข้าวกับเจ้าสาวช่างเลือก

​กลุ่มแรกที่มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องมานานถึง 3 ปีคือ ‘ผูกปิ่นโตข้าว’ เป็นอาสาสมัครอย่างกลายๆ เพราะจับกลุ่มกันโดยไม่หวังผลประโยชน์อันใดและเรียกตัวเองว่าเป็น ‘แม่สื่อ’ ให้กับเจ้าบ่าว คือชาวนาผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ (หรือกำลังจะเลิกใช้สารเคมี) และเจ้าสาว หรือคนเมืองผู้อยากกินข้าวดีมีประโยชน์ จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มง่ายๆ ที่รวมข้อมูลของเจ้าบ่าวไว้ครบครัน ทั้งพันธุ์ข้าวที่ปลูก ปลูกที่ไหน กี่ไร่ เป็นแบบอินทรีย์ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล หรือเป็นแบบปลอดสารเคมีที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา รวมถึงสตอรี่เบื้องหลังการปลูกข้าวของเจ้าบ่าวแต่ละคน รอให้เจ้าสาวมาเลือกผูกสัมพันธ์กันเป็น ‘รายปี’ แค่กรอกรายละเอียดผ่านเว็บไซต์ของผูกปิ่นโตข้าว บอกสเป็คที่ต้องการ จากนั้นทีมงานจะจับคู่ที่เหมาะสมให้ เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะจัดส่งข้าวให้เจ้าสาวทุกเดือนตลอดหนึ่งปี เป็นวิธีประกันราคาที่สร้างความมั่นใจให้ชาวนาว่าจะไม่ถูกทิ้งไว้กลางทาง และจะมีเงินเก็บมากพอนำไปพัฒนาคุณภาพของข้าวในปีถัดไป

​ความพิเศษของแพลตฟอร์มผูกปิ่นโตข้าวไม่ใช่แค่เรื่องทำให้คนเมืองได้กินข้าวดี และชาวนามีช่องทางการขายข้าวที่แน่นอน แต่ยังพยายามทำให้สองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์มากกว่านั้น ผ่านการจัดกิจกรรมให้คนปลูกกับคนกินมาเจอกัน เช่นไปเยี่ยมนาข้าวของเจ้าบ่าว ได้เห็นขั้นตอนหว่านไถ ดำนา เห็นตอนข้าวออกรวง ได้ให้กำลังใจชาวนาแบบถึงเนื้อถึงตัว ส่วนเจ้าสาวเองก็ได้ซื้อข้าวอินทรีย์ราคาถูก เพราะข้าวที่ซื้อไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่บวกราคาค่าขนส่งและอะไรต่างๆ จนแพงระยับ

​แถมแพลตฟอร์มผูกปิ่นโตข้าวยังเปิดโอกาสให้เจ้าบ่าวพัฒนาตัวเองได้แบบอิสระ แต่ก็ยังให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ เหมือนอย่างที่ แทนคุณ Organic Farm หนึ่งในเจ้าบ่าวของโครงการกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายข้าวอินทรีย์เป็นของตัวเอง เพื่อให้การซื้อขายข้าวอินทรีย์ทำได้ง่ายแค่ปลายนิ้วคลิก โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวกำลังจะปล่อยให้เจ้าสาวทั้งหลายลองใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า (ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง www.facebook.com/pages/แทนคุณออร์แกนิคฟาร์ม )

เพื่อนปลูกเพื่อนกิน : แพลตฟอร์มซื้อขายข้าวดีๆ ที่มีหัวใจอยู่ตรงคำว่า ‘เพื่อน’

ส่วนอีกกลุ่มที่ยังคงทำงานต่อเนื่องเหมือนกันคือ ‘เพื่อนปลูกเพื่อนกิน’ เป็นกลุ่มจิตอาสาที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายข้าวอินทรีย์และข้าวปลอดสารพิษ (ข้าวที่ยังไม่ได้รับรองมาตรฐานเกาตรอินทรีย์แต่เลิกใช้สารเคมีแล้ว และกำลังเดินเรื่องขอการรับรอง) จากจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองในการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำนาข้าวจากเคมีมาเป็นอินทรีย์

​ด้วยการให้เพื่อนกินทำความรู้จักชาวนาแต่ละเจ้าผ่านเว็บไซต์ ก่อนเลือกสมัครสมาชิกเป็นรายปี และจัดส่งข้าวที่ตกลงปลงใจซื้อตรงถึงประตูบ้านทุกๆ เดือน โดยเงินส่วนหนึ่งจากการขายจะสมทบอยู่ใน ‘กองทุนกลาง’ ของโครงการ เพื่อให้ชาวนาใช้เป็นต้นทุนในการปลูกข้าวในปีต่อไป แทนการไปกู้ธนาคาร เป็นการช่วยตัดวงจรเป็นหนี้ไม่รู้จบให้หมดไป

​จุดเด่นของโครงการนี้อยู่ตรงการพยายามทำให้ชาวนาเคมีเปลี่ยนแปลงวิถีการทำเกษตรแบบยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนของเพื่อนกินในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะการสมัครสมาชิกซื้อข้าวรายปีแบบที่บอก หรืออยากเป็น ‘เพื่อนกินใจบุญ’ ก็ทำได้ ด้วยการสั่งซื้อข้าวเพื่อบริจาคให้กับองค์กรการกุศล หรือจะเป็น ‘เพื่อนกินบอกต่อ’ ก็ได้เหมือนกัน ด้วยการสมัครมาช่วยกันประชาสัมพันธ์โครงการให้ขยายออกสู่วงกว้างมากที่สุด

​เป็นการเปลี่ยนจากการกินข้าวที่ใครก็ไม่รู้ปลูก และใครก็ไม่รู้ได้ข้าวของเราไปกิน มาเป็นการปลูกข้าวให้เพื่อนกิน และกินข้าวที่เพื่อนปลูก ด้วยความเชื่อว่าเพื่อนย่อมคบหากันด้วยความเข้าใจ ห่วงใย และหวังดี ทำให้ข้าวแต่ละเมล็ดอร่อยจากทั้งคุณภาพและเรื่องราวชวนอิ่มใจในแบบที่ข้าวถุงสำเร็จรูปให้ไม่ได้

ติดตามความเคลื่อนไหว หรือสมัครสมาชิกของทั้งสองโครงการได้ทาง:

www.pookpintokao.com

​www.farmerandfriend.org