ตั้งแต่เด็ก เราเป็นคนไม่ชอบกินถั่ว

ไม่ว่าจะถั่วลิสงในแกงมัสมั่น ถั่วลันเตาในหม้อสตู หรือถั่วฝักยาวในจานส้มตำ ก็ถูกเราเขี่ยไว้ข้างจานเสมอ จนอายุเลยหลักหน่วย ความยี้ถั่วก็ยังไม่หายไปไหน เวลาใครยื่นเจ้าเมล็ดจิ๋วมาให้เราก็บอกปัดอยู่ตลอด

ผ่านไปร่วมสิบปี จังหวะชีวิตกลับลิขิตให้เราพบกับผลไม้รสชาติคล้ายถั่ว…

เมื่อเจอกันครั้งแรก เราคิดว่า ‘ต้นกระบก’ คือมะม่วงสายพันธุ์ท้องถิ่นสักชนิด อาจเพราะมันลำต้นสูงใหญ่ ใบหนาและยาว คล้ายใบมะม่วง (แต่เล็กกว่า) แถมมีผลป้อมสีเขียวจัด ดูเผินๆ เหมือนมะม่วงเบาของชาวใต้ แต่พอลองสอบถามคนเก่าแก่ผู้อาศัยอยู่ในเขตที่กระบกกระจายตัวอยู่หนาแน่นอย่างภาคอีสาน ถึงรู้ว่าส่วนพิเศษที่สุดของต้นกระบกคือ ‘เมล็ด’ ข้างในผลสีเขียวๆ ของมันนั่นต่างหาก

อัลมอนด์ป่านานาสรรพคุณ

“นี่มันอัลมอนด์ชัดๆ” เราคิดในใจเมื่อได้ลองชิมเมล็ดกระบกคั่วครั้งแรก

แต่สิ่งที่ทำให้เราหยิบมันเข้าปากอีกและอีก ทั้งๆ ที่รสชาติเหมือนถั่วราวฝาแฝด อาจเพราะกระบกไม่มีกลิ่นเฉพาะตัวเหมือนถั่วทั่วไป เป็นกลิ่นดินจางๆ ที่ทำให้เราเมินหน้าหนีเสมอมา เมล็ดกระบกสีขาวขุ่นมีเพียงความหอม มัน ให้สัมผัสเหมือนถั่วอัลมอนด์และมีกลิ่นที่ทำให้เราคิดถึงแป้งกับนม

“คนสมัยก่อนจะรอให้ผลมันแก่จัดจนร่วงเกลื่อนพื้น แล้วถึงผ่าเอาเมล็ดกระบกมาตากแห้งเก็บไว้ ตอนจะกินถึงแกะเปลือกออก แล้วคั่วไฟอ่อนๆ กินเล่นก็ได้ หรือเอาไปตำน้ำพริกก็คลุกข้าวอร่อย” คุณยายเจ้าของต้นกระบกใหญ่ที่เราไปใช้เวลานั่งคุยด้วยในบ่ายวันหนึ่งเคยบอกแบบนั้น ก่อนหยิบเมล็ดกระบกแห้งห่อใหญ่ให้เราเอากลับบ้าน

“อย่ากินทีละเยอะล่ะ คนไม่คุ้น กินเยอะๆ แล้วอาจจะเวียนหัว” คุณยายกำชับ ก่อนเล่าถึง ‘อาการเมากระบก’ ให้เราฟังกลั้วเสียงหัวเราะ เป็นอาการหน้ามืดตาลายเพราะกินเมล็ดกระบกที่มีน้ำมันอยู่มากเยอะเกินไป แต่ไม่อันตราย ดื่มน้ำตามเยอะๆ นั่งพักครู่เดียวก็หาย คุณยายว่าอย่างนั้น

​นอกจากรสอร่อยไร้กลิ่นดิน เมล็ดกระบกยังมีสรรพคุณอื่นที่ทำให้เราอินอีกมากมาย ทั้งบำรุงหัวใจ และบำรุงสมอง ช่วยเสริมให้ความจำดี มีผลวิจัยออกมาหากกินเมล็ดกระบกสักวันละกำมือ อาจคือหนทางรอดจากโรคอัลไซเมอร์! ยิ่งกว่านั้น ด้วยความที่เมล็ดกระบกมีน้ำมันดีเพียบ ล่าสุดเลยมีคนสกัดเอาน้ำมันกระบกมาใช้ทำเครื่องสำอาง ให้ความชุ่มชื่นกับผิวในระดับเดียวกับมอยส์เจอไรเซอร์แพงๆ ทีเดียว

เมื่อกระบกกับกล้วยมาเจอกัน

หากอยากมีเมล็ดกระบกให้กินไม่หวาดไม่ไหวก็คงต้องอดใจรอหน้าร้อน เพราะกระบกจะให้ผลผลิตดีสุดช่วงมีนา-เมษา เป็นช่วงร้อนผ่าวๆ ที่ทำให้เรานึกถึงวัตถุดิบอีกอย่างของหน้าร้อน นั่นคือ ‘กล้วยหอม’ ที่มักปรากฎกายในไอศครีมหรือเค้กแสนหวานเพื่อใช้ดับไอร้อนให้เบาบางลง… และถ้าอัลมอนด์สามารถเข้าคู่กับกล้วยหอมได้อย่างลงตัว ทำไมเมล็ดกระบกคั่วจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้?

พอดีกับในสวนเล็กๆ ของบ้านเราเพิ่งให้ผลผลิตเป็น ‘กล้วยหอมทอง’ ที่เฝ้าประคบประหงมดูแลมานานร่วมปี เลยเป็นโอกาสอันดีที่เราจะพาสองของอร่อยจากคนละแหล่งปลูกมาพบกันในเค้กนุ่มๆ ชุ่มเนื้อกล้วย

เค้กกล้วยหอมกระบก

จุดเด่นของเค้กกล้วยหอม คือกลิ่นหอมละมุนของกล้วยที่ผสมเข้ากับแป้งและไข่จนได้เนื้อนุ่มๆ และยิ่งอร่อยขึ้นอีกหากมีสัมผัสเคี้ยวสนุกเพิ่มเข้ามาในตัวเค้ก ที่นิยมใส่ผสมลงไปด้วยก็เช่น อัลมอนด์ หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่สำหรับเราผู้ไม่กินถั่ว แต่เลิฟรสหอมๆ มันๆ ก็ขอใส่เมล็ดกระบกคั่วลงไปแทน…

ใครอยากรู้ว่าสองเพื่อนซี้คนละสายพันธุ์ เมื่อมาเจอกันแล้วจะลงตัวขนาดไหน มาลองทำตามดูได้ดังสูตรต่อไปนี้…

**หมายเหตุ เมล็ดกระบกหาซื้อได้ที่ตลาด อตก.ในช่วง มีนา-เมษาฯ แต่จะพบง่ายกว่ามากตามตลาดสดแถบภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกแถวๆ จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด

ส่วนผสมสำหรับเค้กกล้วยหอมกระบก

​1.กล้วยหอมสุก 200 กรัม

​2.แป้งสาลี 180 กรัม

​3.ไข่ไก่ 2 ฟอง

​4.น้ำตาลทรายชนิดละเอียด 100 กรัม (เราไม่กินหวาน)

​5.น้ำมันพืช 150 กรัม

​6.โยเกิร์ตรสธรรมชาติ 1 ถ้วยเล็ก

​7.นมสด 60 กรัม

​8.เมล็ดกระบก แกะเปลือก แล้วคั่วด้วยไฟอ่อนจนเหลือง ปริมาณตามชอบ

​9.ผงฟู 1 ช้อนชา เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนชา เกลือ 1/2 ช้อนชา

เริ่มอบเค้กกันเลย

​1. บี้กล้วยหอมด้วยส้อมจนละเอียด (หรือใช้เครื่องบดก็ได้ ถ้ากล้วยหอมยังไม่งอมมาก)​ แล้วเติมโยเกิร์ตลงไปผสม บี้ให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วเติมนมสด คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน

​2. ตีไข่ไก่กับน้ำมันจนเป็นเนื้อเดียว

​3. ร่อนแป้ง ผงฟู เบกกิ้งโซดา เข้าด้วยกัน จากนั้นเติมน้ำตาลและเกลือ คนให้ทั้งหมดเข้ากัน

​4. ใส่ไข่ไก่และน้ำมันที่ตีเข้ากันแล้วลงในของแห้ง (ค่อยๆ เติมทีละครึ่งก็ได้) คนให้เข้ากัน จากนั้นเติมเนื้อกล้วยหอมที่บดแล้วตามลงไปช้าๆ คนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน

​5. เติมเมล็ดกระบกที่คั่วแล้วใส่ลงไป ใช้ไม้พายคนเบาๆ ให้เข้ากัน

​6. เทส่วนผสมใส่ในกรวย หรือถาดเค้ก จากนั้นนำเมล็ดกระบกคั่วมาแต่งหน้าตามชอบ (ระหว่างนี้วอร์มเตาอบที่อุณหภูมิ 170 องศาเซลเซียส ไฟบน-ล่าง รอประมาณ 10 นาที แล้วค่อยนำเค้กเข้าเตาอบ)

​7. รอจนกว่าเค้กจะสุก (ขึ้นอยู่กับขนาดเตาอบด้วย)​ เช็คความสุกได้โดยใช้ไม้จิ้มดู ถ้าเนื้อเค้กยังแฉะก็อบต่อจนกว่าจะแห้งดี

ENJOY! 🙂