ฮีโร่อาจไม่ได้มาพร้อมผ้าคลุมหรือใส่กางเกงในไว้นอกกางเกงเสมอไป หากแต่เป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ ที่ช่วยชุบชีวิตใหม่ให้ผลไม้ ที่เกือบจะถูกโยนทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ได้มากถึง 325,000 กิโลกรัมต่อปี!

ด่านสุดท้ายก่อนถึงถังขยะ

Rscued เริ่มต้นราวสองสามปีก่อนด้วยแรงกระตุ้นจากข้อเท็จจริงว่า ผลไม้ที่ปลูกได้ทุกวันนี้จะต้องถูกโยนทิ้งไปอย่างน้อย 30% โดยเฉพาะแอปเปิ้ลที่เป็นผลไม้หลักของสวีเดนนั้นต้องถูกทิ้งถึงราว 226,800,000 กิโลกรัมต่อปี เพราะเน่าเสียคาสวนก่อนถึงมือผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ทรัพยากร พื้นที่ น้ำ พลังงานที่ใช้ปลูกและขนส่งผลไม้สำหรับบริโภค แทบจะเทียบเท่ากับสัดส่วนของทรัพยากร พื้นที่ น้ำ พลังงานที่หมดไปกับผลไม้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานจนต้องโละทิ้ง ก็ยิ่งตอกย้ำว่าสวีเดนหมดเปลืองทรัพยากรการผลิตไปแบบไม่คุ้มค่า


นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า สวีเดนนำเข้าผลไม้ต่อปีในปริมาณมาก แต่ก็ต้องโยนทิ้งในจำนวนมาก แถมยังมาพร้อมค่าจัดการขยะที่ดูจะเป็นการเสียเงินเกินกว่าเหตุ เช่น กล้วยที่มีอัตราการบริโภคราว 18 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ก็ถูกทิ้งมากถึง 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แม้ฟังดูเป็นปริมาณไม่มาก แต่ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะส่วนนี้ก็มากถึง 500 ล้านโครนต่อปี (เทียบเป็นเงินไทยก็ราว 1,800 ล้านบาท) ถ้าพิจารณาว่านี่คือตัวเลขค่าใช้จ่ายสำหรับผลไม้เพียงชนิดเดียว การกดเครื่องคิดเลขรวมค่าใช้จ่ายสำหรับผลไม้ชนิดอื่นด้วยก็ชวนกุมขมับอยู่ไม่น้อย

สิ่งที่น่าแค้นเคืองไปกว่านั้นคือ หลายครั้งผลไม้ถูกคัดออกก่อนถึงมือผู้บริโภคด้วยเหตุผลที่ว่า กล่องบรรจุภัณฑ์บิดเบี้ยว ซึ่งส่งผลให้ผลไม้ในกล่องที่ยังดีอยู่ถูกโละทิ้งไปโดยปริยาย หรือบางครั้งผลไม้จากร้านอาหารก็ถูกโละทิ้ง เพราะดูไม่สดใหม่มากพอ ชาว Rscued มองว่า กฎเกณฑ์นี้ช่างไม่ยุติธรรมสำหรับผลไม้ที่ยังเปี่ยมด้วยคุณภาพและรสชาติเสียเลย พวกเขาจึงยื่นมือเข้ามาเป็นด่านคัดกรองสุดท้ายที่เข้ามากู้ชีวิตก่อนผลไม้จะเดินทางไปยังถังขยะ โดยเริ่มจากการตามล่าช่วยชีวิตผลไม้ที่เกือบถูกทิ้งในเมืองเฮลซิงบอร์ยจากแหล่งขายส่งผลไม้ ร้านผลไม้รายย่อย และเจ้าของสวน แล้วใช้ครัวเล็กๆ แห่งหนึ่งมอบชีวิตใหม่ให้ผลไม้ด้วยการนำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ สมูทตี้ และเครื่องดื่มแบบช็อต

ด้วยสองมือของฮีโร่

ผักผลไม้ยืนพื้นที่ Rscued ช่วยชีวิตเป็นประจำคือ แอปเปิ้ล แพร์ กล้วย ส้ม เลมอน ขิง และสตรอว์เบอร์รี่ ที่เหลือจากนั้นคือผลไม้ตามฤดูกาลตามแต่ที่จะได้รับมาจากแหล่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์ของ Rscued จึงมีเอกลักษณ์ตรงที่ แต่ละล็อตการผลิตพวกเขาจะมีสินค้าออกมาวางขายไม่ซ้ำกัน เพราะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ได้รับมา และแม้จะเป็นเครื่องดื่มจากผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่ก็มีสีสันและรสชาติต่างกัน บางรอบหวานกลมกล่อม แต่บางรอบก็เปรี้ยวสดชื่น ดังที่พวกเขาอธิบายว่า

“เราปล่อยให้ฤดูกาลและการเข้าถึงผลไม้สร้างรสตามธรรมชาติในน้ำผลไม้ เราไม่ได้ควบคุมว่าจะช่วยผลไม้ชนิดไหนในแต่ละรอบ แต่ผลไม้ต่างหากที่ควบคุมเรา!”

นอกจากนี้ Rscued ยังไม่มีการเติมส่วนผสมอื่นๆ แม้กระทั่งน้ำตาล เพื่อปล่อยให้รสชาติตามธรรมชาติของผลไม้ทำงานอย่างเต็มที่

ทุกวันนี้ Rscued ก็ยังเป็นฮีโร่กลุ่มเล็กๆ ที่มีสมาชิกเพียง 13 คน แต่พวกเขาเริ่มขยับขยายฐานทัพจากครัวเล็กๆ เป็นโรงงานขนาดเล็กที่เรียกกันเองว่า Fruit Saver Factory ถึงอย่างนั้นกรรมวิธีการแปรรูปผลไม้ก็ยังพึ่งพาสองมือเป็นหลักไม่ต่างจากแต่ก่อน ตั้งแต่การคัดแยกผลไม้ เฉือนส่วนที่ช้ำหรือเป็นสีน้ำตาลออก ล้างทำความสะอาด นำไปคั้นน้ำ แล้วพาสเจอร์ไรซ์ เพื่อยืดอายุบนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต คาเฟ่ หรือร้านอาหารให้นานขึ้น

ทว่า หน้าที่ของฮีโร่ก็ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ด้วยเจตนาที่ต้องการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดและมีของเสียเหลือน้อยที่สุด Rscued จึงหาทางออกให้กากที่เหลือจากผลไม้ที่คั้นแล้ว แกนแอปเปิ้ล หรือเปลือกส้มได้มีชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยการแปรรูปเป็นดิน พวกเขามองว่านี่คือวิธีการที่จะทำให้วงจรการผลิตและการบริโภคสมบูรณ์ ดินชนิดนี้เหมาะสำหรับนำไปปลูกสมุนไพร ดอกไม้ และผลไม้ต่อไป ซึ่งก็หมุนเวียนกลับมาเป็นผลผลิตให้เราบริโภคต่ออีก

ถึงอย่างนั้น ความท้าทายและเป้าหมายล่าสุดที่พวกเขาตั้งไว้สำหรับปีถัดไปคือ ช่วยชีวิตผลไม้ให้ได้มากกว่าแต่ก่อน แต่ความยากคือการเพิ่มคอนเน็กชั่นทั่วประเทศ และเข้าถึงสวนผลไม้ ร้านอาหาร และแหล่งขายผลไม้ให้ได้ก่อนผลไม้จะถูกทิ้ง แต่ใช่ว่าจะมีแค่ Rscued เท่านั้นที่ช่วยชีวิตผลไม้ได้ ผู้บริโภคอย่างเราก็เป็นฮีโร่เบอร์จิ๋วได้ด้วยการสนับสนุนแบรนด์ที่จริงจังเรื่อง food waste กินอย่างคุ้มค่า และไม่เมินผักผลไม้หน้าตาขี้เหร่ก็มากพอที่จะช่วยโลกได้แล้ว

เครดิตภาพ: Rscued